News online

กลับไปยังหน้าหลักเพื่อสนทนา C-Box ดู TV และฟังวิทยุ ได้ที่

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คดี 112 : กรณีโชติศักดิ์ อ่อนสูง (และเพื่อน)

โชติศักดิ์ อ่อนสูง (และเพื่อน)

ข้อมูลด้านคดีและความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้อง:

21 กันยายน 2550 โชติศักดิ์ อ่อนสูง อายุ 27 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ไปชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยทั้งคู่ไม่ยืนทำความเคารพระหว่างที่มีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนการฉายภาพยนตร์ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่นวมินทร์ วิทยากุล และผู้ชมภาพยนตร์ในรอบดังกล่าวอีกหลายคน นวมินทร์ได้ตรงเข้าด่าทอ ขว้างปาสิ่งของเข้าใส่ และขับไล่นักศึกษาทั้งสองออกไปจากโรงภาพยนตร์ โดยขณะเกิดเหตุผู้คนในโรงภาพยนตร์ได้ปรบมือให้และร่วมขับไล่นักศึกษาทั้งสองคนการโห่ จนทั้งสองคนต้องออกจากโรงภาพยนตร์ไป

ต่อมาในวันเดียวกันโชติศักดิ์และเพื่อนได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับนวมินทร์ ในข้อหาร่วมกันทำร้าย หมิ่นประมาทและดูหมิ่นซึ่งหน้า, ทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดฯ และทะเลาะกันอื้ออึงในที่สาธารณสถานฯ ซึ่งหลังจากนั้นนวมินทร์ได้แจ้งความกลับในข้อหา "หมิ่นบรมเดชานุภาพ" จากการที่โชติศักดิ์และเพื่อนไม่ยืนทำความเคารพระหว่างที่มีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนการฉายภาพยนตร์ดังกล่าว ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการได้มีคำสั่ง "ไม่ฟ้อง" ในคดีที่โชติศักดิ์กล่าวหานวมินทร์

พฤติกรรม "ไม่ยืน" ของโชติศักดิ์ และคดีที่เขาถูกแจ้งข้อหา ได้รับความสนใจและก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่การเคลื่อนไหวของกลุ่ม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" (พันธมิตรฯ) กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น โดยแกนนำของกลุ่มดังกล่าวได้ปราศรัยโจมตีโชติศักดิ์บนเวทีอย่างหนักหน่วง พร้อมๆ ไปกับการเสนอข่าวโจมตีเขาโดยสื่อในเครือผู้จัดการ ที่มีแกนนำคนสำคัญของกลุ่มพันธมิตรฯเป็นเจ้าของ และที่โดดเด่นเกรียวกราวที่สุด น่าจะได้แก่ กรณีที่ผู้ดำเนินรายการ "เมโทรไลฟ์" สื่อวิทยุในเครือผู้จัดการ ได้กล่าวเชิญชวนให้ผู้ฟังใช้กำลังทำร้ายโชติศักดิ์

แม้กระแสการต่อต้านโชติศักดิ์อันเนื่องมาจากพฤติการณ์ "ไม่ยืน" ของเขา จะแพร่ขยายไปในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง กระทู้ด่าทอและขู่ทำร้ายเขา สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในหน้าเวบบอร์ดทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับการเมืองไทย ร้านอาหารหรูบางแห่งติดป้าย "ไม่ต้อนรับ" คู่กับถ้อยคำประณามและภาพถ่ายของโชติศักดิ์ไว้ที่หน้าร้าน ฯลฯ แต่ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ออกมาตอบโต้กระแสนี้ ทั้งในรูปของข้อเขียนท้วงติง คัดค้าน กระทั่งประณามกระแสดังกล่าวว่าเป็นการเกินกว่าเหตุ มีการเปิดเวบไซต์ล่ารายชื่อให้กำลังใจโชติศักดิ์และเพื่อน ซึ่งมีทั้งคนที่เข้าไปร่วมลงชื่อเพื่อให้กำลังใจ และคนที่เข้าไปลงชื่อเพื่อใช้หน้าเวบดังกล่าวด่าประณามเขาอีกที่หนึ่ง รวมทั้งการจัดเสวนาวิชาการ "สิทธิมนุษยชนกับความเห็นที่แตกต่าง" ไม่เว้นแม้แต่โชติศักดิ์เอง ที่ได้ร่วมตอบโต้กระแสด้วยการรณรงค์ผ่านเสื้อยืดที่มีข้อความ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากรรม เห็นต่างไม่ใช่อาชญากร" ซึ่งภายหลังเสื้อยืดดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นชนวนให้ผู้สวมใส่คนหนึ่งถูกให้ออกจากงาน

ปลายเดือนตุลาคม 2551 คดีความที่โชติศักดิ์ อ่อนสูง และเพื่อนตกเป็นผู้ต้องหาคดี ได้ถูกส่งต่อจากชั้นพนักงานสอบสวนไปยังชั้นอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้

หลังจากนั้นดูเหมือนว่ากรณีโชติศักดิ์จะเงียบหายไปจากหน้าสื่อเป็นเวลาหลายเดือน จนกระทั่งเมื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผู้นำประเทศไทยคนล่าสุด ได้ไปกล่าวปาฐกถา ที่ประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2552 โดยในช่วงตอบคำถาม อภิสิทธิ์ได้กล่าวพาดพิงถึงคดีความของโชติศักดิ์ว่ายุติไปแล้ว ซึ่งทำให้โชติศักดิ์มีจดหมายเปิดผนึกออกมาโต้แย้งว่าคำพูดดังกล่าวขัดต่อข้อเท็จจริง เนื่องจากคดีที่เขาและเพื่อนตกเป็นผู้หานั้นไม่ได้ยุติหรือถูกถอนฟ้องแต่อย่างใด แต่ยังอยู่ในชั้นอัยการ ซึ่งล่าสุดอัยการได้เลื่อนการนัดฟังคำสั่งฟ้อง/ไม่ฟ้องไปเป็นวันที่ 30 มีนาคม 2552 เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม

30 มีนาคม 2552 พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา กรุงเทพใต้ ได้ขอเลื่อนการประกาศคำสั่งฟ้องไม่ฟ้องในคดีของโชติศักดิ์และเพื่อน ไปเป็นวันที่ 26 พฤษภาคม 2552


รายละเอียด:

21 กันยายน 2550
โชติศักดิ์ อ่อนสูง อายุ 27 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้นำผลการตรวจร่างกายเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ปทุมวันให้ดำเนินคดีกับนวมินทร์ วิทยกุล อายุ 40 ปี ในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ, ทำร้ายร่างกายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หมิ่นประมาทและดูหมิ่นซึ่งหน้า, ทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดฯ และทะเลาะกันอื้ออึงในที่สาธารณสถานฯ โดยระบุว่า เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 19.45 น. ที่โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เอ็ก ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ล แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยชายคนหนึ่งซึ่งทราบชื่อภายหลังว่านวมินทร์ วิทยกุล ตรงเข้าด่าทอและขว้างปาสิ่งของเข้าใส่นักศึกษาทั้งสอง เนื่องจากไม่พอใจที่เห็นทั้งสองคนไม่ลุกขึ้นยืนขณะมีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนการฉายภาพยนตร์ ก่อนที่ชายคนดังกล่าวจะไล่โชติศักดิ์และเพื่อนออกไปจากโรงภาพยนตร์ โดยขณะเกิดเหตุผู้คนในโรงภาพยนตร์ได้ปรบมือให้และร่วมขับไล่นักศึกษาทั้งสองคนด้วยการโห่ จนทั้งสองคนต้องออกจากโรงภาพยนตร์ไป

ต่อมาโชติศักดิ์ได้เปิดเผยว่า ในวันเกิดเหตุ ภายหลังออกมาจากโรงภาพยนตร์ตนได้โทรศัพท์แจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหมายเหตุ 191 ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เดินทางมาพบตนที่หน้าโรงภาพยนตร์ดังกล่าว ก่อนจะพาตนและเพื่อนพร้อมด้วยค่กรณีไปยังสน.ปทุมวัน โดยต่อมาเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าหากตนแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาทำร้ายร่างกาย คู่กรณีก็จะแจ้งความกลับในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 "ผู้ ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี") อย่างไรก็ตาม ตนได้ยืนยันตามเดิม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่าหากจะแจ้งข้อหาทำร้ายร่างกายก็จำเป็นต้องมีการตรวจร่างกายก่อน ตนและเพื่อนจึงเดินทางกลับ และไปตรวจร่างกายในวันรุ่งขึ้นก่อนจะเข้าแจ้งความตามข่าว

25 กันยายน 2550
นวมินทร์ วิทยากุล อายุ 40 ปี ได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ปทุมวัน ให้ดำเนินคดีกับโชติศักดิ์ อ่อนสูง และเพื่อน ในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาจากกรณีที่คนทั้งสองไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่ง

5 เมษายน 2551
เมื่อเวลาประมาณ 8.30 น. พนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน เจ้าของสำนวน ได้โทรศัพท์แจ้งข้อกล่าวหาแก่โชติศักดิ์และเพื่อน ต่อมาในวันเดียวกัน สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทนายความของโชติศักดิ์ ได้เดินทางไปไปพบพนักงานสอบสวน ณ สน.ปทุมวัน เพื่อขอเลื่อนวันรับทราบข้อกล่าวหาไปเป็นวันที่ 22 เมษายน 2551 นี้ เวลา 13.30 น. ณ สน.ปทุมวัน เนื่องจากตามที่เจ้าหน้าที่ได้โทรศัพท์แจ้งและระบุให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาภายในวันเดียวกันนั้นกะทันหันเกินไป

8 เมษายน 2551
สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทนายความของโชติศักดิ์ อ่อนสูง ได้เปิดเผยถึงคดีดังกล่าวว่า สำหรับคดีที่มีโทษสูงนั้น กฎหมายได้เปิดช่องไว้ว่าจะออกหมายเรียกหรือไม่ก็ได้ และเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดต่อโชติศักดิ์ได้ จึงไม่ได้ออกหมายเรียก แต่หากถูกออกหมายเรียกแล้วไม่ไปตามหมายก็จะถูกออกหมายจับ และกล่าวต่อไปว่า วันที่ไปพบพนักงานสอบสวน ร้อยเวรที่ดูแลคดีระบุว่า ได้สอบพยานฝ่ายตำรวจไว้ครบแล้ว รวมทั้งความเห็นจากบุคคลทั่วไปและความเห็นทางวิชาการ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีความเห็นว่า ควรสั่งฟ้อง อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการชุดใหญ่ของคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ (ก.ตร.) ว่าจะฟ้องหรือไม่

ในส่วนของการสู้คดีนั้น ทนายความคนเดียวกันคาดว่าจะร้องขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความ ฝ่ายสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน

21 เมษายน 2551
หลายเวบไซต์ได้มีการเผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ซึ่งมีเนื้อหาให้กำลังใจโชติศักดิ์ อ่อนสูง และเพื่อน ในการต่อสู้คดี และไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปิดกั้นการแสดงออกของบุคคล ราวกับคนเหล่านั้นเป็นอาชญากร ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่มีความคิดเห็นหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง ไม่ว่าความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองนั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม เพราะเชื่อว่า ความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นไม่ใช่อาชญากรรม แต่เป็นความงดงามของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องรักษาไว้ โดยเชิญชวนให้ไปร่วมลงชื่อให้กำลังใจโชติศักดิ์และเพื่อน ที่ http://www.petitiononline.com/Chotisak/petition.html

22 เมษายน 2551
เมื่อเวลาประมาณ 13.15น. ที่บริเวณหน้าสน.ปทุมวัน โชติศักดิ์ อ่อนสูง ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากกรณีไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้โทรศัพท์ติดต่อมายังทนายของตน เพื่อขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาจากเวลา 13.30น. เป็นเวลา 16.30น. วันเดียวกัน จากนั้นโชติศักดิ์ ได้อ่านแถลงการณ์ ซึ่งมีเนื้อหายืนยันว่า การไม่ยืนดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาที่จะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่อย่างใด

ก่อนจะแสดงความเห็นว่า ข้อกล่าวหาลักษณะนี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจำนวนมาก กลุ่มการเมืองทุกกลุ่มก็ล้วนแต่หยิบกฎหมายนี้มาใช้เพื่อโจมตีกัน บางครั้งคนธรรมดาอย่างเขาก็โดนไปด้วย และยังมีการตีความตัวกฎหมายกว้างออกไปเรื่อยๆ ด้วย การได้ตัดสินรณรงค์ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร เห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม" นี้ตนทำขึ้นโดยหวังว่า จะทำให้การไม่ยืนดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ด้านกรณีที่มีการแจ้งความให้ดำเนินคดีกับนวมินทร์ วิทยกุลนั้น โชติศักดิ์เปิดเผยว่า ตนยังไม่ทราบความคืบหน้าของคดี อย่างไรก็ตาม การตรวจร่างกายและแจ้งความได้ทำขึ้นหลังจากเกิดเหตุหนึ่งวัน และหลังจากแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เรียกไปสอบปากคำ 1 ครั้ง ก่อนจะไม่ได้รับการติดต่อใดๆ อีก

ต่อมาเวลาประมาณ 16.20 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พาโชติศักดิ์และเพื่อนขึ้นไปบนชั้นสองของสน.ปทุมวัน และไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวติดตามเข้าไป โดยให้เหตุผลว่าเป็นการสอบปากคำ และระบุว่าทางตำรวจจะไม่แถลงข่าวเกี่ยวกับคดีนี้

หลังจากรับทราบข้อกล่าวหาและให้ปากคำ โชติศักดิ์ได้เดินทางกลับที่พัก เนื่องจากพนักงานสอบสวนเห็นสมควรให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากเป็นการเข้ารายงานตัวด้วยตนเอง

24 เมษายน 2551
เวบไซต์ ผู้จัดการออนไลน์ ได้รายงานความเห็นของทองใบ ทองเปาด์ ทนายความรางวัลแมกไซไซ และอดีตส.ว.มหาสารคาม เกี่ยวกับกรณีที่ โชติศักดิ์ อ่อนสูง และพวก ถูกนวมินทร์ วิทยากุล เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดี ฐานไม่ยืนตรงแสดงความเคารพในโรงภาพยนตร์ ระหว่างเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยทองใบได้ให้ความเห็นว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกสูงถึง 7 ปี และถือว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งนี้การยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงชาติ ทุกคนต้องกระทำด้วยความสุภาพ ยืนตัวตรง ห้ามแกว่งแขน หรือยืนยิ้ม ต้องยืนด้วยความสงบเรียบร้อย ซึ่งในอดีตเคยมีเหตุการณ์นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องติดคุก 2 ปี เพราะไม่ลุกขึ้นยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีขณะไปฟังการปราศรัยที่ท้องสนามหลวง ทั้งนี้ ในโรงภาพยนตร์ก็มีข้อความระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า "โปรดยืนถวายความเคารพ"

"แม้จะอยู่ ณ ที่แห่งใด เมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงชาติ ทุกคนต้องยืนตัวตรงนิ่งทำความเคารพ" ทนายความรางวัลแมกไซไซกล่าว และยังระบุด้วยว่า หากบุคคลใดเข้าแจ้งความเอาผิดกับผู้ที่ไม่ลุกขึ้นยืน หรือยืนไม่สุภาพ โดยมีพยานเห็นชัดเจน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะรับแจ้งความอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้มีเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้น และนำเรื่องขึ้นสู่ศาลฎีกามาแล้ว

นอกจากนี้ ผู้จัดการออนไลน์ ยังได้รายงานว่า ในช่วงที่ผ่านมา ได้ภายเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง รวมทั้งทางอินเทอร์เน็ต และสถานีวิทยุบางสถานี ถึงกรณีของโชติศักดิ์ อ่อนสูง โดยเฉพาะในเว็บไซต์พันทิป (www.pantip.com) โดยได้คัดลอกข้อความในกระทู้ที่โชติศักดิ์ได้เข้าไปเขียนชี้แจงและอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มาลงไว้ในเวบไซต์ ผู้จัดการออนไลน์ ด้วย

25 เมษายน 2551
โชติศักดิ์ อ่อนสูง ได้ยื่นจดหมายร้องเรียนถึงประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ กรณีรายการยามเฝ้าแผ่นดินและสื่อในเครือผู้จัดการได้ระบุว่าโชติศักดิ์เป็นผู้ประสานงานแนวร่วมประชาธิปไตยต้านเผด็จการ (นปก.) ซึ่งต้านรัฐประหารและสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งได้ร่วมกิจกรรมกับนปก.หลายครั้ง โดยโชติศักดิ์ได้ยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง และชี้แจงว่าตนอยู่ในกลุ่ม "19 กันยาต้านรัฐประหาร" ซึ่งถูกเรียกว่า ‘สองไม่เอา’ และการลงข้อมูลเท็จดังกล่าวทำให้ตนได้รับความเสียหาย

28 เมษายน 2551
เว็บไซต์ "ผู้จัดการออนไลน์" และ "ไอเอ็นเอ็น" ได้รายงานข่าวกรณีสุนิมิต จิระสุข อายุ 36 ปี เจ้าของกิจการส่วนตัวชาวขอนแก่น เดินทางเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น เพื่อดำเนินคดีกับโชติศักดิ์ อ่อนสูง ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กรณีที่ไม่ยืนถวายความเคารพเมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 (2) นอกจากนี้ยังแจ้งความดำเนินคดีกับเว็บไซต์ "ฟ้าเดียวกัน" และเว็บไซต์ "ประชาไท" ซึ่งมีกระทู้เกี่ยวกับกรณีของโชติศักดิ์

ซึ่งสุนิมิตผู้แจ้งความระบุว่าในสองเวบไซต์ดังกล่าว มีการแสดงความเห็นกว่า 90 ความเห็น ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการกระทำของโชติศักดิ์ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเห็นด้วยและแสดงถึงการต่อต้านระบบกษัตริย์ ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ในฐานะคนไทยที่เคารพรักสถาบันกษัตริย์ และขอเรียกร้องให้กระทรวงไอซีทีออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าวด้วย

29 เมษายน 2551
เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. โชติศักดิ์ อ่อนสูง ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.อุดม เปี่ยมศักดิ์ รองผกก.สส.สน.ปทุมวัน โดยสวมเสื้อยืดรณรงค์สีดำมีข้อความว่า "ไม่ยืน ไม่ใช่อาชญากร คิดต่าง ไม่ใช่อาชญากรรม" มาด้วย ท่ามกลางสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศที่ให้ความสนใจไปทำข่าวเป็นจำนวนมาก

หลังจากเข้าพบพนักงานสอบสวนแล้ว โชติศักดิ์ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ที่มาในวันนี้ เดิมตนเข้าใจว่าเป็นแค่การมารายงานตัวเท่านั้น แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าใจว่าเป็นการมาให้ปากคำเพิ่มเติม ซึ่งความเข้าใจที่ไม่ตรงกันดังกล่าวทำให้ต้องใช้เวลาประสานงานกันนานกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ตนไม่ได้ให้ปากคำเพิ่มเติมใดๆ แต่ได้ตกลงนัดหมายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า จะทำคำให้การเป็นหนังสือโดยส่งผ่านทนายความผู้รับมอบอำนาจมามอบให้พนักงานสอบสวนภายในวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 ส่วนกระบวนการหลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับพนักงานสอบสวน ว่าจะสอบปากคำเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ซึ่งหากจะสอบเพิ่มก็คงจะต้องนัดอีกครั้ง แต่หากเห็นว่าพอแล้ว ครบถ้วนแล้ว พนักงานสอบสวนก็จะส่งเรื่องให้อัยการพิจารณาต่อไป

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากรับทราบข้อหาไปเมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมาและข่าวถูกเผยแพร่ออกไป ได้ถูกข่มขู่บ้างหรือไม่ โชติศักดิ์ตอบว่า มีโทรศัพท์เข้ามาข่มขู่บ้าง นอกจากนั้นยังมีผู้นำตำบลที่อยู่ของตนไปโพสต์ไว้ในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการคุกคาม ตนจึงต้องย้ายไปนอนตามบ้านเพื่อน

เมื่อถามความเห็นเกี่ยวกับคดี โชติศักดิ์ตอบว่า เรื่องนี้คงต้องให้เป็นไปตามของกระบวนการยุติธรรม

หลังจากนั้นโชติศักดิ์ อ่อนสูง ได้เดินทางไปยังสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเพื่อยื่นเอกสารเพิ่มเติมในกรณีที่ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนว่าสื่อในเครือ "ผู้จัดการ" รายงานข่าวข้อมูลของตนอย่างไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ทางสภาการหนังสือพิมพ์ได้ระบุว่าหลังจากได้ข้อมูลเพิ่มแล้วจะส่งเรื่องต่อไปยังอนุกรรมการร้องทุกข์เพื่อพิจารณาดำเนินการ ซึ่งจะมีการประชุมอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม

ต่อเรื่องนี้ โชติศักดิ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว ‘ประชาไท’ ว่า นอกจากสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ตนได้ยื่นหนังสือร้องเรียน "ผู้จัดการ" ไปยังองค์กรสื่ออื่นๆ ด้วย แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ และเมื่อสอบถามไปยังสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็ได้รับคำตอบว่ายังไม่ได้รับเรื่อง

30 เมษายน 2551
รายการ Metro Life ซึ่งออกอากาศคลื่นยามเฝ้าแผ่นดิน (FM 97.75 MHz) ดำเนิน รายการโดย ต่อพงศ์ เศวตามร์, วฤทธิ์ นิ่มนวลกุล และอำนาจ เกิดเทพ ได้ประกาศเชิญชวนให้ผู้ฟังไปพบโชติศักดิ์ อ่อนสูง ในงานเสวนา "สิทธิมนุษยชนกับความเห็นที่แตกต่าง" ที่ จะจัดขึ้นที่ห้อง 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม 2551 ซึ่งโชติศักดิ์ อ่อนสูงจะเป็นหนึ่งในผู้เสวนา

โดยในตอนหนึ่งของรายการดังกล่าว ผู้ดำเนินรายการคนหนึ่งได้กล่าวขึ้นว่า มีคนถามว่า ถ้าเราตีหัวคนแล้วเราต้องจ่าย 500 หรือเปล่า ซึ่งมีการตอบในรายการว่า ต้องจ่ายค่าปรับข้อหาทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายร่างกาย แต่อาจถูกตีความว่าพยายามฆ่า ดังนั้นต้องใช้หมัด อย่าใช้อาวุธ และต้องไม่ให้เกิดเลือด หรือหากเลือดออกก็จ่าย 500 ค่าทำขวัญ ค่าเข็มเท่านั้น

เมื่อมีการเปิดสายให้ผู้ฟังแสดงความคิดเห็น ก็ได้มีผู้โทรศัพท์เข้ามาแสดงความเห็นว่าให้กำถ่านไฟฉายไปชกปากให้แตก ไม่ต้องเสียค่าเข็มด้วย เพราะคนเจ็บไม่กล้าเย็บ เสียแค่ค่าพยาบาล กับค่าปรับ 500 บาท

นอกจากนี้ ตลอดทั้งรายการมีการกล่าวย้ำบ่อยครั้งว่า การร้องไห้ เจ็บแค้น นอนไม่หลับอยู่กับบ้าน ไม่ได้เป็นการช่วยปกป้องสถาบันฯ ต้องมีการลงมือกระทำบ้าง และหวังว่าประชาชนจะช่วยกันปกป้องสิ่งที่รัก จะคิดและหวังรอให้ทหารมาทำปฏิวัติไม่ได้อีกแล้ว โดยระบุว่าจะเริ่มในวันที่ 2 และ 4 พฤษภาคม นี้ โดยในวันที่ 4 พฤษภาคม 2551 ผู้ดำเนินรายการได้เชิญชวนให้ผู้ฟังไปชูป้ายประท้วงนายกรัฐมนตรี และรักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ที่หน้าห้องส่งกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งนายกฯจะต้องไปออกรายการ "นายกฯพบประชาชน" เนื่องจากนายกฯไม่ทำอะไรเลย กรณีที่ NBTจัดให้คนที่ใส่เสื้อ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากรรม เห็นต่างไม่ใช่อาชญากร" ไปออกรายการ

อย่างไรก็ตาม ในตอนท้ายรายการผู้ดำเนินรายการได้ย้ำให้ประชาชนเคลื่อนไหวด้วยความสงบ มีสติ มีอารยธรรม เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือ หรือทำให้กระบวนการในการต่อสู้เสียหาย

2 พฤษภาคม 2551
สน.ชนะสงครามได้ส่งหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอความร่วมมือให้งดการอนุญาตให้ใช้สถานที่ ห้อง 101 คณะเศรษฐศาสตร์ ในการจัดเสวนาวิชาการ : ‘สิทธิมนุษยชน กับความคิดเห็นที่แตกต่าง’ เนื่องจาก ผู้เสวนามี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และโชติศักดิ์ อ่อนสูง ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และหาทางมหาวิทยาลัยอนุญาตให้ใช้ห้องประชุมเพื่อการเสวนาดังกล่าว อาจทำให้สาธารณชนมองว่ารู้เห็นกับการเสวนาครั้งนี้ อธิการบดีจึงได้ส่งจดหมายดังกล่าวต่อมายังคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ผู้รับผิดชอบสถานที่ดังกล่าว ซึ่งต่อมา คณบดี คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ได้เดินทางไปตรวจดูความเรียบร้อยและสอบถามผู้จัดการงาน ก่อนจะอนุญาตให้การเสวนาดำเนินต่อไป

ทางด้านประตูมหาวิทยาลัยฝั่งท่าพระจันทร์ เมื่อเวลาประมาณ 13.00น. ได้มีประชาชนซึ่งสวมเสื้อสีเหลือง จำนวนกว่า 30 คน ชุมนุมและชูป้าย "อย่านิ่งเฉย คนไทยโปรดช่วยกันต่อสู้กับพวกหนักแผ่นดิน" "อย่าไปหลงเชื่อคำตอแหลทำร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์" "เราจะไม่ยอมให้พวกมันทำร้ายในหลวงอีกต่อไป" และป้ายที่เขียนชื่อนักวิชาการ นักการเมือง ต่อท้ายด้วยคำด่า โดยตลอดการชุมนุมดังกล่าว มีการตะโกนว่า "พวกประชุมอยู่ข้างใน ตอแหล หนักแผ่นดิน ขอให้ชิบหาย" ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้ปิดประตูรั้วดังกล่าว โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 5-10 นาย และรปภ.ของมหาวิทยาลัยดูแลความเรียบร้อยอยู่

แกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า พวกตนเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาที่มาในนามกลุ่มปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น โดยการมาในวันนี้เป็นแบบกะทันหัน เมื่อทราบว่าจะมีการจัดเวทีเสวนาก็ได้บอกข่าวต่อๆ กันมา

แกนนำคนดังกล่าวยังเปิดเผยอีกว่า ตนทราบว่ามีประชุมกันที่นี่ (มธ.) หลายครั้ง ซึ่งมีพฤติกรรมล้มล้างสถาบัน และกล่าวว่ากลุ่มที่กำลังประชุมอยู่ภายในต้องการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์โดยแท้ พร้อมกับยกตัวอย่างว่า เมื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีขึ้นก็ไม่ลุกขึ้นยืน เคยถูกขว้างปาข้าวของมาแล้ว แต่ก็อ้างว่าเป็นสิทธิ ดังนั้น วันนี้จึงมาเพื่อตอบโต้ให้ชาวบ้านเห็น และอยากให้หยุดพฤติกรรมเช่นนี้

ระหว่างการชุมนุมดังกล่าว ผู้ชุมนุมได้แจกเอกสารใบปลิวระบุข้อความ "พวก เราไม่พอใจอย่างมาก ที่มีกลุ่มบุคคลออกมาเคลื่อนไหวด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อหวังทำลายสถาบันพระมหาษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพรักของคนไทย จึงรวมตัวกันมาตอบโต้ สิทธิเสรีภาพที่พวกเขาเอามาอ้าง มีวัตถุประสงค์เพื่อบ่อนทำลายพ่อหลวงของเรา พวกเราไม่สามารถทนนิ่งเฉยอยู่ได้"

"พวก เราไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง มาเพราะในหลวง ในหลวงทรงมีพระเมตตากรุณาธิคุณต่อประเทศชาติ และประชาชน พระองค์ทรงเสียสละ ทรงงานด้วยความเหนื่อยยากมาตลอด เพื่อความผาสุกของราษฎร
เมื่อพวกเขาไม่มีความกตัญญูรู้คุณ ก็ควรจะอยู่เฉยๆ ไม่ต้องมาใส่ร้าย ยุแหย่ให้คนอื่นๆ คล้อยตาม
พวกเรามาวันนี้อย่างกะทันหัน และจะมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ"

ด้านพ.ต.อ.รังสรรค์ ประดิษฐผล ผู้กำกับการสน.ชนะสงคราม กล่าวว่า ได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.ชนะสงคราม ประมาณ 10-20 นาย มาดูแลความเรียบร้อยทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและฝ่ายที่จัดการประชุม ทั้งนี้คาดว่าจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น เนื่องจากเห็นว่าคนที่มาชุมนุมมีแต่เด็ก ผู้หญิง และคนแก่

ต่อมา มีชายสูงอายุสวมเสื้อสีเหลือง มาตะโกนต่อว่ากลุ่มที่มาชุมนุม ด้วยถ้อยคำหยาบคาย พร้อมทั้งกล่าวว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเป็นพวกรับจ้าง และให้ไปโหวกเหวกที่สนามหลวง เพราะนักเรียนกำลังเรียนกันอยู่ รวมทั้งกล่าวว่าผู้ชุมนุมเป็นกลุ่มของพรรคประชาธิปัตย์มาก่อกวนประชาชน "...ทำอาจารย์ปรีดี (พนมยงค์) ยังไม่พออีกเหรอ…"

ซึ่งได้มีการตอบโต้จากกลุ่มผู้ชุมนุมว่า "เราไม่ยุ่งเรื่องการเมือง จะยุ่งเรื่องสถาบันอย่างเดียว และว่าใครจะมาทำลายสถาบันไม่ได้" "คนไทยรึเปล่า" และ "คนต่างด้าว"

ต่อมาเวลาประมาณ 14.00น. ผู้ชุมนุมได้จุดไฟเผาป้ายกระดาษที่เตรียมมา โดยบนป้ายดังกล่าวได้มีชื่อบุคคล อาทิ โชติศักดิ์ ธนาพล ธีรนัย ธงชัย พรหมมินท์ สุลักษณ์ นิธิ ฯลฯ เมื่อเผาจนหมดแล้ว ผู้ชุมนุมได้เดินทางกลับโดยมุ่งหน้าไปยังสนามหลวง

การ เสวนาหัวข้อ เสวนาสิทธิมนุษยชนกับความเห็นที่แตกต่าง จัดโดยสถาบันสันติประชาธรรม โดยมีรายชื่อผู้เขีร่วมการเสวนาได้แก่ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์. นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น, นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนิน รายการโดย นายเกษม เพ็ญภินันท์อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยที่ตามกำหนดการเดิมนั้น นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีรายชื่อเป็นผู้ร่วมเสวนาด้วย แต่ได้ขอถอนตัวไป

อย่างไรก็ตาม การเสวนาดังกล่าวจบลงโดยไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้นในระหว่างการเสวนาแต่ประการใด

ทั้งนี้ โชติศักดิ์ อ่อนสูง ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งมีรายชื่อเป็นผู้ร่วมเสวนาด้วย ได้ถอนตัวตามคำแนะนำของผู้จัดเสวนา ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า เวบไซต์ "เนชั่นแชนแนล" ได้พาดหัวข่าวว่า "ข่าวด่วน "โชติศักดิ์"ไม่ร่วมสัมมนา"ยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี""

สำหรับเนื้อหาในการเสวนาวิชาการดังกล่าว ผู้สนใจสามารถติดตามความเห็นของสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ประวิตร โรจนพฤกษ์ และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ โดยละเอียดได้ที่ เวบไซต์ "ประชาไท" หัวข้อ "เสวนา ‘สิทธิมนุษยชน กับความคิดเห็นที่แตกต่าง’" http://www.prachatai.com/05web/th/home/12059

ต่อมาในวันเดียวกัน เวบไซต์ "ผู้จัดการออนไลน์" ได้รายงานว่า สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ได้กล่าวถึงกรณีที่โชติศักดิ์ อ่อนสูง ไม่ยอมยืนแสดงความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ในโรงภาพยนตร์จนถูกทำร้ายร่างกาย ซึ่งมีสื่อมวลชนบางแขนงเสนอข่าวจนเกิดเป็นกระแสการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ตนเห็นว่าเป็นเกมการเมืองเพื่อลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวก ว่ามีความพยายามล้มล้างสถาบัน ซึ่งอาจมีจุดประสงค์ให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้งก็ได้ ทั้งนี้ สุลักษณ์ได้เรียกร้องให้ประชาชนยึดหลักสิทธิมนุษยชน และยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง สามารถวิพากษ์วิจารณ์และเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบได้ว่า ในสังคมมีความคิดที่ไม่เหมือนกัน และสามารถยอมรับความคิดเห็นที่ต่างกันนั้นได้

9 พฤษภาคม 2551
เวบไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ได้นำเสนอสกู๊ปพิเศษ ซึ่งระบุว่า ลักษณ์ เรขานิเทศ โหรคนดัง ได้นำทีมดาราออกมาวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของโชติศักดิ์อ่อนสูงอย่างเผ็ดร้อน โดยในตอนหนึ่งโหรชื่อดัง ได้กล่าวว่า

"...คนพวกนี้ถ้าถูกจับด้วยคดีอะไรก็ตาม ถ้าเข้าคุกคุณอาจไม่ได้ออกมาเลยก็ได้… คุณไม่มีสามัญสำนึก เข้าไปในคุกไม่ได้ออกแน่ โดนมันเสียบแน่ ไอ้พวกอกตัญญูต่อแผ่นดิน… คุณเป็นเทวทัตกลับชาติมาเกิดเหรอ ระวังจะโดนธรณีสูบหรือโดนกระทืบตายคาแผ่นดิน…"

นอกจากนี้ ในสกู๊ปดังกล่าวยังได้ลงคำให้สัมภาษณ์ของดาราและบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคน ที่กล่าวตำหนิพฤติกรรมของโชติศักดิ์ อาทิ "ต๊ะ นารากร ติยายน", "กฤษณ์ ศรีภูมิเศรษฐ์", "เก๋ ชลดา เมฆราตรี", "ออร์แกน ราศรี วัชราพลเมฆ

14 พฤษภาคม 2551
เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น.ที่ลานศาลหลักเมือง จ.ขอนแก่น ได้มีตัวแทนกลุ่ม "เราคนขอนแก่นรักแผ่นดิน" ซึ่ง ระบุว่า เป็นตัวแทนจากนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกลุ่มผู้ประกอบการอาชีพอิสระในขอนแก่น ได้ออกมารวมตัวกันเพื่อประณามโชติศักดิ์ อ่อนสูง และพวก

ด้านนพ.สมชัย จึงภัทรกุล เจ้าของกิจการส่วนตัวในจังหวัดขอนแก่น หนึ่งในกลุ่มที่มา กล่าวว่า การออกมาประณามโชติศักดิ์ครั้งนี้ของพวกตน เป็นความบริสุทธิ์ใจที่ต้องการปกป้องสถาบันหลักของชาติไม่ให้ใครมาดูหมิ่นได้ เนื่องจากรับไม่ได้กับพฤติกรรมที่มีความเห็นต่างต่อสถาบันกษัตริย์ มีเจตนาแสดงออกถึงความไม่เคารพสถาบันเบื้องสูงในที่สาธารณะ ตนขอเชิญชวนชาวขอนแก่นและคนไทยทั่วประเทศที่เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ออกมาเคลื่อนไหวประณามกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ ซึ่งตนเชื่อว่า พฤติกรรมที่โชติศักดิ์และพวกกระทำนั้น มีบุคคลบางกลุ่มให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง เพราะลำพังโชติศักดิ์เองไม่น่าจะกล้าสวนกระแสศรัทธาของชาวไทย ต้องมีแรงจูงใจบางประการที่ทำให้นายโชติศักดิ์ยอมเป็นแกะดำในสังคม

"พวกเรายอมรับได้หากคนในสังคมไทยจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ซึ่งถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข แต่รับไม่ได้กับพฤติกรรมที่มีความเห็นต่างต่อสถาบันกษัตริย์ ด้วยการหมิ่นฯ พฤติกรรมดังกล่าวควรถูกประณามจากคนไทย" นพ. สมชัย กล่าว

จากนั้น วสันต์ วาณิชย์ หนึ่งในตัวแทนกลุ่ม "เราคนขอนแก่นรักแผ่นดิน" ได้อ่านแถลงการณ์ ซึ่งมีเนื้อหาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยและประณามการกระทำเยี่ยงโชติศักดิ์ อ่อนสูง และกลุ่มบุคคลใดก็ตามที่มีเจตนาในการดูหมิ่นและคิดล้มล้างสถาบันเบื้องสูง โดยเรียกร้องให้ผู้ที่มีอำนาจในรัฐบาลออกมาจัดการกับเหตุการณ์หรือกระบวนการหมิ่นเบื้องสูงอย่างเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เป็นภัยต่อแผ่นดิน ทั้งนี้ได้เรียกร้องให้โชติศักดิ์ อ่อนสูง และคณะ เห็นแก่ความถูกต้องและหัวใจของชาวไทย โดยยุติการกระทำ เพื่อเป็นการดำรงเผ่าพันธุ์ชนชาติไทยสืบต่อไปอย่างมีหลักชัยที่พึ่งทางใจ มีเอกลักษณ์ มีความภาคภูมิใจที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของแผ่นดินและเป็นที่เทิดทูนของชาวไทย

หลังจากอ่านแถลงการณ์ดังกล่าวแล้ว ทางกลุ่มได้ทำการเผารูปของโชติศักด์ อ่อนสูงต่อหน้าสื่อมวลชน

4 มิถุนายน 2551
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือแจ้งคำสั่ง "ไม่รับ" คำร้องเรียนของโชติศักดิ์ อ่อนสูง โดยหนังสือดังกล่าวลงชื่อโดยเชาวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสภาฯ ระบุว่า "พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่อาจรับไว้พิจารณาตามข้อบังคับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ.2541 ได้เนื่องจากขัดต่อธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2540 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่สาม พ.ศ.2548 ว่าด้วยการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ข้อ 22 จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องเรียน"

อนึ่ง ธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2540 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่สาม พ.ศ.2548 หมวด 4 ว่าด้วยการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ข้อ 22 ระบุว่า

ข้อ 22 ห้ามมิให้คณะกรรมการรับเรื่องไว้พิจารณาดำเนินการในกรณีต่อไปนี้
(1) เรื่องที่ศาลรับฟ้องในประเด็นเดียวกันและอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล หรือที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเด็ดขาดไปแล้ว หรือ
(2) เรื่อง ที่มีข้อกล่าวหาหรือประเด็นเดียวกับเรื่องที่คณะกรรมการได้วินิจฉัยเป็นที่ สุดไปแล้วและไม่มีหลักฐานใหม่ซึ่งเป็นสาระสำคัญแหงข้อกล่าวหา หรือ
(3) เรื่อง ที่ล่วงเลยมาแล้วเกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ผู้เสียหายทราบเรื่อง หรือเกินหนึ่งปีนับแต่วันเกิดเหตุ เว้นแต่คณะกรรมการจะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวข้องต่อประโยชน์สาธารณะ หรือมีผลกระทบต่อเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์

10 มิถุนายน 2551
โชติศักดิ์ อ่อนสูง ได้ทำหนังสือคัดค้านคำสั่งของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่ "ไม่รับ" คำร้องเรียนว่าด้วยการถูกหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและสื่อในเครือทำให้เสียหาย โดยโชติศักดิ์ได้ระบุว่า ข้อร้องเรียนของตนนั้นไม่ได้ขัดต่อธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2540 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่สาม พ.ศ.2548 ว่าด้วยการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ข้อ 22 แต่อย่างใด เนื่องจากข้อร้องเรียนดังกล่าวไม่เคยถูกนำขึ้นพิจารณาในชั้นศาล และไม่ใช่เรื่องที่ศาลรับฟ้อง หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล หรือที่ศาลพิจารณาหรือมีคำสั่งเด็ดขาดไปแล้ว ตามบทบัญญัติข้อ 22 อีกทั้งยังเป็นข้อร้องเรียนครั้งแรกต่อสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นเรื่องที่คณะกรรมการได้วินิจฉัยเป็นที่สุดไปแล้ว ตาม ข้อ 22 (2) และร้องเรียนนี้มีขึ้นหลังเหตุการณ์เพียง 2-3 วัน จึงไม่ได้เกิน 120 วัน ตามบทบัญญัติข้อ 22 (3) ตนจึงขอใช้สิทธิคัดค้านคำสั่งดังกล่าว ตามหมวด 4 ข้อ 24 ว่าด้วยการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์ฯ

19 กันยายน 2551
พนักงานอัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้อง คดีที่โชติศักดิ์ อ่อนสูง และเพื่อน ได้ยื่นฟ้องนายนวมินทร์ วิทยกุล ในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ, ทำร้ายร่างกายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หมิ่นประมาทและดูหมิ่นซึ่งหน้า, ทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดฯ, และทะเลาะกันอื้ออึงในที่สาธารณสถานฯ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 50 ซึ่งหลังจากนั้น นวมินทร์ได้ยื่นฟ้องกลับโชติศักดิ์ และเพื่อน ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ("ผู้ ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี")

20 ตุลาคม 2551
เมื่อประมาณ 10.45 น. ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ร.ต.ท.โสเพชร จันทร์พลงาม พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้นำตัวโชติศักดิ์ อ่อนสูง และเพื่อน ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งต่อพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ โดยได้มอบสำนวนและผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการ หลังจากพนักงานอัยการได้ทำการรับตัวไว้ ผู้ต้องหาทั้งสองได้เซ็นทราบหมายนัดในวันที่ 20 พ.ย. 2551 เวลา 10.00น. เพื่อฟังคำสั่งของพนักงานอัยการ

20 พฤศจิกายน 2551
โชติศักดิ์ อ่อนสูง ได้เปิดเผยว่า ตนได้รับแจ้งจากทนายความว่า กำหนดนัดหมายเพื่อฟังคำสั่งของพนักงานอัยการในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งตนและเพื่อนตกเป็นผู้ต้องหานั้นถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 25 ธ.ค. 51

25 ธันวาคม 2551
โชติศักดิ์ อ่อนสูง ได้เปิดเผยว่า กำหนดนัดหมายเพื่อฟังคำสั่งของพนักงานอัยการในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่จากวันที่ 20 พ.ย. 51 เป็น 25 ธ.ค. 51 นั้น ตนได้รับแจ้งจากทนายความอีกครั้งว่า ได้ถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 10 ก.พ. 52

10 กุมภาพันธ์ 2552
โชติศักดิ์ อ่อนสูง ได้เปิดเผยว่า ตนได้รับแจ้งจากทนายความอีกครั้งว่า กำหนดนัดหมายเพื่อฟังคำสั่งของพนักงานอัยการในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้ถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 30 มี.ค. 52

17 มีนาคม 2552
โชติศักดิ์ อ่อนสูง ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกตอบโต้คำพูดของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2552 ซึ่งได้พาดพิงถึงคดีความของตนระบุว่า ยุติไปแล้ว

โดยในจดหมายดังกล่าว โชติศักดิ์ได้ระบุว่า คดีความของตนยังไม่ได้ถูกยกเลิกหรือยุติลงตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวอ้าง หากยังอยู่ในชั้นอัยการ ซึ่งพนักงานอัยการได้นัดฟังคำสั่งฟ้อง/ไม่ฟ้องในวันที่ 30 มีนาคม 2552 เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม

30 มีนาคม 2552
โชติศักดิ์ อ่อนสูง ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ที่ตนและเพื่อนตกเป็นผู้ต้องหา ว่า พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา กรุงเทพใต้ ได้เลื่อนนัดฟังประกาศคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีไปเป็นวันที่ 26 พฤษภาคม 2552

โดยโชติศักดิ์ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ตนทราบมาว่าทางอัยการกำลังอยู่ระหว่างมอบหมายให้ตำรวจในพื้นที่ขอความเห็นโต๊ะอิหม่ามใน 3 จังหวัด รวมถึงสำนักจุฬาราชมนตรี ในกรณีที่เพื่อนของตน ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกัน นับถือศาสนาอิสลามและใช้ประเด็นดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้
นอกจากนี้ โชติศักดิ์ยังได้แสดงความเห็นถึงกรณีที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย ได้กล่าวพาดพิงถึงคดีของตน ที่ประเทศอังกฤษเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ว่านอกจากจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดเกี่ยวกับคดีของตนแล้ว ยังเป็นการพยายามให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกด้วย

"ชัดเจนว่าการพูดของอภิสิทธิ์นั้นเป็นการขายผ้าเอาหน้ารอด ถ้าดูสิ่งที่อภิสิทธิ์พูด เขาพยายามทำให้คนฟังเข้าใจว่ากฎหมายหมิ่นฯ ก็ไม่ต่างจากกฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดา ต่างกันแค่ไม่ต้องให้เจ้าทุกข์ฟ้อง แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น กรณีผมก็ถูกทำให้รู้สึกว่าไม่ผิดก็ยกเลิกไปเอง พยายามบอกว่ายกเลิกไปแล้ว ทั้งที่กระบวนการทั้งหมดยังทำต่อไป"

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความเห็นเกี่ยวกับกระแสปฏิรูปมาตรา 112 ที่เกิดขึ้น โชติศักดิ์กล่าวว่า กฎหมายมาตรานี้ควรยกเลิกไป เพราะแม้ไม่มีมาตรานี้ ก็มีกฎหมายเรื่องการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาอยู่แล้วซึ่งกำหนดโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญา หากมีการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ในทางเสียหายก็ต้องมีความผิดฐานหมิ่น ประมาท แต่มาตรา 112 นั้นสร้างปัญหามากเพราะไม่ว่าใครก็สามารถฟ้องได้ และมีการกำหนดโทษที่หนักเกินสมควร

4 มิถุนายน 2552
โชติศักดิ์ อ่อนสูง หนึ่งในผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากกรณีไม่ยืนระหว่างที่มีการบรรเลงเพลงสรรเสริญในโรงภาพยนตร์ ออกมาเปิดเผยว่า ตามที่อัยการได้นัดตนและเพื่อนที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวไปฟังคำสั่ง เมื่อ 26 พฤษภาคม 2552 นั้น ล่าสุด อัยการได้สั่งเลื่อนนัดอีกครั้ง ไปเป็นวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 โดยให้เหตุผลว่า ทางอัยการได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปสอบสวนเพิ่มเติม แต่ยังไม่ได้รับผลการสอบสวนดังกล่าว

..................................................

เชิงอรรถ

(1) โปรดดูกรณีของ "จิตรา คชเดช"

(2) โปรดดูรายละเอียดที่ ประชาไท, "อัยการสั่งไม่ฟ้องคู่กรณี ‘สองไม่ยืน’", 21 กันยายน 2551, http://www.prachatai.com/05web/th/home/13737.

(3) โปรดดูรายละเอียดใน ประชาไท, "สัมภาษณ์ "โชติศักดิ์" ผู้ถูกกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญฯ ในโรงหนัง", 21 เมษายน 2551, http://www.prachatai.com/05web/th/home/11916.

(4) โปรดดูแถลงการณ์ฉบับเต็มที่ ประชาไท, "‘สองไม่ยืนเพลงสรรเสริญฯ’ รับทราบข้อกล่าวหา เปิดแคมเปญ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร เห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม", 23 เมษายน 2551, http://www.prachatai.com/05web/th/home/11932.

(5)โปรดดูคำสั่งและคำวินิจฉัยโดยละเอียดที่ ประชาไท, "อัยการสั่งไม่ฟ้องคู่กรณี ‘สองไม่ยืน’, 21กันยายน 2551 , http://www.prachatai.com/05web/th/home/13737


..............................................................................................................


ข้อมูลส่วนตัว:

โชติศักดิ์ อ่อนสูง เป็นนักกิจกรรมที่ร่วมกิจกรรมและการเคลื่อนไหวทางสังคมตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ร่วมทั้งได้ร่วมคัดค้าน "รัฐประหาร 19 กันยาฯ 51" ในนามกลุ่ม "19 กันยาฯ ต้านรัฐประหาร"

ขณะถูกแจ้งความดำเนินคดี โชติศักดิ์ มีอายุ 27 ปี และศึกษาอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่มา LM watch

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น