News online

กลับไปยังหน้าหลักเพื่อสนทนา C-Box ดู TV และฟังวิทยุ ได้ที่

วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555

'สมศักดิ์ เจียม' ดันปัญญาชนไทยคิดยาว-ทำใหญ่ "ปฏิรูปสถาบัน"


 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อภิปรายในงาน “แขวนเสรีภาพ” เสนอการแก้ไขเฉพาะ ม. 112 อย่างเดียวไม่พอ เสนอตั้ง “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” เน้นรณรงค์ปฏิรูปสถาบันรอบด้าน ชี้ถ้าไม่ยกเลิกองค์ประกอบอย่างมาตรา 8 ไทยก็ไม่มีทางเป็นประชาธิปไตย

 18 มี.ค. 55 – ในงาน “แขวนเสรีภาพ” ซึ่งจัดโดยคณะนักเขียนแสงสำนึก ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว มีการจัดงานอภิปรายทางวิชาการในหัวข้อ Sovereign Community โดยสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์ และการรณรงค์เพื่อแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 มีเนื้อหาสาระดังนี้

สมศักดิ์ เปิดการอภิปรายด้วยการกล่าวถึงการจัดงานเผาพระเมรุที่ท้องสนามหลวงเนื่องจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ  ซึ่งมองว่าเป็นตัวดัชนีชิวัดความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยได้ จากการดูว่าประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์หรืออภิปรายเรื่องดังกล่าวในที่สาธารณะได้หรือไม่ ถ้าหากว่าไม่ได้ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เพราะหากใช้มาตรฐานเดียวกันกับนักการเมือง เช่น หากญาติของนักการเมืองเสียชีวิต แล้วมีการใช้เงินหลายพันล้านบาท เพื่อที่จะใช้จ่ายเป็นค่าจัดงานศพ แล้ว เหล่านักวิชาการหรือภาคส่วนอื่นๆ ก็จะคงจะทนไม่ได้ออกมาคัดค้านอย่างเป็นแน่แท้ หากแต่เมื่อเป็นเรื่องของสถาบันกษัตริย์ กลับไม่มีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์

เช่นเดียวกับการนำเสนอข่าวพระราชสำนักในเวลาสองทุ่ม ไม่มีการนำเสนอข่าวสารที่ใด ที่เป็นการนำเสนอด้านเดียวเช่นนี้ และยังไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อีก จึงแสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า ในขณะนี้ประเทศไม่ได้เป็นประชาธิปไตย

เมื่อโยงเข้ามากับเรื่องการรณรงค์ของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อแก้ไขมาตรา 112 (ครก. 112) ที่เสนอให้แก้กฎหมายเพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ได้ แต่ยังยกข้อยกเว้นไว้ถึงการด่าทอเสียหาย มองว่า ในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าแปลก และตั้งคำถามว่า ทำไมเมื่อเราคิดถึงเรื่องสถาบัน จึงต้องคิดถึงบรรทัดฐานอีกแบบหนึ่ง แต่หากคิดถึงเรื่องนักการเมือง เราถึงด่าได้

ประเมินการรณรงค์ของครก. 112 ว่า หลังจากที่รวบรวมชื่อได้แล้ว 10,000 ชื่อและยื่นต่อสภาสำเร็จ กระแสเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ น่าจะลดลง โดยถ้าหากประธานสภาไม่ตีความเรื่องนี้ให้เข้าหมวดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งจะทำให้การอภิปรายตกลงไป หรือไม่ก็อาจจะดองเรื่องนี้ไว้เป็นปีๆ จนลืม ประกอบกับเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง ก็อาจจะทำให้การกระแสเรื่องการแก้กฎหมายหมิ่นและเรื่องเกี่ยวกับสถาบันโดยรวมซาลงไปในที่สุด ทั้งนี้ สถานการณ์ในไทย ต่างจากประสบการณ์ในต่างประเทศ ที่ในการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย รัฐสภามักจะเป็นฝ่ายที่ต่อสู้กับอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ในประเทศไทยกลับไม่มีใครในสภาไม่ว่าจากฝ่ายใดที่จะกล้าแตะต้องเรื่องนี้ ไม่มีแม้แต่การริเริ่มที่จะช่วยนักโทษที่ยังต้องติดคุกอยู่จากคดีการเมือง

จึงมีข้อเสนอคือ ให้มุ่งเปลี่ยนการรณรงค์เพียงการแก้ไขม. 112 เป็นการมุ่งรณรงค์เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในระยะยาว โดยอาจเปลี่ยนองค์กรอย่าง “ครก. 112” เป็น “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ที่มุ่งเน้นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างรอบด้าน เนื่องจาก มาตรา 112 เป็นเรื่องที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสถานะของสถาบันกษัตริย์เท่านั้น จะเห็นจากเมื่อเปิดการโต้เถียงเกี่ยวกับมาตรา 112 คนที่ไม่เห็นด้วย ก็จะอ้างว่าสถาบันมีคุณงามความดี ทำประโยชน์กับประเทศ ฯลฯ ซึ่งเป็นการโต้เถียงกันคนละเรื่อง สรุปว่า มาตรา 112 เป็นเพียงตัวแสดงออกท้ายๆ ของสถานะของสถาบันกษัตริย์เท่านั้น จึงตั้งคำถามประเด็นนี้ต่อนักวิชาการหรือคนอื่นๆ ที่อยู่ในครก. 112 ไปด้วยพร้อมกัน

คำถามในตอนนี้ก็คือว่า ทำไมเราไม่ยกระดับการรณรงค์เรื่องนี้ไปสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างเต็มตัว เพราะถ้าหากว่ากลุ่มที่รณรงค์ต้องการจะเปิดพื้นที่การดีเบตจริงๆ หรือให้มีการยกเลิกม. 112 ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญหน้ากับเรื่องนี้ และการที่จะสามารถท้าทายให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอภิปรายเรื่องนี้ และพิสูจน์เช่นนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องมาแตะเรื่องที่ใหญ่กว่า คือตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ เราจำเป็นจึงต้องมาคิดเรื่องนี้ในระยะยาว

“ตราบใดที่ประเทศไทยยังมีการอ้างชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และอ้างว่าสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลางของชีวิตทางสังคมการเมืองทุกอย่าง อันนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าคุณจะเลือกตั้งชนะหรือว่าอะไร ตราบใดที่ชีวิตประจำวัน 24 ชั่วโมงของเราจะต้องอ้างอิงศูนย์กลางเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา อันนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยหรอก...

“ในประเทศแบบนี้ ไม่มีแม้แต่ประชาชน มันมีแต่ฝุ่นใต้ตีน ประชาชนจริงๆ คือคนที่มีสิทธิ คนที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ต่อเรื่องสาธารณะ”

ในบริบทสังคมไทย การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก็คือการต่อสู้เพื่อยุติสถานะสถาบันกษัตริย์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถ้าไม่แก้เรื่องสถานะของสถาบันกษัตริย์ ตัวกฎหมายมาตรา 112 ก็ไม่มีทางเปลี่ยน เพราะอย่างที่อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์เคยเสนอไว้ว่า หากกฎหมายเปลี่ยนแต่อุดมการณ์ในสังคมยังไม่เปลี่ยน ก็คงจะไม่เปลี่ยนอะไรเพราะศาลก็คงตัดสินแบบเดิม อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าก็เห็นด้วย แต่มันสลับเวลากัน เพราะถ้าหากต้องการแก้กฎหมาย ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนอุดมการณ์ก่อน เพราะเมื่อเราพูดถึงเรื่องอัลตร้า รอยัลลิสม์ ก็จะพบว่า มันมีองค์ประกอบของมันอยู่ เช่น ข่าวสองทุ่ม ก็แก้ไม่ได้ถ้ายังคงมีข่าวสองทุ่มอยู่

ถ้าเราจะรณรงค์เรื่องนี้ในระยะยาว ก็ต้องเข้าใจและชัดเจนว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ ว่าอุดมคติที่เราอยากเห็นคืออะไร มองว่าเรื่องม.112 เป็นเรื่องที่เราโฟกัสผิด ที่บอกว่ารณรงค์เรื่องนี้ เพราะสถาบันต้องปรับตัวกับประชาธิปไตย ก็พอฟังขึ้นได้ แต่ในระยะยาวยังไม่พอ โดยส่วนตัวมีข้อเรียกร้องต่อปัญญาชน เพราะสภาหรือนักการเมืองก็คงไม่ทำ ว่าไม่มีปัญหาอะไรที่สำคัญมากกว่านี้อีกแล้ว ในแง่ว่าสังคมไทยจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็น ส่วนเรื่องข้อเสนอของนิติราษฎร์อื่นๆ ไม่ว่าจะเรื่องแก้รัฐประหารและปฏิรูปศาล มองว่าเป็นการจัดการที่ “ผล” มากกว่า เพราะคนที่ทำรัฐประหารเอง เขาทำเพื่อรักษาสถานะสถาบันกษัตริย์จากการท้าทายของอำนาจแบบสมัยใหม่ แต่เราจำเป็นต้องแก้ที่ตัวสาเหตุ เพราะคณะรัฐประการหากเขาจะทำอีกจริงๆ เดี๋ยวก็ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งและร่างมาตราใหม่ขึ้นมาได้

ประเด็นที่สำคัญคือ เราต้องยุติของสถานะของสถาบันกษัตริย์ ที่มักถูกเอาไปอ้างกัน เพราะในประเทศอื่นๆ ไม่ว่าในประเทศญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ หรือเบลเยี่ยม ก็ไม่อ้างกันแล้ว แต่ที่ไทยยังอ้างอยู่ ก็เป็นเพราะอุดมการณ์ทางกษัตริย์นิยม และองค์ประกอบอื่นๆ ที่ประกอบกันขึ้นมา จะเห็นจากเหตุผล 8 ข้อที่ตัวเองเคยเสนอ ก็ยังคงยืนยันเพราะด้วยสาเหตุแบบนี้

ต่อให้รณรงค์ให้ตาย ตราบใดที่ยังมีข่าวสองทุ่ม มีโครงการหลวงอยู่ มันก็แก้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น บ้านเราฟังดูมันโชคร้าย เรามาถึงจุดที่ว่า ถ้าคุณต้องการแก้ 112 คุณต้องแก้ทั้งชุด และคุณต้องเสนอทั้งชุด เป็นไปไม่ได้ที่จะเสนอว่าเราต้องแก้ 112 ก่อนแล้วเราค่อยมาวิจารณ์มันไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้ว คนที่ไม่รับเขาก็คือไม่รับทั้งนั้น สำหรับคนที่รณรงค์ในเรื่องนี้อยู่ มันอาจจะดูน่าหดหู่ แต่มันก็ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว

“สิ่งที่ผมเรียกร้องต่อนักวิชาการทั้งหลายแหล่ คือ ยกนี้ มันจะซาลงไปในเวลาไม่นาน แต่สิ่งที่เราต้องคิดคำนึงถึงระยะยาว ก็คืออันนี้ ปัญญาชนกับการเปลี่ยนประเทศไทย จากประเทศที่ต้อง...กับทุกอย่างที่เราเห็น เช่น อย่างยาเสพติดเพื่อพ่อ ขับรถดีก็เพื่อพ่อ รัฐประหารเพื่อพ่อ ราชประสงค์เพื่อพ่อ คือ การที่ทุกอย่างต้องอ้างอย่างนี้หมด [ต้องเปลี่ยน] ให้เป็นประเทศที่ ต่อไปนี้ สถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ศูนย์กลางของชีวิตคนไทยอีกต่อไป  สำหรับปัญญาชน นักวิชาการ คนที่เป็นประชาธิปไตย อันนี้เป็นพันธะหรือภารกิจที่มันศักดิ์สิทธิ์”

ตราบใดที่เราปฏิบัติกับสถาบันกษัตริย์แบบเดียวกับที่เราปฏิบัติกับนักการเมืองไม่ได้ การวิจารณ์มันก็ไม่มีความหมาย เพราะก็จะทำให้ชีวิตทางการเมืองของสังคมมันไม่มีความหมาย เพราะถ้าหากการวิจารณ์ไม่ได้ใช้หลักการและบรรทัดฐานเดียวกัน ก็เหมือนกับเป็นการด่ากันในเรื่องส่วนตัว ดังนั้น สรุปได้ง่ายๆ ว่า ในบริบทของประเทศไทย ถ้าคุณไม่ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้ใช้บรรทัดฐานเดียวกับที่ใช้กับคนทั่วไปได้ มิเช่นนั้น คุณก็ไม่มีประชาธิปไตย

เมื่อมีการเสนอให้ทำอะไรกับมาตรา 112 มีสามประเด็นที่ต่อเนื่องกันที่เราต้องพิจารณาจากเชิงนามธรรมทั่วไป มาจนถึงลักษณะเฉพาะ เริ่มจากข้อแรกที่ว่า โดยอุดมคติ ประเทศประชาธิปไตยควรมีกฎหมายหมิ่นประมาทประมุขหรือไม่ ข้อสอง แล้วประเทศไทยควรมีหรือไม่ และข้อที่สาม ในปัจจุบันเราควรเสนออะไรเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทประมุข

ตอนแรกตนเข้าใจสิ่งที่นิติราษฎร์เสนอให้คงกฎหมายเรื่องหมิ่นประมาทประมุขไว้ เพราะเข้าใจว่าสังคมไทยอาจจะยังไม่พร้อม แต่จริงๆ แล้ว การที่นิติราษฎร์เสนอเช่นนี้ เพราะเข้าใจข้อหนึ่งและสองคนละแบบ คือ เสนอว่า ต่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยแล้ว กฎหมายคุ้มครองประมุขจากการหมิ่นประมาท ก็ยังคงต้องมีอยู่เพื่อคุ้มครองประมุขซึ่งมีสถานะพิเศษ ทั้งนี้ ตนเห็นว่า จริงๆ แล้ว ในหลักการประชาธิปไตย กฎหมายนี้ไม่ควรมีอยู่ คือให้คุ้มครองด้านอื่นได้ แต่ไม่ควรห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ และต้องถามว่ามีความจำเป็นหรือ เพราะกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาก็มีอยู่แล้ว

อย่างในยุโรป ที่ยังมีกฎหมายห้ามหมิ่นประมาทประมุขอยู่ ก็เพราะมรดกทางการต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน อย่างในอังกฤษ ก็ไม่มีกฎหมายหมิ่นฯ แล้ว แต่มีกฎหมาย seditious libel คือ การห้ามหมิ่นองค์รัฏฐาธิปัตย์ แทน ซึ่งรวมไปถึงการห้ามหมิ่นพระราชินี สมเด็จพระสังฆราช รัฐมนตรี ฯลฯ ด้วย แต่กฎหมายนี้ก็ถูกยกเลิกไปแล้วเมื่อปี 2009 และก่อนหน้านี้ก็ไม่มีการนำกฎหมายนี้มาใช้แล้วเป็นสิบปี และอย่างในสหรัฐเอง ก็ไม่มีกฎหมายหมิ่นประมาทประมุขแล้ว

ไทยเอง ก็น่าจะเอาแบบอย่างของประเทศที่ไม่มีกฎหมายนั้นใช้แล้ว โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ไทยน่าจะศึกษาและมีความคล้ายคลึงกับไทยมากที่สุด โดยในบรรดารัฐธรรมนูญที่กษัตริย์เป็นประมุขทั้งหมด ญี่ปุ่นระบุไว้ชัดที่สุดว่ากษัตริย์ต้องมาจากการเสนอและเห็นชอบโดยรัฐมนตรีเท่านั้น และไม่สามารถกระทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ การมีจักรพรรดิของญี่ปุ่นถูกยกเลิกไปโดยสหรัฐอเมริกา หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งได้ยกเลิกการใช้กฎหมายหมิ่นไปด้วยเช่นเดียวกัน คงไว้ซึ่งเพียงกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา

ถ้าเราจะต้องสู้ทางอุดมการณ์เพื่อเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปเรื่องสถาบันกษัตริย์ มองว่าต้องทำแบบญี่ปุ่น คือต้องเสนอให้ยกเลิกทั้งหมด ทั้งมาตราแปดและมาตรา 112 เรื่องที่เสนอง่ายๆ ก็คือว่าอะไรที่ดีพอสำหรับคนธรรมดา ก็ต้องดีพอสำหรับเจ้าด้วย และพูดในแง่ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ปัญญาชนต้องหาทางที่จะยืนยันเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้มันไม่ง่าย ต้องสู้กันต่อไปในระยะยาว

“ผมรู้แต่ว่า ถ้าทำไม่สำเร็จ ก็ไม่เป็นประชาธิปไตย กี่ชาติๆ ผมตายไปเกิดใหม่ พวกคุณตายไปเกิดใหม่ ก็ยังเป็นอย่างนี้ ลูกหลานเหลนโหลนของคุณก็จะกลายเป็นฝุ่นละอองใต้ตีนไปอย่างนี้ คือมันไม่มีทางอื่น”

ถ้าเช่นนั้น ในปัจจุบันเราจะเสนอได้แค่ไหน นักวิชาการต้องถามตัวเองว่าอะไรคืออุดมคติของไทยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และถ้าสามารถเสนอได้ ก็เสนอไป ตั้งธงเอาไว้ อย่าง 8 ข้อของตน และจริงๆ แล้ว เราสามารถเสนอให้เลิกเด็ดขาดได้ การที่อ้างว่าคนไทยส่วนใหญ่อ้างว่ายังรักสถาบัน เราจำเป็นต้องเคารพสิทธิของเขา จึงไม่สามารถยกเลิกกฎหมายได้อย่างเด็ดขาด ตรงนี้ เราเข้าใจเรื่องสิทธิต่างกัน เนื่องจากการที่คนเชียร์เจ้า เขาไม่ได้กำลังใช้สิทธิของตนเอง ตนเองมองเรื่องสิทธิ ตามสิ่งที่นักคิดฝรั่งเคยให้นิยามว่า “สิทธิคือการมีอำนาจที่จะทำอย่างอื่นได้” (Rights is the power to do otherwise) แต่สิ่งนี้ไม่มีในประเทศไทย แม้แต่คนอย่างหมอตุลย์ (สิทธิสมวงศ์) เราก็ไม่สามารถท้าทายได้ เพราะหมอตุลย์เองก็ไม่สามารถวิจารณ์เจ้าได้เช่นเดียวกัน เพราะการที่คนรักเจ้า ไม่ได้รักจากการสั่งสอนอย่างมีเหตุผล แต่กลับถูกกล่อมเกลาอยู่ตลอดเวลา เพราะลึกๆ มันคือเป็นเรื่องการใช้อำนาจโปรแกรมบังคับคนขึ้น ไม่เกี่ยวกับว่าการเคารพวัฒนธรรมและเรื่องสิทธิ

“เราพูดกันว่าเรื่องนี้เป็นความเชื่อโดยสมัครใจ เหมือนกับคุณเชื่อเรื่องการแต่งตัวหรือดารา ก็เป็นความเชื่อเรื่องวัฒนธรรม แต่เรื่องการจงรักภักดีต่อเจ้านี้ไม่ใช่ ลึกๆ แล้วมันเป็นเรื่องการใช้อำนาจบังคับโปรแกรมคนขึ้นมา”

ถ้าเสนอได้แล้วไม่ติดคุก ต้องเสนอ และต้องทำงานความคิดต่อสู้กันไป ก็ต้องมาดูกันว่าเราต้องการอะไร ว่าเราต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศที่มันขึ้นต่อสถาบัน ให้เป็นประเทศที่ปกติธรรมดาของศตวรรษที่ 21 ที่มองคนทุกคนเท่ากันหมด ดังนั้น ถ้าไม่เสนอให้ยกเลิกองค์ประกอบเหล่านี้ ประเทศไทยก็ไม่มีทางเป็นประชาธิปไตย

ต่อคำถามเรื่องแผนสำรองในการรณรงค์เพื่อแก้ไขม. 112 หรือมาตรา 8 ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ว่าถ้าหากทำไม่สำเร็จ อาจจะให้มีการร่างกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อกลั่นกรองการใช้กฎหมายและเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาคดีเพื่อลดการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ สมศักดิ์มองว่า เรื่องสถาบันกษัตริย์ หากพูดตรงๆ แล้วก็ต้องตอบว่าคงจะไม่เปลี่ยนแปลงขึ้นภายในระยะเวลาเร็วๆ นี้แน่ แต่สำหรับคนที่หวังอนาคตประชาธิปไตย ต้องมีความอึด ให้มันรู้ไปว่าจะเป็นประเทศของฝุ่นใต้ตีนไปกาลปาวสาน หรือซักวันหนึ่ง ทุกอันจะเห็นภาวะนี้แล้วก็ทนไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลง

ข้อเสนอก็คือ ในการต่อสู้ทางอุดมการณ์ จะต้องเป็นบรรทัดฐานที่วางไว้ว่าต้องสู้แล้วสำเร็จ ต้องเสนอยันว่ายังไงก็ต้องเลิก เพราะมันใช้เวลาแน่นอน อย่างคราวนี้ เป็นครั่งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่สามารถอภิปรายเรื่องนี้ได้จริงจังเมื่อเทียบกับเมือเทียบกับช่วงทศวรรษ 2510- 2520 ซึ่งบีบให้คนที่พูดเรื่องสถาบันต้องหนีออกไปอยู่ป่าหรือถูกจับ แต่มองว่า เหตุการณ์ที่วรเจตน์ถูกทำร้ายเพราะมีคนเสนอเรื่องนี้ในสังคมน้อยเกินไป หากมีคนอภิปรายเรื่องนี้มากขึ้นและสม่ำเสมอ คนอย่าง วรเจตน์ ปิยบุตร (แสงกนกกุล) หรือตนเอง ก็จะเป็นเป้าน้อยลง จึงควรจะผลักดันข้อเสนอให้สุด และถ้าหากจะมาเสนอเรื่องแก้ไขกฎหมาย เอาเวลาไปเสนอ พรบ. นิรโทษกรรมไปช่วยคนอย่างสมยศ (พฤกษาเกษมสุข) สุรชัย (ด่านวัฒนานุสรณ์) ดา ตอปิโด หรือนักโทษคดีการเมืองคนอื่นๆ น่าจะดีกว่า เพราะอย่างน้อยก็มีความเป็นไปได้มากกว่า หากเราพูดเรื่องปฏิรูปเรื่องสถาบัน จึงจำเป็นต้องพูดเรื่องระยะยาวเข้าไว้

ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดชนชั้นกลางของไทยจึงยังต้องการรัฐที่มีสถานะของอำนาจสถาบันกษัตริย์แบบนี้ ไม่คัดง้างกับสถาบัน รวมถึงทักษิณด้วย แต่ตอบตรงๆ ก็เพราะว่า เขาอยากจะรักษาโครงสร้างแบบนี้ให้อยู่ เพราะน่าจะได้ประโยชน์ในอนาคต ถึงแม้ทักษิณเองก็มีคุณูปการทางประวัติศาสตร์ที่เปิดประเด็นวิจารณ์เปรม เพราะที่ผ่านมาสิ่งที่เปรมทำมาตลอดไม่เคยมีใครหยิบยกมาพูด แต่หลังจากนั้น ก็กลับไปจับมือกัน ในทางปัญหาใหญ่ ทำไมในสังคมไทย นักการเมืองไทยจึงเป็นเช่นนี้ เพราะอย่างประเทศอื่นรัฐสภาก็เป็นฝ่ายที่คัดง้างกับสถาบัน

สุดท้ายนี้ ฝากอย่างซีเรียส สังคมไทยต้องการองค์กรถาวรที่ทำงานเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อย่าหวังแต่นิติราษฎร์ หรือตนเอง ทั้งหมดนี้ มันเกี่ยวพันกับการพูดทางการเมืองในอนาคต เราจำเป็นจะต้องแก้ประเด็นนี้ให้ตก อาจจะเปลี่ยนจาก “ครก.112” มาเป็นองค์กรถาวร เช่น เครือข่ายนักวิขาการเพื่อการปฏิรูปสถาบัน ให้มีการจัดสัมมนาทางวิชาการทุกเดือน หรือทุกปี และให้มีการอภิปรายเรื่องมาตรา 8 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถ้าเราไม่เริ่มลงมือทำ ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันตนคิดว่ามันทำได้ และต่อจากนี้ไป ก็จะเน้นทำงานความคิด และรณรงค์เพื่อให้มีการปฏิรูปสถาบันอย่างรอบด้านและถาวร เพื่อไม่ให้ไทยติดหล่มอยู่เช่นนี้เป็นสิบปี

ที่มา prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น