28 ธ.ค.54 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดา ห้องพิจารณาคดี 811 มีการอ่านคำพิพากษา คดีดำที่ อ.2440/2553 ซึ่งพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 สำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย ฟ้องนายคำหล้า ชมชื่น ว่ากระทำความผิดในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์ ซึ่งเป็นอาวุธปืนของทหาร โดยเหตุเกิดในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แห่งชาติ (นปช.) เมื่อปีที่แล้วซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าขวางรถบรรทุกของทหารที่จะเข้า พื้นที่บริเวณใกล้ซอยหมอเหล็ง โดยศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 340 วรรแรก ฐานปล้นทรัพย์ จำคุก 15 ปี จำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวน และนำชี้สถานที่เกิดเหตุอย่างละเอียดเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้ 1 ใน 3 จำคุก 10 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาอาวุธปืน ซองกระสุนปืน และกระสุนปืน ที่ยังไม่ได้คือเป็นเงิน 19,261 บาท แก่ผู้เสียหาย โดยผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาคือ นางอัญชลี อริยะนันทกะ และ นายธเนศ ไชยหมาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางอัญชลี ผู้พิพากษา ได้ให้ผู้เข้าฟังการพิจารณาคดียืนรายงานตัวทีละคนก่อนอ่านคำพิพากษา และระหว่างการอ่านคำพิพากษาราว 20 หน้า ทนายจำเลยได้ไปยืนฟังการอ่านคำพิพากษาจนชิดบัลลังก์ เนื่องจากศาลอ่านคำพิพากษาด้วยเสียงที่จำเลยและผู้เข้าฟังการพิจารณาไม่ สามารถได้ยินได้ โดยระบุว่าคำพิพากษาค่อนข้างยาวและไม่สามารถตะเบ็งเสียงอ่านทั้งหมดได้
ทั้งนี้ คำหล้าถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 พ.ค.53 และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาจนปัจจุบัน โดยในคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกอีก 3 คน ร่วมกันปล้นทรัพย์ อาวุธปืนเล็กกล (M16) ขนาด .223 (5.56 มม.) 2 กระบอก ราคากระบอกละ 16,031 บาท ซองกระสุน 6 ซอง ราคา 2,280 บาท และกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. 100 นัด ราคา 950 บาท ของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ผู้เสียหาย ซึ่งอยู่ในความครอบครองของ จ.ส.อ.สอน แก่นทน, จ.ส.อ.ทวี ภูดินดาน และ ส.ต.วิรัตน์ ศรีหาสาร ไปโดยทุจริต โดยจำเลยกับพวกได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย จนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย เหตุเกิดที่แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340,ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาอาวุธปืน, ซองกระสุน และกระสุนปืน 19,261 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
นายวิญญัติ ชาติมนตรี หนึ่งในทีมทนายความที่เข้าฟังการพิจารณาคดีได้สรุปประเด็นให้ผู้สื่อข่าวฟัง ภายหลังการอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นว่า ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อสงสัยในพยานโจทก์ไม่ว่าจะเป็นการที่จำเลยอ้างว่าถูกข่มขู่ให้รับสารภาพใน ชั้นสอบสวนนั้น จำเลยไม่ได้สืบให้เห็นว่ามีการข่มขู่อย่างไร และการที่ทหารเข้าไปในเรือนจำชี้ตัวจำเลยผิดก็ไม่ได้เป็นเหตุรับฟังได้ว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิด อีกทั้งจำเลยรับสารภาพแต่ต้นแล้วอ้างว่าลงลายมือชื่อไปโดยไม่รู้ว่าเป็นคำ รับสารภาพ ไม่อาจรับฟังได้เนื่องจากเป็นเรื่องประโยชน์ของจำเลยเองที่ควรจะอ่าน ส่วนการอ้างว่าที่ไปชี้จุดโดยไม่รู้ว่าเป็นที่ใดนั้นก็ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ และการเบิกความว่าในวันเกิดเหตุจำเลยอยู่ในที่ทำงานคือสำนักระบายน้ำ กรุงเทพฯ จำเลยมีพยานเป็นผู้บังคับบัญชาซึ่งเบิกความว่าการตรวจสอบว่าใครมาทำงานมี เพียงการโทรศัพท์สอบถามเท่านั้นทำให้ไม่มีน้ำหนัก ประกอบกับภาพข่าวในวันเกิดเหตุที่ได้จากสถานีโทศน์ TPBS และสำนักข่าว TNEWS ก็น่าเชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยร่วมอยู่ ส่วนอาวุธปืนเล็กนั้นพบซุกซ่อนอยู่ในวัดปทุมวนาราม 1 กระบอก ส่วนอีกกระบอกหนึ่งจำเลยอ้างในชั้นสอบสวนว่านำไปทิ้งในคลองบริเวณที่เกิด เหตุแล้ว
สมศรี สงวนสิทธิ์ ภรรยาของคำหล้าให้สัมภาษณ์ภายหลังฟังคำพิพากษาทั้งน้ำตาว่า รู้สึกตกใจกับผลที่เกิดขึ้นอย่างมากและเป็นสิ่งเกินความคาดหมาย สำหรับประวัติครอบครัวนั้นเธอและคำหล้าทำงานอยู่ที่เดียวกัน โดยคำหล้าสนใจเรื่องการเมืองและร่วมชุมนุมมาตั้งแต่มีกลุ่มเสื้อแดงใหม่ๆ เมื่อปีที่ผ่านมาเขามักจะไปฟังปราศรัยหลังเลิกงานอยู่เสมอ หลังจากคำหล้าถูกคุมขังในเรือนจำมาเกือบ 2 ปี ครอบครับลำบากมากเนื่องจากเธอมีเงินเดือนเพียง 8,000 บาทสำหรับดูแลลูกชายวัย 7 ขวบ เงินที่ขายมอเตอร์ไซด์ของครอบครัวเพื่อใช้เป็นรายจ่ายในการไปเยี่ยมคำหล้าก็ หมดแล้ว
ด้านนักกิจกรรมจากกลุ่มเพื่อนนักโทษการเมืองที่ใช้นามแฝงว่า “นกแดง” กล่าวว่า ได้พาลูกชายของคำหล้าไปเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับบริจาค เนื่องจากเห็นว่าครอบครัวนี้มีฐานะยากจนมาก และต้องอยู่อย่างยากลำบากภายใจห้องเช่าเล็กๆ ย่าน สน.ดินแดง ผู้สนใจช่วยเหลือสามารถบริจาคได้ที่ บัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ชื่อบัญชี ด.ช.อภิชาติ ชมชื่น เลขที่ 688-0-08345-5
ที่มา prachatai
ข่าวที่เกี่ยวข้อง จดหมายจากคน (คุก) รักทักษิณ : FORGIVE AND 'FORGET’ ? (1)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น