แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์
คาร์ล มาร์คซ์
เฟรเดอริค เองเกิลส์
แนะนำ “ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์”
เนื่องในโอกาสครบรอบ 150 ปี
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
หลังจากที่ผู้นำหรือนักคิดทางการเมืองใด ๆ เสียชีวิตไป มักจะมีคนอ้างทฤษฎีของนักคิดเหล่านั้นในรูปแบบต่างๆ นานา เพื่อสนันสนุนจุดมุ่งหมายและผลประโยชน์เฉพาะของคนรุ่นใหม่ ในที่สุดความหมายแท้จริงของทฤษฎีดังกล่าวก็จะถูกบิดเบือนโดยสิ้นเชิง ในกรณีของคาร์ล มาร์คซ์ การบิดเบือนความคิดของเขาเกิดขึ้นก่อนที่เขาจะตายเสียอีก มาร์คซ์รำคาญพวกที่อ้างตัวเป็นชาวมาร์คซิสต์แล้วไปบิดบือนสิ่งที่เขาเขียนไว้ จนมาร์คซ์เองต้องเสนอกับเพื่อนว่า “ผมไม่รู้อะไรมากนอกจากรู้ว่าผมไม่ใช่นักคิดมาร์คซิสต์” แต่ร้ายกว่านั้น คาร์ล มาร์คซ ผู้ที่เป็นนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพประชาธิปไตยและสังคมนิยมร่วมกับเพื่อนรัก เฟรเดอริค เองเกิลส์ คงจะไม่มีวันฝันว่าสักวันหนึ่งความคิดของเขาจะถูกอ้างในการสนับสนุนเผด็จการร้ายแรงที่กดขี่ ขูดรีด ชนชั้นกรรมาชีพผู้ใช้แรงงาน ดังที่เกิดขึ้นในประเทศรัสเซียหลังจากที่โจเซฟ สตาลิน ขึ้นมามีอำนาจ
การขึ้นมามีอำนาจของสตาลินในรัสเซีย หลังการเสียชีวิตของเลนิน ถือว่าเป็นจุดจบและความล้มเหลวในการปฏิวัติรัสเซียที่เริ่มใน ปี ค.ศ. 1917 และจบลงด้วยเผด็จการในปี 1928 ผู้นำพรรคบอลเชวิคที่นำการปฏิวัติในครั้งนั้นคือ เลนิน กับ ตรอทสกี เข้าใจดีว่าเขากำลังทำการปฏิวัติในประเทศด้อยพัฒนา เขายืนยันมาตลอดว่าถ้าไม่สามารถแพร่การปฏิวัติครั้งนั้นไปสู่เยอรมัน อังกฤษ หรือฝรั่งเศส การปฏิวัติจะล้มเหลวเพราะระบบทุนนิยมเป็นระบบโลก สังคมนิยมไม่สามารถอยู่รอดในประเทศเดียวได้นาน โดยเฉพาะในประเทศด้อยพัฒนา ถ้าระบบของประเทศอื่น ๆ เป็นทุนนิยมหมด
การขึ้นมามีอำนาจของสตาลินเป็นเครื่องพิสูจน์ความถูกต้องของ เลนินกับตรอทสกี เพราะถึงแม้ว่าเผด็จการ สตาลิน จะอ้างว่ากำลังสร้าง “ระบบสังคมนิยมในประเทศเดียว” ซึ่งขัดกับความคิดสากลของลัทธิมาร์คซอยู่แล้ว แต่แท้ที่จริงระบบที่สตาลินสร้างขึ้นในรัสเซียเป็นระบบเผด็จการ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ( State Capitalism ) ที่มีการกดขี่กรรมกรและชาวนาและไม่แตกต่างจากระบบทุนนิยมตลาดเสรีมากเท่าไหร่
ลัทธิใหม่ของสตาลินซึ่งเป็นลัทธิชาตินิยมที่สนับสนุนการขูดรีดแรงงานยังคงใช้คำศัพย์ของสังคมนิยมหรือลัทธิมาร์คซ์ต่อไป เพื่อเป็นการหลอกลวงประชาชน ให้คิดว่าการปกครองของสตาลินมีความชอบธรรม ต่อมาลัทธิสตาลินก็เป็นต้นกำเนิดของสายความคิด เหมาเจ๋อตุง ในจีน และเป็นต้นกำเนิดของนโยบายที่ใช้ในพรรคคอมมิวนิสต์ต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วย
หลังการล่มสลายของระบบคอมมิวนิสต์สายสตาลินในรัสเซียและยุโรปตะวันออกในปี ค.ศ. 1989 และการปรับตัวเข้าหาระบบทุนนิยมตลาดเสรีของผู้นำจีน เวียตนาม และลาวในระยะเวลาเดียวกัน มักจะมีนักวิชาการที่มีความคิดความเข้าใจในทฤษฎีมาร์คซ์อย่างผิวเผิน เสนอว่าลัทธิมาร์คซ์หมดยุคหมดสมัยไปแล้ว แต่ถ้าท่านผู้อ่านได้อ่านหนังสือเล่มนี้ท่านคงจะเข้าใจดีว่าสิ่งที่ คาร์ล มาร์คซ์ กับ เฟรเดอริค เองเกิลส์ เขียนไว้ในปี ค.ศ. 1848 หนึ่งร้อยห้าสิบปีมาแล้ว ยังใช้เป็นประโยชน์ในการเข้าใจโลกปัจจุบันได้ดีกว่าทฤษฎีต่างๆ นานา ของฝ่ายที่สนับสนุนระบบทุนนิยมตลาดเสรีเสียอีก
ในปี พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นปีแรกที่ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน จัดการพิมพ์แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ฉบับภาษาไทยขึ้นมาอีกครั้ง โดยอาศัยงานที่ชาวคอมมิวนิสต์ไทยเคยตีพิมพ์ในอดีต ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรง ซึ่งมีผลกระทบอย่างหนักกับชีวิตของผู้ใช้แรงงานและคนส่วนใหญ่ของสังคม ถึงแม้ว่านักวิชาการและนักการเมืองบางคนจะพยายามหาเหตุผลเฉพาะหรือหาตัวบุคคลมาโทษว่าเป็นผู้ก่อเหตุ แต่แท้ที่จริงแล้ววิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งนี้เพียงแต่เป็นหนึ่งในหลายๆ วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นกับระบบทุนนิยมเป็นประจำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สาเหตุที่ระบบทุนนิยมเกิดวิกฤติเป็นระยะๆ ก็มีการเอ่ยถึงในหนังสือเล่มนี้ในส่วนที่พูดถึงแรงผลักดันที่มาจากการแข่งขันที่ไม่มีการวางแผนซึ่งทำให้นายทุนต้องลงทุนขยายกิจการจนมี สิ่งที่เรียกว่า
“โรคระบาดทางสังคมชนิดที่ทุกยุคทุกสมัยในอดีตเห็นเป็นปรากฏการณ์ที่เหลวไหลขึ้น ซึ่งก็คือโรคระบาดแห่งการผลิตล้นเกิน”
การผลิตล้นตลาดในภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทย ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เศรษฐกิจไทยพังลงมาในปีพ.ศ. 2540 เป็นตัวอย่างที่ดี มาร์คซ์กับเองเกิลส์มองว่าการแข่งขันในระบบตลาดของทุนนิยมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะ
“ชนชั้นนายทุนมีแต่ทำให้เครื่องมือการผลิตพัฒนาขึ้น จากนั้นก็ทำให้ความสัมพันธ์ทางการผลิตและความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งหมดปฏิวัติอยู่เรื่อยไปเท่านั้น ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็จะดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้”
และการที่ระบบทุนนิยมมีการแข่งขันอย่างสุดขีด ดุจรถไฟที่วิ่งบนรางโดยไม่มีคนขับจนตกเหวแห่งวิกฤติเศรษฐกิจ ก็เป็นเหตุผลหลักที่ชนชั้นกรรมาชีพต้องหาทางเปลี่ยนสังคมเป็นระบบสังคมนิยมแทนทุนนิยม เพราะระบบสังคมนิยมเป็นระบบที่จะมีการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่แทนที่จะผลิตเพื่อแข่งขันกอบโกยผลกำไร
ลัทธิมาร์คซ์ไม่ใช่เพียงวิธีการมองโลกของนักวิชาการหรือนักคิดฝ่ายซ้ายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น มาร์คซ์เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า “ในอดีตนักปรัชญาเพียงแต่วิเคราะห์โลก แต่จุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงโลก”
แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์เป็นหนังสือที่คาร์ล มาร์คซ์ และเฟรเดอริค เองเกิลส์ เขียนเพื่อเป็นคำประกาศนโยบายของ "สันนิบาตคอมมิวนิสต์" องค์กรสากลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับระบบทุนนิยมและเพื่อสร้างสังคมนิยม มาร์คซ์กับเองเกิลส์ไม่เคยพอใจที่จะนั่งเขียนและอ่านหนังสือในห้องสมุดอย่างเดียว ทฤษฎีมาร์คซ์ไม่มีความหมายถ้าไม่นำไปใช้ในการต่อสู้ในชีวิตประจำวันของแรงงาน
การเปลี่ยนแปลงสังคมใดๆ ในอดีต หรือที่เราเรียกว่า “ประวัติศาสตร์” มาร์ค กับเองเกิลส์มักจะมองว่าเป็นการกระทำของคนกลุ่มใหญ่ๆ และการเปลี่ยนแปลงในอดีตมาจากความขัดแย้งภายในของแต่ละสังคม:-
“ประวัติศาสตร์ของสังคมทั้งหมดที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ล้วนแต่เป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้น เสรีชน กับทาส ผู้ดีกับสามัญชน เจ้าผู้ครองแคว้นกับทาสกสิกร นายช่างในสมาคมอาชีพกับลูกมือ สรุปแล้วก็คือ ผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่ ต่างอยู่ในสถานะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันตลอดเวลา ดำเนินการต่อสู้ที่บางครั้งซ่อนเร้น บางครั้งเปิดเผยอยู่มิได้ขาด”
ความขัดแย้งภายในสังคมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าความขัดแย้งทางชนชั้น การมองประวัติศาสตร์จากมุมมองแบบนี้จะแตกต่างจากการมองประวัติศาสตร์ของกระแสหลักในปัจจุบันสองประการ : - ประการแรกคือ วิธีการนำเสนอประวัติศาสตร์ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่มักพบในสังคมนี้ จะเน้นว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ กษัตริย์ นายพลหรือนักการเมืองสร้างขึ้น โดยที่ไม่ให้ความสำคัญกับการกระทำของคนธรรมดาหรือมวลประชาทั้ง ๆ ที่ผู้นำชั้นสูงเพียงคนเดียวไม่มีวันสร้างประวัติศาสตร์ตามลำพังได้ :- ประการที่สอง กระแสหลักในปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น มักเสนอว่าทุนนิยมเป็นระบบสูงสุดขั้นสุดท้ายของการพัฒนาสังคมมนุษย์ พูดง่าย ๆ ประวัติศาสตร์มนุษย์สิ้นสุดลง ณ บัดนี้ แน่นอนผู้ที่สนับสนุนระบบทุนนิยมต้องการที่จะเสนอว่าระบบนี้เปลี่ยนไปเป็นระบบอื่นไม่ได้ แต่ผู้ที่กล้าที่จะลืมตาวิเคราะห์มองโลกจริง จะเห็นว่าภายในระบบทุนนิยมมีสองชนชี่นใหญ่ๆ ที่ “เป็นปฏิปักษ์ต่อกันอยู่ตลอดเวลา” นั้นคือชนชั้นนายทุนและชนชั้นกรรมาชีพ และความขัดแย้งระหว่างสองชนชั้นหลักนี้จะเป็นแรงผลักดันให้สภาพสังคมปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
ข้อวิจารณ์ลัทธิมาร์คซ์ข้อหนึ่งที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ คือคนที่วิจารณ์ว่าในโลกจริงชนชั้นกรรมาชีพไม่ได้มีจิตสำนึกที่จะต่อสู้ทางชนชั้นกับชนชั้นนายทุน ฉะนั้นเขาจะสรุปว่าความคิดลัทธิมาร์คซ์น่าจะผิด แต่ถ้าเราอ่านผลงานของมาร์คซ์เขาจะพูดถึงการต่อสู้ทางชนชั้นที่ “บางครั้งซ่อนเร้นบางครั้งเปิดเผย” การต่อสู้แบบซ่อนเร้นจะมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่วินาทีแรกของเช้าวันจันทร์ซึ่งเป็นเวลาที่คนงานธรรมดาเบื่อหน่ายกับการที่ตนต้องตื่นไปทำงานอีกหนึ่งอาทิตย์ ความเบื่อหน่ายดังกล่าวอาจไม่ระเบิดขึ้นเป็นการนัดหยุดงานหรือการปฏิวัติในกรณีส่วนใหญ่ แต่เป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ นอกจากนี้ในหนังสือเล่มนี้ มาร์คซ์กับเองเกิลส์ ยังเขียนถึงอุปสรรคในการรวมตัวกันของขบวนการแรงงานและอุปสรรคในการสร้างจิตสำนึกในการต่อสู้ทางชนชั้น :-
“การที่ชนชั้นกรรมาชีพจัดตั้งเป็นชนชั้นและแล้วจัดตั้งขึ้นเป็นพรรคการเมืองนี้ถูกทำลายอยู่มิได้ขาดอันเนื่องมาจากการแข่งขันกันเองของกรรมกร”
ถ้าเราย้อนกลับไปพิจารณาความไม่พอใจที่คนส่วนใหญ่รู้สึกกับงานที่ตนต้องทำเพื่อเลี้ยงชีพ หรือที่นักวิชาการสายมาร์คซ์ซิสต์เรียกว่าความแปลกแยกห่างเหินจากงาน จะพบว่ามาร์คซ์กับเองเกิลส์เข้าใจเรื่องนี้ดี :-
“เนื่องจากการใช้เครื่องจักรได้แพร่หลายออกไปและการแบ่งงานได้พัฒนาไป การใช้แรงงานของชนกรรมาชีพก็ได้สูญเสียอิสระทั้งปวงไป…. กรรมกรได้กลายเป็นเครื่องพ่วงอย่างหนึ่งของเครื่องจักรไป”
ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบทุนนิยม นอกจากจะขูดรีดกรรมกรแล้ว ยังทำลายคุณค่าทางจิตใจของงาน และเนื่องจากงานเป็นสิ่งที่สร้างโลกและแยกมนุษย์ออกจากสัตว์ก็ยังทำให้คุณค่าของความเป็นมนุษย์ของคนส่วนใหญ่ถูกทำลายไปด้วย
มาร์คซ์กับเองเกิลส์ให้เกียรติกับความสามารถของคนงานธรรมดาหรือประชาชนรากหญ้าตลอด เขาเน้นว่าสังคมนิยมจะต้องสร้างจากฝีมือของกรรมาชีพเอง จากล่างสู่บน ไม่ใช่ผู้นำชั้นสูงสร้างแล้วยกให้ชนชั้นกรรมาชีพเพื่อความสุขของมวลประชา ดังที่พวกนักสังคมนิยมปฏิรูปหรือคอมมิวนิสต์สายสตาลินเสนอ มาร์คซ์กับเองเกิลส์ เน้นว่าสังคมนิยมซึ่งเป็นสังคมของอนาคต จะเป็นการกระทำของคนส่วนใหญ่ :-
“การเคลื่อนไหวทั้งปวงในอดีต ล้วนแต่เป็นการเคลื่อนไหวของคนส่วนน้อยหรือเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย การเคลื่อนไหวของชนชั้นกรรมาชีพเป็นการเคลื่อนไหวที่อิสระของคนส่วนใหญ่”
และในเมื่อสังคมนิยมเป็นการกระทำของคนส่วนใหญ่ นอกจากจะเป็นระบบที่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่สุดแล้ว ยังเป็นระบบที่มีการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการจริง ๆ ของมนุษย์ทั้งปวง :-
“ในสังคมชนชั้นนายทุน แรงงานที่มีชีวิตเป็นเพียงปัจจัยอย่างหนึ่งซึ่งเพิ่มพูนแรงงานที่สะสมขึ้นในอดีตเท่านั้น ในสังคมคอมมิวนิสต์แรงงานที่เคยสะสมขึ้นแล้วเป็นเพียงปัจจัยอย่างหนึ่งสำหรับการขยายเพิ่มความอุดมสมบูรณ์เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของกรรมาชีพเท่านั้น
ฉะนั้นในสังคมชนชั้นนายทุน อดีตครอบงำปัจจุบัน
ในสังคมคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันครอบงำอดีต”
“แรงงานสะสม” หรือ “อดีต” ในที่นี้หมายถึงเครื่องจักรและวัตถุต่างๆ ที่แรงงานในอดีตสร้างขึ้นมา มาร์คซ์กับเองเกิลส์ เสนอว่าในสังคมนายทุนแรงงานเป็นเพียงทาสของเครื่องจักรและวัตถุต่างๆ ที่แรงงานในอดีตสร้างขึ้นมา แต่ในสังคมมิวนิสต์หรือสังคมนิยมในอนาคต เครื่องจักรและวัตถุจะเป็นทาสในการตอบสนองความต้องการปัจจุบันของคนส่วนใหญ่
นักวิชาการสมัยนี้มักจะเสนอว่าในโลกปัจจุบันลัทธิมาร์คซ์ใช้ไม่ได้เพราะกรรมกรหรือกรรมาชีพกำลังสูญหายไป หรือเป็นส่วนของสังคมที่ไม่มีพลัง และเขามักจำกัดความชนชั้นกรรมาชีพด้วยความผิวเผินโดยมองว่าวิถีชีวิต เช่น ระดับค่าจ้าง การแต่งกาย หรือสถานที่ทำงาน เป็นเรื่องหลัก แต่มาร์คซ์นิยา “กรรมกรหรือกรรมาชีพ” ว่าเป็นประชาชนที่ไม่มีอำนาจควบคุมปัจจัยการผลิต ต้องออกไปขายแรงงานกายหรือแรงงานสมองเพื่อเลี้ยงชีพ ฉะนั้นคนงานในโรงงาน คนขับรถเมล์ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการชั้นผู้น้อย พนักงานธนาคาร พนักงานขายของตามร้านค้า ครูบาอาจารย์ แพทย์พยาบาล หรือบุรุษไปรษณีย์ ล้วนแต่เป็นชนชั้นกรรมาชีพทั้งนั้น จิตสำนึกของเขาที่ทำให้เขารู้ตัวว่าเป็นคนกรรมาชีพหรือไม่ ไม่ได้เปลี่ยนความสัมพันธ์ที่คนเหล่านั้นจะมีกับระบบการผลิตแต่อย่างใด มาร์คซ์และเองเกิลส์ เข้าใจดีว่า :-
“ชนชั้นนายทุนหรือนัยหนึ่งทุน ยิ่งพัฒนา ชนชั้นกรรมาชีพ หรือนัยหนึ่งชนชั้นกรรมกรสมัยใหม่ ก็พัฒนาไปในระดับเดียวกันด้วย”
ในระยะเวลา 150 ปี หลังจากที่ มาร์ค กับเองเกิลส์ เขียนหนังสือเล่มนี้ ระบบทุนิยมของโลกได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว และควบคู่กันไปกับการพัฒนาของทุนนิยม ชนชั้นกรรมาชีพก็ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นคนส่วนใหญ่ของโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษย์ในปี พ.ศ. 2541 ตอนนี้ประเทศเกาหลีใต้เพียงประเทศเดียวมีคนงานมากกว่าคนงานทั้งโลกในสมัยของ มาร์คซ์กับเองเกิลส์
นักวิชาการหลายคนในสมัยนี้มักจะพูดตลอดเวลาถึงการขยายตัวของทุนข้ามชาติ และเทคโนโลยีจนเกิดสภาพโลกาภิวัฒน์ขึ้น เดี๋ยวนี้เราไม่สามารถอ่านบทความที่ไหนที่ไม่พูดถึงโลกาภิวัฒน์และเสนอว่าเป็นเรื่อง “ใหม่” ที่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ท่านผู้อ่านที่อ่านหนังสือเล่มนี้ จะค้นพบข้อเขียนของ มาร์คซ์และเองเกิลส์ ที่เขียนมา 150 ปีมาก่อน: -
“ความสัมพันธ์ทั้งปวงที่ก่อรูปขึ้นใหม่ยังไม่ทันจะคงตัวก็เก่าล้าสมัยแล้ว สิ่งที่คงตัวทั้งปวงอันตรธานไป”
“ความต้องการที่จะขยายแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์อยู่เรื่อยๆ บังคับให้ชนชั้นนายทุนต้องวิ่งเต้นไปตามที่ต่างๆ ทั่วโลก ชนชั้นนี้ต้องไปตั้งหลักแหล่งทั่วทุกแห่ง ไปเปิดกิจการขึ้นทั่วทุกแห่ง และไปสร้างความสัมพันธ์ขึ้นทั่วทุกแห่ง
เนื่องจากได้เปิดตลาดโลกขึ้น ชนชั้นนายทุนจึงทำให้การผลิตและอุปโภคบริโภคของประเทศทั้งปวงมีลักษณะเดียวกันทั่วโลก”
เนื่องจากระบบทุนนิยมเป็นระบบโลกมาตั้งแต่สมัยของ มาร์คซ์และเองเกิลส์ และเนื่องจากเศรษฐกิจสังคมของแต่ละประเทศมีความผูกพันกันอย่างใกล้ชิด สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่งจะมีผลกระทบกับประเทศอื่นเสมอ ตัวอย่างที่ดีก็คือวิกฤติทางเศรษฐกิจการเงินที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ในปีพ.ศ. 2540 ซึ่งมีผลกระทบกับระบบการเงินในประเทศเพื่อนบ้าน และมีผลกระทบกับราคาหุ้นในตลาดหุ้นของตะวันตก
สาเหตุหนึ่งที่องค์กรทุนระหว่างประเทศ ไอ เอ็ม เอฟ ต้องการเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของไทยตอนนั้น ก็เพราะนายทุนระดับโลกกังวลถึงความสับสนปั่นป่วนในตลาดโลกที่จะนำผลกระทบร้ายแรงสู่เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากประเทศไทย และวิธีแก้ปัญหาขององค์กร ไอ เอ็ม เอฟ จะเป็นวิธีแก้ปัญหาเพื่อผลประโยชน์ของนายทุนโลก ไม่ว่าจะเป็นนายทุนไทย นายทุนญี่ปุ่น หรือนายทุนสหรัฐ วิธีแก้ปัญหาของอค์กร ไอ เอ็ม เอฟ จะทำให้คนกรรมาชีพเดือดร้อนเสมอ พวกนายทุนมักอ้างเรื่องการ “ รักชาติ “ แต่จริงๆ แล้ว นายทุนทุกแห่งไม่มีชาติ มีแต่ผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน นโยบายชาตินิยมของเขาเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงชนชั้นกรรมาชีพ เพื่อไม่ให้รวมตัวกันต่อสู้ทางชนชั้นในระดับสากล ด้วยเหตุนี้ มาร์คซ์กับเองเกิลส์ จึงเสนอว่า : -
“ในการต่อสู้ของชนกรรมาชีพประเทศต่างๆ ชาวพรรคคอมมิวนิสต์เน้นและยืนหยัดในผลประโยชน์ร่วมของชนชั้นกรรมาชีพทั้งชนชั้นโดยไม่แบ่งชนชาติ”
“กรรมกรไม่มีปิตุภูมิ”
ในเรื่องนโยบายชาตินิยม นักเคลื่อนไหวชาวมาร์คซ์จะแตกต่างจากพวกพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน เช่น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่เน้นการรักชาติเป็นหลัก และจะแตกต่างจากพวกสังคมนิยมปฏิรูปที่พูดถึงผลประโยชน์ร่วมของประชาชนทั้งชาติโดยไม่แบ่งชนชั้น นักสังคมนิยมปฏิรูป เช่นพวกพรรคแรงงานอังกฤษ กับออสเตรเลีย หรือพวกพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในญี่ปุ่น ฝรั่งเศส หรือเยอรมัน จะเน้นเรื่องการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภา เขามักจะเสนอว่า การเข้าไปมีเสียงข้างมาในรัฐสภาจะทำให้ชนชั้นกรรมาชีพมีอำนาจรัฐและสร้างระบบสังคมนิยมได้ แต่ประสบการณ์จากโลกจริงแสดงให้เราเห็นว่าไม่มีกรณีใดทั้งสิ้นที่พรรคปฏิรูปสามารถเปลี่ยนทุนนิยมเป็นสังคมนิยมได้โดยผ่านรัฐสภา ทั้งนี้เพราะรัฐและกลไกทั้งหมดของรัฐ ซึ่งรวมถึงรัฐสภา ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของชนชั้นนายทุนหรืออำมาตย์ :-
“อำนาจรัฐสมัยใหม่เป็นเพียงคณะกรรมการจัดการธุรกิจร่วมกันของชนชั้นนายทุนทั้งชนชั้นเท่านั้นเอง”
ถึงแม้ว่านักวิชาการของฝ่ายทุนจะอ้างว่ารัฐในระบบประชาธิปไตยทุนนิยมเป็นรัฐของมวลประชาก็ตาม แต่เมื่อคนธรรมดามีปัญหาเดือดร้อนมักจะพบว่ารัฐเข้าข้างนายทุน คนรวย และผู้มีอิทธิพลทั้งปวง และช่วยเหลือพวกนี้ในการกดขี่ขูดรีดชนชั้นกรรมาชีพ ในที่ประชุมคนงานย่านรังสิตมีคนงานคนหนึ่งยืนพูดความจริงว่า “กฎหมายต่างๆ เป็นดาบที่รัฐยื่นให้นายจ้างเพื่อฟันคนงาน” และ เลนิน ผู้นำการปฏิวัติรัสเซียก็เสนอเช่นเดียวกันว่ารัฐคือเครื่องมือที่ชนชั้นปกครองใช้เพื่อกดขี่ชนชั้นอื่นๆ ฉะนั้นถ้าชนชั้นกรรมาชีพจะเปลี่ยนแปลงสังคมจากทุนนิยมเป็นสังคมนิยม จะต้องปฏิวัติโครงสร้างเก่าทั้งหมดและสร้างโครงสร้างใหม่ของรัฐกรรมาชีพเอง การอาศัยอำนาจรัฐสภาในระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นภาพลวงตาจะใช้ไม่ได้แน่นอน
มาร์คซ์กับเองเกิลส์ ไม่ได้เพียงแต่สนใจเรื่องปากท้องหรือเรื่องเศรษฐกิจของชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้น เขาเข้าใจดีว่าชนชั้นกรรมาชีพถูกแบ่งแยกระหว่างชายและหญิง และผู้หญิงในสังคมทุนนิยมจะถูกกดขี่เป็นพลเมืองชั้นสองเสมอ เองเกิลส์ได้พยายามศึกษาต้นกำเนิดของการที่ผู้หญิงถูกกดขี่ในงานของเขาชื่อ “กำเนิดครอบครัวทรัพย์สินส่วนตัวและรัฐ” โดยที่เองเกิลส์วิเคราะห์ว่าในสังคมดั้งเดิมของมนุษย์ตามธรรมชาติ มนุษย์จะไม่ถูกแบ่งแยกทางชนชั้น ไม่มีรัฐ ไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว และผู้ชายกับผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่เนื่องจากมีการพัฒนาของระบบเกษตรกรรม และเริ่มมีการแบ่งชนชั้นและแย่งชิงทรัพย์สินส่วนตัวกัน นอกจากจะมีการกดขี่ทางชนชั้นกำเนิดขึ้นมา ยังมีการกดขี่ทางเพศเกิดขึ้นด้วย ในสังคมปัจจุบันสถาบันหลักที่เป็นเครื่องมือของชนชั้นนายทุนในการกดขี่ผู้หญิงคือสถาบันครอบครัว ฉะนั้นมาร์คซ์กับเองเกิลส์เข้าใจดีว่าสถาบันครอบครัวในรูปแบบปัจจุบันจะต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ถ้าการกดขี่ทางเพศจะหมดหายไป
ในหนังสือเล่มนี้ มาร์คซ์กับเองเกิลส์ โต้ตอบพวกอนุรักษ์นิยมที่โจมตีชาวคอมมิวนิสต์ว่าคอมมิวนิสต์ต้องการทำลายความดีงามของสถาบันครอบครัว โดย มาร์คซ์กับเองเกิลส์โต้กลับไปว่า :-
“ความผูกพันทั้งปวงทางครอบครัวของชนชั้นกรรมาชีพ ถูกทำลายอันเนื่องมาจากการพัฒนาของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หนักยิ่งขึ้น และลูกๆ ของพวกเขาจะถูกเปลี่ยนเป็นเป้าการซื้อขายและเครื่องมือการใช้แรงงานล้วนๆ”
ในสังคมไทยปัจจุบันพวกนายทุนและผู้ปกครองประเทศที่มีนโยบายอนุรักษ์นิยมซึ่งอ้างอยู่เสมอว่าเราควร “ถนอมสถาบันครอบครัวไว้” เป็นคนที่รักษาศีลธรรมจารีตเองไม่ได้ในชีวิตส่วนตัว และเป็นผู้ที่ทำลายครอบครัวของคนงานในรูปธรรมโดยการสร้างสภาพสังคมไทยที่มีการใช้แรงงานเด็ก การซื้อขายเพศ การบังคับใช้ชั่วโมงการทำงานนานเกินไป และการทำลายชีวิตครอบครัวในหมู่บ้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อคนหนุ่มสาวต้องไปหางานทำในเมือง พวกผู้ปกครองของเราไม่เคยสนใจที่จะถนอมครอบครัวโดยการลดชั่วโมงการทำงาน หรือการจัดตั้งระบบรัฐสวัสดิการที่ดูแลเด็กและคนชรา แต่ภายใต้ระบบสังคมนิยมมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ จะสามารถพัฒนาตัวเองให้ถึงขั้นสุดยอดด้วยเสรีภาพอันแท้จริง
พวกฝ่ายซ้ายของไทยในอดีตที่อ้างว่าอิงความคิดของ มาร์คซ์ เช่นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไทย มักจะให้ความสำคัญกับชาวนาและชาวชนบทมากกว่าชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งตามหลักการเศรษฐกิจแล้วมักจะเป็นชาวเมือง มาร์คซ์อธิบายตลอดเวลาว่าชาวนาไม่เหมือนกับชนชั้นกรรมาชีพ ชาวนาเป็นชนชั้นผู้ประกอบการย่อยหรือนักธุรกิจรายย่อยชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่มีที่ดินซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยการผลิตชนิดหนึ่ง มาร์คซ์กับเองเกิลส์เน้นเสมอว่าระบบสังคมนิยมในอนาคตเป็นระบบที่สร้างขึ้นโดยกรรมกรชนชั้นกรรมาชีพหลังจากที่มีการพัฒนาระบบทุนนิยม ฉะนั้นการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมจะมีสมรภูมิหลักอยู่ในเมือง สังคมไทยปัจจุบันใกล้จะเป็นสังคมอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยทำงานนอกภาคเกษตร เราไม่สามารถย้อนกลับสู่สภาพสังคมดั้งเดิมได้ นอกจากนี้สภาพสังคมเดิมของไทยในชนบทก็ไม่ได้อุดมสมบูรณ์มีความสุข ไร้การกดขี่ หรือการขูดรีด ตามที่นักวิชาการเพ้อฝันหรือองค์กรพัฒนาเอกชนบางกลุ่มเสนอ ความคิดของ มาร์คซ์และเองเกิลส์ เป็นความคิดที่ใช้เดินหน้าไปสู่สังคมในอนาคต เขาเข้าใจดีถึงความยากลำบากของสังคมชนบทดั้งเดิมและสนันสนุนการเปลี่ยนแปลงที่มุ่งไปสู่สังคมอุตสาหกรรมของเมืองในขั้นตอนแรก : -
“ชนชั้นนายทุนทำให้ชนบทต้องยอมขึ้นต่อการปกครองของเมือง ชนชั้นนี้ได้สร้างเมืองอันใหญ่โตขึ้น ได้ทำให้ประชากรในเมืองเพิ่มมากขึ้นกว่าประชากรในชนบทมากมาย อันเป็นเหตุให้พลเมืองจำนวนมากพอดูส่วนหนึ่งพ้นจากภาวะโง่เง่าของชีวิตชนบท”
สรุปแล้วความคิดของมาร์คซ์ และเองเกิลส์ที่ใครๆ เรียกรวมๆ ว่า “ลัทธิมาร์คซ์” เป็นความคิดสำหรับโลกปัจจุบันและอนาคต เป็นความคิดที่เน้นความสามารถของผู้น้อยในสังคม ที่จะรวมตัวกันเปลี่ยนสังคมของระบบทุนนิยมเพื่อสร้างเสรีภาพ สันติภาพ และการผลิตที่ตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ในระบบสังคมนิยม การบิดเบือน ปกปิดหรือห้ามปรามไม่ให้เราอ่านและเข้าใจความหมายแท้ของลัทธิมาร์คซ์เป็นความพยายามของชนชั้นนายทุนที่จะปกป้องรักษาอำนาจเผด็จการทางเศรษฐกิจของเขา เป็นการปกป้องอภิสิทธิ์ของเขาที่จะขูดรีดเราต่อไป และเป็นการอนุรักษ์ระบบปัจจุบันที่ทำลายคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของคนส่วนใหญ่ในสังคม
หนังสือแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ของมาร์คซ์และเองเกิลส์เป็นเปลวไฟที่ส่องทางให้เราต่อสู้เพื่อสังคมที่เป็นธรรม สักวันหนึ่งกรรมาชีพจะครองโลก และเมื่อนั้นเราจะมีประชาธิปไตยที่แท้จริง
ใจ อึ๊งภากรณ์
มกราคม 2541
เชิญดาวน์โหลดไฟล์ "แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์" ที่นี่
ที่มา redthaisocialist (กลุ่มแดงสาธารณรัฐกับรัฐสวัสดิการ
)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น