News online

กลับไปยังหน้าหลักเพื่อสนทนา C-Box ดู TV และฟังวิทยุ ได้ที่

วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ฟองสบู่กฎหมายหมิ่นกษัตริย์ "จากฟันคอริบเรือนสู่จำคุกฟรี"

โดย อรนงค์

แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้จะมีผู้โดนฟ้องจากกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวนมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แน่นอนว่าสิ่งนี้สัมพันธ์กับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างแยกไม่ออก กฎหมายอาญามาตรา 112 หรือที่นิยมเรียกกันว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นกฎหมายที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (กำเนิดสมัย ร.5) แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ที่กษัตริย์ต้องถูกจำกัดอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายที่ว่านี้ก็ควรจะต้องมีลักษณะที่สอดคล้องกับระบอบการปกครองด้วย แต่เราจะเห็นได้ว่ามิได้เป็นเช่นนั้นเลย

ราวปี 2490 เหล่ากษัตริย์นิยมหรือรอยัลลิสต์และเหล่า “เลือดสีน้ำเงิน” ซึ่งคิดถึงคืนวันอันสุขสันต์เก่าก่อนจึงทำปฏิบัติการปฏิปักษ์ปฏิวัติเพื่อหวนคืนอำนาจ ดังนั้นแล้วจึงคาดหมายได้ไม่ยากว่า จะต้องทำการปรับแปรกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆให้แฝงฝังและรับใช้อุดมการณ์แบบราชาธิปไตย และแน่นอนว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ดำเนินไปภายใต้อุดมการณ์เช่นนี้ อันที่จริงแล้วโดยชื่อตัวมันเองที่ว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” นั้น ไม่มีระบุในกฎหมาย มีแต่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย สะท้อนให้เห็นลักษณะสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยังคงอยู่ (ต่อไปผู้เขียนจะเรียกว่ากฎหมายหมิ่นกษัตริย์ หรือ กฎหมายอาญามาตรา 112)

อีกทั้งแม้แต่การดำเนินการใช้กฎหมาย ผู้พิพากษาก็อยู่ภายใต้พระปรมาภิไธยโดยชื่อและจิตสำนึก ดังที่กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่าการตัดสินคดีกฎหมายแบบนี้ มิได้อ้างอิงเพียงโดยกฎหมายเพียงตัวมันเอง แต่ยังสัมพันธ์กับสังคมและสภาพแวดล้อมอย่างมากอีกด้วย
ต่อสถานการณ์ปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่าช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมานี้เป็นช่วงเวลาที่เป็น “จุดสุดยอด” ของกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ มันเข้าแทรกซึมแนบแน่นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเสียยิ่งกว่ากฎหมายจราจรอย่างการจอดรถผิดที่เสียอีก

อำนาจของมาตรานี้กว้างและมากเสียจนทำให้ใครหลายคนต้องพะวักพะวนว่า จะได้แจ็คพ็อตเลขท้ายสามตัว “112” เมื่อไรกัน


ในบทความนี้ ผู้เขียนอยากจะกล่าวถึงหลายๆ มิติของกฎหมายอาญามาตรา 112 เริ่มแรกจะกล่าวถึงผู้ที่เผชิญและได้รับผลกระทบกับกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งหลายคนในปัจจุบันยังถูกจำคุกอยู่ หลายคนก็ลี้ภัยไปต่างประเทศ บางคนต้องยอมรับสารภาพเพื่อได้รับการลดโทษ บางคนก็ต่อสู้คดี ดังนี้

ปี 2549 โอลิเวอร์ จูเฟอร์ ธนาพล อิ๋วสกุล (บรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน)

ปี 2550 โชติศักดิ์ อ่อนสูง และชุติมา เพ็ญภาค ในข้อหาไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ โจนาธาน เฮด นักข่าว BBC จักรภพ เพ็ญแข (ออกหมายจับ) บุญส่ง ชัยสิงห์กานนท์ (คดีถอนฟ้อง)

ปี 2551 บุญยืน ประเสริฐยิ่ง (ตัดสินจำาคุก 12 ปี แต่อภัยโทษหลังติดคุก 22 เดือน) รัชพิน ชัยเจริญ ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ชูชีพ ชีวะสุทธิ์

ปี 2552 แฮรี่ นิโคไลดส์ (ข้อหาหมิ่นองค์รัชทายาท ติดคุก อภัยโทษ และโดนเนรเทศ) ใจ อึ้งภากรณ์ คณะกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (เผยแพร่ซีดีเวทีเสวนาที่ร่วมอภิปรายโดยจักรภพ เพ็ญแข) ดารุณี ชาญเชิงศิลปกุล (จำคุก 18 ปี) สุวิชา ท่าค้อ (จำคุก 10 ปี และอภัยโทษหลังจากติดคุก 18 เดือน) สนธิ ลิ้มทองกุล จีรนุช เปรมชัยพร กิตติ แสนสุขโรจน์วงศ์ ทศพรฤทัย ประเสริฐสูง (ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว อยู่ในคุก) ก่อแก้ว พิกุลทอง พิษณุ พรมสรณ์ ภิเษก สนิทธางกูร ณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ (พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์) โจนาธาน เฮดแฮรี่ นิโคไลดส์ ดารุณี ชาญเชิงศิลปกุล ธีรนันต์ วิภูชนิน คฑา ปาจริยพงศ์ สมเจต อิทธิวรกุล หมอทัศพร รัตนวงศา เพชรวรรต วัฒนพงษ์สิริกุล Richard Lloyd Parry บรรณาธิการนิตยสารไทม์ประจำภาคพื้นเอเชีย

ปี 2553 ปรวย Salty Head ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล (จำคุก 13 ปี) สุริยัน กกเปือย (จำคุก 3 ปี) ปภัสชนัญญ์ ฉิ่งอินทร์ (จำคุก 3 ปี ประกันตัวสู้คดี) สุชาติ นาคบางไทร (จำคุก 6 ปี) วิภาส รักสกุลไทย (สู้คดี) อำพล ตั้งนพคุณ (ไม่ให้ประกันตัว อยู่ในคุก) ทอม ดันดี ธนพล บำรุงศรี วิเศษ พิชิตลำเค็ญ นาวาอากาศตรีชนินทร์ คล้ายคลึง

ปี 2554 ทักษิณ ชินวัตรและโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม (อยู่ในระหว่างการสืบสวน) สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (อยู่ในคุก ไม่ให้ประกันตัว) เอกชัย หงส์กังวาน (อยู่ในคุก ไม่ให้ประกันตัว) สมยศ พฤกษาเกษมสุข (ไม่ให้ประกัน อยู่ในคุก) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (อยู่ระหว่างคดี) ฯลฯ อีกหลายคน (ที่มา: จรรยา ยิ้มประเสริฐ, “รายงาน: นักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ,” ประชาไท, 9 พฤษภาคม 2554)

ความเป็นมาของกฎหมายหมิ่นกษัตริย์
กฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นกษัตริย์อาจสืบสาวไปไกลได้ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ในส่วนนี้จะอธิบายถึงพัฒนาการความเป็นมาของตัวบทกฎหมายนี้ ซึ่งจะทำให้พอเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและอุดมการณ์ของสังคมในเวลานั้นๆ ได้บ้าง ในส่วนนี้จะเน้นยกให้เห็นตัวบทของกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีข้อสังเกตว่า โทษจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับเส้นทางที่โลกควรจะก้าวย่างไปสู่ประชาธิปไตยยิ่งขึ้น
ในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2442 พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาท ด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118 มาตรา 4 มีข้อความว่า

“ผู้ใดหมิ่นประมาทพระผู้เปนเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑล ฤาสมเด็จพระอรรคมเหษี ฤาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ดี ฤาสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้าผู้ครองเมืองต่างประเทศ มหาประธานาธิบดีผู้ครองเมืองต่างประเทศ ซึ่งมีทางพระราชสัมพันธมิตรไมตรีอันสนิทด้วยกรุงสยามก็ดี โดยกล่าวเจรจาด้วยปาก ฤาเขียนด้วยลายลักษณอักษร ฤากระทำาการอย่างใดอย่างหนึ่งในที่เปิดเผย ท่ามกลางประชุมชนทั้งหลาย ด้วยกายวาจาอันมิบังควร ซึ่งเปนที่แลเห็นได้ชัดว่าเปนการหมิ่นประมาทแท้ ท่านว่าผู้นั้นกระทำผิด เมื่อพิจารณาเปนสัตย์ว่า ผู้นั้นกระทำผิดต่อข้อห้ามดังเช่นกล่าวมานี้แล้ว ก็ให้จำคุกไว้ไม่เกินกว่าสามปี ฤาให้ปรับเปนเงินไม่เกินกว่าหนึ่งพันห้าร้อยบาท ฤาทั้งจำคุกและปรับด้วย”

...จะเห็นได้ว่า ลักษณะความผิดจะเป็นเรื่องหมิ่นประมาทต่อกษัตริย์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ต่อมาในรัชกาลเดียวกัน พ.ศ.2451 ได้ยกเลิกพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาท ด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118 และตรา กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ขึ้นใหม่โดยในมาตรา 98 มีความว่า

“ผู้ใดทะนงองอาจ แสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหษีก็ดี มกุฎราชกุมารก็ดี ต่อสู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่าเจ็ดปี และให้ปรับไม่เกินกว่าห้าพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”

จะเห็นได้ว่านอกจากจะเพิ่มโทษสูงสุดเป็น 7 ปีแล้ว ลักษณะความผิดยังขยายในเรื่อง การทะนงองอาจ อาฆาตมาดร้ายอีกด้วย มิเพียงเท่านั้น ยังมีมาตรา 100 ซึ่งครอบคลุมถึงพระราชโอรส พระราชธิดาของกษัตริย์ด้วย มีความว่า

“ผู้ใดทะนงองอาจ แสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ว่ารัชกาลหนึ่งรัชกาลใด ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่าสามปี และให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 สถานะของกษัตริย์กลายเป็นเพียงประมุขของรัฐเท่านั้น ซึ่งต้องอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญและถูกจำกัดอำนาจ

ดังนั้นในปี พ.ศ.2477 จึงได้ทำการยกเลิกมาตรา 100 ของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 (ซึ่งได้ยกเลิกการคุ้มครองพระราชโอรส พระราชธิดา ของกษัตริย์) และทำการเพิ่มเติมมาตรา 104 ของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ซึ่งบัญญัติเรื่องการดูหมิ่น (ต่างกับหมิ่นประมาทตรงที่ ดูหมิ่นเป็นเพียงการกล่าวด่าทอ แต่หมิ่นประมาทกล่าวใส่ความไม่ว่าจะจริงหรือเท็จ) ต่อกษัตริย์ รัฐบาล ฯลฯ แต่มีข้อยกเว้นไว้ว่า วิจารณ์โดยสุจริตได้ ไม่มีความผิด อย่างไรก็ตาม มาตรา 104 (1) มิได้ยกเว้นความผิดในมาตรา 98 ข้างต้นใดๆ (หมิ่นประมาทต่อกษัตริย์)
ผู้ใดกระทำการให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรือด้วยอุบายอย่างใดๆ ดังต่อไปนี้ ให้เกิดความดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ หรือรัฐบาล หรือข้าราชการแผ่นดิน ในหมู่ประชาชนก็ดี...
...
4) ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่าเจ็ดปี และให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสตหนึ่ง

แต่ถ้าวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรือด้วยอุบายอย่างใดๆ ที่ได้กระทำไปภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือเป็นเพียงการติชมตามปกติวิสัย ในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด

อย่างไรก็ตาม แม้จะเปลี่ยนแปลงการปกครองให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญแล้ว แต่เหล่ารอยัลลิสต์กระทำทุกวิถีทางเพื่อต้องการอำนาจเดิมๆ หวนกลับมาอีกครั้ง ความเปลี่ยนแปลงต่อกฎหมายหมิ่นกษัตริย์จึงมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อได้ทำการบัญญัติกฎหมายใหม่ในปี พ.ศ. 2499 แน่นอนว่าได้ทำการยกเลิกข้อยกเว้นความผิดในการวิจารณ์โดยสุจริตได้ โดยกฎหมายใหม่คือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความว่าผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

ต่อมาหลังการสังหารโหดในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้ไม่นานนัก คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ในวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ได้เปลี่ยนแก้ไขให้โทษหนักขึ้น โดยมีเกณฑ์ขั้นต่ำอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป (เดิมไม่มีขั้นต่ำ) และเพิ่มเพดานโทษสูงถึง 15 ปี โดยมาตรา 112 นี้มีตัวบทเดิมแต่เปลี่ยนแค่การเพิ่มโทษ ซึ่งเป็นตัวบทที่ใช้กระทั่งปัจจุบัน โดยมีความว่าผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปีโดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่า ความรุนแรงของโทษเพิ่มสูงขึ้น

จากในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีโทษสูงสุด 3 หรือ 7 ปีเท่านั้น
แต่ในปัจจุบันอย่างที่ทราบกันโทษสูงสุด 15 ปี (แน่นอนว่าอาจโดนหลายกระทงได้แบบดาตอร์ปิโด โดน 3 กระทง x 6 ปี รวมเป็น 18 ปี) ( อากง หรือ อำพล ตั้งนพกุล อายุ 61 ปี โดน 4 กระทง X 5 ปี รวม 20 ปี ) ซึ่งน่าตั้งคำถามว่าเหตุใดยุคสมัยที่ใครๆ ก็เรียกว่าเป็นประชาธิปไตย โทษถึงได้ร้ายแรงเช่นนี้

สำหรับข้อสังเกตเรื่องลักษณะความผิด ในปี พ.ศ. 2477 มีการเพิ่มเรื่องการ “ดูหมิ่น” เข้าไป ส่งผลให้การตีความให้เป็นโทษความผิดได้ง่ายขึ้น เพราะเพียงด่าทอก็ผิดได้ (แต่มีข้อยกเว้นเรื่องการวิจารณ์โดยสุจริตใจเช่นเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลปกติ)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 คำว่า “ดูหมิ่น” ก็ถูกเพิ่มเข้าไปในตัวบทมาตรา 122 ซึ่งตัวบทมาตรานี้ ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ มีกรณี ที่โด่งดังอันหนึ่งในปี 2531 นั่นคือ กรณีนายวีระ มุสิกพงศ์ โดยวีระได้กล่าวปราศรัยซึ่งเป็นมูลเหตุให้ถูกฟ้องว่า “ผมถ้าเลือกเกิดเองได้ ผมจะไปเลือกเกิดทำไมเป็นลูกชาวนาจังหวัดสงขลา จะไปเลือกเกิดอย่างนั้นทำไม ถ้าเลือกเกิดได้ก็เลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวังนั่น ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระซะก็หมดเรื่อง ไม่จำเป็นต้องออกมายืนตากแดดพูดให้พี่น้องฟังเวลาอย่างนี้ เที่ยงๆ ก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทมไปแล้วตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมง ที่มายืนกลางแดดอยู่ทุกวันนี้ ก็มันเลือกเกิดไม่ได้”

การตัดสินของศาลได้อ้างมาตราหนึ่งที่น่าสนใจก็คือมาตรา 6 ของ รธน. พ.ศ.2521 (หรือมาตรา 8 ใน รธน.ปัจจุบัน) ซึ่งบัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ จะเห็นได้ว่า มาตรา 112 ไม่ใช่แค่เรื่องหมิ่นประมาทเท่านั้น แต่ยังอ้างอิงกับอุดมการณ์กษัตริย์นิยมอันอยู่บนฐานของมาตรา 8 ด้วย (ใน รธน.ปัจจุบัน) การเพิ่มโทษเมื่อไม่นานมานี้มีความพยายามของเหล่าผู้พิทักษ์ “ราชาธิปไตยใหม่” ที่ต้องการเพิ่มความรุนแรงของโทษ และขยายการป้องกันให้ครอบคลุมบุคคลรวมไปถึงพระราชโอรส พระราชธิดาของกษัตริย์ และรวมถึงองคมนตรีด้วย โดยราวเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งระบุให้มีการเพิ่มเติมหมวด 1/1 ความผิดต่อพระบรมราชวงศ์ องคมนตรี และผู้แทนพระองค์ ลงในมาตรา 112 โดยมีใจความว่า

“มาตรา 112/1 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระราชโอรส พระราชธิดา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับมาตรา 112/2 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ประธานองคมนตรี องคมนตรี หรือผู้แทนพระองค์ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับไม่เพียงเท่านั้น ยังได้เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฯ ซึ่งต้องการให้ในระหว่างที่ฟ้องคดีนั้น ศาลมีอำนาจสั่งห้ามไม่ให้โฆษณาหรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ (มาตรา 14/1)ต่อมาปี 2551 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส. กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอเพิ่มโทษเป็น 5 ถึง 25 ปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนถึงหนึ่งล้านบาท อีกทั้งเสนอให้กฎหมายครอบคลุมถึงพระบรมวงศานุวงศ์

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้ไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่กล่าวมาแล้ว เหล่าผู้พิทักษ์ “ราชาธิปไตยใหม่” ปรารถนาเหลือเกินที่อยากจะเพิ่มโทษให้รุนแรงขึ้น ก็อาจไม่แน่ว่าพวกนี้กำลังคิดนำกฎหมายโบราณอย่าง “พระไอยการอาชญาหลวง” ในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ที่ลงโทษ “ให้ฟันคอริบเรือน” เอามาใช้ก็เป็นได้!

“ผู้ใดทนงองอาจ์บยำบกลัว เจรจาหยาบช้าต่อพระเจ้าอยู่หัว ประมาทหมิ่นพระราชบัญญัติแลพระบันทูลพระโองการ ท่านว่าผู้นั้นเลมิดพระราชอาชญาพระเจ้าอยู่หัว ท่านให้ลงโทษ 8 สถานๆ หนึ่งคือ ให้ฟันคอริบเรือน ให้ตัดปากตัดหูตัดมือตัดตีนเสีย... (ม.7) ถ้าผู้ใดติเตียนนินทาว่ากล่าวพระเจ้าอยู่หัวต่างต่าง พิจารณาเปนสัจ ให้ลงโทษ 3 สถานๆ หนึ่งคือ ให้ฟันคอริบเรือน... (ม.72)”

ฟองสบู่คดีหมิ่นฯ
เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้จำนวนคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ จากข้อมูลสถิติ แสดงให้เห็นว่า ปกติจำนวนคดีเกิดขึ้นไม่มากนัก แต่จะขึ้นสูงในปี พ.ศ.2519 นั่นคือเหตุการณ์สังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 นั่นเอง หลังจากนั้นจำนวนก็ลดลงกระทั่งปี 2549 ก็เริ่มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ พบว่าจำนวนพุ่งขึ้นสูงเฉลี่ยราว 100 กว่าคดีต่อปี จากแหล่งข้อมูลอีกแหล่งหนึ่งพบว่า หลังปี 2548-2552 มีสถิติส่งฟ้องคดีต่อศาลสูงถึง 547 คดี เฉลี่ย 109 คดีต่อปี (ข้อมูลจากกลุ่มนิติราษฎร์, 27 มีนาคม 2554)

ตรงจุดนี้เราอาจวิเคราะห์ได้ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านกระดานข่าว (เว็บบอร์ด) หรือแม้กระทั่งเฟสบุ๊คได้ ท่ามกลางภาวะความรู้สึกที่แปลกแยกต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเริ่มเพิ่มขึ้นหลังการรัฐประหาร 19 กันยา หรือรัฐประหารเพื่อราชบัลลังก์ แต่ เหตุการณ์ที่เด่นชัดมากจริงๆ ที่ทำให้ “ตาสว่าง” นั่นคือ วันที่ราชินีไปงานศพนางสาวโบว์ ในสภาวะนี้เองการแสดงความเห็นในที่สาธารณะด้วยความรู้สึกคับแค้นจึงพรั่งพรูมหาศาล เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งคอยพิทักษ์ “ราชาธิปไตยใหม่” จึงคอยตามจับกุมคนที่ “ตาสว่าง” เหล่านี้

สงครามในโลกไซเบอร์

อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ลักษณะเด่นของการต่อสู้ทางการเมืองในช่วงนี้ก็คือ ข่าวสารกระจายอย่างรวดเร็วผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต (ซึ่งต่างกับยุคก่อนที่กระจายข่าวผ่านใบปลิว หรือผ่านโทรศัพท์กระดูกหมา) สมรภูมิการรบจึงอยู่ที่บนโลกออนไลน์สงครามข้อมูลเพื่อตีแผ่ข้อเท็จจริงที่ปิดปังเอาไว้มาหลายทศวรรษ จึงผุดเผยขึ้นรวดเร็วราวกับดอกเห็ดที่เหล่าผู้พิทักษ์ฯก็ทำใจไม่ได้! พวกเขาจึงสรรหาสารพัดวิธี ซึ่งก็เสนอกฎหมายใหม่ที่เพิ่มอำนาจในการควบคุมและจับกุม “เหล่านักรบไซเบอร์” อันกระด้างกระเดื่อง กฎหมายนี้ก็คือพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งการกำเนิดของกฎหมายนี้มีเจตนารมณ์อย่างชัดเจนเพื่อควบคุมการแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นกษัตริย์ ความผิดที่กฎหมายระบุไว้ก็คือเรื่องความมั่นคง (ควรตั้งคำถามอย่างยิ่งว่า การหมิ่นกษัตริย์ใช่เรื่องความมั่นคงของประเทศหรือไม่) ซึ่งมาตราที่ใช้เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 14 วรรค 3 ความว่า
ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
นอกจากนี้ ในมาตรา 20 ยังให้อำนาจศาลในการปิดเว็บไซต์ ซึ่งที่ผ่านมาศาลได้มีคำสั่งผ่านมาตรานี้เป็นจำนวนมากอีกด้วย

ล่าสุด มีการเสนอให้ปรับปรุง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เดิมของปี 2550 มาเป็นปี 2554 แม้โครงสร้างของเนื้อหากฎหมายมีลักษณะคล้ายคลึงฉบับเดิม แต่ได้เพิ่มการเอาผิด เช่น ผู้ให้บริการ ส่งผลให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง เป็นต้น

อย่างที่กล่าวไว้ว่า ศาลได้ใช้อำนาจในการปิดเว็บไซต์เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีสถิติที่น่าสนใจของการระงับเว็บไซต์ดังกล่าว อันจะเห็นได้ว่า มีจำนวนการระงับมากถึง 74,686 ยูอาร์แอล (หน้า) ซึ่งเป็นเว็บที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 122 ถึง 57,330 ยูอาร์แอล (หน้า)
การรณรงค์ในเวทีวิชาการ

การศึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นกษัตริย์เพิ่งได้รับความสนใจอย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้เอง งานศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังอย่างหนังสือ Truth on Trial in Thailand: Defamation, treason, and lèse-majesté (การดำเนินคดีกับความจริงในเมืองไทย: กฎหมายหมิ่นประมาท, ข้อหากบฏ, และกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์) โดยเดวิด สเตร็คฟัส ก็เพิ่งได้รับตีพิมพ์ปี 2554 ความตื่นตัวของนักวิชาการในสังคมนี้เป็นผลโดยตรงต่อสถานการณ์ที่การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ได้เพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น ในส่วนนี้จะกล่าวให้เห็นถึงบทบาทของกลุ่มปัญญาชนที่ทำการรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงความอยุติธรรมของกฎหมายและการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์นี้

หากไม่นับกิจกรรมรณรงค์กรณีที่วีระ มุสิกพงศ์โดนคดีหมิ่นฯ แล้ว (จัดโดยสยามสมาคม เมื่อ 1 ธันวาคม 2530) กิจกรรมของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และองค์กรความโปร่งใสแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2549 ก็นับได้ว่าเป็นกิจกรรมรณรงค์กฎหมายหมิ่นฯแรกๆ โดยมีการจัดสัมมนาในหัวข้อ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสังคมไทย” ซึ่งในช่วงเวลานั้นวารสาร ฟ้าเดียวกัน ฉบับสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย ถูกฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2549) ในช่วงเวลานั้น ทักษิณ ชินวัตรและสนธิ ลิ้มทองกุลก็โดนกล่าวหาว่าหมิ่นฯ ด้วย

ดังนั้นแล้ว มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงออกแถลงการณ์“ปกป้องระบบกฎหมายในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้ (1) ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและเป็นกลาง โดยไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด (2) และต้องจำกัดไม่ให้มีการริเริ่มดำเนินคดีเกิดขึ้นโดยเพียงบุคคลทั่วไปแต่ต้องให้คณะรัฐมนตรีมาเป็นผู้ตัดสินใจต่อการที่จะดำเนินคดีหรือไม่ (3) การจะลงโทษบุคคลในความผิดนี้ต้องปรากฏอย่างชัดเจนทั้งตัวการกระทำและเจตนา มิใช่เป็นการตีความกว้างขวางให้ครอบคลุมการกระทำอื่นๆ เช่น การไม่เคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี การทะเลาะวิวาทโดยมีคำด่าเปรียบเปรย ซึ่งมิใช่เป็นการหมิ่นประมาท หากเป็นเพียงการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อสถาบันกษัตริย์

ต่อมา หลังการรัฐประหาร 2549 เมื่อวันที่ 9-10 มกราคม 2551 มีการอภิปรายเรื่อง “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้ผลและล้มเหลวอย่างไร” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมทางวิชาการไทยคดีศึกษา ครั้งที่ 10 จัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3 มีนาคม 2551 ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนสิน แมดิสัน นายแอนดรูวอร์กเกอร์ นักวิชาการทางด้านไทยศึกษา จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย นักวิชาการทางด้านอุษาคเนย์และไทยศึกษา นักวิชาการทางด้านกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน กว่า 50 คน ได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

29 มกราคม 2552 นายใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 จากหนังสือของเขา A Coup for the Rich ได้ระบุถึงความคืบหน้าการรวบรวมรายชื่อผ่านทางอีเมลในจดหมายเปิดผนึกที่เขาร่างขึ้นเพื่อให้ยุติการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวระบุว่า ขอคัดค้านการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อทำลายเสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพทางความคิด และเรียกร้องให้รัฐบาลยุติคดีต่างๆ ที่เกิดกับกลุ่มคนที่คัดค้านรัฐประหาร 19 กันยา รวมทั้งยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือของเผด็จการและผู้หวังทำลายระบบประชาธิปไตยอีกต่อไป

21-22 มีนาคม 2552 โครงการประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม ม.มหิดล และภาควิชาปกครอง รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดการอภิปรายทางวิชาการ เรื่อง “หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ที่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งต่อมาได้พิมพ์หนังสือจากเวทีอภิปรายดังกล่าวเป็นหนังสือ หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งได้เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 ซึ่งมีวงสัมมนาเรื่อง “จากหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สู่ขบวนการล้มเจ้า” ด้วย

27 มีนาคม 2554 “กลุ่มนิติราษฎร์เพื่อราษฎร” จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งได้มีข้อเสนอในการแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112 โดยเสนอว่า ต้องไม่นำกฎหมายนี้ไปเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของราชอาณาจักร ให้มีการบัญญัติแยกการคุ้มครองที่เกี่ยวกับกษัตริย์ ออกจากตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ให้เพิ่มเป็น 2 มาตรา) ให้ลดโทษลงเหลือไม่เกิน 2 ปี (ไม่มีโทษขั้นต่ำ) ปรับไม่เกินสามหมื่นบาท ถ้ามีการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตก็ไม่มีความผิด และมิให้บุคคลทั่วไปฟ้อง ให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษแทน

ในวันเดียวกัน มีกลุ่มรณรงค์เรื่อง “มาตรา 112: รณรงค์เพื่อความตื่นรู้ในกฎหมายหมิ่น” / “Article 112: Awareness Campaign” โดยต้องการให้กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นประเด็นที่ผู้คนในสังคมสามารถพูดคุย ถกเถียงได้อย่างเปิดเผย การรณรงค์ของกลุ่มนี้น่าสนใจที่มีผู้กำกับภาพยนตร์ร่วมด้วย เช่น อโนชา สุวิชากรพงศ์ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ลี ชาตะเมธีกุล, ธัญสก พันสิทธิวรกุล วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้กำกับภาพยนตร์เข้ามาร่วมด้วยนี้ จึงประนีประนอมกับเป้าหมายการรณรงค์ลดลงให้เหลือเพียง “การตื่นรู้” เท่านั้น ทั้งๆที่ในขณะนั้นบ้างเสนอการปฏิรูปหรือยกเลิกกันแล้ว

3 เมษายน 2554 มีการจัดตั้ง “เครือข่ายประชาธิปไตย (คปต.)”- Democracy Networks ซึ่งมาจากกลุ่มประชาธิปไตยทั้งในและต่างประเทศกว่า 35 กลุ่ม ได้รวมตัวกันเพื่อทำากิจกรรมรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 และปล่อยผู้ต้องหาจำานวน 220 คน ที่ต้องโทษกฎหมายหมิ่นฯ ให้ได้รับอิสรเสรีภาพหรือการประกันตัว

24 เมษายน 2554 กลุ่มนิติราษฎร์ เครือข่ายสันติประชาธรรม และนักวิชาการไทยศึกษาซึ่งอยู่ในต่างประเทศ รวมกว่า 500 คน แถลงการณ์ให้การสนับสนุน ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กรณีโดนคุกคามจากหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นผลมาจากการอภิปรายในวันที่ 10 ธันวาคม 2553 เรื่อง สถาบันกษัตริย์-รัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตย

25 เมษายน 2554 เครือข่ายประชาธิปไตย (คปต.) แถลงเรียกร้อง “หยุด 112 หยุดคุกคามประชาชน เราต้องการเสรีภาพ” ณ อิมพีเรียล ลาดพร้าว โดย คปต. กล่าวว่าจะจัดพิธีสาปแช่งผู้อยู่เบื้องหลัง ผู้ออกคำสั่ง และผู้ลั่นไกสังหารประชาชน ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. ที่วงเวียนใหญ่ กรุงเทพฯ ไปตามจังหวัดต่างๆ จนวันที่ 19 พ.ค. ณ ลานบริเวณอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี อีกทั้งกล่าวว่าจะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเข้าชื่อ 10,000 ชื่อตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกมาตรา 112 ผ่านทางรัฐสภา

19 พฤษภาคม 2554 นักเขียน ออกจดหมายเปิดผนึกเรื่อง “ขอเชิญร่วมลงชื่อในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 112 และยุติการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง” โดยระบุว่า เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น คือหัวใจสำาคัญของการเป็นนักเขียนในสังคมประชาธิปไตย และต้องการเรียกร้องให้มีการทบทวน ปรับปรุง แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 รายชื่อแกนนำานักเขียนนี้ได้แก่ บินหลา สันกาลาคีรี ปราบดา หยุ่น ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง ซะการีย์ยา อมตยา กิตติพล สรัคคานนท์ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ วาด รวี (ทราย เจริญปุระ ลงชื่อในตอนแรก ได้ถูกกดดันจนถอนชื่อออกไป) ต่อมาในวันที่ 7 มิถุนายน ได้แถลงข่าวอีกในเรื่อง “จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักเขียนทั่วประเทศ ว่าด้วย มาตรา 112”

24 พฤษภาคม 2554 สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “Lèse Majesté: A Challenge to Thailand’s Democracy” (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและความท้าทายต่อประชาธิปไตยไทย) โดยมีวิทยากร คือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เดวิด สเตร็คฟัส เบนจามิน ซาแวกกี นักวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์แนล ประจำาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
24 มิถุนายน 2554 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดอภิปรายหัวข้อ “การเมืองใน lèse majesty, lèse majesty ในการเมือง” โดย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่, และเดวิด สเตร็คฟัส

23 สิงหาคม 2554 นักวิชาการด้านไทยศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย จำานวน 112 คน ลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ด้านสิทธิและเสรีภาพที่ถูกจำากัดในสังคมไทย โดยเฉพาะการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีอัตราการสั่งฟ้องเพิ่มขึ้น อย่างทวีคูณในรอบห้าปีที่ผ่านมา


บนทางแพร่งของการเปลี่ยนแปลง
การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างบ้าระห่ำเมื่อไม่กี่ปีนี้ สะท้อนถึงนัยสำคัญของความขัดแย้ง สถาบันกษัตริย์ในปัจจุบันเผชิญความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนในช่วงปลายรัชกาล เป็นเรื่องตลกที่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อันเป็นการรัฐประหารเพื่อราชบัลลังก์ ได้เกิดขึ้นเพราะต้องการสิ่งที่แน่นอนในการเปลี่ยนผ่าน แต่พวกเขาไม่อาจยึดกุมความแน่นอนได้อย่างที่ผ่านๆ มา กล่าวได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นในด้านหนึ่งเป็นวิกฤตที่สังคมการเมืองบ้านเรายังโบราณไม่มีความเป็นสมัยใหม่ดังประเทศประชาธิปไตยอื่นๆเสียที เป็นวิกฤตที่ความวิปลาศของสังคมได้แผ่ขยายไปทุกหย่อมหญ้า

แต่อย่างไรก็ตาม ในด้านกลับนั้น นี่คือภาวะ “เปิด” เป็นภาวะที่ “รูปที่มีทุกบ้าน” จะกลายเป็นเพียงแค่ “ความฝันอันสูงสุด” อันลมๆแล้งๆเท่านั้น เป็นภาวะ “ตื่นรู้” ที่คนไม่ต้องการเป็นเพียง “ขี้ฝุ่นใต้ตีน” อีกต่อไป แต่นั่น หลายคนก็ต้องแลกมาด้วยความทุกข์ในเรือนจำที่กฎหมายหมิ่นกษัตริย์ไม่อนุญาตให้ “ตาสว่าง”

การต่อสู้และรณรงค์เกี่ยวกับกฎหมายนี้ บ้างเสนอให้ปฏิรูป บ้างเสนอให้ยกเลิก แต่สิ่งที่ยากคืออุดมการณ์ความคิดที่ฝังในหัวคนที่ถูกกล่อมเกลาทุกวี่วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ดีที่สุดตอนสองทุ่ม ดังนั้นแล้ว บนทางแพร่งของการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นโอกาสเปิดที่เป็นไปได้ที่จะทลายสิ่งเหล่านี้ แม้จะไม่ง่ายนักก็ตาม

แล้วดูกันว่า การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์อย่างไม่บันยะบันยังที่มากราวกับฟองสบู่เช่นนี้ จะแตก “โป๊ะ” เมื่อใด?


.................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น