วิเคราะห์สังคมไทย ตอนที่ ๒
โครงสร้างทางเศรษฐกิจ
พลังการผลิตชะงัก การปฏิวัติมาถึง
โดย นักเศรษฐศาสตร์กรรมาชีพ
เศรษฐศาสตร์การเมืองลัทธิมาร์กซ ระบุถึงวิวัฒนาการสังคมมนุษย์ที่มีพื้นฐานมาจากจุดเริ่มต้นที่พลังการผลิต ที่ทำให้ “มนุษย์ ต่างจากสัตว์และมนุษย์วานร” โดยที่มีการค้นพบและประดิษฐ์แบบ “คิดได้ทำเป็น” สะสมองค์ความรู้ทักษะการผลิตเครื่องมือ ไปสู่เครื่องจักรจนถึงหุ่นยนต์และสมองกลในปัจจุบัน
สิ่งเหล่านี้ คือมุมมองในสายตาของชาวลัทธิมาร์กซที่เห็นปรากฏการณ์ของกระบวนการการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ การพบกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ แล้วนำมาประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตปัจจัยสี่ จากง่ายๆ ไปสู่ความสลับซับซ้อน จากการค้นพบกฎเกณฑ์การควบคุมไฟ เชื้อเพลิง และความร้อน ไปสู่การค้นพบเหล็ก การหลอมโลหะ ไปจนถึงไฟฟ้า การใช้ปิโตรเลียม และนิวเคลียร์ จากการพบคานดีดคานงัด การใช้ล้อ การควบคุมสัตว์ และใช้แรงงานสัตว์ องค์ความรู้และฝีมือการสร้างสรรค์สารพัดเหล่านี้คือ “พลังการผลิต” ที่ทำให้สังคมมนุษย์ก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง จากการเก็บกิน คุ้ยกิน จับกิน ไปสู่การไล่ล่า สู่การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ ทำเองกินเอง ใช้เอง ไปจนถึงทำแบ่งปันผู้อื่นได้ นอกจากหาเลี้ยงชนชั้นตนเองแล้วยังสามารถชุบเลี้ยงนายทาสและสมุนบริวารได้ทั้งชนชั้น ชนชั้นศักดินาทั้งชนชั้น และสามารถผลิตสินค้าออกไปเลี้ยงชนชั้นนายทุนได้ทั้งชนชั้น พร้อมทั้งเลี้ยงผู้คนในสังคมมนุษย์ทั้งหมดได้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จำนวนรายการชนิดของผลผลิตในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มากกว่าผลผลิตที่มนุษย์ผลิตได้ย้อนหลังอีกแสนปี หลายเท่านัก
“พลังการผลิต” ที่ดูเหมือนจะก้าวทะยานไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องนี้ มีการ “ชะงักงัน” บ้างหรือไม่? อะไรเล่าคือกฎเกณฑ์ของการข้ามพ้นความชะงักงัน?
ปัจจุบัน “พลังการผลิต” ในสังคมไทยชะงักงัน ถดถอยและอยู่ในฐานะขาลง แล้วหรือไม่?
สถานการณ์เช่นนี้ มาถึง “สถานการณ์ปฏิวัติสังคมแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” แล้ว ใช่หรือไม่?
การปฏิวัติโครงสร้าง (พื้นฐาน) “ความสัมพันธ์ทางการผลิต” เพื่อปลดปล่อย “พลังการผลิต” มาถึงแล้วใช่หรือไม่?
หรือจะเป็นเพียงแค่การปฏิวัติโครงสร้าง (ส่วนบน) เท่านั้น? เป็นเพียงการรื้อโครงสร้าง “ความสัมพันธ์ทางการเมือง” จากระบอบราชาธิปไตยไปสู่ประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนเท่านั้น?
หรือว่า “พลังการผลิต” มิได้ถูกขัดขวางจากโครงสร้างส่วนบน !!
หรือว่า “ทั้งโครงสร้างส่วนบนและความสัมพันธ์ทางการผลิต ต่างร่วมเป็น “สองแรงบวกที่ขัดขวาง “พลังการผลิต” ของสังคมไทย !!
ดังนั้น การศึกษาทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของลักทธิมาร์กซ ที่ระบุว่า “เมื่อใดก็ตามที่โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีคู่ขัดแย้งหลัก ระหว่าง พลังการผลิตกับความสัมพันธ์ทางการผลิต ได้พัฒนามาเป็นคู่ปฏิปักษ์ ขัดขวางกัน ไม่ส่งเสริมให้พลังการผลิตก้าวไปข้างหน้า เพื่ออำนวยความอยู่ดีมีสุขให้กับประชาชน ตราบนั้น สถานการณ์จะนำไปสู่การปฏิวัติสังคม” จึงมีความสำคัญต่อนักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพอย่างยิ่ง ที่จะต้องนำหลักการ และทฤษฎีนี้ไปใช้ประสานกับข้อมูลรูปธรรมในปัจจุบัน เพื่อตรวจสภาพการณ์ทางสังคม ให้เป็นที่ประจักษ์ ทั้งสถิติ ข้อมูล ทฤษฎีและความเป็นจริง ก่อนจะวินิจฉัยว่า “ยุคแห่งการปฏิวัติของสังคมไทย ได้เดินทางมาถึงแล้วอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ความสุกงอมแห่งความขัดแย้งพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แก้ไม่ตกในตัวเอง ได้ปะทุทะลุเพดานพุ่งไปสู่ความขัดแย้งในโครงสร้างการเมืองส่วนบน เรียบร้อยแล้ว” และการปฏิวัติได้แผ่กระจายออกไปทั่วสังคม มีผลกระทบต่อชนชั้นทุกชนชั้น ว่าจะต้องถูกบีบให้เลือกข้าง และต้องเลือกท่าทีต่อสถานการณ์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และ “การปฏิวัติ” เป็นหนทางเดียวที่ต้องผ่าน โดยไม่ขึ้นต่อเจตจำนงของบุคคลแต่อย่างใด
1. โครงสร้างพลังการผลิตของไทย
โครงสร้าง “พลังการผลิต” ของประเทศไทย ประกอบด้วยสิ่งพื้นฐานในกระบวนการผลิต ได้แก่ คน เครื่องมือ เครื่องจักร ที่ดิน โรงงาน วัตถุดิบ โครงข่ายการสื่อสาร การขนส่ง น้ำประปา การไฟฟ้า น้ำมัน ถ่านหินและพลังงานต่างๆ การหมุนเวียนของพลังงาน ระบบและกระบวนการ องค์ความรู้ การวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี ทักษะ ศักยภาพของแรงงาน การบริหารจัดการ การบริการ รวมถึงปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ ที่ทำให้การผลิตสำเร็จ และส่งผลเลื่อนไหลไปสู่การผลิตซ้ำ ซึ่งสังคมไทยมีข้อมูลที่สำคัญดังนี้
ประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2554 ประชากรคาดประมาณ ณ วันกลางปี 2554 (1 กรกฎาคม) มีจำนวน 63,891,000 คน (http://www.ipsr.mahidol.ac.th/ipsr-th/PublicationGazette.html)
วัยและอายุประชากร ล้านคน
ประชากรวัยเด็ก (ต่ำกว่า 15 ปี) 13,010,000
ประชากรวัยแรงงาน (15 - 59 ปี) 43,091,000
ประชากรสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 7,790,000
ประชากรสูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) 5,212,000
ประชากรวัยเรียน (6 - 21 ปี) 15,192,000
สตรีวัยเจริญพันธุ์ (15 - 49 ปี 17,711,000
ปี 2553 พบว่า มีจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน เป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงานหรือเรียกว่าแรงงานนอกระบบ 24.1 ล้านคน หรือร้อยละ 62.3 และที่เหลือเป็นผู้ทำงานในระบบหรือแรงงานในระบบ 14.6 ล้านคน หรือร้อยละ 37.7
ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่จบการศึกษาในระดับประถมศึกษาและต่ำกว่ามากที่สุด ประมาณ 15.9 ล้านคน หรือร้อยละ 65.9 รองมาเป็นระดับมัธยมศึกษา 6.5 ล้านคน หรือ ร้อยละ 26.8 และระดับอุดมศึกษา 1.7 ล้านคน หรือ ร้อยละ 7.1 แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่เป็นผู้มีการศึกษาในระดับที่ไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับแรงงานในระบบ อาศัยอยู่ในเขตเมือง (ประชากรที่อยู่ในเขตเทศบาล และเมืองทุกประเภท) 23,078,000 คน
เขตชนบท (ประชากรที่อยู่นอกเขตเมือง) 40,813,000 คน
ประเทศไทยมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 514,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 320.7 ล้านไร่ ทั้งหมดนี้เป็นพื้นที่การเกษตรจำนวน 122.2 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 38.2 ของพื้นที่ทั้งประเทศ พื้นที่ชลประทาน มี 3.7 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 6.4 ของพื้นที่การเกษตร
2. เปรียบเทียบระดับฐานะพลังการผลิตของไทย
ระดับฐานะพลังการผลิตของสังคมไทย เป็นการเปรียบเทียบพลังการผลิตกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งมีการเปรียบเทียบถึงระดับการพลังการผลิตในแง่มุมต่างๆ เช่น ประเทศอุตสาหกรรม ประเทศเกษตรกรรม ศักยภาพในการแข่งขัน ความโปร่งใสในการทำธุรกิจ ระดับการคอร์รัปชั่น จำนวนร้อยละของการใช้โทรศัพท์มือถือ การใช้อินเตอร์เน็ต การมีโทรทัศน์ของประชากร ระดับการอ่านออกเขียนได้ การศึกษา การใช้พลังงาน งบประมาณที่ใช้ในการวิจัย ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยไม่อยู่ในฐานะประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า ไม่มีศักยภาพการผลิตทางอุตสาหกรรมหนัก อวกาศ เทคโนโลยีชั้นสูง มีศักยภาพการแข่งขันและความโปร่งใสอยู่ในระดับต่ำและมีแนวโน้มลดลง ค่าใช้จ่ายในการวิจัยศึกษาค้นคว้าต่ำมาก ไม่มีนักวิทยาศาสตร์ไทยคนใดในทุกสาขาที่เคยได้รับรางวัลโนเบลเลย
นอกจากเปรียบเทียบในส่วนของพลังการผลิตแล้ว ยังต้องดูถึง “ผลลัพธ์ที่ได้จากการผลิต” ดูระดับการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ รายได้ประชาชาติ (GDP.) และดูถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจ ด้านการผลิต การแลกเปลี่ยน การค้าขาย และการบริโภค
ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของจีดีพีในระดับๆ กลางๆ ซึ่งถูกเรียกว่า ประเทศกำลังพัฒนา แต่ในบางปี จีดีพี มีระดับสูง และบางปีมีการติดลบ การวัดระดับความเจริญของประเทศด้วยจีดีพีมุมมองเดียวหรือเป็นหลัก จะไม่สามารถเห็นระดับพลังการผลิตจริงๆ ของสังคม เพราะรายได้ประชาชน ถูกนับรวมรายได้ของคนส่วนน้อยที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตแล้วมาเฉลี่ย ทำให้เบี่ยงเบนว่า คนส่วนใหญ่มีรายได้สูงไปด้วย และจีดีพี ยังนับซ้ำกับผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบต่างประเทศที่ถูกนำมาแปรรูปหรือประกอบส่วนในประเทศแล้วส่งออกแบบยกเว้นภาษี โดยคนไทยได้รับเพียงค่าจ้างแรงงานเท่านั้น
3. สาเหตุที่ขัดขวาง ฉุดดึงพลังการผลิตของไทย
สาเหตุที่มากระทำต่อพลังการผลิตของไทยให้ถดถอย ชะงักงัน ไม่ก้าวหน้านั้น มีประเด็นอภิปรายถกเถียงกันหลายมุมมอง มีการมองสุดขั้วไปตรงข้ามว่า “ถ้าสังคมไทยมีพลังการผลิตล้าหลัง ทำไมเราเจริญกว่า ลาว พม่า เขมร” หรือกล่าวว่า “การผลิตสินค้า บริการ การส่งออกในภาพรวมร้อยกว่าปีที่ผ่านมา มีอัตราสูงขึ้นเรื่อยๆ สามารถเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมเป็นอุตสากรรมและบริการได้แล้ว แม้สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาก็พบว่า จำนวนรถยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ บ้านเรือน การขนส่ง ตึกรามบ้านช่อง แม้กระทั่งสถานที่ราชการก็ใหญ่โตหรูหรา ยอดจำหน่ายรถยนต์และสินค้าฟุ่มเฟือยตามงานแสดงสินค้ามีรายได้เกินเป้าหมายอยู่เสมอ ฯลฯ แล้วเหตุใดเล่าจึงกล่าวว่า “พลังการผลิตถดถอย” “คนอดอยากจริงหรือ?” “คนตกงานในระดับที่มีปัญหาเกินรับมือจริงหรือ?” กระทั่งเลยไปถึงคำถามทางทฤษฎีที่ว่า “เมื่อไม่มีปัญหาทางการผลิต โภคทรัพย์เหลือเฟือเช่นนี้ ทำไมจึงกล่าวว่า “สถานการณ์การปฏิวัติมาถึงแล้วด้วยเล่า เพียงแค่ปฏิรูปมิได้หรือ?
แน่นอนว่า คำถามที่ชวนกันสงสัยต่อสถานการณ์ความขัดแย้ง คู่ขัดแย้ง ระดับความขัดแย้ง และยุทธศาสตร์ยุทธวิธีแก้ไขความขัดแย้งทางสังคมนี้ นั้น มีรากเหง้าจาก “พลังการผลิตชะงักงันจริงหรือ?”
ในการตอบประเด็นดังกล่าวข้างต้น ได้มีการศึกษาค้นคว้าแล้ว ทั้งทฤษฎีลัทธิมาร์กซและข้อมูล สถิติ ที่กล่าวว่า พลังการผลิตเป็นต้นตอของการเปลี่ยนแปลงเทคนิควิธีผลิต นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เปลี่ยนความคิดรูปการจิตสำนึก และนำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนใน “ความสัมพันธ์ทางการผลิต” และก่อรูปการทางสังคมไปสู่การวางกฎเกณฑ์กติกา กฎหมายทางการเมือง ซึ่งข้อมูลได้ยืนยันทฤษฎีข้อมูลที่ได้มิใช่ปรากฏการณ์ผิวเผิน หาเกิดจากการตรวจดูด้านหลักด้านรอง และตรวจดูความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นเนื้อในของสรรพสิ่งที่มิได้ปรากฏต่อสายตาง่ายๆ โดยเฉพาะการมองและอธิบายสังคมขนาดใหญ่
แน่นอนว่า ช่วงระยะหนึ่งของพลังการผลิตมีอัตราก้าวหน้าเพราะได้รับการกระตุ้นและปลดปล่อยออกมา แต่ได้พบความเสื่อม ความถดถอยและปัญหาชะงักงัน ก้าวไปแล้วล้ม ก้าวไปแล้วล้มอยู่เช่นนี้ ผลผลิตตึกรามบ้านเรือนและโรงงานจำนวนไม่น้อยเป็นซากเน่าผุพังหาใช่เป็นพลังการผลิตที่ใช้การได้ไม่ และลุกลามเป็นวงรอบวัฏจักร ที่เติบโต รุ่งโรจน์ ชะงักงัน และฟุบ
เริ่มจากพบเทคนิคใหม่ หรือซื้อเขาเข้ามา เมื่อนำไปผลิตก็ได้มาก ผลกำไรได้มาก แบ่งกำไรได้มาก แต่พอนำกำไรไปเป็นการผลิตรอบสอง สาม สี่ฯลฯ ได้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย เพราะการลงทุนที่เน้นไปสู่การลงทุนในทุนคงที่มาก ดูแลทุนผันแปรน้อย หรือไม่ใส่ใจสนับสนุนการวิจัยพัฒนา ไม่เกื้อกูลสังคม สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการฉกชิงเอาดอกผลกำไรของสังคมไปเสพสุขท่องเที่ยว การจัดพิธีกรรม การเอาเงินไปเก็งกำไร การขนเงินออกนอกประเทศ การสร้างวัง ฯลฯ ล้วนเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการผลิตรอบใหม่ การผลิตต้องการทำซ้ำ แต่การฉกดึงเงินของสังคมที่หาได้ร่วมกันออกจากขบวนการผลิต ก็ทำซ้ำๆ หนักหนาสาหัสเพิ่มขึ้นเช่นกัน จนถึงกับก่อการรัฐประหารและเข่นฆ่าประชาชนอย่างต่อเนื่อง เป็นการขับไล่ลูกค้าและทำลายฐานการผลิตของสังคมไทยให้ถดถอยแทบจะทำให้พลังการผลิตเข้าสู่ความพินาศ
สาเหตุที่พลังการผลิตถูกทำลายหรือเติบโตในอัตราต่ำ ได้แก่
3.1 ปัจจัยภายใน
ปัจจัยภัยใน เป็นคู่ความสัมพันธ์ภายในการผลิตเอง ระหว่าง พลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิต ซึ่งสามารถอธิบายได้ถึงการเอาเปรียบแรงงานส่วนเกินของกรรมกรซึ่งเป็นพลังการผลิตที่สำคัญ ทำให้กรรมกรขาดอาหาร ขาดความรู้ ขาดศักยภาพ ขาดขวัญกำลังใจ ฯลฯ เป็นปรากฏการณ์ทั่วไปของสังคม กรรมกรรุ่นใหม่ (ลูกหลาน) ก็เติบโตอย่างขาดคุณภาพและขาดทิศทางทางการผลิต ลูกหลานแรงงานได้รับคุณภาพชีวิตต่ำเช่นเดียวกับพ่อแม่ จึงนับว่าแรงงานรุ่นใหม่ตกเป็นเหยื่อเจ้าของโรงงานด้วย และยังตกเป็นเหยื่อทางสังคมที่บั่นทอนศักยภาพของพวกเขา
3.2 ปัจจัยภายนอก
ปัจจัยภายนอกการผลิต ได้แก่ โครงสร้างทางการเมืองที่ไม่เอื้อต่อการผลิตรอบใหม่ และไม่เอื้อต่อการค้นพบสร้างสรรค์ใหม่ๆ ไปจนถึงความสัมพันธ์กับต่างประเทศที่อยู่ภายใต้การถือเอาผลประโยชน์ตนของแต่ละประเทศ รวมถึงภาพใหญ่ของสังคมทุนนิยมโลกแบบโลกาภิวัตน์นี้ ทำให้การเคลื่อนที่ของทุนเงินตราไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในสายธารการผลิตแท้ (Real sector) ของไทยได้เลย ซึ่งแม้รัฐบาลไทยและนักวิชาการเศรษฐกิจได้ตระหนักรู้ในปัญญาเหล่านี้ แต่ก็มิอาจแก้ไขปัญหาได้เลย
4. ความพินาศย่อยยับและความล้าหลังของพลังการผลิตแห่งสังคมไทยในปัจจุบัน
จากสาเหตุทั้งปัจจัยภายภายในการผลิตและปัจจัยภายนอกที่ได้กระทำต่อพลังการผลิตของสังคมดังกล่าว สามารถยกเหตุการณ์และข้อเท็จจริงที่ “พลังการผลิตแห่งสังคมถูกทำลาย” เช่น ราชสำนักดึงเอาช่างฝีมือของประชาชนไปใช้ส่วนตัว ได้แก่ ช่างเขียน ช่างแกะ
หมู่ช่างรัก ช่างบุ ช่างกลึง ช่างสลัก ช่างหล่อ ช่างผสมโลหะ ช่างปั้น ช่างปูน ช่างหุ่น ฯลฯ ซึ่งหัตถกรรมเหล่านี้เป็นพื้นฐานทางหัตถกรรม ช่างเหล่านี้ไปทำงานสร้างสรรค์แต่เรื่องที่อยู่อาศัย ศิลปะ ความบันเทิงเริงสำราญ ความสะดวกสบายส่วนตัว จนประชาชนทั่วไปไม่มีโอกาสพัฒนาช่างฝีมือไปสู่อุตสาหกรรมได้เอง
ปัจจุบัน นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ผู้ชำนาญการพิเศษในสาขาอาชีพวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี นักบริหารจัดการ อาจารย์ ศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย กรมป่าไม้ กรมชลประทาน นักการตลาด ทั้งภาครัฐและเอกชน จะถูกสั่งการนำตัวไปใช้ในโครงการพระราชดำริต่างๆ เพื่อพัฒนาพลังการผลิตส่วนตัว
นอกจากนี้ หน่วยงานราชการยังถูกดึงไปใช้ในธุรกิจอุตสาหกรรมบริการอีกด้วย เช่น โรงแรม ศูนย์การค้าของราชสำนักทั้งในและต่างประเทศ เช่น ดอยตุง ศูนย์การค้า โรงแรม วังต่างๆ สยามปาร์คที่สเปน ฯลฯ ราชสำนักจะใช้หน่วยงานราชการทั้งสถานทูต การท่องเที่ยว กรมประชาสัมพันธ์ สายการบิน ฯลฯ ไปดำเนินการหาลูกค้า เชิญชวนให้คนไปท่องเที่ยว ไปพักผ่อน ไปสัมมนาในธุรกิจบริการของราชสำนัก
สื่อมวลชนถูกนำไปใช้มอมเมาเรื่องไสยศาสตร์ สิ่งศักดิ์สิทธ์ การบันเทิงอันไร้สาระ แม้กระทั่งใช้สำหรับโฆษณาชวนเชื่อ ระดมการบริจาค การจ่ายทรัพย์ให้กับราชสำนักอย่างโจ่งแจ้ง ทุนเงินตราถูกดูดซับออกจากวงการผลิต และชนชั้นนายทุนที่นำเงินไปให้ชนชั้นศักดินาก็มาขึ้นราคาสินค้าเอากับประชาชนผู้บริโภคอีกต่อหนึ่ง
สถาบันการศึกษามอมเมาให้เยาวชนผู้เป็นพลังการผลิตของสังคมต้องง่อยเปลี้ยทางสติปัญญาด้านการผลิต เนื้อหาและกระบวนการศึกษาเป็นไปเพื่อเทิดทูนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สถาบันกษัตริย์และเศรษฐกิจโบราณแบบผลิตเองใช้เอง ซึ่งเพ้อฝันอย่างมาก ถึงกับโจมตีการผลิตสมัยใหม่ว่าเป็นเรื่องของกิเลสตัณหา ไม่ควรทำ ไม่ควรมี
โอกาสการเข้าถึงทุนเพื่อใช้ในการผลิตของนายทุนหน้าใหม่ ชนชั้นกลาง ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ค้นพบเทคโนโลยีและสิทธิบัตรใหม่ ต่างไม่มีทุนเงินตราเพียงพอในการประกอบและขยายกิจการ เพราะชนชั้นศักดินาได้ผูกขาดสถาบันการเงินไว้หมดแล้ว พวกเขาจึงเข้าตัดตอน และช่วงชิงการเข้าถึงทุนของประชาชนอย่างสิ้นเชิง แม้ได้เงินกู้มาทำกิจการอยู่บ้าง ก็จะต้องไปล้มตายเอาภายหน้าจากการควบคุม การสู้กับการผูกขาด และทั้งจากการขาดเทคโนโลยีชั้นสูง จากการขาดการวิจัย ทุนหมุนเวียนมีน้อย ในที่สุดก็ถูกเบียดขับออกจากส่วนแบ่งการตลาด และปิดกิจการไปในที่สุด
การเข้าฉกชิง ทุบตีกิจการรายย่อยของประชาชนโดยทุนผูกขาดของราชสำนักและทุนสวามิภักดิ์ ด้วยวิธีเปิดให้เช่าพื้นที่การตลาดขายสินค้าในเบื้องต้น จากนั้นก็ผลิตสินค้ามาแข่งขัน แล้วบีบให้เปลี่ยนยี่ห้อให้เป็นของรายใหญ่ จากเถ้าแก่น้อยก็กลายเป็นผู้รับจ้างผลิตตามใบสั่ง ซึ่ง จะเห็นสินค้า ประเภทสบู่ ยาสีฟัน ข้าว น้ำมันพืช ขนมขบเคี้ยว กระดาษชำระ ฯลฯ ถูกทุนผูกขาดเข้าไปยึดครองได้แทบหมดแล้ว พลังการผลิตของประชาชนไทยอยู่ในภาคส่วนผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) เป็นฐานใหญ่ จึงไม่อาจะเติบโตขยายตัวได้ มีแต่มุ่งสู่การหดตัวและล้มละลาย
แม้ในท้องตลาดจะพบสินค้าหลากหลายยี่ห้อ มาจากหลายบริษัท เช่นปูนซิเมนต์ ธนาคาร รถยนต์ ศูนย์การค้า ประกันภัย มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร ฯลฯ อันทำให้ดูเหมือนมีการแข่งขันก็ตาม แต่หากสาวลึกลงไปถึงบริษัท ก็พบว่าสินค้าหลายยี่ห้อนั้นมาจากบริษัทเดียวกันก็มี และหลายๆ บริษัทก็มาจากเจ้าของผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเล็ก ทั้งเปิดเผยและปิดบังชื่อ ก็มาจากราชสำนัก จนเป็นผู้ร่ำรวยที่สุดในตลาดหุ้นไทย และติดอันดับเศรษฐีโลก จนนายทุนรองระดับ 2 ถึงระดับ 20 รวมกัน ยังมั่งคั่งร่ำรวยไม่ถึงครึ่งหนึ่งของราชสำนัก
ซึ่งดูเหมือนจะกล่าวรวบรัด แต่ก็เป็นจริงคือระบอบราชาธิปไตย และการขึ้นต่ออำนาจของราชสำนัก เป็นปมใหญ่หรือสาเหตุหลัก ที่ราชสำนักไม่เกื้อกูลพลังการผลิตมานานแล้ว เหลือเพียงบทบาททำลายล้าง ฉุดดึง “พลังการผลิตของสังคม” แม้พลังการผลิตส่วนตัวในธุรกิจของราชสำนักที่อาจดูเจริญรุ่งเรือง ขยายตัว และมีกำไรมากก็ตาม
ดังนั้น ระบอบราชาธิปไตย และการขึ้นต่ออำนาจราชสำนักที่ไม่เกื้อกูลพลังการผลิตมานานแล้ว จึงเป็นปมใหญ่หรือสาเหตุหลัก เหลือเพียงบทบาททำลายล้าง ฉุดดึง “พลังการผลิตของสังคม” แม้พลังการผลิตส่วนตัวในธุรกิจของราชสำนักที่อาจดูเจริญรุ่งเรือง ขยายตัว และมีกำไรมากก็ตาม
ส่วนทุนโลกาภิวัตน์ และทุนจักรวรรดินิยม ก็ไม่ได้ช่วยปลดปล่อยพลังการผลิตของไทยเหมือนในอดีตอีกแล้ว เพราะระบอบทุนนิยมโลกมุ่งไปที่การเก็งกำไร ทำให้ภาคเศรษฐกิจจริง ( Real Sector ) ต้องลุกคลุกคลาน แถมทุนต่างชาติยังมักขนเอาวัตถุดิบจากที่อื่นมาผลิตในไทย โดยไม่ได้ซื้อวัตถุดิบจากประเทศไทยเลย เขามาจ้างแรงงานผลิตอย่างเดียว แล้วขนส่วนเกินจากกำไรในตัวสินค้านับหลายร้อยเท่าออกไป ทิ้งปัญหามลภาวะ ขยะ และการจัดหาสาธารณูปโภคไฟฟ้าน้ำประปา และถนนไว้ให้คนไทยแบกรับค่าใช้จ่าย
คนไทยต้องการพลังการผลิตของตนเอง และต้องการการแบ่งปันทุกชนิดอย่างเป็นธรรม ต้องการทั้งโอกาสเข้าถึงทุน เข้าถึงตลาด เข้าถึงองค์ความรู้ เข้าถึงกำไร และการแบ่งปันที่มากขึ้น เข้าถึงบริการของรัฐมากขึ้น แต่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐไม่สนองตอบต่อพื้นฐานทางสังคม ทั้งไม่เอื้ออำนวยต่อรายย่อย แต่กลับไปหนุนช่วยการผูกขาดของราชสำนักและทุนสวามิภักดิ์
นอกจากนี้ระบบองค์ความรู้ การบริหารจัดการธุรกิจและการผลิต รัฐก็มิได้ช่วยเหลือทุนรายย่อยอย่างจริงจัง ไม่ช่วยเหลือสนับสนุนให้ศักยภาพของคนรุ่นใหม่ก้าวหน้าไปเพื่อสังคมเลย ตรงข้าม พลังการผลิตของสังคมส่วนใหญ่ถูกดึงไปเป็นเครือข่ายราชสำนัก ตกเป็นลูกมือของทุนศักดินาเหนือรัฐและนายทุนสวามิภักดิ์แล้วทั้งสิ้น
5. พลังการผลิตคือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งและเป็นจุดสุดท้ายของชัยชนะ
ในสังคมไทย ที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันอุดมสมบูรณ์ อาหาร พืชผัก ผลไม้ และสัตว์ป่าหนาแน่น มีค่าเฉลี่ยจำนวนชนิดสัตว์และพืชต่อพื้นที่ตารางกิโลเมตรสูงกว่าภูมิภาคอื่นของโลก ความหนาแน่นของประชากรน้อย และภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่รุนแรง ทำให้คนไทยมีอาหารเครื่องอุปโภคบริโภคมากมาย ทั้งๆ ที่ใช้พลังงานธรรมชาติ พลังงานสัตว์ เครื่องมือ พลังกล้ามเนื้อ และพลังสมองไม่มากนัก
“พลังการผลิต” จึงพัฒนาไปอย่างเชื่องช้า แม้ระบอบศักดินาจะบังคับกวาดโกยเอาผลผลิตมากเท่าใด ไพร่ทาสซึ่งถูกชนชั้นศักดินาขัดขวางการพัฒนาเทคนิควิธีการผลิต และไพร่ทาสไม่มีองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ก็ตาม ไพร่ทาสก็สามารถผลิตตามมีตามเกิดและหาผลผลิตส่งไปเลี้ยงดูชนชั้นศักดินาได้อย่างอิ่มหนำสำราญมาหลายร้อยปี จวบจนชาวยุโรปได้เดินทางมาค้าขาย ต้องการสินค้าจำนวนมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว และต้องการลูกค้ามาซื้อสินค้าของตนให้มากขึ้น จุดนี้จึงถือเป็นการปลดปล่อยพลังการผลิตของไทย ออกจากการผูกมัดของระบอบเศรษฐกิจศักดินา จากพลังการผลิตที่ค่อยๆ ถูกปลดปล่อยออกจากความเป็นไพร่ทาสสู่แรงงานเสรีอย่างเชื่องช้า ก็มาถึงยุคก้าวกระโดดทางการผลิตอีกครั้ง เมื่อระบอบทุนนิยมผูกขาดภายนอกเข้ามาในประเทศไทย ได้ส่งผลพลอยได้ต่อวิวัฒนาการทุนนิยมขนาดย่อม ซึ่งเป็นทุนเสรีในสังคมไทยเอง แผ่ขยายออกไปทุกพื้นที่ บางสาขาอาชีพได้เป็นพลังการผลิตให้กับทุนผูกขาดระดับโลก เช่น การปลูกยางพารา การทำเหมืองแร่ โรงสีข้าว ฯลฯ บางสาขาอาชีพเป็นพลังการผลิตที่เกิดมาโดยทุนท้องถิ่นเอง เช่น โรงสีข้าวขนาดเล็ก เรือรับจ้าง การทอผ้า การย้อมผ้า ฯลฯ ขณะเดียวกัน พลังการผลิตหลักคือประชาชนผู้ใช้แรงงาน ก็ได้รับการปลดปล่อย และพัฒนาศักยภาพขึ้นอย่างขนานใหญ่เช่นกัน เช่น การศึกษาแบบอาชีวะศึกษา คนอ่านออกเขียนได้ คนไทยมีโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศ มีโอกาสไปท่องเที่ยวศึกษาเรียนรู้อาชีพ รวมทั้งการไปทำงานต่างประเทศ การทำงานในโรงงานสมัยใหม่ของทุนต่างชาติที่มาตั้งโรงงานในประเทศไทย การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ การเปิดรับสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ การใช้โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต การสัญจรท่องเที่ยว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือการพัฒนาศักยภาพของแรงงานกายและสมองที่เป็นพลังการผลิตที่ก้าวหน้าของสังคมไทย อันมิได้เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของชนชั้นนายทุนที่จะพัฒนาฝีมือแรงานด้วยความรักในชนชั้นผู้ใช้แรงงานก็หาไม่ หากเขารักผลผลิต สินค้าและบริการที่จะทำกำไรให้กับพวกเขาเองต่างหาก การรวมศูนย์ทุนและแรงงานขนาดใหญ่เข้าด้วยกันในกระบวนการผลิตระบบสายพานและการตลาดขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะผลิตแบบสังคมและการตลาดแบบสังคมนี้ คือหลุมศพของระบอบทุนนิยมผูกขาด ที่ชนชั้นนายทุนผูกขาดศักดินาขุดหลุมศพฝังตัวเอง ด้วยการที่เขาได้กวาดกว้านพลังการผลิตมาเป็นของส่วนตัว โดยมิได้เฉลียวใจว่า ชนชั้นผู้ใช้แรงงานที่เป็น “พลังการผลิต” อีกชนิดหนึ่งที่มีชีวิตจิตใจ พลอยถูกรวบรวมมาอยู่ในสายงานผลินเดียวกัน ทำให้ได้รับโลกทัศน์แบบรวมหมู่ อันจะนำไปสู่การย้อนกลับไปกวาดกว้านกำไรและทรัพย์สมบัติทั้งมวลที่อยู่ในครอบครองของชนชั้นนายทุนกลับคืนมาเป็นของชนชั้นผู้ใช้แรงงานได้เช่นเดียวกัน
การพัฒนา “พลังการผลิต” ของสังคมที่มีลักษณะก้าวกระโดดไปกับกำไรและการสะสมทุน ทำให้พลังการผลิตใหม่ได้ถูกยึดกุมด้วยมือและสมองของชนชั้นใหม่คือผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้างและชนชั้นกลางสมัยใหม่ด้วย จึงเท่ากับพลังการผลิตของสังคมได้ยกระดับไปข้างหน้าแล้ว ถ้าหากใครก็ตามที่ทำลายและฉุดรั้ง “พลังการผลิต” เขาย่อมเป็นศัตรูกับคนจำนวนมากในสังคม หากเขาหรือชนชั้นทุนผูกขาดศักดินานั้น เป็นปัญหาและอุปสรรคขัดขวาง “พลังการผลิต” ที่ก้าวหน้านี้ ก็เท่ากับเร่งวันเวลาที่จะถูกทำลายล้างออกจากวงจรความสัมพันธ์ทางการผลิตเร็วขึ้น
เมื่อชนชั้นศักดินาได้แปรเปลี่ยนจากการหากินด้วยการผูกขาดที่ดินไปสู่การทำมาหากินแบบทุนนิยมนั้น ได้มีกลุ่มนายทุนนายหน้า นายทุนขุนนางและนายทุนขุนศึกเข้ามาร่วมฉกชิงแบ่งปันการผูกขาดหากินไปในช่วงระยะหนึ่ง (พ.ศ. 2475-2516) แต่ในที่สุด ทุนกษัตริย์และทุนสวามิภักดิ์ก็ก้าวไปเป็นกลุ่มทุนผูกขาดขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทั้งๆ ที่เคยหากินจากพลังการผลิตที่มาจากแรงงานไพร่ทาส สัตว์เลี้ยง ฟืน ที่ดินและเครื่องมือหยาบๆ มานาน ก็กลายมาเป็นการหากินกับทุนการค้า ทุนอุตสาหกรรม ทุนการเงินและการเก็งกำไร สามารถใช้พลังงานไฟฟ้า พลังงานปิโตรเลียม เครื่องจักร เครื่องกลหนัก เทคโนโลยีทันสมัยไปเก็บกวาดเอาโภคทรัพย์ สินทรัพย์และกำไรรอบแล้วรอบเล่า จนสะสมเป็น “ทุนเงินตรา” ที่เป็น “พลังการผลิต” รอบใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนดูเหมือนกระบวนการผลิตจะยั่งยืนสถาพรไร้ปัญหา
แต่ทว่า “พลังการผลิต” ในส่วนที่ชนชั้นทุนศักดินามีอยู่มากมายและทันสมัยนั้น กลับทำให้ “พลังการผลิต” ในภาพรวมทั้งสังคมต้องล้มลุกคลุกคลานด้วยปัญหาภายในพลังการผลิตเอง เช่น การขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคดโนโลยีการผลิต การขาดแคลนงบประมาณการวิจัย บุคคลากรแรงงานขาดทักษะขั้นสูงและขาดการพัฒนาฝีมือแรงงาน พลังงานปิโตรเลียมที่มีต้นทุนสูง สาธารณูปโภคที่ใช้เพื่อการผลิตขาดแคลนทั้งระบบน้ำ ไฟฟ้า การขนส่ง ฯลฯ
ที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ทางการผลิต เป็นแบบรวมศูนย์กรรมสิทธิ์ในที่ดิน วัตถุดิบและทุนเงินตราไว้ในมือชนชั้นทุนศักดินาเสียเป็นส่วนใหญ่ นำไปสู่การดูดซับเงินออกจากระบบการผลิตร่วมของคนส่วนใหญ่ ไปสู่การลงทุนต่างประเทศ การใช้จ่ายเพื่อส่วนตัวของกลุ่มทุน และการเก็งกำไร ที่ส่วนรวม (องค์กรรัฐ) ไม่สามารถควบคุม หรือคาดคะเนปริมาณเงิน เพื่อนำไปใช้เพื่อการพัฒนาพลังการผลิตใหม่ๆ ของสังคมได้เลย ปัญหาที่คนส่วนใหญ่ซึ่งเคยได้รับการพัฒนาเป็นพลังการผลิตที่มีศักยภาพสูงแล้ว กลับไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจใช้เงินทุนและการแบ่งปันไม่เป็นธรรมทั้งค่าแรง สวัสดิการและกำไรส่วนต่าง จึงส่งผลย้อนไปสู่พลังการผลิตที่ด้อยประสิทธิภาพ พลังการผลิตที่สำคัญคือผู้ใช้แรงงานที่เคยมีศักยภาพทางการผลิตส่วนใหญ่ของสังคมนั้น ไม่ได้รับโอกาสในการใช้ “ศักยภาพ” นั้น ส่งผลให้แรงงานทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ขาดโอกาสทำงานการผลิตอย่างเต็มความสามารถ บั่นทอนขวัญกำลังใจ บั่นทอนสุขภาพกาย บั่นทอนความเฉลียวฉลาด บั่นทอนทักษะและคุณภาพชีวิต ขาดศักดิ์ศรีทางสังคม ขาดฐานะเข้าร่วมในกิจกรรมทางรัฐสภา การบริหารและตุลาการ ตลอดจนขาดโอกาสที่จะหลุดพ้นจากการเป็นทาสสมัยใหม่
สิ่งเหล่านี้คือสาเหตุภายในที่ได้ทำลาย “คน” ซึ่งเป็น “พลังการผลิตหลัก” โดยตรงลงไป และยังมีปัจจัยภายนอกที่ขัดขวาง “พลังการผลิต” ซ้ำเติมอีก คือทุนนิยมผูกขาดโลกาภิวัตน์ และโครงสร้างทางการเมืองแบบราชาธิปไตย ที่มีผู้นำในชนชั้นศักดินาเป็นตัวการในการทำลายพลังการผลิตของสังคมลงเสียสิ้น ด้วยการออกกฎหมายให้สิทธิประโยชน์แก่ชนชั้นศักดินาและบริวาร การทำรัฐประหาร การขาดหลักนิติรัฐ การก่ออาชญากรรมฆ่าประชาชนของตนเอง การฉกชิงงบประมาณ แทรกแซงการบริหารรัฐบาลแบบรัฐซ้อนรัฐอย่างโจ่งแจ้งฉาวโฉ่ไร้ยางอาย และไม่เกรงกลัวสายตานานาประเทศ
ปัจจุบัน สังคมไทยได้เดินทางมาถึงจุดแห่งความขัดแย้งอย่างแหลมคมยิ่ง ชนชั้นนายทุนชาติ นายทุนน้อย ชนชั้นกลาง เกษตรกร ผู้ประกอบการายย่อย และชนชั้นกรรมชีพ ต่างได้รับผลกระทบในทางเสียหายเป็นส่วนใหญ่ บางส่วนได้รู้สึกตัวว่าตนเสียสิทธิทางการเมือง บางส่วนรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม บางส่วนไม่พอใจเรื่องศีลธรรมจริยธรรมของชนชั้นศักดินา บางส่วนสูญเสียสวัสดิการ ฯลฯ ซึ่งมิว่าใครจะรู้สึกเดือดร้อนประเด็นใดก่อนก็ตาม หรือแม้แต่จะรู้เห็นข้อมูลด้านลบของชนชั้นศักดินาเรื่องใดก่อนก็ตาม สถานการณ์ก็ชักนำให้คนจากต่างอาชีพ ต่างชนชั้น ต่างภาษา ต่างภาค ต่างวัฒนธรรม ก็หลั่งไหลเป็นแนวร่วมทางการเมืองที่ไม่พอใจชนชั้นศักดินาเช่นเดียวกัน โดยมีจุดเน้น (FOCUS) ไปที่แนวรบทางการเมืองเพื่อสิทธิเสรีภาพต่อต้านเผด็จการ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าใครจะยังมิได้ตระหนักรู้ลงไปอย่างถึงรากว่า ปฐมเหตุความขัดแย้งมาจาก “พลังการผลิต” ที่ถูกชนชั้นทุนผูกขาดศักดินาทำลายก็ตาม จุดที่จะชี้วัดว่าเป็นที่สุดปลายของชัยชนะแห่งยุคสมัยนี้ ก็ไปจบอยู่ที่การปลดปล่อย “พลังการผลิต” นั่นเอง ซึ่งการเข้าร่วมการต่อสู้ในส่วนปลายยอดน้ำแข็งที่ปะทุมาเป็น “การต่อสู้ทางการเมือง” นั้น ในที่สุดของสนามการต่อสู้ทางการเมืองที่จะพัฒนาต่อไปเป็นการต่อสู้ทางการทหารนั้น ก็จะมีจุดจบที่ทุกคนรู้สึกได้ว่า เป็นชัยชนะจริงๆ คือ ชัยชนะทางเศรษฐกิจที่เป็นฐานแห่งชีวิตในสังคม ชัยชนะจึงมิใช่หยุดรออยู่ที่การได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง มิได้อยู่ที่ฝ่ายประชาชนได้เป็นรัฐบาลเท่านั้น หากชัยชนะจะถูกรุกคืบเข้าไปปักธงสู่การแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ทางการผลิต ที่คนจะต้องได้พิจารณาถึงระบอบกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต การมีอำนาจจัดการระบบการผลิต การแบ่งปันผลผลิต รายได้ กำไร และภาษีกันเสียใหม่
แน่นอนว่า เมื่อการแบ่งปันทางเศรษฐกิจ สิทธิเสรีภาพทางการเมือง และภาวะทางจิตใจของประชาชนได้รับการปลดปล่อยโดยไม่มีสภาวะถูกบีบคั้นแล้ว ย่อมหมายถึง “พลังการผลิตของสังคมไทย” ได้รับการปลดปล่อยให้ก้าวทะยานตามเสรีภาพที่เปิดกว้างเท่าที่ศักยภาพของสังคมที่ทำได้ ผลแห่งความมั่งคั่ง ความสมบูรณ์ทั้งโภคทรัพย์ สิทธิเสรีภาพและจิตสำนึกที่งดงามของสังคมก็จะเกิดขึ้นต่อเนื่องสืบไป.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น