News online

กลับไปยังหน้าหลักเพื่อสนทนา C-Box ดู TV และฟังวิทยุ ได้ที่

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คดี 112 : กรณีสุวิชา ท่าค้อ


สุวิชา ท่าค้อ:

ข้อมูลด้านคดีและความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้อง:


ขณะถูกจับกุม สุวิชา ท่าค้อ อายุมี 34 ปี และทำงานในตำแหน่งวิศวกรเครื่องจักรของบริษัทขุดเจาะน้ำมันแห่งหนึ่ง เขาถูกเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และฝ่ายสืบสวน สำนักคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ จับกุมตัวขณะกำลังเดินซื้อของกับภรรยาในตลาดอำเภอเมืองนครพนม เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 โดยเจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายจับและแจ้งข้อหาเผยแพร่ข้อความหมิ่นสถาบันเบื้องสูง สุวิชาซึ่งมีอาการตกใจได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนจะถูกควบคุมตัวไปสอบปากคำที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรุงเทพฯ ในคืนวันเดียวกัน โดยไม่มีการแถลงข่าวการจับกุมแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เช้าวันต่อมา ข่าวการจับกุมตัวสุวิชาได้ถูกเผยแพร่ออกไป ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับบุคคลระดับสูงบางคนในกระทรวงยุติธรรม ถึงขั้นมีการออกมาต่อว่าเจ้าหน้าที่ผ่านสื่อ

สองวันต่อมา สุวิชาถูกควบคุมตัวไปยังศาลอาญา เพื่อยื่นคำร้องขอฝากขังในระหว่างกระบวนการสอบสวนพยานหลักฐาน โดยคัดค้านการประกันตัว ซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขัง และไม่อนุญาตให้ประกันตัว แม้ว่าภรรยาของเขาจะยื่นคำร้องพร้อมด้วยหลักทรัพย์ กระบวนการทั้งหมดนี้กระทำไปโดยที่ผู้ต้องหาไม่มีทนายให้คำปรึกษา

ภายหลังถูกจับกุมเพียงไม่กี่วัน บริษัทขุดเจาะน้ำมันที่สุวิชาทำงานอยู่ ได้มีจดหมายแจ้งคำสั่ง "เลิกจ้าง" เนื่องมาจากการที่เขาถูกตั้งข้อหาและจับกุมดังกล่าว จดหมายของบริษัทระบุด้วยว่าสุวิชาจะไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ เนื่องจากการกระทำของเขาทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง

ระหว่างที่สุวิชาถูกคุมขังในเรือนจำ ญาติและทนายความของเขาได้พยายามยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์อีกหลายครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต โดยให้เหตุผลว่า สถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพเทิดทูนของประชาชนทั้งประเทศ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และกรณีนี้เป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง อัตราโทษสูง

ขณะเดียวกัน สื่อหลายสำนักได้เผยแพร่ข้อมูลคดีความของเขาออกไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อต่างประเทศ มีการเข้าไปสัมภาษณ์ถึงในเรือนจำ ซึ่งทุกครั้ง สุวิชา - ในสภาพที่ร้องไห้อยู่เกือบตลอดเวลา - ได้วิงวอนผ่านสื่อร้องขอสิทธิประกันตัว และพยายามอธิบายว่าเขามีลูก 3 คนและครอบครัวที่ต้องดูแล ไม่เคยคิดหลบหนี และไม่มีขบวนการใดๆ อยู่เบื้องหลังตามที่ถูกตั้งข้อสงสัย รวมทั้งได้กล่าวอย่างน้อยใจถึงกรณีผู้ต้องหาในคดีอุกฉกรรจ์หลายรายที่ได้รับการประกันตัว แต่ในกรณีของเขากลับถูกปฏิเสธตลอดมา

27 มีนาคม 2552 สุวิชา ท่าค้อ ให้การรับสารภาพต่อข้อกล่าวหาในชั้นศาล

3 เมษายน 2552 สุวิชา ท่าค้อ ถูกตัดสินจำคุกจากความผิด 2 กระทง กระทงละ 10 ปี รวม20 ปี แต่เนื่องจากให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กระทงละ 5 ปี คงเหลือโทษจำคุก 10 ปี ไม่รอลงอาญา และให้ริบของกลาง

……….……….……….……….……….

รายละเอียด:

14 มกราคม 2552
สุวิชา ท่าค้อ ถูกเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และฝ่ายสืบสวน สำนักคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ จับกุมตัวขณะกำลังเดินซื้อของกับภรรยาในตลาดอำเภอเมืองนครพนม ด้วยข้อหาเผยแพร่ข้อความหมิ่นสถาบันเบื้องสูง โดยสุวิชาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนจะถูกควบคุมตัวไปสอบปากคำที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรุงเทพฯ ในคืนวันเดียวกัน โดยไม่มีการแถลงข่าวการจับกุมแต่อย่างใด

15 มกราคม 2552
ข่าวการจับกุมดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ รวมทั้งสื่อบนหน้าอินเตอร์เนตและกระดานข่าวต่างๆ โดยเกือบทุกแหล่งระบุว่าเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นบ้านพักของสุวิชาที่กรุงเทพฯ แต่ผู้ต้องหาได้หลบหนีการจับกุมไปอยู่บ้านญาติที่นครพนมก่อนจะถูกติดตามจับกุมตัวได้ดังกล่าว(1) ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค(2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ดังที่ปรากฏคำให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในวันเดียวกันว่า จะไม่มีการแถลงข่าวใดๆ เกี่ยวกับการจับกุมครั้งนี้ และก่อนหน้าที่จะเข้าจับกุมเมื่อวานนี้ (14 ม.ค. 52) ตนได้กำชับแล้วว่าไม่ต้องการให้ข้อมูลถูกเผยแพร่ออกไป อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงกรณีที่มีข่าวออกมาว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีดังกล่าวนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมตอบว่า ยังไม่มีการตั้งกรรมการสอบสวนใดๆ เพียงแต่กำชับให้ระมัดระวังมากขึ้น

ภายหลังถูกจับกุมเพียงไม่กี่วัน บริษัทขุดเจาะน้ำมันที่สุวิชาทำงานอยู่ ได้มีจดหมายแจ้งคำสั่ง "เลิกจ้าง" เนื่องมาจากการที่เขาถูกตั้งข้อหาและจับกุมดังกล่าว จดหมายของบริษัทระบุด้วยว่าสุวิชาจะไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ เนื่องจากการกระทำของเขาทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง

16 มกราคม 2552
พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ควบคุมตัวสุวิชา ท่าค้อ ไปที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อขออำนาจศาลฝากขังผลัดแรก โดยในคำร้องระบุว่า ระหว่างวันที่ 27 เมษายน - 26 ธันวาคม 2551 ผู้ต้องหาได้กระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกรรม ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลรูปภาพซึ่งเป็นการกระทำดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาท ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 92/2552 บริเวณหน้าร้านสุวรรณการช่าง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 ซึ่งในขณะนี้การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องรอสอบปากคำพยานอีก 15 ปาก และรอผลการตรวจพิสูจน์หลักฐานที่ตรวจยึดมา ได้แก่ คอมพิวเตอร์จำนวน 3 เครื่อง แผ่นซีดีและเอกสารอีกหลายรายการ

ในท้ายคำร้อง พนักงานสอบสวนได้ขอคัดค้านการประกัน เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญ เกรงว่าผู้ต้องหาจะกระทำผิดซ้ำอีก อีกทั้งผู้ต้องหาทำงานกับบริษัทเอกชนต่างชาติ ต้องเดินทางไปต่างประเทศเป็นประจำ จึงอาจมีพฤติการณ์หลบหนี ศาลพิจารณาคำร้องและสอบถามผู้ต้องหาแล้ว อนุญาตให้ฝากขัง ทั้งนี้ กระบวนการทั้งหมดกระทำไปโดยที่ผู้ต้องหาไม่มีทนายให้คำปรึกษา

ทั้งนี้ในวันเดียวกัน ฐิติมา ท่าค้อ ภรรยาของสุวิชา ได้เดินทางมายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาล โดยใช้โฉนดที่ดิน ราคาประเมิน 5.5 แสนบาทเป็นหลักประกัน อย่างไรก็ตาม ศาลยกคำร้องดังกล่าว และมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าสถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพเทิดทูนของประชาชนทั้งประเทศ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และกรณีนี้เป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง อัตราโทษสูง จึงเห็นควรไม่ให้ประกันตัว

23 มกราคม 2552
ทนายความของสุวิชา ท่าค้อ ได้ยื่นอุทธรณ์ขอประกันตัว แต่เนื่องจากเอกสารบางส่วนไม่ครบถ้วน จึงเตรียมยื่นอุทธรณ์อีกครั้งในวันจันทร์ที่ 26 มกราคม 2552

26 มกราคม 2552
ทนายความของสุวิชา ท่าค้อ ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลชั้นต้นเป็นครั้งที่ 2 พร้อมด้วยหลักทรัพย์ แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

29 มกราคม 2552
ทนายความของสุวิชา ท่าค้อ ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลชั้นต้นเป็นครั้งที่ 3 ศาลนัดฟังผลการพิจารณาในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552

2 กุมภาพันธ์ 2552
ศาลเลื่อนนัดฟังผลการพิจารณาไปเป็นวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552
4 กุมภาพันธ์ 2552
ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยระบุว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

27 มีนาคม 2552
เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก อานนท์ นำพา ทนายความของสุวิชา ท่าค้อ เปิดเผยว่า ได้เบิกตัวจำเลยเพื่อนัดชี้สองสถาน เนื่องจากอัยการได้สั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2552 ซึ่งกล่าวหาว่าสุวิชา ท่าค้อกระทำความผิดโดยการโพสต์รูปและข้อความลงบนอินเตอร์เน็ต โดยใช้นามแฝง 2 ชื่อ โดยอัยการขอให้ลงโทษตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83,91 และ 112 และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14, และ 16

จำเลยให้การต่อศาลรับสารภาพว่าตนได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ศาลนัดฟังคำตัดสินในวันที่ 3 เมษายน 2552 เวลา 9.00 น.

3 เมษายน 2552
เมื่อเวลา 9.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ผู้พิพากษาอ่านคำตัดสินคดีที่พนักงานอัยการ โจทก์ ฟ้องนายสุวิชา ท่าค้อ เป็นจำเลย ฐานกระทำความผิดโดยร่วมกับพวกที่หลบหนี หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่า จะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร, นำ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ปรากฏภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กโทรนิกส์หรือวิธีการอื่นใดโดยประการที่น่า จะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย อัยการขอให้ลงโทษตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83,91 และ 112 และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14 และ 16

ตัดสินว่ามีความผิดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1), 83,91 และ 112 และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(2) และ 16(1) เนื่องจากเป็นความผิดหลายบท ให้ลงโทษตามมาตราที่มีโทษสูงสุด และความที่จำเลยกระทำความผิด 2 กระทง ให้ตัดสินให้ลงโทษ กระทงละ 10 ปี รวม 20 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กระทงละ 5 ปี คงเหลือโทษจำคุก 10 ปี ไม่รอลงอาญา และให้ริบของกลาง

ภายหลังการตัดสินคดี ฐิติมา ท่าค้อ ภรรยาวัย 36 ปีของสุวิชา ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า รู้สึกเสียใจอย่างยิ่ง และยังไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรกับการเลี้ยงดูลูก 3 คนที่ต่างกำลังอยู่ในวัยเรียน เพราะสามีเป็นผู้หารายได้หลักมาโดยตลอด ขณะที่ตนเป็นแม่บ้าน

"...เราเป็นแค่ชาวบ้านธรรมดา มาบอกทำไมล่ะว่าให้ปากคำแล้วจะปล่อยแฟนหนูกลับบ้าน..."

นอกจากนี้ ฐิติมายังได้ให้ผู้สื่อข่าวดูภาพถ่ายลูกชายคนโต (อายุ 16 ปี) ซึ่งขณะนี้บวชเป็นเณรอยู่ที่วัดสระโบสถ์ จ.ร้อยเอ็ด ในโครงการถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พร้อมกับบอกว่า "นี่ไม่ใช่บวชธรรมดานะ เป็นการบวชในพระราชกุศล เผื่อจะได้ไถ่โทษให้พ่อเขาได้บ้าง" ขณะที่บิดาวัย 70 ปีของสุวิชากล่าวว่า รู้สึกเหมือนบ้านพังลงมาทั้งหลัง

ที่ห้องขังใต้ถุนศาล สุวิชา ซึ่งร้องไห้อยู่ตลอดเวลา ภายหลังทราบว่าจะต้องพลัดพรากจากครอบครัวถึง 10 ปี ได้กล่าวตัดพ้อสังคมไทยว่า เพียงเพราะความเชื่อที่แตกต่าง ตนก็กลายเป็นคนเลว ก่อนจะอธิบายว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้ตนออกมาต่อต้านการรัฐประหาร และด้วยความเข้าใจผิดจึงได้ก้าวล่วงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ต่อมาได้ฟังเจ้าหน้าที่อธิบายจึงเข้าใจ และรู้สึกเสียใจ ซึ่งระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ ตนได้เขียนขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว

"...ผมอยากกลับไปหาครอบครัว ไปเป็นชาวไร่ชาวนาก็เอา ขอให้ผมอาศัยอยู่ในประเทศนี้ต่อไปเถอะ ผมไม่มีที่ไปแล้ว ผมแค่ชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง ไม่มีอาวุธ ไม่มีเครือข่ายอะไรจริงๆ..."

"…I never do anything wrong, the whole world please help me, I want to go back to my family…"

ด้านสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเน็ตติเซ่น กล่าวว่า ขณะนี้ทางเครือข่ายฯกำลังอยู่ระหว่างการปรึกษาหารือ โดยเบื้องต้นได้รวบรวมข้อมูลและกระจายข้อมูลเกี่ยวกับคดีดังกล่าวออกไป อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวแล้วมองว่า คดีของสุวิชา ท่าค้อ เป็นข้อเตือนให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตต้องระมัดระวังตัวในการแสดงความคิดเห็นกันมากขึ้น ซึ่งการลงโทษจำคุก 20 ปี และลดเหลือ 10 ปี นั้น ตนเห็นว่าเป็นโทษที่หนักมาก ถ้าเปรียบเป็นยาก็ถือเป็นยาแรง

"...ก็คงพูดได้ว่าเสรีภาพมีอยู่ แต่ความเสี่ยงก็สูงมากด้วย โดยเฉพาะสำหรับคนที่เชื่อในเรื่องการแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา..."
ผู้ประสานงานเครือข่ายเน็ตติเซ่นยังกล่าวอีกว่า พื้นที่อินเตอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่ผู้แสดงความคิดเห็นไม่มีภูมิคุ้มกันมาก่อน เพราะก่อนหน้านี้หลายคนอาจจะแสดงความเห็นโดยใช้นามแฝง หรือเป็นบุคคลนิรนาม แต่น่าสังเกตว่า ความเป็นนิรนามในผู้ใช้อินเตอร์เน็ตของไทยกลับหายไปอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ปีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

"...ก็น่าเศร้าที่จะต้องพูดว่าผู้เล่นอินเตอร์เน็ตต้องระวังตัว เพราะพื้นที่อินเตอร์เน็ตเป็นพื้นที่เสรี ในส่วนของการแก้ปัญหาระยะยาวคงอยู่ที่การหาจุดที่ลงตัวระหว่างเสรีภาพ กับกฎหมายที่เข้มงวดมาก…"

ก่อนจะให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า ในกรณีของสุวิชา เนื่องจากจำเลยสารภาพ จึงไม่มีการไต่สวนข้อเท็จจริงว่าเขาเป็นบุคคลที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ ทั้งนี้ จำเลยก็กล่าวกับผู้สื่อข่าวและบุคคลทั่วไปว่าสารภาพเพราะต้องการให้คดีจบ

"...นี่เป็นเรื่องที่เป็นคำถามเหมือนกันว่าในทางสืบสวนสอบสวน หาหลักฐานทางเทคนิคและทางวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย จะตรวจสอบได้อย่างไรที่จะเชื่อมโยงข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต สู่ตัวบุคคลจริงๆ..."

14 พฤษภาคม 2552
เวบไซต์ประชาไทรายงานว่า อานนท์ นำพา ทนายของสุวิชา ท่าค้อ ได้ออกมาเปิดเผยว่า อัยการได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนกำหนดอายุความอุทธรณ์คดีดังกล่าวออกไปจากกำหนด เดิมคือวันที่ 3 พ.ค. 52 โดยขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 1 มิ.ย. 52 ซึ่งการเลื่อนอายุความดังกล่าว ได้ส่งผลให้คดียังไม่สิ้นสุด โดยถ้าหากอัยการยื่นอุทธรณ์ในระหว่างนี้ คดีก็จะยืดเยื้อออกไป

ทั้งนี้ วันเดียวกัน แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับครอบครัวของสุวิชา ท่าค้อ ได้เปิดเผยว่า หลังจากทราบข่าวการเลื่อนกำหนดอายุความ ญาติของสุวิชารู้สึกวิตกเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความตั้งใจจะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ แต่เมื่อคดียังไม่สิ้นสุดก็ไม่สามารถดำเนินการได้

1 มิถุนายน 2552
เวบไซต์ประชาไท รายงานว่า คดีที่สุวิชา ท่าค้อ ซึ่งถูกศาลตัดสินจำคุก 10 ปี ในความผิดตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา หรือคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่อัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลขยายระยะเวลาอุทธรณ์จากวันที่ 3 พ.ค. เป็นวันที่ 1 มิ.ย. นั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พ.ค.52 พ.ต.ท.พิชิต นนทสุวรรณ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ยื่นคำแถลงต่อศาลว่า อัยการฝ่ายคดีศาลสูงมีคำสั่งไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอาญาและอธิบดีกรมสอบ สวนคดีพิเศษเห็นพ้องด้วยกับคำสั่งไม่อุทธรณ์ โจทก์จึงไม่อุทธรณ์คดีนี้

ด้านอานนท์ นำพา ทนายของสุวิชา กล่าวกับประชาไทว่า เมื่อทางอัยการไม่ดำเนินการอุทธรณ์ ก็จะดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลสั่งคดีถึงที่สุดต่อไป โดยอาจจะดำเนินการในวันที่ 2 มิถุนายนนี้ หรืออย่างช้าที่สุดในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ และหลังจากนั้นก็จะเตรียมการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษต่อไป

……….……….……….……….……….

เชิงอรรถ:

(1) ข้อมูลจากคนใกล้ชิดยืนยันว่า สุวิชาไม่ได้รู้ตัวล่วงหน้าว่าจะถูกจับกุมและหลบหนีไปตามที่เป็นข่าว แต่เป็นการจับกุมในระหว่างที่เขามาพักผ่อนกับครอบครัวที่บ้านนครพนมตามปกติ อีกทั้งก่อนหน้าที่จะถูกจับกุมเพียงไม่กี่วัน สุวิชายังได้ไปเปิดการแสดงพารามอเตอร์ในงานวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2552 ของจังหวัดนครพนม

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ผู้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งโดยสาระสำคัญคือ
๑. เสนอให้เพิ่ม "พระบรมวงศานุวงศ์" (ภาค ๒ ความผิดลักษณะ ๑) จากเดิมที่ครอบคลุมเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ
๒. เดิมมีโทษจำคุกตั้งแต่ ๓ ปี ถึง ๑๕ ปี ร่างนี้เสนอให้เพิ่มโทษเป็น " ๕ ปี ถึง ๒๕ ปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนถึงหนึ่งล้านบาท" (มาตรา ๑๑๒)
๓. ให้ศาลกำหนดวันไต่สวนมูลฟ้องและวันพิจารณาคดีโดยไม่ชักช้า
๔. ในขั้นการพิจารณาเบื้องต้นของศาล หาก "เห็นว่ามีมูล" ให้ศาลประทับฟ้องไว้และกำหนดวันพิจารณาคดีโดยเร็ว ซึ่งพฤติกรรมแห่งการกระทำผิด ประกอบได้ด้วย ข้อมูล ข้อความ ถ้อยคำ คำเรียกขาน คำเปรียบเปรย ภาพ เนื้อหา
๕. ให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้รับภาระในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน (ฝ่ายอัยการหรือฝ่ายโจทก์ เพียงแถลงต่อศาลถึงพฤติการณ์การกระทำความผิด) จากเดิมที่ให้สันนิษฐานว่าผู้ถูกกล่าวหา/จำเลย บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
๖. ให้เป็นคดีที่พิจารณาต่อเนื่อง ห้ามเลื่อนโดยไม่มีเหตุอันควรอย่างแท้จริง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับร่างฯดังกล่าวได้ที่
http://edoc.parliament.go.th/public/output/result.asp?hidDocID=492193


ข้อมูลส่วนตัว:

สุวิชา ท่าค้อ หรือ "นุ้ย" เป็นชาวจังหวัดนครพนม เกิดเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2517 เป็นบุตรคนที่ 2 ของครอบครัวชาวนาในจังหวัดนครพนม มีพี่สาว 1 คน และน้องชาย 1 คน

ในช่วงวัยรุ่น สุวิชาได้เข้าศึกษาในสถาบันการบินพลเรือนอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะพบว่าหญิงคนรัก (ภรรยาในปัจจุบัน) ตั้งครรภ์ ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากการเรียนกลางคัน เพราะต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อภรรยาและลูกที่กำลังจะเกิดมา โดยหลังจากนั้น สุวิชาในวัย 18 ปีได้พาคนรักไปฝากไว้กับพี่สาวที่มหาสารคามให้ช่วยดูแลชั่วคราว เพื่อที่ตัวเองจะได้ไปทำงานหาเงินมาเลี้ยงดูคนรักและชีวิตที่กำลังจะเกิดมา โดยไม่เคยเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากทางบ้าน


คนใกล้ชิดเล่าว่า ลักษณะนิสัยที่เด่นชัดของ "นุ้ย" คือความเป็นคนขยันขันแข็ง มีความรับผิดชอบสูง ซึ่งผลตอบแทนที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ สุวิชามีเงินเดือนหลายหมื่นบาทในวัยเพียงสามสิบกว่าปี

ในด้านชีวิตส่วนตัว "นุ้ย" เป็นคนรักครอบครัวอย่างมาก ในช่วงที่ได้หยุดพักจากงานในบริษัทขุดเจาะน้ำมัน เขาจึงมักใช้วันหยุดทั้งหมดนั้นกับครอบครัวทั้งที่บ้านในกรุงเทพฯและบ้านที่นครพนม

"…เขารักลูกมาก ติดลูก วันหยุดต้องกลับมานอนกอดลูกทุกคืน..."

ส่วนเวลาที่เหลือ สุวิชามักทุ่มเทให้กับพารามอเตอร์หรือร่มบิน – กีฬาผาดโผนที่เขาคว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศมาได้หลายรายการ โดยใช้ชื่อในวงการร่มบินว่า "นุ้ย นครพนม"


14 มกราคม 2552 สุวิชา ท่าค้อ ถูกเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และฝ่ายสืบสวน สำนักคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ จับกุมตัวขณะเดินซื้อของในตลาดอำเภอเมืองนครพนม ด้วยข้อหาเผยแพร่ข้อความหมิ่นสถาบันเบื้องสูง สุวิชาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เขาถูกควบคุมตัวไปสอบปากคำที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรุงเทพฯ ในคืนวันเดียวกัน

ข้อมูลจากคนใกล้ชิดยืนยันว่า สุวิชาไม่ได้รู้ตัวล่วงหน้าว่าจะถูกจับกุมและหลบหนีไปกบดานอยู่ที่ต่างจังหวัดตามที่เป็นข่าว แต่เป็นการจับกุมในระหว่างที่เขามาพักผ่อนกับครอบครัวที่บ้านนครพนมตามปกติ

"...เขาใช้ชีวิตปกติ ไม่รู้อะไรเลย วันเด็ก-ก่อนหน้าโดนจับไม่กี่วัน ก็ยังไปบินพารามอเตอร์โชว์ให้เด็กที่นครพนมดูอยู่เลย..."
หลังการจับกุม นอกจากความทุกข์ใจและเสียขวัญ ครอบครัวของสุวิชากำลังตกอยู่ในภาวะลำบาก บ้านที่สร้างขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงของเขาซึ่งยังต้องผ่อนชำระอยู่อาจถูกยึดไป เนื่องจากสุวิชามีเงินเก็บอยู่ไม่มากนัก เพราะที่ผ่านมารายได้ของเขาได้ถูกนำไปทุ่มเทให้กับบ้าน และความสะดวกสบายของครอบครัว รวมทั้งการศึกษาของลูกๆ ยิ่งไปกว่านั้น หลังถูกจับกุมเพียงไม่กี่วัน สุวิชาก็ถูกให้ออกจากงานในบริษัทขุดเจาะน้ำมันและไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ โดยทางบริษัทอ้างเหตุผลว่า การกระทำของเขาทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง แม้ว่าในขณะนั้นสุวิชาจะยังเป็นเพียงผู้ต้องหา และคดียังคงอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนก็ตาม

ปัจจุบัน สุวิชา ท่าค้อ วัย 34 ปี - พ่อของเด็กๆ 3 คน อดีตวิศวกรบริษัทขุดเจาะน้ำมันและนักกีฬาร่มบินเจ้าของรางวัลชนะเลิศหลายรายการ ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำคลองเปรม กรุงเทพฯ ในฐานะนักโทษ "คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กำหนดจำคุก 10 ปี


หมายเหตุ: แก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2552

ที่มา LM watch

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น