News online

กลับไปยังหน้าหลักเพื่อสนทนา C-Box ดู TV และฟังวิทยุ ได้ที่

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คดี 112 : กรณีดารณี ชาญเชิงศิลปกุล

Thu, 2011-12-15 14:32

พิพากษา ‘ดา ตอร์ปิโด’ 15 ปี จำเลยไม่อุทธรณ์หลังถูกขัง 3 ปีครึ่ง

15 ธ.ค.54  ที่ศาลอาญา รัชดา ห้องพิจารณาคดี 801 เวลาประมาณ 9.40 น. ผู้พิพากษานั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีของนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นเวลาราว 40 นาที หลังจากศาลอุทธรณ์สั่งยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและสั่งให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตี ความ ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ต.ค.54 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการพิจารณาลับของศาลชั้นต้นไม่เป็นการขัดรัฐ ธรรมนูญ และมีการนัดอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาเป็นวันนี้ (15 ธ.ค.) เนื่องจากมีการโยกย้ายองค์คณะผู้พิพากษา


นายชนาธิป เหมือนพะวงศ์ นั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาระบุว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง เป็นความผิดในมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จำเลยกระทำผิด 3 กรรม ให้ลงโทษทุกกรรม เป็นโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 15 ปี ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า มีผู้สื่อข่าว ผู้สนใจร่วมฟังคดีนี้ประมาณ 20 คน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยห้องพิจารณาคดีเข้มงวดกว่าปกติ และมีเจ้าหน้าที่ในชุดปฏิบัติการพิเศษทำการควบคุมตัวจำเลยมายังห้องพิจารณาคดี


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในครั้งแรกก่อนจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น สั่งลงโทษจำคุกไว้ 18 ปี โดยในคำฟ้องของอัยการระบุว่าจำเลยกระทำผิดโดยกล่าวปราศรัยที่สนามหลวง 3 ครั้งในวันที่ 7 มิ.ย.51, 13 มิ.ย.51 , 18-19 ก.ค.51 ทั้งนี้ เวทีดังกล่าวโดยเป็นการปราศรัยของกลุ่มประชาชนที่ก่อตัวขึ้นก่อนจะเกิด นปก.หรือ นปช. เป็นเวทีขนาดเล็กมีประชาชนร่วมฟังราว 40-50 คน ต่อมาวันที่ 22 ก.ค.51 เจ้าหน้าที่ได้บุกเข้าจับกุมตัวดารณีที่ห้องพัก และควบคุมตัวไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลางจนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน และไม่ได้รับการประกันตัว  


สำหรับคำบรรยายความผิดที่ผู้พิพากษาอ่านในครั้งนี้ สรุปความได้ว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้กระทำการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชนี คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดจริงหรือไม่ ซึ่งจากการเบิกความพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นายได้ยืนยันตรงกันว่า จำเลยได้ขึ้นกล่าวปราศรัยโดยมีบางตอนที่เข้าข่ายผิดกฎหมายและมีการบันทึก เสียงไว้ พยานโจทก์ทั้ง 3 ทำการหาข่าว ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ไม่เคยรู้จักกับจำเลยและไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ประกอบกับแม้จะมีการนำส่งซีดีผิด แต่ในขณะพิจารณาคดีได้มีการนำส่งซีดีใหม่และศาลได้เปิดฟังต่อหน้าจำเลยทั้ง หมดแล้วซึ่งตรงกับเอกสาร [เอกสารถอดเทปจากการบันทึกเสียง-ประชาไท] แม้จำเลยจะบ่ายเบี่ยงว่าจำไม่ได้ว่าได้ปราศรัยอะไรไปบ้าง แต่จำเลยไม่ได้ปฏิเสธการขึ้นกล่าวปราศรัย ทั้งยังเบิกความเองว่าหลังการรัฐประหารจำเลยได้ขึ้นกล่าวปราศรัยอยู่โดยตลอด เจือสมกับการสืบพยานโจทก์


ประเด็นพิจารณาต่อมาคือ ข้อความดังกล่าวดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์หรือไม่ ซึ่งพยานโจทก์ทั้ง 4 ซึ่งเป็นตำรวจและประชาชนทั่วไปต่างก็ยืนยันว่าเป็นการกล่าวเปรียบเทียบ เปรียบเปรย จาบจ้วงล่วงเกินพระมหากษัตริย์และพระราชินี ซึ่งพยานทั้งหมดไม่รู้จักและไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลย อีกทั้งรัฐธรรมนูญระบุว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะ ล่วงละเมิดมิได้ ดังนั้นประชาชนจะใช้เสรีภาพไปล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์และพระราชินีไม่ได้ ทั้งยังมีหน้าที่ต้องรักษาสถาบันไว้คู่ประเทศ การมีผู้ใดกล่าวจาบจ้วงล่วงเกินเป็นสิ่งไม่พึงกระทำ การกล่าวปราศรัยในวันที่ 7 มิ.ย.51 มีการกล่าวถึงปลอกคอสีเหลือง สีน้ำเงิน และน้ำดื่มจิตรลดา ซึ่งแม้มิได้ระบุชื่อชัดแจ้ง แต่พฤติการณ์ที่กล่าวถ้อยคำเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นว่าต้องการสื่อว่าทั้ง สองพระองค์สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการกล่าวจาบจ้วงล่วงเกินพระมหากษัตริย์และพระราชินี ส่วนในการกล่าวปราศรัยวันที่ 13 มิ.ย.จำเลยปราศรัยถึง “มือที่มองไม่เห็น” เชื่อมโยงกับกระบวนการยุติธรรมที่ถูกบิดเบือน รวมทั้งระบุว่าประเทศไทยมีสภาพเหมือนก่อนปี 2475 จำเลยจบการศึกษาระดับปริญญาโท และเป็นสื่อมวลชน ย่อมต้องทราบดีว่าการปกครองก่อนปี 2475 เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คำปราศรัยดังกล่าวสื่อว่าปัจจุบันประเทศไทยยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธิขาด อีกทั้งจำเลยเป็นสื่อมวลชนย่อมต้องทราบว่าการเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะผู้ พิพากษาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ



นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงบุคคลที่บ้านสี่เสาเทเวศที่เกี่ยวพันกับการรัฐ ประหาร ซึ่งแม้ไม่ได้ระบุชื่อจริงแต่จำเลยเป็นสื่อมวลชนย่อมต้องรู้ข้อเท็จจริงว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อาศัยที่บ้านสี่เสาเทเวศ และพยานโจทก์ได้เบิกความว่า พล.อ.เปรม ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานองคมนตรี ดังนั้น คำว่า “มือที่มองไม่เห็น” จึงไม่ได้หมายถึง พล.อ.เปรมอย่างที่จำเลยกล่าวอ้าง และแม้เป็นการเปรียบเปรยแต่ก็ทำให้ผู้ได้ยินรู้ว่าหมายถึงใคร นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงราชวงศ์ของญี่ปุ่น รัสเซีย และฝรั่งเศส โดยจำเลยใช้คำว่า  “ชนชั้นปกครอง” ซึ่งสื่อความหมายถึงสถาบันกษัตริย์


ผู้พิพากษาระบุอีกว่า แม้จำเลยจะเบิกความว่าไม่เจตนาจาบจ้วงล่วงเกินพระมหากษัตริย์ เพราะประเทศไทยอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีพระมหากษัตริย์ และต้องการปกป้องสถาบัน ไม่ให้ใครดึงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่จากการพิจารณาจากเนื้อหาการปราศัยทั้งหมด มิใช่แค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง จะเห็นว่าจำเลยกล่าวซ้ำหลายครั้ง แสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำด้วยเจตนา ไม่ใช่พลั้งเผลอ จำเลยจึงกระทำผิดตามฟ้อง  


ภายหลังการพิจารณาคดี ดารณี ให้สัมภาษณ์จากห้องขังของศาลอาญาว่าจะไม่อุทธรณ์คดี เนื่องจากประสบการณ์จากหลายๆ คดีทั้งคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และคดียาเสพติดทั่วไปที่ได้เห็นจากในเรือนจำนั้น การต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใช้เวลายาวนานมาก หลายกรณีใช้เวลาเป็นสิบปี จึงตัดสินใจให้คดีสิ้นสุด เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ดารณีพยักหน้า


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ดารณีเพิ่งถูกย้ายกลับมายังทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (12 ธ.ค.) หลังจากถูกย้ายไปยังเรือนจำคลองไผ่จังหวัดนครราชสีมาในช่วงเกิดสถานการณ์น้ำ ท่วมเรือนจำ ซึ่งดารณีระบุว่า เรือนจำคลองไผ่ให้การดูแลผู้ต้องหาดีกว่าเรือนจำในกรุงเทพฯ ทั้งอาหารการกินและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง แม้อากาศจะหนาวมาก แต่ก็มีการประสานกับกาชาดสากลเพื่อจัดหาผ้าห่มให้อย่างเพียงพอ แต่ยังขาดแคลนเรื่องยารักษาโรค โดยดารณีไม่ได้รับยาแก้ปวดรักษาอาการขากรรไกรยึดติดตลอดสองสัปดาห์ 


จาก prachatai

ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล

ข้อมูลด้านคดีและความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้อง:


ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ถูกออกหมายจับเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 จากกรณีที่เธอปราศรัยบนเวทีเสียงประชาชนเมื่อวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2551 และในวันรุ่งขึ้น สนธิ ลิ้มทองกุล ได้นำบางส่วนของคำปราศรัยดังกล่าวไปขยายผลที่เวทีพันธมิตรฯ

ตำรวจบุกจับกุมเธอที่บ้านพัก ก่อนส่งตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางจนถึงปัจจุบัน ภายหลังการจับกุม สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ใช้ตำแหน่งอาจารย์ยื่นขอประกันตัวหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับอนุญาตทั้งในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาคดี

ดารณีปฏิเสธข้อกล่าวหาดูหมิ่นฯพระมหากษัตริย์และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะนี้อยู่ระหว่างต่อสู้คดี โดยมีประเวศ ประภานุกูล เป็นทนายความ ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนพยานโจทก์และจำเลย ในวันที่ 23-30 มิถุนายน 2552

อย่างไรก็ตาม ดารณียังถูกตั้งข้อกล่าวหาในอีก 2 คดี คือคดีบุกเอเอสทีวี-หมิ่นประมาทสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำของกลุ่ม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" และเจ้าของสื่อเครือผู้จัดการ-เอเอสทีวี และคดีหมิ่นประมาทพล.อ.สะพรั่ง กัลยาณมิตร

ปัจจุบันพี่ชายของดารณีซึ่งอยู่ที่ภูเก็ตต้องเดินทางมาเยี่ยมเธอที่เรือนจำในกรุงเทพฯทุกสัปดาห์ ส่วนดารณีที่ถูกคุมขังและประสบปัญหาด้านสุขภาพได้เปิดเผยว่า กำลังเตรียมสมัครเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเป็นโครงการที่เพิ่งมาเปิดในเรือนจำ


รายละเอียด

18-19 กรกฎาคม 2551
ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ขึ้นปราศรัยที่เวทีท้องสนามหลวง และสร้างความฮือฮาในหมู่ผู้ฟัง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การปราศรัยครั้งนี้ในเว็บบอร์ดหลายแห่ง อาทิ

-กระทู้ "สิ่งที่ดาปราศรัยที่สนามหลวง -- อันตรายเข้าขั้น, ตรงไปตรงมา แม้ไม่ name ชื่อ" โดยผู้ใช้นามแฝง "สหายสิกขา" ในเว็บบอร์ดของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
-กระทู้ "ผมสนับสนุนเจ้ดา ตอร์ปิโดครับ แม้มันจะสุ่มเสี่ยงบ้างก็ตาม แต่การแสดงออกบ้าง มันอาจเป็นผลดี" โดยผู้ใช้นามแฝง "ลูกชาวนาไทย" ในเว็บบอร์ดประชาไท
-บทความเรื่อง "คำปราศรัยดา ตอร์ปิโด : ชนวนปลุกกระแสคลั่งเจ้าครั้งใหม่" โดยผู้ใช้นามแฝง "ไท" ในเว็บไซต์ http://www.arayachon.org/
-กระทู้ "เจ๊ดา ขึ้นเวที ทำเอาแนวร่วมแตกกระเจิง" โดยผู้ใช้นามแฝง "spiceday" ใน เว็บบอร์ดเสรีไทย
-กระทู้ "คุณดา ตอร์ปิโด ต้องถูกดำเนินคดี..แต่.." โดยผู้ใช้นามแฝงว่า "ชัยเสถียร" ในโต๊ะราชดำเนิน เว็บไซต์พันทิป

20 กรกฎาคม 2551
สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่ม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" (พันธมิตรฯ) และเจ้าของสื่อเครือผู้จัดการ-เอเอสทีวี ซึ่งขึ้นปราศรัยที่เวทีสะพานมัฆวานรังสรรค์ ได้กล่าวถึงการปราศรัยของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ว่าดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ "อย่างเลวร้ายที่สุด"

เว็บไซต์ผู้จัดการ (ASTV-ผู้จัดการ) ซึ่งรายงานข่าวในวันเดียวกัน ระบุข้อความพาดหัวว่า " "สนธิ" สุดสะเทือนใจ "ดา ตอร์ปิโด" จอมด่าแห่งเวที นปก.ปราศรัยหมิ่นในหลวง-ราชินี คืนวันอาสาฬหะ อย่างเลวทรามต่ำช้า จี้ต่อมสำนึก ผบ.ตร.- "อำนวย นิ่มมะโน-อัศวิน ขวัญเมือง" เร่งทำคดีให้รวดเร็วเหมือนคดี "สมเกียรติ" เตรียมนำเทปเสียงแจ้งความ สน.ชนะสงคราม สัปดาห์หน้า"

โดยในเนื้อหาตอนหนึ่งได้ตีพิมพ์คำปราศรัยของสนธิ ที่ว่า "ผมอยากให้ตระกูล ชาญเชิงศิลปกุล ได้มีโอกาสได้รับฟังไว้ด้วย เพราะผมเองไม่เคยเห็นสิ่งเลวทรามต่ำช้าได้ขนาดนี้ คงไม่อยากเรียกว่าเหี้ย เพราะมันเลวยิ่งกว่า เลวขนาดสัตว์เลื้อยคลานเรียกแม่ได้ ต่ำช้าที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา เรื่องทำนองนี้ เกิดตั้งแต่ปี 47-49 มีการทำกันเป็นขบวนการ"

ต่อมา กองทัพบกได้มีหนังสือ "ด่วนที่สุด" ถึง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เรื่อง ขอให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ โดยในเนื้อหาระบุว่า ขอให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลตรวจสอบการปราศรัยของน.ส.ดารณี หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ขอให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และกองทัพบกจะติดตามผลของการดำเนินคดีในเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป

22 กรกฎาคม 2551
พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้อนุมัติหมายจับดารณี ชาญเชิงศิลปกุลจากศาลอาญากรุงเทพใต้ เลขที่ 2209/2551 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 เนื่องจากการปราศรัยบนเวทีที่สนามหลวงในวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2551 เข้าข่ายความผิด ม.112 ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

บ่ายวันเดียวกัน หลังจากที่ พ.ต.ท.สมิง พร้อมกำลังตำรวจจำนวนหนึ่งนำหมายศาลเข้าจับกุมตัวดารณี ภายในหอพักสตรีชุลีพร เลขที่ 16 พหลโยธิน 13 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผบช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมโน ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (ผบก.น.1) ได้ร่วมกันแถลงข่าวจับกุม

ภายหลังการถูกจับกุม ดารณี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากตำรวจ โดยมีการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากในกรณีของผู้ต้องหารายอื่นๆ จะต้องถูกออกหมายเรียกก่อน แต่ในคดีที่ตนตกเป็นผู้ต้องหากลับออกหมายจับในทันที โดยไม่มีการออกหมายเรียกก่อน อยู่ดีๆ ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติ และได้เปิดเผยว่า ตนเองตกเป็นเหยื่อของการเมือง ทุกอย่างที่ได้พูดออกไปนั้นมีหลักฐานและทราบว่าควรจะพูดอะไรเพราะมีวุฒิภาวะพอ ตนจบปริญาโท จะพูดแต่เรื่องที่เป็นความจริง เรื่องไหนที่ไม่เป็นความจริงจะไม่กล่าวหาใคร เพราะความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย

ด้านพล.ต.ต.อำนวย นิ่มมโน ผบก.น.1 ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ในคดีนี้ไม่ต้องมีใครมากล่าวหา เป็นความผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ใช้เวลาเพียงแค่ 3 วันก็นำเสนอขออนุมัติออกหมายจากศาลได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีโทษจำคุก 3-15 ปี ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องถูกดำเนินคดีทันที ถ้าหากว่าผู้ใดก็ตามไปก้าวล่วง รัฐธรรมนูญทุกฉบับ มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันที่ทุกคนจะต้องเคารพเทิดทูน สักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ พร้อมทั้งแสดงความเห็นว่า เรื่องอื่นมีให้พูดมากมายก็พูดกันไป "...จะพูดว่า "อำนวย นิ่มมโน ปัญญานิ่มก็ได้" แต่อย่ามาพูดในเรื่องที่ก้าวล่วงพระมหากษัตริย์โดยเด็ดขาด..." พล.ต.ต.อำนวย กล่าว

23 กรกฎาคม 2552
ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการและอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางไปยังศาลอาญา เพื่อยื่นคำร้องขอประกันตัวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล โดยใช้หลักทรัพย์เป็นตำแหน่งข้าราชการ ระดับ 8 อัตราเงินเดือน 25,000 บาท ซึ่งมูลค่าประกัน 10 เท่า เป็นเงิน 250,000 บาท แต่ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ถ้อยคำหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นตามคำร้องขอออกหมายจับ และคำร้องขอฝากขังต่อศาลครั้งที่ 1 มีข้อความที่ร้ายแรง พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างยิ่ง ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้าน น่าเชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราวอาจหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง

ผศ.ดร.สุธาชัย ได้กล่าวถึงเหตุผลที่มาประกันตัวว่า ตนเห็นว่าเป็นการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งไม่ถูกต้องและไม่เห็นด้วยมาแต่ไหนแต่ไร ทั้งนี้ การจะบอกว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่นั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากันในคดี แต่ไม่เห็นด้วยในขั้นตอนที่ให้ดารณี ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง ต้องไปนอนอยู่ในคุก ซึ่งคดีดังกล่าวเป็นคดีป้ายสีที่ว่ากันด้วยความคิดเห็นที่ต่างกัน

หมายเหตุ ในวันเดียวกัน ศาลอาญาได้ออกหมายจับสนธิ ลิ้มทองกุล กรณีขยายความหมิ่นเบื้องสูงของดารณีบนเวทีพันธมิตรฯ ต่อมาในวันรุ่งขึ้น (24 กรกฎาคม 2551) สนธิได้มารับทราบข้อกล่าวหากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และได้รับอนุญาตให้ประกันตัว โดยใช้ตำแหน่ง ส.ว. ของคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ค้ำประกัน

25 กรกฎาคม 2551
ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ยื่นอุทธรณ์คำร้องขอประกันตัวดารณี ชาญเชิงศิลปกุลอีกครั้ง หลังจากที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยยังคงใช้ตำแหน่งข้าราชการระดับ 8 เป็นหลักทรัพย์ เจ้าหน้าที่ศาลอาญาได้รับคำอุทธรณ์ไว้ โดยจะแจ้งคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้นายประกันทราบภายใน 7 วัน

1 สิงหาคม 2551
ศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งยกคำร้องการขอปล่อยตัวชั่วคราวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าความผิดมีอัตราโทษสูง เป็นความผิดร้ายแรง และกระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน หากปล่อยตัวไปเกรงว่า ผู้ต้องหาจะไปกระทำผิดซ้ำอีก

5 สิงหาคม 2551
เว็บไซต์สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันออกจดหมายเปิดผนึก "ความอยุติธรรมต่อคนคนหนึ่ง คือ ความอยุติธรรมต่อคนทั้งสังคม" พร้อมด้วยรายชื่อประชาชน 139 คน เรียกร้องต่อหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องและต่อสังคม

โดยเนื้อหาในจดหมายระบุว่า ขอให้มีการประกันตัวแก่ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล เช่นเดียวกับผู้ต้องหารายอื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปหลักมนุษยธรรม และหลักนิติธรรม คือสอดคล้องกับเกณฑ์กฎหมายของประเทศ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งฉบับพุทธศักราช 2540 และ 2550 รวมทั้งหลักเมตตาธรรมทางสากล ส่วนเหตุผลที่ว่า "หากปล่อยตัวไปเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปกระทำผิดซ้ำอีก" ทางศาลก็สามารถกำหนดเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่อาจเสริมกับเงื่อนไขอื่นๆในการประกันได้

จดหมายดังกล่าวยังแสดงความวิตกด้วยว่า เป็นที่ประจักษ์กันอยู่ทั้งภายในประเทศและในระดับระหว่างประเทศว่า ความขัดแย้งอย่างรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นจากหลายๆประเด็นปัญหาในสังคมไทยขณะนี้ มีแนวโน้มจะรุนแรงยิ่งขึ้น หากไม่มีความพยายามในการแก้หรือลดความขัดแย้งลง กระนั้น ก็ยังมีบุคคลบางกลุ่มพยายามขยายความขัดแย้งที่สั่งสมอยู่นี้ให้ลุกลามออกไป

25 กันยายน 2551
ศาลรับคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7) เป็นโจทก์ฟ้องดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปกระทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ทำให้เสียทรัพย์ พยายามบุกรุก และหมิ่นประมาทโดยการป่าวประกาศกระจายเสียง จากกรณีที่ดารณีนำมวลชนราว 100 คนไปชุมนุมหน้าบริษัทไทยเดย์ด็อทคอมฯ หรือเอเอสทีวี พร้อมกล่าวโจมตีนายสนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2551 ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเป็น คดีหมายเลขดำที่ อ.3634/2551

ทั้งนี้ คดีดังกล่าว ดารณีถูกแจ้งข้อหาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำสำนวนส่งให้อัยการพิจารณาคดี และอัยการมีความเห็นสมควรส่งฟ้องในข้อหาดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 310, 326, 328, 358, 362, 365, 80, 83, 84, 91

9 ตุลาคม 2551
ราว 1 สัปดาห์ ก่อนจะครบอำนาจฝากขังของพนักงานสอบสวน (84 วัน) ศาลได้รับคำฟ้องจากพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7) ซึ่งยื่นเป็นโจทก์ฟ้อง ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.3959/2551 ซึ่งพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงครามได้สอบสวนแล้ว เบื้องต้นจำเลยให้การปฏิเสธ
ในสำนวนคำฟ้องดังกล่าว อัยการได้ระบุถึงความผิดจากการปราศรัยที่เวทีเสียงประชาชน สนามหลวง ในวันที่ 7 มิถุนายน 2551, 13 มิถุนายน 2551, 18 กรกฎาคม 2551 และ 19 กรกฎาคม 2551

10 ตุลาคม 2551
ศาลนัดสอบคำให้การคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล โดยศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังจนเป็นที่เข้าใจแล้วสอบคำให้การว่า จะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ ปรากฏว่าจำเลยให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี ศาลจึงนัดแถลงเปิดคดีในวันที่ 1 ธันวาคม 2551

16 ตุลาคม 2551
ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล โดยใช้หลักทรัพย์เป็น เงินสดจำนวน 200,000 บาท ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยกคำร้อง ออกมาในวันเดียวกัน

17 พฤศจิกายน 2551
ศาลอาญานัดไต่สวนเพื่อตรวจพยานหลักฐาน สอบคำให้การจำเลย ในคดีที่ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล และกลุ่มผู้ชุมนุมอีกราว 100 คนได้ชุมนุมล้อมบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอมฯ เบื้องต้นจำเลยให้การปฏิเสธ จากนั้นอัยการโจทก์และทนายฝ่ายจำเลย ได้ร้องขอต่อศาลให้เลื่อนการไต่สวนพยานและสอบคำให้การจำเลยออกไปก่อน เนื่องจากยังเตรียมเอกสารหลักฐานไม่พร้อม ศาลจึงนัดพิจารณาใหม่ในวันที่ 15 ธันวาคม 2551


1 ธันวาคม 2551
- ศาลอาญา กรุงเทพฯ นัดตรวจสอบหลักฐาน สอบคำให้การจำเลยคดีหมิ่นฯ โดยศาลได้สั่งให้เลื่อนการนัดไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม 2551 เนื่องจากทางจำเลยเพิ่งได้แต่งตั้งทนายเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

- ประเวศ ประภานุกูล ทนายความของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว และศาลชั้นต้นยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

4 ธันวาคม 2551
ทนายของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยโต้แย้งว่า การสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวตาม ม.108/1 นั้น ต้องเข้าข่ายผู้ต้องหา/จำเลยจะหลบหนี, จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน, จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น, ผู้ร้องขอประกันไม่น่าเชื่อถือ, จะไปก่อความเสียหายต่อการสอบสวนหรือดำเนินคดี ซึ่งคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยจะไปยุ่งกับพยานหลักฐานเพราะพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ส่วนการหลบหนีนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานโดยไม่ปรากฏเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีนี้เป็นเรื่องร้ายแรงนั้นเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวน และขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 39 วรรค 2 และ 3 เพราะคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่แน่ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องถือว่าจำเลยบริสุทธิ์

เอกสารคำร้องขอปล่อยชั่วคราวยังระบุอีกว่า การไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้คดีของจำเลย การรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ ทำได้ยากลำบาก อาจทำให้เสียความยุติธรรมได้ และเมื่อเปรียบเทียบกับโทษคดีข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต ศาลก็ยังเคยปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้ว หรือแม้แต่คดีของบุคคลมีชื่อเสียง อย่างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ศาลก็เคยให้ปล่อยชั่วคราว โดยสั่งอนุญาตตั้งแต่ยังอยู่ในห้องพิจารณาคดี นอกจากนี้ในชั้นฝากขังพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราว ขณะที่ในชั้นพิจารณาคดีของศาลที่กำลังดำเนินอยู่นี้ พนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้คัดค้านการขอปล่อยชั่วคราว จึงร้องขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี

หมายเหตุ ต่อมาราวกลางเดือนธันวาคม ศาลอุทธรณ์ได้ยืนยันเหตุผลเดิมของศาลชั้นต้น กล่าวคือ ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และยกคำร้อง

15 ธันวาคม 2551
ศาลนัดสืบพยานในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล โดยนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 23-25 มิถุนายน 2552 และนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 26-30 มิถุนายน 2552

ส่วนคดีเกี่ยวกับการนำมวลชนจำนวนหนึ่งไปปิดล้อมบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอมฯ นั้น ศาลได้นัดหมายเพื่อสืบพยานโจทก์ในวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2552 และสืบพยานจำเลยในวันที่ กรกฎาคม 2552

26 มกราคม 2552
ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำที่ อ.4767/2551 ซึ่งพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้องดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณากระจายเสียง เนื่องจากจำเลยได้ปราศรัยบนเวทีหน้ากระทรวงศึกษาธิการโจมตีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2550 ทำให้พล.อ.สะพรั่ง กัลยาณมิตร และคมช. ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง ถือเป็นความผิดตามมาตรา 326, 328 ของประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 3, 4 ของ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11) ในเบื้องต้นจำเลยให้การปฏิเสธ

อย่างไรก็ตาม ศาลได้สั่งเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐาน สอบคำให้การจำเลย ไปเป็นวันที่ 16 มีนาคม 2552 เนื่องจากทนายจำเลยแถลงว่าเพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากจำเลยให้เป็นทนายความ ประกอบกับจำเลยทำสำเนาคำฟ้องหาย จึงขอเลื่อนการพิจารณาไปเป็นวันดังกล่าว

18 มิถุนายน 2552
เวบไซต์ประชาไท รายงานว่า ในวันที่ 23 มิ.ย. 52 คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งดารณี ชาญเชิงศิลปกุล เป็นจำเลย จะขึ้นสู่การพิจาณาของศาลเป็นครั้งแรก และจะมีการสืบพยานโจทก์และจำเลยแบบต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ โดยหลังจากนั้นจะเริ่มสืบพยานในอีก 2 คดี ได้แก่ คดีการนำมวลชนไปล้อมสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ซึ่งมีดารณีเป็นจำเลยเช่นกัน

พร้อมกันนั้น ประชาไทได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ประเวศ ประภานุกูล ทนายความของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ซึ่งประชาไทได้สอบถามความคิดเห็นของทนายผู้นี้ เกี่ยวกับคดีของดารณี และมุมมองต่อกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

อ่านบทสัมภาษณ์ ประเวศ ประภานุกูล คลิ้กที่นี่

22 มิถุนายน 2552เวบไซต์ประชาไท รายงานว่า ในวันที่ 23-25 มิ.ย. 52 จะมีการนัดสืบพยานโจทก์ในคดีของ ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ “ดา ตอร์ปิโด” ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่วนในวันที่ 26 และ 29 มิ.ย. จะเป็นการสืบพยานจำเลย

ทั้ง นี้ ประชาไทระบุว่า การสืบพยานดังกล่าวเป็นการสืบต่อเนื่องก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาในลำดับถัดไป และยังเป็นการพิจารณาคดีเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ดารณีถูกจับกุมและคุมขังเมื่อวันที่ 22 ก.ค.51 ซึ่งที่ผ่านมา แม้ทนายความจะได้พยายามยื่นขอประกันตัวหลายครั้ง แต่ศาลก็พิจารณายกคำร้อง

นอกจากนี้ ประชาไทยังระบุด้วยว่า ในเดือนก.ค.52นี้ ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย ในคดีล้อมบ้านพระอาทิตย์ หมิ่นประมาทสนธิ ลิ้มทองกุล และคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สะพรั่ง กัลยาณมิตร ซึ่งดารณีตกเป็นจำเลยเช่นกัน

23 มิถุนายน 2552
วันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ดารณี ชาญเชิงศิลปกุลเป็นจำเลย

ศาลอาญา โดยผู้พิพากษาพรหมาศ ภู่แสง ได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีดังกล่าวเป็นการลับ โดยคำสั่งดังกล่าวอาศัยอำนาจตามมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

24 มิถุนายน 2552ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ได้เผยแพร่คำแถลงถึง 'สื่อมวลชนและพี่น้องผู้รักความเป็นธรรม' โดยในคำแถลงดังกล่าว ดารณีได้ระบุว่า ตนตกเป็นจำเลยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาตั้งแต่ 22 ก.ค. 51 และถูกขังมาเกือบ 1 ปี โดยไม่เคยได้รับการประกันตัวจนถึงทุกวันนี้ ทั้งที่ผู้ต้องคดีในข้อหาเดียวกันหลายคนได้รับการประกันตัว

นอกจากนี้ ในคำแถลงดังกล่าว ดารณีได้ตั้งคำถามต่อการพิจารณาคดี ซึ่งศาลยังมีคำสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ ห้ามมิให้สื่อมวลชนและประชาชนเข้ารับฟัง ว่า เหตุใดในคดีอื่นๆ "ในข้อหาเดียวกันประเภทเดียวกัน" หมิ่นพระบรมเดชานุภาพกรณีอื่นๆ จึงไม่มีการใช้กฎเกณฑ์เช่นนี้ ซึ่งตนเห็นว่า การพิจารณาคดีโดยลับ เป็นการปิดบังข้อเท็จจริงมิให้ประชาชนได้รับรู้ และเป็นการทำลายหลักการยุติธรรมของกฎหมายโดยสิ้นเชิง ตนจึงไม่อาจยอมรับการพิจารณาคดีโดยลับนี้ได้ และขอประกาศว่า ไม่ว่าผลจะเป็นประการใดจะไม่ขอยอมรับ ไม่เชื่อถือ ไม่ให้ความเคารพ และจะต่อสู้ให้ถึงที่สุด

ในตอนท้ายคำแถลงดังกล่าว ดารณีได้ระบุว่า ในวันเดียวกันนี้เมื่อ 77 ปีก่อน มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาสู่ระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งได้กล่าวสรรเสริญและแสดงความเชื่อมั่นต่อเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าว

"แม้ว่าในวันนี้ข้าพเจ้าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ก็เชื่อมั่นว่า
เจตนารมณ์ของคณะราษฎร์ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จะต้องได้รับชัยชนะในที่สุด"

25 มิถุนายน 2552
ที่ห้องพิจารณาคดี 904 ศาลอาญา ทนายความของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ได้ยื่นคำร้องต่อศาล ให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวตามมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

โดยระบุว่า การที่ศาลอาญามีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 52 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกให้พิจารณาเป็นการลับ โดยคำสั่งดังกล่าวอาศัยอำนาจตามมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นั้น ฝ่ายจำเลยมีความเห็นว่า การที่ศาลสั่งพิจารณาคดีลับ ห้ามมิให้ประชาชนทั่วไปเข้าฟังการพิจารณา เป็นการใช้บทบัญญัติกฎหมาย ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตราที่ 40 (2) ที่ระบุสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริง และการตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้งและพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษาหรือคำสั่ง และรัฐธรรมนูญมาตรา 29 ที่บัญญัติว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

ฝ่ายจำเลยเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 117 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ศาลอาศัยอำนาจสั่งให้การพิจารณาคดีลับนั้นขัดและแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีการวินิจฉัยเรื่องนี้ จึงขอให้ศาลส่งความเห็นของจำเลยไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 211 โดยขอให้ศาลอาญารอการพิพากษาคดีนี้ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ต่อมาในวันเดียวกัน ศาลได้พิจารณายกคำร้องดังกล่าวของทนายจำเลย โดยระบุว่า การพิจารณาลับไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เนื่องจากจำเลยมีทนายแก้ต่าง และสามารถนำพยานหลักฐานมายังศาลได้อย่างครบถ้วน การพิจารณาคดีจึงดำเนินต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากไต่สวนพยานโจทก์แล้ว ทนายของดารณี ได้แถลงต่อศาลขอยกเลิกการไต่สวนพยานจำเลยตามกำหนดเดิมคือวันที่ 26 และ 30 มิ.ย. โดยขอนัดไต่สวนในวันที่ 28 ก.ค. และ 5 ส.ค. 52 ซึ่งศาลอนุญาต

26 มิถุนายน 2552เวบไซต์ประชาไท รายงานว่า องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ได้ส่งแถลงการณ์ถึงผู้สื่อข่าว ระบุว่า รัฐบาลไทยต้องอนุญาตให้มีการพิจารณาที่เปิดเผยต่อสาธารณะแก่ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ซึ่งถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ โดยทันที พร้อมทั้งระบุว่า แม้สนธิสัญญาสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองระหว่างประเทศ (ICCPR) และรัฐธรรมนูญ จะอนุญาตให้กีดกันสาธารณะออกจากการพิจารณาคดีได้ แต่ก็ต้องเป็นไปอย่างจำกัดอย่างยิ่ง และจะต้องเป็นเพียงมาตรการสำคัญเพียงอย่างเดียวที่เหลืออยู่ หลังจากไม่มีมาตรการอื่นใดที่ใช้ได้แล้ว

"ภายใต้หลักกฎหมายสากล การพิจารณาคดีที่เปิดเผยต่อสาธารณะเป็นหลักสำคัญในการปกป้องสิทธิของปัจเจกบุคคลจากการพิจารณาคดีและกระบวนการเกี่ยวกับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม...เมื่อศาลปิดประตูห้องพิจารณา นั่นคือสัญญาณเสี่ยงต่อความอยุติธรรม"

"รัฐบาลไทยจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ลำบากในการอธิบายว่าทำไมการพิจารณาคดีบุคคลคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าแสดงความเห็นดูหมิ่น จึงต้องประนีประนอมกับความมั่นคงของประเทศไทย"
แซม ซาริฟี ผู้อำนวยการองค์การนิรโทษกรรมสากลภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกล่าวในแถลงการณ์




สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานข่าวนี้เช่นกัน โดยระบุว่า องค์การนิรโทษกรรมสากลเรียกร้องประเทศไทย ให้เปิดเผยกระบวนการพิจารณาคดีที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกฟ้องด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลังจากที่การพิจารณาคดีถูกปิดลับด้วยเหตุผลเรื่อง "ความมั่นคงของชาติ" รวมทั้งให้ข้อมูลว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ผู้พิพากษาพรหมาศ ภู่แสง ได้สั่งให้ผู้สื่อข่าวและผู้สนับสนุนดารณีออกจากห้องพิจารณาคดีของศาลอาญาด้วยเหตุผลว่าคดีนี้กระทบต่อความมั่นคงของชาติ

รอยเตอร์ได้สอบถามไปยังผู้พิพากษาพรหมาศ ภู่แสง ซึ่งได้รับคำตอบว่า ตนไม่มีความเห็นต่อแถลงการณ์ขององค์กรนิรโทษกรรมสากล แต่ยืนยันในการตัดสินให้การพิจารณาคดีปิดลับ

"สิ่งหนึ่งที่ผมสามารถพูดได้คือ ผมเป็นกลาง" ผู้พิพากษาพรหมาศกล่าวกับรอยเตอร์



ทั้งนี้ รอยเตอร์ ได้ระบุในรายงานเดียวกันด้วยว่า
"...ดารณี วัย 46 ปี เป็นที่รู้จักกันในนามของ ดา ตอร์ปิโด ถูกจับและดำเนินคดีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากได้กล่าวปราศรัยอย่างรุนแรงเกี่ยวกับการรัฐประหารที่โค่นอำนาจทักษิณ

ดารณีไม่มีหลักประกันเรื่องความยุติธรรมหากสาธารณะถูกกีดกันออกจากการมีส่วนร่วมในการพิจารณาคดี ทนายของดารณีทำหนังสืออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว

การพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่น่าตกตะลึงซึ่งจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 28 ก.ค. ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการปิดกั้นผู้ที่ไม่เชื่อฟังและเสรีภาพในการพูด

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เป็นกฎหมายที่เข้มงวดของไทย ประเทศซึ่งประชาชนจำนวนมากจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระชนมายุ 81 พรรษา ทรงเป็นสมมติเทพซึ่งอยู่เหนือการเมือง
ความผิดฐานนี้คือการจำคุกไม่เกิน 15 ปี…"

ต่อมาในวันเดียวกัน เวบไซต์ประชาไทได้มีรายงานว่า ในวันที่ 26 มิ.ย. 52 ธานี ทองภักดี รักษาการอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีองค์การนิรโทษสากล (Amnesty International) ออกแถลงข่าวเกี่ยวกับการพิจารณาคดีของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ว่า การพิจารณาคดีดังกล่าวเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมภายใต้หลักกฎหมาย เช่นเดียวกับคดีอื่นๆ โดยผู้ถูกดำเนินคดีได้รับสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม มีโอกาสในการต่อสู้คดีและได้รับความช่วยเหลือจากทนาย

ส่วนการที่ศาลสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับนั้น ถือเป็นดุลพินิจของศาลตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 สำหรับเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ (ข้อ 14 ของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง) และไม่แตกต่างจากแนวปฏิบัติของประเทศอื่นๆ

นอกจากนี้รักษาการอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังระบุด้วยว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียใจและไม่มีเหตุผลอย่างยิ่ง ที่องค์การนิรโทษสากลจะตั้งข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับความเที่ยงธรรมและความเป็นมืออาชีพของตุลาการไทย

28 มิถุนายน 2552เวบไซต์ประชาไท ได้เผยแพร่คำแถลงของดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 52 ฉบับเต็ม

ดูคำแถลงฉบับเต็มคลิ้กที่นี่

2 กรกฎาคม 2552
ที่ห้องพิจารณาคดี 908 ศาลอาญา ศาลนัดสืบพยานโจทก์ 5 ปาก ในคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือดา ตอร์ปิโด ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป กระทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ทำให้เสียทรัพย์ พยายามบุกรุกและหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการป่าวประกาศ กระจายเสียง จากเหตุการณ์ที่ดารณีได้นำประชาชนในกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อต่อต้านเผด็จ การ (นปก.) ในขณะนั้นราว 50-70 คน เดินทางไปชุมนุมล้อมบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด ถ.พระอาทิตย์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.50 โดยมีทั้งผู้ที่เดินเท้า ขับขี่มอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ และดารณีได้ใช้เครื่องกระจายเสียงบนรถสามล้อกล่าวโจมตีสนธิ

..................................................


ข้อมูลส่วนตัว:

ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือฉายา ‘ดา ตอร์ปิโด’ อายุ 46 ปี ดารณี จบปริญญาโทจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก เคยเป็นนักข่าวอาชีพที่หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย และนิวสกายไทยแลนด์ หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เธอเป็นดาวไฮด์ปาร์คที่โดดเด่นของสนามหลวง โดยได้ร่วมกับหลายกลุ่มกล่าวโจมตีการรัฐประหารดังกล่าว

ดารณีเป็นคนชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทย เธอระบุว่า สิ่งที่เธอปราศรัยบนเวทีสนามหลวงล้วนนำมาจากการบรรยายของนักวิชาการในวงสัมมนาทางการเมือง และหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีอยู่ทั้งสิ้น อาทิ หนังสือของสุพจน์ ด่านตระกูล

จาก LM watch


พิพากษาจำคุก 'ดา' 18 ปี เหตุปราศรัย 'หมิ่นฯ'

ที่มา: ประชาไท, มติชนออนไลน์, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ThaiENews, ไทยรัฐ, โพสต์ ทูเดย์, คมชัดลึก
(28 ส.ค. 52)

ตัดสินให้ผิดตามฟ้อง เรียงกระทงลงโทษกรรมละ 6 ปี รวม 18 ปี ทนายเตรียมสู้คดีชั้นอุทธรณ์ ประชาชน 30 แห่ฟัง สื่อเสนอข่าว 'พิพากษา' พร้อมเพรียง 'ผู้จัดการ' ลงคำตัดสินละเอียดกว่าใคร 'รอยเตอร์' ชี้ ถือเป็นการใช้ก.กำหราบฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและเสรีภาพในการแสดงออก ด้านผอ.เรือนจำเผยอาจให้ 'ดา' เป็นโฆษก


เรียงกระทงลงโทษทุกกรรม 3 กระทง 18 ปี
รายงานข่าวจากหลายสำนักระบุว่า เมื่อเวลา 9.00 น. วันนี้ (28 ส.ค. 52) ที่ห้องพิจารณาคดี 904 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ผู้พิพากษาและองค์คณะได้ขึ้นบัลลังก์อ่านคำตัดสินคดีที่ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ 'ดา ตอร์ปิโด' เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมาย 'หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ' เหตุจากการปราศรัยที่สนามหลวง 3 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 51, 13 มิ.ย. 51, 18 ก.ค. 51 และ 19 ก.ค. 51

ทั้งนี้ คำตัดสินระบุว่า จากพยานหลักฐานจำเลยได้กระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา และเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ซึ่งศาลได้พิพากษาให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรม โดยลงโทษจำคุก 3 กระทง กระทงละ 6 ปี รวมจำคุก 18 ปี

ประเวศ ประภานุกูล ทนายความของดารณี ได้เปิดเผยภายหลังศาลมีคำพิพากษาว่า จะเตรียมการยื่นอุทธรณ์เพื่อสู้คดีต่อไป ส่วนจะยื่นขออภัยโทษหรือไม่นั้น ต้องรอดูผลคดีในชั้นฎีกาก่อน


ทนายขอ 'รอการตัดสิน' - ศาลยกคำร้อง
สำหรับกรณีที่ศาลอาญาได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 52 ให้พิจารณาคดีนี้โดยลับ ห้ามมิให้ประชาชนทั่วไปเข้าฟัง โดยอ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 52 ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้อง โดยอ้างสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ,40 (2) และ 211 ขอให้ศาลอาญาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากฝ่ายจำเลยเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 117 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ศาลอาศัยอำนาจสั่งให้การพิจารณาคดีลับนั้น ขัดและแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีการวินิจฉัยเรื่องนี้ และขอให้ศาลอาญารอการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลอาญาได้พิจารณายกคำร้องดังกล่าวในวันเดียวกัน โดยระบุว่า การพิจารณาลับนั้นไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เนื่องจากจำเลยมีทนายแก้ต่าง และสามารถนำพยานหลักฐานมายังศาลได้อย่างครบถ้วน การพิจารณาคดีจึงดำเนินต่อไป[1]

ต่อมา ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 52 โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ลงประทับรับคำร้องดังกล่าวแล้ว จากนั้นทนายจำเลยได้นำสำเนาคำร้องมายื่นต่อศาลอาญาในวันที่ 28 ส.ค. 52 ก่อนที่จะมรการอานคำตัดสินคดี เพื่อร้องขอให้รอการตัดสินคดีนี้ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่องค์คณะผู้พิพากษาวินิจฉัยแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องเช่นเดิม ก่อนจะอ่านคำพิพากษาดังกล่าว

ทั้งนี้ ในวันตัดสินคดีทนายจำเลยได้แจกจ่ายสำเนาเอกสารคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนและผู้สื่อข่าวด้วย


ประชาชน 30 ร่วมเข้าฟัง
ผู้สื่อข่าวหลายสำนักรายงานว่า ได้มีประชาชนประมาณ 30 คน รวมทั้งผศ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังการตัดสินคดีนี้

รายงานข่าวในประชาไทระบุว่า ภายหลังที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว ดารณีได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวและประชาชนที่มาว่า "นี่คือยุคของการต่อสู้ทางความคิด" ก่อนจะเดินทางไปยังห้องพิจารณา 908 ต่อทันที เพื่อรับฟังการการสืบพยานจำเลย ในคดีที่พล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร ฟ้องหมิ่นประมาท ซึ่งศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 16 ก.ย. 52


สื่อไทยพร้อมใจเสนอข่าว - 'ผู้จัดการ' ลงคำตัดสินละเอียดกว่าใคร
การตัดสินคดีนี้ได้รับความสนใจและถูกนำเสนอเป็นข่าวโดยสื่อมวลชนในประเทศจำนวนมาก อาทิ ประชาไท, มติชนออนไลน์, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ThaiENews, ไทยรัฐ, โพสต์ ทูเดย์, คมชัดลึก , MCOT News ฯลฯ

โดยเวบไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ได้รายงานข่าวนี้ภายใต้หัวข้อ 'ขัง 18 ปี “นังดา” โอหัง! อาฆาตเบื้องสูง' ซึ่งในเนื้อข่าวได้นำเสนอคำตัดสินคดีอย่างละเอียดกว่าที่ปรากฏในสื่ออื่นๆ ดังนี้


"...ตามฟ้องโจทก์ สรุประหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.2551 เวลากลางคืน จำเลยขึ้นปราศรัยบนเวทีเสียงประชาชน ณ ท้องสนามหลวง ด้วยการกระจายเสียงทางเครื่องขยายเสียง ท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม โดยกล่าวคำพูดจาบจ้วง ล่วงเกิน เปรียบเทียบและเปรียบเปรย หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ องค์ปัจจุบัน ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทั้งสองพระองค์ทรงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุม ประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อจะล้มล้างรัฐบาล และการรัฐประหาร

ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เหตุเกิดที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์แล้ว มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม 3 นาย เบิกความว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2551 เวลา 21.00 น.และ 24.00 น.จำเลยขึ้นเวทีปราศรัยที่ สนามหลวง โดยพยานทั้งสามเป็นสายสืบฟังการปราศรัย และพบว่า จำเลยกล่าวข้อความดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ก็ได้บันทึกเสียงลงในเครื่องบันทึก เอ็มพี3 และได้บันทึกลงในแผ่นซีดี แล้วนำมาถอดเทป และจำเลยยังขึ้นปราศรัยกล่าวดูหมิ่นอีกในวันที่ 7 และ 13 มิ.ย.2551 ซึ่งได้บันทึกเสียงไว้ แล้วก็ได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีจำเลย โดยพยานโจทก์ เบิกความด้วยว่า แผ่นซีดีบันทึกเสียงที่เป็นหลักฐาน พบว่า เป็นเสียงคนๆ เดียวกัน จึงฟังได้ว่าตามวันเวลาดังกล่าวจำเลย ได้ขึ้นเวทีปราศรัย ขณะที่ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวบนเวที ก็พบว่า แม้จะไม่ระบุตัวบุคคลที่ถูกกล่าวถึงอย่างชัดแจ้ง แต่ถ้อยคำที่กล่าวถึง เช่น สัญลักษณ์สีเหลือง สีฟ้า ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นสีประจำวันประสูติของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทำให้เห็นว่าจำเลยกระทำการจาบจ้วงล่วงเกิน โดยทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทั้งสองพระองค์สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม พันธมิตรฯ ทำให้ทั้งสองพระองค์ต้องเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง

รวมทั้งการกล่าวถึงการรัฐประหาร โดยกล่าวถ้อยคำถึงมือที่มองไม่เห็นหลังสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งประชาชนรับรู้อยู่แล้วว่าสี่เสาเทเวศร์ คือ สถานที่ที่เป็นบ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี โดยการแต่งตั้งองคมนตรี นั้น ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นอำนาจพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้ง ถ้อยคำของจำเลยจึงทำให้ประชาชนเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สนับสนุน พล.อ.เปรม ในการยึดอำนาจจากประชาชน ซึ่งล้วนเป็นเท็จ

โดยแม้ว่าชั้นพิจารณาจำเลย จะเบิกความว่า จดจำถ้อยคำที่กล่าวปราศรัยไม่ได้ว่ามีประเด็นใดบ้าง และจดจำวัน-เวลาไม่ได้ แต่จำเลยก็ไม่ได้นำสืบโต้แย้งว่าไม่ได้กล่าวถ้อยคำที่โจทก์ยื่นฟ้อง ซึ่งแม้ว่าคำพูดของจำเลยไม่บังเกิดผลเพราะไม่มีใครเชื่อ แต่จำเลยก็ไม่อาจพ้นผิด พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่าจำเลยกล่าวคำพูดจาบจ้วง ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ บรมราชินีนาถ

พิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งกระทำผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกรรม ให้จำคุก 3 กระทงๆ 6 ปี รวมจำคุก 18 ปี…"


เตรียมย้ายแดน ผอ.เรือนจำเผยอาจให้เป็นโฆษก
ด้านรายงานข่าวในเวบไซต์มติชนออนไลน์ ระบุว่า อังคนึง เล็บนาค ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง ได้เปิดเผยในวันเดียวกันว่า ทางเรือนจำจะแยกดารณีออกจากแดนแรกรับไปคุมขังยังแดนนักโทษทั่วไป เพราะถือว่าเป็นนักโทษเด็ดขาด จากนั้นจะให้ทำงานตามโปรมแกรมที่จัดไว้ อาทิ เย็บปักถักร้อย ทำอาหาร งานห้องสมุด งานสาธารณะ รักษาความสะอาดเรือนจำ งานคอมพิวเตอร์ หรืองานโฆษกซึ่งมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์เมื่อทางทัณฑสถานจัดกิจกรรม แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าดารณีต้องการทำงานประเภทใด ต้องให้เจ้าตัวเป็นผู้ตัดสินใจ แต่ถ้าชอบการพูด อาจจะทำหน้าที่เป็นโฆษกประจำคุก อย่างไรก็ตามต้องได้รับการเสียงโหวตจากเพื่อนผู้ต้องขัง ว่าเหมาะสมหรือไม่

ผอ.ทัณฑสถานฯเปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับสภาพจิตใจของดารณีนั้น ขณะนี้ตนเห็นว่าสามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆ ได้แล้ว แต่ตนก็เชื่อว่าการฟังคำตัดสินวันนี้ (28 ส.ค.) อาจทำให้รู้สึกเครียดบ้าง เพราะต้องถูกจำคุกถึง 18 ปี โดยทางเรือนจำได้เตรียมจัดเจ้าหน้าที่และนักโทษช่วยดูแลในช่วงนี้แล้ว ซึ่งคาดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะดารณีเคยอยู่มาแล้วช่วงหนึ่ง น่าจะทำใจได้บ้างแล้ว

ผอ.ทัณฑสถานฯกล่าวด้วยว่า ดารณีเป็นนักโทษชั้นกลาง มีพฤติกรรมดี ไม่ก่อความวุ่นวาย และสามารถได้รับการพิจารณาเลื่อนเป็นนักโทษชั้นดี ชั้นดีมาก และชั้นเยี่ยม ได้เช่นเดียวกับนักโทษรายอื่นๆ ซึ่งการเลื่อนชั้นดังกล่าว คณะกรรมการจะพิจารณาจากความประพฤติขณะต้องโทษ ซึ่งความประพฤติของนักโทษแต่ละคนจะถูกบันทึกไว้เป็นคะแนนสะสม เมื่อถึงวันพิจารณาก็จะนำสมุดที่บันทึกนี้มาพิจารณาประกอบ โดยหากได้เลื่อนเป็นนักโทษชั้นดีก็จะได้ลดวันต้องโทษลง 3 วัน ชั้นดีมากได้ลด 4 วัน ส่วนชั้นเยี่ยมได้ลด 5 วัน


'รอยเตอร์' ชี้ ถือเป็นการใช้กม.กำหราบ
เวบไซต์ ThaiENews ได้เผยแพร่รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์เกี่ยวกับการตัดสินครั้งนี้ ซึ่งรอยเตอร์ได้ชี้ว่า ผลการตัดสินให้ดารณีติดคุก 18 ปีนั้น ถือเป็นการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกำหราบฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และเสรีภาพในการแสดงออก ในประเทศไทย พร้อมทั้งให้ข้อมูลด้วยว่า ได้มีการพิจารณาคดีนี้เป็นการลับโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง ซึ่งเรื่องนี้องค์การนิรโทษกรรมสากลได้เคยทำจดหมายเปิดผนึกคัดค้านมาแล้ว เนื่องจากเห็นว่าจะทำให้การพิจารณาคดีไม่เป็นธรรมต่อจำเลย

ในรายงานเดียวกันของรอยเตอร์ ยังได้อ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของดารณี ที่ระบุว่า เธอไม่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่จะเคลื่อนไหวให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด แต่สนับสนุน "ความยั่งยืนของสถาบันกษัตริย์แบบเดียวกับที่ดำรงอยู่ในสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น"


[1] ดูรายละเอียดใน 'กรณีดารณี ชาญเชิงศิลปกุล' 25 มิถุนายน 2552.

ที่มา LM watch

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น