News online

กลับไปยังหน้าหลักเพื่อสนทนา C-Box ดู TV และฟังวิทยุ ได้ที่

วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

แถลงการณ์เครือข่ายพลเมืองเน็ต : กดไลค์ ไม่ใช่อาชญากรรม


จากกรณี น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้กล่าวเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ว่าการกดถูกใจ (Like) หรือแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก ถือเป็นการเผยแพร่เนื้อหาทางอ้อม อาจต้องรับผิดเช่นเดียวกับผู้เขียน และกล่าวด้วยว่า ทางกระทรวงกำลัง “ขอความร่วมมือ” ไปยังเฟซบุ๊กและยูทูบ เพื่อปิด “เพจหมิ่น” “วิดีโอหมิ่น” และสืบหาตัวผู้เขียนเนื้อหา

นอกจากนี้ ต่อมาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 น.ส. มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยังได้เสนอให้ปิดเฟซบุ๊กและยูทูบทั้งเว็บไซต์ หากกระทรวงไอซีทีไม่สามารถจัดการไม่ให้มีเนื้อหาพาดพิงสถาบันกษัตริย์ในเว็บไซต์ดังกล่าวได้

ท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีและรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ มีปัญหาต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ใช้เน็ตหลายประการ ดังนี้

1. กดไลค์ ไม่ใช่อาชญากรรม

1.1 รัฐธรรมนูญไทยรับรองสิทธิของประชาชนในการแสดงออกถึงความคิดความรู้สึก

ข้อความที่อาจ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อาจถูกตัดสินโดยศาลว่าผิดตามมาตรา 112 แห่ง ประมวลกฎหมายอาญา แต่การแสดงออกถึงความรู้สึกต่อข้อความดังกล่าว ไม่ผิดกฎหมายใดๆ พลเมืองไทยมีสิทธิที่จะแสดงออกถึงการชอบ ไม่ชอบ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ทุกประการ

1.2 อินเทอร์เน็ตคือการลิงก์ รัฐต้องไม่เอาผิดการแบ่งปันลิงก์

ในประเทศที่กฎหมายปกป้องสิทธิพลเมือง เช่น แคนาดา ศาลได้พิพากษาว่า การแบ่งปันลิงก์ไม่นับเป็นการสร้างหรือเผยแพร่เนื้อหา และไม่ต้องถูกระวางโทษ เพราะเนื้อหาในลิงก์อาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอโดยผู้แบ่งปันไม่สามารถควบคุมได้ ผู้แบ่งปันลิงก์จึงได้รับการปกป้องออกจากความรับผิด

ในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายตีความว่าการแบ่งปันลิงก์คือการเผยแพร่ข้อมูล และต้องรับผิด ซึ่งสมควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

การทำลิงก์ ส่งลิงก์ และเผยแพร่ลิงก์ เป็นหัวใจสำคัญของอินเทอร์เน็ต การเชื่อมโยงในเครือข่ายจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีลิงก์ การทำให้การแบ่งปันลิงก์เป็นอาชญากรรม จึงเป็นการขัดขวางหลักการพื้นฐานของอินเทอร์เน็ต และกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ

1.3 เครือข่ายสังคมออนไลน์ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ผู้ใช้ไม่สามารถล่วงรู้และควบคุมการใช้งานได้ทั้งหมด

เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก มีซอฟต์แวร์ที่ทำการคัดเลือกเนื้อหาและลิงก์ เพื่อแสดงในหน้าเว็บกลาง (วอลล์: wall) และหน้าส่วนตัว (โพรไฟล์: profile) โดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องอนุมัติหรือรับรู้ อีกทั้งการคัดเลือกดังกล่าวพิจารณาจากองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งผู้ใช้ไม่สามารถควบคุมวิธีได้ โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กจะทราบดีว่า ซอฟต์แวร์ของเฟซบุ๊กนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

การระวางโทษกับการกดถูกใจ แสดงความเห็น หรือการกระทำอื่นใด ซึ่งผู้ใช้ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าจะทำให้เกิดการเผยแพร่ต่อหรือไม่ จึงขัดกับธรรมชาติของระบบ ทำให้ผู้ใช้ตกอยู่ในความกลัว และไม่สามารถใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ได้อย่างปกติ

2. รัฐไทยควรจัดการอย่างไร เมื่อเจอหน้าเฟซบุ๊กหรือคลิปวิดีโอ ที่เห็นว่าไม่เหมาะสม


2.1 ตระหนักถึงราคาที่สาธารณะต้องจ่ายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สำหรับความพยายามที่ไม่สามารถสำเร็จได้

ไม่มีการปิดกั้นแบบใดที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า แม้รัฐบาลไทยจะลงทุนระดับ The Great Firewall ของประเทศจีน ซึ่งเริ่มต้นด้วยงบประมาณราว 24,000 ล้านบาท ก็ไม่สามารถปิดกั้นให้เนื้อหาใด ๆ ให้หายไปจากอินเทอร์เน็ตได้ ในขณะเดียวกัน การกีดขวางการจราจรอินเทอร์เน็ต ยังกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมอีกด้วย

2.2 ต้องใช้วิธีตามกฎหมาย หยุดการ “ขอความร่วมมือ” อย่างไม่เป็นทางการจากผู้ให้บริการ


วัฒนธรรมการ “ขอความร่วมมือ” อย่างไม่เป็นทางการ ส่งผลเสียในทางปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากหลักฐานการขอความร่วมมือและข้อมูลที่ได้ จะไม่ถูกจัดเก็บในสารบบของราชการ ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิ เช่น สิทธิตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อขอข้อมูลเพื่อตรวจสอบการทำงาน ทำให้การพิทักษ์สิทธิของประชาชนเป็นไปได้ยาก และเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล

2.3 หากรัฐยืนยันว่าจำเป็นต้องปิดเว็บไซต์หรือข้อความที่ “ไม่เหมาะสม” การกระทำดังกล่าวควรเป็นไปโดยไม่สร้างภาระความรับผิดที่เกินสมควรให้กับตัวกลางหรือผู้ให้บริการ

เครือข่ายพลเมืองเน็ตขอเสนอข้อปฏิบัติในภาพรวมดังนี้

แยกชนิดผู้ให้บริการและผู้ดูแล ออกเป็นส่วนที่เกี่ยวกับเนื้อหาและไม่เกี่ยวกับเนื้อหา
กำหนดให้ผู้ให้บริการและผู้ดูแลที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหา (“ท่อข้อมูล”) ไม่ต้องมีความรับผิด
กำหนดระดับชั้นของผู้ให้บริการและผู้ดูแลที่เกี่ยวกับเนื้อหา ตามความใกล้กับเนื้อหา
จำกัดขนาดของผลกระทบต่อผู้ไม่เกี่ยวข้องให้เล็กที่สุด ในการส่งหนังสือเพื่อให้ระงับการเข้าถึงเนื้อหาชั่วคราว ควรแจ้งไปที่ผู้ให้บริการหรือผู้ดูแล ในระดับที่ใกล้กับเนื้อหาที่สุด ก่อนจะไล่ไปสู่ผู้ให้บริการหรือผู้ดูแลระดับที่ห่างออกไป เนื่องจากผู้ให้บริการหรือผู้ดูแลระดับที่ใกล้เนื้อหาที่สุดจะมีความในการจัดการเนื้อหาได้ง่ายกว่า และผลจากการกระทำมีโอกาสน้อยกว่าที่จะกระทบผู้ใช้บริการรายอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง

ต้องถือว่าการระงับการเข้าถึงเป็นมาตรการบรรเทาความเสียหาย ในลักษณะการคุ้มครองชั่วคราว คำสั่งปิดกั้นจะมีได้ต่อเมื่อมีการแจ้งความหรือฟ้องคดี ระยะเวลาการปิดกั้นต้องมีวันสิ้นสุด (สามารถขยายได้ อย่างมีขอบเขต)
ในการระงับการเข้าถึงเนื้อหา ผู้ให้บริการต้องแสดงหมายเลขคำสั่งที่ชัดเจนบนหน้าเว็บ เพื่อให้สาธารณะตรวจสอบได้

การปิดกั้นต้องสิ้นสุดทันทีเมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ส่งฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง หรือคดีสิ้นสุดโดยศาลพิพากษาว่าเนื้อหาไม่ผิดกฎหมาย หลังจากนั้นรายละเอียดของคำสั่งทั้งหมดต้องเผยแพร่สู่สาธารณะ

3. พลเมืองเน็ตควรจัดการอย่างไร เมื่อเจอหน้าเฟซบุ๊กหรือคลิปวิดีโอ ที่เห็นว่าไม่เหมาะสม

3.1 พิจารณาว่า เนื้อหาดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอย่างแท้จริงหรือไม่

ควรไตร่ตรองว่าเนื้อหาดังกล่าวเข้าตามเกณฑ์ในดังต่อไปนี้
ก) การวิพากษ์วิจารณ์ (criticism)
ข) การแสดงความดูหมิ่น เกลียดชัง ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ลดค่าความเป็นมนุษย์ (hate speech)
ค) การยุยงให้ใช้ความรุนแรงหรือทำร้ายร่างกาย (fighting speech)
ง) ข้อมูลส่วนบุคคลที่เมื่อเปิดเผยแล้วอาจเกิดอันตรายต่อบุคคลดังกล่าว (sensitive personal data)

ข้อความในข้อ (ค) และ (ง) เท่านั้น ที่อาจจะสามารถทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้ และจำเป็นต้องจัดการอย่างทันท่วงที ส่วนข้อความในข้อ (ข) แม้เป็นการละเมิดสิทธิเช่นกัน แต่ก็มีวิธีอื่นในการจัดการได้ โดยไม่จำเป็นต้องระงับการเข้าถึง

พลเมืองเน็ตควรตระหนักว่า อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่สำหรับความรู้และความคิดเห็นอันหลากหลาย อินเทอร์เน็ตมีทุกสิ่งที่ใครคนหนึ่งเกลียด การปิดสิ่งที่คนกลุ่มหนึ่งทนไม่ได้ จะนำไปสู่การปิดทุกอย่างในอินเทอร์เน็ต วิธีที่เหมาะสมกับความเป็นจริงที่สุด เมื่อเจอสิ่งที่คุณไม่ชอบในเน็ต คือ อดทนกับมัน

3.2 รายงานเนื้อหาที่เห็นว่าไม่เหมาะสม ไปยังผู้ให้บริการ ด้วยเหตุผลที่ชัดเจน

เครือข่ายสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่ รวมถึงเฟซบุ๊กและยูทูบ ใช้แนวคิด “notice and takedown” ซึ่งหมายถึง การเปิดให้สร้างเนื้อหาอย่างเสรี แต่หากมีรายงานการละเมิดสิทธิ ผู้ให้บริการก็จะพิจารณาลบเนื้อหาดังกล่าว

การรายงานการละเมิดจึงควรเป็นไปด้วยความรับผิดชอบ รายงานให้ตรงหรือใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด และไม่พยายามปั่นระบบรายงาน เพื่อลดภาระแก่ผู้ให้บริการและไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น

หากท่านต้องการรายงานว่าหน้าเฟซบุ๊กใด “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” เนื่องจากเฟซบุ๊กไม่มีเหตุผลดังกล่าวให้เลือก ขอแนะนำให้เลือกเหตุผลที่ใกล้เคียงที่สุดคือ “มันก่อกวนเพื่อนของฉัน: It harrasses my friend” คือเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ตัวผู้รายงาน

การระดมคนเพื่อรายงานซ้ำๆ อาจทำให้ผู้ให้บริการไม่สามารถตอบสนองต่อรายงานกรณีอื่น ๆ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับความไม่ปลอดภัยในชีวิตของผู้อื่นได้อย่างทันท่วงที (เทียบได้กับกรณีคนโทรไปป่วน 191)

อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทางสังคมที่เราทุกคนอยู่ร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ผู้ให้บริการ และพลเมืองเน็ตจะต้องมีบทบาทร่วมกันในการรักษาพื้นที่นี้เพื่อประโยชน์สาธารณะ บนพื้นฐานของการรักษาสิทธิพลเมืองและปกป้องสิทธิมนุษยชน

เครือข่ายพลเมืองเน็ต
30 พฤศจิกายน 2554
contact@thainetizen.org


ภาคผนวก

นโยบายการรายงานของเฟซบุ๊กมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึกปลอดภัย โดยจะดำเนินการกับกรณีการคุกคามความเป็นส่วนตัว ความรุนแรง และถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (hate speech) ซึ่งครอบคลุมการแบ่งแยกบุคคลตาม ชาติพันธุ์ เพศสภาพ ความพิการ และศาสนา

นโยบายการรายงานของเฟซบุ๊ก

คัดลอกจาก https://www.facebook.com/communitystandards

Facebook ไม่อนุญาตให้ใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง โปรดเคารพซึ่งกันและกันเมื่อคุณติดต่อสื่อสารผ่าน Facebook แม้ว่าเราสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น, สถาบัน องค์กร, กิจกรรม และการฝึกปฏิบัติต่างๆ แต่การแบ่งแยกบุคคลตามเชื้อชาติ, เผ่าพันธุ์, ถิ่นที่ถือสัญชาติ, ศาสนา, เพศ, เพศสภาพ, รสนิยมทางเพศ, ความทุพพลภาพ หรือโรคภัย ถือเป็นการละเมิดเงื่อนไขของเราอย่างร้ายแรง

การคุกคามและการล่วงละเมิด
ในฐานะที่เป็นชุมชน เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเคารพซึ่งกันและกัน รวมทั้งให้ความสำคัญกับรายงานเกี่ยวกับการล่วงละเมิดอย่างจริงจัง เราดำเนินการเมื่อมีการคุกคามความเป็นส่วนตัวของบุคคล หรือบุคคลนั้นได้รับการติดต่อโดยไม่พึงประสงค์อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเราสนับสนุนให้คุณสร้างความสัมพันธ์อันดีใหม่ๆ โปรดพึงระลึกว่าการติดต่อบุคคลแปลกหน้า หรือบุคคลที่คุณไม่เคยพบหน้ามาก่อนอาจถือได้ว่าเป็นการล่วงละเมิดอย่างหนึ่ง

เราประสงค์ให้สมาชิกของเรารู้สึกถึงความปลอดภัยเมื่ออยู่ในไซต์ การคุกคามที่เชื่อได้ว่าเป็นอันตรายต่อผู้อื่นจะถูกลบ เราอาจต้องถอดการสนับสนุนสำหรับองค์กรที่ก่อให้เกิดความรุนแรงนั้นออกด้วยเช่นกัน

ที่มา go6tv

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

โสภณ พรโชคชัย : ใครคือผู้ปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ตัวจริง

Sun, 2011-11-27 18:19

ดร.โสภณ พรโชคชัย

เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก Sopon Pornchokchai



คำตอบคือสามัญชน หาใช่ใครอื่น ผมเคยทำงานเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลัง เวียดนาม ไปบรรยายในโครงการของกระทรวงการคลัง กัมพูชา ไปร่วมกับหอการค้าลาว และพม่าจัดสัมมนา และไปทำสำรวจวิจัยอสังหาริมทรัพย์ในประเทศภูมิภาคนี้หลายครั้ง จึงพอรู้เรื่องอินโดจีนบ้าง ผมจึงมั่นใจว่าคนที่ออกมาเย้ว ๆ ว่ารักชาตินั้น มีเพียงส่วนน้อยที่รักจริง แต่ส่วนใหญ่ก็แค่มาแสดงเพื่อเอาดีใส่ตัว ผู้ที่เป็นตัวจริงในการปกป้องบ้านเมือง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ คือสามัญชนคนธรรมดาต่างหาก

จากประสบการณ์สงครามอินโดจีนในกรณีลาว เขมร เวียดนามที่เมื่อใกล้ ‘กรุงแตก” คนที่หนีไปก่อนเป็นใครบ้าง

1. พวกคหบดีมีอันจะกิน หรือชนชั้นสูง หากเกิดอะไรขึ้น พวกนี้ก็เตรียมตัวเปิดหนีไปต่างประเทศได้ทันที จำนวนมากก็มีสัญชาติหรือ ‘กรีนการ์ด’ สหรัฐอเมริกาหรือชาติอื่นอยู่แล้ว ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศชาติจริง ก็พร้อมจะ ‘สละเรือ’ ได้ทุกเมื่อ

2. อาจารย์ ปัญญาชน – ชนชั้นกลางค่อนข้างสูงที่มีโอกาสไต่เต้า หากเกิดกรณี ‘สิ้นชาติ’ พวกเขาคงไม่อยู่ให้เสียความปลอดภัยของครอบครัว หรือเสียเวลาแห่งความสุขของตัวเองแน่นอน

3. นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมักบูชายศศักดิ์ และยิ่งมียศศักดิ์สูง ยิ่งเห็นคนอื่นต่ำต้อยด้อยค่า คนระดับนี้มีทรัพย์ศฤงคารมากมายอย่างไม่ปรากฏที่มา ในประวัติศาสตร์อินโดจีนที่ผ่านมา พวกนายพล นายพันทั้งหลายหนีไปซุกใต้ปีกสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกที่พวกเขาล้วนเรียนจบมา และประเทศเหล่านี้ก็รู้ว่าพวกเขามีทรัพยากรมาก จะได้ไปช่วยสร้างชาติให้พวกฝรั่งตาน้ำข้าวอีกต่อหนึ่ง

4. ข้าราชการระดับสูง ซึ่งมีสถานะไม่ต่างจากพวกนายทหารชั้นผู้ใหญ่ พวกเขาสุขสบายด้วยอภิสิทธิ์มากมายในสมัยรับราชการ พวกนี้ทำตัวให้ชาติเลี้ยง สูบเลือดจากชาติมากกว่าที่จะทำดีเพื่อชาติ

แต่ในยามสงบ คนเหล่านี้ส่งเสียงดังในการโฆษณาชวนเชื่อในการปกป้องชาติกันใหญ่ ซึ่งก็คงเป็นการทำตามกระแส ทำเพื่อเอาดีใส่ตัว เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ เพื่อการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง เพื่อหลอกให้สามัญชนไปตายแทนพวกตน หรือทำไปตามหน้าที่เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามก็ยังมีบางคนในกลุ่มข้างต้นที่ไม่หนีและอยู่ร่วมกู้ชาติจนตลอดรอดฝั่ง แต่ก็คงเป็นเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้น

ส่วนสามัญชนคนทั่วไปนี่แหละที่อยู่ปกป้องชาติ และฟื้นฟูชาติตัวจริง พวกเขาคือผู้ที่ไปตายเพื่อชาติในสงครามต่าง ๆ ที่พวกเขาไม่เคยได้ก่อ แต่มักก่อโดยชนชั้นปกครอง แม้ในยามชาติล่มจม เช่น ลาว เขมร เวียดนาม สามัญชนนี่แหละคือผู้ที่ยังอยู่สร้างชาติขึ้นมาใหม่ พวกเขาต้องอยู่เผชิญชะตากรรมอันโหดร้ายร่วมกับประเทศชาติในภาวะตกต่ำสุดขีด ประเทศในอินโดจีนที่ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่นั้นเป็นเพราะพวกสามัญชน “ฝุ่นเมือง” ที่ไร้ที่ไปนั่นเอง พอพวกเขาได้มีโอกาสทำมาหากินตามปกติสุข เศรษฐกิจก็เดินหน้าต่อไปได้

สามัญชนคนธรรมดาทั่วไปนี่แหละที่บำรุงชาติ เพราะพวกเขาเสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้ประเทศชาติอยู่ได้ เจริญขึ้น สามัญชนเหล่านี้กลายเป็นแรงงานราคาถูกให้กับนายทุนข้ามชาติที่มาลงทุน จึงทำให้ประเทศเจริญขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด และเมื่อฝุ่นจางลงแล้ว ประเทศเข้าสู่ความสงบอีกครั้ง พวกสามัญชนได้สร้างบ้านเมืองขึ้นใหม่จนมั่นคงแล้ว เหล่าคหบดี ปัญญาชน-กฎุมพีชาวลาว เขมร เวียดนาม ที่หนีไปก่อนหน้านี้และตอนนี้กลายเป็นอเมริกันชนไปแล้ว ก็ได้ทีกลับมาทำมาหากินในประเทศเกิดอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อเรารู้แล้วว่าสามัญชนนี่แหละคือคนปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตรย์ ตัวจริง เราจึงต้องตระหนักถึงความสำคัญของประชาชนคนเล็กคนน้อยในประเทศเป็นสำคัญ นโยบายของรัฐจึงต้องทำเพื่อประชาชนคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่พวกคหบดีใหญ่หรือพวกอภิสิทธิ์ชนที่มีทางเลือกซึ่งมักไม่คิดจะอยู่ช่วยกู้ชาติ แต่จะค่อยกลับมาในยามสงบแล้วเท่านั้น

ที่มา prachatai

'ประชาธิปไตยของขอทาน' (?)

Sun, 2011-11-27 21:04

นักปรัชญาชายขอบ


กรณีศาลตัดสินจำคุก “อากง” 20 ปี ในความผิด ม.112 เนื่องจากส่งข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพระราชินีผ่าน SMS ไปยังโทรศัพท์มือถือของเลขาฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำให้เกิดการตั้งคำถามอย่างกว้างขวาง เช่น

1) ทำไมการทำผิดด้วย “คำพูด” หรือ “ข้อความ” จึงต้องติดคุกถึง 20 ปี หากกฎหมายมีไว้เพื่อรักษา “ความยุติธรรม” เราจะอธิบายอย่างไรว่าการทำผิดกับการลงโทษในกรณีดังกล่าวมีความยุติธรรมอย่างไร ไม่ใช่เพียงอธิบายไม่ได้ว่ามันยุติธรรมอย่างไรแก่ผู้ถูกลงโทษเช่นอากงเป็นต้นเท่านั้น มันยังอธิบายไม่ได้ในทางหลักการว่า การที่รัฐออกกฎหมายให้ลงโทษประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างหนักเกินไปเช่นนี้มันยุติธรรมแก่ประชาชนทั้งประเทศอย่างไร และยังอธิบายไม่ได้ด้วยว่าทำไมสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยจึงสมควรได้รับการปกป้องให้ดำรง “สถานะอันศักดิ์สิทธิ์” บน “ความอยุติธรรม” ที่ประชาชนต้องแบกรับอย่างหนักหนาสาหัสเช่นนี้

2) ข้อความที่ศาลตัดสินว่าหมิ่นประมาททำให้พระมหากษัตริย์และพระราชินีอาจถูกเกลียดชัง และกระทบต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรนั้น เป็นข้อความที่สาธารณชนไม่มีโอกาสได้รับรู้เลย เป็นแค่ข้อความที่ส่งไปทางโทรศัพท์มือถือส่วนตัวของบุคคลผู้หนึ่งเท่านั้น และไม่มีประจักษ์พยานว่าอากงเป็นผู้ส่งข้อความนั้นจริง ผู้พิพากษาอาศัยเพียงพยานแวดล้อมก็สรุป “เจตนาภายใน” เพื่อตัดสินจำคุกชายชราสุขภาพแย่ถึง 20 ปี จึงเกิดคำถามต่อการใช้ดุลพินิจของศาลไทยเป็นอย่างยิ่งว่า สังคมจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าดุลพินิจของศาลยึด “ความยุติธรรม” แก่ประชาชนอย่างสูงสุดเป็นหลัก

นั่นคือปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นฯ กับระบบตุลาการที่คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอายต่อชาวโลก สื่อและนักวิชาการต่างชาติเขามองอย่างตระหนกและงวยงงว่า ในยุคที่โลกเน้นความสำคัญของ “สิทธิมนุษยชน” มากขนาดนี้ ประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างไทยยังมีกฎหมายแบบนี้ มีดุลพินิจของศาลออกมาแบบนี้ได้อย่างไร

นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำถาม แต่ยังมีคำถามที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือ คำถามต่อบทบาทของ “ผู้นำ นปช.” ดังที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ตั้งคำถามข้างต้น

หากยังจำกันได้หลังเกิดการสลายการชุมนุมวันที่ 10 เมษายน 2553 สมศักดิ์ออกมาเตือนสติแกนนำ นปช.ในเวลานั้นตรงๆ ว่า “อย่าว่าแต่ 25 ศพ เลย แม้แต่ประชาชนเสียชีวิตเพียง 1 คน ก็ไม่คุ้มหากเป้าหมายการต่อสู้เพียงเพื่อให้ได้การเลือกตั้ง” แต่ ณ เวลานั้นแกนำตั้งธงแน่วแน่ว่าจะต้องสู้เอาชนะให้ได้ วาทกรรม “โค่นอำมาตย์” ถูกตอกย้ำอย่างหนักแน่นจริงจังจนฝังอยู่ในจิตสำนึกของผู้คน

แต่ผลที่สุดคือคนตายร่วมร้อยและไม่ได้การเลือกตั้งในทันที ที่พูดเรื่องนี้ขึ้นมาไม่ใช่ผมต้องการ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” เพียงแต่ต้องการย้ำให้เห็นภาพความเอาจริงเอาจัง ความต้องการเอาชนะให้ได้ของ “แกนนำ” ในเวลานั้น ทั้งที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบขนาดนั้น ยังทุ่มเทยอมเสี่ยงขนาดนั้น แต่เวลานี้ชนะเลือกตั้งแล้ว มีอำนาจรัฐอยู่ในมือแล้ว ความเอาจริงเอาจัง ทุ่มเท กล้าเสี่ยงเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ประชาธิปไตย” ตามที่เคยประกาศเป็นสัญญาประชาคมหายไปไหน?!

ผมเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาและความจำเป็นต้องรอบคอบของรัฐบาลเพื่อไทย ทักษิณ และแกนนำ นปช. ครับ แต่ว่าในเมื่อพวกคุณเป็นผู้นำมวลชน ประกาศแก่ประชาชนว่าต่อสู้เพื่อ “ประชาธิปไตย” พวกคุณจะยอมให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตกอยู่ในสภาพ “ประชาธิปไตยของขอทาน” ตลอดไปได้อย่างไร (1) ขอทานการเลือกตั้งที่ต้องแลกด้วยชีวิตประชาชนร่วมร้อยศพ (2) ขอทานให้อีกฝ่ายลืมอดีต ขอทานความปรองดอง ขอทานความยุติธรรม ในขณะที่เพื่อนร่วมชะตากรรมยังติดคุก ไม่ได้ประกันตัว และถูกตัดสินจำคุก 20 ปี บ้าง 30 ปี บ้าง ด้วยข้อหาผิด ม.112 และข้อหาก่อการร้าย และ (3) ถึงชนะเลือกตั้งแล้วก็ยังเป็นรัฐบาลที่ถูกอีกฝ่ายข่ม และขากถุยอยู่ทุกวัน ทั้งที่พยายามอดทนพินอบพิเทาอย่างยิ่ง

แต่เราจะอยู่ในสภาพของขอทาน พินอบพิเทา อดทน ไปเรื่อยๆ (ไม่รู้จะไปได้ยืดแค่ไหน?) ทั้งๆ ที่เพื่อนร่วมชะตากรรมไม่ได้รับความยุติธรรม และถูกกระทำอย่างอยุติธรรมคนแล้วคนเล่าเช่นนั้นหรือ?

ขณะที่ยังไม่ได้อำนาจรัฐยังกล้าเสี่ยงแม้ต้องแลกด้วยชีวิตประชาชน แต่เมื่อมีอำนาจรัฐแล้วทำไมไม่กล้าเสี่ยงแม้แต่จะรับข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ไปดำเนินการต่อ แม้แต่จะรับข้อเรียกร้องการแก้ ม.112 ไปดำเนินการต่อ มีอะไรบ้างครับที่ไม่ต้องเสี่ยง ขอทานความยุติธรรม ขอทานความปรองดองอย่างพินอบพิเทาอย่างที่ทำๆ อยู่มันไม่เสี่ยงจริงหรือ?

ถ้าไม่ทำอะไรเรื่อง ม.112 แต่อีกฝ่ายทำอยู่เรื่อยๆ จนมาถึงกรณีอากง แล้วไงครับผู้นำประชาชนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เห็นประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยถูกตัดสินติดคุก 20 ปี เพราะความผิดจากการใช้ “ข้อความหมิ่นฯ” ซึ่งไม่ทำให้ใครต้องมีแม้แต่ “บาดแผลบนผิวหนัง” กฎหมายอย่างนี้ยุติธรรมไหม เป็นประชาธิปไตยไหมครับ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหากไม่แก้กฎหมาย แก้ระบบให้เป็นประชาธิปไตย มันก็เป็นการต่อสู้ที่ไม่มีผลเป็นรูปธรรม การชุมนุมกลางถนนเพื่อขอทานประชาธิปไตยกับพวกที่มีปืน มีรถถัง มีกำลังทหารในอยู่มือก็ไม่มีวันสิ้นสุด

มันคงเป็นเรื่อง “ตลกร้าย” อย่างยิ่ง ถ้าการต่อสู้ของประชาชนในประเทศนี้ที่มีสัญญาประชาคมตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 แล้วว่าพวกเขาคือเจ้าของอำนาจอธิปไตย เป็นเจ้าของแผ่นดิน หรือประชาชนทุกคนมีสิทธิเป็นเจ้าของแผ่นดินนี้อย่างเท่าเทียม แต่ในความเป็นจริงพวกเขาถูกทำให้เชื่อว่าพวกตนเป็นเสมือน “ผู้อาศัย” ในแผ่นดินที่มีเจ้าของ และการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตยของพวกเขาก็อยู่ในสภาพเสมือนดัง “ขอทาน” (ขอทานยังไม่ต้องแลกด้วยชีวิต แต่นี่แลกมาหลายครั้งแล้ว)

อยากถามทักษิณ รัฐบาลเพื่อไทย ผู้นำ นปช.ว่า ในฐานะที่พวกคุณได้อำนาจรัฐมาด้วยการเสียสละชีวิตของประชาชน พวกคุณยังจะขอทานความปรองดอง ความยุติธรรม อย่างพินอบพิเทา เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ หรือ ขณะที่เพื่อนร่วมชะตากรรมของพวกคุณถูกกระทำอย่างอยุติธรรม พวกคุณมีคำตอบหรือไม่ว่าจะช่วยพวกเขาให้ได้รับความยุติธรรมอย่างไร อำนาจรัฐที่ได้มาจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบเพื่อให้สังคมเป็นประชาธิปไตยตามที่สัญญาไว้แก่มวลชนอย่างไร

ผมเข้าใจว่าพวกคุณยังมีความ “กล้าหาญที่จะเสี่ยง” เพราะพวกคุณไม่มีวันหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้อยู่แล้ว พวกคุณต้องเสี่ยงตลอดเวลา แต่ทำไมเมื่อความอยุติธรรมไล่ล่าประชาชนขนาดนี้ พวกคุณจึงไม่กล้าเสี่ยงเพื่อประชาชน ทำไมไม่ทำให้การเสี่ยงเพื่อประชาชน เพื่อประชาธิปไตย กับเสี่ยงเพื่อทักษิณไปด้วยกันได้อย่างมีเหตุมีผลที่อธิบายต่อมโนธรรมทางสังคมได้!

ที่มา prachatai

15 อันดับราชวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ปี 2009 และ 2008

แปลและเรียบเรียงโดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
ที่มา นิตยสารฟอร์บส

อ่านรายละเอียดข่าวฉบับเต็ม:อีกครั้ง สำหรับราชวงศ์ที่มั่งคั่งที่สุดในโลก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงครองแชมป์ ราชวงค์รวยที่สุดในโลก เป็นปีที่ 2

นิตยสารฟอร์บส์ออนไลน์ยังจัดอันดับให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิ พลอดุลยเดชแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นพระราชวงศ์ที่มั่งคั่งที่สุดของโลก ในบรรดาพระราชวงศ์ที่ทรงมั่งคั่งที่สุดในโลก 15 พระราชวงศ์ประจำปี 2552(2009) อันเป็นการรักษาอันดับที่ 1 ไว้ได้ต่อเนื่องจากปีก่อนนี้

โดยฟอร์บส์ระบุว่าทรงมีพระราชทรัพย์รวม 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว1,020,000ล้านบาท)ลดลงจากปีก่อนราว 5 พันล้านเหรียญ(ราว170,000ล้านบาท)ทั้งนี้เนื่องจากการลดลงของมูลค่า สินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์และราคาหุ้นที่ถือโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วน พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสำนักงานที่พระองค์ท่านมีพระราชอำนาจในการจัดการ

วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศได้มีผลกระทบต่อพระราชทรัพย์ให้ลดลงไปด้วย

ฟอร์บส์ รายงานว่า พระเจ้าอยู่หัวของไทยทรงครองสิริราชย์สมบัติยาวนานที่สุดในโลก พระองค์ได้รับการเคารพสักการะเยี่ยงพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา ได้รับการศึกษาในสวิตเซอร์แลนด์ ทรงพระราชอำนาจในราชณาจักรที่แบ่งแยกคนในชาติออกเป็นชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง และประชาชนในชนบท

วิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกสร้างผลกระทบให้เกิดภาวะ เศรษฐกิจถดถอยในราชอาณาจักรไทย พระราชวงศ์ไทยมีอำนาจจัดการทรัพย์สินในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชน เช่น เครือซิเมนต์ไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และการเป็นเจ้าของที่ดินมหาศาล รวมทั้งที่ดินกว่า3,500 เอเคอร์ในเขตกรุงเทพฯที่จัดการดูแลโดยสำนักงานทรัพย์สินฯ

อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยย้ำว่าทรัพย์สินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ แต่ถูกจัดการเพื่อประเทศชาติ

ฟอร์บส์ ระบุด้วยว่า ความมั่งคั่งของราชวงศ์มาจากมรดกตกทอดหรือตำแหน่งทางอำนาจ มักจะถูกแบ่งปันกันในเครือญาติ และหลายๆครั้งที่มันหมายถึงเงินที่ถูกควบคุมโดยราชวงศ์ในรูปของกองมรดก (trust) สำหรับประเทศหรืออาณาเขต และด้วยเหตุผลนี้ ราชวงศ์ทั้ง 15 ราชวงศ์ในรายชื่อนี้ขาดคุณสมบัติที่จะถูกจัดอันดับประจำปีของเราในบุคคลที่ ร่ำรวยที่สุด ไม่ว่าเขาจะมีสินทรัพย์เท่าไร

ยกตัวอย่างเช่น กษัตริย์ Mswati ที่ 3 ของ Swaziland เป็นผู้รับผลประโยชน์ของ 2 กองทุนที่จัดตั้งขึ้นโดยบิดาของเขาใน trust ของประเทศ Swaziland ในช่วงที่ครองราชย์เขามีอำนาจตัดสินใจเบ็ดเสร็จในการใช้เงินที่เป็นรายได้ จาก trust นั้น ซึ่งทำให้เขาสามารถสร้างราชวังให้กับมเหสี 13 พระองค์และพำนักอยู่ในโรงแรมระดับ 5 ดาวเมื่ออยู่ต่างประเทศ

เช่นเดียวกัน เรารวมทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของไทยในส่วนของ ทัรพย์สินของกษัตริย์ภูมิพลเพราะพระองค์เป็นผู้มีอำนาจเต็มในกองมรดก (trustee) อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยไม่เห็นด้วยและออกมาประกาศว่าทรัพย์สินของสำนักงาน ทรัพย์สินไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สมบัติส่วนพระองค์ของกษัตริย์ แต่สำนักงานทรัพย์สินครอบครองและบริหารทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์ในนามของ ประชาชนชาวไทย

ตรงกันข้าม ราชวัง Buckingham และเครื่องเพชรของราชวงศ์ถือว่าเป็นสมบัติของชนชาติอังกฤษ ไม่ใช่ของพระราชินี Elizabeth เพราะฉะนั้นมันไม่ถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินของพระองค์ แต่ทรัพย์สมบัติของพระองค์มาจากอสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษและสก๊อตแลนด์ ภาพศิลปะ อัญมนี และแสตมป์สะสมโดยพระอัยกา

พระราชวงศ์ที่มั่งคั่งที่สุดของโลก ปี 2552(2009) จัดโดย Forbes

1.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช, ราชณาจักรไทย
พระราชทรัพย์: 30 พันล้านดอลลาร์ (ลดลงจากปีก่อน 5 พันล้านดอลลาร์)
พระชนมายุ:81



2.Sultan Haji Hassanal Bolkiah, บรูไน
พระราชทรัพย์: 20 พันล้านดอลลาร์ (ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน)
พระชนมายุ: 62



3.Sheikh Khalifa Bin Zayed Al Nahayan, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
พระราชทรัพย์: 18 พันล้านดอลลาร์ (ลดลง 5 พันล้านดอลลาร์)
พระชนมายุ: 61



4.King Abdullah bin Abul Aziz, ซาอุดิอาระเบีย
พระราชทรัพย์: 17 พันล้านดอลลาร์ (ลดลง 4 พันล้านดอลลาร์)
พระชนมายุ: 85



5.Sheikh Mohammed Bin Rashid Al Maktoum, ดูไบ

พระราชทรัพย์: 12 พันล้านดอลลาร์ (ลดลง6 พันล้านดอลลาร์)
พระชนมายุ: 59



6.เจ้าชายฮานส์-อาดัมที่ 2 แห่งลิกเตนสไตน์
พระราชทรัพย์: ๑๒๒,๕๐๐ ล้านบาท (ลดลงจากปีที่แล้ว ๕๒,๕๐๐ ล้านบาท)
พระชนมายุ: 64 พรรษา



7.King Mohammed VI, โมร็อคโค

พระราชทรัพย์: 2.5 พันล้านดอลลาร์ (เพิ่ม1 พันล้านดอลลาร์)
พระชนมายุ: 45



8.Sheikh Hamad bin Khalifa Al Thani, การ์ตาร์
พระราชทรัพย์: 2 พันล้านดอลลาร์ (ไม่เปลี่ยนแปลง)
พระชนมายุ: 57



9.Prince Albert II, โมนาโค

พระราชทรัพย์: 1 พันล้านดอลลาร์ (ลดลง400ล้านดอลลาร์)
พระชนมายุ: 51



10.Prince Karim Al Husseini, Aga Khan
พระราชทรัพย์: 800 ล้านดอลลาร์ (ลดลง 200 ล้านดอลลาร์)
พระชนมายุ: 72



11.Sultan Qaboos bin Said, โอมาน
พระราชทรัพย์: 700 ล้านดอลลาร์(ลดลง400ล้านดอลลาร์)
พระชนมายุ: 68



12.Queen Elizabeth II, สหราชอาณาจักร
พระราชทรัพย์: 450 ล้านดอลลาร์ (ลดลง200 ดอลลาร์)
พระชนมายุ: 83



13.Sheikh Sabah Al-Ahmad Al-Jaber Al Sabah, คูเวต

พระราชทรัพย์: 400 ล้านดอลลาร์ (ลดลง 100 ล้านดอลลาร์)
พระชนมายุ: 80



14.Queen Beatrix Wilhelmina Armgard,เนเธอร์แลนด์
พระราชทรัพย์: 200 ล้านดอลลาร์ (ลดลง100 ล้านดอลลาร์)
พระชนมายุ: 71



15.King Mswati III, สวาซิแลนด์
พระราชทรัพย์:100 ล้านดอลลาร์(ลดลง 100 ล้านดอลลาร์)
พระชนมายุ: 41


ที่มา thaienews

**************************************

10 อันดับราชวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก....
นิตยสารฟอร์บ เสนอบทความราชวงศ์ที่รวยที่สุดในโลก เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2551(2008) ระบุว่าพระมหากษัตริย์ของไทยมีพระราชทรัพย์มากที่สุดในบรรดา 15 ราชวงศ์ที่อยู่ในทำเนียบการจัดอันดับของฟอร์บ



ฟอร์บระบุว่า การประเมินทรัพย์สินของราชวงศ์นั้นต้องใช้ทั้ง ศาสตร์และศิลป์ประกอบกันไป เนื่องด้วยความสัมพันธ์ระหว่างความมั่งคั่งของบุคคลกับรัฐนั้นมีลักษณะเฉพาะของแตกต่างกันไป จากรายงานของฟอร์บส์นั้น พบว่าพระมหากษัตริย์หลายพระองค์มีพระราชทรัพย์ลดลง เนื่องจากผลกระทบที่ต่างๆกันไป

ฟอร์บระบุว่าได้ติดตามสถานะของราชวงศ์ระดับแนวหน้าจำนวนหนึ่งมาหลายปี แต่การนำเสนอผ่านบทความดังกล่าวเป็นเพียงครั้งที่ 2 ที่เผยแพร่ทำเนียบราชวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดอย่างละเอียด แต่สถาบันกษัตริย์ของประเทศอย่างสเปนและญี่ปุ่นกลับพลาดที่จะเข้าร่วมการจัดอันดับไปอย่างน่าเสียดาย


ลำดับที่ 1.King Bhumibol Adulyadej of Thailand


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชแห่งราชอาณาจักรไทย ทรงอยู่ในลำดับสูงสุดของทำเนียบราชวงศ์ที่รวยที่สุดในโลกในปีนี้ โดยมีพระราชทรัพย์ประมาณการได้ล่าสุดกว่า 35 พันล้านเหรียญฯ (1.19 ล้านล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท: 34 ดอลลาร์) โดยพระราชทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นนี้สืบเนื่องจากความโปร่งใสที่เพิ่มขึ้นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์


ลำดับที่ 2.Sheikh Khalifa bin Zayed Al Nahyan of the United Arab Emirates


ชีค คาลิฟา บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน แห่งอาบูดาบี (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) มีพระราชทรัพย์ประมาณ 23 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ความมั่งคั่ง ของพระองค์เกิดจากการที่เมืองอาบูดาบีเป็นเมืองที่มีแหล่งน้ำมันสำรองคิด เป็น 95 เปอร์เซ็นต์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอกจากนั้นอาบูดาบียังมีชื่อเสียงเนื่องมาจากการลงทุนระดับแนวหน้าโดยบรรษัทที่รัฐเป็นเจ้าของนั้นคือเงินลงทุน 7.5 พันล้านเหรียญฯ ในบริษัท Citibank พระชนมายุ 60 พรรษา


ลำดับที่ 3. King Abdullah bin Abdul Aziz of Saudi Arabia


กษัตริย์อับดุลลาห์ บิน อับดุล อาซิซ แห่งซาอุฯ ทรงมีทรัพย์สินประมาณการที่21.5 พันล้านเหรียญฯ รายได้มหาศาลของพระองค์ได้มาจากอุตสาหกรรมน้ำมันที่ซาอุดีอาระเบีย มีส่วนการผลิตถึง 25 % ของแหล่งน้ำมันทั่วโลก และธุรกิจการบินของสายการบินซาอุดีอาระเบียนส์ แอร์ไลน์ แต่อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์กันว่าแหล่งน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย จะหมดลงในปีค.ศ.2040 หรืออีกใน 32 ปีข้างหน้านี้ พระชนมมายุ 84 พรรษา


ลำดับที่ 4. Sultan Haji Hassanal Bolkiah of Brunei


สุลต่านแห่งบรูไน ซึ่งเป็นกษัตริย์จากเอเชียจากสองประเทศที่เข้าทำเนียบราชวงศ์ที่รำรวยของฟอร์บ ราชทรัพย์ของสุลต่านแห่งบรูไน(ทรัพย์สิน 20 พันล้านเหรียญฯ) ลดลงจากปีที่ผ่านมาเนื่องจากต้องลดอัตราการผลิตน้ำมันเนื่องจากปริมาณสำรองน้ำมันในประเทศบรูไนลดลง โดยฟอร์บระว่า กิจการน้ำมันนั้นเป็นมรดกตกทอดของราชวงศ์บรูไนซึ่งเป็นราชวงศ์มุสลิมซึ่งมีอายุกว่า 600 ปี พระชนมพรรษา 62 พรรษา


ลำดับที่ 5. Sheikh Mohammed bin Rashid Al Maktoum of Dubai


ชีค โมฮัมหมัด บิน ราชิด อัล มาคทูม แห่งดูไบ ทรงมีพระราชทรัพย์สุทธิ 18 พันล้านเหรียญฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Dubai Holding ซึ่งมีการลงทุนใหญ่ๆ ในหลายบริษัท เช่น โซนี่ และบริษัทผลิตอาวุธ EADS และเมื่อเร็วๆ นี้กองทุนรวมเพื่อการลงทุนของชีคพระองค์นี้ได้ใช้เงิน 5 พันล้านเหรียญฯ เพื่อถือหุ้นในบริษัท MGM Mirage และ 825 ล้านเหรียญฯ เพื่อซื้อกิจการค้าปลีก Barneys New York และทรงเข้ามาซื้อหุ้นใหญ่สุดของสโมสรในอังกฤษอีกด้วย พระชนมมายุ 58 พรรษา


ลำดับที่ 6. Prince Hans-Adam II von und zu Liechtenstein of Liechtenstein


เจ้าชายฮันส์ อาดัมที่ 2 แห่งลิกเตนสไตน์ มีพระราชทรัพย์ทรัพย์ประมาณการ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยที่ LGT Bank ซึ่งเป็นแหล่งทุนหลักของพระองค์ (บริหารโดยราชวงศ์มากว่า 70 ปี) พระองค์ทรงรับมรดกตกทอดมาจากราชวงศ์ที่ยืนยาวกว่า 900 ปี ทรงเป็นนักสะสมศิลปะ 4 ศตวรรษ และทรงมีอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทในสหรัฐที่ผลิตข้าวอินทรีย์คือไม่ใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ใด ๆ ทรงตกเป็นเป้าในคดีหลีกเลี่ยงภาษีอันอื้อฉาว ซึ่งบริษัทของพระองค์ถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือลูกค้าฐานะดีหลายรายในการ “ซุกซ่อน” ทรัพย์สิน จากการสืบสวนของวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ พบว่าพระอนุชาของพระองค์(เจ้าชายฟิลิป) มีส่วนเกี่ยวข้องในการนี้ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งประธานของ LGT พระชนมพรรษา 63 พรรษา


ลำดับที่ 7. Sheikh Hamad bin Khalifa Al Thani of Qatar


ชีค ฮามาด บิน คาลิฟา อัล ทานิ เจ้าผู้ครองแคว้นกาตาร์ ทรัพย์สมบัติ 2,000 ล้านดอลลาร์ ทรงยึดอำนาจจากพระราชบิดาโดยไม่เสียเลือดเนื้อเมื่อปี 1995 เป็นผู้นิยมในด้านการกีฬา เและทรงเป็นผู้สนับสนุนสถานีวิทยุกระจายเสียงอัล จาซีรา รวมทั้งสถานีวิทยุภาคภาษาอังกฤษชื่อเดียวกัน มีพระชนมมายุ 56 พรรษา


ลำดับที่ 8. King Mohammed VI of Morocco


กษัตริย์ โมฮัมหมัดที่ 6 แห่งประเทศโมร็อกโก ขณะนี้มีทรัพย์สินรวม 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 2 พันล้านเหรียญฯ เนื่องจากภัยแล้งที่รุนแรงส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศชะลออยู่ที่ระดับ 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งได้มาจากการทำเหมืองแร่ฟอสเฟต, เกษตรกรรมและทรงร่วมหุ้นกับบริษัท Morocco's largest public company, ona. พระชนมพรรษา 46 พรรษา


ลำดับที่ 9. Princes Albert II of Monaco


เจ้าชายอัลเบิร์ตที่ 2 แห่งโมนาโก เป็นกษัตริย์พระองค์เดียวที่ยังไม่อภิเษกสมรส และถูกร่ำลือว่าทรงส่งแฟนสาวของพระองค์เข้าเรียนคอร์สติวเข้มภาษาฝรั่งเศส พระองค์มีพระราชทรัพย์ประมาณ 1.4 พันล้านเหรียญฯ ประกอบไปด้วยอสังหาริมทรัพย์ และหุ้นส่วนกิจการคาสิโนในโมนาโก พร้อมทั้งทรงวางแผนที่จะขยายพื้นที่ของประเทศ (ซึ่งมีขนาดเท่ากับ Central Park ในนิวยอร์ก) โดยการสร้างเขตปกครองใหม่ในทะเลซึ่งจะตั้งอยู่บนเสาขนาดมหึมา โครงการดังกล่าวนี้สร้างความวิตกกังวลแก่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอยู่พอสมควร พระชนมพรรษา 50 พรรษา


ลำดับที่ 10. Sultan Qaboos bin said of Oman


มีพระราชทรัพย์สุทธิ 1พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สุลต่านกาบุส ทรงขึ้นครองราชเมื่อปี 1970 หลังสิ้นสุดอำนาจของผู้เป็นพ่อ สุลต่านกาบุสได้ทรัพย์สินจากการส่งออกน้ำมัน ปัจจุบันพระองค์ได้หันมาทำธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศ พระชนมพรรษา 67 พรรษา


ลำดับที่ 11 Prince Karim Al Husseini, Aga Khan


เจ้าชายการิม อัล ฮุสเซนี แห่ง อากา ข่าน (the Aga Kahn) มีพระราชทรัพย์ 1,000 ล้านดอลลาร์ เป็นกษัตริย์ผู้ไม่มีดินแดนครอบครองถือเป็นผู้นำจิตวิญญาณของชาวมุสลิม ประเทศอิสไมลี (Ismaili) ประมาณ 15 ล้านคน ครองราชสมบัติครบ 51 ปี มีธุรกิจตั้งแต่ฝรั่งเศสถึงสวิส ทรงชอบเลี้ยง และเพาะพันธุ์ม้า พระชนมพรรษา 71 พรรษา


ลำดับที่ 12 Queen Elizabeth II, สหราชอาณาจักร


สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ ทรงมีทรัพย์สิน 650 ล้านดอลลาร์ พระชนมพรรษา 82 พรรษา


ลำดับที่ 13 Sheikh Sabah Al-Ahmad Al-Jaber Al Sabah, คูเวต


ชีค ซาบาห์ อัล ซาห์บา เจ้าผู้ครองประเทศคูเวต ทรงมีทรัพย์สิน 500 ล้านดอลลาร์ พระชนมพรรษา 79 พรรษา


ลำดับที่ 14 Queen Beatrix Wilhelmina Armgard,เนเธอร์แลนด์


พระราชินีบีทริกซ์ วิลเฮม มินา อาร์มการ์ด แห่งเนเธอร์แลนด์ ทรงมีทรัพย์สิน 300 ล้านดอลลาร์ พระชนมพรรษา 70 พรรษา


ลำดับที่ 15 King Mswati III, สวาซิแลนด์


กษัตริย์มัสวาติ ที่ 2 แห่งสวาซิแลนด์ ทรัพย์สมบัติ 200 ล้านดอลลาร์ ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระชนมพรรษาน้อยที่สุด พระชนมพรรษา 40 พรรษา

ที่มา มติชน

คดี 112 : กรณีโจ กอร์ดอน (เลอพงษ์ วิชัยคำมาส)

ศาลตัดสินจำคุก "โจ กอร์ดอน" 2 ปีครึ่ง


"I am an American citizen, and what happened was in America."-ผมเป็นพลเมืองอเมริกัน,แล้วนี่มันเกิดอะไรกับอเมริกา?-โจ กอร์ด้อน กล่้าวหลังทราบคำตัดสิน(AP)


"I would like to stay and see some positive Thailand. I want to see the real, amazing Thailand, not the messy Thailand."-เมื่อพ้นโทษผมจะอยู่ในประเทศไทย ผมอยากดูว่าจะมีอะไรในทางบวกสำหรับไทย ผมต้องการอย่างนั้นจริงๆ มหัศจรรย์เมืองไทย ผมไม่หวังจะได้เห็นความยุ่งยากสำหรับประเทศนี้-โจ กอร์ด้อนกล่าวกับAP

Thu, 2011-12-08 10:30

คดีแปลหนังสือ TKNS ศาลตัดสินจำคุก "โจ กอร์ดอน" 5 ปี แต่สารภาพจึงลดโทษเหลือ 2 ปีครึ่ง ทนายเล็งขออภัยโทษ ด้านกงสุลสหรัฐแถลงผิดหวังต่อผลการตัดสิน

เวลา 9.00 น. วันนี้ที่ห้องพิจารณาคดี 812 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก มีการอ่านคำพิพากษาคดี โจ กอร์ดอน หรือ เลอพงษ์ (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ต้องหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เนื่องจากแปลและเผยแพร่ หนังสือ "The King never smiles" (TKNS) โดยก่อนหน้านี้เมื่อ 10 ต.ค. จำเลยตัดสินใจรับสารภาพ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โดยศาลตัดสินให้ลงโทษจำคุกนายโจ กอร์ดอน เป็นเวลา 5 ปี แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษ 2 ปี 6 เดือน โดยทนายความจำเลยเตรียมยื่นขออภัยโทษ หากอัยการไม่ยื่นอุทธรณ์

ด้านสถานกงสุลสหรัฐในประเทศไทย กล่าวว่าการตัดสินลงโทษดังกล่าวเป็นเรื่อง "รุนแรง" (severe) ถึงแม้ว่าจะนับว่าน้อยแล้วสำหรับนักโทษในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

อลิซาเบ็ธ แพร็ต ตัวแทนสถานทูตสหรัฐกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า โจ กอร์ดอน ถูกตัดสินลงโทษจากสิทธิในการแสดงออกที่เขาพึงมี

"เรายังคงเคารพสถาบันกษัตริย์ของไทย แต่ในขณะเดียวกันเราก็สนับสนุนสิทธิในการแสดงออก ซึ่งเป็นหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งได้รับการรับรองในทางสากล" แพร็ตกล่าว

ตัวแทนกงสุลสหรัฐยังกล่าวว่า จะให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนแก่โจ กอร์ดอนต่อไปโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ มีผู้สื่อข่าวไทยและต่างประเทศราว 50 คน ให้ความสนใจการอ่านคำพิพากษาคดีนายโจ กอร์ดอน ที่ห้องพิจารณาคดี ณ ศาลอาญา

นายเลอพงษ์ มีสัญชาติไทย-อเมริกัน อายุ 54 ปี ได้ออกจากประเทศไทยไปใช้ชีวิตอยู่ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เกือบ 30 ปี มีความสามารถด้านศิลปะหลายอย่าง เช่น ถ่ายรูป วาดภาพ โดยเคยเปิดนิทรรศการภาพเขียนในประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังเชี่ยวชาญการเล่นกีตาร์อะคูสติก เคยร่วมแต่งเพลงกับนักดนตรีเพื่อชีวีตชื่อดังของไทยอย่าง หงา คาราวาน และร่วมเป็นทีมงานในการผลิตภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับชีวิตของชาวอีสานผู้ได้รับ ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเรื่องเรื่อง ทองปาน ซึ่งมี ไพจง ไหลสกุล ,รัศมี เผ่าเหลืองทอง, ยุทธนา มุกดาสนิทและ สุรชัย จันทิมาทร เป็นผู้กำกับ โดยภาพยนต์เรื่องนี้ได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2519

ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 54 ที่ จ.นครราชสีมา ตามหมายจับเลขที่ 318/2554 ออกเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 54 ข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และกระทำให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ฯ และกระทำผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ทั้งนี้เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบล็อกที่ชื่อว่า "บาทเดียว" และเป็นผู้ใช้นามแฝงว่า "สิน แซ่จิ้ว" โดยในบล็อกของเขาซึ่งใส่ลิงก์ให้ดาวน์โหลดหนังสือThe King Never Smiles และถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการแปลหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นภาษาไทย

สำหรับหนังสือ The King Never Smiles เป็นหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขียนโดย Paul Handley นักข่าวอิสระซึ่งทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทย หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย Yale เผยแพร่เมื่อปี 2549 ปัจจุบันเป็นหนังสือต้องห้ามในประเทศไทย

นับแต่ถูกจับกุมโจปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาโดยทันทีและถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร และทนายได้ยื่นหลักทรัพย์เพื่อขอประกันตัวโดยอ้างสิทธิพื้นฐาน และยังระบุว่าโจมีโรคความดันเลือดและโรคเกาต์ที่ต้องการการรักษา แต่ศาลปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าเป็นข้อหาที่กระทบต่อความมั่นคงและกระทบต่อสถาบัน พระมหากษัตริย์ซึ่งมีโทษสูง และเขาอาจทำลายพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้

หลังจากพยายามขอประกันตัวต่อเนื่องเป็นจำนวน 8 ครั้ง ในวันที่ 10 ตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นวันแรกของการนัดพิจารณาคดี โจตัดสินใจประกาศว่าเขาไม่ขอต่อสู้คดี ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานคุมประพฤติสืบเสาะพฤติการณ์ของจำเลยแล้วรายงานต่อ ศาลภายใน 20 วัน และกำหนดวันพิพากษาวันที่ 9 พฤศจิกายน 2554 แต่ด้วยเหตุน้ำท่วมกรุงเทพฯ ทำให้วันพิพากษาถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 8 ธันวาคม 2554 นับแต่วันจับกุมจนถึงวันพิพากษา โจถูกควบคุมตัวต่อเนื่องมาเป็นเวลา 199 วัน หรือ 6 เดือนกับ 15 วัน

จาก prachatai

.......................


ล่าสุดวันนี้ยังไม่ตัดสินคดีโจ กอร์ดอน - แค่เบิกตัวพบ พนง.คุมประพฤติสอบเพิ่ม
Mon, 2011-11-28 11:02


(28 พ.ย.54) ที่ศาลอาญา รัชดา - ตามที่มีการแจ้งจากทนายความของโจ กอร์ดอน หรือเลอพงษ์ (สงวนนามสกุล) ว่าจะมีการเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาคดีโจ กอร์ดอน วันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าไม่มีการตัดสินในวันนี้ โดยการเบิกตัวนายโจ กอร์ดอน เป็นการเรียกพบพนักงานคุมประพฤติ สืบเนื่องจากศาลสั่งสืบเสาะเพิ่ม โดยวันนัดฟังคำตัดสินนั้นยังคงเป็นวันที่ 8 ธ.ค.54 ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตสหรัฐฯ เดินทางมาเพื่อรับฟังคำตัดสิน รวมถึงเข้าเยี่ยมนายโจ กอร์ดอนด้วย

อนึ่ง เมื่อสอบถามญาติซึ่งเป็นผู้แจ้งข่าวทนายกล่าวว่า เธอได้รับแจ้งเพียงว่าโจต้องมาศาลในวันนี้


จาก prachatai

รายละเอียด :

โจ (เลอพงษ์) กอร์ดอน ชาวไทยสัญชาติอเมริกัน-ไทย ถูกเจ้าพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) จับกุมตัวที่บ้านพักจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยโจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดโดยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อความที่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา โดยใช้นามแฝงว่า "สิน แซ่จิ้ว" พร้อมประกาศตนว่า กูไม่ใช่ฝุ่นใต้ฝ่าตีนบุคคลใด นอกจากนี้ยังบังอาจแปลหนังสือ The King Never Smiles ซึ่งเป็นหนังสือต้องห้ามภายในราชอาณาจักร

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.54 นายโจ (เลอพงษ์) กอร์ดอน รับสารภาพต่อหน้าบัลลังก์ว่า “ผมไม่ต่อสู้คดี ยอมรับสารภาพ” จากเดิมที่เขาให้การปฏิเสธทั้งในชั้นจับกุม และชั้นสอบสวน โดยศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 9 พ.ย. แต่ถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 8 ธ.ค.54 เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วม

หนังสือ"The King Never Smile" ที่โจ เลอพงษ์ถูกกล่าวหาเป็นผู้แปลและเผยแพร่นั้น ตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษโดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยชั้นเยล ทางราชการไทยได้สั่งห้ามนำเข้ามาภายในประเทศ ถูกใช้เป็นแบบเรียนเพื่ออ่านประกอบการเรียนการสอนวิชา "ไทยศึกษา" ของมหาวิทยาลัยเยล ซึ่งมีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น อดีตประธานาธิบดีจอร์ช ดับเบิลยู บุช ,บิล คลินตัน และฮิลลาลี คลินตัน

ก่อนหน้านี้เมื่้อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โจ กอร์ดอน ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ได้ชื่อว่า “สิทธิมนุษยชน” ถูกบังคับใช้อย่างกว้างขวางและเท่าเทียม ทว่า ชายคนนี้ คนที่ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย ไม่เคยสัมผัสแต่เพียงนิดเดียว…ดังต่อไปนี้(รายละเอียดฉบับภาษาอังกฤษอ่านข่าว:จดหมายจากคุกถึงทำเนียบขาว ท่านประธานาธิบดีเสรีภาพอเมริกันถูกย่ำยีโดยประเทศโลกที่3อย่างไทย)

กราบเรียน ท่านประธานาธิบดีโอบาม่า

ผมเขียนจดหมายนี้ถึงท่าน เป็นเรื่องความเป็นความตายของผมในคุกที่กรุงเทพ,ประเทศไทย ทางการไทยจับกุมผมด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกฎหมายความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รัฐบาลไทยใช้กฎหมายนี้กับนักกิจกรรม ปัญญาชน นักข่าว นักเขียน และนักการเมือง โดยคุมขังคนเหล่านี้ในเรือนจำนานนับทศวรรษในหลายกรณีแล้ว

ผมไม่สามารถต่อสู้คดีนี้ในกระบวนการยุติธรรมไทยได้แต่เพียงลำพัง เพราะว่า มันเป็นกระบวนการที่ฉ้อฉล อคติ และละเมิดสิทธิมนุษยชน ซ้ำร้ายยังเต็มไปด้วยการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรม เป็นต้นว่า ในกรณีของผม มีการจองจำโดยไม่ให้ประกันตัว ผมจึงรู้สึกว่าน่าสลดใจที่เสรีภาพในการแสดงออกของเราชาวอเมริกัน ได้ถูกละเมิด ย่ำยี และลดทอนคุณค่าลงโดยประเทศโลกที่สามอย่างไทย

ผมอยากเรียกร้องให้อเมริกันชนทั้งมวลลุกขึ้นเถิดเพื่อสนับสนุนการปกป้องต่อเกียรติภูมิของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาที่บัญญัติให้เสรีภาพในการแสดงออกเป็นข้อบทที่สำคัญยิ่ง ทว่ารัฐบาลไทยไม่ยอมรับ รัฐบาลอเมริกันควรต้องพิทักษ์ปกป้องและประณามที่ไทยใช้กฎหมายอันมิชอบนี้เป็นเครื่องมือปกป้องสถาบันกษัตริย์ให้พ้นไปจากการวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนอเมริกันเช่นผมที่โดนกระทำอยู่ในเวลานี้ และเพรียกหาอิสรภาพ ประเทศไทยต้องปล่อยผมจากคุกตั้งแต่บัดนี้

ขอพระเจ้าทรงอำนวยพระพรท่านประธานาธิบดี และอเมริกา

ด้วยความเคารพยิ่ง

โจ กอร์ด้อน

เรือนจำกรุงเทพฯ ประเทศไทย

คัดลอกบางส่วนมาจาก thaienews

วิเคราะห์สังคมไทย ตอนที่ 2 "พลังการผลิตชะงัก การปฏิวัติมาถึง"

วิเคราะห์สังคมไทย ตอนที่ ๒
โครงสร้างทางเศรษฐกิจ
พลังการผลิตชะงัก การปฏิวัติมาถึง
โดย นักเศรษฐศาสตร์กรรมาชีพ


เศรษฐศาสตร์การเมืองลัทธิมาร์กซ ระบุถึงวิวัฒนาการสังคมมนุษย์ที่มีพื้นฐานมาจากจุดเริ่มต้นที่พลังการผลิต ที่ทำให้ “มนุษย์ ต่างจากสัตว์และมนุษย์วานร” โดยที่มีการค้นพบและประดิษฐ์แบบ “คิดได้ทำเป็น” สะสมองค์ความรู้ทักษะการผลิตเครื่องมือ ไปสู่เครื่องจักรจนถึงหุ่นยนต์และสมองกลในปัจจุบัน

สิ่งเหล่านี้ คือมุมมองในสายตาของชาวลัทธิมาร์กซที่เห็นปรากฏการณ์ของกระบวนการการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ การพบกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ แล้วนำมาประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตปัจจัยสี่ จากง่ายๆ ไปสู่ความสลับซับซ้อน จากการค้นพบกฎเกณฑ์การควบคุมไฟ เชื้อเพลิง และความร้อน ไปสู่การค้นพบเหล็ก การหลอมโลหะ ไปจนถึงไฟฟ้า การใช้ปิโตรเลียม และนิวเคลียร์ จากการพบคานดีดคานงัด การใช้ล้อ การควบคุมสัตว์ และใช้แรงงานสัตว์ องค์ความรู้และฝีมือการสร้างสรรค์สารพัดเหล่านี้คือ “พลังการผลิต” ที่ทำให้สังคมมนุษย์ก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง จากการเก็บกิน คุ้ยกิน จับกิน ไปสู่การไล่ล่า สู่การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ ทำเองกินเอง ใช้เอง ไปจนถึงทำแบ่งปันผู้อื่นได้ นอกจากหาเลี้ยงชนชั้นตนเองแล้วยังสามารถชุบเลี้ยงนายทาสและสมุนบริวารได้ทั้งชนชั้น ชนชั้นศักดินาทั้งชนชั้น และสามารถผลิตสินค้าออกไปเลี้ยงชนชั้นนายทุนได้ทั้งชนชั้น พร้อมทั้งเลี้ยงผู้คนในสังคมมนุษย์ทั้งหมดได้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จำนวนรายการชนิดของผลผลิตในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มากกว่าผลผลิตที่มนุษย์ผลิตได้ย้อนหลังอีกแสนปี หลายเท่านัก

“พลังการผลิต” ที่ดูเหมือนจะก้าวทะยานไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องนี้ มีการ “ชะงักงัน” บ้างหรือไม่? อะไรเล่าคือกฎเกณฑ์ของการข้ามพ้นความชะงักงัน?

ปัจจุบัน “พลังการผลิต” ในสังคมไทยชะงักงัน ถดถอยและอยู่ในฐานะขาลง แล้วหรือไม่?
สถานการณ์เช่นนี้ มาถึง “สถานการณ์ปฏิวัติสังคมแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” แล้ว ใช่หรือไม่?
การปฏิวัติโครงสร้าง (พื้นฐาน) “ความสัมพันธ์ทางการผลิต” เพื่อปลดปล่อย “พลังการผลิต” มาถึงแล้วใช่หรือไม่?

หรือจะเป็นเพียงแค่การปฏิวัติโครงสร้าง (ส่วนบน) เท่านั้น? เป็นเพียงการรื้อโครงสร้าง “ความสัมพันธ์ทางการเมือง” จากระบอบราชาธิปไตยไปสู่ประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนเท่านั้น?
หรือว่า “พลังการผลิต” มิได้ถูกขัดขวางจากโครงสร้างส่วนบน !!
หรือว่า “ทั้งโครงสร้างส่วนบนและความสัมพันธ์ทางการผลิต ต่างร่วมเป็น “สองแรงบวกที่ขัดขวาง “พลังการผลิต” ของสังคมไทย !!

ดังนั้น การศึกษาทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของลักทธิมาร์กซ ที่ระบุว่า “เมื่อใดก็ตามที่โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีคู่ขัดแย้งหลัก ระหว่าง พลังการผลิตกับความสัมพันธ์ทางการผลิต ได้พัฒนามาเป็นคู่ปฏิปักษ์ ขัดขวางกัน ไม่ส่งเสริมให้พลังการผลิตก้าวไปข้างหน้า เพื่ออำนวยความอยู่ดีมีสุขให้กับประชาชน ตราบนั้น สถานการณ์จะนำไปสู่การปฏิวัติสังคม” จึงมีความสำคัญต่อนักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพอย่างยิ่ง ที่จะต้องนำหลักการ และทฤษฎีนี้ไปใช้ประสานกับข้อมูลรูปธรรมในปัจจุบัน เพื่อตรวจสภาพการณ์ทางสังคม ให้เป็นที่ประจักษ์ ทั้งสถิติ ข้อมูล ทฤษฎีและความเป็นจริง ก่อนจะวินิจฉัยว่า “ยุคแห่งการปฏิวัติของสังคมไทย ได้เดินทางมาถึงแล้วอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ความสุกงอมแห่งความขัดแย้งพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แก้ไม่ตกในตัวเอง ได้ปะทุทะลุเพดานพุ่งไปสู่ความขัดแย้งในโครงสร้างการเมืองส่วนบน เรียบร้อยแล้ว” และการปฏิวัติได้แผ่กระจายออกไปทั่วสังคม มีผลกระทบต่อชนชั้นทุกชนชั้น ว่าจะต้องถูกบีบให้เลือกข้าง และต้องเลือกท่าทีต่อสถานการณ์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และ “การปฏิวัติ” เป็นหนทางเดียวที่ต้องผ่าน โดยไม่ขึ้นต่อเจตจำนงของบุคคลแต่อย่างใด


1. โครงสร้างพลังการผลิตของไทย
โครงสร้าง “พลังการผลิต” ของประเทศไทย ประกอบด้วยสิ่งพื้นฐานในกระบวนการผลิต ได้แก่ คน เครื่องมือ เครื่องจักร ที่ดิน โรงงาน วัตถุดิบ โครงข่ายการสื่อสาร การขนส่ง น้ำประปา การไฟฟ้า น้ำมัน ถ่านหินและพลังงานต่างๆ การหมุนเวียนของพลังงาน ระบบและกระบวนการ องค์ความรู้ การวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี ทักษะ ศักยภาพของแรงงาน การบริหารจัดการ การบริการ รวมถึงปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ ที่ทำให้การผลิตสำเร็จ และส่งผลเลื่อนไหลไปสู่การผลิตซ้ำ ซึ่งสังคมไทยมีข้อมูลที่สำคัญดังนี้

ประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2554 ประชากรคาดประมาณ ณ วันกลางปี 2554 (1 กรกฎาคม) มีจำนวน 63,891,000 คน (http://www.ipsr.mahidol.ac.th/ipsr-th/PublicationGazette.html)
วัยและอายุประชากร ล้านคน
ประชากรวัยเด็ก (ต่ำกว่า 15 ปี) 13,010,000
ประชากรวัยแรงงาน (15 - 59 ปี) 43,091,000
ประชากรสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 7,790,000
ประชากรสูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) 5,212,000
ประชากรวัยเรียน (6 - 21 ปี) 15,192,000
สตรีวัยเจริญพันธุ์ (15 - 49 ปี 17,711,000


ปี 2553 พบว่า มีจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน เป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงานหรือเรียกว่าแรงงานนอกระบบ 24.1 ล้านคน หรือร้อยละ 62.3 และที่เหลือเป็นผู้ทำงานในระบบหรือแรงงานในระบบ 14.6 ล้านคน หรือร้อยละ 37.7

ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่จบการศึกษาในระดับประถมศึกษาและต่ำกว่ามากที่สุด ประมาณ 15.9 ล้านคน หรือร้อยละ 65.9 รองมาเป็นระดับมัธยมศึกษา 6.5 ล้านคน หรือ ร้อยละ 26.8 และระดับอุดมศึกษา 1.7 ล้านคน หรือ ร้อยละ 7.1 แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่เป็นผู้มีการศึกษาในระดับที่ไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับแรงงานในระบบ อาศัยอยู่ในเขตเมือง (ประชากรที่อยู่ในเขตเทศบาล และเมืองทุกประเภท) 23,078,000 คน
เขตชนบท (ประชากรที่อยู่นอกเขตเมือง) 40,813,000 คน

ประเทศไทยมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 514,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 320.7 ล้านไร่ ทั้งหมดนี้เป็นพื้นที่การเกษตรจำนวน 122.2 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 38.2 ของพื้นที่ทั้งประเทศ พื้นที่ชลประทาน มี 3.7 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 6.4 ของพื้นที่การเกษตร




2. เปรียบเทียบระดับฐานะพลังการผลิตของไทย
ระดับฐานะพลังการผลิตของสังคมไทย เป็นการเปรียบเทียบพลังการผลิตกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งมีการเปรียบเทียบถึงระดับการพลังการผลิตในแง่มุมต่างๆ เช่น ประเทศอุตสาหกรรม ประเทศเกษตรกรรม ศักยภาพในการแข่งขัน ความโปร่งใสในการทำธุรกิจ ระดับการคอร์รัปชั่น จำนวนร้อยละของการใช้โทรศัพท์มือถือ การใช้อินเตอร์เน็ต การมีโทรทัศน์ของประชากร ระดับการอ่านออกเขียนได้ การศึกษา การใช้พลังงาน งบประมาณที่ใช้ในการวิจัย ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยไม่อยู่ในฐานะประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า ไม่มีศักยภาพการผลิตทางอุตสาหกรรมหนัก อวกาศ เทคโนโลยีชั้นสูง มีศักยภาพการแข่งขันและความโปร่งใสอยู่ในระดับต่ำและมีแนวโน้มลดลง ค่าใช้จ่ายในการวิจัยศึกษาค้นคว้าต่ำมาก ไม่มีนักวิทยาศาสตร์ไทยคนใดในทุกสาขาที่เคยได้รับรางวัลโนเบลเลย
นอกจากเปรียบเทียบในส่วนของพลังการผลิตแล้ว ยังต้องดูถึง “ผลลัพธ์ที่ได้จากการผลิต” ดูระดับการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ รายได้ประชาชาติ (GDP.) และดูถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจ ด้านการผลิต การแลกเปลี่ยน การค้าขาย และการบริโภค


ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของจีดีพีในระดับๆ กลางๆ ซึ่งถูกเรียกว่า ประเทศกำลังพัฒนา แต่ในบางปี จีดีพี มีระดับสูง และบางปีมีการติดลบ การวัดระดับความเจริญของประเทศด้วยจีดีพีมุมมองเดียวหรือเป็นหลัก จะไม่สามารถเห็นระดับพลังการผลิตจริงๆ ของสังคม เพราะรายได้ประชาชน ถูกนับรวมรายได้ของคนส่วนน้อยที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตแล้วมาเฉลี่ย ทำให้เบี่ยงเบนว่า คนส่วนใหญ่มีรายได้สูงไปด้วย และจีดีพี ยังนับซ้ำกับผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบต่างประเทศที่ถูกนำมาแปรรูปหรือประกอบส่วนในประเทศแล้วส่งออกแบบยกเว้นภาษี โดยคนไทยได้รับเพียงค่าจ้างแรงงานเท่านั้น



3. สาเหตุที่ขัดขวาง ฉุดดึงพลังการผลิตของไทย
สาเหตุที่มากระทำต่อพลังการผลิตของไทยให้ถดถอย ชะงักงัน ไม่ก้าวหน้านั้น มีประเด็นอภิปรายถกเถียงกันหลายมุมมอง มีการมองสุดขั้วไปตรงข้ามว่า “ถ้าสังคมไทยมีพลังการผลิตล้าหลัง ทำไมเราเจริญกว่า ลาว พม่า เขมร” หรือกล่าวว่า “การผลิตสินค้า บริการ การส่งออกในภาพรวมร้อยกว่าปีที่ผ่านมา มีอัตราสูงขึ้นเรื่อยๆ สามารถเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมเป็นอุตสากรรมและบริการได้แล้ว แม้สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาก็พบว่า จำนวนรถยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ บ้านเรือน การขนส่ง ตึกรามบ้านช่อง แม้กระทั่งสถานที่ราชการก็ใหญ่โตหรูหรา ยอดจำหน่ายรถยนต์และสินค้าฟุ่มเฟือยตามงานแสดงสินค้ามีรายได้เกินเป้าหมายอยู่เสมอ ฯลฯ แล้วเหตุใดเล่าจึงกล่าวว่า “พลังการผลิตถดถอย” “คนอดอยากจริงหรือ?” “คนตกงานในระดับที่มีปัญหาเกินรับมือจริงหรือ?” กระทั่งเลยไปถึงคำถามทางทฤษฎีที่ว่า “เมื่อไม่มีปัญหาทางการผลิต โภคทรัพย์เหลือเฟือเช่นนี้ ทำไมจึงกล่าวว่า “สถานการณ์การปฏิวัติมาถึงแล้วด้วยเล่า เพียงแค่ปฏิรูปมิได้หรือ?

แน่นอนว่า คำถามที่ชวนกันสงสัยต่อสถานการณ์ความขัดแย้ง คู่ขัดแย้ง ระดับความขัดแย้ง และยุทธศาสตร์ยุทธวิธีแก้ไขความขัดแย้งทางสังคมนี้ นั้น มีรากเหง้าจาก “พลังการผลิตชะงักงันจริงหรือ?”

ในการตอบประเด็นดังกล่าวข้างต้น ได้มีการศึกษาค้นคว้าแล้ว ทั้งทฤษฎีลัทธิมาร์กซและข้อมูล สถิติ ที่กล่าวว่า พลังการผลิตเป็นต้นตอของการเปลี่ยนแปลงเทคนิควิธีผลิต นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เปลี่ยนความคิดรูปการจิตสำนึก และนำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนใน “ความสัมพันธ์ทางการผลิต” และก่อรูปการทางสังคมไปสู่การวางกฎเกณฑ์กติกา กฎหมายทางการเมือง ซึ่งข้อมูลได้ยืนยันทฤษฎีข้อมูลที่ได้มิใช่ปรากฏการณ์ผิวเผิน หาเกิดจากการตรวจดูด้านหลักด้านรอง และตรวจดูความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นเนื้อในของสรรพสิ่งที่มิได้ปรากฏต่อสายตาง่ายๆ โดยเฉพาะการมองและอธิบายสังคมขนาดใหญ่

แน่นอนว่า ช่วงระยะหนึ่งของพลังการผลิตมีอัตราก้าวหน้าเพราะได้รับการกระตุ้นและปลดปล่อยออกมา แต่ได้พบความเสื่อม ความถดถอยและปัญหาชะงักงัน ก้าวไปแล้วล้ม ก้าวไปแล้วล้มอยู่เช่นนี้ ผลผลิตตึกรามบ้านเรือนและโรงงานจำนวนไม่น้อยเป็นซากเน่าผุพังหาใช่เป็นพลังการผลิตที่ใช้การได้ไม่ และลุกลามเป็นวงรอบวัฏจักร ที่เติบโต รุ่งโรจน์ ชะงักงัน และฟุบ

เริ่มจากพบเทคนิคใหม่ หรือซื้อเขาเข้ามา เมื่อนำไปผลิตก็ได้มาก ผลกำไรได้มาก แบ่งกำไรได้มาก แต่พอนำกำไรไปเป็นการผลิตรอบสอง สาม สี่ฯลฯ ได้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย เพราะการลงทุนที่เน้นไปสู่การลงทุนในทุนคงที่มาก ดูแลทุนผันแปรน้อย หรือไม่ใส่ใจสนับสนุนการวิจัยพัฒนา ไม่เกื้อกูลสังคม สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการฉกชิงเอาดอกผลกำไรของสังคมไปเสพสุขท่องเที่ยว การจัดพิธีกรรม การเอาเงินไปเก็งกำไร การขนเงินออกนอกประเทศ การสร้างวัง ฯลฯ ล้วนเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการผลิตรอบใหม่ การผลิตต้องการทำซ้ำ แต่การฉกดึงเงินของสังคมที่หาได้ร่วมกันออกจากขบวนการผลิต ก็ทำซ้ำๆ หนักหนาสาหัสเพิ่มขึ้นเช่นกัน จนถึงกับก่อการรัฐประหารและเข่นฆ่าประชาชนอย่างต่อเนื่อง เป็นการขับไล่ลูกค้าและทำลายฐานการผลิตของสังคมไทยให้ถดถอยแทบจะทำให้พลังการผลิตเข้าสู่ความพินาศ

สาเหตุที่พลังการผลิตถูกทำลายหรือเติบโตในอัตราต่ำ ได้แก่
3.1 ปัจจัยภายใน
ปัจจัยภัยใน เป็นคู่ความสัมพันธ์ภายในการผลิตเอง ระหว่าง พลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิต ซึ่งสามารถอธิบายได้ถึงการเอาเปรียบแรงงานส่วนเกินของกรรมกรซึ่งเป็นพลังการผลิตที่สำคัญ ทำให้กรรมกรขาดอาหาร ขาดความรู้ ขาดศักยภาพ ขาดขวัญกำลังใจ ฯลฯ เป็นปรากฏการณ์ทั่วไปของสังคม กรรมกรรุ่นใหม่ (ลูกหลาน) ก็เติบโตอย่างขาดคุณภาพและขาดทิศทางทางการผลิต ลูกหลานแรงงานได้รับคุณภาพชีวิตต่ำเช่นเดียวกับพ่อแม่ จึงนับว่าแรงงานรุ่นใหม่ตกเป็นเหยื่อเจ้าของโรงงานด้วย และยังตกเป็นเหยื่อทางสังคมที่บั่นทอนศักยภาพของพวกเขา

3.2 ปัจจัยภายนอก
ปัจจัยภายนอกการผลิต ได้แก่ โครงสร้างทางการเมืองที่ไม่เอื้อต่อการผลิตรอบใหม่ และไม่เอื้อต่อการค้นพบสร้างสรรค์ใหม่ๆ ไปจนถึงความสัมพันธ์กับต่างประเทศที่อยู่ภายใต้การถือเอาผลประโยชน์ตนของแต่ละประเทศ รวมถึงภาพใหญ่ของสังคมทุนนิยมโลกแบบโลกาภิวัตน์นี้ ทำให้การเคลื่อนที่ของทุนเงินตราไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในสายธารการผลิตแท้ (Real sector) ของไทยได้เลย ซึ่งแม้รัฐบาลไทยและนักวิชาการเศรษฐกิจได้ตระหนักรู้ในปัญญาเหล่านี้ แต่ก็มิอาจแก้ไขปัญหาได้เลย


4. ความพินาศย่อยยับและความล้าหลังของพลังการผลิตแห่งสังคมไทยในปัจจุบัน
จากสาเหตุทั้งปัจจัยภายภายในการผลิตและปัจจัยภายนอกที่ได้กระทำต่อพลังการผลิตของสังคมดังกล่าว สามารถยกเหตุการณ์และข้อเท็จจริงที่ “พลังการผลิตแห่งสังคมถูกทำลาย” เช่น ราชสำนักดึงเอาช่างฝีมือของประชาชนไปใช้ส่วนตัว ได้แก่ ช่างเขียน ช่างแกะ
หมู่ช่างรัก ช่างบุ ช่างกลึง ช่างสลัก ช่างหล่อ ช่างผสมโลหะ ช่างปั้น ช่างปูน ช่างหุ่น ฯลฯ ซึ่งหัตถกรรมเหล่านี้เป็นพื้นฐานทางหัตถกรรม ช่างเหล่านี้ไปทำงานสร้างสรรค์แต่เรื่องที่อยู่อาศัย ศิลปะ ความบันเทิงเริงสำราญ ความสะดวกสบายส่วนตัว จนประชาชนทั่วไปไม่มีโอกาสพัฒนาช่างฝีมือไปสู่อุตสาหกรรมได้เอง

ปัจจุบัน นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ผู้ชำนาญการพิเศษในสาขาอาชีพวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี นักบริหารจัดการ อาจารย์ ศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย กรมป่าไม้ กรมชลประทาน นักการตลาด ทั้งภาครัฐและเอกชน จะถูกสั่งการนำตัวไปใช้ในโครงการพระราชดำริต่างๆ เพื่อพัฒนาพลังการผลิตส่วนตัว

นอกจากนี้ หน่วยงานราชการยังถูกดึงไปใช้ในธุรกิจอุตสาหกรรมบริการอีกด้วย เช่น โรงแรม ศูนย์การค้าของราชสำนักทั้งในและต่างประเทศ เช่น ดอยตุง ศูนย์การค้า โรงแรม วังต่างๆ สยามปาร์คที่สเปน ฯลฯ ราชสำนักจะใช้หน่วยงานราชการทั้งสถานทูต การท่องเที่ยว กรมประชาสัมพันธ์ สายการบิน ฯลฯ ไปดำเนินการหาลูกค้า เชิญชวนให้คนไปท่องเที่ยว ไปพักผ่อน ไปสัมมนาในธุรกิจบริการของราชสำนัก

สื่อมวลชนถูกนำไปใช้มอมเมาเรื่องไสยศาสตร์ สิ่งศักดิ์สิทธ์ การบันเทิงอันไร้สาระ แม้กระทั่งใช้สำหรับโฆษณาชวนเชื่อ ระดมการบริจาค การจ่ายทรัพย์ให้กับราชสำนักอย่างโจ่งแจ้ง ทุนเงินตราถูกดูดซับออกจากวงการผลิต และชนชั้นนายทุนที่นำเงินไปให้ชนชั้นศักดินาก็มาขึ้นราคาสินค้าเอากับประชาชนผู้บริโภคอีกต่อหนึ่ง

สถาบันการศึกษามอมเมาให้เยาวชนผู้เป็นพลังการผลิตของสังคมต้องง่อยเปลี้ยทางสติปัญญาด้านการผลิต เนื้อหาและกระบวนการศึกษาเป็นไปเพื่อเทิดทูนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สถาบันกษัตริย์และเศรษฐกิจโบราณแบบผลิตเองใช้เอง ซึ่งเพ้อฝันอย่างมาก ถึงกับโจมตีการผลิตสมัยใหม่ว่าเป็นเรื่องของกิเลสตัณหา ไม่ควรทำ ไม่ควรมี

โอกาสการเข้าถึงทุนเพื่อใช้ในการผลิตของนายทุนหน้าใหม่ ชนชั้นกลาง ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ค้นพบเทคโนโลยีและสิทธิบัตรใหม่ ต่างไม่มีทุนเงินตราเพียงพอในการประกอบและขยายกิจการ เพราะชนชั้นศักดินาได้ผูกขาดสถาบันการเงินไว้หมดแล้ว พวกเขาจึงเข้าตัดตอน และช่วงชิงการเข้าถึงทุนของประชาชนอย่างสิ้นเชิง แม้ได้เงินกู้มาทำกิจการอยู่บ้าง ก็จะต้องไปล้มตายเอาภายหน้าจากการควบคุม การสู้กับการผูกขาด และทั้งจากการขาดเทคโนโลยีชั้นสูง จากการขาดการวิจัย ทุนหมุนเวียนมีน้อย ในที่สุดก็ถูกเบียดขับออกจากส่วนแบ่งการตลาด และปิดกิจการไปในที่สุด

การเข้าฉกชิง ทุบตีกิจการรายย่อยของประชาชนโดยทุนผูกขาดของราชสำนักและทุนสวามิภักดิ์ ด้วยวิธีเปิดให้เช่าพื้นที่การตลาดขายสินค้าในเบื้องต้น จากนั้นก็ผลิตสินค้ามาแข่งขัน แล้วบีบให้เปลี่ยนยี่ห้อให้เป็นของรายใหญ่ จากเถ้าแก่น้อยก็กลายเป็นผู้รับจ้างผลิตตามใบสั่ง ซึ่ง จะเห็นสินค้า ประเภทสบู่ ยาสีฟัน ข้าว น้ำมันพืช ขนมขบเคี้ยว กระดาษชำระ ฯลฯ ถูกทุนผูกขาดเข้าไปยึดครองได้แทบหมดแล้ว พลังการผลิตของประชาชนไทยอยู่ในภาคส่วนผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) เป็นฐานใหญ่ จึงไม่อาจะเติบโตขยายตัวได้ มีแต่มุ่งสู่การหดตัวและล้มละลาย

แม้ในท้องตลาดจะพบสินค้าหลากหลายยี่ห้อ มาจากหลายบริษัท เช่นปูนซิเมนต์ ธนาคาร รถยนต์ ศูนย์การค้า ประกันภัย มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร ฯลฯ อันทำให้ดูเหมือนมีการแข่งขันก็ตาม แต่หากสาวลึกลงไปถึงบริษัท ก็พบว่าสินค้าหลายยี่ห้อนั้นมาจากบริษัทเดียวกันก็มี และหลายๆ บริษัทก็มาจากเจ้าของผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเล็ก ทั้งเปิดเผยและปิดบังชื่อ ก็มาจากราชสำนัก จนเป็นผู้ร่ำรวยที่สุดในตลาดหุ้นไทย และติดอันดับเศรษฐีโลก จนนายทุนรองระดับ 2 ถึงระดับ 20 รวมกัน ยังมั่งคั่งร่ำรวยไม่ถึงครึ่งหนึ่งของราชสำนัก

ซึ่งดูเหมือนจะกล่าวรวบรัด แต่ก็เป็นจริงคือระบอบราชาธิปไตย และการขึ้นต่ออำนาจของราชสำนัก เป็นปมใหญ่หรือสาเหตุหลัก ที่ราชสำนักไม่เกื้อกูลพลังการผลิตมานานแล้ว เหลือเพียงบทบาททำลายล้าง ฉุดดึง “พลังการผลิตของสังคม” แม้พลังการผลิตส่วนตัวในธุรกิจของราชสำนักที่อาจดูเจริญรุ่งเรือง ขยายตัว และมีกำไรมากก็ตาม

ดังนั้น ระบอบราชาธิปไตย และการขึ้นต่ออำนาจราชสำนักที่ไม่เกื้อกูลพลังการผลิตมานานแล้ว จึงเป็นปมใหญ่หรือสาเหตุหลัก เหลือเพียงบทบาททำลายล้าง ฉุดดึง “พลังการผลิตของสังคม” แม้พลังการผลิตส่วนตัวในธุรกิจของราชสำนักที่อาจดูเจริญรุ่งเรือง ขยายตัว และมีกำไรมากก็ตาม

ส่วนทุนโลกาภิวัตน์ และทุนจักรวรรดินิยม ก็ไม่ได้ช่วยปลดปล่อยพลังการผลิตของไทยเหมือนในอดีตอีกแล้ว เพราะระบอบทุนนิยมโลกมุ่งไปที่การเก็งกำไร ทำให้ภาคเศรษฐกิจจริง ( Real Sector ) ต้องลุกคลุกคลาน แถมทุนต่างชาติยังมักขนเอาวัตถุดิบจากที่อื่นมาผลิตในไทย โดยไม่ได้ซื้อวัตถุดิบจากประเทศไทยเลย เขามาจ้างแรงงานผลิตอย่างเดียว แล้วขนส่วนเกินจากกำไรในตัวสินค้านับหลายร้อยเท่าออกไป ทิ้งปัญหามลภาวะ ขยะ และการจัดหาสาธารณูปโภคไฟฟ้าน้ำประปา และถนนไว้ให้คนไทยแบกรับค่าใช้จ่าย

คนไทยต้องการพลังการผลิตของตนเอง และต้องการการแบ่งปันทุกชนิดอย่างเป็นธรรม ต้องการทั้งโอกาสเข้าถึงทุน เข้าถึงตลาด เข้าถึงองค์ความรู้ เข้าถึงกำไร และการแบ่งปันที่มากขึ้น เข้าถึงบริการของรัฐมากขึ้น แต่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐไม่สนองตอบต่อพื้นฐานทางสังคม ทั้งไม่เอื้ออำนวยต่อรายย่อย แต่กลับไปหนุนช่วยการผูกขาดของราชสำนักและทุนสวามิภักดิ์
นอกจากนี้ระบบองค์ความรู้ การบริหารจัดการธุรกิจและการผลิต รัฐก็มิได้ช่วยเหลือทุนรายย่อยอย่างจริงจัง ไม่ช่วยเหลือสนับสนุนให้ศักยภาพของคนรุ่นใหม่ก้าวหน้าไปเพื่อสังคมเลย ตรงข้าม พลังการผลิตของสังคมส่วนใหญ่ถูกดึงไปเป็นเครือข่ายราชสำนัก ตกเป็นลูกมือของทุนศักดินาเหนือรัฐและนายทุนสวามิภักดิ์แล้วทั้งสิ้น


5. พลังการผลิตคือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งและเป็นจุดสุดท้ายของชัยชนะ
ในสังคมไทย ที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันอุดมสมบูรณ์ อาหาร พืชผัก ผลไม้ และสัตว์ป่าหนาแน่น มีค่าเฉลี่ยจำนวนชนิดสัตว์และพืชต่อพื้นที่ตารางกิโลเมตรสูงกว่าภูมิภาคอื่นของโลก ความหนาแน่นของประชากรน้อย และภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่รุนแรง ทำให้คนไทยมีอาหารเครื่องอุปโภคบริโภคมากมาย ทั้งๆ ที่ใช้พลังงานธรรมชาติ พลังงานสัตว์ เครื่องมือ พลังกล้ามเนื้อ และพลังสมองไม่มากนัก

“พลังการผลิต” จึงพัฒนาไปอย่างเชื่องช้า แม้ระบอบศักดินาจะบังคับกวาดโกยเอาผลผลิตมากเท่าใด ไพร่ทาสซึ่งถูกชนชั้นศักดินาขัดขวางการพัฒนาเทคนิควิธีการผลิต และไพร่ทาสไม่มีองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ก็ตาม ไพร่ทาสก็สามารถผลิตตามมีตามเกิดและหาผลผลิตส่งไปเลี้ยงดูชนชั้นศักดินาได้อย่างอิ่มหนำสำราญมาหลายร้อยปี จวบจนชาวยุโรปได้เดินทางมาค้าขาย ต้องการสินค้าจำนวนมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว และต้องการลูกค้ามาซื้อสินค้าของตนให้มากขึ้น จุดนี้จึงถือเป็นการปลดปล่อยพลังการผลิตของไทย ออกจากการผูกมัดของระบอบเศรษฐกิจศักดินา จากพลังการผลิตที่ค่อยๆ ถูกปลดปล่อยออกจากความเป็นไพร่ทาสสู่แรงงานเสรีอย่างเชื่องช้า ก็มาถึงยุคก้าวกระโดดทางการผลิตอีกครั้ง เมื่อระบอบทุนนิยมผูกขาดภายนอกเข้ามาในประเทศไทย ได้ส่งผลพลอยได้ต่อวิวัฒนาการทุนนิยมขนาดย่อม ซึ่งเป็นทุนเสรีในสังคมไทยเอง แผ่ขยายออกไปทุกพื้นที่ บางสาขาอาชีพได้เป็นพลังการผลิตให้กับทุนผูกขาดระดับโลก เช่น การปลูกยางพารา การทำเหมืองแร่ โรงสีข้าว ฯลฯ บางสาขาอาชีพเป็นพลังการผลิตที่เกิดมาโดยทุนท้องถิ่นเอง เช่น โรงสีข้าวขนาดเล็ก เรือรับจ้าง การทอผ้า การย้อมผ้า ฯลฯ ขณะเดียวกัน พลังการผลิตหลักคือประชาชนผู้ใช้แรงงาน ก็ได้รับการปลดปล่อย และพัฒนาศักยภาพขึ้นอย่างขนานใหญ่เช่นกัน เช่น การศึกษาแบบอาชีวะศึกษา คนอ่านออกเขียนได้ คนไทยมีโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศ มีโอกาสไปท่องเที่ยวศึกษาเรียนรู้อาชีพ รวมทั้งการไปทำงานต่างประเทศ การทำงานในโรงงานสมัยใหม่ของทุนต่างชาติที่มาตั้งโรงงานในประเทศไทย การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ การเปิดรับสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ การใช้โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต การสัญจรท่องเที่ยว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือการพัฒนาศักยภาพของแรงงานกายและสมองที่เป็นพลังการผลิตที่ก้าวหน้าของสังคมไทย อันมิได้เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของชนชั้นนายทุนที่จะพัฒนาฝีมือแรงานด้วยความรักในชนชั้นผู้ใช้แรงงานก็หาไม่ หากเขารักผลผลิต สินค้าและบริการที่จะทำกำไรให้กับพวกเขาเองต่างหาก การรวมศูนย์ทุนและแรงงานขนาดใหญ่เข้าด้วยกันในกระบวนการผลิตระบบสายพานและการตลาดขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะผลิตแบบสังคมและการตลาดแบบสังคมนี้ คือหลุมศพของระบอบทุนนิยมผูกขาด ที่ชนชั้นนายทุนผูกขาดศักดินาขุดหลุมศพฝังตัวเอง ด้วยการที่เขาได้กวาดกว้านพลังการผลิตมาเป็นของส่วนตัว โดยมิได้เฉลียวใจว่า ชนชั้นผู้ใช้แรงงานที่เป็น “พลังการผลิต” อีกชนิดหนึ่งที่มีชีวิตจิตใจ พลอยถูกรวบรวมมาอยู่ในสายงานผลินเดียวกัน ทำให้ได้รับโลกทัศน์แบบรวมหมู่ อันจะนำไปสู่การย้อนกลับไปกวาดกว้านกำไรและทรัพย์สมบัติทั้งมวลที่อยู่ในครอบครองของชนชั้นนายทุนกลับคืนมาเป็นของชนชั้นผู้ใช้แรงงานได้เช่นเดียวกัน

การพัฒนา “พลังการผลิต” ของสังคมที่มีลักษณะก้าวกระโดดไปกับกำไรและการสะสมทุน ทำให้พลังการผลิตใหม่ได้ถูกยึดกุมด้วยมือและสมองของชนชั้นใหม่คือผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้างและชนชั้นกลางสมัยใหม่ด้วย จึงเท่ากับพลังการผลิตของสังคมได้ยกระดับไปข้างหน้าแล้ว ถ้าหากใครก็ตามที่ทำลายและฉุดรั้ง “พลังการผลิต” เขาย่อมเป็นศัตรูกับคนจำนวนมากในสังคม หากเขาหรือชนชั้นทุนผูกขาดศักดินานั้น เป็นปัญหาและอุปสรรคขัดขวาง “พลังการผลิต” ที่ก้าวหน้านี้ ก็เท่ากับเร่งวันเวลาที่จะถูกทำลายล้างออกจากวงจรความสัมพันธ์ทางการผลิตเร็วขึ้น
เมื่อชนชั้นศักดินาได้แปรเปลี่ยนจากการหากินด้วยการผูกขาดที่ดินไปสู่การทำมาหากินแบบทุนนิยมนั้น ได้มีกลุ่มนายทุนนายหน้า นายทุนขุนนางและนายทุนขุนศึกเข้ามาร่วมฉกชิงแบ่งปันการผูกขาดหากินไปในช่วงระยะหนึ่ง (พ.ศ. 2475-2516) แต่ในที่สุด ทุนกษัตริย์และทุนสวามิภักดิ์ก็ก้าวไปเป็นกลุ่มทุนผูกขาดขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทั้งๆ ที่เคยหากินจากพลังการผลิตที่มาจากแรงงานไพร่ทาส สัตว์เลี้ยง ฟืน ที่ดินและเครื่องมือหยาบๆ มานาน ก็กลายมาเป็นการหากินกับทุนการค้า ทุนอุตสาหกรรม ทุนการเงินและการเก็งกำไร สามารถใช้พลังงานไฟฟ้า พลังงานปิโตรเลียม เครื่องจักร เครื่องกลหนัก เทคโนโลยีทันสมัยไปเก็บกวาดเอาโภคทรัพย์ สินทรัพย์และกำไรรอบแล้วรอบเล่า จนสะสมเป็น “ทุนเงินตรา” ที่เป็น “พลังการผลิต” รอบใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนดูเหมือนกระบวนการผลิตจะยั่งยืนสถาพรไร้ปัญหา

แต่ทว่า “พลังการผลิต” ในส่วนที่ชนชั้นทุนศักดินามีอยู่มากมายและทันสมัยนั้น กลับทำให้ “พลังการผลิต” ในภาพรวมทั้งสังคมต้องล้มลุกคลุกคลานด้วยปัญหาภายในพลังการผลิตเอง เช่น การขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคดโนโลยีการผลิต การขาดแคลนงบประมาณการวิจัย บุคคลากรแรงงานขาดทักษะขั้นสูงและขาดการพัฒนาฝีมือแรงงาน พลังงานปิโตรเลียมที่มีต้นทุนสูง สาธารณูปโภคที่ใช้เพื่อการผลิตขาดแคลนทั้งระบบน้ำ ไฟฟ้า การขนส่ง ฯลฯ

ที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ทางการผลิต เป็นแบบรวมศูนย์กรรมสิทธิ์ในที่ดิน วัตถุดิบและทุนเงินตราไว้ในมือชนชั้นทุนศักดินาเสียเป็นส่วนใหญ่ นำไปสู่การดูดซับเงินออกจากระบบการผลิตร่วมของคนส่วนใหญ่ ไปสู่การลงทุนต่างประเทศ การใช้จ่ายเพื่อส่วนตัวของกลุ่มทุน และการเก็งกำไร ที่ส่วนรวม (องค์กรรัฐ) ไม่สามารถควบคุม หรือคาดคะเนปริมาณเงิน เพื่อนำไปใช้เพื่อการพัฒนาพลังการผลิตใหม่ๆ ของสังคมได้เลย ปัญหาที่คนส่วนใหญ่ซึ่งเคยได้รับการพัฒนาเป็นพลังการผลิตที่มีศักยภาพสูงแล้ว กลับไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจใช้เงินทุนและการแบ่งปันไม่เป็นธรรมทั้งค่าแรง สวัสดิการและกำไรส่วนต่าง จึงส่งผลย้อนไปสู่พลังการผลิตที่ด้อยประสิทธิภาพ พลังการผลิตที่สำคัญคือผู้ใช้แรงงานที่เคยมีศักยภาพทางการผลิตส่วนใหญ่ของสังคมนั้น ไม่ได้รับโอกาสในการใช้ “ศักยภาพ” นั้น ส่งผลให้แรงงานทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ขาดโอกาสทำงานการผลิตอย่างเต็มความสามารถ บั่นทอนขวัญกำลังใจ บั่นทอนสุขภาพกาย บั่นทอนความเฉลียวฉลาด บั่นทอนทักษะและคุณภาพชีวิต ขาดศักดิ์ศรีทางสังคม ขาดฐานะเข้าร่วมในกิจกรรมทางรัฐสภา การบริหารและตุลาการ ตลอดจนขาดโอกาสที่จะหลุดพ้นจากการเป็นทาสสมัยใหม่

สิ่งเหล่านี้คือสาเหตุภายในที่ได้ทำลาย “คน” ซึ่งเป็น “พลังการผลิตหลัก” โดยตรงลงไป และยังมีปัจจัยภายนอกที่ขัดขวาง “พลังการผลิต” ซ้ำเติมอีก คือทุนนิยมผูกขาดโลกาภิวัตน์ และโครงสร้างทางการเมืองแบบราชาธิปไตย ที่มีผู้นำในชนชั้นศักดินาเป็นตัวการในการทำลายพลังการผลิตของสังคมลงเสียสิ้น ด้วยการออกกฎหมายให้สิทธิประโยชน์แก่ชนชั้นศักดินาและบริวาร การทำรัฐประหาร การขาดหลักนิติรัฐ การก่ออาชญากรรมฆ่าประชาชนของตนเอง การฉกชิงงบประมาณ แทรกแซงการบริหารรัฐบาลแบบรัฐซ้อนรัฐอย่างโจ่งแจ้งฉาวโฉ่ไร้ยางอาย และไม่เกรงกลัวสายตานานาประเทศ

ปัจจุบัน สังคมไทยได้เดินทางมาถึงจุดแห่งความขัดแย้งอย่างแหลมคมยิ่ง ชนชั้นนายทุนชาติ นายทุนน้อย ชนชั้นกลาง เกษตรกร ผู้ประกอบการายย่อย และชนชั้นกรรมชีพ ต่างได้รับผลกระทบในทางเสียหายเป็นส่วนใหญ่ บางส่วนได้รู้สึกตัวว่าตนเสียสิทธิทางการเมือง บางส่วนรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม บางส่วนไม่พอใจเรื่องศีลธรรมจริยธรรมของชนชั้นศักดินา บางส่วนสูญเสียสวัสดิการ ฯลฯ ซึ่งมิว่าใครจะรู้สึกเดือดร้อนประเด็นใดก่อนก็ตาม หรือแม้แต่จะรู้เห็นข้อมูลด้านลบของชนชั้นศักดินาเรื่องใดก่อนก็ตาม สถานการณ์ก็ชักนำให้คนจากต่างอาชีพ ต่างชนชั้น ต่างภาษา ต่างภาค ต่างวัฒนธรรม ก็หลั่งไหลเป็นแนวร่วมทางการเมืองที่ไม่พอใจชนชั้นศักดินาเช่นเดียวกัน โดยมีจุดเน้น (FOCUS) ไปที่แนวรบทางการเมืองเพื่อสิทธิเสรีภาพต่อต้านเผด็จการ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าใครจะยังมิได้ตระหนักรู้ลงไปอย่างถึงรากว่า ปฐมเหตุความขัดแย้งมาจาก “พลังการผลิต” ที่ถูกชนชั้นทุนผูกขาดศักดินาทำลายก็ตาม จุดที่จะชี้วัดว่าเป็นที่สุดปลายของชัยชนะแห่งยุคสมัยนี้ ก็ไปจบอยู่ที่การปลดปล่อย “พลังการผลิต” นั่นเอง ซึ่งการเข้าร่วมการต่อสู้ในส่วนปลายยอดน้ำแข็งที่ปะทุมาเป็น “การต่อสู้ทางการเมือง” นั้น ในที่สุดของสนามการต่อสู้ทางการเมืองที่จะพัฒนาต่อไปเป็นการต่อสู้ทางการทหารนั้น ก็จะมีจุดจบที่ทุกคนรู้สึกได้ว่า เป็นชัยชนะจริงๆ คือ ชัยชนะทางเศรษฐกิจที่เป็นฐานแห่งชีวิตในสังคม ชัยชนะจึงมิใช่หยุดรออยู่ที่การได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง มิได้อยู่ที่ฝ่ายประชาชนได้เป็นรัฐบาลเท่านั้น หากชัยชนะจะถูกรุกคืบเข้าไปปักธงสู่การแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ทางการผลิต ที่คนจะต้องได้พิจารณาถึงระบอบกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต การมีอำนาจจัดการระบบการผลิต การแบ่งปันผลผลิต รายได้ กำไร และภาษีกันเสียใหม่

แน่นอนว่า เมื่อการแบ่งปันทางเศรษฐกิจ สิทธิเสรีภาพทางการเมือง และภาวะทางจิตใจของประชาชนได้รับการปลดปล่อยโดยไม่มีสภาวะถูกบีบคั้นแล้ว ย่อมหมายถึง “พลังการผลิตของสังคมไทย” ได้รับการปลดปล่อยให้ก้าวทะยานตามเสรีภาพที่เปิดกว้างเท่าที่ศักยภาพของสังคมที่ทำได้ ผลแห่งความมั่งคั่ง ความสมบูรณ์ทั้งโภคทรัพย์ สิทธิเสรีภาพและจิตสำนึกที่งดงามของสังคมก็จะเกิดขึ้นต่อเนื่องสืบไป.

วิเคราะห์สังคมไทย ตอนที่ 1 “พลังการผลิต จุดชี้ขาดการปฏิวัติ”

วิเคราะห์สังคมไทย ตอนที่ ๑
โครงสร้างทางเศรษฐกิจ
“พลังการผลิต”จุดชี้ขาดการปฏิวัติ
โดย นักเศรษฐศาสตร์กรรมาชีพ


คำนำ
เศรษฐศาสตร์การเมือง เป็นระบบคิดหนึ่งในสามส่วนของลัทธิมาร์กซ ที่ชาวลัทธิมาร์กซให้ความสำคัญในการทำความเข้าใจสังคมและใช้ประกอบการวิเคราะห์สังคม นอกเหนือจากปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษวิธี วัตถุนิยมประวัติศาสตร์และสังคมนิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์ การใช้ระบบคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองบนจุดยืนของลัทธิมาร์กซเพื่อมองสังคมไทยจะทำให้เข้าใจสังคมไทยที่เป็นรูปธรรมถึงรากเหง้าพื้นฐานทางสังคมในรูปแบบการผลิตซึ่งเคลื่อนไหววิวัฒนาการไปสู่รูปแบบเศรษฐกิจอื่นๆ อันได้แก่ การแบ่งงานทางสังคม การแลกเปลี่ยน การบริโภค การค้าขาย การลงทุนและการเก็งกำไร

ในส่วนของรูปแบบการผลิตมีกล่าวถึงพลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิต โดยเห็นว่า “พลังการผลิต” เป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรมของการเคลื่อนตัวอันส่งผลไปสู่การก่อเกิดความสัมพันธ์ทางการผลิต ก่อกำเนิดความรับรู้และรูปการจิตสำนึกต่างๆ ในทางวัฒนธรรมสังคม การเมืองการปกครอง

“พลังการผลิต” หมายถึง พลังของมนุษย์ และพลังธรรมชาติอื่นนอกตัวมนุษย์ ดังนั้น “พลังการผลิต” จึงได้แก่ พลังสมอง พลังความรู้ ฝีมือ ทักษะ และพลังงานกล้ามเนื้อของมนุษย์ที่ผนวกกับพลังงานของธรรมชาติต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการผลิตปัจจัยสี่และปัจจัยอื่นๆ โดยมนุษย์ได้อาศัยแรงงานตนเอง แรงงานสัตว์ พลังความร้อนจากไฟที่เผาไหม้ฟืนถ่านไม้มาผลิตมีด ขวาน ฯลฯ พลังงานจากน้ำ ลม พลังงานจลน์ (วัตถุเคลื่อนที่ไปตามแนวพื้นดิน เช่น รถม้าที่กำลังวิ่ง วัวกำลังลากเกวียน ควายกำลังลากคันไถ ฯลฯ) พลังงานศักย์ (วัตถุตกลงมาจากที่สูงตามแรงโน้มถ่วง เช่น น้ำตก ค้อนตีเหล็กบนทั่ง ปั้นจั่นตอกเสาเข็ม ฯลฯ) พลังงานจากสารเคมี แสงอาทิตย์ คลื่นทะเล คลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้า ถ่านหิน ปิโตรเลียม จนถึงพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อนำไปใช้ไปใช้ในการผลิตเครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องคำนวนอิเล็กทรอนิกส์ สมองกล หุ่นยนต์ฯลฯ ซึ่งพลังการผลิตจะสูงหรือต่ำ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของมนุษย์เป็นสำคัญที่จะไปยึดกุม ควบคุม และใช้ประโยชน์จากพลังงานต่างๆ นั้น โดยผ่านวิธีการทดลองค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ การผลิตเทคโนโลยี และการเข้าร่วมในกระบวนการผลิต

ดังนั้น จึงถือได้ว่า “พลังการผลิต” เป็นเรื่องของศักยภาพของมนุษย์และระดับของพลังงานจากธรรมชาตินอกตัวมนุษย์ ที่มนุษย์เรียนรู้ ค้นคว้า ประดิษฐ์และควบคุมนำมาใช้ประโยชน์ได้ สังคมที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากหรือน้อยจึงมาจากพลังการผลิตที่สูงหรือต่ำ
อย่างไรก็ตาม ระดับความเจริญของสังคมในแต่ละยุคสมัยก็สามารถจำแนกได้ตามระดับพลังการผลิต เช่น สังคมบรรพกาล มีพลังการผลิตคือแรงงานมนุษย์ที่ใช้ในการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ (เดิมใช้พลังแรงงานกล้ามเนื้อของตนเองเดินไปเก็บกินและล่าสัตว์) ในช่วงปลายสังคมบรรพกาล มนุษย์เริ่มรู้จักใช้พลังงานจากไฟ ลม น้ำ ในการทำเครื่องมือโลหะเหล็ก และเครื่องกลแบบง่ายๆ เพื่อความสะดวกและทุ่นแรงในการเคลื่อนของหนัก ได้แก่ ล้อ เลื่อน เกวียน คานดีด คานงัด การดึง การลาก การจัดตั้งแรงงาน การแบ่งงาน การรวมแรงงาน ฯลฯ

สังคมทาส ใช้พลังแรงงานมนุษย์ในการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ โดยมีแรงงานสัตว์ร่วมในการผลิต เริ่มนำความรู้ใหม่ ๆ มาสร้างและพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ให้ดีขึ้น เช่น มีด ขวาน จอบ เสียม ไถ คราด สวิง แห อวน กับดักสัตว์ ท่อน้ำดินเผา ตลอดจนเพิ่มพลังการผลิตในด้านต่าง ๆ เช่น เครื่องจักสาน การทอผ้า เครื่องปั้นดินเผา การทดน้ำ การชลประทาน การต่อเรือ การสร้างที่อยู่อาศัยไปจนถึงสร้างเมืองขนาดใหญ่ บรรดาสิ่งมหัศจรรย์ใหญ่ ๆ ของโลก เช่น ปิระมิด (4,600 ปี) สวนลอยกรุงบาบิโลน (2,600 ปี) กำแพงเมืองจีน (2,200 ปี) ปราสาทนครวัด (900 ปี) ฯลฯ ล้วนแต่สร้างขึ้นในยุคทาส (ของสังคมนั้น ๆ ) รวมทั้งอาวุธดาบ หอก โล่ ฯลฯ ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพดีกว่าในสมัยบรรพกาล นอกจากนี้ยังมีความรู้ในวิทยาการพื้นฐานแขนงต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาพลังการผลิตให้สูงขึ้น เช่น คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ ศิลปะ การเมืองการปกครอง ตลอดจนมีนักคิด นักปราชญ์ และกำเนิดศาสนาต่าง ๆ ที่สำคัญและยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ศาสนาฮินดู พุทธ คริสต์ อิสลาม เป็นต้น

สังคมศักดินา
นอกจากมีพลังการผลิตพื้นฐานจากสังคมทาสแล้ว พลังสมองของมนุษย์ในสังคมศักดินาได้ค้นพบเครื่องมือที่ใช้แทนมือและละเอียดมากชนิดขึ้น และมีการใช้แรงสัตว์มากชนิดขึ้น เช่น วัว ควาย ช้าง ม้า ลา ล่อ อูฐ สุนัข นกล่าปลา ฯลฯ มีการใช้เครื่องมือผลิตของใช้ต่าง ๆ มากมาย สร้างบ้านเรือน วัดวาอารามไปจนถึงปราสาทราชวังที่วิจิตรบรรจงและงดงามยิ่ง สร้างพาหนะทั้งคานหาม รถ เรือน้อยใหญ่ที่ขนสินค้าข้ามมหาสมุทรได้ สร้างศิลปวัฒนธรรมมากมายทั้งภาษา วรรณกรรม กวี ดนตรี การแสดง ภาพเขียน ภาพปั้น ภาพแกะสลัก อาหาร เครื่องแต่งกาย ฯลฯ รวมทั้งผลิตอาวุธที่มีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ควบคุมมนุษย์ให้ทำงานในระบบการผลิตแบบรวมหมู่ในแปลงเกษตรและปศุสัตว์ของเจ้านายศักดินา เช่น ปืน ปืนใหญ่ ระเบิด ฯลฯ ส่วนปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดในสมัยศักดินาก็คือที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินในรูปของที่นา ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “ศักดินา” ซึ่งหมายถึงระดับขั้นที่กษัตริย์อนุญาตให้ครอบครองที่นาได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในความหมายที่สำคัญ

สังคมทุนนิยม มีจุดกำเนิดตรงที่การค้นพบพลังการผลิตใหม่ ได้แก่ องค์ความรู้ในสมองที่ต่อยอดมาจากสังคมศักดินา เป็นภูมิปัญญาของนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สะสมทักษะฝีมือในการประดิษฐ์เครื่องมือ เครื่องใช้ ไปสู่เครื่องจักรที่ผลิตซ้ำได้มากและรวดเร็ว นำพลังงานที่มีคุณภาพสูงเช่น น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ กระแสไฟฟ้า พลังงานนิวเคลียร์ ฯลฯ มาเปลี่ยนสังคมที่ไม่พอกินพอใช้ให้เป็นสังคมที่มีกินมีใช้
ที่สำคัญคือการเปลี่ยนทรัพยากรธรรมชาติและมูลค่าแรงงานมนุษย์เป็น “ทุน” ซึ่งทำหน้าที่ในฐานะหลักของ “ปัจจัยการผลิตที่ใช้เพื่อแสวงหากำไรจากมูลค่าส่วนเกิน” ดังนั้น “ทุน” จึงเป็นทั้งองค์ความรู้ เครื่องมือ และผลิตผลของมนุษย์

แต่เดิม “เงินตรา” มีหน้าที่เป็นตัวแทนมูลค่าในการแลกเปลี่ยน การชำระหนี้ การออมหรือสะสมมูลค่าและการแสดงฐานะเท่านั้น ดังนั้น “ทุน” จึงเป็นหน้าที่ใหม่ของ “เงินตรา” ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้ จากการสะสมทุนแล้วถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการผลิตสินค้าสร้างกำไรจากมูลค่าส่วนเกิน “ทุน” สามารถเรียกด้วยคำเต็มว่า “ทุนเงินตรา” อันเป็นหน้าที่ของทุนที่ไปรวบรวมพลังการผลิตทั้งแรงงานคน ทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบ เครื่องจักร เข้าสู่ระบบโรงงาน ผลิตสินค้า แล้วนำไปสู่กระบวนการขนส่งสู่ตลาดเพื่อสร้างกำไรจากกระบวนการผลิตและการค้า “ทุน” ทำให้ปัจจัยการผลิตหรือองค์ประกอบการผลิตมารวมเข้าด้วยกันที่ทรงพลังที่สุด “ทุนเงินตรา” จึงเป็นพลังอำนาจในการผลิตของสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ที่จะบูรณาการพลังการผลิตย่อยอื่นๆ เข้าไปอยู่ในหน่วยการผลิตเดียวกัน

ในปัจจุบัน “ทุนเงินตรา” ยังคงทำหน้าที่ในฐานะปัจจัยการผลิตที่สำคัญของสังคมไทย โดยที่ “ทุน” ได้ปรากฏตัวครั้งแรกในฐานะหน่ออ่อนของสังคมทุนนิยมในสังคมศักดินาที่มีลักษณะเฉพาะของสังคมไทยเอง คือ ทุนนิยมของไทยไม่ได้ริเริ่มจากชาวไทยหรือชนชั้นศักดินาไทยเอง เพราะศักดินาไทยบังคับให้ไพร่ทาสผลิตให้โดยไม่จ่ายค่าจ้าง มีทั้งประเภทบังคับเกณฑ์แรงงาน เก็บเอาผลผลิตบางส่วนจากไพร่ และเก็บแบบแบ่งเอาเป็นค่าเช่า ชนชั้นศักดินาไม่อนุญาตให้คนไทยค้าขายกับต่างชาติหรือไม่ให้ทำการค้าขายเป็นอาชีพหลัก เพราะไพร่ทาสไม่สามารถแยกตัวออกจากสังกัดมูลนายได้ แต่ทุนนิยมของสังคมไทยกลับเริ่มต้นจากนายทุนต่างชาติที่ใช้ “ทุนเงินตรา” ในฐานะพลังกระตุ้นการผลิตให้กับสังคมไทย ทั้งจากนายทุนชาวจีนที่เป็นทุนจากพานิชยกรรม และนายทุนฝรั่งที่ต้องการผลผลิตข้าวจากประเทศไทย จนวิวัฒนาการจากทุนการค้ามาเป็นทุนอุตสาหกรรม ทุนการเงิน และเข้าสู่ยุคทุนเก็งกำไรในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์สังคมไทยโดยใช้รูปแบบเศรษฐกิจที่มีรูปแบบการผลิตและมีพลังการผลิตเป็นหลักในการวิเคราะห์นี้ เป็นการรวบรวมข้อมูล จัดระบบข้อมูล วิเคราะห์และตีความระดับพลังการผลิตโดยใช้ลัทธิมาร์กซเป็นแก่นแกน เพื่อชี้ให้เห็นวิวัฒนาการของพลังการผลิต ซึ่งในที่นี้จะให้ความหมาย “พลังการผลิต” ในความหมายกว้างคือ นอกจากจะหมายถึงพลังงานขั้นปฐมคือแรงงานสมอง แรงงานกล้ามเนื้อมนุษย์แล้ว ยังหมายถึงพลังงานธรรมชาติที่เกิดจากมนุษย์เข้าไปยึดกุมใช้ประโยชน์ อันเป็นพลังงานขั้นทุติภูมิ และยังหมายถึงพลังการผลิตที่มาจากเทคโนโลยีในลำดับถัดๆ มาที่ซับซ้อนและต่อเนื่อง เช่น เครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องคำนวณ คอมพิวเตอร์ สมองกล หุ่นยนต์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมทั้ง “ทุนเงินตรา” ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยและ “พลังการผลิต” อยู่ในกระบวนการผลิตของสังคม ที่สร้างผลผลิตมากมายมหาศาลทบทวีคูณ

พลังทางการผลิตในสังคมศักดินาช่วงยุคสุโขทัย พ.ศ. 1781 ถึง ช่วงรัตนโกสินทร์ก่อนสนธิสัญญาบาวริ่ง พ.ศ. 2398 ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 1781-2398 ระยะเวลากว่า 600 ปี สังคมไทยมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสังคมศักดินา ชนชั้นศักดินาที่ประกอบด้วยกษัตริย์ ราชวงศ์ ขุนนาง มูลนาย อาศัยการเก็บกินจากค่าเช่าที่นา เก็บส่วย ภาษี อากร และอาศัยแรงงานไพร่ทาส ได้ผลผลิตโดยไม่มีต้นทุนค่าใช้จ่าย สำหรับไพร่ทาสจะเป็นผู้ออกแรงงานทำการผลิต โดยมีพลังการผลิตพื้นฐานสำคัญอยู่ที่แรงงานคนและแรงงานสัตว์ร่วมกันทำการเกษตร และทำการเก็บรวบรวมจากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น สินแร่ ผลผลิตจกป่าไม้ สัตว์ป่า หนังสัตว์ เขา งา ปลา ผลไม้ พลังงานธรรมชาติ ได้แก่ ถ่านไม้ ฟืน พลังน้ำ พลังลมและแสงแดด เมื่อสินค้ามีน้อย การซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิตระหว่างเมืองจึงมีน้อย มีแต่การขนส่งลำเลียงผลผลิตเข้าไปสู่เมืองหลวงตามการบังคับ หรือเกณฑ์เอา ส่วนใหญ่มักเป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างหมู่บ้าน

การค้าภายในที่จำกัดนี้ทำให้การใช้เงินตราในหมู่ไพร่ทาสไม่แพร่หลาย ไพร่ไม่มีโอกาสสะสมความมั่งคั่ง สำหรับการเกษตรและการค้ากับต่างประเทศจะถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ผูกขาดเฉพาะของราชสำนัก เมื่อเจ้านายมีสินค้าจะส่งไปขายยังแว่นแคว้นใกล้เคียงหรืออาณาจักรอื่น ๆ ที่อยู่ไกลออกไป การผลิตดังกล่าวของไทยครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยจนมาสิ้นสุดในต้นรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อไทยทำสนธิสัญญาบาวริ่งกับอังกฤษในปี พ.ศ. 2398

การแบ่งงานกันทำในกระบวนการผลิตในชนบทส่วนใหญ่ยังมีไม่มาก ครอบครัวเป็นหน่วยการผลิตที่ทำทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ล่าสัตว์ และประมง กระทั่งหัตถกรรมก็ทำกันเองในครอบครัว ความชำนาญเฉพาะอย่างจึงมีน้อย เทคโนโลยี และเครื่องมือการผลิตก็เป็นแบบง่ายๆ เช่น จอบ เสียม ผาลเหล็ก เคียว เกวียน โดยที่ชุมชนหมู่บ้านซึ่งเป็นชุมชนหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคมสามารถพึ่งตนเองได้ในเกือบทุกด้าน เพราะหมู่บ้านต่าง ๆ จะผลิตสิ่งของเกือบทุกอย่างที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตด้วยตนเองภายในชุมชนหมู่บ้านนั้น เช่น ปลูกข้าวและพืชผักอื่น ๆ เพื่อการบริโภค จับปลาตามแม่น้ำลำคลอง หนอง บึง ทอผ้าเพื่อใช้ทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ปั้นหม้อ ตีมีด ทำจอบ เสียม เคียว ค้อน ไถ ครกกระเดื่อง รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้อื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน
ชนชั้นในระบบศักดินาได้แบ่งคนออกเป็น 4 กลุ่มคือ กษัตริย์ ขุนนาง ไพร่ และทาส ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เช่น มอญ แขกจาม มีสถานะเป็นไพร่ ส่วนพระสงฆ์ และชาวจีนเป็นกลุ่มคนนอกระบบไพร่

ดังนั้น ไพร่ และทาส ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เช่น มอญ แขกจาม มีสถานะเป็นไพร่จึงเป็นพลังการผลิตของสังคม ความสัมพันธ์ของมูลนายกับไพร่ เป็นความสัมพันธ์แบบกดขี่ขูดรีดอย่างโจ่งแจ้ง กล่าวคือ ถ้ามูลนายถือศักดินา 400 ไร่ จะมีไพร่ในปกครองหรือแรงงานที่ใช้ในการผลิตได้ 16 คน เมื่อไพร่จ่ายค่าเช่าเป็นผลผลิตแล้ว ยังต้องไปทำงานให้แก่เจ้านายอีกปีละ 6 เดือน และทำงานให้มูลนายอีกปีละ 3 เดือน

กษัตริย์ผูกขาดการค้าข้าว ดีบุก ทองคำ ไม้ฝาง ไม้กฤษณา ผลเร่ว ครั่ง รังนก งาช้าง หนังสัตว์ ฯลฯ โดยพระคลังสินค้า เสนาบดีกรมท่า ทำหน้าที่ควบคุมการค้าดังกล่าว กษัตริย์จึงเป็นผู้สะสมความมั่งคั่ง เงินที่ได้มาส่วนน้อยนำกลับมาซื้อสินค้าไปขาย เงินที่กษัตริย์ได้มามิได้ถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงการผลิตรอบใหม่เลย เงินส่วนใหญ่ถูกนำไปสร้างวัง สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและซื้อสิ่งของเครื่องประดับให้กับมเหสีและนางบำเรอ

เมื่อเรือสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาเทียบท่า ทางเจ้านายศักดินาจะไปเลือกซื้อสิ่งของที่ต้องการก่อน เช่น ผ้าไหม เครื่องลายคราม ชา ไหมดิบ ไหมสำเร็จรูป ฝ้ายชนิดต่างๆ ฝิ่นดิบ ทองแท่งและเงินแท่ง นอกจากนี้ยังเป็นประเภทอาวุธปืน เครื่องแก้ว และสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยอีกหลายรายการ เมื่อชนชั้นศักดินาได้สิ่งของที่ต้องการเพียงพอแล้ว จึงยอมให้ฝรั่งจำหน่ายแก่คนทั่วไป ซึ่งไพร่ทาสก็ไม่มีเงินซื้อ

กษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ได้สะสมทุนขึ้นเรื่อยๆ จากปลายรัชกาลที่ 3 ที่เริ่มต้นจากการนำเงินไปลงทุนซื้อสิ้นค้าเพิ่มจากไพร่ในราคาถูก จากนั้นเจ้าก็นำทุนทางการค้าไปเป็นทุนทางการผลิต

ในรัชกาลที่ 4 จักรวรรดินิยมอังกฤษได้บังคับให้รัฐศักดินาไทยทำสนธิสัญญาบาวริ่งกับอังกฤษเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 โดยมีสาระสำคัญได้แก่สิทธิในการตั้งกงสุลคอยดูแลผลประโยชน์ การตั้งศาลกงสุลเพื่อชำระความคนในบังคับของอังกฤษ ให้สิทธิการค้าเสรีแก่คนในบังคับอังกฤษทั่วทุกเมืองท่าของไทย ยกเลิกการเก็บค่าระวางปากเรือ แต่กำหนดภาษีขาเข้าตามราคาสินค้าในอัตราร้อยละชัก 3 ส่วนภาษีขาออกให้เก็บเพียงครั้งเดียว ไม่เก็บภาษีฝิ่น รัฐศักดินาไทยมีสิทธิห้ามส่งข้าว เกลือ และปลาออกนอกประเทศได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องแจ้งให้กงสุลอังกฤษทราบข่าวล่วงหน้าเป็นเวลา 1 เดือน

ภายหลังจากที่ไทยได้ทำสนธิสัญญาบาวริ่งกับอังกฤษ ก็ได้มีประเทศมหาอำนาจต่างๆ ส่งผู้แทนเข้ามาเจรจาเพื่อทำสนธิสัญญาการค้ากับไทย โดยยึดแบบอย่างที่ไทยได้ทำกับอังกฤษ เช่น ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2399 เดนมาร์กในปี พ.ศ.2401 โปรตุเกส ในปี พ.ศ. 2402 ฮอลันดาในปี พ.ศ. 2403 ปรัสเซีย ปี พ.ศ. 2405 สวีเดน และนอร์เวย์ในปี พ.ศ.2411

จะเห็นได้ว่า ในช่วงนี้พลังการผลิตของสังคมไทยยังเป็นแบบสังคมเกษตรกรรมที่ใช้คนกับแรงงานสัตว์เป็นสำคัญ เป็นสังคมที่การผลิตเป็นไปอย่างเชื่องช้า ประกอบกับกฎเกณฑ์ของชนชั้นศักดินาที่กดทับขัดขวางศักยภาพของพลังการผลิตเสียเอง โดยเอาคนออกจากภาคผลิตเกษตรกรรมให้ไปเป็นทหาร สร้างวัง สร้างบ้านให้เจ้านาย เลี้ยงม้าเลี้ยงช้างให้เจ้านาย พายเรือพาเจ้านายท่องเที่ยว แบกหามเจ้านาย คอยให้บริการรับใช้ต่างๆ นานาการผลิตจึงไม่พัฒนาและมักเกิดสภาพข้าวยากหมากแพงจากภัยธรรมชาติและสงครามอีกด้วย
พลังการผลิตช่วงหลังสนธิสัญญาบาวริ่ง พ.ศ. 2398 ถึง ช่วงระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พ.ศ. 2435

ผลจากการทำสนธิสัญญาบาวริ่ง ทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงไปหลายประการ เช่น เกิดระบบการค้าเสรี เลิกการผูกขาดโดยพระคลังสินค้า การค้าของศักดินาและชาวจีนในไทยขยายตัวออกไป เริ่มเกิดชนชั้นนายทุนและกรรมกรที่เป็นชาวต่างชาติ

สินค้านำเข้าแต่เดิมประกอบด้วยสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อการบริโภคของชนชั้นสูง ได้เปลี่ยนมาเป็นสินค้าเพื่อการบริโภคของคนทั่วไป เช่น ผ้านุ่ง ผ้าฝ้าย เครื่องแก้ว ใบชา กระจก เป็นต้น ส่วนสินค้าส่งออกในสมัยก่อนเป็นสินค้าหลายๆ ชนิด ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นสินค้าเพียงไม่กี่ชนิด เช่น ข้าว ไม้สัก ดีบุก เป็นต้น

การส่งออกข้าวได้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง เพราะระบบการค้าที่เปลี่ยนไปและความต้องการของตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นด้วย

หลัง พ.ศ. 2398 กษัตริย์ และขุนนางได้ขยายการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นตามการสั่งซื้อของฝรั่ง แต่แรงงานไพร่ทาสไม่สามารถถูกระดมไปขยายที่นาและทำงานในนาจำนวนมากได้ เพราะต้องอยู่ในสังกัดมูลนายถูกเกณฑ์ไปทำงานโยธาต่างๆ และทำงานให้กษัตริย์ รัฐศักดินาจึงต้องกระตุ้นส่งเสริมให้ไพร่ทาสเร่งขยายเนื้อที่ทำนาให้เพิ่มมากขึ้นด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีที่ดินทำนา ซึ่งถ้าชาวนาได้บุกเบิกใหม่ในปี 2400 รัฐศักดินาจะไม่เก็บภาษีที่ดินในปีแรก และในอีก 2-3 ปีต่อมาจะเก็บภาษีแต่เพียงเล็กน้อย

ครั้นเมื่อชนชั้นศักดินาต้องการข้าวไปขายมากขึ้น ก็ต้องการแรงงานทำนามากขึ้น จึงจำเป็นต้องยกเลิกทาส ใน พ.ศ. 2448 ซึ่งก็คือการปลดปล่อย “พลังการการผลิต” นั่นเอง

พลังการผลิตที่ถูกนำมาจากต่างประเทศเพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตข้าวได้แก่ รถไถ ซึ่งใน พ.ศ. 2424 – 2425 กองวิศวกรรม กรมการข้าว ได้นำเครื่องจักรไอน้ำมาทดลองไถนาแทนแรงกระบือ ที่ตำบลคลองนิยมยาตรา เมืองสมุทรปราการ ได้ทำการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงรถแทรกเตอร์หลายแบบ แบบที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางคือ รถแทรกเตอร์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ตั้งแต่ 8.5 แรงม้า ถึง 25 แรงม้า หรือที่เรียกว่า ควายเหล็ก นอกจากนี้ยังมีเครื่องสูบน้ำ เครื่องเกี่ยวข้าว เครื่องสีข้าว เป็นต้น มาใช้แทนที่เครื่องมือแบบดั้งเดิมที่ใช้ระหัดวิดน้ำเข้านา ใช้เคียว และเครื่องสีข้าวด้วยมือหรือครกกระเดื่อง กระทั่งมีโรงสีข้าวพลังไอน้ำ ลานตากข้าวและโกดังข้าวขนาดใหญ่ กระทั่งมีรถบรรทุกและเรือที่ติดเครื่องยนต์สำหรับขนส่งข้าว ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการเริ่ม “การปฏิวัติอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย”

เมื่อมีการค้าขายกันอย่างกว้างขวางโดยใช้เงินตราเป็นสื่อกลาง รัชกาลที่ 4 จึงสร้างโรงกษาปณ์ขึ้นในปี 2403 และสั่งซื้อเครื่องจักรสำหรับผลิตเงินเหรียญกษาปณ์เพื่อใช้แทนเงินพดด้วงเดิมซึ่งผลิตด้วยมือ

มีบรรษัททุนข้ามชาติ เข้ามาหากำไรจากการค้าขายและแรงงานส่วนเกิน ก่อให้เกิดหน่ออ่อนทุนนิยมของไทยอันเป็นความสัมพันธ์ทางการผลิตที่ไปกระตุ้นต่อพลังการผลิตแบบใหม่ โดยการสร้างองค์ความรู้และกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมให้กับสังคมไทย ซึ่งมีกลไกไปกระตุ้นการผลิต ได้แก่ “ทุนเงินตรา” “องค์กร (บริษัท) ” “การขนส่ง” และ “การตลาด”

บริษัทข้ามชาติที่เข้ามาในระยะแรก ด้านอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นบริษัทข้ามชาติของจักรวรรดินิยมอังกฤษ มาผูกขาดการโค่นไม้สักทั้งประเทศถึงร้อยละ 80 ได้แก่ บริษัท บอมเบย์ เบอร์มา บริษัท บอร์เนียว บริษัท แองโกล สยาม บริษัท หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ เป็นต้น โดยการจ้างกรรมกรชาวพม่า ลาว และจีน อีก 20 % อยู่ในมือของคนจีน

เมื่อ พ.ศ. 2399 บริษัท เจ เอส ปาร์กเกอร์ ของสหรัฐอเมริกา เข้ามาสร้างโรงสีไฟแห่งแรกของประเทศสยาม ในปี พ.ศ. 2401 บริษัท อเมริกัน สตีมไรซ์ มิลลิ่ง ได้ว่าจ้างกรรมกรชาวจีนทำการผลิตข้าวและใช้เครือข่ายคนจีนเป็นผู้รวบรวมข้าวเปลือก

ในช่วงนี้มีการก่อตัวของเศรษฐกิจแบบตลาด ในภาคกลางและหัวเมืองชายฝั่งตะวันออก ในขณะที่ภูมิภาคอื่น ๆ ยังคงสภาพของเศรษฐกิจแบบพอยังชีพ และเริ่มเกี่ยวพันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตในระบบตลาดโลก จากนั้นจึงค่อยพัฒนาพลังการผลิตภายในสังคมให้เป็นแบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยใช้เงินทุนของต่างชาติ ทุนศักดินาและทุนพ่อค้าชาวจีน ราษฎรส่วนใหญ่ที่เคยเป็นพลังการผลิตแบบพอยังชีพได้คืบคลานสู่การเป็นแรงงานรับจ้าง เป็นพลังการผลิตอิสระที่หลุดออกจากสังกัดมูลนาย และก้าวเป็นแรงงานเสรีที่สามารถเลือกตัดสินใจในการเคลื่อนย้ายแรงงานได้ด้วยตนเอง

ในปี พ.ศ. 2435 รัชกาลที่ 5 ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จากเดิมที่ให้ขุนนางเป็นเจ้าเมืองทำการปกครองหัวเมือง และเจ้าประเทศราชปกครองนครรัฐ แล้วส่งส่วยหรือเครื่องราชบรรณาการมาให้รัฐศักดินาส่วนกลาง มาเป็นระบบใหม่โดยส่งข้าราชการไปปกครอง และจัดเก็บภาษีส่งให้ส่วนกลาง ไม่ให้หักเอาไว้เอง เหมือนก่อน ซึ่งข้าราชการได้รับเงินเดือนจากรัฐ ระบบนี้ต้องใช้เงินตราในการบริหาร โดยต้องจัดทำงบประมาณจัดสรรเงินให้แก่กระทรวงต่างๆ ทำให้รัฐบาลของกษัตริย์สามารถจัดพิมพ์งบประมาณรายรับรายจ่ายแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2444

ชนชั้นศักดินาไทยได้จัดตั้งธนาคารของตนเพื่อให้การค้ากับคนต่างชาติสะดวกขึ้น เริ่มต้นด้วยการจัดตั้ง "บุคคลัภย์" (Book Club) ขึ้น ต่อมากลายเป็น "ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด" มีการให้บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม รับสัมปทานขุดคลองทั่วพระราชอาณาจักรเพื่อขยายที่นาเพิ่มผลผลิตข้าว โดยเฉพาะในบริเวณทุ่งราบภาคกลางจำนวนมาก เช่น ในบริเวณพื้นที่ราบฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เขตจังหวัดปทุมธานีที่เรียกว่าทุ่งรังสิต โดยขุดคลองสายใหญ่ เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาตรงไปยังแม่น้ำนครนายกเพื่อการคมนาคมขนส่งข้าวไปยังโรงสีและลงเรือไปต่างประเทศ มีการปลูกฝ้ายและตั้งโรงงานหีบฝ้าย เริ่มสร้างถนนตามแบบตะวันตก ภายหลังการสร้างถนนแล้วได้มีบรรดาพ่อค้าและชาวกรุงส่วนหนึ่งหันมาก่อสร้างร้านค้าและบ้านเรือนตามริมถนน เช่น ถนนเยาวราช ถนนจักรวรรดิ ถนนอนุวงศ์ ถนนบูรพา ถนนสามเสน ถนนราชดำเนิน ซึ่งเจ้าของที่ดินคือกษัตริย์ ราชวงศ์และขุนนาง

ขณะที่ไทยเพิ่งจะเริ่มพัฒนาพลังการผลิตนั้น หลายประเทศในยุโรปและอเมริกาได้มีพลังการผลิตก้าวหน้าจนเป็นประเทศทุนนิยมเต็มตัวไปนานแล้ว เช่น

ปี 2255 โทมัส นิวโคแมน และ จอห์น แคลเลย์ ประดิษฐ์เครื่องสูบน้ำ (แบบลูกสูบ) พลังไอน้ำความดันต่ำ

ปี 2276 มีการคิดประดิษฐ์เครื่องกรอด้าย เครื่องทอผ้าที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องทอผ้าแบบกี่กระตุกแบบเดิม ทำให้สามารถผลิตผ้าได้มากมายโดยใช้แรงงานน้อยลง

ปี 2312 เจมส์ วัตต์ ประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำแรงดันสูง ที่ใช้ตัวควบแน่นและวาล์วปิดเปิด ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมของโลก ตรงกับช่วงสมัยพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรี

ปี พ.ศ. 2313 ประเทศอังกฤษได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือ สำหรับงานเหล็ก โดย เจส แรมส์เดน (Jesse Ramsden) ได้มีการสร้างเครื่องกลึง-ตัด แบบสกรู

ปี 2362 เจโธร์ วู้ด ได้รับสิทธิบัตรคันไถเหล็กที่สามารถถอดเปลี่ยนอะไหล่ได้

ปี 2394 ไอแซค ซิงเกอร์ แห่งเมืองบอสตัน ได้ประดิษฐ์จักรเย็บผ้าที่ใช้ตามครัวเรือน นอกจากนี้ฝรั่งยังประดิษฐ์การส่งโทรเลข มีการใช้น้ำมันเบนซินแทน ก๊าซและถ่านหิน สร้างรถจักรยานยนต์ รถยนต์ เครื่องผลิตไฟฟ้า ทำมอเตอร์ไฟฟ้า มีไฟฟ้าให้แสงสว่างขณะที่สังคมไทยยังใช้ตะเกียง น้ำมันยางและขี้ไต้

ปี 2411 เริ่มมีการใช้รถไถพลังไอน้ำ

ปี 2446 ออร์วิล และวิลเบอร์ ไร้ธ์ ได้ประดิษฐ์เครื่องบินและทำการทดลองบินได้สำเร็จ
แต่สำหรับประเทศไทย ชนชั้นศักดินา กษัตริย์ และขุนนาง กลับอยู่ในช่วงกดขี่ขูดรีดค่าเช่านาจากไพร่อย่างทารุณ ไพร่ต้องใช้พลังแรงงานตนเองไปทำนาถึง 3 แห่ง คือ ที่ตนเองเช่า ที่ของเจ้านายในสังกัด และที่ของกษัตริย์ (ของหลวง) โดยใช้เครื่องมือเพียงมีด จอบ เสียม คันไถ และแรงวัวควาย กับแสงเทียนและตะเกียงอันริบหรี่ในยามค่ำคืน

พลังการผลิตช่วงระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พ.ศ. 2435 ถึง ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในช่วงเวลานี้มีการขยายตัวทางอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการโดยมีหน่วยการผลิตในรูปของบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานรัฐบาลของศักดินาดำเนินการเอง หรือทั้งสองส่วนร่วมทุนกัน เช่น

ปี 2456 รัฐบาลได้ร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัททำปูนซีเมนต์ของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ภายหลังคือ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และอีกหลายกิจการ เช่น โรงไฟฟ้าสามเสน บริษัทพาณิชย์นาวีสยาม ธนาคารออมสิน เป็นต้น

พ.ศ. 2463 สร้างทางรถไฟสายแปดริ้ว-ปราจีนบุรี เพื่อประโยชน์ด้านการเมืองการปกครองหัวเมือง และด้านเศรษฐกิจ ในการลำเลียงผลผลิตโดยเฉพาะข้าว โค กระบือ จากภาคตะวันออกเข้ากรุงเทพฯ
ผลจากการพัฒนาพลังการผลิต ทำให้รายได้ของราชสำนักที่กรุงเทพฯ เพิ่มมากขึ้น เช่น เงินคงคลัง ซึ่งเคยมีอยู่ประมาณ 7,500,000 บาท ใน พ.ศ. 2437 เพิ่มขึ้นเป็น 32,000,000 บาท ใน
พ.ศ. 2444

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤติทางการเงินครั้งใหญ่ของโลกขึ้นใน พ.ศ. 2472 ส่งผลกระทบมาถึงไทยในปี พ.ศ. 2474 ทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง เดือนพฤษภาคม 2475 รัฐบาลได้ขายทองคำทุนสำรองของประเทศที่มีอยู่ทั้งหมด มีการปลดข้าราชการออกจากงาน ประกาศเพิ่มภาษีราษฎร ทำให้ราษฎรประสบความเดือดร้อนมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฏร

การจ้างงานที่เรียกผู้ใช้แรงงานว่ากรรมกรเป็นครั้งแรก มีขึ้นในช่วง พ.ศ. 2430 - 2462 คือ กรรมกรลากรถ หรือกุลีลากรถ กรรมกรส่วนใหญ่เป็นชาวจีนอพยพจากแผ่นดินใหญ่ และชาวจีนเหล่านี้ก็เป็นผู้นำวัฒนธรรมรถลากเข้ามาและทำอาชีพลากรถ มีนายทุนเป็นผู้ให้เช่ารถลาก ซึ่งในปี 2441 มีธุรกิจรถลากของคนจีนประมาณ 1,600 คัน ประมาณว่ากรรมกรลากรถมีทั้งคนจีนและคนลาวรวมกันประมาณ 3,000 คน แต่ในช่วงเริ่มต้นยังไม่มีระบบลูกจ้างและนายจ้างที่ชัดเจน กรรมกรลากรถจะไม่มีค่าจ้างรายวันหรือรายเดือนที่แน่นอน แต่จะได้รายได้ที่เหลือจากค่าเช่ารถ (เหมือนการเช่าแท็กซี่ในปัจจุบัน) ต่อมายุคของกรรมกรลากรถได้สิ้นสุดลงเมื่อประมาณ พ.ศ. 2496 หลังจากเกิดธุรกิจรถราง รถสามล้อและรถยนต์ที่เข้ามามีบทบาทแทนพลังการผลิตช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถึง ช่วงการรัฐประหาร พ.ศ. 2490

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฏรได้พยายามที่จะปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการผลิตที่กลุ่มเจ้าและราชวงศ์เป็นเจ้าของและผูกขาดให้เป็นของรัฐบาล และมุ่งพัฒนาพลังการผลิตตามเจตนารมณ์ในร่าง "เค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ" ของคณะราษฎร เช่น

1. การเสนอให้โอนที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตทั้งหมดเป็นของรัฐ และให้โอนทุนและโรงงานอุตสาหกรรมเป็นของรัฐ โดยให้ค่าตอบแทน
2. การจัดพัฒนาการเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มพลังการผลิตของประเทศ เพื่อปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายนี้รัฐจะเป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจและควบคุมการใช้ทุน อันเป็นปัจจัยหลักในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคุมให้มีการลงทุนในกิจการที่เป็นประโยชน์ระยะยาวแก่ประเทศอย่างแท้จริง เร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจทั้งการเกษตรและอุตสาหกรรมอย่างมีแผน มุ่งกระจายรายได้และทรัพย์สินในระบบให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น
แต่เค้าโครงเศรษฐกิจนี้ไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี ที่เสียงส่วนใหญ่เป็นคนของพวกเจ้า นายทุนการเงินได้เกิดขึ้นในช่วงปี 2431 - 2487 มีธนาคารพาณิชย์เปิดดำเนินการถึง 24 ธนาคาร

ในปี พ.ศ. 2481 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ขึ้นมาครองอำนาจและนำเอาลัทธิ “เผด็จการชาตินิยม” มาใช้ แต่อีกด้านหนึ่งก็สนับสนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นเต็มที่ ทำให้อิทธิพลของญี่ปุ่นในยุคนั้นอยู่เหนืออิทธิของจักรวรรดินิยมอื่นๆ และยิ่งทำให้มีนายทุนนายหน้าของญี่ปุ่นมากขึ้น
จอมพล ป. พยายามลดอำนาจทางเศรษฐกิจของคนต่างชาติและของฝ่ายเจ้าและราชวงศ์ โดยสร้างระบบเศรษฐกิจชาตินิยมขึ้นมา เช่น สร้างรัฐวิสาหกิจที่ควบคุมโดยรัฐ กีดกันคนต่างชาติไม่ให้มีอิทธิพลในวิสาหกิจนั้น โดยการจัดตั้ง “บริษัทไทยนิยมพาณิช” ขึ้นมา จากนั้นก็ค่อยๆ ขยายจัดตั้งบริษัทจังหวัดต่างๆ ทุกจังหวัด สินค้าส่งออกที่มาจากจังหวัดต่างๆ ให้ส่งผ่านบริษัทจังหวัด บริษัทจังหวัดส่งมาให้บริษัทไทยนิยมฯ บริษัทไทยนิยมฯส่งออกนอก ในทางกลับกัน ถ้าเป็นการนำเข้าต้องนำเข้าผ่านบริษัทไทยนิยมO บริษัทไทยนิยมฯ ส่งต่อไปยังบริษัทจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นการผูกขาดการค้าโดยรัฐ วิสาหกิจแต่ละแห่งจะมีคนของรัฐบาลเผด็จการชาตินิยมเข้าไปควบคุม หลังจากที่ ญี่ปุ่นยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในปี 2488 จักรวรรดินิยมอเมริกาก็เริ่มเข้ามามีอิทธิพลเหนือประเทศไทย

พลังการผลิตช่วงหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ถึง ช่วงการรัฐประหาร พ.ศ. 2500
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุนนิยมต่างชาติได้ขยายตัวไปอีกก้าวหนึ่ง โดยเฉพาะการบุกเบิกทางเศรษฐกิจของอเมริกันนั้นจะพบว่า แหล่งทรัพยากรและรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจของไทยนั้น คนอเมริกันมีข้อมูลมากกว่าคนไทยเองเสียอีก ทั้งนี้ก็ด้วยข้อตกลงที่ว่าไทยต้องยอมให้อเมริกันบุกเบิกทางเศรษฐกิจและเชื่อสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจนั่นเอง

ทางด้านนายทุนพาณิชย์ที่เป็นคนจีนภายใต้บารมีของขุนนาง ได้พัฒนาเติบโตเป็นปึกแผ่นมั่นคงขึ้นไปอีก บรรดานายทุนพาณิชย์เหล่านี้ได้มีการจัดตั้งรวมกลุ่มกันขึ้นมาเป็นสมาคม เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของพวกตน เช่น สมาคมเพชรพลอยเงินทอง สมาคมธุรกิจการโรงแรมและท่องเที่ยว (2490) มีสมาชิกถึง 90 ราย สมาคมพ่อค้าสุรา (พ.ศ. 2495) สมาคมพ่อค้าขายส่งน้ำแข็ง สมาคมพ่อค้ากาแฟ สมาคมพ่อค้ายาสูบ ส่วนนายทุนต่างชาติ อเมริกัน อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่นและอินเดีย ต่างก็ได้ตั้งหอการค้าของตนขึ้น

จอมพล ป. สร้างระบบเศรษฐกิจชาตินิยม ด้วยคำขวัญว่า “ประเทศไทยเพื่อคนไทยเท่านั้น” แต่ปรากฏว่าในยุคนั้น กิจการค้าขายระดับเล็กระดับกลางและกิจการค้าระหว่างประเทศอยู่ในมือพ่อค้าคนจีน ขณะเดียวกัน บริษัทและโรงงานใหญ่ๆ เป็นของคนยุโรป ของอเมริกัน แต่มาตรการเฉียบขาดในการจำกัดธุรกิจคนต่างด้าวนั้น รัฐบาลมุ่งปฏิบัติกับเฉพาะคนจีนเท่านั้น กับคนอเมริกัน คนยุโรป รัฐบาลไม่กล้าแตะต้อง เหตุก็เพราะว่าคนอเมริกันกับคนยุโรปขยายธุรกิจของตนด้วยการเป็นผู้มีอำนาจ แต่คนจีนพัฒนาธุรกิจของตนด้วยการ “ยินยอมอยู่ใต้บารมีของเจ้านายศักดินาและขุนนาง” เพื่ออาศัยบารมีนั้นไปขยายกิจการ

ไม่นาน คำขวัญว่า “ประเทศไทยเพื่อคนไทย” ก็กลายเป็นประเทศไทยเพื่อขุนศึกขุนนางไปในที่สุด มีการเข้าไปหาประโยชน์จากธุรกิจคนจีน เช่น สมาคมโรงสีข้าว การอุตสาหกรรมน้ำตาล สิ่งทอ น้ำมัน การธนาคาร การประกันภัย การขนส่ง และการค้าอื่นๆ
นโยบายของจอมพล ป. ทำให้ทุนนิยมในประเทศไทยช่วงนี้เปลี่ยนจาก “ทุนนิยมขุนนาง” เป็น “ทุนนิยมขุนศึก”

พลังการผลิตช่วงหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 ถึง ช่วง 14 ตุลาคม พ.ศ. 25142516
ภายหลังที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2501 แล้ว ก็มีแนวนโยบายทางเศรษฐกิจตามแบบอย่างประเทศตะวันตกเพื่อต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อให้เกิดการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรม โดยการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม พ.ศ. 2503 และ พ.ศ. 2505 และรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาผลิตในประเทศเพื่อทำให้ “ทุนอุตสาหกรรม” เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเน้นการให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่างประเทศ เช่น ไม่ต้องเสียภาษีนิติบุคคล 30 % เหมือนบริษัททั่วไปเป็นเวลา 5-8 ปี ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ลดภาษีส่งออก ให้นำกำไรออกนอกประเทศได้ หลังจากนั้นจึงเริ่มมีบริษัทรถยนต์จากญี่ปุ่นเข้ามาตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ (นิสสันปี 2505 โตโยต้าปี 2507)

นอกจากนี้ยังมีการตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ใน พ.ศ. 2504 รัฐบาลได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504 - 2509) และแผนพัฒนาพัฒนาเศรษฐกิจเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินี้จะมีสืบเนื่องกันต่อมาถึงปัจจุบัน
รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ได้กู้เงินจากต่างประเทศมาสร้างถนน ไฟฟ้า น้ำประปา เขื่อน โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม และน้ำในเขื่อนส่วนหนึ่งใช้เพื่อการเกษตร
ตั้งแต่ปี 2508 - 2516 มีการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้แก่อเมริกา ญี่ปุ่นและไต้หวัน โดยเฉพาะทุนอเมริกันทะลักเข้าไทยหลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบของนักลงทุน นักวิชาการและทหารที่เข้ามาปักหลักตั้งฐานทัพในประเทศไทยเพื่อทำสงครามในอินโดจีน ซึ่งทั้งหมดทำในหลายกิจการ เช่น เครื่องดื่ม ยาสูบ เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ กระดาษสิ่งพิมพ์ เคมีภัณฑ์ สินค้าสำเร็จรูป เหมืองแร่ พลังงาน ผลิตภัณฑ์แร่โลหะ อุตสาหกรรมโลหะพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์เข้าหาผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มทุนนิยมขุนนางกับทุนนิยมต่างชาติอย่างเต็มที่

ในยุคนี้ประเทศไทยสามารถจับปลาได้เป็นที่ 8 ของโลก สมาคมประมงทั่วประเทศ 33 สมาคมมีสมาชิกเป็นเจ้าของเรือประมาณ 40,000 ลำ มีชาวประมงประมาณ 500,000 คน
กิจการค้าหลายอย่างอยู่ในมือของพ่อค้าผูกขาด บ้างก็ผูกขาดโดยนายทุนพาณิชย์ต่างชาติ เช่น มันสำปะหลัง น้ำมันเชื้อเพลิง กระจกแผ่นเรียบ ฯลฯ บางชนิดก็ผูกขาดโดยนายทุนไทยที่อาศัยบารมีขุนนาง บางอย่างก็ผูกขาดโดยนายทุนอิสระ เป็นต้น

ด้านนายทุนธนาคาร เมื่อกิจการพาณิชย์และอุตสาหกรรมเติบโต กิจการธนาคารก็เติบโตตามไปด้วย ตั้งแต่ปี 2507 - 2516 ธนาคารต่างๆ ได้ขยายสาขาออกไปอย่างรวดเร็วทุกจังหวัด ในแต่ละจังหวัดก็มีหลายสาขา ปี 2516 ธนาคาร 16 แห่ง มีสาขารวมกัน 700 สาขา ธุรกิจในเครือธนาคารจึงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังสามารถดูดกลืนธุรกิจอื่นๆ เข้าไว้ในเครือได้อีก เช่น ธุรกิจใดที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารก็ยึดกิจการและนำไปให้กลุ่มของตนบริหารเช่น ธนาคารกรุงเทพยึดกิจการบางกิจการไปให้กลุ่ม พี.เอส.เอ บริหาร เข้าควบคุมโรงงานทอผ้าไทยเกรียงแล้วให้กลุ่มสหยูเนียนบริหาร เป็นต้น

การเรียกร้องประชาธิปไตยในเดือนตุลาคม 2516 เป็นผลให้รัฐบาลเผด็จการถนอม-ประภาสลาออก ยุติบทบาทของทุนขุนศึกที่ยึดครอง “พลังการผลิต” มายาวนาน “พลังการผลิต” จึงเข้าสู่ยุคทุนผูกขาดศักดินาโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พลังการผลิตช่วงหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ถึง ช่วง พฤษภาคม พ.ศ. 2535

หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กลุ่มทุนบางกลุ่มส่วนใหญ่เชื้อสายจีนได้พัฒนาตนเองไปเป็น “ทุนผูกขาดสวามิภักดิ์” อาศัยอิทธิพลบารมีของกษัตริย์จนใหญ่โตเข้มแข็งเกินกว่าที่ผู้ใดจะเข้าไปแผ่อิทธิพลได้ง่ายๆ ธุรกิจเหล่านี้ได้แก่ ธุรกิจของกลุ่มธนาคาร ธุรกิจของกลุ่มกิจกรรมประมง ธุรกิจของกลุ่มทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ธุรกิจกลุ่มผลิตการค้าน้ำตาล ธุรกิจการค้าเช่นกลุ่ม “เซ็นทรัล” กลุ่ม พี.เอส.เอ

ส่วนกลุ่มร่วมลงทุนกับต่างชาตินั้นก็ยิ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดเช่นกัน เช่น กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ตระกูลเจียรวนนท์) กลุ่มสัมพันธมิตร-สหพัฒน์ (ตระกูลโชควัฒนา) กลุ่มสหยูเนียน (ตระกูลดารกานนท์) กลุ่มสยามกลการ (ตระกูลพรประภา) กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2517-2522 ธนาคารพาณิชย์ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว ธนาคารไทย 16 ธนาคาร ปี 2516 มีสาขาเพียง 760 สาขา แต่ปี 2522 มีสาขาทั้งหมด 1,289 สาขา มีพนักงานรวมกัน 50,245 คน ทรัพย์สินในปี 2517 รวมกันมีเพียง 105,036 ล้านบาท สิ้นปี 2522 ทรัพย์สินรวมสูงถึง 295,746.18 ล้านบาท

เมื่อกลุ่มทุนจักรวรรดินิยมได้เข้ามาลงทุนทั้งด้านอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ซึ่งทำให้ทุนอุตสาหกรรมและทุนพาณิชย์โดยจักรวรรดินิยมเติบโตขึ้นมาก เป็นโอกาสของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เข้าไปเป็นนายหน้า ร่วมทุนและขยายการลงทุนโดยใช้อิทธิพลและอำนาจทางการเมืองที่สามารถจัดตั้งและควบคุมรัฐบาลได้เองอย่างเบ็ดเสร็จ ในยุคนี้มีธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เช่น โรงงานทอผ้า โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป โรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงงานผลิตสุรา ฯลฯ

พลังการผลิตที่ทันสมัยทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ตัวอย่าง เช่น จำนวนหมูและไก่เพิ่มขึ้นขณะที่ฟาร์มลดลง
ในปี 2508 มีฟาร์มเลี้ยงหมู 208,248 ฟาร์ม เลี้ยงหมูได้ 900,518 ตัว
ในปี 2521 มีฟาร์มเลี้ยงหมู 206,081 ฟาร์ม เลี้ยงหมูได้ 1,882,263 ตัว
ในปี 2508 มีฟาร์มเลี้ยงไก่ 534,287 ฟาร์ม เลี้ยงไก่ได้ 10,117,935 ตัว
ในปี 2521 มีฟาร์มเลี้ยงหมู 417,463 ฟาร์ม เลี้ยงหมูได้ 19,103,774 ตัว

(ที่มา สำมโนเกษตร 2508, 2421)
อย่างไรก็ตาม ในปี 2518 ที่ตราพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ออกมาใช้ ทำให้ชนชั้นกรรมกรไทยเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ตามหลักสากลอีกครั้ง มีการขยายตัวของสหภาพแรงงานที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 184 สหภาพ เป็น 618 สหภาพ ในปี 2532 ซึ่งถือเป็นยุคฟื้นฟูของขบวนการแรงงานไทย

ในระยะแรก ๆ ของช่วงนี้ เหตุการณ์ทางการเมืองผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการเลือกตั้งหลายครั้ง แต่ก็เป็นรัฐบาลผสมและไม่มั่นคง พลังของกลุ่มนิสิตนักศึกษาได้ร่วมกับกรรมกรและชาวนาเปิดโปงและต่อต้านการกดขี่ขูดรีดของกลุ่มทุนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง กรรมกรจำนวนมากนัดหยุดงานและเดินขบวนสำแดงกำลังหลายครั้ง
ในอินโดจีน อเมริกาได้พ่ายแพ้ในสงครามอินโดจีนอย่างต่อเนื่อง ประเทศเวียดนาม ลาว และกัมพูชาสามารถปลดปล่อยตนเองออกจากอำนาจการควบคุมของจักรวรรดินิยมอเมริกา จนต้องเปลี่ยนนโยบาย ประกอบกับนักเรียนนักศึกษาและประชาชนวงการต่าง ๆ ได้เดินขบวนขับไล่ฐานทัพอเมริกาในประเทศไทยครั้งใหญ่ อีกทั้งการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธภายใต้การนำของ พคท. ก็กำลังขยายตัวเติบใหญ่อย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการปราบปรามเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนครั้งรุนแรงที่สุดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 การต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทก็สั่นคลอนและคุกคามอำนาจรัฐของทางการไทยภายใต้การควบคุมของทุนศักดินาอย่างหนัก จนพวกเขาเตรียมหอบหิ้วทรัพย์สมบัติเผ่นหนีตามผู้นำประเทศอินโดจีนไปอยู่รอมร่อ
สภาพการณ์เช่นนี้ ไม่เอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตมากนัก อีกทั้งพวกกลุ่มทุนต่างชาติจักรวรรดินิยมทั้งหลายต่างก็ลังเลไม่กล้าผลีผลามเข้ามาลงทุน

จนกระทั่งสงครามประชาชนเริ่มคลี่คลายภายหลังปี 2525 เศรษฐกิจไทยจึงเริ่มฟื้นตัวขึ้น แต่ทว่าในช่วงนั้นเศรษฐกิจทั่วโลกก็ตกต่ำ ทำให้ พล.อ.เปรม นายกฯ ในขณะนั้นต้องประกาศลดค่าเงินบาท 2 ครั้งในปี 2525 และ 2527 เพื่อพยุงฐานะทางเศรษฐกิจของไทยที่ร่อแร่ให้รอดพ้นจากหายนะ แต่ในทางการเมือง พล.อ. เปรม ก็ได้ทำให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่เข้มแข็งขึ้น หลังจากโค่นล้มทุนขุนศึกที่มีอำนาจลงไปจนราบคาบ และกษัตริย์มีอำนาจเหนือรัฐ สามารถกำหนดคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้นำในด้านนิติบัญญัติ ด้านตุลาการได้ รวมทั้งการเปลี่ยนโครงการพระราชดำริทั้งหลาย ให้กลายเป็นโครงการของรัฐ สามารถใช้งบประมาณของรัฐ เครื่องมือของรัฐ สถานที่ของรัฐและกำลังคนของรัฐได้ทั้งสิ้น แต่ผลกำไรที่ได้จะตกแก่พระมหากษัตริย์ด้วยอำนาจ-อิทธิพลและบารมีเหนือรัฐ ทำให้บรรดาทุนผูกขาดและกึ่งผูกขาดในประเทศไทยต้องยอมศิโรราบต่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ด้วยการให้หุ้น ร่วมทุน หรือช่วยกิจการหากำไรของสำนักงานฯ อย่างเต็มที่

ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสอันดีของสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่จะเลือกลงทุนและสั่งการให้รัฐบาลของพวกเขาใช้อำนาจรัฐเอื้ออำนวยให้ทุนศักดินาในนามสำนักงานทรัพย์สินฯ ผูกขาดธุรกิจภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้กำไรดีมีอนาคต โดยไม่มีกลุ่มทุนใด ๆ กล้ามาแข่งขันด้วย ทำให้พวกเขาเคยชินกับการหากำไรที่ได้มาง่ายๆ เช่นนี้ต่อมาอีกสิบกว่าปี จนกระทั่งเกิดวิกฤตฟองสบู่ซึ่งเริ่มจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานทรัพย์สินไปลงทุนไว้มากมายนั่นเอง

ในทางสากล การแข่งขันกันของสองอภิมหาอำนาจของโลกในช่วงนี้ เป็นไปอย่างดุเดือดจนกระทั่งสิ้นสุดยุคสงครามเย็นประมาณปี 2532 - 2533 สหรัฐอเมริกาผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจเดี่ยวของโลก ทำให้การค้นคว้าพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีก้าวรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว โลกรู้สึกผ่อนคลายจากความหวาดกลัวต่อสงครามปรมาณู ทำให้เทคโนโลยีที่เดิมมีใช้เฉพาะในกิจการทหาร ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ในฐานะพลังการผลิตในกิจการอุตสาหกรรมและครัวเรือนมากขึ้น ทั้งคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ทำให้การตลาดของโลกกลายเป็นหนึ่งเดียว มนุษย์สามารถรับฟัง อ่าน ซื้อขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตได้ สามารถติดตามการซื้อขายหุ้น การเก็งกำไรเงินตราผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สามารถชมการถ่ายทอดสดกีฬาจากอีกมุมโลกหนึ่งซึ่งกลายเป็นสินค้าทางด้านวัฒนธรรมที่มีมูลค่ามหาศาล ฯลฯ พลังการผลิตได้กลายเป็นแบบโลกาภิวัตน์ที่ไม่มีใครหยุดยั้งการไหลบ่าของเงินทุนเข้ามาแข่งขันหากำไรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนผูกขาดศักดินาที่เคยชินกับการใช้อำนาจเหนือรัฐเอื้ออำนวยผลประโยชน์โดยไม่มีคู่แข่งขัน

พลังการผลิตช่วงหลัง พฤษภาคม 2535 ถึง ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540
ภายใต้อำนาจนำของกษัตริย์ที่มี พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานองคมนตรี ทำให้บริษัทฯ ในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้รับอภิสิทธิ์อย่างมากมาย จนกิจการขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง

แต่ทว่าสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยที่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลจักรวรรดินิยมอเมริกาในช่วงเวลาดังกล่าว กลับมีลักษณะแบบเศรษฐกิจฟองสบู่ มีการเก็งกำไรในภาคการเงิน การลงทุนจากการเปิดค้าเงินเสรีทำให้หนี้สินภาครัฐและเอกชนในช่วง พ.ศ. 2532 – 2538 มีอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และสูงถึงร้อยละ 40 ของ GDP.

เมื่อเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ระบบเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะวิกฤต สินเชื่อก้อนใหญ่ของสถาบันการเงินกลายเป็นหนี้เสีย เริ่มจากสินเชื่อที่ปล่อยให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโครงการลงทุนขนาดยักษ์ จากนั้นลุกลามขยายตัวไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ภาคการผลิตในสาขาอุตสาหกรรมและการบริการล้มระเนระนาด คนงานว่างงาน 3-4 ล้านคน ถึงกระนั้นสังคมไทยก็ยังไม่เป็นแดนมิคสัญญีเพราะยังคงเหลือภาคการเกษตร การค้า และการผลิตรายย่อย รองรับแรงงานที่ว่างงานเหล่านี้ ทั้งๆ ที่การเกษตรกรรม ที่ดิน ทุนท้องถิ่น แทบไม่เหลือให้กับผู้ใช้แรงงานแล้ว

พลังการผลิตช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ถึง ปัจจุบัน (พ.ศ. 2554)
จากการประเมินผลการพัฒนาในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการพัฒนาพลังการผลิตที่ขาดสมดุล โดยประสบความสำเร็จเฉพาะในเชิงปริมาณและในบางสาขาอาชีพ แถมยังประสบกับภาวการณ์เก็งกำไร ทำให้การผลิตขาดความสมดุลด้านคุณภาพ
"จุดอ่อน" ของการพัฒนาที่สำคัญคือ ระบบบริหารทางเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง กฎหมาย งบประมาณและข้าราชการ ถูกดึงไปรับใช้สถาบันกษัตริย์-ราชวงศ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการพระราชดำริทั้งหลายและกองทัพที่ทำให้เงินงบประมาณถูกดูดออกจากกระบวนการผลิตตลอดเวลาโดยไม่ย้อนกลับเข้าสู่การผลิตอีก (เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กษัตริย์ไทยร่ำรวยมั่งคั่งที่สุดในโลก) นำไปสู่ปัญหาความชะงักงัน วิกฤติเศรษฐกิจ แรงงานขาดคุณภาพชีวิต ขาดโอกาสและขาดการศึกษาที่ดี พลังการการผลิตของไทยจึงตกต่ำไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
วิทยาการสมัยใหม่ ฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เกิดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ความยากจน และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้น ที่สำคัญกระแสการเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจโลกมีความเปราะบางและมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยซึ่งต้องปรับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศใหม่

ในช่วงเวลานี้ ได้มีชนชั้นนายทุนใหม่ที่เกิดจากการผูกขาดสัมปทานการสื่อสารของรัฐคือ พตท. ทักษิณ ชินวัตรและกลุ่มทุนอื่น ๆ เข้าสู่การเมืองของประเทศ โดยการตั้งพรรคไทยรักไทย และได้รับการเลือกตั้งจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ และเน้นนโยบายประชานิยมผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการพักชำระหนี้เกษตรกร โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และบ้านเอื้ออาทร เป็นต้น ทำให้เศรษฐกิจฐานรากได้รับการกระตุ้นให้พัฒนาขึ้น พลังการผลิตฐานรากได้แสดงบทบาทมากขึ้น ซึ่งไปขัดต่อนโยบายประชาสงเคราะห์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่ สั่นคลอนฐานะนำทางการเมืองการปกครอง และยังเป็นคู่แข่งที่มั่งคั่งในธุรกิจต่างๆ ทำให้ทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐต้องกำจัดนายทุนกลุ่มนี้ให้พ้นไปจากการเมือง โดยการก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย ในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549

พ.ศ. 2550 ตลาดหุ้นทั่วโลกได้ร่วงกราวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลกระทบจากวิกฤตซับไพร์มในสหรัฐอเมริกา กระทบระบบเศรษฐกิจ การค้า และการเงินระหว่างประเทศไร้พรมแดนไปทั่วโลก สั่นคลอนฐานทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยจึงส่งผลให้พลังการผลิตสินค้าของไทยถดถอยลงไปอีก

นอกจากนี้ พลังการผลิตต่ำยังดูได้จากเงินที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนาซึ่งมีเพียง 0.28% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของไทย เปรียบเทียบกับมาเลเซียที่ใช้ 0.63% สิงคโปร์ใช้ 2.24% ไต้หวันใช้ 2.24% เกาหลีใต้ใช้ 2.63% ขณะที่ญี่ปุ่นใช้ 3.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (ที่มา : National Science and Technology Development Agency www.nstda.or.th)

จำนวนคนที่ต้องการใช้ในการวิจัยและพัฒนาให้ได้ผลพอสมควรนั้นอยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 10,000 คน (ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 13 คน ไทยอยู่ที่ 2 คนต่อประชากร 10,000 คน)
ปัจจุบันภาคเกษตรของไทยมีความอ่อนแอ ประสิทธิผลของการผลิตอยู่ในระดับรั้งท้ายเช่น ค่าเฉลี่ยผลผลิตของข้าวไทยอยู่ที่ 360 ก.ก. ต่อไร่ต่อปี ต่ำกว่าอเมริกาและออสเตรเลียประมาณ 3 เท่า ต่ำกว่าเวียดนามและพม่าอีกด้วย ส่วนปาล์มน้ำมัน ไทยมีผลผลิตประมาณ 2.5 ตันต่อไร่ต่อปี ในขณะที่มาเลเซียอยู่ที่ประมาณ 4 ตันต่อไร่ต่อปี หรือผลผลิตของน้ำนมวัวไทยอยู่ที่ 5-6 ลิตรต่อวัน ในขณะที่หน่วยวัดมาตรฐานสากลอยู่ที่ประมาณ 14 ลิตรต่อวันในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากความอ่อนแอทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาคอุตสาหกรรมของไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) นับแสนรายซึ่งเป็นหัวใจที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ไม่มีกำลังพอที่จะจ้างวิศวกรหรือนักวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และรับถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก

ภาคบริการของไทยโดยเฉพาะภาคการเงิน การธนาคาร ไม่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลเพราะขาดกำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และไม่นำกำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการวิเคราะห์โครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการประเมินในภาคการผลิตอย่างที่ควรจะเป็นขีดความสามารถในการแข่งข้นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยปี 2542 อยู่อันดับที่ 46 จากทั้งหมด 47 ประเทศ ปี 2543 อยู่อันดับที่ 47 ใน 47 ประเทศ ทั้งนี้จากการเปรียบเทียบของ International Institute for Management Development (IMD) แสดงถึงความอ่อนแอทางพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยอย่างชัดเจนมาโดยตลอด

ข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงนี้ ระบุชี้ตรงไปยังพลังการผลิตในภาพรวมของสังคมไทย ที่ก้าวจากสังคมเกษตรกรรมของคนที่มีความรู้เรื่องการทำนาทำไร่ การประมง การเลี้ยงสัตว์และหัตถกรรมแค่พอยังชีพไปสู่พลังการผลิตแบบทุนนิยมสมัยใหม่โดยการนำเข้าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากภายนอกสังคม แต่ก็ได้ไม่ทั่วถึง ไม่มากชนิด ที่สำคัญล้วนเป็นของต่างชาติ กษัตริย์ ราชวงศ์ ขุนนาง ขุนศึก หรือไม่ก็นายทุนไทยเชื้อสายจีนเพียงน้อยนิด พลังการผลิต เครื่องมือ เครื่องจักร เทคโนโลยี วัตถุดิบและพลังงานธรรมชาติที่ส่วนใหญ่ก็เป็นของเครือข่ายการตลาดทุนนิยมสากล ที่สำคัญ ทรัพยากร งบประมาณเงินลงทุนตลอดจนบุคลากรสำคัญ ๆ ที่อยู่ในภาคราชการกลับถูกนำมาใช้สนองโครงการพระราชดำริมากเสียจนกระทรวงต่าง ๆ ขาดแคลนทั้งงบประมาณและคน จนไม่สามารถคิดทำโครงการอื่นใดเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน รวมทั้งไม่สามารถกระตุ้นให้พลังการผลิตของประเทศชาติพัฒนาต่อไป

เมื่อเหลียวไปมองประเทศต่าง ๆ เราจึงพบว่า จีนที่ไทยเคยไปหยามหยันตราหน้าว่าเป็นประเทศคอมมูนิด บัดนี้ได้พัฒนาเศรษฐกิจจนเป็นมหาอำนาจอันดับสอง รองก็แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้ง ๆ ที่จีนเป็นประเทศใหญ่มีประชากรมากและเพิ่งพัฒนาประเทศอย่างจริงจังมาไม่ถึง 30 ปี ส่วนญี่ปุ่นที่ตามหลังสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และได้พัฒนาประเทศภายหลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ 60 ปีก่อน บัดนี้ก็ยังคงเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสามรองจากจีนเล็กน้อย ไต้หวันกับฮ่องกงนั้นได้พัฒนานำหน้าไปจนไม่เห็นฝุ่นแล้ว ทั้ง ๆ ที่เริ่มพัฒนาประเทศมาเพียง 50 ปี สิงคโปร์นั้นที่เพิ่งแยกตัวตั้งประเทศในปี 2508 บัดนี้เพิ่งจะ 40 กว่าปีกลับพัฒนาล้ำหน้าไทยไปทุกด้านจนไม่มีทางตามทันตราบใดที่โครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมยังถูกครอบงำโดยทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ

มาเลเซีย พัฒนาประเทศอย่างจริงจังมาเพียง 30 ปีล้ำหน้าไทยไปแล้วเช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่เพิ่งพัฒนาประเทศมาเพียง 10 กว่าปี ที่สำคัญเวียดนามที่ทำสงครามกับจักรวรรดินิยมผู้รุกรานทั้งฝรั่งเศสและอเมริกามาหลายสิบปีจนประเทศบอบช้ำเหลือคณาและเริ่มพัฒนาประเทศอย่างจริงจังภายในไม่กี่ปีที่ผ่านมา บัดนี้ก็กำลังไล่ทันไทยและบางอย่างก็ก้าวล้ำหน้าไปบ้างแล้วเช่น ในปี 2555 เวียดนามภาคเหนือกับภาคใต้ก็จะมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงวิ่งรับส่งผู้โดยสารด้วยความเร็วกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (รถไฟไทยใช้ความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ส่วนลาวนั้นแม้ยังล้าหลังกว่าไทยในหลายด้าน แต่อย่างน้อยก็มีโทรศัพท์ 3 จีใช้ในขณะที่ไทยยังไม่ได้เริ่มต้นทำอะไรในด้านนี้ เหลือเพียงพม่ากับกัมพูชา ซี่งนักวิชาการคาดว่า ถ้าทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐยังคงเป็นเจ้าของพลังการผลิตส่วนใหญ่ในไทยอยู่ดังเช่นทุกวันนี้ อีกไม่นานก็พัฒนาประเทศได้ทัดเทียมและแซงหน้าไทยเช่นเดียวกัน

ประเทศไทยที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยทรัพยากรและประสบภัยธรรมชาติน้อยมาก สงครามกลางเมืองก็ไม่มี เหตุใดจึงล้าหลังกว่าประเทศอื่น ๆ ที่พัฒนามาทีหลังอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 60 กว่าปีมานี้

ในส่วนพลังการผลิตที่เป็นกำลังแรงงานของสังคมไทย ในยุคแรกมาจากไพร่ทาสที่ไม่มีทักษะการใช้เครื่องมือสมัยใหม่ จวบจนปัจจุบันก็พบว่าแรงงานไทยในโรงงานอุตสาหกรรมส่วนมากจบการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีถึง 70 % ขณะที่แรงงานที่เหลือจบชั้นประถมศึกษาหรือมัธยมปลาย จึงมีบทบาทการใช้แรงงานกายและเครื่องมือที่ไม่ซับซ้อน มีผู้จบปริญญาตรีทำงานทางด้านเอกสารและบริหารจัดการในโรงงานไม่มากนัก เว้นแต่แรงงานในบริษัทข้ามชาติที่จ้างผู้จบตั้งแต่ปริญญาตรีมากขึ้น

โครงสร้างการผลิตของไทยในส่วนของแรงงานพบว่า แรงงานส่วนใหญ่กว่า 80% ที่เคยทำงานในภาคเกษตรในอดีต ได้ย้ายมาเป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิต และย้ายจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคบริการในสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังทศวรรษ 2530 นี่เอง ในขณะที่หัตถกรรมของไทยที่มีอยู่ทั่วไปในชนบทก็ลดน้อยถอยลงนับแต่การเปิดการค้าขายกับชาติตะวันตก หัตถกรรมบางชนิดก็หายไปจากสังคม ด้วยสาเหตุจากสินค้าอุตสาหกรรมที่มาทดแทน ประกอบกับการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าเมืองไปตามการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมและบริการ
ในปี พ.ศ. 2503 - 2505 ภาคบริการที่ขยายตัวตามติดภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมการผลิตก็มีสัดส่วนมูลค่า GDP. มากกว่าทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม กล่าวคือ ภาคเกษตร 37.54 % ภาคอุตสหกรรม 20.21% แต่ภาคบริการและพาณิชย์ 42.25% ซึ่งขณะนั้นสัดส่วนมูลค่าด้านอุตสาหกรรมยังต่ำกว่ามูลค่าทางการเกษตร จนถึงปี 2524 GDP. ภาคอุตสาหกรรมของไทยจึงเริ่มสูงกว่าภาคเกษตรกรรม

จึงถือว่าเป็นช่วงแห่งการก้าวพ้นสังคมเกษตรกรรมเข้าสู่สังคมทุนนิยมสมัยใหม่เบื้องต้น โดยสังคมไทยได้ผ่านระยะจากสังคมเกษตรศักดินาเป็นสังคมทุนนิยมตามลำดับ จากขั้นที่ 1 ขายวัตถุดิบให้ต่างชาติ (ข้าว ไม้สัก ดีบุก ฯลฯ ) ขั้นที่ 2 ทำอุตสาหกรรมการผลิตเอง ขั้นที่ 3 ให้บริการการเงิน และขั้นที่ 4 เป็นเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเก็งกำไร

อย่างไรก็ตามภาคบริการและพานิชยกรรมนั้นมีสัดส่วนพุ่งสูงเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP. (ภาคเกษตร 24.67 % ภาคอุตสหกรรม 29.31% ภาคบริการและพาณิชย์ 46.02 %) ตั้งแต่ช่วงปี 2523-2525 แล้ว แสดงว่านักธุรกิจไทยมีความสามารถในด้านการค้ามากกว่าการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขายสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ และยังมีภาคบริการด้านการท่องเที่ยวที่มีบทบาทสูงช่วยเพิ่มรายได้รวมให้กับภาคบริการ พลังการผลิตที่มีฐานะนำในสังคมไทยจึงมิได้เกิดขึ้นเรียงไปตามลำดับจากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรมแล้วจึงไปสู่การค้าและภาคบริการ แต่กลับเป็นจากเกษตรกรรมไปสู่การค้าและบริการแล้วจึงเกิดการผลิตภาคอุตสาหกรรม
ในภาวการณ์เช่นนี้ สะท้อนถึงกำลังแรงงานรับจ้างได้กระจายไปทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทย มีคนขายแรงงานทั่วไปทั้งสังคมในทุกพื้นที่ แม้จะห่างไกลในป่าเขาภูดอยก็ยังมีการผลิต การทำธุรกิจ การประกอบการในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ประชาชนไทยแต่ละคนแต่ละครอบครัวจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจแบบทุนนิยมด้วยกันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจของสังคมไทยมีปัญหาต่างๆ นานา แต่ก็เป็นปัญหาในบริบทของความสัมพันธ์ทางการผลิตที่มีบทบาทผลักดันหรือขัดขวางพลังการผลิต เช่นเดียวกับโครงสร้างทางการเมืองการปกครองซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนบนที่ต่างก็เข้ามาขัดขวางพลังการผลิตด้วยเช่นกัน เพราะหากความสัมพันธ์ทางการผลิตไม่ส่งผลย้อนกลับมาส่งเสริมสนับสนุนพลังการผลิต พลังการผลิตก็ตกต่ำ ไม่พัฒนา ไม่ก้าวหน้าอยู่เช่นนี้ ทั้งๆ ที่ในช่วงเริ่มต้น ทุนนิยมฝรั่งตะวันตกได้มีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นพลังการผลิตในสังคมไทย (ทำให้ชนชั้นศักดินาไทยต้องเลิกทาส ปลดปล่อยพลังการผลิตครั้งสำคัญ) แต่ในระยะต่อมาจนถึงปัจจุบัน ทุนนิยมฝรั่ง ทุนนิยมศักดินา และทุนชาวจีนสวามิภักดิ์ กลับสมคบกันผูกขาด ผูกมัด กีดกัน บีบคั้น ขัดขวาง ชะลอ ฉุดดึงและทำลายพลังการผลิตในสังคมไทยอย่างย่อยยับเสียเอง

ดังนั้น แม้คนไทยจะมีองค์ความรู้ใหม่ทั้งจากนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีที่ร่วมปฏิบัติการในกระบวนการผลิตอย่างไม่ขาดสาย แต่ “คนไทย” ในฐานะพลังการผลิตของสังคมก็ยังคงมีสภาพตกต่ำเมื่อเทียบกับพลังการผลิตของประเทศต่างๆ เพราะทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐและเครือข่ายที่สมคบกับจักรวรรดิอเมริกาอย่างแนบแน่นกำหนดนโยบายแห่งรัฐที่ไม่เอื้อต่อพลังการผลิตของคนส่วนใหญ่ ประกอบกับการฉกชิงผลประโยชน์ระหว่างชั้นชนมีความดุเดือดรุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้ “พลังการผลิต” ของสังคมไทยยังต้องตกต่ำต่อไป
(โปรดอ่านต่อตอนที่ 2 )