News online

กลับไปยังหน้าหลักเพื่อสนทนา C-Box ดู TV และฟังวิทยุ ได้ที่

วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อดีตนักโทษการเมือง ร่วมแดน "อากง" ร่อนจดหมายเปิดผนึก "พาราเซตามอล" ยาวิเศษของคนคุก อัดมาตรฐานการรักษาพยาบาลในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

ครบรอบ 1 เดือน การสูญเสีย "อากง" จากมาตรา 112
อดีตนักโทษการเมือง ร่วมแดน"อากง" ร่อนจดหมายเปิดผนึก

"พาราเซตามอล" ยาวิเศษของคนคุก อัดมาตรฐานการรักษาพยาบาลในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

ทีมงานขอสวงนชื่อและนามสกุล

กระผม อดีตนักโทษชายเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เป็นผู้หนึ่งซึ่งได้ร่วมชะตากรรมกับอากง ในเวลาที่ผมใช้ชีวิตในนั้น ได้เห็นการให้การรักษาพยาบาลในเรือนจำ ซึ่งจะมียาวิเศษอยู่หนึ่งตัว ชื่อ พาราเซตาม่อน ซึ่งยาขนานนี้ใช้รักษาโรคได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น ปวดท้อง ท้องเสีย หรือแม้กระทั่งเบาหวานหรือโรคหัวใจ

ซึ่งหลังจากขึ้นเรือนนอนแล้ว ถ้านักโทษเจ็บป่วย อาการหนัก รับรองได้ว่า รุ่งเช้าจะได้ยินเสียง"ประกาศปล่อยตัว"อย่างเช่นอากงแน่นอน ซึ่งการปล่อยตัวจะเป็นไปอย่างพิเศษมากๆ คือคุณไม่ต้องเดิน แต่ต้องลอยตามกลิ่นธูปออกมา

ในช่วงที่กระผมได้อยู่ในเรือนจำนั้น เคยมีนักโทษสูงอายุ น่าจะรุ่นราวคราวเดียวกับอากง แกเป็นคนใต้ แกป่วยอยู่หลายโรค ซึ่งหลังจากขึ้นเรือนนอนแล้ว ประมาณสองทุ่มกว่าๆ ได้มีเสียงเคาะ ซึ่งเป็นสัญญาณว่ามีคนป่วยอยู่ในห้อง ซึ่งอาการของลุงคนนั้น ผมไม่แน่ใจว่าเป็นโรคหอบหืดหรือว่าโรคหัวใจ ซึ่งกว่าที่ผู้คุมจะขึ้นมาก็ประมาณ 10 นาที และก็ให้ยาพาราเป็นขั้นแรก หรือว่าก็ให้รอหมอแป๊ปหนึ่ง ก็ประมาณ 30 - 60 นาที แต่พอหมอมาถึง คุณลุงคนนั้นก็ได้เสียชีวิตแล้ว แต่ผมไม่แน่ใจ ว่าเป็นผู้คุมหรือหมอ ที่ออกปากถามว่า ตายหรือยัง ทั้งๆที่ยังไม่ถึงประตูห้อง

คุณลุงคนนี้ถูกขังอยู่ที่ห้อง 10 ซึ่งห้อง 10 จะอยู่ชั้น 2 แต่ผมอยู่ชั้น 3 จึงมองไม่เห็น ซึ่งห้องเบอร์ 10 นี้ คุณก่อแก้ว และคุณขวัญชัย ก็เคยอยู่ ถ้าคิดจะออกไปพบหมอ ถ้าเป็นชาวต่างด้าว หรือบุคคลไร้ญาติ ก็ยากหน่อย ก็จะได้คำตอบว่า "กินพารา เดี๋ยวก็หาย" เมื่อมาถึงหมอ ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ีง คือ ถ้าคุณไม่ได้ถูกหามออกมาในสภาพหมดสติ ก็หมดสิทธิที่จะนอนรอดูอาการ ก็ต้องกลับไปนอนซมอยู่ในแดนตามเดิม

นี่หรือ ที่คุณบอกว่ามาตรฐานไม่ต่างกัน...?

อนึ่ง ข้อมูลประกอบเคสอากง จากปากป้าอุ๊(ภรรยาอากง)
ป้าอุ๊เล่าว่า ครั้งหนึ่งเคยมีหมอมาตรวจสุขภาพ เพราะอากงแกบ่นปวดท้อง ขาซ้ายไม่ค่อยมีแรง หมอให้อากงยื่นมือออกมาให้ตรวจ จับๆมืออากงพลิกไปพลิกมา แล้วถามอากงว่า "คันมั๊ย มือเนี่ย?" อากงก็งงๆกับคำถามของหมอคนนั้น แล้วหมอก็พูดต่อว่า "ก็นี่แหล่ะนะ มือมันบอน มือมันคัน มันอยู่ไม่สุข ก็เลยต้องมาติดคุกนี่ไง.."

อากงมีอาการขาอ่อนแรง และปวดท้องมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ก่อนจะถูกขังแบบไม่ให้ประกัน อากงเพิ่งผ่าตัดมะเร็งที่ลำคอเสร็จสิ้น อาการค่อนข้างโอเคแล้ว อยู่ในช่วงเฝ้าระวังและต้องตรวจสุขภาพกับแพทย์อย่างเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
แต่มะเร็งตับระยะที่ 4(ระยะลุกลาม) ที่ทำให้เกิดภาวะเสียสมดุลย์ในร่างกาย จนอากงช็อค จนเสียชีวิตนั้น มะเร็งตัวนี้ไม่เคยถูกตรวจพบในร่างกายอากงมาก่อน หรือเรียกง่ายๆว่า เรือนจำไม่เคยมีการตรวจสุขภาพอากงอย่างจริงจังมาก่อน ตลอด 481 วันที่อากงถูกจองจำ

การรักษาพยาบาลในเรือนจำ ตลอดเวลาที่อากงถูกคุมขัง เป็นไปอย่างยากลำบาก ปวดท้องหนักขนาดไหน ไปขอยา ก็จะได้แต่พารา ยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ จนครั้งสุดท้าย ป้าอุ๊ไปเยี่ยมอากง อากงบอกปวดมาก ไม่ไหวแล้ว ให้ป้าอุ๊ช่วย จึงติดต่อผ่านทางอ.หวาน ช่วยดำเนินเรื่องไปที่กรมราชทัณฑ์ อากงจึงมีโอกาสได้เข้ารักษาในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในวันต่อมา...

การเจาะเลือดอากงไปตรวจว่าเป็นอาการของโรคอะไร เพิ่งกระทำเพียง 1 วัน ก่อนอากงจะเสียชีวิต

และที่น่าเจ็บใจไปกว่านั้น คุณหมอที่เข้าร่วมชันสูตรศพอากง(คุณหมอพงษ์ศักดิ์) ระบุว่า มะเร็งชนิดนี้ เป็นชนิดที่ตรวจพบเจอได้ง่ายที่สุด ด้วยการอัลตร้าซาวด์เท่านั้น...

และที่น่าเจ็บใจที่สุด... คนแก่อายุปูนนี้ สภาพร่างกายแบบนี้ ดุลยพินิจใดของศาล ถึงไม่ให้ประกัน ...หรือเพราะเห็นอากงเป็นภัยต่อ"ความมั่นคงของชาติ"ตามมาตรา 112 กันจริงๆ อย่างนั้นหรือ ?

ที่มา fb Nithiwat Wannasiri 


...........................................


เตือนจากอย. ผู้ใช้ยาแก้ปวดพร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะ "พาราเซตามอล" ไม่เชื่อ ถึงขั้นเสียชีวิตได้ !!


อย. เตือน ผู้บริโภคอย่าใช้ยาแก้ปวดพร่ำเพรื่อ เพราะหากใช้ไม่ถูกต้องจะทำให้ไม่สามารถบรรเทา หรือรักษาอาการปวดได้เลย อาจได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของยา พร้อมแนะ วิธีเลือกใช้ยาแก้ปวดอย่างถูกต้องหากไม่เข้าใจปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ เพื่อความปลอดภัยจากการใช้ยา


นพ.พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากข้อมูลการใช้ยาแก้ปวดของคนไทย พบว่า มีการใช้ยาแก้ปวดกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะ “พาราเซตามอล” ซึ่งส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นยาแก้ปวดสามารถรักษาได้ทุกอาการปวด ในความเป็นจริงแล้ว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอเตือนว่าเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากยาแก้ปวดแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพในการรักษา และความปลอดภัยในการใช้ยาแตกต่างกัน

โดยทั่วไปแบ่งยาแก้ปวดออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้ระงับปวดที่รุนแรงถึงรุนแรงมากที่สุด แต่ไม่มีฤทธิ์ลดไข้ เช่น มอร์ฟีน (morphine) ทรามาดอล (Tramadol) ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ใช้ระงับความเจ็บปวดที่รุนแรงจากอวัยวะภายใน เช่น ปวดนิ่วในไต ปวดกล้ามเนื้อหัวใจจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ปวดจากบาดแผลที่มีขนาดใหญ่ เช่น หลังการผ่าตัด การคลอดลูก โรคมะเร็ง จึงมักใช้กับคนไข้ในโรงพยาบาลหรือคลินิกเป็นส่วนใหญ่ ยากลุ่มดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงสูง โดยเฉพาะ ทรามาดอล (Tramadol) ซึ่งจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ มึนงง อาเจียน กดระบบหายใจ อีกทั้งยังอาจมีอาการทางจิตประสาท เช่น อารมณ์แปรปรวน เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น และหากได้รับยาเกินขนาด จะทำให้เกิดภาวะอื่น ๆ ตามมา เช่น อาเจียน ระบบหัวใจและหลอดเลือดล้มเหลว ชักและระบบหายใจทำงานช้าลงจนถึงขั้นหยุดหายใจได้


รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ส่วนยาแก้ปวดอีกกลุ่ม คือ
กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้สำหรับอาการปวดไม่รุนแรง เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs : NSAIDs) ซึ่งมีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบ แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน ๆ โดยเฉพาะยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เนื่องจากจะมีผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ได้แก่ ระบบทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้ ปวดท้อง เป็นแผลบริเวณทางเดินอาหาร , ระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น อาจรุนแรงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หลอดเลือดสมองอุดตัน , ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ง่วงซึม มึนงง ซึมเศร้า , ระบบเลือด จะขัดขวางการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด , มีผลต่อการทำงานของไตโดยทำให้ไตบวม ระดับโปตัสเซียมและโซเดียมในเลือดสูงและไตวาย และมีผลต่อผิวหนัง โดยมีอาการผื่น คัน ผิวหนังพอง บางรายอาจมีการแพ้แสงแดดอีกด้วย


นอกจากนี้ ยาพาราเซตามอลที่มีการใช้อย่างแพร่หลายนั้น หากใช้ยาเกินปริมาณที่แนะนำอาจจะนำไปสู่การเกิดพิษต่อตับ จนนำไปสู่ภาวะตับวาย และเสียชีวิตในที่สุด


รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ขอให้ประชาชนผู้บริโภคใช้ยารักษาอาการปวดอย่างถูกต้องโดยใช้ยาตามวิธีใช้ที่ระบุบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาเกินขนาด ใช้บ่อยกว่า หรือใช้เป็นระยะเวลานานกว่าที่ระบุไว้บนฉลาก หรือเอกสารกำกับยา หรือแพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย หรือเสียชีวิตได้ รวมทั้งไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างการใช้ยาแก้ปวด เพราะอาจเพิ่มอาการข้างเคียงของยามากขึ้น ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา  

ที่มา matichon

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น