News online

กลับไปยังหน้าหลักเพื่อสนทนา C-Box ดู TV และฟังวิทยุ ได้ที่

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บันทึกคำให้การ "นิก นอสติทซ์" คดีฆ่า"ลุงชาญณรงค์" สำนวนแรก16ศพ


เป็นคดีแรกจากจำนวน 16 ศพม็อบเสื้อแดงที่เสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อปี 2553 นั่นคือคดีฆ่า นายชาญณรงค์ พลศรีลา หรือ ลุงชาญณรงค์ โชเฟอร์รถแท็กซี่ที่ตกเป็นเหยื่อกระสุนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 บริเวณ ถ.ราชปรารภ ที่เดินหน้าถึงขั้นส่งให้อัยการพิจารณาได้แล้ว

แม้คดีนี้จะยืดเยื้อและเสียเวลากว่า 1 ปี แต่ก็พอจะรับรู้ได้ว่าเหตุสำคัญคือ "เกียร์ว่าง" ของผู้เกี่ยวข้อง เนื่องจากอยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลที่ส่งทหารออกมาปราบประชาชน

จึงยากยิ่งกว่ายากที่จะหาความเป็นธรรมตราบใดที่รัฐบาลชุดเก่ายังเรืองอำนาจอยู่

แต่มาวันนี้เมื่อมีรัฐบาลใหม่ และให้ดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ทำให้ข้อมูลและหลักฐานต่างๆ ที่ซุกเอาไว้ หรือถูกมองข้ามจึงถูกนำออกมาปัดฝุ่น

รวมถึงข้อมูลจาก "ทหาร" ที่ออกมาพูดชัดเจนถึงกระบวนการตามกฎหมาย ที่ทำให้ทหารต้องเข้ามาอยู่ในเมืองและเผชิญหน้ากับม็อบซึ่งเป็นคนไทยด้วยกัน

ทั้งที่ตามข้อเท็จจริงแล้วทหารไม่มีอำนาจในเขตเมือง จะออกมาได้ก็ต้องมี คำสั่งชัดเจนของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น

และผู้บังคับบัญชาที่ออกคำสั่งให้ทหารถือปืนออกมาปราบม็อบ ก็คือรัฐบาลในสมัยนั้นซึ่งใช้อำนาจของ "ศอฉ."

ในส่วนของคดีลุงชาญณรงค์ ซึ่งเป็นคดีแรกที่ส่งให้อัยการพิจารณาได้ เพราะมีพยานหลักฐานชัดเจนถึงการตายโดยผิดธรรมชาติ

พยานปากสำคัญคือ "นายนิก นอสติทซ์" ผู้สื่อข่าวและช่างภาพอิสระชาวเยอรมัน ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์และบันทึกภาพนาทีชีวิตไว้อย่างละเอียด

ด้วยบทบาทของ "สื่อ" ต่างชาติ ที่ไม่มีส่วนได้เสียกับทั้งม็อบหรือทหาร ทำให้น้ำหนักในคำให้การยิ่งน่าเชื่อถือมากขึ้น

-บทบาท"นิก นอสติทซ์"

ชื่อของ "นิก นอสติทซ์" เป็นที่สนใจของสื่อไทย เมื่อครั้งเดินขึ้นสน.พญาไท ในวันที่ 17 มิถุนายน 2553 ตามหาชายในภาพถ่ายถือหนังสติ๊กหลบอยู่หลังยางรถยนต์ บริเวณถ.ราชปรารภ ยิงสู้กับทัพทหารที่ดาหน้าเข้ามาพร้อมอาวุธสงครามเต็มอัตราศึก

ช่างภาพอิสระชาวเยอรมัน ระบุว่าอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวตั้งแต่แรก โดยได้สัมภาษณ์ชายสูงวัยรายนั้นและเพื่อนๆ อีกหลายคน

กระทั่งเกิดเหตุทหารลุยเข้ามาปราบ และเห็นชายในภาพถูกทหารยิงใส่ได้รับบาดเจ็บ จนช่วยประคองหนีห่ากระสุนเข้าไปหลบในห้องน้ำปั๊มน้ำมัน ก่อนปีนข้ามกำแพงเข้าไปในบ้านหลังหนึ่งเพื่อซ่อนตัว

สิ่งสุดท้ายที่เห็นคือชายคนดังกล่าวถูกทหารลากขึ้นรถหายไป!??

ตำรวจช่วยตรวจสอบก่อนได้รับการยืนยันจากชายดังกล่าวชื่อนายชาญณรงค์ พลศรีลา อาชีพขับรถแท็กซี่ และเสียชีวิตไปแล้ว!!!

พร้อมกันนี้ตำรวจขอบันทึกคำให้การในเบื้องต้นฐานะพยาน

นอกจากนี้ในห้วงเวลาต่อมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ชี้แจงต่อสื่อมวลชนต่างชาติถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น "นิก นอสติทซ์" สอบถามถึงปฏิบัติการทางทหารต่อผู้ชุมนุมที่ราชปรารภ นายอภิสิทธิ์ตอบเลี่ยงๆ เพียงว่าหากมีข้อมูลก็ให้ไปเป็นพยานในเรื่องนี้

นิก นอสติทซ์" ไปให้ปากคำกับทั้งตำรวจ และดีเอสไอ ที่รับคดีนี้มาทำ

จนต่อมาดีเอสไอ สรุปคดีฆ่า 91 ศพที่เกิดขึ้น โดยมี 13 ศพที่มีหลักฐานเชื่อได้ว่าตายเพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งกรณีลุงชาญณรงค์ ด้วย

"นิก นอสติทซ์" ถูกเชิญไปให้ปากคำในฐานะพยานอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อตำรวจตั้งชุดสอบสวนพิเศษขึ้นมาเพื่อทำคดีชุดนี้โดยเฉพาะ

- เปิดคำให้การนาทีเลือด

"นิก นอสติทซ์" ให้การถึงการตายของลุงชาญณรงค์ หลายครั้งและหลายวาระ รวมทั้งเขียนบทความเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ อีกหลายครั้งด้วยกัน

ช่างภาพอิสระชาวเยอรมัน มาทำข่าวและบันทึกภาพการชุมนุม ของเสื้อแดงตั้งแต่แรก ก่อนเกิดเหตุรุนแรงเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 และเกิดเหตุร้ายขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีเสื้อแดงถูกยิงตายราวใบไม้ร่วง

กรณีลุงชาญณรงค์ นั้น "นิก นอสติทซ์" ให้การว่าประมาณบ่ายสามโมงวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เข้าไปทำข่าวในพื้นที่ราชปรารภ เพราะ คิดว่าบริเวณนั้น คงไม่มีเหตุการณ์รุนแรงมากนัก เพราะมีผู้ชุมนุมไม่เยอะ

ช่วงที่ "นิก นอสติทซ์" เดินทางไปถึงยังไม่มีเหตุการณ์อะไรรุนแรง ผู้ชุมนุมในพื้นที่มีไม่มากนัก จึงเดินสำรวจเพื่อตรวจสอบว่ามีทหารอยู่จุดไหนและมีผู้ชุมนุมจุดไหน

เขาพบว่าบริเวณปากซอยรางน้ำมีทหารตั้งบังเกอร์ จากนั้นเขากลับมาประจำบริเวณหน้าปั๊มเชลล์ ริมถนนราชปรารภ ใกล้กับผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งซึ่งมีอยู่ไม่กี่คน โดยหนึ่งในนั้นคือลุงชาญณรงค์

เวลาใกล้ๆ บ่ายสี่โมง ผู้ชุมนุมบางคนย้ายยางรถยนต์หลายสิบอัน มากองสุมเป็นด่านบริเวณหน้าปั๊มเชลล์ ผู้ชุมนุมรายหนึ่งได้โชว์หนังสติ๊ก แล้วบอกว่า

"นี่ไงอาวุธที่เราจะเอาไปสู้กับทหาร"

ผู้ชุมนุมคนดังกล่าวคือลุงชาญณรงค์

"ประมาณบ่ายสี่โมง" ยังไม่ทันที่ผู้ชุมนุมจะตั้งยางรถยนต์เสร็จ กระสุนมาจากทิศทางที่ทหารตั้งบังเกอร์ เริ่มยิงและจากนั้นก็ยิงตลอดเวลาไม่หยุด"

"นิก นอสติทซ์" ให้การว่าผู้ชุมนุมคน แรกๆ ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่เอาหนังสติ๊กมาโชว์ ถูกยิงที่แขนและหน้าท้องอาการสาหัส

-ระบุชัดทหารยิงไม่หยุด

ช่างภาพชาวเยอรมันให้การว่าหลังเกิดปะทะ ก็รีบเข้าไปหลบบริเวณกำแพงปั๊มเชลล์ห่างจากจุดบังเกอร์ยางรถยนต์ของผู้ชุมนุมไม่มาก มีผู้ชุมนุมบางคนหลบอยู่ใกล้ๆ กับเขาพยายามโยนเชือกเข้าไปช่วยดึงผู้บาดเจ็บออกมา แต่ทำไม่สำเร็จ

การยิงไม่เคยหยุดลงเลยผู้ชุมนุมอีกคนหนึ่งพยายามคลานหนีออกมาจากแนวยางรถยนต์ เข้ามาหลบในปั๊มน้ำมันก็ถูกยิงที่ขาและไหล่

ประมาณสี่ถึงห้านาทีผู้ชุมนุมบริเวณแนวยางรถยนต์คนหนึ่งข้ามมาในปั๊มเชลล์ได้ อีกคนหนึ่งถูกยิงที่แขน หลังจากนั้นสักพักสองคนที่บาดเจ็บไม่มากวิ่งเข้ามาที่ปั๊มเชลล์ได้

"คนหนึ่งล้มลงและคลานต่อไปจนถึงที่ปลอดภัย ผมเกรงว่าเขาจะถูกยิงอีกเสียงปืนดังขึ้นตลอดเวลาไม่หยุด ผู้ได้รับบาดเจ็บสามคนหลบออกมาสำเร็จ ข้างหลังของปั๊มน้ำมันมีห้องสุขาซึ่งกลายเป็นโซนปลอดภัยชั่วคราว"

"นิก นอสติทซ์" ระบุว่าเสียงปืนยังยิงตามหลังไม่ยอมหยุด เขาวิ่งไปรวมกับผู้ชุมนุมบริเวณหน้าห้องสุขาห่างไปประมาณ 40 เมตร รู้สึกว่าถูกไล่ยิงขณะวิ่งหลบหนี

"ตั้งแต่ผมทำข่าวมาไม่เคยกลัวมากขนาดนี้ เพราะเขายิงไม่เลือกเลย"

หลังจากนั้นผู้บาดเจ็บและผู้ชุมนุมพยายามจะปีนกำแพงออกไปหลังห้องน้ำ เพราะทหารรุกคืบเข้ามายังพื้นที่ของผู้ชุมนุมหลังแนวยางรถยนต์แล้ว

"นิก นอสติทซ์" ให้การว่ามีเพื่อนสื่อมวลชนส่วนหนึ่งและผู้ชุมนุมปีนข้ามกำแพงปั๊มน้ำมันเข้าไปในพื้นที่บ้านหลังหนึ่ง ระหว่างนั้นเห็น ผู้ชุมนุมแบกร่างลุงชาญณรงค์เข้ามาที่ปั๊ม เขาจึงถ่ายภาพไว้ 2-3 รูป ก่อนปีนกำแพงตามเพื่อนๆ ไป

ขณะที่ลุงชาญณรงค์ ถูกแบกข้ามกำแพงไปสำเร็จ

"นิก นอสติทซ์" ซึ่งทำข่าวในเมืองไทยมานานจนสามารถพูดและฟังภาษาไทยได้ดี เล่าว่าช่วงหลบอยู่หลังกำแพงได้ยินเสียงทหารวิ่งตามเข้ามาในปั๊มน้ำมัน มีเสียงด่าทอและเสียงเหมือนทำร้ายร่างกาย ได้ยินเสียงร้องขอชีวิตของผู้ชุมนุมด้วย

-ไม่ใช่ปะทะแต่ยิงฝ่ายเดียว

"นิก นอสติทซ์" ระบุว่าช่วงนั้นลุงชาญณรงค์ ที่ถูกยิงเข้าหน้าท้องและอีกหลายจุด หลบลงไปในบ่อบัวของบ้านดังกล่าว ส่งเสียงร้องด้วยความเจ็บปวด ว่าไม่ไหวแล้ว

"นิก นอสติทซ์" ให้การว่าช่วงนั้นหลบอยู่หลังพุ่มไม้ และตัดสินใจตะโกนออกไปว่าเป็นนักข่าวต่างชาติ ขอร้องว่าอย่ายิงเลยครับ ตะโกนอยู่สองสามครั้ง พร้อมชูมือขึ้นเหนือหัว

"เขาสั่งให้ผมเดินออกมา ผมเดินไปหาเขาและอธิบายว่าคนที่อยู่ในน้ำถูกยิงที่ท้องและแขนอาการสาหัส ทหารคนหนึ่งสั่งให้ดึงชายบาดเจ็บออกมาแต่ชายคนนั้นตัวใหญ่ทำให้ไม่สามารถช่วยได้คนเดียว ขณะที่พยายามดึงตัวเขาขึ้น ผู้บาดเจ็บวิงวอนด้วยเสียงอ่อนว่าเขาทนไม่ได้แล้ว"

ขณะนั้นทหารอีกส่วนปีนข้ามรั้วมาได้ และด่านายชาญณรงค์อย่างหยาบคายว่า "ทำไมถึงไม่ตาย" แล้วสั่งให้ตนช่วยดึงนายชาญณรงค์ขึ้นมาจากบ่อบัว แต่ดึงไม่ไหว

"ผมขอให้ทหารคนหนึ่งมาช่วยผมดึงคนเจ็บเพื่อไปส่งโรงพยาบาล แต่ทหารคนนั้นตะโกนว่าผู้ชายบาดเจ็บสมควรตายและไม่สนใจช่วยเหลือ จนมีทหารคนที่สองเข้ามาช่วยผมดึงตัวลุงชาญณรงค์ขึ้นจากนั้น ขณะที่ทหารคนแรกยังตะโกนไม่หยุดว่า คนเหล่านี้สมควรตาย"

ทหารสั่งให้นำเปลมาช่วยคนเจ็บออกไป และสั่งไม่ให้ถ่ายรูป

"นิก นอสติทซ์" ระบุอีกว่าภายในบ้านหลังนั้นมีทั้งผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ผู้สื่อข่าวไทย นักข่าวของ Spiegel, ทีมช่างภาพจากอินโดนีเซีย, ช่างภาพท้องถิ่นที่ทำงานให้กับ ABC News

ผู้ชุมนุมหลายคนที่อยู่กับพวกเรากลายเป็นคนขับรถจำเป็น เพราะเราต้องการรักษาชีวิตพวกเขา จึงอ้างกับทหารว่าเป็นคน ขับรถ

"ทหารไทยทำผิดกฎและขาดระเบียบวินัย ผู้ชุมนุมยังไม่ทันได้ทำอะไร ไม่ได้ต่อสู้ พวกเขามือเปล่า แต่ทหารยิง ทหารทำผิดกฎของเขาเอง ทหารไม่ได้ทำตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก เขาไม่ได้ยิงแก๊สน้ำตา เขาไม่ได้ใช้กระสุนยาง แต่ใช้กระสุนจริงและยิงไม่หยุด"

"ผมจะยอมรับได้หากวันนั้นมีการยิงปะทะ แต่การยิงเกิดขึ้นฝ่ายเดียวจากฝ่ายทหารเท่านั้น ผู้ชุมนุมมีจำนวนไม่มาก สองมือเปล่า ไม่มีอาวุธ ผมไม่ต้องการเห็นใครสักคนตาย ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือผู้ชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ไม่ใช่ชุดดำ เขาเป็นผู้ชุมนุม"

จากคำให้การและบันทึกของ "นิก นอสติทซ์" ย่อมชัดเจนในตัวของมันเองอยู่แล้วว่า

เหตุใดคดีลุงชาญณรงค์ จึงเป็นคดีแรกที่ขึ้นสู่การพิจารณาของอัยการ

และใครต้องรับผิดชอบต่อการออกคำสั่งให้ทหารเข้ามาปฏิบัติภารกิจในเมือง จนเกิดเหตุรุนแรงขึ้น!??

ที่มา ข่าวสด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น