News online

กลับไปยังหน้าหลักเพื่อสนทนา C-Box ดู TV และฟังวิทยุ ได้ที่

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

"ดงพระเจ้า" ตำนานการต่อสู้แบบจรยุทธ์ ของคนรากหญ้า ที่คนเสื้อแดงต้องอ่าน

เรียบเรียงแบบย่อจากบันทึกของ สหายไพศาล
โดย สหายหญิงแดง



“ดงพระเจ้า” เป็นป่าดงดิบแล้งผืนใหญ่อุดมไปด้วยพืชพันธุ์และสัตว์ป่านา ๆ ชนิด เชื่อมติดต่อกันในเขตพื้นที่ อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอส่องดาวและอำเภอวาริชภูมิ ชาวบ้านเรียกสั้น ๆ ว่า “ดงพระ” ทางตะวันออกของดงพระ จะเป็นป่าโคก สลับกับป่าดงอีกผื่นหนึ่งเรียกว่า ดงพรรณนา รอบ ๆ ดงพระเจ้าคือหมู่บ้านเล็กๆ รายรอบดงพระเจ้าหลายสิบหมู่บ้าน เช่น บ้านเหล่าใหญ่ บ้านน้อยคอนหนองขาม บ้านหนองทุ่ม บ้านเปลือย ฯลฯ มีทางเกวียนและทางเดินเท้าใช้สัญจรติดต่อระหว่างหมู่บ้านกับอำเภอ ในแต่ละวันชาวบ้านจะเข้าป่า ตักน้ำมันยาง ล่าสัตว์ เก็บผักป่า ฉีกสาน (ผักป่าชนิดหนึ่ง) ฉีกเลา มาเป็นอาหาร เก็บสมุนไพรมาไว้รักษาโรค

การประหารชีวิต 4 อดีต รัฐมนตรี และผู้รักชาติรักประชาธิปไตย รวมทั้งการประหารชีวิต ครูครอง จันดาวงศ์ ที่สนามบินอำเภอสว่างแดนดินตามคำสั่งของจอมพล สฤษดิ์ ธนรัตน์ นายกเผด็จการ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2504 เป็นเหตุให้ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) มีมติ ให้สมาชิกพรรคฯ ลงสู่ชนบทปลุกระดมมวลชน เตรียมการต่อสู้ด้วยอาวุธ
ลุงธง แจ่มศรี เป็นผู้นำระดับสูงของ พคท. คนแรกที่เข้าป่าดงพระเจ้าเพื่อปลุกระดมมวลชน คืองานสร้างความรู้ความเข้าใจพื้นฐานมวลชนให้ขยายตัวจากจุดหนึ่งไปยังจุดอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว ดังกล่าวของลุงธงที่ว่า “งานในชนบทขยายได้เร็วมาก ทำงานในเมืองสิบปี ไม่เท่ากับทำงานในชนบทปีเดียว”

งานโฆษณามวลชนเริ่มต้นในช่วงปี 2507 จากบ้านเหล่าใหญ่ ขยายตัวสู่ บ้านดง บ้านเหล่า บ้านโคก บ้านทุ่งบ่อ และทุก ๆ หมู่บ้านที่รายล้อมดงพระเจ้า ซึ่งบ้านเหล่าใหญ่ เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มีบ้านเรือนประมาณ 40 กว่าหลังคาเรือน ตั้งอยู่กลางถิ่นธุระกันดาร ไม่มีถนนทางรถยนต์ นอกจากทางเท้าและทางเกวียน

ท่ามกลางการโฆษณาชวนเชื่อและปฏิบัติการจิตวิทยาของรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ – ถนอม ที่กล่าวหาและหลอกลวงว่า “คอมมิวนิสต์ คือพวกจีนแดงและพวกเวียดกง เข้ามารุกรานเมืองไทย” พวกคอมมิวนิสต์หรือพวกคนป่า เป็นพวกโหดร้าย ฆ่าเจ้าเอาของ เผาวัดวาอาราม จับคนไปไถนา เป็นต้น มีการสร้างภาพยนตร์ให้ประชาชนรู้สึกหวาดกลัวชาวคอมมิวนิสต์ออกมาฉายหลอกลวงชาวบ้าน แต่ชาวคอมมิวนิสต์ก็สามารถโฆษณาเผยแพร่ความคิด ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน เมื่อมวลชนเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายและอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ทำให้งานของ พคท. ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว และแล้ว“ ดงพระเจ้า” ก็กลายเป็นจุดรวมศูนย์สำคัญจุดหนึ่งในภาคอีสานของผู้รักชาติรักความเป็นธรรมลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อชีวิตใหม่อันปราศจากการกดขี่ข่มเหงรังแกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม

ก่อนเสียงปืนแตก กองกำลังติดอาวุธของ พคท. ที่ก่อตัวขึ้นเป็นหน่วยเล็ก ๆ ในดงพระเจ้า ตอนนั้น เรียกว่า “กองป่า” หรือชาวบ้านเรียกว่า “คนป่า” หมายถึงผู้ที่ออกจากบ้านไปอยู่ในป่า จับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล กองป่าในช่วงแรกมีจำนวนไม่มาก มีปืนไม่กี่กระบอก อาศัยหลบซ่อนแฝงตัวอยู่ตามหัวไร่ปลายนาของชาวบ้าน โดยมวลชนพื้นฐานในหมู่บ้านเป็นผู้ช่วยกันจัดหาสถานที่ตั้งทับ(ค่ายพัก)และดูแลเรื่องเสบียงอาหาร ทหารป่ารุ่นแรก ส่วนใหญ่เป็นสหายมาจากถิ่นอื่น มีสหายส่วนหนึ่งเป็นผู้ผ่านการศึกษาที่ประเทศเวียดนามมาแล้ว เช่น คุณวัฒนา (ชวลิต ทับขวา) คุณดาว (แม่ทัพยุทธ์ หรือ สุวิทย์ เนียมสา) คุณสุพจน์ (บ่เลย) ป้าคำหรือป้าน้ำ (ภรรยา ลุงธง แจ่มศรี) คุณสว่าง (เสียชีวิตที่ภูซาง) คุณผจญ (เสียชีวิตที่ภูพาน) คุณสมนึก คุณไพร เป็นต้น

จากนั้นจำนวนสหายมาใหม่ค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น เป็นสหายที่เดินทางมาจากกรุงเทพและในตัวเมืองทั้งชายและหญิง เช่น ลุงอรรถ (อุดม ศรีสุวรรณ) คุณชาติ (คุณคำเพชร เขต 3 จังหวัด) คุณปรีชา (จิตร ภูมิศักดิ์) เป็นต้น ยังมีสหายที่เป็นปัญญาชนและชาวนาอีกหลายท่าน ที่ไม่ได้ระบุชื่อ ณ.ที่นี้ นอกจากนี้ ยังมีเยาวชนหนุ่ม สาว อีกหลายคน เช่น คุณ ธีระ (บุตรชายลุงวัฒนา เสียชีวิตที่อีสานใต้) คุณอิสระ (บุตรชาย ลุงอุดม สีสุวรรณ หรือผู้กองแหลม จังหวัดน่าน) คุณสมร คุณยุพิณ รวมทั้งสหายไพศาล(ผู้เขียนบันทึก) โดยมีลุงธรรม (ลุงธง แจ่มศรี) เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุด

ฤดูหนาว ปลายปี 2507 กองโฆษณาติดอาวุธของ พคท. ตั้งทับอยู่ในดงป่าเลา ใกล้ ๆ กับบ้านน้อยคอนหนองขาม หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีเพียง 5 – 6 หลังคาเรือนเท่านั้น (ปัจจุบันไม่มีหมู่บ้านนี้แล้ว) ซึ่งอยู่ในเขตดงพรรณนา ที่นี่ เป็นที่ตั้งทับแรก ๆ ที่สหายจากส่วนต่าง ๆ มารวมกันอยู่ในป่า มีปืนสำหรับป้องกันตัวอยู่ 5 – 6 กระบอก สหายหลายคนยัง เข้า ๆ ออก ๆ ไปกลับระหว่างป่ากับเมือง เพื่อปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมาย มวลชนพื้นฐานที่ตื่นตัวทางการเมืองและฝังตัวทำงานลับคอยดูแลความปลอดภัย คอยส่งข่าวสารข้อมูลความเคลื่อนไหวของศัตรู และจัดส่งข้าวปลาอาหารให้กองป่าในครั้งนั้น คือคุณทะนงและญาติพี่น้องในหมู่บ้าน ซึ่งสหายจากที่อื่น ๆ หรือสหายที่กลับมาจากปฏิบัติภารกิจในเมือง จะเข้าป่าก็จะต้องติดต่อกับคุณทะนงในหมู่บ้านนี้เสียก่อน เพราะไม่มีใครรู้ว่า ทับกองป่าตั้งอยู่ที่ใด แม้แต่ทางเดินเข้าทับก็จะไม่ทิ้งร่องรอยให้ผิดสังเกต มีแต่คุณทะนงเท่านั้นเป็นผู้ติดต่อระหว่างป่ากับบ้าน เขาจะเป็นคนนำทางพาเข้าไปในทับเอง ลุงอุดม สีสุวรรณ และครอบครัว ก็เข้าป่ามาในเขตดงพระเจ้าตอนที่มีกองกำลังโฆษณาติดอาวุธอยู่ทับป่าเลานี้แล้ว เช่นกัน

กองจรยุทธ์จะย้ายทับด้วยสาเหตุต่างๆ กัน เช่น อาจจะเสียความลับ หรือชาวบ้านมาพบเจอแล้ว หรือไม่สะดวกในการติดต่อสัมพันธ์กับชาวบ้าน หรืออยู่นานเกินไป ซึ่งกองโฆษณาติดอาวุธที่ทับป่าเลาก็เช่นกัน ตั้งอยู่ได้ไม่นานนัก ก็ต้องย้ายมาตั้งทับอยู่ในเขตดงพระเจ้าใกล้ ๆ กับบ้านเหล่าใหญ่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านใหญ่กว่าและมีพื้นฐานมวลชนมากกว่าบ้านน้อยคอนหนองขาม ทับทหารป่าตั้งอยู่ห่างจากบ้านผู้ใหญ่หอมไม่เกิน 100 เมตร ในครั้งกระโน้น หมู่บ้านนี้ มีแต่ป่าไม้ดงหนาล้อมรอบหมู่บ้าน สามารถหลบซ่อนอยู่ใกล้ ๆ หมู่บ้านได้ สามารถขุดบ่อน้ำขึ้นใช้เอง

ส่วนมวลชนพื้นฐานที่เอาด้วยการปฏิวัติในหมู่บ้าน ได้แก่ ครอบครัวคุณเดช ครอบครัวพ่อสา และครอบครัวของผู้ใหญ่หอม 3 ครอบครัวนี้เป็นแกนหลักสำคัญในการส่งข่าว ส่งเสบียงอาหารและประสานการงานด้านอื่น ๆ ระหว่างป่ากับบ้าน จากนั้นมวลชนทั้งหมู่บ้านก็ตื่นตัวเข้าร่วมการจัดตั้ง และให้การสนับสนุนกองป่ากันทุกครัวเรือน พวกเขาจะเก็บออมข้าวสารทุกวัน วันละทะนาน สองทะนาน มวลชนลุกขึ้นตำข้าวในตอนเช้ามืดไว้ให้กองป่า (สมัยนั้นใช้ครกกระเดื่อง ยังไม่มีโรงสีข้าว) มีคุณบิ้ง ลูกสาวพ่อสา และคุณตั้น ลูกสาวคุณเดช เป็นหัวเลี้ยวหัวแรงในการพาคนตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง และชายหนุ่มกองป่าก็มักจะออกไปช่วยสาว ๆ ตำข้าวอยู่เสมอ เมื่อใดข้าวสารในทับหมดลง แกนบ้านก็จะรวบรวมข้าวสารที่มวลชนเจียดออมเอาไว้มารวมกัน แล้วนัดกองป่าให้เข้าไปลำเลียงข้าวสารในหมู่บ้าน

การเข้าออกหมู่บ้านของทหารป่าในตอนนั้นค่อนข้างสะดวก แต่มีเงื่อนไขคือต้องปิดลับอำพรางตัวเป็นอย่างดี เช่น พกปืนสั้นให้มิดชิด และแต่งกายให้เหมือนชาวบ้าน ซึ่งสหายชาวนาและคนท้องถิ่นจะเข้าออกได้อย่างไม่ผิดสังเกต แต่สหายที่มาจากกรุงเทพและในเมือง หรือสหายที่พูดภาษาท้องถิ่นอีสานไม่ได้จะออกไปพบชาวบ้านได้เฉพาะมวลชนพื้นฐานที่ก้าวหน้าแล้วเท่านั้น บางครั้งเหตุการณ์ไม่ปกติ เช่น มีคนแปลกหน้าเข้ามาในหมู่บ้าน หรือมีข่าวการเคลื่อนไหวของตำรวจ แกนบ้านเหล่านี้ก็จะมาแจ้งไม่ให้พวกเราเข้าบ้าน หรือก่อไฟหุงข้าว เพราะควันไฟอาจทำให้เสียความลับได้ มวลชนจะจัดการเรื่องข้าวปลาอาหารเสร็จสรรพ แล้วนำมาส่งให้ กองทหารป่าทุกวัน วันไหนมีการนัดพบปะกับสหายป่าหน่วยอื่นๆ เพื่อศึกษาการเมืองกันนั้น พวกเขาก็จะจัดเตรียมข้าวปลาอาหารให้มากขึ้นเพื่อสหายต่างถิ่นด้วย หากฝ่ายกองโฆษณาติดอาวุธมีเวลาและไม่เสียลับ สหายหลายคนก็ได้ออกไปช่วยสหายในหมู่บ้าน ดำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าว หนุ่มสาวที่เป็นพื้นฐานมวลชนในหมู่บ้าน ก็มักจะมาชวนทหารป่าไปส่องกบ จับปลา หรือหาผักป่า เช่น ฉีกสาน ฉีกเลา อยู่บ่อย ๆ ทหารป่ารู้จักใช้ลูกดอกยิงกบ ยิงกระปอม รู้จักจับเขียดตะปาด ก็เรียนรู้จากมวลชนที่นี่ ความ สัมพันธ์ระหว่างป่ากับบ้าน เป็นไปอย่างสนิทแน่นแฟ้น การเคลื่อนไหวดูราบรื่นและอบอุ่น ห้อมล้อมด้วยมวลชนที่ให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างดี

ในเดือนสิงหาคม 2508 ลุงธรรม (ลุงธง แจ่มศรี) ได้มอบหมายให้สหายไพศาลไปรับคุณจิตร ภูมิศักดิ์ ที่สถานีรถไฟอุดรธานี เพื่อเดินทางเข้าป่า ขณะนั้นทหารกองโฆษณาติดอาวุธยังตั้งทับอยู่ที่บ้านเหล่าใหญ่

จากนั้นมาก็มีสหายในเมืองเข้าป่าตามมาอีกหลายคน เช่น คุณใบ คุณเพทาย คุณชาติ (คุณคำเพชร เขต 3 จังหวัด) เป็นต้น ซึ่งบางคนเมื่อศึกษาเสร็จแล้วก็กลับเข้าเมืองไป เช่น คุณแก้ว และอีกหลาย ๆ คน เป็นต้น

การเคลื่อนย้ายทับแต่ละครั้ง มักจะเป็นหน้าที่ของสหายที่เป็นแกนนำในหมู่บ้านนั้น ๆ เป็นผู้จัดหาเลือกเฟ้นที่ตั้งให้สหายกองป่า พวกเขาเป็นผู้รู้ดีที่สุดว่า ตรงไหนปลอดภัยหรือไม่อย่างไร และพวกเขานั่นเองที่จะเป็นผู้สังเกตการณ์ ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวต่าง ๆ อยู่ในหมู่บ้านว่า ทับทหารป่าเสียลับหรือไม่ โดยจะคอยฟังข่าวคราวจากคนในหมู่บ้านอื่น หรือสนใจฟังการซุบซิบกันในหมู่บ้าน นั่นเอง หากปรากฏว่าทับของทหารป่ามีชาวบ้านมาพบเจอ หรือเสียงซุบซิบของชาวบ้านว่าพบเห็นคนป่า หรือร่องรอยคนป่า สหายบ้านก็จะจัดหาที่ใหม่และนำกองป่าย้ายทันที

งานสร้างมวลชนของกองป่าดงพระเจ้าได้ขยายงานไปอีกหลายหมู่บ้าน เช่น บ้านดงแสนตอ บ้านเหล่า บ้านทุ่งบ่อ บ้านโคก เป็นต้น สหายบ้านหลายคนที่ก้าวหน้าแล้วก็ ปิดลับอำพรางตัว เป็นชาวบ้านธรรมดา ๆ อยู่ในหมู่บ้านของตนตามปกติ เป็นผู้นำพามวลชนเคลื่อนไหว เช่น คุณเดช พ่อสา คุณแสงหยาด พ่ออ้วน พ่อบุญรักษ์ พ่อสัจจะ เป็นต้น สหายเหล่านี้จะทำหน้าที่ปลุกระดมมวลชน สร้างพื้นฐานและจัดตั้งมวลชนในลักษณะต่าง ๆ เช่น กลุ่มสตรี กลุ่มเยาวชน กลุ่มคนแก่ และหน่วยทหารบ้าน เป็นต้น และขยายงานดังกล่าวไปสู่หมู่บ้านอื่น ๆ กว้างขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีกองป่าคอยให้การสนับสนุน จัดอบรมศึกษาแก่หน่วยจัดตั้งมวลชนเหล่านั้น ทั้งทางการเมือง การทหาร และเคลื่อนไหวประสานงานกันอย่างใกล้ชิด

ในฤดูแล้งหลังเก็บเกี่ยวข้าวในนาเสร็จ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะในการฝึกทหารบ้าน
ทหารป่าอาศัยเวลาคืนเดือนหงายนัดฝึกทหารบ้านตามทุ่งนา ตามลานนวดข้าว สถานที่เหล่านี้เหมาะสำหรับการฝึกทหารอย่างยิ่ง ทหารบ้านแต่ละหมู่บ้าน จะเริ่มฝึกท่าพื้นฐานการสู้รบ ฝึกการใช้อาวุธ พวกเขาทั้งกลิ้ง ทั้งคลาน บรรยากาศเป็นไปอย่างจริงจังและมีความสุข มีทหารบ้านที่ฝึกอย่างทรหดเป็นที่น่าประทับใจหลายคน เช่น สหาย“สุ” (ผู้ใหญ่ระยอง) เด็กหนุ่มร่างกายกำยำ จากบ้านเหล่าใหญ่ ทั้งศอกทั้งเข่า ถลอกปอกเปิกจนเลือด ซึมซิบ ๆ เขาเอาผ้าขาวม้าพันศอกและเข่า แล้วฝึกต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ ในเวลาต่อมาทหารบ้านเหล่านี้ ก็กลายเป็นทหารหลักของกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย(ทปท.) ผู้กล้าหาญชาญชัยในเขตงานต่าง ๆ นั่นเอง

สำหรับในเวลากลางวัน ทหารป่าจะนัดกลุ่มสตรี กลุ่มแม่บ้าน รวมทั้งหน่วยจัดตั้งมวลชนต่าง ๆ หมุนเวียนกันมาศึกษาการเมือง โดยปกติชาวบ้านก็จะเข้าป่าเข้าดงหาผักล่าสัตว์กันอยู่แล้ว เมื่อนัดศึกษากันเช่นนั้น จึงไม่เป็นเรื่องยาก ในวันนัดศึกษาดังกล่าว พวกเขาจะห่อข้าวปลาอาหารที่อร่อยที่สุดมาร่วมกินกับสหายป่า เล่าทุกข์สุขสู่กันฟัง สร้างความสัมพันธ์ฉันญาติมิตร ซึ่งมีบางคนเข้าป่าเพราะความรู้สึกผูกพันในกระบวนการศึกษาดังกล่าวนี้เอง
ขณะนั้นในกองโฆษณาติดอาวุธ ได้จัดทำหนังสือ 2 เล่ม คือ “เว้ากับพ่อแม่พี่น้อง” และ “ไผสร้างไผเลี้ยง” เขียนด้วยสำนวนภาษาท้องถิ่นอีสาน ที่เข้าใจง่ายโดยสหายมิตร สมานันท์ สำหรับนำไปให้การศึกษาแก่มวลชนที่เริ่มตื่นตัวเข้าร่วมการจัดตั้งของกองป่าในขณะนั้น เนื้อหาสาระสำคัญในหนังสือทั้งสองเล่มนี้ เป็นการชี้ให้เห็นถึงมูลเหตุของความยากจน อันเกิดจากการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้น และการปฏิวัติคือวิถีทางเดียว ที่จะแก้ปัญหาความยากจนได้
เมื่อมวลชนหลาย ๆ หมู่บ้าน มีความตื่นตัวและมีการเข้าร่วมการจัดตั้งอย่างเข้มแข็งแล้ว ทำให้สภาพสังคมเกิดความสามัคคี รักใคร่ปรองดอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความสงบร่มเย็นบังเกิดขึ้นในท้องถิ่นทุระกันดานแห่งนี้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โจรผู้ร้ายที่ปล้นวัวปล้นควาย ตลอดถึงผู้ร้ายลักเล็กขโมยน้อยหายไปหมด ผู้ร้ายบางคนกลับตัวเป็นคนดี กลายเป็นแบบอย่างให้กับชุมชน ปรากฏการณ์เหล่านี้ได้สร้างเสริมเกียรติภูมิให้กับกองทหารป่ามากขึ้นเป็นลำดับ หนุ่มสาวจำนวนมากเร่งเร้าอยากเข้าป่าด้วยความศรัทธาอย่างยิ่ง
นี่คือการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมชนบทรอบดงพระเจ้า หลังจาก“กองป่า”ได้กำเนิดขึ้น

หลังเสียงปืนแตกที่บ้านนาบัว อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2508 แล้ว รัฐบาลเผด็จการถนอม-ประภาสก็เริ่มสนใจกองกำลังติดอาวุธของ พคท. ที่ดงพระเจ้ามากขึ้นเป็นลำดับ พวกมันส่งตำรวจ ทหาร ในเขตอำเภอสว่างแดนดิน ออกตรวจพื้นที่บ่อยขึ้น พวกเขาส่งสปายสายลับหลากหลายรูปแบบ เป็นคนบ้า เป็นพ่อค้า เป็นพระก็มี เข้ามาหาข่าวตามหมู่บ้านต่าง ๆ รอบดงพระเจ้า ถี่ขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องราว คนป่า เริ่มเป็นข่าวหนาหูเข้ามาอย่างไม่ว่างเว้น ฝ่ายนำของกองจรยุทธ์แห่งดงพระเจ้าก็คาดการณ์ว่า สถานการณ์เช่นนี้อาจทำให้เกิดการปะทะกันขึ้นในเร็ว ๆ นี้ก็ได้

ดังนั้น กองทหารป่าจำต้องย้ายทับออกจากเขตบ้านเหล่าใหญ่ มาตั้งทับอยู่ที่บ้านเหล่าขี้เหล็กติดชายดงพระเจ้า ใกล้ ๆ กับ บ้านคำหลวง เพื่อให้ห่างไกลจากหมู่บ้านมวลชนบ้าง และแบ่งสหายส่วนหนึ่งไปตั้งทับอยู่บ้านหนองขี้อ้น ใกล้กับบ้านโคก
ก่อนเสียงปืนแตกที่ดงพระเจ้า กรมการเมืองของพรรคได้เปิดประชุมเพื่อเตรียมการดังกล่าว ขึ้นที่บ้านเหล่าขี้เหล็กในดงพระเจ้านี้เอง

ระหว่างตั้งทับที่เหล่าขี้เหล็กนี้ ได้มีสหายจากในเมืองทยอยเดินทางเข้ามาอยู่ร่วมกันอีกหลายคน นอกจาก คุณจิต ภูมิศักดิ์ แล้ว ยังมี ลุงชิด ลุงชม มีสามี – ภรรยา ที่เป็นนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ อีกคู่หนึ่ง และสหายบางส่วนที่เดินทางกลับจากเวียดนาม เช่น คุณธรณี คุณเปลว (จากเขตภูซาง) คุณไสว คุณสมหมาย หมอทิพย์ เป็นต้น

หมอทิพย์ เป็นคู่หมั่นของสหายดาว (สุวิทย์ เนียมสา) ตั้งแต่ ก่อนจะเข้าป่า เมื่อจบการศึกษาแพทย์จากเวียดนาม จึงกลับมาอยู่ร่วมกับกองโฆษณาติดอาวุธแห่งดงพระเจ้าด้วย คุณทิพย์นับว่าเป็นหมอคนแรกของกองป่าเขตดงพระเจ้า เมื่อทั้งสองได้มาอยู่ร่วมกันอีกครั้ง จึงเป็นเวลาอันสมควรที่ทั้งสองจะเข้าสู่ประตูวิวาห์ กล่าวตามความเป็นจริงแล้ว ในป่าเช่นนั้นไม่มีประตูที่ไหนจะให้เข้าหรอก เรือนหอของสหายทั้งสองก็เป็นเพียงเชือกขึงกับต้นไม้สองต้น กางด้วยผ้ายางเพื่อกันหมอกกันฝน ข้างล่างก็ปูผ้าพลาสติกกับพื้นดิน ไม่มีของขวัญจากแขกในงานเหมือนอยู่ ในเมือง คืนวันนั้น พวกเรานั่งล้อมวงสังสรรค์อย่างเป็นพิธีรีตองเล็กน้อย โดยสหายหลายคนกล่าวถึงความรู้สึกยินดีและอวยพรให้คู่บ่าว – สาว อวยพรให้ยึดมั่นในอุดมการณ์ รับใช้ประชาชน และครองรักกันจนชีวิตจะหาไม่ สุดท้าย ลุงธง แจ่มศรี จึงกล่าวให้โอวาทแก่สหายทั้งสอง คู่บ่าว – สาว กล่าวถึงความรู้สึกในวันอันเป็นมงคล ก็เป็นอันเสร็จพิธี

พิธีดูเรียบง่าย แต่แฝงไว้ด้วยความขลัง ในคำมั่นสัญญาที่คู่บ่าว – สาว ทั้งสอง กล่าวต่อหน้าสหายทั้งหลายในวันนั้น ว่า “จะยืนหยัดปฏิวัติ และ ซื่อสัตย์ต่อพรรคต่อประชาชน จนถึงที่สุด” หมอทิพย์กับคุณดาว นับเป็นคู่แต่งงานคู่แรกของกองป่าในดงพระเจ้า ซึ่งเป็นภาพประทับใจ ที่ไม่เคยเห็นและไม่เคยคิดมาก่อน

บ่ายวันหนึ่ง ในเดือน กันยายน 2508 หน่วยลาดตระเวรของตำรวจ ทหาร ที่ออกค้นหาร่องรอยคนป่า ได้เข้ามาในบ้านเหล่าใหญ่ ปิดล้อมหมู่บ้านไว้ พวกเขาประกาศห้าม ไม่ให้ผู้คนเข้าหรือออกจากหมู่บ้าน กำลังพลส่วนหนึ่งพร้อมอาวุธกว่า 20 นาย ออกค้นหาร่องรอยคนป่าไปตามเส้นทางรอบ ๆ หมู่บ้าน จนถึงบ่อน้ำในป่าเหล่าขี้เหล็ก ซึ่งพวกทหารป่าขุดขึ้นเพื่อใช้น้ำใกล้ ๆ กับที่ตั้งทับ ทันใดนั้น เสียงโวยวายร้องเรียกหากันให้มาดูบ่อน้ำก็ดังขึ้น
ขณะนั้น สหายที่อยู่ในทับมีกำลังอยู่ในทับราว 20 กว่าคน แต่มีปืนเพียง 4 - 5 กระบอก รู้สึกผิดปกติกับเสียงคนที่เอะอะอยู่ใกล้ ๆ ที่ตั้งทับ จึงอยู่ในความระมัดระวัง

ฝ่ายศัตรูสงสัยว่า “บ่อน้ำอะไรกันเกิดขึ้นในป่า” โดยไม่รู้ว่าบ่อน้ำนั้น กองป่าขุดขึ้น พวกมันจึงยิงปืนลงบ่อน้ำหนึ่งนัดแล้วเดินก้มหน้าดูร่องรอยตามทางเข้ามาในทับ เสียงปืนเสมือนคำสั่งพวกเราทุกคนหลบเข้าที่กำบัง สหายสมศักดิ์รีบคว้าปืนทอมสัน กระชากลูกเลื่อนเตรียมยิง แล้ววิ่ง เหยาะ ๆ เข้าหาเสียงคนที่ดังอยู่ข้างนอกทับ ทันใดนั้น เขาก็ประจัญหน้าเข้ากับทหารศํตรู 3 – 4 คน ที่กำลังเดินก้มหน้าเข้ามา สหายสมศักดิ์รีบย่อตัวคุกเข่าแนบกับต่อไม้ขี้เหล็กแล้วกราดกระสุนเข้าใส่ศัตรูทันที่ ข้าศึกตกใจสุดขีด ร้องเสียงหลง แตกกระเจิงถอยออกไป กำลังส่วนที่ตั้งมั่นรออยู่ฝั่งทุ่งคำหลวงก็ระดมยิงเข้าใส่เหล่าขี้เหล็กอย่างหูดับตับไหม้ กระสุนปืนดังหวีดหวิวข้ามหัวไป สหายทุกคนยังเฝ้ามองสถานการณ์อยู่ในที่กำบังอย่างไม่สะทกสะท้าน พวกเขาคงคาดไม่ถึงว่า คนป่าที่มันคิดว่าเป็นคนตัวผอม ๆ ด้วยความหิวโซ จะหาญกล้าต่อกรกับเขา และไม่สามารถประเมินกำลังของสหายกองป่าได้ จึงไม่กล้าบุกเข้ามา เมื่อระดมยิงอยู่ไม่นานนัก มันก็หยุดและถอยทัพกลับเข้าหมู่บ้าน ฝ่ายกองป่าปลอดภัยทุกคน นั่นเป็นจุดแรกของเสียงปืนจากนักรบประชาชนแห่งดงพระเจ้า ที่ท้ารบกับผู้ครองอำนาจเผด็จการ ด้วยจิตใจฮึกห้าวเหิมหาญ และเป็นเสียงปืนปฏิวัติ จุดที่ 2 ถัดจากจุดแรกที่บ้านนาบัว อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม

เย็นวันนั้น ฝ่ายนำได้สั่งให้สหายทุกสายงานมารวมกัน เตรียมเคลื่อนพลขึ้นภูพาน คงเหลือไว้แต่ส่วนที่จำเป็นเพื่อเกาะติดมวลชนเท่านั้น สหายไพศาลรับคำสั่งจากลุงธง แจ่มศรี ให้ไปแจ้งกับลุงอรรถ (อุดม ศรีสุวรรณ) ที่ทับหนองขี้อ้น

การจัดขบวนเคลื่อนทัพจึงเป็นไปอย่างฉุกละหุก เพราะไม่เคยผ่านการรบมาก่อน แต่ด้วยความสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ปรากฏให้เห็นตั้งแต่หัวขบวนถึงท้ายขบวนตลอดเส้นทางการเคลื่อนพล ให้รู้สึกเหมือนว่า ขบวนของกองป่านั้นเป็นกองร้อยกองพันพร้อมรบเต็มอัตราศึก แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีกันเพียง 30 กว่าคนเท่านั้น ซ้ำยังมิใช่กำลังรบทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นผู้หญิง และเป็นสหายในเมืองที่ยังไม่คุ้นเคยกับป่า สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ เรามีปืนเก่า ๆ สมัยสงครามโลกเพียงไม่กี่กระบอกเท่านั้น

เมื่อทับเหล่าขี้เหล็กจากบ้านเหล่าใหญ่ มาสมทบกับทับหนองขี้อ้นที่อยู่ทางบ้านโคกแล้ว กองป่าจึงจัดขบวนและวางแผนการเดินทางที่นี่ ผู้บัญชาทหารพยายามจัดคนมีปืนให้อยู่ข้างหน้าและข้างหลังเพื่อป้องกันขบวน สหายไพศาลกับสหาย อีก 3 - 4 คน ถูกจัดให้อยู่หน่วยหลัง มีหน้าที่ป้องกันหลังและกลบพรางร่องรอยเมื่อขบวนผ่านเส้นทางที่เป็นฝุ่นทราย ส่วนผู้ไม่มีปืนและสหายหญิงให้อยู่หน่วยกลางรวมกับ ลุงอุดม ศรีสุวรรณ ซึ่งมีคุณ จิตร ภูมิศักดิ์ คุณคำเพชร (เขต 3 จังหวัด) และผู้มีชื่อเสียงอีก 2 - 3 คน รวมอยู่ด้วย ส่วนลุงธง แจ่มศรี ยังอยู่กับหน่วยเกาะติดมวลชนที่ดงพระเจ้า จะตามขึ้นไปในภายหลัง

พอท้องฟ้ามืดลง ขบวนกองป่าก็เริ่มออกเดินทาง ลัดเลาะไปตามชายทุ่งชายป่ามุ่งสู่เทือกเขาภูพานที่ยืนทะมึนอยู่เบื้องหน้า บางช่วงเป็นทางเกวียนก็มีเสียงกระซิบจากข้างหน้าบอก ต่อ ๆ กันมา “ให้ถอดรองเท้าเดิน” คนตามหลังก็ต้องหักกิ่งไม้ลากตามหลังเพื่อกลบพรางรอยเท้า เป็นครั้งแรกที่กองป่าแห่งดงพระเจ้าต้องเดินทัพทางไกลเป็นขบวนจำนวนมาก ๆ จึงขาดความรัดกุมไม่คล่องตัวเหมือนทหารและยังไม่พร้อมที่จะสู้รบ แต่สิ่งที่ทำให้กองป่าหลุดรอดวิกฤตมาได้นั้น คือ อุดมการณ์และความมีวินัยของกองป่าเอง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในเหตุการณ์ครั้งนี้ได้สอนให้นักปฏิวัติได้เรียนรู้การสู้รบและสงครามปฏิวัติเป็นครั้งแรก ในชีวิต
จวบจนล่วงเลยมาค่อนคืนการเดินทางของนักสู้ดงพระเจ้าจึงหยุดลง เสียงไก่ป่าขันแว่วมาแต่ไกลและกระชั้นถี่ขึ้นเรื่อย ๆ มันเป็นสัญญาณเตือนจากธรรมชาติให้รู้ว่าฟ้าใกล้สว่างแล้ว ผู้บัญชาทหารสั่งให้ขบวนหยุดพักและหาที่หลบซ่อนในป่าเหล่าแห่งหนึ่งซึ่งมองเห็นเทือกเขาภูพานอยู่ไม่ไกล

ก่อนที่ทุกคนจะนอนพักเอาแรงนั้น สหายหลายคนเข้าไปแบ่งเบาสิ่งของจากสหายที่เป้ของหนักและจากสหายที่ไม่แข็งแรงโดยเฉพาะสหายที่มาจากในเมืองกรุงที่ไม่เคยเดินทางไกลมาก่อน พวกเขาช่างมีจิตใจเสียสละเพื่อมิตรสหายด้วยความจริงใจอะไรเช่นนี้ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นหนึ่งในสหายที่น่าศึกษาเป็นแบบอย่างในคืนวันนั้น แม้ขบวนกองป่าจะดูอ่อนวัยไร้เดียงสาในการรบ แต่จิตใจนั้นเหมือนเหล็กเพชร ยากที่ศัตรูหน้าไหนจักสั่นคลอนได้

เมื่อตื่นขึ้นตอนฟ้าสว่างมากแล้ว มีสหายในหมู่บ้าน 2 – 3 คน จากบ้านหนองแวง อำเภอส่องดาว ได้เป้ข้าวเหนียวพร้อมอาหารการกินออกมาส่งให้สหาย พวกเขาดีใจมากเมื่อเห็นสหายกองป่าปลอดภัย จับมือทักทายและไต่ถามความเป็นไปของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยท่าทีที่ห่วงใยอย่างที่สุด สหายจากดงพระเจ้าหลบซ่อนในป่าเหล่าตรงนี้ตลอดทั้งวัน โดยมีสหายบ้านเหล่า คอยติดตามดูความเคลื่อนไหวของศัตรูให้

คืนถัดมา นักปฏิวัติจากดงพระเจ้าก็ไต่หลังภูพานสูงขึ้นเรื่อย ๆ ปล่อยดงพระเจ้าและทุ่งข้าวที่กำลังชูรวงไว้เบื้องหลัง นับเป็นครั้งแรกในชีวิตของหลาย ๆ คนที่ได้สัมผัสกับการปีนเขา ขุนเขาน้อยใหญ่เกาะเกี่ยวกันเป็นเทือกกว้างไกลสุดลูกตา เหมือนดัง จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนไว้ในบทเพลง “ภูพานปฏิวัติ” ที่ว่า “ยืนตระหง่านฟ้า แผ่ไพศาลทิวยาวยอดสูงสง่า ภูพานมิ่งขวัญคู่หล้าแหล่งไทย”

ในที่สุด นักรบดงพระเจ้าก็มาถึงจุดหมายปลายทางคือ บ้านผาหักด้วยความปลอดภัย
บ้านผาหัก (ปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อเป็น บ้านผาสุข) เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ เพียงแห่งเดียวบนหลังภูพาน ไม่ถึง 10 หลังคาเรือน บริเวณรอยต่อจังหวัดสกลนคร – กาฬสินธุ์ – อุดรธานี มีเนินเขาเตี้ย ๆ ล้อมรอบหมู่บ้าน ต่ำลงไปจนถึงริมหมู่บ้าน เป็นผืนนาแปลงเล็กแปลงน้อยสอดแทรกอยู่ กับที่ดอน เบื้องล่างทางทิศใต้ไกลออกไป จะมองเห็น “บ้านตาดภูวง” อยู่ไกลลิบ ๆ หมู่บ้านนี้ก็เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มีเพียง 20 กว่าหลังคาเรือน รวมตัวเป็นกระจุกอยู่กลางทุ่ง โอบล้อมด้วยยอดเขาน้อยใหญ่ ปลายสันเขาทั้งสองข้างสอบเข้าหากัน เกิดเป็นร่องหุบเหวยาวลึกเข้าไปในเทือกเขาภูพาน ปลายสุดของร่องหุบเขานี้ถูกปิดกั้นด้วยสันเขาอีกลูกหนึ่ง ชาวบ้านเรียกตรงนี้ว่า “สันผาลม” เพราะลมพัดสอบเข้าหากันตามร่องหุบเหว เกิดเสียงดังหวีดหวิวตลอดเวลา ด้านทิศตะวันออกของบ้านตาดภูวง ห่างตีนภูพานไม่ไกลนัก คือ บ้านคำบิด บ้านคำบ่อ เขตแดน อำเภอวาริชภูมิ (บริเวณ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ เสียชีวิต)

ป่าดงดิบผืนใหญ่ทอดยาวตามเทือกเขา ธารน้ำเล็ก ๆ ไหลเลียบลานหิน มีเนินเขาป่าโปร่งสลับกันอยู่เป็นหย่อม ๆ อุดมไปด้วยสัตว์ป่าและพืชผักนานาชนิด โดยเฉพาะผักหวาน หน่อไม้ มันป่าและกลอย จนสหายบางคนตะโกนคำขวัญว่า “กลอยมันสันภูพาน จงเจริญ” แข่งกับเสียงขุดกลอย ขุดมันในยามต้องกินมันป่าแทนข้าว

กองป่าตั้งทับอยู่ริมห้วยเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ห่างจาก บ้านผาหักพอประมาณ มีก้อนหินใหญ่หลายก้อนบนเนินเขาเตี้ย ๆ เป็นชัยภูมิ กำลังส่วนหนึ่งเข้าไปทำงานจัดตั้งมวลชนในบ้านผาหัก ส่วนที่เหลือ ผลัดเปลี่ยนกันไปลำเลียงข้าว ซึ่งจะต้องลงไปเอาที่ตีนภูพานในเวลากลางคืน กว่าจะกลับถึงทับก็สว่าง แล้ว กำลังส่วนที่เฝ้าทับต้องออกหาอาหารตามป่า เช่นเก็บผักป่า หากบหาปลาในห้วยมาทำอาหารสำหรับสหายทั้งหมด

งานมวลชนในที่ราบ รอบดงพระเจ้า ยังคงดำเนินต่อไป การระดมเยาวชนหนุ่มสาวเข้าป่าเพื่อต่อสู้ด้วยอาวุธเป็นไปอย่างเงียบ ๆ อีกสอง สาม เดือนต่อมา ปรากฏว่ามีเยาวชนรุ่นราวคราวเดียวกับสหายไพศาลเข้าป่ามาเพิ่มอีกหลายคน รวมทั้งผู้ที่ “แดง” แล้ว (หรือเสียความลับแล้ว) สหายเหล่านี้ก็ต้องเข้าป่าด้วย เพื่อหลบหนีการจับกุมเข่นฆ่าของฝ่ายทหาร – ตำรวจ ทำให้กองป่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกหลายสิบคน มีทั้งเยาวชนหนุ่มสาว มีทั้งผู้ที่มีอายุแล้ว ในนั้นก็มีคุณบรรจง หรือสหายใจ คุณสวรรค์ และพ่อสมนึกรวมอยู่ด้วย ปืนเก่า ๆ สมัยสงครามโลก เช่นปืนคาร์บิน ปืนกลมือทอมสัน และปืนเล็กยาวแบบกระชากลูกเลื่อนยิงทีละนัด ประมาณสิบกว่ากระบอก ได้ถูกลำเลียงมาที่ดงพระเจ้าเป็นครั้งแรกโดยหน่วยของคุณสมนึก ทำให้กองป่ามีอาวุธเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับจำนวนคนที่ออกป่ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลายคนยังไม่มีปืน บางคนต้องถือปืนแก๊ป บางคนถือมีดพร้าเป็นอาวุธป้องกันตัว จะเทียบกับกองทัพของฝ่ายอำนาจรัฐไม่ได้เลย แต่ในฐานะเป็นพลังที่เกิดใหม่ ขบวนการนี้จึงดูมีชีวิตชีวา สง่างาม และมีอนาคตสดใส

งานเลี้ยงต้อนรับสหายใหม่และฉลองอาวุธใหม่ (เก่า) ได้จัดขึ้นแบบง่าย ๆ ด้วยการนั่งล้อมวงสังสรรค์ มีข้าวเหนียวต้มใส่น้ำตาลทรายแทนข้าวปลาอาหาร เรียกว่า “กินหวาน” ฝ่ายนำอาศัยจังหวะเช่นนี้ เล่าสถานการณ์ให้พวกเราฟัง ต่อจากนั้นจึงเป็นรายการบันเทิง หลายคนถูกเชิญขึ้นร้องเพลงหรือหมอลำ บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนานราวกับว่าอุปสรรคที่กำลังเผชิญอยู่นั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย จริง ๆ แล้ว ขณะนั้นสหายบางคนเพียงมองเห็นแต่แสงเรืองรองแห่งชัยชนะของพลังที่เกิดใหม่เท่านั้น มิได้คำนึงถึงสงครามยืดเยื้อยาวนานและอุปสรรคอันหนักหนาสาหัสในอนาคตเลย

ในคืนวันนั้น สหายปรีชา (จิตร ภูมิศักดิ์) ได้เดี่ยว แมนโดลินอย่างไพเราะ และตามมาด้วยการแสดงท่าทางสีไวโอลินด้วยมือเปล่า โดยอาศัยเสียงลูกคอแทนเสียงไวโอลิน ของ ลุงอุดม ศรีสุวรรณ นั่นเป็นบรรยากาศเริ่มแรกหลังขึ้นสู่ภูพานของกองกำลังติดอาวุธแห่งดงพระเจ้า

ฤดูเก็บเกี่ยวกำลังเริ่มต้นพร้อม ๆ กับข่าวการกวาดล้างปราบปรามประชาชนตามหมู่บ้าน
ต่าง ๆ ที่รายล้อมดงพระเจ้าได้แพร่สะพัดมาเป็นระยะ ๆ สถานการณ์บีบบังคับให้สหายต้องสู้และเรียนรู้จากสงคราม ในระยะแรกเริ่มนั้น กองป่าของเราก็ไม่ต่างกับคาราวานชาวบ้านมากนัก สหายผจญ (เสียชีวิต ที่ภูซากลาก ปี 2510 ) ผู้บัญชาทหารของทับนี้ พยายามจัดกำลังพลภายในทับให้เป็นหมวดหมู่แบบทหารมากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับข้าศึก แต่ด้วยเหตุที่นักปฏิวัติเหล่านี้ยังใหม่กับชีวิตแบบทหารและสงคราม จรยุทธ์ หลายสิ่งหลายอย่างจึงต้องเรียนรู้จากความเป็นจริงนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการหาชัยภูมิที่ตั้งทับ การจัดระเบียบภายในทับ การจัดเวรยาม ตลอดจนการลาดตระเวร การหาอาหารและการลำเลียง เป็นต้น เพราะเราไม่มีประสบการณ์ในภาวะสงครามมาก่อน เรียกได้ว่า “ ศึกษาสงครามจากสงคราม” อย่างแท้จริง สหายหลายคนได้ช่วยกันคิดช่วยกันทำ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ หนึ่งในสหายเหล่านั้นได้ช่วยคุณผจญอย่างเอาการเอางานเพื่อให้ทับนี้มีลักษณะเป็นแบบทหาร ที่จะสามารถรับมือกับข้าศึกได้ แม้นจะเผชิญกับภยันตรายและความยากลำบากสักเพียงใดก็ตาม ด้วยอุดมการณ์อันแน่วแน่และจิตสำนึกในหน้าที่ปฏิวัติ กรอปกับวินัยเหล็กของกองป่า สหายแต่ละคนจึงขะมักเขม้นมิย่อท้อต่ออุปสรรคที่ขวางหน้า เสนอตัวเข้าแบกรับภาระที่หนักกว่าอย่างเต็มภาคภูมิ ทำให้บรรยากาศภายในทับกลาย เป็นความคึกคักมีชีวิตชีวา ประหนึ่งว่า เหล็กที่ถูกเผาจนร้อนได้ที่ พร้อมจะชุบตัวให้แกร่งฉะนั้น

แน่นอน การจะนำกองป่าในระยะเริ่มต้นฟันฝ่าการล้อมปราบและพัฒนาจากเล็กไปสู่ใหญ่
จากอ่อนไปสู่แข็งขึ้นได้นั้น จึงเป็นภาระอันหนักหน่วงและท้าทายอย่างยิ่งสำหรับฝ่ายนำและสหายทั้งหลาย ซึ่งลุงธง แจ่มศรี และลุงอุดม ศรีสุวรรณ เป็นผู้รับผิดชอบอยู่ในขณะนั้น แม้ท่านทั้งสองจะเคลื่อนไหวปฏิวัติมายาวนานก็ตาม แต่สำหรับสงครามจรยุทธ์ที่พึ่งแตกเสียงปืนแล้ว ก็นับเป็นเรื่องใหม่ของ พคท. และพลพรรคทั้งหลาย การเคลื่อนไหวในช่วงแรก ๆ หลังจากขึ้นภูพานแล้วจึงไม่มีความชัดเจนว่าจะทำอย่างไรดี การรวมศูนย์กำลังกับการกระจายกำลัง การทำลายศัตรูกับการรักษาตนเอง ตลอดจนการสร้างกองทัพ การสร้างฐานที่มั่นและพื้นที่หลักที่จะสร้างฐานที่มั่น ดูจะขาดทิศทางอยู่มาก และตกเป็นฝ่ายถูกกระทำในหลาย ๆ ด้าน การเคลื่อนไหวจรยุทธ์ในระยะนี้จึงเป็นไปตามแรงกดดันของข้าศึก ไม่สามารถเป็นฝ่ายกระทำในการตั้งรับได้ จะเป็นได้ก็เพียงแต่การเรียนรู้สงครามอันมีชีวิตชีวาจากความเป็นจริงที่เผชิญอยู่ข้างหน้านั่นเอง

เหตุการณ์หลายอย่างได้เร่งเร้าให้นักปฏิวัตหน้าใหม่ต้องตระเตรียมต้านการล้อมปราบ ตั้งแต่การลำเลียงข้าวจากที่ราบขึ้นภูพานก่อนการปราบใหญ่จะเริ่มขึ้น กำลังส่วนใหญ่จึงถูกจัดให้เป็นหน่วยลำเลียง โดยเฉพาะทหารหนุ่ม ๆ อย่างสหายไพศาล เป็นต้น แต่สหายปรีชา แม้ไม่ได้รวมอยู่กับหน่วยลำเลียงโดยตรง แต่ก็ไปลำเลียงด้วยเสมอ สหายปรีชาเป็นสหายจากในเมืองเพียงคนเดียวที่เข้มแข็ง อดทน เป้ข้าวได้ไม่แพ้สหายชาวนาเลย

ช่วงบ่าย หน่วยลำเลียงออกเดินทางมุ่งสู่หมู่บ้านแถบตีนภูพาน โดยมีจุดพักกึ่งทางที่ สันผาลม ขากลับมักจะหยุดพักเหนื่อยที่นี่เป็นเวลานานสักหน่อย นั่งฟังเสียงลมซึ่งบางครั้งถั่งโถมหวิวหวูเหมือนพายุในฤดูฝน ร่างที่โชกเหงื่อเหือดหายกลายเป็นหนาวเย็นในเวลาไม่ช้าไม่นาน กว่าจะกลับถึงทับก็เป็นเวลารุ่งเช้าชองวันใหม่แล้ว

เดือนตุลาคม ลมหนาวเริ่มเข้ามาเยือน ท้องฟ้าดูแจ่มใส แต่สถานการณ์ส่อเค้าจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะกำลังตำรวจ ทหาร เข้าควบคุม ตรวจค้น จับกุมประชาชนตามหมู่บ้านต่าง ๆ หนักขึ้น เรื่อย ๆ กองป่าของเราเริ่มขาดแคลนเสบียงอาหาร พื้นฐานมวลชนรอบตีนภูพานก็ยังแคบเกินไป ไม่สามารถสนับสนุนอะไรได้มากนัก เมื่อมวลชนถูกปราบปราม ความยากลำบากของกองป่าก็ยิ่งหนักหน่วงขึ้นเป็นเงาตามตัว ไม่มีข้าวสาร ไม่มียารักษาโรค กองป่าทั้งหมดจำต้องขุดกลอยขุดมันป่ามาประทังชีวิต เมื่อสถานการณ์บีบบังคับเช่นนี้ ฝ่ายนำจึงจัดตั้งหน่วยบุกเบิกงานมวลชนขึ้น เพื่อขยายพื้นฐานมวลชนรอบภูพาน หน่วยบุกเบิกงานมวลชนดังกล่าว เป็นหน่วยย่อยติดอาวุธแยกต่างหากจากทับกลาง ทำการเคลื่อนไหวเป็นอิสระ แก้ปัญหาด้วยตนเองในทุก ๆ เรื่อง ด้านหนึ่งเพื่อเกาะติดมวลชน ปลุกระดมและจัดตั้งมวลชน แก้ปัญหาเรืองข้าวสาร อีกด้านหนึ่งก็เพื่อเกาะติดศัตรูและสืบข่าวการเคลื่อนไหวของศัตรู การเคลื่อนไหวแบบกองจรยุทธ์จึงเริ่มขึ้นตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมา

หน่วยบุกเบิกงานมวลชนหน่วยแรกของดงพระเจ้าได้จัดตั้งขึ้น แยกต่างหากจากทับกลาง มีทั้งหมด 8 คน เป็นสหายหญิง 3 คน สหายชาย 5 คน โดยมี คุณเพทาย สหายหญิงร่างเล็กจากเมืองกรุงเป็นผู้รับผิดชอบ คุณอ้วนเป็นผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหาร สหายไพศาลกับสหายปรีชา (คุณจิตร ภูมิศักดิ์ ) ก็ร่วมอยู่กับหน่วยนี้ด้วย หน่วยบุกเบิกงานมวลชนได้รับมอบหมายให้บุกเบิกงานมวลชนด้านทิศเหนือของภูพาน บริเวณรอยต่อ อำเภอส่องดาว อำเภอศรีธาตุ และอำเภอกุมภวาปี

หลังจากเตรียมตัวพร้อมสรรพ หน่วยบุกเบิกงานวลชนก็ออกเดินทางโดยมีข้าวนึ่งตากแห้งคนละ 4 – 5 กระป๋อง เป็นเสบียงกรัง ใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งวัน ก็ถึงถ้ำบิ้ง (ถ้ำค้าวคาว) เชิงเขา ภูพานด้านทิศเหนือ ห่างจากบ้านภูตะคาม เขต อ.ส่องดาว ไม่ไกลนัก ขั้นแรก สหายไพศาล คุณประดิษฐ์ และคุณสมควร ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นอีสาน ได้ออกพบปะประชาชนตามหัวไร่ปลายนา เพื่อสำรวจสภาพทั่วไป จากการติดต่อโฆษณาแนวทางนโยบายของพรรค ในเวลาเดือน เศษ ๆ ก็ได้รับการต้อนรับและสนับสนุนจากมวลชนเป็นอย่างดี ชาวบ้านแห่กันมาเป็นกลุ่ม ๆ ทั้งกลางวันกลางคืน เพื่อฟังสหายเล่าถึงความไม่เป็นธรรมในสังคมและทางออกของพวกเขา สหาย ต้องแบ่งกัน แยกย้ายไปพบปะชาวบ้าน ที่นี่สหายกองป่าได้เห็นคุณจิตร ภูมิศักดิ์ สนทนากับชาวบ้านด้วยภาษาอีสานได้เป็นอย่างดี

เมื่อมวลชนมาพบปะกับสหาย พวกเขาจะเตรียมข้าวปลาอาหารมาเผื่อและกินร่วมกับสหายกองป่าด้วย มีหลายครั้งเมื่อพบปะกันตอนกลางวันแล้ว เขาได้นัดให้สหายในหน่วยบุกเบิกงานมวลชนเข้าไปเอาข้าวสารที่บ้านเขาในเวลากลางคืน ครั้งแรกสหายไม่ได้คิดถึงอันตรายมากนัก ความกล้ายังเหนือกว่าความกลัว สหายไพศาลกับคุณสมควร คุณประดิษฐ์และคุณจิตร ภูมิศักดิ์ เข้าไปเอาข้าวในหมู่บ้านนี้ ครั้งนั้น ชาวบ้านยังใช้ขี้ใต้น้ำมันยางและตะเกียงน้ำมันก๊าด แสงไฟวับ ๆ แวม ๆ เป็นจุด ๆ ในหมู่บ้าน ถนนฝุ่นทราย กลางบ้านมืดสลัว ๆ บางครั้ง ก็มีหมาเห่าไกลบ้างใกล้บ้าง ให้รู้สึกเสียว สันหลังเอามาก ๆ ขณะเดินเข้าไปในหมู่บ้าน เพราะมวลชนที่ติดต่อนั้น ยังใหม่ ยังไม่เคยผ่านการทดสอบอย่างใดเลย สหายเองก็ยังขาดวิธีการป้องกันความปลอดภัยที่ดี แต่ก็คิดไม่ออกว่า จะมีวิธีใดดีกว่านี้ เนื่องจากยังไม่มีประสบการณ์ เดินย่องขึ้นบ้านมวลชนที่นัดไว้ โดยขาดการสอดแนมและการคุ้มกันที่จำเป็น มันเป็นการสุ่มเสี่ยงอย่างมากในเวลานั้น “เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าชาวบ้านที่เรานัดพบนั้นจะไม่รายงานทางอำเภอ และจะไม่นำตำรวจ - ทหารมาดักซุ่มเรา” นั่นคือคำถามที่กองป่ายังตอบตัวเองไม่ได้ เพราะไม่มีสูตรสำเร็จในการปฏิบัติ นี่เป็นปัญหาแรก ๆ ที่ต้องเรียนรู้จากความเป็นจริง และเป็นการสุ่มเสี่ยงอย่างมาก กว่าจะได้รับบทเรียนเหล่านี้ ก็ต้องแลกมาด้วยชีวิตของสหายไม่น้อย หนึ่งในนั้นก็คือ คุณจิตร ภูมิศักดิ์

คุณจิตร ภูมิศักดิ์ ได้แต่งเพลง “ภูพานปฏิวัติ” เสร็จเรียบร้อย ช่วงใกล้จะถึงวันปีใหม่ 2509 ขณะที่สหายไพศาลนั่งมองลานหินและทุ่งหญ้าอันเวิ้งว้างในยามเย็น ริมที่ตั้งทับ และปล่อยความคิดให้ล่องลอยไปกับจิตนาการวันขึ้นปีใหม่นั้น สหายปรีชาก็เดินมานั่งข้าง ๆ พร้อมกับเนื้อเพลง “ภูพานปฏิวัติ” ในมือพร้อมกล่าวว่า “ผมเพิ่งแต่งเพลง ภูพานปฏิวัติ เสร็จ คุณไพศาลช่วยติชมให้หน่อย” ว่าแล้ว เขาก็ร้องเพลง ภูพานปฏิวัติให้ฟัง 2 – 3 ซึ่งเพลงภูพานปฏิวัตินี้ เขียนขึ้นจากชีวิตจริงของสหาย โดยเฉพาะวรรคที่ว่า.....สู้พายุโหมหวิวหวู.........นี้ ก็ได้ความคิดจากการนั่งฟังเสียงลมที่สันผาลม ตอนไปลำเลียงข้าว

ระยะนี้ นับว่าเป็นการปรับตัวของกองจรยุทธ์ให้เข้ากับสถานการณ์มากที่สุด เช่นการหาที่หลบซ่อนซึ่งจะต้องมีน้ำ ปิดลับได้ และมีชัยภูมิที่ได้เปรียบในการรบ และจะต้องเคลื่อนย้ายอยู่
เป็นประจำเพื่อหลีกเลี่ยงการจู่โจมของศัตรู มันเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นไปโดยสัญชาตญาณ ซึ่งก็มิได้ ฝึกปรือมาจากไหน เมื่อเปลี่ยนจากการหลบซ่อนอยู่อย่างลับ ๆ มาเป็นการเคลื่อนไหวแบบจรยุทธ์ การติดต่อสัมพันธ์มวลชน และการเข้าบ้าน ออกบ้านตอนกลางคืนที่พึ่งติดต่อมวลชนได้นั้น หากไม่มีการสืบข่าว ไม่มีการสอดแนมและไม่มีวิธีการป้องกันที่ดีแล้ว ก็เท่ากับเดินเข้าหาอันตรายนั่นเอง นั่นเป็น เพราะอยู่ระหว่างการเรียนรู้จากความเป็นจริง และขาดประสบการณ์ในสงครามจรยุทธ์โดยแท้ ส่วนศัตรู ก็พัฒนาการปราบปรามขึ้นพร้อม ๆ กับการเรียนรู้ของฝ่ายประชาชนปฏิวัติ

ข่าวการเคลื่อนไหวของกองจรยุทธ์แห่งดงพระเจ้า ได้รับรู้ถึงฝ่ายรัฐบาล พวกเขาก็ใช้กลไกการปกครอง เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน คอยติดตามสืบข่าว ข่มขู่และจับกุมชาวบ้าน สร้างความหวั่นไหวให้กับมวลชนเป็นอย่างยิ่ง ชาวบ้านหลายคนขอให้กองทหารป่ากำจัดคนพวกนี้เสีย ไม่เช่นนั้น พวกเขาก็ไม่กล้ามาติดต่อกับสหายในป่า การกำจัดสปายสายลับจึงเกิดขึ้น เป็นการตอบโต้การปราบปราม เข่นฆ่าประชาชนของฝ่ายรัฐบาล ชนิดเลือดต้องล้างด้วยเลือด ดูเหมือนการฆ่าสปายสายลับของฝ่ายรัฐบาลด้วยฝีมือของกองจรยุทธ์ดงพระเจ้าจะเกิดขึ้นที่นี่เป็นแห่งแรก

เป็นการเคลื่อนไหวแบบหน่วยจรยุทธ์ ลงเกาะติดมวลชน และปลุกระดม จักตั้งมวลชน ทำให้กองกำลังติดอาวุธสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นอิสระและเป็นฝ่ายกระทำได้บ้าง สามารถแก้ปัญหาเรื่องไม่มีข้าวกินได้ระดับหนึ่ง ในเวลาต่อมา กองป่าที่ขยายใหญ่ขึ้นแล้วก็ได้กระจายแบ่งกำลังเป็นหน่วยย่อย ลงเกาะติดมวลชนเพิ่มขึ้นอีกหลายหน่วย เช่น หน่วยงานของคุณดาว ทางโคกกลาง เขตอำเภอ กุดบาก หน่วยงานของสหายปรีชา (จิตร ภูมิศักดิ์) ซึ่งแยกออกจากหน่วยเดิม เพื่อลงไปเคลื่อนไหวในเขตอำเภอวาริชภูมิ เป็นต้น เมื่อรวมกับหน่วยงานทางดงพระเจ้า และหน่วยงานทางจังหวัดนครพนมแล้ว การเคลื่อนไหวดังกล่าว ดูขยายกว้างออกไปเกือบทุกพื้นที่รอบ ๆ ภูพานจึงเป็นที่วิตกของฝ่ายรัฐบาลเป็นอย่างมาก กลางปี 2509 มันจึงเปิดยุทธการล้อมปราบ 15 กองพัน เพื่อกำจัดกองกำลังติดอาวุธของ พคท. ให้สิ้นซากภายใน 3 เดือน เพื่อตัดไฟเสียแต่ต้นลมตามคำประกาศกร้าวของรัฐบาลถนอม – ประภาส
ก่อนการปราบใหญ่จะเริ่มขึ้นนั้น สหายปรีชา (คุณจิตร ภูมิศักดิ์) ถูกเรียกให้ขึ้นไปทับกลาง ผู้ส่งข่าวกระซิบบอกว่า สหายปรีชาจะได้ไปประจำที่สถานีวิทยุกระจายเสียงประชาชนแห่งประเทศไทยที่ตั้งอยู่ชายแดนจีน ส่วนสหายไพศาลจะต้องเดินทางไปศึกษาที่เวียดนามในวันรุ่งขึ้น

ก่อนออกเดินทาง สหายไพศาลได้พูดคุยกับเพื่อนร่วมรบคนอื่น ๆ เพื่ออำลา เสร็จแล้วจึงเข้าไปล่ำลาสหายปรีชา เพราะแน่ใจแล้วว่า สหายปรีชายังไม่ได้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน ซึ่งสหายปรีชาพูดกับสหายไพศาลว่า “ความจริง ลุงจะให้ผมไปพร้อมกับคุณ แต่ผมขอเข้าพรรคก่อนแล้วจะตามไป” สหายปรีชาตัดสินใจที่จะหล่อหลอมตนเองให้เป็นชาวคอมมิวนิสต์ และแล้วสหายปรีชา (จิตร ภูมิศักดิ์ ) ก็จากไปอย่างไม่มีวันกลับ หลังจากนี้ไปอีกประมาณ 4 เดือน

กล่าวคือ หน่วยงานของสหายปรีชา (จิตร ภูมิศักดิ์) ไม่สามารถติดต่อกับพื้นฐานมวลชนได้ ทหารเข้าควบคุมทุกหมู่บ้าน ห้ามไม่ให้ประชาชนขึ้นเขา เข้าป่า มีการตรวจค้นการ เข้า – ออก หมู่บ้านอย่างเข้มงวด เขาใช้ปืนใหญ่ 105 ยิ่งถล่มภูอ่างสอ ภูผาเหล็ก อย่างหนัก เหมือนกับจะให้ภูเขาทั้งลูกทลายราบเป็นหน้ากอง คุณปรีชา นำสหายลงจากหลังภู มาเคลื่อนไหวแถวตีนเขาใกล้หมู่บ้าน พวกเขาต้องเก็บผักหวานทั้งใบแก่ใบอ่อน มาต้มผสมกับข้าวน้อยนิด กินประทังชีวิต หยัดยืนสู้ต่อไป

ลุงจำรัส (ลุงเปลื้อง วรรณศรี) กล่าวถึง จิตร ภูมิศักดิ์ ในเหตุการณ์ช่วงนี้ไว้ว่า จิตร ภูมิศักดิ์ เป็น สหายที่ดี เขาตัดสินใจทิ้งแว่น มาจับปืน ต่อสู้ เพื่อปลดแอกประชาชน ก่อนเสียสละชีวิต เขาได้นำสหายส่วนหนึ่งไปบุกเบิกงานมวลชน ทางอำเภอวาริชภูมิ ตอนนั้น ศัตรูเข้าตรึงกำลังตามหมู่บ้านต่าง ๆ รอบตีนภูพาน เพื่อกวาดล้างใหญ่ พวกเขาติดต่อมวลชนไม่ได้ ข้าวสารก็หมด คุณจิตรให้สหายทั้งหมดรออยู่ที่ทับ เขากับคุณสวรรค์ (ตอนนั้นยังเป็นสหายเข้าป่าใหม่ ) รับหน้าที่เข้าไปติดต่อมวลชนเอง คุณจิตรกับคุณสวรรค์จึงลงไปทางบ้าน คำบิด คำบ่อ วันนั้น พวกเขาสองคนมีข้าวสารเพียงกระป๋องเดียว (กระป๋องนมข้น) ขณะรอให้ค่ำมืด คุณจิตร จัดแจงต้มข้าวให้คุณสวรรค์กิน ตัวเองกินแต่น้ำต้มข้าวเท่านั้น ก่อนจะเข้าไปติดต่อมวลชนในหมู่บ้าน คุณจิตร ยังบอกกกับคุณสวรรค์ว่า ถ้าเขาไม่กลับมาในคืนนี้ ก็ให้คุณสวรรค์เก็บเป้ของเขากลับไปหาสหายที่ทับ แล้วคุณจิตร ก็จากไป ประมาณ 30 นาทีต่อมา เสียงปืนดังติดต่อกันหลายนัด ทางทิศที่เขามุ่งหน้าไป คุณสวรรค์ก็ได้แต่คาดเดาว่า คุณจิตร อาจจะถูกศัตรูซุ่มเสียแล้ว แต่เขาก็รอด้วยความกระวนกระวายจนรุ่งสาง คุณจิตรก็ไม่กลับมา อสูรกายได้คร่าชีวิตของเขาไปแล้ว อย่างไม่มีวันกลับมา คุณสวรรค์เก็บเป้ขึ้นหลัง ด้วยความเศร้าสลด น้ำตาอาบแก้ม กลับมาหาสหายที่ทับ

ลุงจำรัสจึงเล่าต่อไปว่า ความจริงพรรคจะส่งคุณจิตร ไปทำงานที่ประเทศจีน และจะส่งไปเรียนต่อที่โซเวียต แต่มาเสียสละชีวิตเสียก่อน คุณจิตร เป็นผู้มีความรู้สูง รู้ภาษาต่าง ๆ ได้ถึง 7 ภาษา ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่คุณจิตเสียสละชีวิตเร็วเกินไป
ลุงธง แจ่มศรี ได้กล่าวว่า คุณจิตร ภูมิศักดิ์ ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคแล้วตั้งแต่อยู่ในเมือง เมื่อลุง (ลุงธง แจ่มศรี) ได้แจ้งกำหนดการเดินทางให้เขาทราบ เพื่อไปรับหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยที่สถานีวิทยุปักกิ่ง ตามคำเชิญของพรรคจีน คุณจิตร ภูมิศักดิ์ ขอเลื่อนการเดินทางออกไป 1 ปี ด้วยเหตุผล ที่เขาเน้นเป็นพิเศษว่า เพื่อจะได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสหายและจะได้สัมผัสกับการต่อสู้ที่กำลังเริ่มต้น จากกองกำลังอาวุธที่มีพลพรรคเพียงไม่กี่คนกับปืนเก่า ๆ ไม่กี่กระบอก ซึ่งเป็นสิ่งที่หาดูได้ยากและเป็นภาพสด ๆ ที่เขาจะเก็บเป็นบทเรียนและเป็นข้อมูลอันมีคุณค่าในงานด้านการเขียนทางวิชาการต่อไป ด้วยเหตุผลอันสะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณของนักปฏิวัติที่แนบสนิทอยู่กับมวลชนและความเป็นจริงของ จิตร ภูมิศักดิ์ ดังกล่าว เป็นเหตุให้สหายนำต้องเคารพและเห็นด้วยกับข้อเสนอ จึงอนุญาตให้ จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่ต่อไป จนนำมาสู่เหตุการณ์อันเศร้าสลดในที่สุด

ท่ามกลางการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนอย่างป่าเถื่อนนั้น สหายธาร (วิรัช อังคถาวร)รองเลขาธิการ พคท. ได้เสนอนแนวโยบาย “เขียวนอก แดงใน” เหมือนแตงโม เพื่อรักษาชีวิตมวลชน “ผมสงสารมวลชนของเรา ที่ถูกจับ ถูกฆ่า จำนวนมาก อยากให้พวกเขารักษาชีวิตในยามวิกฤตเช่นนี้ โดยทำตัวเหมือน แตงโม ข้างนอกเป็นสีเขียว เพื่ออำพรางตนเอง แต่ข้างในนั้นต้องเป็นสีแดงปฏิวัติ เพื่อปิดบังตัวเอง ถ้าเราไม่รู้จักอำพรางตนเอง แสดงตัวต่อหน้าศัตรู ก็จะถูกจับ ถูกฆ่า ถ่ายเดียว” หลังการเสนอนโยบายนี้ ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาจากเขตงาน 3 จังหวัด ในเวลานั้นว่าเป็น “นโยบาย ยอมจำนน” และเป็น “ลัทธิเสือจร” เพราะ ภาคอีสาน แตกเสียงปืนมาตั้งแต่ ปี 2508 จนป่านนี้ ยังไม่สร้างฐานที่มั่น

อย่างไรก็ตาม เมื่อดงพระเจ้าถูกล้อมปราบอย่างโหดร้ายทารุณ มวลชนถูกเข่นฆ่าล้มตายไปจำนวนหนึ่ง กองป่าระส่ำระสาย สหายที่ทนความลำบากไม่ได้ จำต้องออกมอบตัวกับทางการ ลุงธง แจ่มศรี ผู้นำคนสำคัญของเรา ถูกจับกุม สหายทำงานในเมืองต้องหนีเข้าป่า แกนบ้านอีกหลายคนถูกจับกุมเข่นฆ่าและบางส่วนยอมจำนน ความยากลำบากและอุปสรรคต่าง ๆ ดูเหมือนจะสยบอุดมการณ์ของนักปฏิวัติแห่งดงพระเจ้าอย่างได้ผล แต่อีกด้านหนึ่งวิกฤตอันโหดร้ายนั้นกลับหล่อหลอมจิตใจปฏิวัติในส่วนที่ยืนหยัด ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น หยาดเลือดและน้ำตาของเหล่าวีรชนผู้พลีชีพ เสมือนหยาดฝนพร่างพรม ชุบเลี้ยงเมล็ดพืช สีแดง ให้เจริญงอกงามขึ้นมาใหม่

กองกำลังติดอาวุธ ที่กระจ่ายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ค่อย ๆ ถอยร่นจากทางตะวันตก มาทางตะวันออก ตามเทือกเขาภูพาน รอยต่อจังหวัดสกลนคร – กาฬสินธุ์ ส่วนจังหวัดนครพนมก็ถอยร่นจากทางตะวันออกมาทางตะวันตก ตามเทือกเขาภูพาน รอยต่อจังหวัดนครพนม – กาฬสินธุ์ – สกลนคร เช่นกัน ช่วงนี้ เป็นช่วงลำบากที่สุดของกองจรยุทธ์ ไม่มีข้าว ไม่มียารักษาโรค เส้นสายทางในเมืองถูกตัดขาด ทุกหน่วยงานต้องขุดกลอย ขุดมันกินแทนข้าว เป็นเวลาแรมเดือนแรมปี แต่เมื่อกองจรยุทธ์ยังยืนหยัดอยู่ได้ ในที่สุด กองกำลังทั้งสองฟากฝั่งของภูพานก็ได้ บรรจบเชื่อมต่อกันที่เขตงานภูสูง รอยต่ออำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร กับ อำเภอ สหัสขันธ์ อำเภอเขาวง อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขณะนั้น สหายชัด (มิตร สมานันท์) เลขาธิการพรรค สหายธาร(วิรัช อังคถาวร) รองเลขาธิการ ลุงอรรถ (อุดม ศรีสุวรรณ) และ ลุงจำรัส (เปลื้อง วรรณศรี) กรรมการกลางพรรค ได้พบปะกันที่นี่

หลายหน่วยงานได้สรุปบทเรียน ความเห็นค่อนข้างตรงกันในเวลานั้น คือ “ต้องทำลายศัตรู เพื่อรักษาตนเอง” ตามทฤษฎีปฏิวัติของเหมาเจ๋อตุง จะรักษาตนเอง เพียงด้านเดียวโดยไม่ทำลายศัตรูหาได้ไม่ จะต้องทำลายศัตรู ยึดอาวุธจากศัตรู มาติดให้กับตนเองเท่านั้น จึงจะเป็นการรักษาตนเองอย่างแท้จริงและพัฒนาเติบใหญ่ขึ้นได้ นั้นคือจุดเริ่มต้นของการติดอาวุธโฆษณา การเข้าแย่งชิงอาวุธในงานบุญและการเข้าโจมตี แค้มป์ ป้อมค่าย ต่าง ๆ ของฝ่ายรัฐบาลอย่างเป็นฝ่ายกระทำตลอดแนวเทือกเขาภูพาน ทั้งเขตภูพานตะวันออกและเขตภูพานตะวันตก นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่พลพรรค พคท. ได้เข้าใจจิตวิญญาณแห่งทฤษฎีนี้อย่างแท้จริงและนำไปสู่ปฏิบัติการ ดังกล่าว

ปฏิบัติการติดอาวุธโฆษณาอย่างจริงจัง ปรากฏขึ้น ในปลายปี 2511 เมื่อกองกำลังทั้งสองส่วนจากภูพานตะวันออกและตะวันตกมาบรรจบกัน ที่เขตงานภูสูง สหายในทับต่างร่วกันคัดเลือกสหายวัยหนุ่มสาวที่แข็งแรงจำนวนหนึ่ง จัดตั้งเป็น หมู่ หมวด เป็นกองร้อย แยกต่างหากจากหน่วยทำงานมวลชน คุณสุทธี คุณสนชัย คุณวิหาร คุณเมืองทอง คุณเหล็ก และสหายรุ่นเก่าอีกหลายคน เป็นแกนนำในกองกำลังตะวันออก (เขตนครพนม) สมทบกับกองกำลังตะวันตก (เขต สกลนคร - กาฬสินธุ์ ) เข้าปิดล้อมหมู่บ้าน โฆษณาแนวทางนโยบายของพรรค เปิดโปงพฤติกรรมอันโหดร้าย ป่าเถื่อน ในการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนของฝ่ายรัฐบาล มวลชนในเขตงานต่าง ๆ ได้ส่งบุตรหลานของตน เข้าป่าจับปืนต่อสู้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บรรยากาศอันคึกคัก มีชีวิตชีวาได้กลับมาสู่กองกำลังติดอาวุธแห่งดงพระเจ้าอีกครั้ง เมื่ออุปสรรคนานัปการได้บรรเทาเบาบางลง

เมื่อฟื้นงานพื้นฐานมวลชนขึ้นแล้ว ทหารป่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปืนมีไม่เพียงพอ การเคลื่อนไหวแย่งชิงอาวุธปืนจากศัตรู ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ก็เริ่มขึ้น ทหารป่าลงจากเขาไปสมทบกับทหารบ้าน หรือมวลชนพื้นฐาน ในวันงานเทศกาลต่าง ๆ ร่วมกันแย่งชิงอาวุธปืนจาก ตำรวจ อส. ที่ไปเที่ยวงานบุญ ตามหมู่บ้าน บางแห่งใช้สหายบ้านที่เป็นหญิงสาวหลอกล่อศัตรูออกจากงาน มาให้ทหารป่าชิงปืน หลายเขตงาน ให้ทหารบ้านสำรวจและสอดแนม และนำทางให้ทหารป่าเข้ายิงแล้วแย่งปืนไป ข่าวการชิงปืนและวีรกรรมอันกล้าหาญของสหายเขตงานต่าง ๆ มีมาเป็นระยะอย่างไม่ขาดสาย รูปแบบการแย่งปืนก็มีหลากหลาย แพร่ขยายในเขตการเคลื่อนไหวของ พคท. จนเป็นเรื่องขยาดหวาดกลัวของ อส. และตำรวจ ในปี 2512 – 2516

หลายแห่งต้องจัดงานบุญในเวลากลางวัน การแสดงมหรสพต่าง ๆ ต้องแสดงกันกลางวันแสก ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการฆ่ากัน แต่ก็ไม่พ้นจากการถูกยิงแล้วชิงปืนจากทหารป่า ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน ในอำเภอกุดบาก อส. ที่เดินตามนายอำเภอ เพื่อตรวจความสงบเรียบร้อยในงานบุญ ยังถูกทหารป่ายิงแล้วชิงปืนไปได้ บางเขตงาน กำหนดไว้ว่า เมื่อทหารบ้านจะเข้าป่า ก็ให้ช่วยกันแย่งปืนจากศัตรูให้ได้ ก่อนเข้าป่า การแย่งปืนจากศัตรูในงานบุญจึงเป็นรูปแบบการต่อสู้อย่างหนึ่ง ที่เขตงานต่าง ๆ ปฏิบัติการแข่งขันกัน สำหรับเขตงานภูสูงชิงมาได้ 10 กว่ากระบอก เจ้าของปืนตายไป กว่า 10 คน ทหารป่าไม่เคยเสียชีวิตในการชิงปืนเลยแม้แต่คนเดียว

ส่วนสถานการณ์ภายในของทหารป่าดีขึ้นเป็นลำดับ สิ่งที่พบเห็นทั่วไป คือบรรยากาศ อันคึกคัก มีชีวิตชีวา มีความสามัคคี และความเสียสละ ของสหายแต่ละทัพที่เดินทางผ่าน จำนวนทหารป่าก็เพิ่มมากขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ไม่เหมือนกองป่าสมัยแรก ๆ คนออกมอบตัวมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับส่วนที่เข้าป่า มีการแยกสัดส่วนเป็น หน่วยงานมวลชน หน่วยสู้รบ รูปร่างกองทัพปลดแอกได้ปรากฏขึ้นแล้ว แต่ละทับได้จัด เป็นหมู่ เป็นหมวด เหมือนกองทหาร สหายที่กลับจากศึกษา ได้นำบทเรียนการสู้รบมาถ่ายทอด พร้อมกับอาวุธทันสมัย อย่างปืนอาก้า B 40 ( R P G ) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งกองทหารท้องถิ่น (น ป ถ.) ตามมาอีกหลายหน่วย และพัฒนาหน่วยต่าง ๆ ให้เป็นระบบและสอดคล้องกับงานสร้างพื้นฐานมวลชน เช่น ระบบการสร้างกองทหาร จะต้องเป็นไปตามสัดส่วน 1- 3- 5 เป็นต้น หมายถึง ทหารหลัก 1 คน ต่อทหารท้องถิ่น 3 คน ทหารท้องถิ่น 1 คน ต้องมีทหารบ้านรองรับ 5 คน เป็นต้น มีการเปิดโรงเรียน ฝึกการทหารขึ้นในเขตงานต่าง ๆ มีการบ่มเพาะทหารเสนารักษ์ ประจำหน่วยทหารทุกหน่วย

สถานการณ์ในด้านต่าง ๆ เอื้ออำนวยพอที่จะรุกตอบโต้ฝ่ายรัฐบาลได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านกำลังคน อาวุธ โดยเฉพาะด้านจิตใจ นับว่าดีมาก แม้จะมีปืนไม่ครบมือ พวกเขาก็เตรียมไปเอาอาวุธจากศัตรู ในการจู่โจมแต่ละครั้ง จะมีสหายจำนวนมาก สมัครเป็นหน่วยหน้า บุกทะลวง เรียกว่า “หน่วยมีดปลายแหลม” โดยไม่หวั่นเกรงต่ออันตรายใด ๆ ปฏิบัติการโจมตี ค่าย อส. สถานีตำรวจ การซุ่มโจมตี การกำจัดสปายสายลับ และการโต้ตอบทุกอย่าง ชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน ศัตรูตามตีเรา เราก็ตามตีศัตรู ตอบโต้ทันควัน จึงเริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายปี 2512 และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ พัฒนาเป็นสงครามประชาชน เต็มรูปแบบ ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ปฏิบัติการจู่โจมค่าย อ ส. ครั้งแรกในเขตจังหวัด สกล – กาฬสินธุ์ ได้เกิดขึ้นที่บ้านเหล่าตำแย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ และเป็นการโจมตี ค่ายศัตรูครั้งที่ 2 ในเขตภูพาน นับแต่ได้ก่อตั้งกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ทปท. ขึ้นในภาคอีสาน แผนการรบถูกกำหนดขึ้นโดย ที่ประชุมหน่วยพรรคประจำกองทหาร วันนั้น ทหารหลักและทหารท้องถิ่นเขตงานภูสูง ประมาณ 50 กว่าคน มารวมตัวกันที่ทับลุงคำนึง ซึ่งเป็นทับหน่วยงานมวลชนที่รับผิดชอบเขตงานนี้ พวกเขาตรวจสอบอาวุธประจำตัว ทำความสะอาดด้วยความทะนุถนอม ซ่อมแซมรองเท้าแตะฟองน้ำ เตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมาย นี่ เป็นการจู่โจมครั้งแรกของ ทปท. เขตภูสูงนับแต่ได้ก่อตั้งมา ทุกคนยังไม่เคยผ่านสนามรบมาก่อน เว้นแต่คุณวิหารเท่านั้น แต่บรรยากาศก็เต็มไปด้วยความมั่นอกมั่นใจ เมื่อทราบแผนการจะเข้าจู่โจม แค้มป์ อส. ที่ตั้งประจำอยู่ บ้านเหล่าตำแย พวกเราฝึกซ้อมแผนการจู่โจมกับหุ่นจำลองที่สร้างขึ้นแบบง่าย ๆ จนแต่ละหมู่ แต่ละหมวด จดจำภาระหน้าที่ของตนเองได้เป็นอย่างดี ก่อนผู้บังคับบัญชาจะสั่งให้ทุกคน นอนพักผ่อนเอาแรงตลอดทั้งวัน

ท.ป.ท. เดินทางลงจากภูพานถึงบ้านเหล่าตำแยก่อน 6 ทุ่ม อาศัยความมืด เข้าประชิดค่ายศัตรูรอคำสั่งเข้าโจมตี เนื่องจากข้าศึกตั้งค่ายเป็นวงกลม มีบังเกอร์ล้อมบ้านแต่ละหลัง เราจึงใช้ยุทธวิธีในการรบ แบบรบประชิดตัว ทะลวงลึกเข้าใจกลางศัตรู ทำลายข้าศึกจากข้างใน แบบ “ดอกไม้บาน” และเผด็จศึกในเวลาอันรวดเร็ว ใกล้เวลาตี 1 ก่อนดวงจันทร์ลอยพ้นขอบฟ้าในฤดูแล้ง สายตาทุกคู่ เพ้งมองไปที่แสงไฟในค่ายศัตรูด้วยความระทึก ทันใดนั้น สัญญาณบุกก็ดังขึ้น หน่วยบุกทะลวง พุ่งตัวเข้าใส่เป้าหมายข้างหน้าทันที เสมือนมีดปลายแหลมทิ่มแทงเข้าใจกลางที่เป็นส่วนสำคัญของข้าศึก นั่นคือ จุดบัญชาการและศูนย์วิทยุของศัตรู หน่วยอื่น ๆ ก็บุกตาม เข้ายึดเป้าหมายตามหน้าที่ของตน หน่วยที่ 1, 2, และ 3 เข้าเหยียบบังเกอร์ได้อย่างรวดเร็ว สาดกระสุนเข้าใส่ศัตรูชนิดไม่ปล่อยให้ศัตรูโงหัวขึ้นมาได้ ศัตรูหมดโอกาสที่จะต่อกร ไม่กี่ นาทีต่อมา ท.ป.ท. ก็ยึดค่ายศัตรูทั้งหมดไว้ได้ และปลอดภัยทุกคน ศัตรูตายและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง บางคนวิ่งหนีรอดตายไปได้ ท.ป.ท. เก็บสินสงครามในค่ายทั้งหมดและหามศัตรูที่บาดเจ็บออกห่างจากค่าย ก่อนจุดไฟเผา เสียงเพลง “ภูพานปฏิวัติ” ดังทั่วทุกมุมของสนามรบท่ามกลางเปลวเพลิงกำลังโหมกระพือเผาค่ายศัตรูให้ราบเรียบด้วยความฮึกห้าวกับชัยชนะอันงดงามในครั้งแรกนี้ ของ ทปท. เขตภูสูง เสมือนจะประกาศให้ศัตรูได้รู้ว่า “ข้า คือทหารปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย” ก่อนจะถอยกลับขึ้นภูพาน ตามยุทธวิธี เผด็จศึกเร็ว ถอยเร็ว นี่ เป็นชัยชนะครั้งแรกของ ทปท. ภาคอีสาน ในการโจมตีค่าย ข้าศึกอย่างเป็นฝ่ายกระทำ

จากนั้นมามีการจู่โจมค่ายและซุ่มตีทั้งเล็กทั้งใหญ่อีกหลายครั้งในเขตภูพานตะวันตก เขตภูพานตะวันออก เขตภูสระ เขตภูเตี้ย (เขต 55) และเขตภูสิงห์ (เขต 22 ) การสู้รบครั้งสำคัญ ๆ เท่าที่ผู้เขียนยังพอจำได้ มีดังนี้ เช่น การโจมตีค่ายบ้านหนองผักเทียม การโจมตีค่ายบ้านโคกภู อ.กุดบาก การโจมตี นิคมน้ำอูน อ.น้ำอูน การโจมตีค่ายบ้านดินจี่ การโจมตีค่ายบ้านโพนแพง การโจมตีค่ายบ้านนา ไร่เดียว อ.สหัสขันธ์ จ. กาฬสินธุ์ การโจมตีค่ายบ้านโพนตูม อ.นาแก การโจมตีค่ายบ้านกะซะและการโจมตีค่ายบ้านมะนาว อ.ดงหลวง การซุ่มตีที่ อ.เขาวง การจู่โจมค่ายบ้านชาด นาคู การสู้รบอย่างดุเดือดที่โคกสาวเอ้ กิ่ง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งการรบครั้งนี้ศัตรูได้ตัดศรีษะสหายสมศรีและสหายเชิดที่พวกเขายิงตายไปด้วย การต้านการล้อมปราบที่บ้านนาสิงห์ – บ้านนาทราย อ.บึงกาฬ ของ ทปท. เขตภูสิงห์ ซึ่งการรบครั้งนี้ศัตรูได้เผาบ้านนาทรายด้วย การรบที่บ้านนาตะแบก อ.ศรีวิไล การรบที่บ้านศรีธาตุ อ.คำตากล้า การรบที่บ้านดอนย่านาง อ.พรเจริญ การปะทะกันอย่างยาวนานที่ดงตีนภูสิงห์ การรบที่บ้านบาก และ การรบอย่างดุเดือดกล้าหาญของ ทปท. เขตภูสิงห์จนจับนายอำเภอบ้านม่วงได้คาสนามรบ นอกจากนี้ยังมีการสู้รบครั้งสำคัญ ๆ อีกหลายครั้ง ที่เขตงาน ภูซาง จังหวัดอุดรธานี – เลย เช่น การจู่โจมค่ายบ้านโคกนาดอกคำ อ.เมืองเลย การตีค่ายบ้านเหล่าวังแข้ อ. น้ำโสม จ.อุดรธานี การซุ่มตีที่บ้านวังผา อ. ปากชม จ.เลย ยุทธการเผาบ้านร่องป่าบุ่น ซึ่งศัตรูตายและบาดเจ็บนับร้อย เป็นต้น

สงครามประชาชนนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และการปราบปรามของฝ่ายรัฐบาลได้พัฒนาความรุนแรงขึ้นทุก ๆ ปี เขตงานต่าง ๆ ก็ผ่านการกวาดล้างปราบปราบ มีการขยายตัวและหดตัวมาเป็นระยะ ๆ เมื่อปรับตัวเองได้ ก็ขยายตัวอีก ไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อฝ่ายกองทัพปลดแอกปราชนแห่งประเทศไทยรุกโต้ตอบหนักขึ้น ฝ่ายรัฐบาลก็กวาดล้างปราบปรามอย่างหนักและถี่ขึ้นเป็นเงาตามตัว

แต่ในที่สุด สถานการณ์ในพื้นที่ดงพระเจ้าก็เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นไปตามสถานการณ์ใหญ่ของประเทศและทางสากล ทั้งปัญหาภายในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและสถานการณ์สากลที่ผันแปรไป ส่งผลกระทบต่อการต่อสู้ปฏิวัติใน “ดงพระเจ้า” ให้กลายเป็นบทเรียนของสังคม และตำนานของการต่อสู้ของชนชั้นรากหญ้าหรือชนชั้นผู้ถูกกดขี่ขูดรีดของประชาชนชาวไทยอีกแห่งหนึ่ง แม้เหตุการณ์จะผ่านไปหลายปีผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างๆ ในดงพระเจ้า ส่วนใหญ่ก็ยังมีชีวิตอยู่ บ้านเหล่าใหญ่ ได้ เปลี่ยนชื่อเป็นบ้านเหล่าสุขสันต์ มีบ้านเรือนเพิ่มขึ้นมากกว่า 200 หลังคาเรือน มีถนนหนทางลาดยางอย่างดี มีไฟฟ้าทุกหลังคาเรือน ไม่ต้องใช้ขี้ใต้เหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว ดงพระเจ้า ซึ่งบัดนี้ ไม่หลงเหลือป่าดงดิบ ที่มีต้นยางขนาดใหญ่นับร้อย ๆ ต้น ไม่มีสัตว์ป่า ไม่มียาสมุนไพรและพืชผักนานาพันธุ์ ให้เห็นเลยแม้แต่นิดเดียว ตรงไหนเป็นบ่อน้ำ ของกองจรยุทธ์ ตรงไหนเป็นตอไม้ต้นขี้เหล็กที่คุณสมศักดิ์ยิงปืนนัดแรก ใส่ศัตรู ทุกอย่างเปลี่ยนไปแทบจะจำเค้าลางเดิมไม่ได้เลย
แต่ที่ยังยืนยงคงกะพันอยู่ชั่วนาตาปีไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็ คือ “ความยากจน” และดูเหมือนจะยากจนลงกว่าเดิมเสียด้วย และคงจะอยู่ยืนยาวต่อไป ตราบเท่าที่ชนชั้นขูดรีดยังดำรงอยู่ และชนชั้นผู้ถูกกดขี่ขูดรีดยังไม่มีสำนึกที่จะลุกขึ้นสู้อีกครั้ง จนกว่าจะมีอำนาจรัฐเป็นของตนเอง ไปบริหารการผลิต จัดระเบียบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น