News online

กลับไปยังหน้าหลักเพื่อสนทนา C-Box ดู TV และฟังวิทยุ ได้ที่

วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ครอบครัวผู้ต้องขังเสื้อแดงมุกดาหาร

ภาพชีวิตของครอบครัวผู้ต้องขังเสื้อแดงมุกดาหาร ในวันที่พวกเขาขาดเสรีภาพ ในวันที่ครอบครัวไร้ผู้นำและในวันที่ลูกขาด"พ่อ"



 ครอบครัวของทวีศักดิ์สามชีวิต 

ครอบครัวที่ไร้พ่อ...นายแก่น หนองพุดสา

เมีย ลูก หลาน และแมว ขาดก็แต่พ่อ...นายทองดี 

ย่า..หลาน ประคับประคองกันไป ไม่มีพ่อชื่อณัฐวุฒิ 

พ่อของพระนมวัย 70 กว่าเป็นโรคหัวใจและหอบหืด

ออกวิ่งสามล้อรับจ้างเลี้ยงตัวเอง

สองแม่ลูก(ในท้อง)ตะลอนไปขายลูกชิ้น

เตรียมพร้อม

วันลูกลืมตา แม้ไม่มีพ่อ(นายพระนม กันนอก)

เขียนโปสต์การ์ดส่งกำลังใจให้พ่อ...สู้เพื่อ


ประชาธิปไตย

โอบอุ้มกันไว้

ไม้ใกล้ฝั่ง หากยังรอ ลูกพ่อกลับมา

ในวันที่ไม่มีพ่อ ไก่ต้องรับงานมาทำหาราย

ได้เลี้ยงครอบครัว

อ้างว้างเหลือใจ บ้านที่ไร้พ่อ

(ครอบครัวของนายนพชัย)

พ่อครับ ผมรอพ่ออยู่(ลูกของนายจันที) 

พ่อของสมคิดวัย 60 ยังต้องออกไปดูแลนาด้วยตัวเอง 

พ่อของไมตรี กับหนังสะติ๊กที่รอเจ้าของ 

พ่อของจันทีที่ป่วยเป็นหอบหืดและแม่วัย 70กว่า

ที่ยังต้องหาของป่าไปขาย 

ภรรยาและลูกสาววัย 3 ขวบของณัฐพล

เฝ้ามองพ่ออยู่นอกห้องขัง

 ทองมากป่วย เมียก็ป่วย ลูกก็ป่วย 

แต่ก็ยังไม่ได้อยู่พร้อมหน้า

นานเท่าไหร่??? ที่พ่อจะกลับมา.


ครอบครัวต่อไปอาจเป็นคุณหากความเป็นธรรมยัง


ไม่มีในสังคม

นักโทษการเมืองคือเหยื่อของการเมืองการคิดต่าง

ทางการเมือง...พวกเขาเป็นประชาชน...ไม่ใช่

อาชญากร


ที่มา เพื่อนนักโทษการเมืองไทย

อานนท์ นำภา : บุคคลแห่งปีสำหรับผม นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล หรือ พี่หนุ่ม เรดนนท์




30 ธันวาคม 2554

โดย อานนท์ นำภา
ที่มา fb อานนท์ นำภา

บุคคลแห่งปีสำหรับผม นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล หรือ พี่หนุ่ม เรดนนท์

พี่หนุ่มเป็นคนเสื้อแดงขนานแท้ที่ร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงมาตลอด

พี่หนุ่มถูกจับกุมในเดือนเมษายน ๒๕๕๓ ที่ห้องพักและถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยกล่าวหาว่าโพสข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเป้นแอดมินของเว็ป นปชยูเอสเอ. ศาลพิพากษาจำคุกเขา ๑๓ ปี โดยลงโทษข้อหมิ่นโพสข้อความหมิ่นฯ ๒ กรรม กรรมละ ๕ ปี และฐานเป็นแอดมินของเว็ปไซต์ ๓ ปี

กระดาษที่ถูกปริ้นออกมาจากหน้าเว็ปไซต์ที่มีข้อความที่แสดงความคาดหวังว่าในหลวงจะออกมากอบกู้สถานการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงเหมือนเหตุกาณ์เดือนพฤษภา ๓๕ และบทความที่ อ.ใจ ได้โพสในเว็ปไซต์ รวม ๓ แผ่น คือการกระทำที่ทำให้เขาติดคุกถึง ๑๓ ปี

อะไรที่ทำให้ผมคิดและเลือกให้พี่เขาเป็นบุคคลแห่งปีนะหรือ...

พี่หนุ่ม นอกจากจะมีความเข้มแข็งมากๆ แล้ว พี่หนุ่มยังคงคอยแบ่งปันความเข็มแข็งและหัวใจนักสู้ไปยังเพื่อนๆผู้ต้องขังด้วยกันด้วย ก็นั่นแหละ ด้วยความมีน้ำใจของแกที่รับอาสาไปทั่ว หลายครั้งที่แกโดนซ้อมจากผู้คุมที่หัวขวาจัดที่ชื่อเสวียน หรือหัวหน้าเหวียน แดน ๘ แต่แกก็ยังยืนหยัด และเป็นความหวังของเพื่อนๆในเรือนจำ

พี่หนุ่มจะคอยดูแลเพื่อนๆเสื้อแดงและเพื่อนๆคดีหมิ่น อากง , พี่หมี , สุรภัคดิ์ ,ณัฐ และอีกหลายๆคน คือครอบครัวของพี่หนุ่ม รวมทั้งยังคอยส่งข้อมูลผู้ต้องขังเสื้อแดงในเรือนจำออกมาเพื่อให้คนข้างนอกได้รับรู้ข่าวคราวของคนข้างใน รายชื่อผู้ต้องขังเสื้อแดงทั้งหมดมาจากเขา

จดหมายนับร้อยถูกส่งออกมาบอกเล่าเรื่องราวร้อยพัน เขาทำไปทำไม...

" คุณอานนท์ หากผมพอจะช่วยพี่น้องเราได้ขอให้บอกผม ผมจะทำเต็มที่และทำด้วยชีวิตของผม และหากผมเป็นอะไรไป ช่วยบอกพี่นกให้ดูแลน้องเว็ปแทนผมด้วย ผมสู้มามาก เหนื่อยมามาก หากผมขอได้ ผมขอออกไปอยู่ดูแลลูกผม ผมอยากออกไปดูลูกชายวัยที่ลำลังเติบโต ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด และหากคนข้างนอกสู้กันต่อไปไม่ไหว ให้บอกผม... อย่าปิดผมเลย"

พี่หนุ่มคือคนที่คิดโครงการ "ของขวัญสีแดง" ที่ให้มีกิจกรรมเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทุกวันที่ ๑๙ บัญชีเงินฝากเขาจะถูกใช้อย่างน่าตกใจเพราะเขาคือที่พึ่งเดียวของเพื่อนๆในเรือนจำ...เขาไม่เคยบ่น

แน่นอนว่าทั้งหลายทั้งปวงล้วนถูกแลกมาด้วยอิสระภาพ และคราบน้ำตาของเขา ผมยังเสียใจจนถึงทุกวันนี้ที่ทำให้เขาติดคุก ผมนึกถึงประโยคหนึ่งในหนังเรื่อง ชอล์แชงค์

"ทนายผมมันห่วย"

แทนที่ผมจะเป็นคนที่ไปให้กำลังพี่หนุ่ม พี่หนุ่มกลับเป็นผู้ที่คอยให้กำลังใจผม และน่าจะรวมถึงเพื่อนร่วมงานของผมอีกหลายคนที่คอยเข้าไปแวะเวียนเยี่ยมเยือนพี่หนุ่มในเรือนจำ... เขาทำได้ไง...

เรื่องราวของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เดินทางมาถึงจุดนี้ได้ ความซับซ้อนและความกลัวที่ถูกทำลายลง ผมขอคารวะหัวใจ และน้ำใจอันงดงามของพี่หนุ่ม เรดนนท์

จนกว่าเราจะพบกันอีก....

อานนท์ นำภา
๒๙ ธ.ค.๕๔
สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์

ที่มา thaienews


วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554

จำคุก 10 ปี เสื้อแดงปล้นปืนทหาร 2 กระบอก ระหว่างรุมขวางรถทหารปี 53



28 ธ.ค.54  ที่ศาลอาญา ถนนรัชดา ห้องพิจารณาคดี 811 มีการอ่านคำพิพากษา คดีดำที่ อ.2440/2553 ซึ่งพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 สำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย  ฟ้องนายคำหล้า ชมชื่น ว่ากระทำความผิดในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์ ซึ่งเป็นอาวุธปืนของทหาร โดยเหตุเกิดในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แห่งชาติ (นปช.) เมื่อปีที่แล้วซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าขวางรถบรรทุกของทหารที่จะเข้า พื้นที่บริเวณใกล้ซอยหมอเหล็ง โดยศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 340 วรรแรก ฐานปล้นทรัพย์ จำคุก 15 ปี จำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวน และนำชี้สถานที่เกิดเหตุอย่างละเอียดเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้ 1 ใน 3 จำคุก 10 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาอาวุธปืน ซองกระสุนปืน และกระสุนปืน ที่ยังไม่ได้คือเป็นเงิน 19,261 บาท แก่ผู้เสียหาย โดยผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาคือ นางอัญชลี อริยะนันทกะ และ นายธเนศ ไชยหมาน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางอัญชลี ผู้พิพากษา ได้ให้ผู้เข้าฟังการพิจารณาคดียืนรายงานตัวทีละคนก่อนอ่านคำพิพากษา และระหว่างการอ่านคำพิพากษาราว 20 หน้า ทนายจำเลยได้ไปยืนฟังการอ่านคำพิพากษาจนชิดบัลลังก์ เนื่องจากศาลอ่านคำพิพากษาด้วยเสียงที่จำเลยและผู้เข้าฟังการพิจารณาไม่ สามารถได้ยินได้ โดยระบุว่าคำพิพากษาค่อนข้างยาวและไม่สามารถตะเบ็งเสียงอ่านทั้งหมดได้


ทั้งนี้ คำหล้าถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 พ.ค.53 และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาจนปัจจุบัน โดยในคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกอีก 3 คน  ร่วมกันปล้นทรัพย์ อาวุธปืนเล็กกล (M16) ขนาด .223 (5.56 มม.) 2 กระบอก ราคากระบอกละ 16,031 บาท ซองกระสุน 6 ซอง  ราคา 2,280 บาท  และกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. 100 นัด ราคา 950 บาท ของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ผู้เสียหาย ซึ่งอยู่ในความครอบครองของ จ.ส.อ.สอน  แก่นทน, จ.ส.อ.ทวี ภูดินดาน  และ ส.ต.วิรัตน์ ศรีหาสาร ไปโดยทุจริต โดยจำเลยกับพวกได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย จนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย เหตุเกิดที่แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340,ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาอาวุธปืน, ซองกระสุน และกระสุนปืน 19,261 บาท  แก่ผู้เสียหายด้วย


นายวิญญัติ ชาติมนตรี หนึ่งในทีมทนายความที่เข้าฟังการพิจารณาคดีได้สรุปประเด็นให้ผู้สื่อข่าวฟัง ภายหลังการอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นว่า ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อสงสัยในพยานโจทก์ไม่ว่าจะเป็นการที่จำเลยอ้างว่าถูกข่มขู่ให้รับสารภาพใน ชั้นสอบสวนนั้น จำเลยไม่ได้สืบให้เห็นว่ามีการข่มขู่อย่างไร และการที่ทหารเข้าไปในเรือนจำชี้ตัวจำเลยผิดก็ไม่ได้เป็นเหตุรับฟังได้ว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิด อีกทั้งจำเลยรับสารภาพแต่ต้นแล้วอ้างว่าลงลายมือชื่อไปโดยไม่รู้ว่าเป็นคำ รับสารภาพ ไม่อาจรับฟังได้เนื่องจากเป็นเรื่องประโยชน์ของจำเลยเองที่ควรจะอ่าน ส่วนการอ้างว่าที่ไปชี้จุดโดยไม่รู้ว่าเป็นที่ใดนั้นก็ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ และการเบิกความว่าในวันเกิดเหตุจำเลยอยู่ในที่ทำงานคือสำนักระบายน้ำ กรุงเทพฯ จำเลยมีพยานเป็นผู้บังคับบัญชาซึ่งเบิกความว่าการตรวจสอบว่าใครมาทำงานมี เพียงการโทรศัพท์สอบถามเท่านั้นทำให้ไม่มีน้ำหนัก ประกอบกับภาพข่าวในวันเกิดเหตุที่ได้จากสถานีโทศน์ TPBS และสำนักข่าว TNEWS ก็น่าเชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยร่วมอยู่ ส่วนอาวุธปืนเล็กนั้นพบซุกซ่อนอยู่ในวัดปทุมวนาราม 1 กระบอก ส่วนอีกกระบอกหนึ่งจำเลยอ้างในชั้นสอบสวนว่านำไปทิ้งในคลองบริเวณที่เกิด เหตุแล้ว


สมศรี สงวนสิทธิ์ ภรรยาของคำหล้าให้สัมภาษณ์ภายหลังฟังคำพิพากษาทั้งน้ำตาว่า รู้สึกตกใจกับผลที่เกิดขึ้นอย่างมากและเป็นสิ่งเกินความคาดหมาย สำหรับประวัติครอบครัวนั้นเธอและคำหล้าทำงานอยู่ที่เดียวกัน โดยคำหล้าสนใจเรื่องการเมืองและร่วมชุมนุมมาตั้งแต่มีกลุ่มเสื้อแดงใหม่ๆ เมื่อปีที่ผ่านมาเขามักจะไปฟังปราศรัยหลังเลิกงานอยู่เสมอ หลังจากคำหล้าถูกคุมขังในเรือนจำมาเกือบ 2 ปี ครอบครับลำบากมากเนื่องจากเธอมีเงินเดือนเพียง 8,000 บาทสำหรับดูแลลูกชายวัย 7 ขวบ เงินที่ขายมอเตอร์ไซด์ของครอบครัวเพื่อใช้เป็นรายจ่ายในการไปเยี่ยมคำหล้าก็ หมดแล้ว


ด้านนักกิจกรรมจากกลุ่มเพื่อนนักโทษการเมืองที่ใช้นามแฝงว่า “นกแดง” กล่าวว่า ได้พาลูกชายของคำหล้าไปเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับบริจาค เนื่องจากเห็นว่าครอบครัวนี้มีฐานะยากจนมาก และต้องอยู่อย่างยากลำบากภายใจห้องเช่าเล็กๆ ย่าน สน.ดินแดง ผู้สนใจช่วยเหลือสามารถบริจาคได้ที่ บัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ชื่อบัญชี ด.ช.อภิชาติ ชมชื่น เลขที่ 688-0-08345-5

ที่มา prachatai

ข่าวที่เกี่ยวข้อง จดหมายจากคน (คุก) รักทักษิณ : FORGIVE AND 'FORGET’ ? (1)  

วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ศาลยกฟ้อง! คดีเสื้อแดงวางบึ้ม Big-C ราชดำริ


เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษา ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเสกสรรค์ วรปีติเจริญกุล อายุ 37 ปี อดีตแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิด และเครื่องกระสุนไว้ในครอบครอง โดยผิดกฎหมาย และ พ.ร.บ.อาวุธปืน จากกรณีระหว่างปลายเดือน เมษายน-14 พฤษภาคม ปี 2553 โดยจำเลยถูกกล่าวหาว่า ร่วมกับพวก ครอบครองระเบิดในรถยนต์ซีวิค ที่จอดทิ้งไว้ ในพื้นที่ สน.โคกคาม ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการระเบิดบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาราชดำริ


ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้จำเลยจะขับรถมารับเพื่อน ซึ่งเป็นแนวร่วม นปช.ในการไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง แต่ก็เป็นเพียงอุดมการณ์ทางการเมืองเท่านั้น ซึ่งโจทก์ไม่ได้นำเสนอให้เห็นว่า จำเลยร่วมชุมนุมกับพวก นปช. โดยใช้อาวุธ และโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเบิกความยืนยันได้ว่า จำเลยร่วมครอบครองวัตถุระเบิดจำนวนดังกล่าวพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องโจทก์ พิพากษายกฟ้อง

ที่มา go6

วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

งบประมาณแผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์

โดย พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

ชื่อบทความเดิม: งบประมาณแผ่นดินที่รัฐต้องจ่ายให้ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสถาบันพระมหา กษัตริย์ประจำปีงบประมาณ 2554 กับการทำแต้มอย่างบ้าคลั่งไล่ล่าผู้กระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

สำรวจตาม พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 * มีงบประมาณที่ใช้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนี้

สำนักราชเลขาธิการ
มาตรา 25 ข้อ 1 : 474,124,500 บาท

สำนักพระราชวัง
มาตรา 25 ข้อ 2 : 2,606,293,900 บาท

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
มาตรา 25 ข้อ 4 (1) แผนงานเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : 225,162,400 บาท

ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
มาตรา 4 (1) ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : 2,300,000,000 บาท

มาตรา 4 (2) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ : 600,000,000 บาท

มาตรา 4 (3) ค่าใช้จ่ายการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องใน โอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 : 300,000,000 บาท

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
มาตรา 5 ข้อ 1 (1) แผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ : 51,426,200 บาท

มาตรา 5 ข้อ 1 (2) แผนงานเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : 3,308,070,000 บาท

สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
มาตรา 5 ข้อ 8 (1) แผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ : 25,573,000 บาท

สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
มาตรา 6 ข้อ 1 (1) แผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ : 10,422,800 บาท

กรมราชองครักษ์
มาตรา 6 ข้อ 2 : 541,205,000 บาท

กองทัพบก
มาตรา 6 ข้อ 4 (1) แผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ : 30,000,000 บาท

กองทัพเรือ
มาตรา 6 ข้อ 5 (1) แผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ : 10,000,000 บาท

กองทัพอากาศ
มาตรา 6 ข้อ 6 (1) แผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ : 600,000 บาท

สำนักงานพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
มาตรา 11 ข้อ 16 (1) : 188,495,400 บาท

สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย
มาตรา 17 ข้อ 1 (1) แผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ : 11,250,000 บาท

กรมการปกครอง
มาตรา 17 ข้อ 2 (1) แผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ : 40,330,000 บาท

สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม
มาตรา 18 ข้อ 1 (1) แผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ : 4,500,000 บาท

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
มาตรา 25 ข้อ 7 (1) แผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ : 53,896,800 บาท

รวมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น 10,781,350,000 บาท หรือ หนึ่งหมื่นเจ็ดร้อยแปดสิบเอ็ดล้านสามแสนห้าหมื่นบาท

ทั้งนี้ ยอดเงิน 10,781,350,000 บาท (หนึ่งหมื่นเจ็ดร้อยแปดสิบเอ็ดล้านสามแสนห้าหมื่นบาท) ยังไม่รวม ค่าเสียหาย/ราคาที่ต้องจ่ายซึ่งไม่สามารถนับไม่ได้เป็นตัวเงิน (ชีวิต , สิทธิเสรีภาพ , ความกลัว , ความทุกข์(ถ้ามี) ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ) คลอดจน รายได้ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ครองหุ้นในบริษัทต่าง ๆ และเงินที่ประชาชนบางส่วนถวายให้ใช้ตามพระราชอัธยาศัยในโอกาสต่าง ๆ

เงินจำนวนหมื่นกว่าล้านบาท ที่ ส.ศิวรักษ์ เคยเขียนเมื่อหลายปีก่อนว่า สถาบันกษัตริย์ถูกกว่าประธานาธิบดี ส.ศิวรักษ์ อาจต้องทบทวนบทสรุปตาม "ราคา" ในแต่ละปีที่ต้องจ่ายตามจริงไว้บ้างนะครับ

นอกจากนี้ ขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ จะต้องทบทวนว่า การ “ทำแต้ม” คดีหมิ่นกษัตริย์ มันไม่สัมฤทธิ์ผล (ที่มุ่งให้คดีลดลง?) แต่อย่างใด ยิ่งจับยิ่งดำเนินคดี ผลก็คือ คนที่หมิ่นสถาบันกษัตริย์ก็ยิ่งมีมากขึ้นๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่กี่ปีที่ผ่านมา คดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ถูกเทกระจาดเข้าสู่กระบวนการจับขังฟ้องร้องเป็นร้อย คดี ตามกราฟที่ผมได้ค้นข้อมูล รายงานสถิติคดีทั่วราชอาณาจักร (ตั้งแต่ปี 2548 – 2553 ) จัดทำโดยกระทรวงยุติธรรม ผมวานให้คุณอติเทพ ไชยสิทธิ์ ใช้ความสามารถวิเคราะห์ข้อมูลและทำกราฟไว้ดังนี้ :


หากพิจารณาอย่างพิศดารยิ่งขึ้น การพิจารณาคดีความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ตามศาลแต่ละภาค ขอให้ท่านดูแผนที่ประเทศไทยชิ้นนี้ เพื่อดูกราฟการรับคดีในภาพถัด ๆ ไปจะได้มองภาพชัดขึ้น (ศาลภาคที่ 1 – 9)

 เหล่านี้เป็นตัวเลขในปี 2548 – 2553 ซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงในการบังคับใช้กฎหมาย มีผู้กระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ตามกราฟ)

หน่วยงานของรัฐทั้งหลายโดยเฉพาะทหาร ซึ่งปัจจุบันพยายามสถาปนาตนเอง เป็น “หัวโจก” ของกระบวนการล้มล้างสิทธิเสรีภาพของราษฎร คุณคิดว่าสถาบันกษัตริย์ที่ดำรงอยู่ได้ด้วยการ “ทำแต้ม” แบบนี้ ความผิดต่อสถาบันกษัตริย์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คดีดองอยู่ที่ศาลชั้นต้น แล้วคุณยังแข็งขันใช้ทุกวิถีทางกวาดจับ ข่มขู่บังคับทั้งในและนอกระบบ คุณคิดว่า ตัวเลขเหล่านี้ มัน “ไม่น่าอาย” แม้แต่น้อยบ้างเลยหรือ?


เชิงอรรถ
  • พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 : ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนที่ 60 ก ลงวันที่ 28 กันยายน 2553 [ ดูฉบับออนไลน์ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/A/060/1.PDF ]

ที่มา prachatai

24 มิถุนา เคยเป็น และ เลิกเป็นวันชาติได้อย่างไร? (ประวัติย่อ 5 ธันวาวันชาติไทย)

โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

 เวลาที่ได้ยินคนในแวดวงรัฐบาล(หรือที่เคยอยู่ในแวดวงรัฐบาลอย่างณรงค์ กิตติขจร) ออกมาคัดค้านการตั้งชื่อวันที่ 14 ตุลาคมว่า "วันประชาธิปไตย" โดยยกเหตุผลทำนองว่า เป็นเการขัดกับความจริงที่ว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น ไม่ทราบว่าจะร้องไห้หรือหัวเราะดี

ก็ ถ้าบรรดา ฯพณฯ เห็นความสำคัญของ 24 มิถุนายน ขนาดที่กลัวว่า 14 ตุลาคม จะมาแย่งความสำคัญไป ทำไมไม่ทำให้ 24 มิถุนายน เป็นวันสำคัญขึ้นมาเสียก่อนเล่า?

ความจริงคือ ทุกวันนี้ วันที่ 24 มิถุนายน ไม่ได้เป็นวันอะไรทั้งสิ้นในปฏิทินของทางราชการ และบรรดา ฯพณฯ ที่ยกเอา 24 มิถุนายน ขึ้นมาคัดค้าน 14 ตุลาคม ก็ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่มีทีท่าว่าจะเสนอให้เปลี่ยน 24 มิถุนายน เป็นวันสำคัญขึ้นมา

โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการเรียก 14 ตุลาคม ว่า "วันประชาธิปไตย" แต่ไม่ใช่เพราะ 24 มิถุนายน จึงควรเป็นวันประชาธิปไตย ผู้เขียนไม่คิดว่า 24 มิถุนายน ควรเป็นเช่นกัน เหตุการณ์ทั้งคู่ไม่ได้ทำให้เกิดประชาธิปไตย แต่ขอเสนอว่า 24 มิถุนายน มีความสำคัญในลักษณะที่สมควรเปลี่ยนกลับเป็นวันชาติ

เพราะ 24 มิถุนายน ทำให้เกิดระบอบรัฐแบบใหม่ ซึ่งใช้มาจนปัจจุบัน

ระบอบ รัฐที่ว่านี้คือ ระบอบรัฐที่มีสภา, คณะรัฐมนตรี และ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้บริหารสูงสุด โดยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแต่มีบทบาทสำคัญอย่างสูงในระบอบรัฐนี้ ตลอด 70 ปีนี้ "ความเป็นประชาธิปไตย" ของระบอบรัฐนี้ มีขึ้นมีลง แต่องค์ประกอบสำคัญ 4 อย่าง(สภา, ครม., นายกฯ, พระมหากษัตริย์)ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

จะไม่อภิปรายสนับสนุนข้อ เสนอนี้ในที่นี้ ซึ่งต้องอ้างอิงเหตุผลยืดยาว รวมถึงการโต้แย้งประเด็นที่บางคนอาจจะตกอกตกใจเกินเหตุไปเองว่า ข้อเสนอนี้เป็นการ "กระทบกระเทือนสถาบัน"

อันที่จริง สถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่สำคัญเป็นผลมาจาก 24 มิถุนายน เอง 24 มิถุนายน ไม่ได้เป็นตัวแทนของความเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันกษัตริย์ ปัจจุบัน 24 มิถุนายน เป็นปฏิปักษ์เฉพาะกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเชื่อว่าในปัจจุบันไม่มีใครบ้าพอจะเสนอให้กลับไปใช้

ในบท ความนี้ เพียงแต่อยากจะเล่า เพื่อเป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์แก่สาธารณชน ว่าครั้งหนึ่ง 24 มิถุนายน ถูกทำให้เป็น, และถูกเลิกให้เป็น, วันชาติได้อย่างไร เชื่อว่าผู้อ่านทุกคนไม่ว่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอเมื่อสักครู่หรือไม่ คงยอมรับ ว่านี่เป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจในตัวเอง

เรื่อง นี้ความจริงถ้าจะเล่าให้ตลอด เป็นเรื่องยาว เช่น ต้องเท้าความถึงความสัมพันธ์ระหว่างคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 และความสัมพันธ์ภายในคณะราษฎร เป็นต้น จึงขอเล่าสั้นๆ เฉพาะเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง พูดแบบภาษาวิชาการประวัติศาสตร์คือ เล่าแบบไม่มีปริบทหรือมีแต่น้อย

เอกสารที่กำหนดให้ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ คือ "[ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี] เรื่องวันชาติ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2481"

โปรด สังเกตว่าผู้เขียนใส่วงเล็บสี่เหลี่ยมข้างหน้าและหลัง "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี" เพราะถ้าใครไปเปิดดูในราชกิจจานุเบกษา ฉบับที่ลงประกาศนี้ (เล่ม 55 วันที่ 1 สิงหาคม 2481 หน้า 1322) จะพบเรื่องประหลาดมากๆ ว่า ประกาศนี้ไม่มีหัวว่าเป็นประกาศประเภทไหน!

ที่ประหลาดมากยิ่งขึ้นคือ ประกาศที่(ถ้ามองจากปัจจุบัน) น่าจะเป็นเรื่องใหญ่มาก(กำหนดวันชาติ) มีข้อความเพียงเท่านี้ คือ

เรื่องวันชาติ

ด้วย คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติว่า วันที่ 24 มิถุนายน ย่อมถือว่าเป็นวันชาติ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศมา ณ วันที่ 18 กรกฎาคม พุทธศักราช 2481

พ.อ.พหลพลพยุหเสนา

นายกรัฐมนตรี

ตอน ที่เห็นประกาศนี้ครั้งแรก ผู้เขียนยืนงงเป็นไก่ตาแตกอยู่หลายนาที เพราะนึกไม่ถึงว่า จะมีข้อความเพียงเท่านี้ (ต้องบอกด้วยว่า ได้อ่านประกาศของจอมพลสฤษดิ์ ฉบับที่ยกเลิกวันที่ 24 มิถุนายน ในฐานะวันชาติ ซึ่งมีข้อความยาวพอสมควร มาก่อน ดังจะได้กล่าวต่อข้างหน้า

ขอ ทำเชิงอรรถในที่นี้ด้วยว่า ในหนังสือวิชาการส่วนใหญ่(เช่น ของชาญวิทย์ เกษตรศิริ หรือ แถมสุข นุ่มนนท์) เมื่อเขียนถึงการกำหนดให้ 24 มิถุนายนเป็นวันชาติ เข้าใจผิดว่า เป็นเรื่องในสมัย "ชาตินิยม" หรือ "สร้างชาติ" ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทั้งหลวงพิบูลฯและหลวงวิจิตรวาทการ มีบทบาทในเรื่องนี้จริงๆ ดังจะได้เล่าต่อไป แต่ประกาศนี้มีขึ้นในสมัยพระยาพหลฯเพียงแต่การฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน ครั้งแรกในปี 2482 นั้น มีขึ้นเมื่อหลวงพิบูลฯขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว

ผู้ เขียนได้ไปค้นเพิ่มเติมในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีสมัยนั้น พบว่าการพิจารณาให้ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ มีลักษณะห้วนๆ รวบรัดตัดตอน ไม่มีหัวไม่มีหาง แบบเดียวกับประกาศข้างต้นเหมือนกัน(ต้องบอกก่อนว่า รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี มีจุดอ่อนที่อาจจะไม่ได้บันทึกละเอียดแบบคำต่อคำ แต่เฉพาะกรณีนี้เชื่อว่า คงไม่ห่างจากที่อภิปรายกันจริงนัก ผู้สนใจเรื่องรายงานการประชุม ครม.กรุณาตามอ่านบทความของผู้เขียนที่เล่าเรื่องการประชุม ครม.วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่จะตีพิมพ์ใน ศิลปวัฒนธณรม ฉบับเดือนตุลาคมนี้)

เรื่อง นี้ถูกเสนอเข้าที่ประชุม ครม.พระยาพหลฯ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2481 เป็น "วาระจร" (วาระที่ 24 ใน 28 วาระการประชุมครั้งนั้น) ผู้เสนอคือ หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีลอย(ไม่ได้ว่าการกระทรวงใดๆ) เขากล่าวว่า "ข้าพเจ้าเคยถูกถามถึง "วันชาติ" กำหนดวันไหน ข้าพเจ้าได้ตอบไปว่ายังไม่กำหนดแน่นอน ฉะนั้น จึงใคร่ขอทราบว่า จะถือว่าวันไหนเป็นวันชาติ กล่าวคือ วันที่ 10 ธันวาคม หรือวันเฉลิมฯ หรือวันพระราชพิธีรัชชมงคล" (เข้าใจว่าหมายถึง 2 มีนาคม ซึ่งรัชกาลที่ 8 ขึ้นครองราชย์-สมศักดิ์)

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ซึ่งเป็น "ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี" กล่าวว่า "ควรเป็นวันที่ 10 ธันวาคม เพราะวันเฉลิมมีเปลี่ยน" ขอให้จำความเห็นนี้ของ "ท่านวรรณ" ให้ดี เพราะจะเกี่ยวข้องกับตอนเลิกใช้ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ)

หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกลาโหม กล่าวว่า "วันชาติอยากให้เป็นวันที่ 24 มิถุนายน เพราะวันเฉลิมเปลี่ยนไปตามพระมหากษัตริย์

หลวงวิจิตรฯจึงสนับสนุนว่า "ถ้าเลือกวันที่ 24 มิถุนายน กับ 10 ธันวาคม วันที่ 24 มิถุนายน ดีกว่าเพราะรัฐธรรมนูญ อาจมีแก้ได้

หลังจากนั้น รายงานการประชุม ได้บันทึกว่า "ที่ประชุมตกลง ให้กำหนดวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ"

ผู้ อ่านคงอยากทราบว่า ปรีดี พนมยงค์ สมาชิกคณะราษฎรคนสำคัญ มีความเห็นว่าอย่างไร ปรากฏว่าขณะนั้นปรีดี ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศกำลังอยู่ในระหว่าง "ลาหยุดพักรักษาตัว" ไม่ได้เข้าประชุม ความจริงเคยมีครั้งหนึ่งที่ปรีดีอยู่ระหว่างเยือนต่างประเทศ ไม่ได้เข้าประชุม แต่ยังเสนอความเห็นมาให้ ครั้งนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตีพิมพ์พระบรมฉายาลักษณ์บนธนบัตร ความเห็นของปรีดีทำให้ที่ประชุมถึงกับตัดสินใจยับยั้งการดำเนินการไว้ก่อน เพื่อรอปรีดีกลับ(เรื่องนี้มีความน่าสนใจไม่น้อย ซึ่งจะเล่าในโอกาสหลัง) แต่ครั้งนี้ ไม่มีการบันทึกว่าปรีดีเสนอความเห็นอะไร ทั้งๆ ที่มี นายปพาฬ บุญ-หลวง เลขานุการ รัฐมนตรีการต่างประเทศ เข้าประชุมแทน

ลักษณะ รวบรัดตัดตอนไม่มีหัวไม่มีหางของการกำหนดวันชาติเช่นนี้ ทำให้ในการประชุม ครม.ครั้งต่อไปวันที่ 18 กรกฎาคม 2481 นายดิเรก ชัยนาม ซึ่งเป็นเลขาธิการ ครม. ต้องนำเรื่องเข้าสู่วาระอีกครั้ง เพราะมติครั้งแรกไม่มีรายละเอียดว่าจะให้ทำอย่างไรต่อ "ขอหารือว่าเรื่องนี้จะควรแจ้งให้ กระทรวงทบวงกรมต่างๆ ทราบและควรออกประกาศเพียงใดหรือไม่" ซึ่งหลวงวิจิตรฯเสนอว่า (1) ควรแจ้งให้กระทรวงทบวงกรมต่างๆ ทราบ โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูต" เพราะปรากฏว่าในหนังสือบางฉบับ เช่น Almanac มีบอกวันชาติต่างๆ ไว้ด้วย ถ้าบอกไว้คลาดเคลื่อน หรือมิได้บอกวันชาติของเราไว้ ก็ให้ติดต่อให้เขาทราบเสียด้วย" และ (2) "เรื่องเพลงชาติเคยประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่องวันชาติก็ควรประกาศเช่นเดียวกัน"

หม่อมเจ้าวรรณฯเสนอ ว่า "เรื่องวันชาตินี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเคยเสนอเป็นพระราชบัญญัติ โดยกำหนดวันที่ 24 มิถุนายน เหมือนกัน แล้วตกไป ฉะนั้น ประกาศควรกล่าวว่า "ย่อมนิยมว่าเป็นวันชาติ"

ที่ประชุมตกลงให้ทำตามที่หลวง วิจิตรฯเสนอ โดยให้ทำเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ในราชกิจจานุเบกษา ในการประชุมครั้งนี้ปรีดียังคงลาป่วย ไม่เข้าประชุม มีนายปพาฬ บุญ-หลง ประชุมแทน

นี่เองคือที่มาของประกาศให้ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ รวมทั้งของข้อความแปลกๆ "ย่อมนิยมว่าเป็นวันชาติ" ข้างต้น

24 มิถุนายน เป็น "วันชาติ" อยู่ 21 ปี ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2503 มี "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย" ลงนาม "จอมพล ส.ธนะรัชต์" นายกรัฐมนตรี(ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 77 ตอน 43, หน้า 1452+1453) ต่างจากประกาศที่ให้ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ ซึ่งส่วนเนื้อหามีความยาวเพียง 2 บรรทัด ในราชกิจจานุเบกษา

ประกาศฉบับหลังนี้ มีความยาวประมาณ 26 บรรทัด!

นับ ว่ายาวไม่น้อย สำหรับเรื่องเพียงเรื่องเดียว และถ้าความสั้น ไม่มีเหตุผลอธิบายประกอบเลยของประกาศฉบับแรก จะชวนให้ผิดหวังว่าไม่สมกับความใหญ่ของเรื่อง

การที่รัฐบาล สฤษดิ์อุตส่าห์เสียเวลา ไม่เพียงร่างประกาศที่ยาวพอสมควรแต่ (ดังจะเห็นต่อไป) ก่อนหน้านั้นถึงกับต้องตั้งเป็น "คณะกรรมการ" เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ก็ชวนให้แปลกใจได้ไม่น้อย เพราะภาพลักษณ์ของรัฐบาลสฤษดิ์ คือ รัฐบาลที่มีอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ ที่กระตือรือร้นจะรื้อฟื้นอุดมการณ์อันเป็นปฏิปักษ์ต่อ 2475 อย่างเป็นระบบ

คำ อธิบายของเรื่องนี้คือ ในปี 2503 แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะล่วงเลยไปแล้วถึง 28 ปี และไม่ใช่สิ่งที่จะมีความหมายหรือเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้คนอย่างมากมายอะไร อีก แต่ในจิตสำนึกของชนชั้นที่มีการศึกษา ซึ่งที่สำคัญไม่น้อยได้แก่คนในวงการรัฐบาลและระบบราชการเอง(กรณีทวี บุณยเกตุ ผู้ก่อการคนหนึ่ง และ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มีความเคารพปรีดี เป็นรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และผู้ว่าการธนาคารชาติของสฤษดิ์ เป็นเพียงตัวอย่างที่เด่นชัด) 24 มิถุนายน ยังมีความสำคัญในฐานะจุดเริ่มต้นของระบอบการปกครองแบบใหม่ที่เป็นไปในทิศทาง ประชาธิปไตยและการปกครองด้วยกฎหมาย การจะยกเลิกวันนี้ ในฐานะวันชาติ จึงไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ(คิดว่า ความรู้สึกด้านลบต่อ 2475 ในหมู่ปัญญาชน เพิ่งมาเกิดขึ้นจริงๆ ในช่วงใกล้ทศวรรษ 2510 แล้ว) สฤษดิ์จึงต้องทำให้ดูเหมือนกับเป็นเรื่องที่ทำอย่างมีขั้นตอนและสมเหตุสมผล ดังที่ปรากฏในประกาศฉบับดังกล่าว ดังนี้

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย
ด้วย คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามที่ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในวันที่ 24 มิถุนายน นั้น ได้ปรากฏในภายหลังว่า มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ในด้านประชาชนและหนังสือพิมพ์ก็ได้เสนอแนะให้พิจารณาในเรื่องนี้หลายครั้ง หลายคราว คณะรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยมี พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐนตรีเป็นประธาน

คณะกรรมการนี้ได้พิจารณาแล้ว เสนอความเห็นว่า ประเทศต่างๆ ได้เลือกถือวันใดวันหนึ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับชนในชาติต่างๆ กัน โดยถือเอาวันประกาศเอกราช วันอิสรภาพ วันตั้งถิ่นฐาน วันสาธารณรัฐ วันสถาปนาพระราชวงศ์บ้าง ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติโดยทั่วไปนั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น แม้ประเทศไทยเราเองก็ได้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยมา แล้ว เพิ่งจะมากำหนดเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ เพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งในระยะหลังนี้เอง

คณะกรรมการจึงมีความ เห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นหลักการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตรยิ์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ต่อไป โดยยกเลิกวันชาติ ในวันที่ 24 มิถุนายน เสีย

คณะ รัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบด้วย จึงได้ลงมติให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2481 เรื่อง วันชาติ นั้นเสีย และให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยด้วย ต่อไปตั้งแต่บัดนี้

ประกาศ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2503

จอมพล ส.ธนะรัชต์

นายกรัฐมนตรี

หลัง จากนั้น 2 สัปดาห์(8 มิถุนายน 2503) รัฐบาลก็ออกประกาศอีกฉบับหนึ่งยกเลิกการหยุดราชการในวันที่ 24 มิถุนายน เพราะไม่ใช่วันชาติอีกต่อไป(ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 77 ตอนที่ 49, หน้า ฉบับพิเศษ หน้า 1)

ตามด้วยประกาศลงวันที่ 20 มิถุนายน 2503 ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับระเบียบการชักธงชาติ ที่ให้ชักและประดับธงชาติในวันที่ 23 ถึง 25 มิถุนายน(ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 77 ตอนที่ 51, หน้า 1566)

สิ่งที่ต้องสังเกตคือ โดยประกาศเหล่านี้ สฤษดิ์ ไม่เพียงแต่ยกเลิก 24 มิถุนายน ในฐานะวันชาติเท่านั้น แต่ยังยกเลิก 24 มิถุนายน ในฐานะวันหยุด หรือวันสำคัญทางราชการโดยสิ้นเชิงด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดเผยให้เห็นว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเปลี่ยนวันชาติเท่านั้น เพราะถ้าลำพังเป็นเรื่องเปลี่ยนวันชาติ ต่อให้มีเหตุผลเพียงพอที่จะเปลี่ยน ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่สามารถรักษาวันที่ 24 มิถุนายน ไว้ ในฐานะวันสำคัญทางราชการ ดังที่ได้เห็นก่อนหน้านี้ในบทความนี้ว่า ในปลายปี 2480 เคยมีการกำหนดให้ 24 มิถุนายน เป็น "วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ" สฤษดิ์ หรือ "คณะกรรมการ" ที่เขาตั้ง สามารถกำหนดให้ 24 มิถุนายน กลับไปเป็น "วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ" หรืออะไรทำนองนั้นก็ได้ การเลิก 24 มิถุนายน ในฐานะวันสำคัญทางราชการโดยสิ้นเชิงนี้ ไม่มีการให้เหตุผลประกอบใดๆ ทั้งสิ้น

สำหรับเหตุผลที่ "คณะกรรมการ" ให้ว่าประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยทั่วไปถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันชาตินั้น ก็ไม่จริงเสมอไป กรณีเดนมาร์ก ซึ่ง "คณะกรรมการ" ยกเป็นตัวอย่าง ฉลองวันชาติในวันที่ 5 มิถุนายน โดยถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 1849 ได้รับการรับรองครั้งสุดท้าย เมื่อ 5 มิถุนายน 1953 (ปัจจุบัน เบลเยียม สเปน สวีเดน ซึ่งมีกษัตริย์เป็นประมุข ก็ไม่ได้ฉลองวันพระราชสมภพในฐานะวันชาติแต่อย่างใด)

และคงจะ จำได้ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 กรกฎาคม องค์ประธาน "คณะกรรมการ" ที่เสนอให้เปลี่ยนวันชาติของสฤษดิ์ กรมหมื่นนราธิปฯ สมัยมีพระยศเป็น "หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร" ทรงกล่าวเองว่า "ควรเป็นวันที่ 10 ธันวาคม เพราะวันเฉลิมมีเปลี่ยน"

น่าเสียดายว่า ถึงปี 2503 รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้กลายเป็นการจดบันทึกแบบสรุปด้วยภาษาราชการล้วนๆ ไม่มีการบันทึกอีกต่อไปว่า ใครพูดอะไรจริงๆ บ้างแม้แต่น้อย

กรณีการ เปลี่ยนวันชาตินี้ผู้เขียนอ่านพบว่า ได้รับการพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2503 ซึ่งเป็นการประชุม "ครั้งพิเศษ" ที่ "บ้านรับรองเขาสามมุข บางแสน จังหวัดชลบุรี" (สฤษดิ์ชอบไป "พักผ่อน" ที่นั่น) โดยเป็นวาระที่ 11 ในการประชุมครั้งนั้น ภายใต้หัวข้อ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย

บันทึก การประชุมวาระนี้ เริ่มต้นว่า "ตามมติคณะรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการ โดยมี พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาเรื่องวันชาตินั้น บัดนี้ คณะกรรมการรายงานว่า ได้พิจารณาแล้วเสนอความเห็นว่า..."

จากนั้นเป็นข้อความแบบ เดียวกับย่อหน้าที่ 2 และ 3 ของประกาศยกเลิก 24 มิถุนายนเป็นวันชาติข้างต้น แล้วตามด้วยการบันทึก "มติ" ว่า ที่ประชุม "เห็นชอบด้วยให้ยกเลิก...." ซึ่งตรงกับข้อความในย่อหน้าที่ 4 โดยมีข้อความในวงเล็บต่อท้ายว่า "มีแก้ถ้อยคำในร่างประกาศฯเล็กน้อย" สรุปแล้ว ส่วนที่บันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรี ต่างจากตัวประกาศ ก็เพียงย่อหน้าแรกสุดของประกาศที่อ้างว่าการเอา 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ "มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ" และมีประชาชนและหนังสือพิมพ์เรียกร้องให้พิจารณาใหม่

ผู้เขียนยังค้นไม่พบว่า ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีของสฤษดิ์ได้ประชุมพิจารณาเรื่องวันชาติและมีมติให้ตั้ง "คณะกรรมการ" ชุด "เสด็จในกรมฯ" ตั้งแต่เมื่อไร

ที่มา: มติชน วันที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9307

หมายเหตุ : ดร.สม ศักดิ์ได้เขียนบทความฉบับเต็มเรื่อง "ประวัติศาสตร์วันชาติ จาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา" ในนิตยสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 เม.ย.-มิ.ย. 2547

ที่มา fb ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง

วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ดวงจำปา: ขยายความต่อ "กรณีประเทศไทย กับ ศาลอาญาระหว่างประเทศ"

โดย ดวงจำปา
ที่มา เฟสบุค Doungchampa Spencer
19 ธันวาคม 2554


ใน ขณะนี้ ดิฉันเห็นการโพสต์หลายเรื่อง ซึ่งมีนักวิชาการหลายท่านได้เขียนบทความ ด้วยการนำเอาศัพท์ทางเทคนิคมาใช้ จนกลายเป็นเรื่องที่สร้างความงุนงงออกไป เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็ขอสรุปแบบง่ายๆ นะคะ


 ประวัติโดยสังเขป: ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาธรรมนูญกรุงโรมไปเมื่อปี พ.ศ. 2543 แต่ยังไม่ได้เป็นรัฐภาคีโดยสมบูรณ์ เนื่องจากว่ายังไม่ได้ลงนามให้สัตยาบัน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Ratification

เนื่องจากเหตุการณ์ที่มีผู้สูญเสีย ชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เมื่อเดือน เมษายน / พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2553 ระบบยุติธรรมของประเทศไทยก็ยังไม่มีการลงโทษผู้กระทำความผิดแต่ประการใด (นอกจากการตั้งขอหา ยัดเอาแกนนำ และ ประชาชนเสื้อแดงเข้าไปอยู่ในคุก) จนกระทั่งมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ในเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งนำโดย คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกพรรคนี้เข้าไป ก็ตั้งความหวังว่า จะได้รัฐบาลที่กระทำการปฎิบัติตามนิติรัฐและนำความยุติธรรมกลับคืนมาสู่ ประเทศ

สิ่งหนึ่งในความปรารถนาต่อความสงบสุขก็คือ การนำเอาระบบยุติธรรมของนานาชาติเข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสินพิจารณาคดีด้วย กล่าวคือ การลงนามอย่างเป็นทางการ (ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง) ให้กับศาลอาญาระหว่างประเทศ

ขอย้อนอดีตกลับไปนิดหนึ่ง คือเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554 ทนายความโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ได้ทำการถ่ายทอดวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์จากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเรื่องดำเนินการต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ในข้อหาของเรื่องอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ

และที่เพิ่งผ่านมาเมื่อ วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เราได้เห็นข่าวของท่าน สส สุนัย จุลพงศธร เข้าไปยื่นหนังสือต่อสำนักอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ ขอร้องให้เปิดคดีการสอบสวนในะเรื่องการปราบปรามประชาชนซึ่งมีการเสียชีวิต โดยทางฝ่ายรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

พร้อมกับมีบทความหลาย เรื่องออกมาโพสต์เกี่ยวกับศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยอ้างถึงอนุสัญญาธรรมนูญกรุงโรม, ให้รัฐบาลทำการลงสัตยาบัน และ ให้การยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ

0 0 0 0 0

เลย ตัดสินใจเขียน blog ชิ้นนี้ เพื่อความเข้าใจอย่างง่ายๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนว่า มันเป็นเรื่องคนละอย่างกัน จะมาผสมปนเปกันไม่ได้





1. การยอมรับอำนาจศาลจากศาลอาญาระหว่างประเทศ: เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กล่าวขึ้นมาพอสมควรในเรื่องการนำผู้ที่ออกคำสั่งทั้งหมดมาลงโทษ โดยใช้อำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ

หลักการใช้: กรณีการยอมรับอำนาจศาลจากศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น เนื่องจากว่า ประเทศนั้นๆ ยังไม่เป็นสมาชิกในรัฐภาคี ตามหลักการกล่าวคือ การนำเอาบทอนุสัญญาธรรมนูญกรุงโรมมาตรา 12 วงเล็บ 3 เข้ามาปฎิบัติ มีผลบังคับใช้ 60 วันหลังจากการยอมรับอำนาจศาลกับศาลอาญาระหว่างประเทศ

กรณีเช่นนี้ สามารถเกิดขึ้นได้เป็นคดีๆ ไป หรือเรียกว่า กรณีเฉพาะกิจ (ad hoc)

และถ้าดูลึกๆ ลงไปแล้ว จะต้องมีการพิจารณาว่า ศาลของประเทศไทยไม่มีความสามารถหรือไม่มีความประสงค์ที่จะพิจารณาคดีเหล่านี้ด้วยหรือไม่

การรับรอง: รัฐบาลหรือผู้แทนของรัฐบาล สามารถยื่นเอกสารที่ลงนามอย่างเป็นทางการให้กับศาลอาญาระหว่างประเทศ เนื่องจากเรื่องนี้ เป็นการกระทำฝ่ายเดียวของรัฐ หรือ Unilateral act of State จึงไม่ต้องมีการผ่านรัฐสภา ด้วยมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

การ บังคับใช้ย้อนหลัง: มีการถกเถียงในเรื่องนี้ว่า ถ้าประเทศไทยประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลแล้ว จะนำมาใช้ในการดำเนินคดีกับผู้ออกคำสั่งของการปราบปรามคนเสื้อแดงในเดิอน เมษายนและพฤษภาคมของ ปี พ.ศ. 2553 ได้หรือไม่?

ตามหลักการแล้ว จะต้องดูว่า เหตุการณ์ที่เป็นอาชญากรรมร้ายแรง (อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ) นั้น ได้สิ้นสุดลงหรือยัง หรือว่าเหตุการณ์นั้น ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ถ้ายังเป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง การยอมรับอำนาจศาล ก็สามารถนำมาใช้ได้

แต่สำหรับเหตุการณ์เมื่อเดือน เมษายน / พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2553 นั้น มันได้สิ้นสุดลงไปแล้ว (และมีการเปลี่ยนรัฐบาลบริหารประเทศ) โอกาสที่จะนำเรื่องนี้ มาเป็นผลใช้บังคับย้อนหลัง ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการพิจารณาคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ

อาจจะมีเรื่องทางเทคนิคเข้ามาเกี่ยวข้องได้ อยู่ที่การตีความด้วยในประเด็นย้อนหลัง

ความเป็นไปได้: การ ที่รัฐบาลไทยยอมรับให้อำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศมีสิทธิพิจารณาคดีนั้น ฝ่ายการเมืองพรรคตรงข้าม จะหาเรื่องหยิบประเด็นและทำการประโคมเรื่องทันทีว่า เป็นการลุล่วงพระราชอำนาจเพราะศาลจะต้องกระทำการตัดสินคดีภายใต้พระ ปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น อาจจะมีการโยงไปถึงความไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยฝ่ายของ รัฐบาล ในเรื่องการให้องค์กรจากต่างประเทศเข้ามารุกรานอธิปไตยของประเทศเสียด้วยซ้ำ

การ ตีความรวมไปถึงการเซ็นรับรองเอกสารในเรื่องการกระทำฝ่ายเดียวของรัฐ อาจจะถูกฝ่ายค้านดำเนินการ โดยยื่นเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญว่า การกระทำโดยการให้ศาลของประเทศอื่นมามีอำนาจเหนือศาลไทยนัั้น เป็นการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ก็ไม่ยอมผ่านรัฐสภา หรืออ้างเหตุผลอื่นๆ ประกอบ ท่านผู้อ่านก็คงจะทราบเองว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องหรือไม่ หรือควรจะตัดสินออกมาในรูปไหน

ถึง แม้ว่าจะเป็นการกระทำของรัฐฝ่ายเดียวก็ตาม แต่ฝ่ายตรงกันข้ามจะ "พาลหาเรื่อง" และพยายาม "สร้างมาตรฐานใหม่" ดังนั้น ดิฉันจะไม่แปลกใจเลย ถ้าเรื่องนี้ ถูกส่งขึ้นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ และมีการตัดสินแปลกๆ ว่า "รัฐบาลทำผิด" ซึ่งเราก็เห็นๆ กันมาหลายครั้ง ในคำตัดสินที่ค้านต่อสายตาชาวโลก (แถมห้ามวิจารณ์ในคำตัดสินเสียด้วย)

ศาล ที่เทียบเท่ากับศาลสูงสุดของประเทศไทยคงจะแย้งในเรื่องนี้ว่า ศาลไทยเอง "มีความสามารถ" และ "มีความประสงค์" ที่จะตัดสินคดีเหล่านี้ จึงอาจจะทำให้เรื่องของการเสริมเขตอำนาจภายในประเทศเข้ามาใช้ก่อนที่จะ สามารถยอมรับอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศได้

สรุป: โอกาส ที่จะเกิดเรื่องของการยอมรับอำนาจศาลจากศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น มันแทบเป็นไปไม่ได้เลย และญาติของวีรชนที่เสียชีวิตไปและบรรดาผู้บาดเจ็บต่อการปราบปรามทั้งหลาย จะต้องเรียกหาความยุติธรรมจากศาลไทยแทน เพื่อดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดเท่านั้น


0 0 0 0 0


2. การลงสัตยาบันให้กับศาลอาญาระหว่างประเทศ: การลงสัตยาบันนั้น กระทำเพื่อให้ประเทศเป็นสมาชิกในรัฐภาคีโดยสมบูรณ์ เต็มไปด้วยสิทธิการยอมรับอำนาจศาล มีการพิจารณาตามหลักการยุติธรรมโดยกฎหมายระหว่างประเทศ รวมไปถึง การเสนอชื่อผู้พิพากษาไทยขึ้นไปปฎิบัติหน้าที่ในศาลอาญาระหว่างประเทศได้ ด้วย

หลักการใช้: เมื่อ รัฐบาลลงนามในสัตยาบันแล้ว จะมีผลบังคับใช้ 60 วันหลังจากการลงนาม สามารถใช้ได้ทุกกรณีที่ภายในประเทศมีวิกฤติการณ์รุนแรงและมีผู้เสียชีวิต เป็นการยอมรับให้ศาลอาญาระหว่างประเทศสามารถเข้ามาดำเนินคดีได้ เมื่อศาลของประเทศไทยไม่สามารถหรือไม่ปรารถนาที่จะดำเนินการในคดีนั้นๆ

ศาลอาญาระหว่างประเทศจะไม่เข้ามาแทรกแทรงก่อน เพราะเป็นการเสริมเขตอำนาจภายในประเทศอยู่แล้ว ภ่าษาอังกฤษเรียกว่า Complementary

การรับรอง: ตามความเข้าใจของดิฉัน เรื่องการลงสัตยาบันนี้ น่าจะต้องผ่านรัฐสภาก่อน โดยอ้าง: ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรค 2 ซึ่งกล่าวว่า "การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาที่จะต้องตราพระราชบัญญัติอนุวัติการสนธิสัญญาดัง กล่าว ฝ่ายบริหารจะต้องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ" ดังนั้น ทางฝ่ายรัฐบาลจะต้องเสนอเรื่องนี้ เข้าไปในรัฐสภาก่อน เพื่อการดำเนินการให้ถูกต้องตามลายลักษณ์อักษรและตามหลักการของรัฐธรรมนูญ

State Party ในความหมายของอนุสัญญาธรรมนูญกรุงโรม แปลกันว่า "รัฐภาคี" ซึ่งตรงกับมาตรา 190 วรรค 2 นี้ (ถ้ายังไม่มีการแก้ไขมาตรา 190 ก่อน ดิฉันคาดว่าจะต้องเสนอเรื่องเข้าสู่รัฐสภา เพื่อการพิจารณาลงมติค่ะ)

(ตาม ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา หมวดที่ 1 ข้อที่ 3 ระบุว่า ""สมาชิกรัฐสภา" หมายถึง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา และ "การประชุมรัฐสภา" หมายถึง การประชุมร่วมกันของรัฐสภา และให้หมายความรวมถึงการประชุมวุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในระหว่างที่สภาผู้แทน ราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ)

การบังคับใช้ย้อนหลัง: ไม่สามารถกระทำได้

ความเป็นไปได้: เรื่อง นี้ ประชาชนที่เลือกรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารประเทศ ต้องการให้ดำเนินการให้เรื่องการลงสัตยาบันกับศาลอาญาระหว่างประเทศนี้ ได้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เพราะประชาชนส่วนใหญ่มีความหวังว่า จะนำเอาผู้กระทำผิดในเหตุการณ์เดือนเมษายน และ เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เข้ามาลงโทษได้ (แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นเรื่องย้อนหลัง ซึ่งอาจจะไม่สามารถนำเข้ามาสู่การพิจารณาคดีได้ เพราะประเทศไทยยังไม่ได้ลงสัตยาบันให้กับอนุสัญญาธรรมนูญกรุงโรม)

ประชาชน หลายฝ่ายเริ่มกระทำการกดดันให้รัฐบาลกระทำการลงสัตยาบันเสียที เพื่อป้องกันฝ่ายเผด็จการเข้ามาทำร้ายประชาชนมือเปล่าอีก แต่ทางรัฐบาลยังไม่ได้นำเรื่องนี้เข้าไปสู่รัฐสภาเสียที หรือ อาจจะเป็นไปได้ ที่ทางรัฐบาลต้องการประวิงเวลา เพื่อการต่อรองทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างบุคคลสองกลุ่มใหญ่ที่เรา ก็ทราบๆ กันอยู่ว่าเป็นใคร

สำหรับความเห็นส่วนตัวของดิฉันในเรื่อง นี้ ถ้ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยเสนอเรื่องการลงสัตยาบันให้กับศาลอาญาระหว่างประเทศ เข้าสู่รัฐสภา น่าจะผ่านคะแนนเสียงในรัฐสภาได้โดยไม่ยากนัก นอกจากกลุ่ม สว ลากตั้ง จะเป็นผู้ฉุดให้เรื่องนี้พีงครืนลงมา คราวนี้ประชาชนก็คงจะจองเวรกับท่านวรนุชเหล่านี้ แทนที่จะเป็นกับรัฐบาล (ซึ่งน่าจะเป็นการท้าทายที่ดีในการทำการประชาสัมพันธ์ให้กับรัฐบาล และลดความกดดันลงมาด้วยนะคะ คือรัฐบาลทำแล้ว แต่ถูกพวกวรนุชนี้ คว่ำข้อเสนอ ความกดดันจะตกไปอยู่กับ สว ลากตั้งทั้งหมด)

แท้จริงแล้ว ดิฉันคิดว่า มันมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลมีความหวั่นวิตกและความหวาดกลัวต่อฝ่ายตรง ข้ามมากกว่า (โดยเฉพาะจากพวกที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายอำมาตย์และมือที่มองไม่เห็น) ที่จะดำเนินการเริ่มก่อตัวรวมตัวเพื่อประท้วงอย่างรุนแรงหลังจากที่มีการลง นามสัตยาบันแล้ว จนรัฐบาลจะต้องดำเนินการปราบปรามแบบเดียวกันกับที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เคยกระทำ มาก่อน จากนั้นพวกป่วนเมืองเหล่านี้ ก็สามารถหาเรื่องเข้าใส่รัฐบาลจนได้และจะต้องถูกดำเนินคดีโดยศาลอาญาระหว่าง ประเทศ ถ้ากลัวว่า เรื่องมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ อย่าไปยื่นเสนออะไรให้กับรัฐสภาเพื่อเปลืองตัวเจ็บตัวเสียดีกว่า

สรุป: เรื่อง นี้ อาจจะมีการอ้างเหตุผล ด้วยการดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาอีกในเรื่องของการให้ประเทศอื่น สามารถเข้ามาตัดสินอยู่เหนือพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอ้างถึงความน่าเชื่อถือและความไม่จำเป็น ด้วยอ้างเหตุผลที่ว่า ระบบศาลยุติธรรมของประเทศไทยนั้น เป็นมาตรฐานดีอยู่แล้วต่อสากลโลก

ดัง นั้น รัฐบาลก็คงจะไม่มีการดำเนินการรีบเร่งใดๆ ในเรื่องการลงสัตยายันทั้งสิ้น แต่มียุทธวิธี ที่จะทำการประวิงเวลาต่อไป เพื่อลดความกดดัน และเบี่ยงเบนความสนใจไปที่เรื่องอื่นๆ แทน เป็นต้นว่า ประโคมข่าวในเรื่องการปราบปรามเวปหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ มากกว่า การลงสัตยาบันให้กับศาลอาญาระหว่างประเทศ

ประชาชนจะต้องกดดันต่อไป หรือ เลือกพรรคการเมือง (ถ้ามีการเลือกตั้งคราวหน้า) ซึ่งสัญญาว่า จะนำเอาการลงนามสัตยาบันกับศาลอาญาระหว่างประเทศ มาเป็นนโยบายในการหาเสียงรวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้รัฐบาลนี้ัยังคงบริหารราชการบ้านเมืองอยู่ได้ ประชาชนก็คงจะต้องช่วยผนึกกำลังช่วยเหลือรัฐบาลด้วยความชอบธรรม ถ้ามีการขัดขวางหรือต่อต้านจากฝ่ายตรงข้าม ที่ปฎิเสธการยอมรับในเรื่องของการลงสัตยาบันให้กับศาลอาญาระหว่างประเทศ


0 0 0 0 0

ใน ทั้งสองกรณีที่กล่าวมา คือ โดยการปฎิบัตินั้น การยอมรับอำนาจศาลจากศาลอาญาระหว่างประเทศ และ การลงสัตยาบันให้กับศาลอาญาระหว่างประเทศ ศาลอาญาระหว่างประเทศน่าจะสามารถมีเขตอำนาจในประเทศไทยได้ ตั้งแต่วันที่ประกาศใช้

                                                        0 0 0 0 0



เรื่องของทนายความโรเบิร์ต อัมเสตอร์ดัม มันเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

เรื่อง ของทนายความ โรเบิร์ต อัมเสตอร์ดัม เป็นการยื่นคำฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศโดยการนำเอาสัญชาติอังกฤษของนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาพิจารณาคดีในฐานะผู้กระทำความผิด เนื่องจากประเทศอังกฤษเป็นประเทศในรัฐภาคี การดำเนินการนี้ จะกระทำได้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแต่เพียงผู้เดียว ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลฝ่ายบริหาร (และอาจจะเป็นผู้รับผิดชอบในการสั่งการด้วย)

สำหรับ บุคคลอื่นๆ นั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องในกรณีที่ทนายความโรเบิร์ต อัมเสตอร์ดัมยื่นฟ้อง เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิกในรัฐภาคี (ยังไม่ได้ลงสัตยาบัน และคิดว่า คงจะไม่ยอมรับอำนาจศาลจากศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาตัดสินคดีด้วย ตามเหตุผลที่อ้างไว้ดังกล่าวข้างต้น)

เรื่องนี้ จะต้องดูการตีความของสัญชาตินายอภิสิทธิ์ โดยทางศาลอาญาระหว่างประเทศด้วยว่า เป็นอย่างไร ถ้าเขาตีความว่ามีสองสัญชาติจริงและนายอภิสิทธิ์ยังไม่ได้สละสัญชาติอังกฤษ ทางอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศอาจจะกระทำการยื่นฟ้องได้

ทนายความอัมสเตอร์ดัมเอง ได้กล่าวไว้เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ๋์ พ.ศ. 2554 ว่า " ..... แต่ข้อเท็จจริงคือประเทศไทยไม่ได้ลงนามในศาลอาญาระหว่างประเทศ ...... ณ วันนี้ นายมาร์ค อภิสิทธิ์ล้มเหลวที่จะแสดงเอกสารว่าเขาได้สละสัญชาติอังกฤษแล้ว เป็นการย้ำว่าประเด็นที่นายมาร์คเป็นและยังคงถือสัญชาติอังกฤษอยู่นั้นเป็น เรื่องจริง ดังนั้นเขาจึงตกอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ......" และ " ....อย่างไรก็ตาม แม้เราจะยกเรื่องเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศและประเด็นการรับพิจารณาคดี เหตุการณ์ในประเทศไทย แต่โอกาสที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับพิจารณาคดียังคงมีน้อย...." ตามบทความอ้างอิงนี้: จดหมายเปิดผนึกจากโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมถึงพี่น้องเสื้อแดง

0 0 0 0 0

เรื่องที่ ท่าน สส สุนัย จุลพงศธร ไปยื่นเรื่องที่ศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น มันช่วยอะไรได้บ้าง?

ท่าน สส สุนัย จุลพงศธร ไปยื่นเรื่องที่สำนักอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เพื่อขอร้องให้ทางศาลอาญาระหว่างประเทศ เปิดการสอบสวนในคดีการปราบปรามประชาชนเมื่อเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 โดยการขอร้องให้นำเอาหลักการตามอนุสัญญาธรรมนูญกรุงโรม มาตรา 12 วงเล็บ 3 ว่าด้วย การพิจารณาคดีของประเทศที่ยังไม่เป็นรัฐภาคี มาเป็นเรื่องอ้างอิง

สำนักงานอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ สามารถรับเรื่องไว้ได้ ซึ่งดิฉันเคยกล่าวหลายครั้งว่า เปรียบเสมือนกับ นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ เข้าไปยื่นหนังสือให้กับทางสถานฑูตสหรัฐอเมริกา และ สำนักงาน UN ในประเทศไทย การยื่นหนังสือ ไม่ได้หมายความว่า ผู้รับจะต้องปฎิบัติตามข้อเรียกร้องโดยเสมอไป ฉันใดก็ฉันนั้น

สิ่ง ที่ดิฉันมั่นใจมากคือ ทางศาลอาญาระหว่างประเทศ จะไม่มีการปฎิบัติสองมาตรฐานโดยเด็ดขาด เพราะการสร้างมาตรฐานขึ้นมาใหม่ มันมีผลกระทบต่ออีก 120 กว่าประเทศในโลกไปด้วย

การวิเคราะห์ต่อคำถามที่มีในเรื่องนี้คือ:

1. ทางรัฐหรือตัวแทนของรัฐ ยินยอมในเรื่องอำนาจของศาลหรือยัง? อนุสัญญาธรรมนูญกรุงโรม ได้ระบุว่า รัฐจะต้องยินยอมให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ กระทำการตัดสินคดีดังกล่าวได้ การยื่นหนังสือของท่าน สส สุนัยนั้น ไม่ได้เป็นการให้รัฐยินยอม เพราะ ท่าน สส สุนัย ไม่ได้เป็นตัวแทนของรัฐ หรือ ตัวแทนของฝ่ายบริหาร ท่านไม่มีอำนาจลงนามในหนังสือยอมรับเขตอำนาจศาลของศาลอาญาระหว่างประเทศได้

หนังสือ ของท่าน สส สุนัย จุลพงศธร เป็นในรูปแบบของ request for opening the inquiry หรือ เป็นการขอร้องให้มีการสอบสวน ในนามของ ประธานกรรมาธิการฝ่ายต่างประเทศ ซึ่งเทียบเท่ากับ Committee's Chairperson ไม่ใช่การยินยอมจากทางฝ่ายรัฐบาล

2. เหตุการณ์เฉพาะกิจนั้น ได้สิ้นสุดลงไปแล้วหรือยัง? คำตอบคือ เหตุการณ์ได้สิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 การใช้อำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศมาตัดสินย้อนหลัง ไม่สามารถกระทำได้ เพราะทางรัฐบาลไม่ได้ยินยอมในเรื่องอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศตั้งแต่แรก ก่อน ศาลอาญาระหว่างประเทศจะไม่ยอมเข้ามาแทรกแทรงในอธิปไตยของประเทศไทยโดยเด็ด ขาด

3. เหตุการณ์เฉพาะกิจนั้น เข้าข่ายในสามประเด็นใหญ่ของการรับฟ้องหรือไม่? สามประเด็นที่กล่าวคือ อาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และ อาชญากรรมสงคราม ความหมายในการฟ้องนั้น มุ่งไปสู่เรื่องของ อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งทางศาลอาญาระหว่างประเทศ ให้คำจำกัดความไว้ดังนี้:

"Crimes against humanity are particularly odious offenses in that they constitute a serious attack on human dignity or grave humiliation or a degradation of one or more human beings...... However, murder, extermination, torture, rape, political, racial, or religious persecution and other inhumane acts reach the threshold of crimes against humanity only if they are part of a widespread or systematic practice."

คำแปล: "อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติคือการกระทำความผิดโดยเฉพาะอย่างน่าสะพึงกลัว กล่าวคือเป็นการโจมตีอย่างรุนแรงต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์หรือทำความ อัปยศอดสู่อย่างมหันต์หรือการก่อความเลวทรามให้กับบุคคลตั้งแต่หนึ่งคนขึ้น ไป...... อย่างไรก็ตาม, การฆาตกรรม, การกวาดล้าง, การทรมาน, การข่มขืน, การกล่าวหาฟ้องร้องทางการเมือง, ทางเชื้อชาติหรือทางศาสนาและการกระทำอื่นๆ ที่ไร้มนุษยธรรมได้เข้าไปสู่เกณฑ์ของเรื่องอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ถ้าเพียงเรื่องเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของการปฎิบัติที่ขยายเป็นวงกว้างหรือมีไปตามระบบเท่านั้น"

จากการสัมภาษณ์ของท่านผู้พิพากษาคาอูล ได้กล่าวในเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิตไว้ว่า:

"..A high death toll may be a first indication that such crimes might have been committed, but further prerequisites, in particular the legal requirements of the crimes, must be fulfilled."

"...เมื่อ เหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากอาจจะเป็นการบ่งบอกว่า อาจจะมีการกระทำอาชญากรรมนั้นๆ เกิดขึ้น แต่ข้อกำหนดเบื้องต้น โดยเฉพาะในเรื่องของสิ่งที่เรียกร้องทางกฎหมายของอาชญากรรมนั้น จะต้องมีความถูกหลักการเสียก่อน..."

ตามความคิดของดิฉันนั้น เรื่องของอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาตินั้น เข้าประเด็นแน่นอนค่ะ

4. มีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่สามารถโยงไปถึงอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติได้ บ้าง? คำจำกัดความในเรื่องนี้ อยู่ในมาตราที่ 7 ข้อที่ 1 ของอนุสัญญาธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งระบุดังนี้คือ:

...attack directed against any civilian population, with knowledge of the attack: การปราบปราบโดยตรงกับพลเมืองของประเทศ ซึ่งรับทราบเป็นอย่างดีในเรื่องการปราบปรามนั้นๆ:

การกระทำดังกล่าว มีดังต่อไปนี้:

(a) Murder; การฆาตกรรม;

(b) Extermination; การกำจัดกวาดล้างประชาชนให้สิ้นซาก;

(c) Enslavement; การนำประชาชนมาใช้งานเยี่ยงทาส;

(d) Deportation or forcible transfer of population; การเนรเทศประชาชนหรือการบังคับถ่ายเทไล่ให้ประชาชนออกไปอยู่นอกประเทศ;

(e) Imprisonment or other severe deprivation of physical liberty in violation of fundamental rules of international law; การจำคุกหรือการกีดกันอื่นๆ อันรุนแรงต่อเสรีภาพของร่างกาย ซึ่งเป็นการละเมิตต่อกฎขั้นพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ;

(f) Torture; การทรมาน;

(g) Rape, sexual slavery, enforced prostitution, forced pregnancy, enforced sterilization, or any other form of sexual violence of comparable gravity; การข่มขืน, การนำเอาบุคคลมาเป็นทาสบำเรอกาม, การบังคับให้เป็นโสเภณี, การบังคับให้มีการตั้งครรภ์, การบังคับให้ทำหมัน หรือในรูปแบบอื่นๆ ของการกระทำที่รุนแรงทางเพศที่มีความหนักหนาสาหัสเทียบเท่ากัน;

(h) Persecution against any identifiable group or collectivity on political, racial, national, ethnic, cultural, religious, gender as defined in paragraph 3, or other grounds that are universally recognized as impermissible under international law, in connection with any act referred to in this paragraph or any crime within the jurisdiction of the Court;

การฟ้องร้องต่อกลุ่มบุคคลใดๆ หรือ การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเมือง, เชื้อชาติ, สัญชาติ, เผ่าพันธุ์, วัฒนธรรมประเพณี, ศาสนา, เพศ ตามที่ระบุไว้ในย่อหน้าที่สาม หรือ ด้วยเรื่องอื่นๆ ซึ่งทางนานาอาระประเทศได้ยอมรับว่า ไม่ยินยอมได้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำใดๆ ที่กล่าวถึงในย่อหน้านี้ หรือ อาชญากรรมใดๆ ภายใต้เขตอำนาจการตัดสินของศาลอาญาระหว่างประเทศ;

(i) Enforced disappearance of persons; การใช้กำลังให้บุคคลต่างๆ สูญหายไปโดยปราศจากร่องรอย

(j) The crime of apartheid; อาชญากรรมในเรื่องการแบ่งแยกสีผิว

(k) Other inhumane acts of a similar character intentionally causing great suffering, or serious injury to body or to mental or physical health.

การ กระทำอ่ื่นๆ อย่างไร้มนุษยธรรมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ด้วยความจงใจที่จะก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างสาหัส หรือก่อให้เกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรงกับร่างกาย หรือ สุขภาพทางสมองหรือทางร่างกายด้วย...

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า การกระทำของรัฐบาลชุดที่แล้ว เข้าข่ายในเรื่องอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ตามคำจำกัดความที่กล่าวมา แต่อาจจะมีการตีความในประเด็นของจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ

ถ้า มีเรื่องการขุดศพต่างๆ หรือบุคคลที่สูญหายไปเข้ามารวมอยู่ในจำนวนนั้นด้วย อาจจะทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งหมายความว่า ยังมีการปกปิดเรื่องจริงอยู่อีก

การสรุป:

ดัง นั้น เท่าที่อ่านและตีความตามคำจำกัดความในเรื่องของอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ด้วยตนเอง: ขอสรุปว่า อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ไม่ได้หมายถึงการเสียชีวิตเท่านั้น แต่หมายถึงผลกระทบต่อประชาชนที่ยังมีชีวิตส่วนใหญ่ได้ด้วย เพราะคำจำกัดความนั้น เป็นต้นว่า การเนรเทศ หรือ การนำประชาชนไปใช้งานเยี่ยงทาสนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตแต่อย่างใด แต่มีผลกระทบกับประชาชนเป็นจำนวนมาก

ดิฉันมาดูบทความต่างๆ แล้ว เรามาเน้นถึงเรื่องการสูญเสียชีวิตกันอย่างเดียวนะคะ ถ้านับจำนวนผู้บาดเจ็บต่อการกวาดล้างรวมไปด้วย ดิฉันมั่นใจว่า เรื่องนี้สามารถเข้าข่ายได้ทันที เพราะมีผู้บาดเจ็บประมาณ 2 พันคนขึ้นไป ถ้าจำไม่ผิด

แต่เราจะไปติดในเรื่องของ การไม่ยอมรับอำนาจศาลจากศาลอาญาระหว่างประเทศ และ คดีความย้อนหลังของอาชญากรรมนั้นๆ การเดินทางของ ท่าน สส สุนัย อาจจะไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย แต่มันเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนเริ่มหันมาสร้างความกดดันให้กับรัฐบาลว่า จะดำเนินการในขั้นต่อไปอย่างไรในเรื่องนี้ เป็นต้นว่า กระทำการลงสัตยาบันเสียทีค่ะ

(ส่วนบุคคลที่ชอบออกมาให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับ เรื่องที่ว่า ควรจะเนรเทศผู้ไม่จงรักภักดีไปอยู่ที่อื่นนั้น ก็จงโปรดระวังไว้ด้วยว่า มันไปเข้าข่ายในเรื่องของอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาตินะคะ)

0 0 0 0 0

แล้วเราจะต้องทำอย่างไร เพื่อที่จะดำเนินการต่อผู้มีอำนาจออกคำสั่งการปราบปรามประชาชน?

ตอน นี้ ดิฉันยังไม่มีความคิดเห็นใดๆ นอกจากว่า การให้สัตยาบันกับศาลอาญาระหว่างประเทศ เป็นวิธีที่ดีที่สุดต่อการป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ ไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งผู้กระทำความผิดสามารถได้รับการละเว้นโทษได้

และที่น่าเศร้าใจ คือ ดิฉันไม่เห็นทางออกต่อการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตใน เหตุการณ์เมื่อเดือน เมษายน และ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 (เพราะการฟ้องร้องโดยองค์กรของนานาชาติ จะต้องยึดหลักความเคารพในอำนาจอธิปไตยของประเทศนั้นๆ ก่อน) นอกจากพึ่งทางศาลของประเทศไทย ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วว่า มันจะออกมาแบบไหน

แต่ ที่แน่นอนที่สุดคือ ประชาชนผู้รักประชาธิปไตย จะต้องคัดค้านในเรื่องการออกกฎหมายพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับทุก ฝ่ายอย่างถึงที่สุด อย่าให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ เพราะมันหมายถึงว่า กระบวนการศาลยุติธรรมโดยการดำเนินการจากศาลอาญาระหว่างประเทศอาจจะสิ้นสุด โดยทันที เนื่องจากมีการตัดสินคดีความภายใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศไทยโดยเรียบร้อย แล้ว

การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จะทำให้การตัดสินคดีความในเรื่องแบบนี้เป็นที่สิ้นสุด จะไม่มีการตัดสินเกิดขึ้นอีกจากความผิดในเรื่องเดียวกันนี้อีก ซึ่งตรงกับหลักการที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Double Jeopardy Law หรือผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดในกรณีนั้น ๆ จะไม่ถูกลงโทษซ้ำสอง

0 0 0 0 0
บทสรุป:

ประชาชน จะต้องกดดันต่อไป ในเรื่องการลงสัตยาบันกับศาลอาญาระหว่างประเทศ มันเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับอนาคต ถึงแม้ว่า จะไม่สามารถมีผลย้อนหลังก็ตาม

เลือกพรรคการเมืองที่ให้คำมั่นสัญญาใน การเลือกตั้งครั้งหน้าว่า จะนำเอาการลงนามสัตยาบันกับศาลอาญาระหว่างประเทศ มาเป็นนโยบายในการหาเสียงรวมอยู่ด้วย (ถ้ารัฐบาลปัจจุบัน ยังหลีกเลี่ยงการลงนาม)
คัดค้านการออกกฎหมายพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมอย่างเหนียวแน่น เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมได้เกิดขึ้นไปตามครรลองของมัน

ดวงจำปา สเปนเซอร์

0 0 0 0 0

บทความต่อเนื่อง:

บทความแปล: ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรที่จะเข้าเป็นรัฐภาคีกับศาลอาญาระหว่างประเทศได้แล้ว

บทความแปล: ศาลโลกไม่มีอำนาจของศาลในเรื่องของอาชญากรรมบนผืนแผ่นดินไทย

บทความแปล: เสื้อแดงยังคงไม่ท้อ หลังจากที่ศาลโลกกล่าวว่า ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้

บทความแปล: ศาลอาญาระหว่างประเทศ – คุณสมบัติสำคัญ, สถานการณ์ในปัจจุบันและการท้าทายต่อปัญหา รายงานของ ท่านผู้พิพากษา ดร. คาอูล ภาคที่ 1

บทความแปล: ศาลอาญาระหว่างประเทศ – คุณสมบัติสำคัญ, สถานการณ์ในปัจจุบันและการท้าทายต่อปัญหา รายงานของ ท่านผู้พิพากษา ดร. คาอูล ภาคที่ 2

ที่มา thaienews