News online

กลับไปยังหน้าหลักเพื่อสนทนา C-Box ดู TV และฟังวิทยุ ได้ที่

วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ใจ อึ๊งภากรณ์ : คำถามต่อรัฐบาลเพื่อไทย เรื่องการนำอภิสิทธิ์และพรรคพวกขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ

เสื้อแดงทุกคนคงทราบดีว่าทนาย โรเบิรด อัมสเตอร์ดัม ได้ส่งเรื่องการก่ออาชญากรรมฆ่าประชาชนเสื้อแดงของอภิสิทธิ์และพรรคพวกเข้าสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ และเราคงทราบว่าถึงทุกวันนี้ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบรรณต่อธรรมนูญโรม เพื่อยอมรับศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่ตอนนี้มีข้อมูลที่นำไปสู่คำถามที่เสื้อแดงทุกคนต้องถามกับรัฐบาลเพื่อไทย


ประเด็นสำคัญที่ทุกคนไม่ควรลืมคือความสำคัญของการนำคนอย่างอภิสิทธิ์ สุเทพ อนุพงษ์ และประยุทธิ์มาขึ้นศาล เพื่อไม่ให้ฆาตกรของรัฐอำมาตย์ลอยนวล และเพื่อไม่ให้วีรชนเสื้อแดงตายเปล่า เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่นกรณี 6 ตุลา หรือพฤษภา 35 เป็นต้น

การนิ่งเฉยไม่ทำอะไรของรัฐบาลเพื่อไทย บวกกับการเดินหน้าปราบคนที่คิดต่างด้วย กฏหมาย 112 หนักขึ้น กำลังทำให้อำมาตย์ ทหาร และคนอย่างอภิสิทธิ์มั่นใจมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากคำพูดของอภิสิทธิ์กับตำรวจเมื่อวันก่อนว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์จัดการกับการประท้วงของเสื้อแดงเมื่อปีที่แล้วอย่าง “นิ่มนวล”

ในเรื่องการให้สัตยาบรรณต่อธรรมนูญโรม ซึ่งรัฐบาลที่ปกป้องประชาธิปไตยและเสรีภาพทุกรัฐบาลควรลงนาม จะไม่ทำให้เราสามารถนำอภิสิทธิ์และพรรคพวกขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศได้ เพราะจะเป็นการดำเนินคดีย้อนหลัง แต่มันจะมีประโยชน์มากในการห้ามปรามอาชญากรรมของรัฐไทยในอนาคต คำถามคือ “ทำไมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ลงนาม?” และเมื่อมีเสื้อแดงถามอดีตนายกทักษิณเรื่องนี้เมื่อไม่นานมานี้ ทำไมมีคำตอบกลับมาว่าจะไม่สนับสนุนการลงนามเพราะ “มีปัญหาส่วนตัว” คือทำไมพร้อมจะมีการลืมและหักหลังวีรชนเสื้อแดงแบบนี้?

ทั้งๆ ที่การให้สัตยาบรรณต่อธรรมนูญโรมจะไม่เปิดโอกาสให้จับอภิสิทธิ์และพรรคพวกมาขึ้นศาล แต่มีอีกวิธีที่ทำได้ทันที คือให้คณะรัฐมนตรีไทยตกลงที่จะ “ยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ตามมาตรา 12/3 ของธรรมนูญโรม” ซึ่งนำฆาตกรมาขึ้นศาลย้อนหลังได้ เช่น ในกรณีอดีตผู้นำประเทศไอวอรรี่โคสต์ ในอัฟริกา คำถามคือทำไมคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดนี้เลือกที่จะไม่ทำ? แต่เลือกที่จะปราบปรามคนที่คิดต่าง และจำคุกเสื้อแดง?

เมื่อไม่นานมานี้ สส. สุนัย จุลพงศธร ประกาศต่อสื่อมวลชนว่าจะไปกรุงเฮก เพื่อเดินเรื่องอภิสิทธิ์และพรรคพวกกับรองประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ ฮันส์ พิเทอร์ โคล แต่คดีนี้ถูกริเริ่มโดย โรเบิรด อัมสเตอร์ดัม และการนัดพบรองประธานฮันส์ พิเทอร์ โคล ริเริ่มโดย “สหภาพเพื่อประชาธิปไตยประชาชน” ซึ่งเป็นองค์กรเสื้อแดงในยุโรป และปรากฏว่าเมื่อ สส. สุนัยเข้าพบรองประธานศาลก็มีการเปิดทางให้ทูตไทยที่เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเสื้อเหลือง เข้าไปด้วย และรองประธานศาลก็บอกกลุ่มคนไทยที่เข้าพบว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศทำอะไรไม่ได้ถ้ารัฐบาลไทยไม่ยอมรับอำนาจศาลด้วยมติคณะรัฐมนตรี

ตรงนี้คนเสื้อแดงจำนวนมากอาจมีคำถามในใจว่า สส. สุนัย เล่นเกมส์หรือเปล่า? คือสร้างภาพเพื่อกล่อมเสื้อแดงว่าพรรคเพื่อไทยกำลังเดินเรื่อง แต่ในรูปธรรมไม่ทำอะไร และให้อำมาตย์และทูตต่างประเทศรู้ด้วยว่าไม่ทำอะไร? ผมตอบคำถามนี้ไม่ได้เพราะไม่รู้ใจ สส. สุนัย

อีกสิ่งหนึ่งที่เสื้อแดงควรรับทราบคือ ถ้ารัฐบาลไทยประกาศนิรโทษกรรมทุกคนที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความขัดแย้งในวิกฤตไทยหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา เพื่อการ “ปรองดอง” ศาลอาญาระหว่างประเทศจะไม่สามารถทำอะไรกับอภิสิทธิ์และพรรคพวกได้

นอกจากการถามคำถามกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยแล้ว เราต้องตั้งคำถามกับแกนนำ นปช. ว่า “ทำไมไม่รณรงค์เคลื่อนไหวเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรี ยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ตามมาตรา 12/3 ของธรรมนูญโรม เพื่อนำอภิสิทธิ์และพรรคพวกมาขึ้นศาลทันที? แกนนำนปช. เช่นอ.ธิดาและคุณจตุพรเคยพบรองประธานศาลอาญาระหว่างประเทศที่ไทยเมื่อต้นปี ๒๕๕๔ ด้วย ดังนั้นคงรู้เรื่องนี้ดี

และเราต้องถามรัฐบาลด้วยว่า ถ้าไม่อยากใช้ศาลอาญาระหว่างประเทศ ทำไมไม่แจ้งความจับฆาตกรที่สั่งฆ่าประชาชนเมื่อปีที่แล้ว และนำมาขึ้นศาลไทยเอง?

ในเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมเป็นวันสิทธิมนุษยชน เราต้องถามและกดดันรัฐบาลอีกว่า เมื่อไรจะ ปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน และยุติการใช้กฏหมาย 112 ตามคำเรียกร้องของสหประชาชาติ?

ใจ อึ๊งภากรณ์ 10/12/2011

ที่มา redthaisocialist

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น