วิเคราะห์สังคมไทย ตอนที่ ๑
โครงสร้างทางเศรษฐกิจ
“พลังการผลิต”จุดชี้ขาดการปฏิวัติ
โดย นักเศรษฐศาสตร์กรรมาชีพคำนำเศรษฐศาสตร์การเมือง เป็นระบบคิดหนึ่งในสามส่วนของลัทธิมาร์กซ ที่ชาวลัทธิมาร์กซให้ความสำคัญในการทำความเข้าใจสังคมและใช้ประกอบการวิเคราะห์สังคม นอกเหนือจากปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษวิธี วัตถุนิยมประวัติศาสตร์และสังคมนิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์ การใช้ระบบคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองบนจุดยืนของลัทธิมาร์กซเพื่อมองสังคมไทยจะทำให้เข้าใจสังคมไทยที่เป็นรูปธรรมถึงรากเหง้าพื้นฐานทางสังคมในรูปแบบการผลิตซึ่งเคลื่อนไหววิวัฒนาการไปสู่รูปแบบเศรษฐกิจอื่นๆ อันได้แก่ การแบ่งงานทางสังคม การแลกเปลี่ยน การบริโภค การค้าขาย การลงทุนและการเก็งกำไร
ในส่วนของรูปแบบการผลิตมีกล่าวถึงพลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิต โดยเห็นว่า “พลังการผลิต” เป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรมของการเคลื่อนตัวอันส่งผลไปสู่การก่อเกิดความสัมพันธ์ทางการผลิต ก่อกำเนิดความรับรู้และรูปการจิตสำนึกต่างๆ ในทางวัฒนธรรมสังคม การเมืองการปกครอง
“พลังการผลิต” หมายถึง พลังของมนุษย์ และพลังธรรมชาติอื่นนอกตัวมนุษย์ ดังนั้น “พลังการผลิต” จึงได้แก่ พลังสมอง พลังความรู้ ฝีมือ ทักษะ และพลังงานกล้ามเนื้อของมนุษย์ที่ผนวกกับพลังงานของธรรมชาติต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการผลิตปัจจัยสี่และปัจจัยอื่นๆ โดยมนุษย์ได้อาศัยแรงงานตนเอง แรงงานสัตว์ พลังความร้อนจากไฟที่เผาไหม้ฟืนถ่านไม้มาผลิตมีด ขวาน ฯลฯ พลังงานจากน้ำ ลม พลังงานจลน์ (วัตถุเคลื่อนที่ไปตามแนวพื้นดิน เช่น รถม้าที่กำลังวิ่ง วัวกำลังลากเกวียน ควายกำลังลากคันไถ ฯลฯ) พลังงานศักย์ (วัตถุตกลงมาจากที่สูงตามแรงโน้มถ่วง เช่น น้ำตก ค้อนตีเหล็กบนทั่ง ปั้นจั่นตอกเสาเข็ม ฯลฯ) พลังงานจากสารเคมี แสงอาทิตย์ คลื่นทะเล คลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้า ถ่านหิน ปิโตรเลียม จนถึงพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อนำไปใช้ไปใช้ในการผลิตเครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องคำนวนอิเล็กทรอนิกส์ สมองกล หุ่นยนต์ฯลฯ ซึ่งพลังการผลิตจะสูงหรือต่ำ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของมนุษย์เป็นสำคัญที่จะไปยึดกุม ควบคุม และใช้ประโยชน์จากพลังงานต่างๆ นั้น โดยผ่านวิธีการทดลองค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ การผลิตเทคโนโลยี และการเข้าร่วมในกระบวนการผลิต
ดังนั้น จึงถือได้ว่า
“พลังการผลิต” เป็นเรื่องของศักยภาพของมนุษย์และระดับของพลังงานจากธรรมชาตินอกตัวมนุษย์ ที่มนุษย์เรียนรู้ ค้นคว้า ประดิษฐ์และควบคุมนำมาใช้ประโยชน์ได้ สังคมที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากหรือน้อยจึงมาจากพลังการผลิตที่สูงหรือต่ำ
อย่างไรก็ตาม ระดับความเจริญของสังคมในแต่ละยุคสมัยก็สามารถจำแนกได้ตามระดับพลังการผลิต เช่น สังคมบรรพกาล มีพลังการผลิตคือแรงงานมนุษย์ที่ใช้ในการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ (เดิมใช้พลังแรงงานกล้ามเนื้อของตนเองเดินไปเก็บกินและล่าสัตว์) ในช่วงปลายสังคมบรรพกาล มนุษย์เริ่มรู้จักใช้พลังงานจากไฟ ลม น้ำ ในการทำเครื่องมือโลหะเหล็ก และเครื่องกลแบบง่ายๆ เพื่อความสะดวกและทุ่นแรงในการเคลื่อนของหนัก ได้แก่ ล้อ เลื่อน เกวียน คานดีด คานงัด การดึง การลาก การจัดตั้งแรงงาน การแบ่งงาน การรวมแรงงาน ฯลฯ
สังคมทาส ใช้พลังแรงงานมนุษย์ในการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ โดยมีแรงงานสัตว์ร่วมในการผลิต เริ่มนำความรู้ใหม่ ๆ มาสร้างและพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ให้ดีขึ้น เช่น มีด ขวาน จอบ เสียม ไถ คราด สวิง แห อวน กับดักสัตว์ ท่อน้ำดินเผา ตลอดจนเพิ่มพลังการผลิตในด้านต่าง ๆ เช่น เครื่องจักสาน การทอผ้า เครื่องปั้นดินเผา การทดน้ำ การชลประทาน การต่อเรือ การสร้างที่อยู่อาศัยไปจนถึงสร้างเมืองขนาดใหญ่ บรรดาสิ่งมหัศจรรย์ใหญ่ ๆ ของโลก เช่น ปิระมิด (4,600 ปี) สวนลอยกรุงบาบิโลน (2,600 ปี) กำแพงเมืองจีน (2,200 ปี) ปราสาทนครวัด (900 ปี) ฯลฯ ล้วนแต่สร้างขึ้นในยุคทาส (ของสังคมนั้น ๆ ) รวมทั้งอาวุธดาบ หอก โล่ ฯลฯ ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพดีกว่าในสมัยบรรพกาล นอกจากนี้ยังมีความรู้ในวิทยาการพื้นฐานแขนงต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาพลังการผลิตให้สูงขึ้น เช่น คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ ศิลปะ การเมืองการปกครอง ตลอดจนมีนักคิด นักปราชญ์ และกำเนิดศาสนาต่าง ๆ ที่สำคัญและยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ศาสนาฮินดู พุทธ คริสต์ อิสลาม เป็นต้น
สังคมศักดินา นอกจากมีพลังการผลิตพื้นฐานจากสังคมทาสแล้ว พลังสมองของมนุษย์ในสังคมศักดินาได้ค้นพบเครื่องมือที่ใช้แทนมือและละเอียดมากชนิดขึ้น และมีการใช้แรงสัตว์มากชนิดขึ้น เช่น วัว ควาย ช้าง ม้า ลา ล่อ อูฐ สุนัข นกล่าปลา ฯลฯ มีการใช้เครื่องมือผลิตของใช้ต่าง ๆ มากมาย สร้างบ้านเรือน วัดวาอารามไปจนถึงปราสาทราชวังที่วิจิตรบรรจงและงดงามยิ่ง สร้างพาหนะทั้งคานหาม รถ เรือน้อยใหญ่ที่ขนสินค้าข้ามมหาสมุทรได้ สร้างศิลปวัฒนธรรมมากมายทั้งภาษา วรรณกรรม กวี ดนตรี การแสดง ภาพเขียน ภาพปั้น ภาพแกะสลัก อาหาร เครื่องแต่งกาย ฯลฯ รวมทั้งผลิตอาวุธที่มีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ควบคุมมนุษย์ให้ทำงานในระบบการผลิตแบบรวมหมู่ในแปลงเกษตรและปศุสัตว์ของเจ้านายศักดินา เช่น ปืน ปืนใหญ่ ระเบิด ฯลฯ ส่วนปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดในสมัยศักดินาก็คือที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินในรูปของที่นา ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “ศักดินา” ซึ่งหมายถึงระดับขั้นที่กษัตริย์อนุญาตให้ครอบครองที่นาได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในความหมายที่สำคัญ
สังคมทุนนิยม มีจุดกำเนิดตรงที่การค้นพบพลังการผลิตใหม่ ได้แก่ องค์ความรู้ในสมองที่ต่อยอดมาจากสังคมศักดินา เป็นภูมิปัญญาของนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สะสมทักษะฝีมือในการประดิษฐ์เครื่องมือ เครื่องใช้ ไปสู่เครื่องจักรที่ผลิตซ้ำได้มากและรวดเร็ว นำพลังงานที่มีคุณภาพสูงเช่น น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ กระแสไฟฟ้า พลังงานนิวเคลียร์ ฯลฯ มาเปลี่ยนสังคมที่ไม่พอกินพอใช้ให้เป็นสังคมที่มีกินมีใช้
ที่สำคัญคือการเปลี่ยนทรัพยากรธรรมชาติและมูลค่าแรงงานมนุษย์เป็น “ทุน” ซึ่งทำหน้าที่ในฐานะหลักของ “ปัจจัยการผลิตที่ใช้เพื่อแสวงหากำไรจากมูลค่าส่วนเกิน” ดังนั้น “ทุน” จึงเป็นทั้งองค์ความรู้ เครื่องมือ และผลิตผลของมนุษย์
แต่เดิม “เงินตรา” มีหน้าที่เป็นตัวแทนมูลค่าในการแลกเปลี่ยน การชำระหนี้ การออมหรือสะสมมูลค่าและการแสดงฐานะเท่านั้น ดังนั้น “ทุน” จึงเป็นหน้าที่ใหม่ของ “เงินตรา” ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้ จากการสะสมทุนแล้วถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการผลิตสินค้าสร้างกำไรจากมูลค่าส่วนเกิน “ทุน” สามารถเรียกด้วยคำเต็มว่า “ทุนเงินตรา” อันเป็นหน้าที่ของทุนที่ไปรวบรวมพลังการผลิตทั้งแรงงานคน ทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบ เครื่องจักร เข้าสู่ระบบโรงงาน ผลิตสินค้า แล้วนำไปสู่กระบวนการขนส่งสู่ตลาดเพื่อสร้างกำไรจากกระบวนการผลิตและการค้า “ทุน” ทำให้ปัจจัยการผลิตหรือองค์ประกอบการผลิตมารวมเข้าด้วยกันที่ทรงพลังที่สุด “ทุนเงินตรา” จึงเป็นพลังอำนาจในการผลิตของสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ที่จะบูรณาการพลังการผลิตย่อยอื่นๆ เข้าไปอยู่ในหน่วยการผลิตเดียวกัน
ในปัจจุบัน “ทุนเงินตรา” ยังคงทำหน้าที่ในฐานะปัจจัยการผลิตที่สำคัญของสังคมไทย โดยที่ “ทุน” ได้ปรากฏตัวครั้งแรกในฐานะหน่ออ่อนของสังคมทุนนิยมในสังคมศักดินาที่มีลักษณะเฉพาะของสังคมไทยเอง คือ ทุนนิยมของไทยไม่ได้ริเริ่มจากชาวไทยหรือชนชั้นศักดินาไทยเอง เพราะศักดินาไทยบังคับให้ไพร่ทาสผลิตให้โดยไม่จ่ายค่าจ้าง มีทั้งประเภทบังคับเกณฑ์แรงงาน เก็บเอาผลผลิตบางส่วนจากไพร่ และเก็บแบบแบ่งเอาเป็นค่าเช่า ชนชั้นศักดินาไม่อนุญาตให้คนไทยค้าขายกับต่างชาติหรือไม่ให้ทำการค้าขายเป็นอาชีพหลัก เพราะไพร่ทาสไม่สามารถแยกตัวออกจากสังกัดมูลนายได้ แต่ทุนนิยมของสังคมไทยกลับเริ่มต้นจากนายทุนต่างชาติที่ใช้ “ทุนเงินตรา” ในฐานะพลังกระตุ้นการผลิตให้กับสังคมไทย ทั้งจากนายทุนชาวจีนที่เป็นทุนจากพานิชยกรรม และนายทุนฝรั่งที่ต้องการผลผลิตข้าวจากประเทศไทย จนวิวัฒนาการจากทุนการค้ามาเป็นทุนอุตสาหกรรม ทุนการเงิน และเข้าสู่ยุคทุนเก็งกำไรในที่สุด
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์สังคมไทยโดยใช้รูปแบบเศรษฐกิจที่มีรูปแบบการผลิตและมีพลังการผลิตเป็นหลักในการวิเคราะห์นี้ เป็นการรวบรวมข้อมูล จัดระบบข้อมูล วิเคราะห์และตีความระดับพลังการผลิตโดยใช้ลัทธิมาร์กซเป็นแก่นแกน เพื่อชี้ให้เห็นวิวัฒนาการของพลังการผลิต ซึ่งในที่นี้จะให้ความหมาย “พลังการผลิต” ในความหมายกว้างคือ นอกจากจะหมายถึงพลังงานขั้นปฐมคือแรงงานสมอง แรงงานกล้ามเนื้อมนุษย์แล้ว ยังหมายถึงพลังงานธรรมชาติที่เกิดจากมนุษย์เข้าไปยึดกุมใช้ประโยชน์ อันเป็นพลังงานขั้นทุติภูมิ และยังหมายถึงพลังการผลิตที่มาจากเทคโนโลยีในลำดับถัดๆ มาที่ซับซ้อนและต่อเนื่อง เช่น เครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องคำนวณ คอมพิวเตอร์ สมองกล หุ่นยนต์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมทั้ง “ทุนเงินตรา” ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยและ “พลังการผลิต” อยู่ในกระบวนการผลิตของสังคม ที่สร้างผลผลิตมากมายมหาศาลทบทวีคูณ
พลังทางการผลิตในสังคมศักดินาช่วงยุคสุโขทัย พ.ศ. 1781 ถึง ช่วงรัตนโกสินทร์ก่อนสนธิสัญญาบาวริ่ง พ.ศ. 2398 ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 1781-2398 ระยะเวลากว่า 600 ปี สังคมไทยมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสังคมศักดินา ชนชั้นศักดินาที่ประกอบด้วยกษัตริย์ ราชวงศ์ ขุนนาง มูลนาย อาศัยการเก็บกินจากค่าเช่าที่นา เก็บส่วย ภาษี อากร และอาศัยแรงงานไพร่ทาส ได้ผลผลิตโดยไม่มีต้นทุนค่าใช้จ่าย สำหรับไพร่ทาสจะเป็นผู้ออกแรงงานทำการผลิต โดยมีพลังการผลิตพื้นฐานสำคัญอยู่ที่แรงงานคนและแรงงานสัตว์ร่วมกันทำการเกษตร และทำการเก็บรวบรวมจากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น สินแร่ ผลผลิตจกป่าไม้ สัตว์ป่า หนังสัตว์ เขา งา ปลา ผลไม้ พลังงานธรรมชาติ ได้แก่ ถ่านไม้ ฟืน พลังน้ำ พลังลมและแสงแดด เมื่อสินค้ามีน้อย การซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิตระหว่างเมืองจึงมีน้อย มีแต่การขนส่งลำเลียงผลผลิตเข้าไปสู่เมืองหลวงตามการบังคับ หรือเกณฑ์เอา ส่วนใหญ่มักเป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างหมู่บ้าน
การค้าภายในที่จำกัดนี้ทำให้การใช้เงินตราในหมู่ไพร่ทาสไม่แพร่หลาย ไพร่ไม่มีโอกาสสะสมความมั่งคั่ง สำหรับการเกษตรและการค้ากับต่างประเทศจะถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ผูกขาดเฉพาะของราชสำนัก เมื่อเจ้านายมีสินค้าจะส่งไปขายยังแว่นแคว้นใกล้เคียงหรืออาณาจักรอื่น ๆ ที่อยู่ไกลออกไป การผลิตดังกล่าวของไทยครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยจนมาสิ้นสุดในต้นรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อไทยทำสนธิสัญญาบาวริ่งกับอังกฤษในปี พ.ศ. 2398
การแบ่งงานกันทำในกระบวนการผลิตในชนบทส่วนใหญ่ยังมีไม่มาก ครอบครัวเป็นหน่วยการผลิตที่ทำทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ล่าสัตว์ และประมง กระทั่งหัตถกรรมก็ทำกันเองในครอบครัว ความชำนาญเฉพาะอย่างจึงมีน้อย เทคโนโลยี และเครื่องมือการผลิตก็เป็นแบบง่ายๆ เช่น จอบ เสียม ผาลเหล็ก เคียว เกวียน โดยที่ชุมชนหมู่บ้านซึ่งเป็นชุมชนหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคมสามารถพึ่งตนเองได้ในเกือบทุกด้าน เพราะหมู่บ้านต่าง ๆ จะผลิตสิ่งของเกือบทุกอย่างที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตด้วยตนเองภายในชุมชนหมู่บ้านนั้น เช่น ปลูกข้าวและพืชผักอื่น ๆ เพื่อการบริโภค จับปลาตามแม่น้ำลำคลอง หนอง บึง ทอผ้าเพื่อใช้ทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ปั้นหม้อ ตีมีด ทำจอบ เสียม เคียว ค้อน ไถ ครกกระเดื่อง รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้อื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน
ชนชั้นในระบบศักดินาได้แบ่งคนออกเป็น 4 กลุ่มคือ กษัตริย์ ขุนนาง ไพร่ และทาส ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เช่น มอญ แขกจาม มีสถานะเป็นไพร่ ส่วนพระสงฆ์ และชาวจีนเป็นกลุ่มคนนอกระบบไพร่
ดังนั้น ไพร่ และทาส ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เช่น มอญ แขกจาม มีสถานะเป็นไพร่จึงเป็นพลังการผลิตของสังคม ความสัมพันธ์ของมูลนายกับไพร่ เป็นความสัมพันธ์แบบกดขี่ขูดรีดอย่างโจ่งแจ้ง กล่าวคือ ถ้ามูลนายถือศักดินา 400 ไร่ จะมีไพร่ในปกครองหรือแรงงานที่ใช้ในการผลิตได้ 16 คน เมื่อไพร่จ่ายค่าเช่าเป็นผลผลิตแล้ว ยังต้องไปทำงานให้แก่เจ้านายอีกปีละ 6 เดือน และทำงานให้มูลนายอีกปีละ 3 เดือน
กษัตริย์ผูกขาดการค้าข้าว ดีบุก ทองคำ ไม้ฝาง ไม้กฤษณา ผลเร่ว ครั่ง รังนก งาช้าง หนังสัตว์ ฯลฯ โดยพระคลังสินค้า เสนาบดีกรมท่า ทำหน้าที่ควบคุมการค้าดังกล่าว กษัตริย์จึงเป็นผู้สะสมความมั่งคั่ง เงินที่ได้มาส่วนน้อยนำกลับมาซื้อสินค้าไปขาย เงินที่กษัตริย์ได้มามิได้ถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงการผลิตรอบใหม่เลย เงินส่วนใหญ่ถูกนำไปสร้างวัง สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและซื้อสิ่งของเครื่องประดับให้กับมเหสีและนางบำเรอ
เมื่อเรือสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาเทียบท่า ทางเจ้านายศักดินาจะไปเลือกซื้อสิ่งของที่ต้องการก่อน เช่น ผ้าไหม เครื่องลายคราม ชา ไหมดิบ ไหมสำเร็จรูป ฝ้ายชนิดต่างๆ ฝิ่นดิบ ทองแท่งและเงินแท่ง นอกจากนี้ยังเป็นประเภทอาวุธปืน เครื่องแก้ว และสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยอีกหลายรายการ เมื่อชนชั้นศักดินาได้สิ่งของที่ต้องการเพียงพอแล้ว จึงยอมให้ฝรั่งจำหน่ายแก่คนทั่วไป ซึ่งไพร่ทาสก็ไม่มีเงินซื้อ
กษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ได้สะสมทุนขึ้นเรื่อยๆ จากปลายรัชกาลที่ 3 ที่เริ่มต้นจากการนำเงินไปลงทุนซื้อสิ้นค้าเพิ่มจากไพร่ในราคาถูก จากนั้นเจ้าก็นำทุนทางการค้าไปเป็นทุนทางการผลิต
ในรัชกาลที่ 4 จักรวรรดินิยมอังกฤษได้บังคับให้รัฐศักดินาไทยทำสนธิสัญญาบาวริ่งกับอังกฤษเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 โดยมีสาระสำคัญได้แก่สิทธิในการตั้งกงสุลคอยดูแลผลประโยชน์ การตั้งศาลกงสุลเพื่อชำระความคนในบังคับของอังกฤษ ให้สิทธิการค้าเสรีแก่คนในบังคับอังกฤษทั่วทุกเมืองท่าของไทย ยกเลิกการเก็บค่าระวางปากเรือ แต่กำหนดภาษีขาเข้าตามราคาสินค้าในอัตราร้อยละชัก 3 ส่วนภาษีขาออกให้เก็บเพียงครั้งเดียว ไม่เก็บภาษีฝิ่น รัฐศักดินาไทยมีสิทธิห้ามส่งข้าว เกลือ และปลาออกนอกประเทศได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องแจ้งให้กงสุลอังกฤษทราบข่าวล่วงหน้าเป็นเวลา 1 เดือน
ภายหลังจากที่ไทยได้ทำสนธิสัญญาบาวริ่งกับอังกฤษ ก็ได้มีประเทศมหาอำนาจต่างๆ ส่งผู้แทนเข้ามาเจรจาเพื่อทำสนธิสัญญาการค้ากับไทย โดยยึดแบบอย่างที่ไทยได้ทำกับอังกฤษ เช่น ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2399 เดนมาร์กในปี พ.ศ.2401 โปรตุเกส ในปี พ.ศ. 2402 ฮอลันดาในปี พ.ศ. 2403 ปรัสเซีย ปี พ.ศ. 2405 สวีเดน และนอร์เวย์ในปี พ.ศ.2411
จะเห็นได้ว่า ในช่วงนี้พลังการผลิตของสังคมไทยยังเป็นแบบสังคมเกษตรกรรมที่ใช้คนกับแรงงานสัตว์เป็นสำคัญ เป็นสังคมที่การผลิตเป็นไปอย่างเชื่องช้า ประกอบกับกฎเกณฑ์ของชนชั้นศักดินาที่กดทับขัดขวางศักยภาพของพลังการผลิตเสียเอง โดยเอาคนออกจากภาคผลิตเกษตรกรรมให้ไปเป็นทหาร สร้างวัง สร้างบ้านให้เจ้านาย เลี้ยงม้าเลี้ยงช้างให้เจ้านาย พายเรือพาเจ้านายท่องเที่ยว แบกหามเจ้านาย คอยให้บริการรับใช้ต่างๆ นานาการผลิตจึงไม่พัฒนาและมักเกิดสภาพข้าวยากหมากแพงจากภัยธรรมชาติและสงครามอีกด้วย
พลังการผลิตช่วงหลังสนธิสัญญาบาวริ่ง พ.ศ. 2398 ถึง ช่วงระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พ.ศ. 2435
ผลจากการทำสนธิสัญญาบาวริ่ง ทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงไปหลายประการ เช่น เกิดระบบการค้าเสรี เลิกการผูกขาดโดยพระคลังสินค้า การค้าของศักดินาและชาวจีนในไทยขยายตัวออกไป เริ่มเกิดชนชั้นนายทุนและกรรมกรที่เป็นชาวต่างชาติ
สินค้านำเข้าแต่เดิมประกอบด้วยสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อการบริโภคของชนชั้นสูง ได้เปลี่ยนมาเป็นสินค้าเพื่อการบริโภคของคนทั่วไป เช่น ผ้านุ่ง ผ้าฝ้าย เครื่องแก้ว ใบชา กระจก เป็นต้น ส่วนสินค้าส่งออกในสมัยก่อนเป็นสินค้าหลายๆ ชนิด ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นสินค้าเพียงไม่กี่ชนิด เช่น ข้าว ไม้สัก ดีบุก เป็นต้น
การส่งออกข้าวได้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง เพราะระบบการค้าที่เปลี่ยนไปและความต้องการของตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นด้วย
หลัง พ.ศ. 2398 กษัตริย์ และขุนนางได้ขยายการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นตามการสั่งซื้อของฝรั่ง แต่แรงงานไพร่ทาสไม่สามารถถูกระดมไปขยายที่นาและทำงานในนาจำนวนมากได้ เพราะต้องอยู่ในสังกัดมูลนายถูกเกณฑ์ไปทำงานโยธาต่างๆ และทำงานให้กษัตริย์ รัฐศักดินาจึงต้องกระตุ้นส่งเสริมให้ไพร่ทาสเร่งขยายเนื้อที่ทำนาให้เพิ่มมากขึ้นด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีที่ดินทำนา ซึ่งถ้าชาวนาได้บุกเบิกใหม่ในปี 2400 รัฐศักดินาจะไม่เก็บภาษีที่ดินในปีแรก และในอีก 2-3 ปีต่อมาจะเก็บภาษีแต่เพียงเล็กน้อย
ครั้นเมื่อชนชั้นศักดินาต้องการข้าวไปขายมากขึ้น ก็ต้องการแรงงานทำนามากขึ้น จึงจำเป็นต้องยกเลิกทาส ใน พ.ศ. 2448 ซึ่งก็คือการปลดปล่อย “พลังการการผลิต” นั่นเอง
พลังการผลิตที่ถูกนำมาจากต่างประเทศเพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตข้าวได้แก่ รถไถ ซึ่งใน พ.ศ. 2424 – 2425 กองวิศวกรรม กรมการข้าว ได้นำเครื่องจักรไอน้ำมาทดลองไถนาแทนแรงกระบือ ที่ตำบลคลองนิยมยาตรา เมืองสมุทรปราการ ได้ทำการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงรถแทรกเตอร์หลายแบบ แบบที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางคือ รถแทรกเตอร์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ตั้งแต่ 8.5 แรงม้า ถึง 25 แรงม้า หรือที่เรียกว่า ควายเหล็ก นอกจากนี้ยังมีเครื่องสูบน้ำ เครื่องเกี่ยวข้าว เครื่องสีข้าว เป็นต้น มาใช้แทนที่เครื่องมือแบบดั้งเดิมที่ใช้ระหัดวิดน้ำเข้านา ใช้เคียว และเครื่องสีข้าวด้วยมือหรือครกกระเดื่อง กระทั่งมีโรงสีข้าวพลังไอน้ำ ลานตากข้าวและโกดังข้าวขนาดใหญ่ กระทั่งมีรถบรรทุกและเรือที่ติดเครื่องยนต์สำหรับขนส่งข้าว ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการเริ่ม “การปฏิวัติอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย”
เมื่อมีการค้าขายกันอย่างกว้างขวางโดยใช้เงินตราเป็นสื่อกลาง รัชกาลที่ 4 จึงสร้างโรงกษาปณ์ขึ้นในปี 2403 และสั่งซื้อเครื่องจักรสำหรับผลิตเงินเหรียญกษาปณ์เพื่อใช้แทนเงินพดด้วงเดิมซึ่งผลิตด้วยมือ
มีบรรษัททุนข้ามชาติ เข้ามาหากำไรจากการค้าขายและแรงงานส่วนเกิน ก่อให้เกิดหน่ออ่อนทุนนิยมของไทยอันเป็นความสัมพันธ์ทางการผลิตที่ไปกระตุ้นต่อพลังการผลิตแบบใหม่ โดยการสร้างองค์ความรู้และกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมให้กับสังคมไทย ซึ่งมีกลไกไปกระตุ้นการผลิต ได้แก่ “ทุนเงินตรา” “องค์กร (บริษัท) ” “การขนส่ง” และ “การตลาด”
บริษัทข้ามชาติที่เข้ามาในระยะแรก ด้านอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นบริษัทข้ามชาติของจักรวรรดินิยมอังกฤษ มาผูกขาดการโค่นไม้สักทั้งประเทศถึงร้อยละ 80 ได้แก่ บริษัท บอมเบย์ เบอร์มา บริษัท บอร์เนียว บริษัท แองโกล สยาม บริษัท หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ เป็นต้น โดยการจ้างกรรมกรชาวพม่า ลาว และจีน อีก 20 % อยู่ในมือของคนจีน
เมื่อ พ.ศ. 2399 บริษัท เจ เอส ปาร์กเกอร์ ของสหรัฐอเมริกา เข้ามาสร้างโรงสีไฟแห่งแรกของประเทศสยาม ในปี พ.ศ. 2401 บริษัท อเมริกัน สตีมไรซ์ มิลลิ่ง ได้ว่าจ้างกรรมกรชาวจีนทำการผลิตข้าวและใช้เครือข่ายคนจีนเป็นผู้รวบรวมข้าวเปลือก
ในช่วงนี้มีการก่อตัวของเศรษฐกิจแบบตลาด ในภาคกลางและหัวเมืองชายฝั่งตะวันออก ในขณะที่ภูมิภาคอื่น ๆ ยังคงสภาพของเศรษฐกิจแบบพอยังชีพ และเริ่มเกี่ยวพันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตในระบบตลาดโลก จากนั้นจึงค่อยพัฒนาพลังการผลิตภายในสังคมให้เป็นแบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยใช้เงินทุนของต่างชาติ ทุนศักดินาและทุนพ่อค้าชาวจีน ราษฎรส่วนใหญ่ที่เคยเป็นพลังการผลิตแบบพอยังชีพได้คืบคลานสู่การเป็นแรงงานรับจ้าง เป็นพลังการผลิตอิสระที่หลุดออกจากสังกัดมูลนาย และก้าวเป็นแรงงานเสรีที่สามารถเลือกตัดสินใจในการเคลื่อนย้ายแรงงานได้ด้วยตนเอง
ในปี พ.ศ. 2435 รัชกาลที่ 5 ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จากเดิมที่ให้ขุนนางเป็นเจ้าเมืองทำการปกครองหัวเมือง และเจ้าประเทศราชปกครองนครรัฐ แล้วส่งส่วยหรือเครื่องราชบรรณาการมาให้รัฐศักดินาส่วนกลาง มาเป็นระบบใหม่โดยส่งข้าราชการไปปกครอง และจัดเก็บภาษีส่งให้ส่วนกลาง ไม่ให้หักเอาไว้เอง เหมือนก่อน ซึ่งข้าราชการได้รับเงินเดือนจากรัฐ ระบบนี้ต้องใช้เงินตราในการบริหาร โดยต้องจัดทำงบประมาณจัดสรรเงินให้แก่กระทรวงต่างๆ ทำให้รัฐบาลของกษัตริย์สามารถจัดพิมพ์งบประมาณรายรับรายจ่ายแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2444
ชนชั้นศักดินาไทยได้จัดตั้งธนาคารของตนเพื่อให้การค้ากับคนต่างชาติสะดวกขึ้น เริ่มต้นด้วยการจัดตั้ง "บุคคลัภย์" (Book Club) ขึ้น ต่อมากลายเป็น "ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด" มีการให้บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม รับสัมปทานขุดคลองทั่วพระราชอาณาจักรเพื่อขยายที่นาเพิ่มผลผลิตข้าว โดยเฉพาะในบริเวณทุ่งราบภาคกลางจำนวนมาก เช่น ในบริเวณพื้นที่ราบฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เขตจังหวัดปทุมธานีที่เรียกว่าทุ่งรังสิต โดยขุดคลองสายใหญ่ เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาตรงไปยังแม่น้ำนครนายกเพื่อการคมนาคมขนส่งข้าวไปยังโรงสีและลงเรือไปต่างประเทศ มีการปลูกฝ้ายและตั้งโรงงานหีบฝ้าย เริ่มสร้างถนนตามแบบตะวันตก ภายหลังการสร้างถนนแล้วได้มีบรรดาพ่อค้าและชาวกรุงส่วนหนึ่งหันมาก่อสร้างร้านค้าและบ้านเรือนตามริมถนน เช่น ถนนเยาวราช ถนนจักรวรรดิ ถนนอนุวงศ์ ถนนบูรพา ถนนสามเสน ถนนราชดำเนิน ซึ่งเจ้าของที่ดินคือกษัตริย์ ราชวงศ์และขุนนาง
ขณะที่ไทยเพิ่งจะเริ่มพัฒนาพลังการผลิตนั้น หลายประเทศในยุโรปและอเมริกาได้มีพลังการผลิตก้าวหน้าจนเป็นประเทศทุนนิยมเต็มตัวไปนานแล้ว เช่น
ปี 2255 โทมัส นิวโคแมน และ จอห์น แคลเลย์ ประดิษฐ์เครื่องสูบน้ำ (แบบลูกสูบ) พลังไอน้ำความดันต่ำ
ปี 2276 มีการคิดประดิษฐ์เครื่องกรอด้าย เครื่องทอผ้าที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องทอผ้าแบบกี่กระตุกแบบเดิม ทำให้สามารถผลิตผ้าได้มากมายโดยใช้แรงงานน้อยลง
ปี 2312 เจมส์ วัตต์ ประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำแรงดันสูง ที่ใช้ตัวควบแน่นและวาล์วปิดเปิด ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมของโลก ตรงกับช่วงสมัยพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรี
ปี พ.ศ. 2313 ประเทศอังกฤษได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือ สำหรับงานเหล็ก โดย เจส แรมส์เดน (Jesse Ramsden) ได้มีการสร้างเครื่องกลึง-ตัด แบบสกรู
ปี 2362 เจโธร์ วู้ด ได้รับสิทธิบัตรคันไถเหล็กที่สามารถถอดเปลี่ยนอะไหล่ได้
ปี 2394 ไอแซค ซิงเกอร์ แห่งเมืองบอสตัน ได้ประดิษฐ์จักรเย็บผ้าที่ใช้ตามครัวเรือน นอกจากนี้ฝรั่งยังประดิษฐ์การส่งโทรเลข มีการใช้น้ำมันเบนซินแทน ก๊าซและถ่านหิน สร้างรถจักรยานยนต์ รถยนต์ เครื่องผลิตไฟฟ้า ทำมอเตอร์ไฟฟ้า มีไฟฟ้าให้แสงสว่างขณะที่สังคมไทยยังใช้ตะเกียง น้ำมันยางและขี้ไต้
ปี 2411 เริ่มมีการใช้รถไถพลังไอน้ำ
ปี 2446 ออร์วิล และวิลเบอร์ ไร้ธ์ ได้ประดิษฐ์เครื่องบินและทำการทดลองบินได้สำเร็จ
แต่สำหรับประเทศไทย ชนชั้นศักดินา กษัตริย์ และขุนนาง กลับอยู่ในช่วงกดขี่ขูดรีดค่าเช่านาจากไพร่อย่างทารุณ ไพร่ต้องใช้พลังแรงงานตนเองไปทำนาถึง 3 แห่ง คือ ที่ตนเองเช่า ที่ของเจ้านายในสังกัด และที่ของกษัตริย์ (ของหลวง) โดยใช้เครื่องมือเพียงมีด จอบ เสียม คันไถ และแรงวัวควาย กับแสงเทียนและตะเกียงอันริบหรี่ในยามค่ำคืน
พลังการผลิตช่วงระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พ.ศ. 2435 ถึง ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในช่วงเวลานี้มีการขยายตัวทางอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการโดยมีหน่วยการผลิตในรูปของบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานรัฐบาลของศักดินาดำเนินการเอง หรือทั้งสองส่วนร่วมทุนกัน เช่น
ปี 2456 รัฐบาลได้ร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัททำปูนซีเมนต์ของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ภายหลังคือ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และอีกหลายกิจการ เช่น โรงไฟฟ้าสามเสน บริษัทพาณิชย์นาวีสยาม ธนาคารออมสิน เป็นต้น
พ.ศ. 2463 สร้างทางรถไฟสายแปดริ้ว-ปราจีนบุรี เพื่อประโยชน์ด้านการเมืองการปกครองหัวเมือง และด้านเศรษฐกิจ ในการลำเลียงผลผลิตโดยเฉพาะข้าว โค กระบือ จากภาคตะวันออกเข้ากรุงเทพฯ
ผลจากการพัฒนาพลังการผลิต ทำให้รายได้ของราชสำนักที่กรุงเทพฯ เพิ่มมากขึ้น เช่น เงินคงคลัง ซึ่งเคยมีอยู่ประมาณ 7,500,000 บาท ใน พ.ศ. 2437 เพิ่มขึ้นเป็น 32,000,000 บาท ใน
พ.ศ. 2444
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤติทางการเงินครั้งใหญ่ของโลกขึ้นใน พ.ศ. 2472 ส่งผลกระทบมาถึงไทยในปี พ.ศ. 2474 ทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง เดือนพฤษภาคม 2475 รัฐบาลได้ขายทองคำทุนสำรองของประเทศที่มีอยู่ทั้งหมด มีการปลดข้าราชการออกจากงาน ประกาศเพิ่มภาษีราษฎร ทำให้ราษฎรประสบความเดือดร้อนมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฏร
การจ้างงานที่เรียกผู้ใช้แรงงานว่ากรรมกรเป็นครั้งแรก มีขึ้นในช่วง พ.ศ. 2430 - 2462 คือ กรรมกรลากรถ หรือกุลีลากรถ กรรมกรส่วนใหญ่เป็นชาวจีนอพยพจากแผ่นดินใหญ่ และชาวจีนเหล่านี้ก็เป็นผู้นำวัฒนธรรมรถลากเข้ามาและทำอาชีพลากรถ มีนายทุนเป็นผู้ให้เช่ารถลาก ซึ่งในปี 2441 มีธุรกิจรถลากของคนจีนประมาณ 1,600 คัน ประมาณว่ากรรมกรลากรถมีทั้งคนจีนและคนลาวรวมกันประมาณ 3,000 คน แต่ในช่วงเริ่มต้นยังไม่มีระบบลูกจ้างและนายจ้างที่ชัดเจน กรรมกรลากรถจะไม่มีค่าจ้างรายวันหรือรายเดือนที่แน่นอน แต่จะได้รายได้ที่เหลือจากค่าเช่ารถ (เหมือนการเช่าแท็กซี่ในปัจจุบัน) ต่อมายุคของกรรมกรลากรถได้สิ้นสุดลงเมื่อประมาณ พ.ศ. 2496 หลังจากเกิดธุรกิจรถราง รถสามล้อและรถยนต์ที่เข้ามามีบทบาทแทนพลังการผลิตช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถึง ช่วงการรัฐประหาร พ.ศ. 2490
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฏรได้พยายามที่จะปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการผลิตที่กลุ่มเจ้าและราชวงศ์เป็นเจ้าของและผูกขาดให้เป็นของรัฐบาล และมุ่งพัฒนาพลังการผลิตตามเจตนารมณ์ในร่าง "เค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ" ของคณะราษฎร เช่น
1. การเสนอให้โอนที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตทั้งหมดเป็นของรัฐ และให้โอนทุนและโรงงานอุตสาหกรรมเป็นของรัฐ โดยให้ค่าตอบแทน
2. การจัดพัฒนาการเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มพลังการผลิตของประเทศ เพื่อปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายนี้รัฐจะเป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจและควบคุมการใช้ทุน อันเป็นปัจจัยหลักในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคุมให้มีการลงทุนในกิจการที่เป็นประโยชน์ระยะยาวแก่ประเทศอย่างแท้จริง เร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจทั้งการเกษตรและอุตสาหกรรมอย่างมีแผน มุ่งกระจายรายได้และทรัพย์สินในระบบให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น
แต่เค้าโครงเศรษฐกิจนี้ไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี ที่เสียงส่วนใหญ่เป็นคนของพวกเจ้า นายทุนการเงินได้เกิดขึ้นในช่วงปี 2431 - 2487 มีธนาคารพาณิชย์เปิดดำเนินการถึง 24 ธนาคาร
ในปี พ.ศ. 2481 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ขึ้นมาครองอำนาจและนำเอาลัทธิ “เผด็จการชาตินิยม” มาใช้ แต่อีกด้านหนึ่งก็สนับสนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นเต็มที่ ทำให้อิทธิพลของญี่ปุ่นในยุคนั้นอยู่เหนืออิทธิของจักรวรรดินิยมอื่นๆ และยิ่งทำให้มีนายทุนนายหน้าของญี่ปุ่นมากขึ้น
จอมพล ป. พยายามลดอำนาจทางเศรษฐกิจของคนต่างชาติและของฝ่ายเจ้าและราชวงศ์ โดยสร้างระบบเศรษฐกิจชาตินิยมขึ้นมา เช่น สร้างรัฐวิสาหกิจที่ควบคุมโดยรัฐ กีดกันคนต่างชาติไม่ให้มีอิทธิพลในวิสาหกิจนั้น โดยการจัดตั้ง “บริษัทไทยนิยมพาณิช” ขึ้นมา จากนั้นก็ค่อยๆ ขยายจัดตั้งบริษัทจังหวัดต่างๆ ทุกจังหวัด สินค้าส่งออกที่มาจากจังหวัดต่างๆ ให้ส่งผ่านบริษัทจังหวัด บริษัทจังหวัดส่งมาให้บริษัทไทยนิยมฯ บริษัทไทยนิยมฯส่งออกนอก ในทางกลับกัน ถ้าเป็นการนำเข้าต้องนำเข้าผ่านบริษัทไทยนิยมO บริษัทไทยนิยมฯ ส่งต่อไปยังบริษัทจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นการผูกขาดการค้าโดยรัฐ วิสาหกิจแต่ละแห่งจะมีคนของรัฐบาลเผด็จการชาตินิยมเข้าไปควบคุม หลังจากที่ ญี่ปุ่นยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในปี 2488 จักรวรรดินิยมอเมริกาก็เริ่มเข้ามามีอิทธิพลเหนือประเทศไทย
พลังการผลิตช่วงหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ถึง ช่วงการรัฐประหาร พ.ศ. 2500
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุนนิยมต่างชาติได้ขยายตัวไปอีกก้าวหนึ่ง โดยเฉพาะการบุกเบิกทางเศรษฐกิจของอเมริกันนั้นจะพบว่า แหล่งทรัพยากรและรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจของไทยนั้น คนอเมริกันมีข้อมูลมากกว่าคนไทยเองเสียอีก ทั้งนี้ก็ด้วยข้อตกลงที่ว่าไทยต้องยอมให้อเมริกันบุกเบิกทางเศรษฐกิจและเชื่อสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจนั่นเอง
ทางด้านนายทุนพาณิชย์ที่เป็นคนจีนภายใต้บารมีของขุนนาง ได้พัฒนาเติบโตเป็นปึกแผ่นมั่นคงขึ้นไปอีก บรรดานายทุนพาณิชย์เหล่านี้ได้มีการจัดตั้งรวมกลุ่มกันขึ้นมาเป็นสมาคม เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของพวกตน เช่น สมาคมเพชรพลอยเงินทอง สมาคมธุรกิจการโรงแรมและท่องเที่ยว (2490) มีสมาชิกถึง 90 ราย สมาคมพ่อค้าสุรา (พ.ศ. 2495) สมาคมพ่อค้าขายส่งน้ำแข็ง สมาคมพ่อค้ากาแฟ สมาคมพ่อค้ายาสูบ ส่วนนายทุนต่างชาติ อเมริกัน อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่นและอินเดีย ต่างก็ได้ตั้งหอการค้าของตนขึ้น
จอมพล ป. สร้างระบบเศรษฐกิจชาตินิยม ด้วยคำขวัญว่า “ประเทศไทยเพื่อคนไทยเท่านั้น” แต่ปรากฏว่าในยุคนั้น กิจการค้าขายระดับเล็กระดับกลางและกิจการค้าระหว่างประเทศอยู่ในมือพ่อค้าคนจีน ขณะเดียวกัน บริษัทและโรงงานใหญ่ๆ เป็นของคนยุโรป ของอเมริกัน แต่มาตรการเฉียบขาดในการจำกัดธุรกิจคนต่างด้าวนั้น รัฐบาลมุ่งปฏิบัติกับเฉพาะคนจีนเท่านั้น กับคนอเมริกัน คนยุโรป รัฐบาลไม่กล้าแตะต้อง เหตุก็เพราะว่าคนอเมริกันกับคนยุโรปขยายธุรกิจของตนด้วยการเป็นผู้มีอำนาจ แต่คนจีนพัฒนาธุรกิจของตนด้วยการ “ยินยอมอยู่ใต้บารมีของเจ้านายศักดินาและขุนนาง” เพื่ออาศัยบารมีนั้นไปขยายกิจการ
ไม่นาน คำขวัญว่า “ประเทศไทยเพื่อคนไทย” ก็กลายเป็นประเทศไทยเพื่อขุนศึกขุนนางไปในที่สุด มีการเข้าไปหาประโยชน์จากธุรกิจคนจีน เช่น สมาคมโรงสีข้าว การอุตสาหกรรมน้ำตาล สิ่งทอ น้ำมัน การธนาคาร การประกันภัย การขนส่ง และการค้าอื่นๆ
นโยบายของจอมพล ป. ทำให้ทุนนิยมในประเทศไทยช่วงนี้เปลี่ยนจาก “ทุนนิยมขุนนาง” เป็น “ทุนนิยมขุนศึก”
พลังการผลิตช่วงหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 ถึง ช่วง 14 ตุลาคม พ.ศ. 25142516
ภายหลังที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2501 แล้ว ก็มีแนวนโยบายทางเศรษฐกิจตามแบบอย่างประเทศตะวันตกเพื่อต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อให้เกิดการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรม โดยการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม พ.ศ. 2503 และ พ.ศ. 2505 และรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาผลิตในประเทศเพื่อทำให้ “ทุนอุตสาหกรรม” เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเน้นการให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่างประเทศ เช่น ไม่ต้องเสียภาษีนิติบุคคล 30 % เหมือนบริษัททั่วไปเป็นเวลา 5-8 ปี ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ลดภาษีส่งออก ให้นำกำไรออกนอกประเทศได้ หลังจากนั้นจึงเริ่มมีบริษัทรถยนต์จากญี่ปุ่นเข้ามาตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ (นิสสันปี 2505 โตโยต้าปี 2507)
นอกจากนี้ยังมีการตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ใน พ.ศ. 2504 รัฐบาลได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504 - 2509) และแผนพัฒนาพัฒนาเศรษฐกิจเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินี้จะมีสืบเนื่องกันต่อมาถึงปัจจุบัน
รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ได้กู้เงินจากต่างประเทศมาสร้างถนน ไฟฟ้า น้ำประปา เขื่อน โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม และน้ำในเขื่อนส่วนหนึ่งใช้เพื่อการเกษตร
ตั้งแต่ปี 2508 - 2516 มีการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้แก่อเมริกา ญี่ปุ่นและไต้หวัน โดยเฉพาะทุนอเมริกันทะลักเข้าไทยหลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบของนักลงทุน นักวิชาการและทหารที่เข้ามาปักหลักตั้งฐานทัพในประเทศไทยเพื่อทำสงครามในอินโดจีน ซึ่งทั้งหมดทำในหลายกิจการ เช่น เครื่องดื่ม ยาสูบ เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ กระดาษสิ่งพิมพ์ เคมีภัณฑ์ สินค้าสำเร็จรูป เหมืองแร่ พลังงาน ผลิตภัณฑ์แร่โลหะ อุตสาหกรรมโลหะพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์เข้าหาผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มทุนนิยมขุนนางกับทุนนิยมต่างชาติอย่างเต็มที่
ในยุคนี้ประเทศไทยสามารถจับปลาได้เป็นที่ 8 ของโลก สมาคมประมงทั่วประเทศ 33 สมาคมมีสมาชิกเป็นเจ้าของเรือประมาณ 40,000 ลำ มีชาวประมงประมาณ 500,000 คน
กิจการค้าหลายอย่างอยู่ในมือของพ่อค้าผูกขาด บ้างก็ผูกขาดโดยนายทุนพาณิชย์ต่างชาติ เช่น มันสำปะหลัง น้ำมันเชื้อเพลิง กระจกแผ่นเรียบ ฯลฯ บางชนิดก็ผูกขาดโดยนายทุนไทยที่อาศัยบารมีขุนนาง บางอย่างก็ผูกขาดโดยนายทุนอิสระ เป็นต้น
ด้านนายทุนธนาคาร เมื่อกิจการพาณิชย์และอุตสาหกรรมเติบโต กิจการธนาคารก็เติบโตตามไปด้วย ตั้งแต่ปี 2507 - 2516 ธนาคารต่างๆ ได้ขยายสาขาออกไปอย่างรวดเร็วทุกจังหวัด ในแต่ละจังหวัดก็มีหลายสาขา ปี 2516 ธนาคาร 16 แห่ง มีสาขารวมกัน 700 สาขา ธุรกิจในเครือธนาคารจึงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังสามารถดูดกลืนธุรกิจอื่นๆ เข้าไว้ในเครือได้อีก เช่น ธุรกิจใดที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารก็ยึดกิจการและนำไปให้กลุ่มของตนบริหารเช่น ธนาคารกรุงเทพยึดกิจการบางกิจการไปให้กลุ่ม พี.เอส.เอ บริหาร เข้าควบคุมโรงงานทอผ้าไทยเกรียงแล้วให้กลุ่มสหยูเนียนบริหาร เป็นต้น
การเรียกร้องประชาธิปไตยในเดือนตุลาคม 2516 เป็นผลให้รัฐบาลเผด็จการถนอม-ประภาสลาออก ยุติบทบาทของทุนขุนศึกที่ยึดครอง “พลังการผลิต” มายาวนาน “พลังการผลิต” จึงเข้าสู่ยุคทุนผูกขาดศักดินาโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พลังการผลิตช่วงหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ถึง ช่วง พฤษภาคม พ.ศ. 2535
หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กลุ่มทุนบางกลุ่มส่วนใหญ่เชื้อสายจีนได้พัฒนาตนเองไปเป็น “ทุนผูกขาดสวามิภักดิ์” อาศัยอิทธิพลบารมีของกษัตริย์จนใหญ่โตเข้มแข็งเกินกว่าที่ผู้ใดจะเข้าไปแผ่อิทธิพลได้ง่ายๆ ธุรกิจเหล่านี้ได้แก่ ธุรกิจของกลุ่มธนาคาร ธุรกิจของกลุ่มกิจกรรมประมง ธุรกิจของกลุ่มทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ธุรกิจกลุ่มผลิตการค้าน้ำตาล ธุรกิจการค้าเช่นกลุ่ม “เซ็นทรัล” กลุ่ม พี.เอส.เอ
ส่วนกลุ่มร่วมลงทุนกับต่างชาตินั้นก็ยิ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดเช่นกัน เช่น กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ตระกูลเจียรวนนท์) กลุ่มสัมพันธมิตร-สหพัฒน์ (ตระกูลโชควัฒนา) กลุ่มสหยูเนียน (ตระกูลดารกานนท์) กลุ่มสยามกลการ (ตระกูลพรประภา) กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2517-2522 ธนาคารพาณิชย์ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว ธนาคารไทย 16 ธนาคาร ปี 2516 มีสาขาเพียง 760 สาขา แต่ปี 2522 มีสาขาทั้งหมด 1,289 สาขา มีพนักงานรวมกัน 50,245 คน ทรัพย์สินในปี 2517 รวมกันมีเพียง 105,036 ล้านบาท สิ้นปี 2522 ทรัพย์สินรวมสูงถึง 295,746.18 ล้านบาท
เมื่อกลุ่มทุนจักรวรรดินิยมได้เข้ามาลงทุนทั้งด้านอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ซึ่งทำให้ทุนอุตสาหกรรมและทุนพาณิชย์โดยจักรวรรดินิยมเติบโตขึ้นมาก เป็นโอกาสของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เข้าไปเป็นนายหน้า ร่วมทุนและขยายการลงทุนโดยใช้อิทธิพลและอำนาจทางการเมืองที่สามารถจัดตั้งและควบคุมรัฐบาลได้เองอย่างเบ็ดเสร็จ ในยุคนี้มีธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เช่น โรงงานทอผ้า โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป โรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงงานผลิตสุรา ฯลฯ
พลังการผลิตที่ทันสมัยทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ตัวอย่าง เช่น จำนวนหมูและไก่เพิ่มขึ้นขณะที่ฟาร์มลดลง
ในปี 2508 มีฟาร์มเลี้ยงหมู 208,248 ฟาร์ม เลี้ยงหมูได้ 900,518 ตัว
ในปี 2521 มีฟาร์มเลี้ยงหมู 206,081 ฟาร์ม เลี้ยงหมูได้ 1,882,263 ตัว
ในปี 2508 มีฟาร์มเลี้ยงไก่ 534,287 ฟาร์ม เลี้ยงไก่ได้ 10,117,935 ตัว
ในปี 2521 มีฟาร์มเลี้ยงหมู 417,463 ฟาร์ม เลี้ยงหมูได้ 19,103,774 ตัว
(ที่มา สำมโนเกษตร 2508, 2421)
อย่างไรก็ตาม ในปี 2518 ที่ตราพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ออกมาใช้ ทำให้ชนชั้นกรรมกรไทยเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ตามหลักสากลอีกครั้ง มีการขยายตัวของสหภาพแรงงานที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 184 สหภาพ เป็น 618 สหภาพ ในปี 2532 ซึ่งถือเป็นยุคฟื้นฟูของขบวนการแรงงานไทย
ในระยะแรก ๆ ของช่วงนี้ เหตุการณ์ทางการเมืองผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการเลือกตั้งหลายครั้ง แต่ก็เป็นรัฐบาลผสมและไม่มั่นคง พลังของกลุ่มนิสิตนักศึกษาได้ร่วมกับกรรมกรและชาวนาเปิดโปงและต่อต้านการกดขี่ขูดรีดของกลุ่มทุนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง กรรมกรจำนวนมากนัดหยุดงานและเดินขบวนสำแดงกำลังหลายครั้ง
ในอินโดจีน อเมริกาได้พ่ายแพ้ในสงครามอินโดจีนอย่างต่อเนื่อง ประเทศเวียดนาม ลาว และกัมพูชาสามารถปลดปล่อยตนเองออกจากอำนาจการควบคุมของจักรวรรดินิยมอเมริกา จนต้องเปลี่ยนนโยบาย ประกอบกับนักเรียนนักศึกษาและประชาชนวงการต่าง ๆ ได้เดินขบวนขับไล่ฐานทัพอเมริกาในประเทศไทยครั้งใหญ่ อีกทั้งการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธภายใต้การนำของ พคท. ก็กำลังขยายตัวเติบใหญ่อย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการปราบปรามเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนครั้งรุนแรงที่สุดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 การต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทก็สั่นคลอนและคุกคามอำนาจรัฐของทางการไทยภายใต้การควบคุมของทุนศักดินาอย่างหนัก จนพวกเขาเตรียมหอบหิ้วทรัพย์สมบัติเผ่นหนีตามผู้นำประเทศอินโดจีนไปอยู่รอมร่อ
สภาพการณ์เช่นนี้ ไม่เอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตมากนัก อีกทั้งพวกกลุ่มทุนต่างชาติจักรวรรดินิยมทั้งหลายต่างก็ลังเลไม่กล้าผลีผลามเข้ามาลงทุน
จนกระทั่งสงครามประชาชนเริ่มคลี่คลายภายหลังปี 2525 เศรษฐกิจไทยจึงเริ่มฟื้นตัวขึ้น แต่ทว่าในช่วงนั้นเศรษฐกิจทั่วโลกก็ตกต่ำ ทำให้ พล.อ.เปรม นายกฯ ในขณะนั้นต้องประกาศลดค่าเงินบาท 2 ครั้งในปี 2525 และ 2527 เพื่อพยุงฐานะทางเศรษฐกิจของไทยที่ร่อแร่ให้รอดพ้นจากหายนะ แต่ในทางการเมือง พล.อ. เปรม ก็ได้ทำให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่เข้มแข็งขึ้น หลังจากโค่นล้มทุนขุนศึกที่มีอำนาจลงไปจนราบคาบ และกษัตริย์มีอำนาจเหนือรัฐ สามารถกำหนดคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้นำในด้านนิติบัญญัติ ด้านตุลาการได้ รวมทั้งการเปลี่ยนโครงการพระราชดำริทั้งหลาย ให้กลายเป็นโครงการของรัฐ สามารถใช้งบประมาณของรัฐ เครื่องมือของรัฐ สถานที่ของรัฐและกำลังคนของรัฐได้ทั้งสิ้น แต่ผลกำไรที่ได้จะตกแก่พระมหากษัตริย์ด้วยอำนาจ-อิทธิพลและบารมีเหนือรัฐ ทำให้บรรดาทุนผูกขาดและกึ่งผูกขาดในประเทศไทยต้องยอมศิโรราบต่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ด้วยการให้หุ้น ร่วมทุน หรือช่วยกิจการหากำไรของสำนักงานฯ อย่างเต็มที่
ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสอันดีของสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่จะเลือกลงทุนและสั่งการให้รัฐบาลของพวกเขาใช้อำนาจรัฐเอื้ออำนวยให้ทุนศักดินาในนามสำนักงานทรัพย์สินฯ ผูกขาดธุรกิจภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้กำไรดีมีอนาคต โดยไม่มีกลุ่มทุนใด ๆ กล้ามาแข่งขันด้วย ทำให้พวกเขาเคยชินกับการหากำไรที่ได้มาง่ายๆ เช่นนี้ต่อมาอีกสิบกว่าปี จนกระทั่งเกิดวิกฤตฟองสบู่ซึ่งเริ่มจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานทรัพย์สินไปลงทุนไว้มากมายนั่นเอง
ในทางสากล การแข่งขันกันของสองอภิมหาอำนาจของโลกในช่วงนี้ เป็นไปอย่างดุเดือดจนกระทั่งสิ้นสุดยุคสงครามเย็นประมาณปี 2532 - 2533 สหรัฐอเมริกาผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจเดี่ยวของโลก ทำให้การค้นคว้าพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีก้าวรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว โลกรู้สึกผ่อนคลายจากความหวาดกลัวต่อสงครามปรมาณู ทำให้เทคโนโลยีที่เดิมมีใช้เฉพาะในกิจการทหาร ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ในฐานะพลังการผลิตในกิจการอุตสาหกรรมและครัวเรือนมากขึ้น ทั้งคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ทำให้การตลาดของโลกกลายเป็นหนึ่งเดียว มนุษย์สามารถรับฟัง อ่าน ซื้อขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตได้ สามารถติดตามการซื้อขายหุ้น การเก็งกำไรเงินตราผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สามารถชมการถ่ายทอดสดกีฬาจากอีกมุมโลกหนึ่งซึ่งกลายเป็นสินค้าทางด้านวัฒนธรรมที่มีมูลค่ามหาศาล ฯลฯ พลังการผลิตได้กลายเป็นแบบโลกาภิวัตน์ที่ไม่มีใครหยุดยั้งการไหลบ่าของเงินทุนเข้ามาแข่งขันหากำไรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนผูกขาดศักดินาที่เคยชินกับการใช้อำนาจเหนือรัฐเอื้ออำนวยผลประโยชน์โดยไม่มีคู่แข่งขัน
พลังการผลิตช่วงหลัง พฤษภาคม 2535 ถึง ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540
ภายใต้อำนาจนำของกษัตริย์ที่มี พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานองคมนตรี ทำให้บริษัทฯ ในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้รับอภิสิทธิ์อย่างมากมาย จนกิจการขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง
แต่ทว่าสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยที่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลจักรวรรดินิยมอเมริกาในช่วงเวลาดังกล่าว กลับมีลักษณะแบบเศรษฐกิจฟองสบู่ มีการเก็งกำไรในภาคการเงิน การลงทุนจากการเปิดค้าเงินเสรีทำให้หนี้สินภาครัฐและเอกชนในช่วง พ.ศ. 2532 – 2538 มีอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และสูงถึงร้อยละ 40 ของ GDP.
เมื่อเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ระบบเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะวิกฤต สินเชื่อก้อนใหญ่ของสถาบันการเงินกลายเป็นหนี้เสีย เริ่มจากสินเชื่อที่ปล่อยให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโครงการลงทุนขนาดยักษ์ จากนั้นลุกลามขยายตัวไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ภาคการผลิตในสาขาอุตสาหกรรมและการบริการล้มระเนระนาด คนงานว่างงาน 3-4 ล้านคน ถึงกระนั้นสังคมไทยก็ยังไม่เป็นแดนมิคสัญญีเพราะยังคงเหลือภาคการเกษตร การค้า และการผลิตรายย่อย รองรับแรงงานที่ว่างงานเหล่านี้ ทั้งๆ ที่การเกษตรกรรม ที่ดิน ทุนท้องถิ่น แทบไม่เหลือให้กับผู้ใช้แรงงานแล้ว
พลังการผลิตช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ถึง ปัจจุบัน (พ.ศ. 2554)
จากการประเมินผลการพัฒนาในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการพัฒนาพลังการผลิตที่ขาดสมดุล โดยประสบความสำเร็จเฉพาะในเชิงปริมาณและในบางสาขาอาชีพ แถมยังประสบกับภาวการณ์เก็งกำไร ทำให้การผลิตขาดความสมดุลด้านคุณภาพ
"จุดอ่อน" ของการพัฒนาที่สำคัญคือ ระบบบริหารทางเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง กฎหมาย งบประมาณและข้าราชการ ถูกดึงไปรับใช้สถาบันกษัตริย์-ราชวงศ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการพระราชดำริทั้งหลายและกองทัพที่ทำให้เงินงบประมาณถูกดูดออกจากกระบวนการผลิตตลอดเวลาโดยไม่ย้อนกลับเข้าสู่การผลิตอีก (เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กษัตริย์ไทยร่ำรวยมั่งคั่งที่สุดในโลก) นำไปสู่ปัญหาความชะงักงัน วิกฤติเศรษฐกิจ แรงงานขาดคุณภาพชีวิต ขาดโอกาสและขาดการศึกษาที่ดี พลังการการผลิตของไทยจึงตกต่ำไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
วิทยาการสมัยใหม่ ฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เกิดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ความยากจน และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้น ที่สำคัญกระแสการเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจโลกมีความเปราะบางและมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยซึ่งต้องปรับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศใหม่
ในช่วงเวลานี้ ได้มีชนชั้นนายทุนใหม่ที่เกิดจากการผูกขาดสัมปทานการสื่อสารของรัฐคือ พตท. ทักษิณ ชินวัตรและกลุ่มทุนอื่น ๆ เข้าสู่การเมืองของประเทศ โดยการตั้งพรรคไทยรักไทย และได้รับการเลือกตั้งจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ และเน้นนโยบายประชานิยมผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการพักชำระหนี้เกษตรกร โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และบ้านเอื้ออาทร เป็นต้น ทำให้เศรษฐกิจฐานรากได้รับการกระตุ้นให้พัฒนาขึ้น พลังการผลิตฐานรากได้แสดงบทบาทมากขึ้น ซึ่งไปขัดต่อนโยบายประชาสงเคราะห์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่ สั่นคลอนฐานะนำทางการเมืองการปกครอง และยังเป็นคู่แข่งที่มั่งคั่งในธุรกิจต่างๆ ทำให้ทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐต้องกำจัดนายทุนกลุ่มนี้ให้พ้นไปจากการเมือง โดยการก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย ในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549
พ.ศ. 2550 ตลาดหุ้นทั่วโลกได้ร่วงกราวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลกระทบจากวิกฤตซับไพร์มในสหรัฐอเมริกา กระทบระบบเศรษฐกิจ การค้า และการเงินระหว่างประเทศไร้พรมแดนไปทั่วโลก สั่นคลอนฐานทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยจึงส่งผลให้พลังการผลิตสินค้าของไทยถดถอยลงไปอีก
นอกจากนี้ พลังการผลิตต่ำยังดูได้จากเงินที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนาซึ่งมีเพียง 0.28% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของไทย เปรียบเทียบกับมาเลเซียที่ใช้ 0.63% สิงคโปร์ใช้ 2.24% ไต้หวันใช้ 2.24% เกาหลีใต้ใช้ 2.63% ขณะที่ญี่ปุ่นใช้ 3.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (ที่มา : National Science and Technology Development Agency www.nstda.or.th)
จำนวนคนที่ต้องการใช้ในการวิจัยและพัฒนาให้ได้ผลพอสมควรนั้นอยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 10,000 คน (ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 13 คน ไทยอยู่ที่ 2 คนต่อประชากร 10,000 คน)
ปัจจุบันภาคเกษตรของไทยมีความอ่อนแอ ประสิทธิผลของการผลิตอยู่ในระดับรั้งท้ายเช่น ค่าเฉลี่ยผลผลิตของข้าวไทยอยู่ที่ 360 ก.ก. ต่อไร่ต่อปี ต่ำกว่าอเมริกาและออสเตรเลียประมาณ 3 เท่า ต่ำกว่าเวียดนามและพม่าอีกด้วย ส่วนปาล์มน้ำมัน ไทยมีผลผลิตประมาณ 2.5 ตันต่อไร่ต่อปี ในขณะที่มาเลเซียอยู่ที่ประมาณ 4 ตันต่อไร่ต่อปี หรือผลผลิตของน้ำนมวัวไทยอยู่ที่ 5-6 ลิตรต่อวัน ในขณะที่หน่วยวัดมาตรฐานสากลอยู่ที่ประมาณ 14 ลิตรต่อวันในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากความอ่อนแอทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาคอุตสาหกรรมของไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) นับแสนรายซึ่งเป็นหัวใจที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ไม่มีกำลังพอที่จะจ้างวิศวกรหรือนักวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และรับถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
ภาคบริการของไทยโดยเฉพาะภาคการเงิน การธนาคาร ไม่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลเพราะขาดกำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และไม่นำกำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการวิเคราะห์โครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการประเมินในภาคการผลิตอย่างที่ควรจะเป็นขีดความสามารถในการแข่งข้นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยปี 2542 อยู่อันดับที่ 46 จากทั้งหมด 47 ประเทศ ปี 2543 อยู่อันดับที่ 47 ใน 47 ประเทศ ทั้งนี้จากการเปรียบเทียบของ International Institute for Management Development (IMD) แสดงถึงความอ่อนแอทางพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยอย่างชัดเจนมาโดยตลอด
ข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงนี้ ระบุชี้ตรงไปยังพลังการผลิตในภาพรวมของสังคมไทย ที่ก้าวจากสังคมเกษตรกรรมของคนที่มีความรู้เรื่องการทำนาทำไร่ การประมง การเลี้ยงสัตว์และหัตถกรรมแค่พอยังชีพไปสู่พลังการผลิตแบบทุนนิยมสมัยใหม่โดยการนำเข้าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากภายนอกสังคม แต่ก็ได้ไม่ทั่วถึง ไม่มากชนิด ที่สำคัญล้วนเป็นของต่างชาติ กษัตริย์ ราชวงศ์ ขุนนาง ขุนศึก หรือไม่ก็นายทุนไทยเชื้อสายจีนเพียงน้อยนิด พลังการผลิต เครื่องมือ เครื่องจักร เทคโนโลยี วัตถุดิบและพลังงานธรรมชาติที่ส่วนใหญ่ก็เป็นของเครือข่ายการตลาดทุนนิยมสากล ที่สำคัญ ทรัพยากร งบประมาณเงินลงทุนตลอดจนบุคลากรสำคัญ ๆ ที่อยู่ในภาคราชการกลับถูกนำมาใช้สนองโครงการพระราชดำริมากเสียจนกระทรวงต่าง ๆ ขาดแคลนทั้งงบประมาณและคน จนไม่สามารถคิดทำโครงการอื่นใดเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน รวมทั้งไม่สามารถกระตุ้นให้พลังการผลิตของประเทศชาติพัฒนาต่อไป
เมื่อเหลียวไปมองประเทศต่าง ๆ เราจึงพบว่า จีนที่ไทยเคยไปหยามหยันตราหน้าว่าเป็นประเทศคอมมูนิด บัดนี้ได้พัฒนาเศรษฐกิจจนเป็นมหาอำนาจอันดับสอง รองก็แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้ง ๆ ที่จีนเป็นประเทศใหญ่มีประชากรมากและเพิ่งพัฒนาประเทศอย่างจริงจังมาไม่ถึง 30 ปี ส่วนญี่ปุ่นที่ตามหลังสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และได้พัฒนาประเทศภายหลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ 60 ปีก่อน บัดนี้ก็ยังคงเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสามรองจากจีนเล็กน้อย ไต้หวันกับฮ่องกงนั้นได้พัฒนานำหน้าไปจนไม่เห็นฝุ่นแล้ว ทั้ง ๆ ที่เริ่มพัฒนาประเทศมาเพียง 50 ปี สิงคโปร์นั้นที่เพิ่งแยกตัวตั้งประเทศในปี 2508 บัดนี้เพิ่งจะ 40 กว่าปีกลับพัฒนาล้ำหน้าไทยไปทุกด้านจนไม่มีทางตามทันตราบใดที่โครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมยังถูกครอบงำโดยทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ
มาเลเซีย พัฒนาประเทศอย่างจริงจังมาเพียง 30 ปีล้ำหน้าไทยไปแล้วเช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่เพิ่งพัฒนาประเทศมาเพียง 10 กว่าปี ที่สำคัญเวียดนามที่ทำสงครามกับจักรวรรดินิยมผู้รุกรานทั้งฝรั่งเศสและอเมริกามาหลายสิบปีจนประเทศบอบช้ำเหลือคณาและเริ่มพัฒนาประเทศอย่างจริงจังภายในไม่กี่ปีที่ผ่านมา บัดนี้ก็กำลังไล่ทันไทยและบางอย่างก็ก้าวล้ำหน้าไปบ้างแล้วเช่น ในปี 2555 เวียดนามภาคเหนือกับภาคใต้ก็จะมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงวิ่งรับส่งผู้โดยสารด้วยความเร็วกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (รถไฟไทยใช้ความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ส่วนลาวนั้นแม้ยังล้าหลังกว่าไทยในหลายด้าน แต่อย่างน้อยก็มีโทรศัพท์ 3 จีใช้ในขณะที่ไทยยังไม่ได้เริ่มต้นทำอะไรในด้านนี้ เหลือเพียงพม่ากับกัมพูชา ซี่งนักวิชาการคาดว่า ถ้าทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐยังคงเป็นเจ้าของพลังการผลิตส่วนใหญ่ในไทยอยู่ดังเช่นทุกวันนี้ อีกไม่นานก็พัฒนาประเทศได้ทัดเทียมและแซงหน้าไทยเช่นเดียวกัน
ประเทศไทยที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยทรัพยากรและประสบภัยธรรมชาติน้อยมาก สงครามกลางเมืองก็ไม่มี เหตุใดจึงล้าหลังกว่าประเทศอื่น ๆ ที่พัฒนามาทีหลังอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 60 กว่าปีมานี้
ในส่วนพลังการผลิตที่เป็นกำลังแรงงานของสังคมไทย ในยุคแรกมาจากไพร่ทาสที่ไม่มีทักษะการใช้เครื่องมือสมัยใหม่ จวบจนปัจจุบันก็พบว่าแรงงานไทยในโรงงานอุตสาหกรรมส่วนมากจบการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีถึง 70 % ขณะที่แรงงานที่เหลือจบชั้นประถมศึกษาหรือมัธยมปลาย จึงมีบทบาทการใช้แรงงานกายและเครื่องมือที่ไม่ซับซ้อน มีผู้จบปริญญาตรีทำงานทางด้านเอกสารและบริหารจัดการในโรงงานไม่มากนัก เว้นแต่แรงงานในบริษัทข้ามชาติที่จ้างผู้จบตั้งแต่ปริญญาตรีมากขึ้น
โครงสร้างการผลิตของไทยในส่วนของแรงงานพบว่า แรงงานส่วนใหญ่กว่า 80% ที่เคยทำงานในภาคเกษตรในอดีต ได้ย้ายมาเป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิต และย้ายจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคบริการในสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังทศวรรษ 2530 นี่เอง ในขณะที่หัตถกรรมของไทยที่มีอยู่ทั่วไปในชนบทก็ลดน้อยถอยลงนับแต่การเปิดการค้าขายกับชาติตะวันตก หัตถกรรมบางชนิดก็หายไปจากสังคม ด้วยสาเหตุจากสินค้าอุตสาหกรรมที่มาทดแทน ประกอบกับการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าเมืองไปตามการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมและบริการ
ในปี พ.ศ. 2503 - 2505 ภาคบริการที่ขยายตัวตามติดภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมการผลิตก็มีสัดส่วนมูลค่า GDP. มากกว่าทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม กล่าวคือ ภาคเกษตร 37.54 % ภาคอุตสหกรรม 20.21% แต่ภาคบริการและพาณิชย์ 42.25% ซึ่งขณะนั้นสัดส่วนมูลค่าด้านอุตสาหกรรมยังต่ำกว่ามูลค่าทางการเกษตร จนถึงปี 2524 GDP. ภาคอุตสาหกรรมของไทยจึงเริ่มสูงกว่าภาคเกษตรกรรม
จึงถือว่าเป็นช่วงแห่งการก้าวพ้นสังคมเกษตรกรรมเข้าสู่สังคมทุนนิยมสมัยใหม่เบื้องต้น โดยสังคมไทยได้ผ่านระยะจากสังคมเกษตรศักดินาเป็นสังคมทุนนิยมตามลำดับ จากขั้นที่ 1 ขายวัตถุดิบให้ต่างชาติ (ข้าว ไม้สัก ดีบุก ฯลฯ ) ขั้นที่ 2 ทำอุตสาหกรรมการผลิตเอง ขั้นที่ 3 ให้บริการการเงิน และขั้นที่ 4 เป็นเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเก็งกำไร
อย่างไรก็ตามภาคบริการและพานิชยกรรมนั้นมีสัดส่วนพุ่งสูงเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP. (ภาคเกษตร 24.67 % ภาคอุตสหกรรม 29.31% ภาคบริการและพาณิชย์ 46.02 %) ตั้งแต่ช่วงปี 2523-2525 แล้ว แสดงว่านักธุรกิจไทยมีความสามารถในด้านการค้ามากกว่าการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขายสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ และยังมีภาคบริการด้านการท่องเที่ยวที่มีบทบาทสูงช่วยเพิ่มรายได้รวมให้กับภาคบริการ พลังการผลิตที่มีฐานะนำในสังคมไทยจึงมิได้เกิดขึ้นเรียงไปตามลำดับจากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรมแล้วจึงไปสู่การค้าและภาคบริการ แต่กลับเป็นจากเกษตรกรรมไปสู่การค้าและบริการแล้วจึงเกิดการผลิตภาคอุตสาหกรรม
ในภาวการณ์เช่นนี้ สะท้อนถึงกำลังแรงงานรับจ้างได้กระจายไปทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทย มีคนขายแรงงานทั่วไปทั้งสังคมในทุกพื้นที่ แม้จะห่างไกลในป่าเขาภูดอยก็ยังมีการผลิต การทำธุรกิจ การประกอบการในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ประชาชนไทยแต่ละคนแต่ละครอบครัวจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจแบบทุนนิยมด้วยกันทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจของสังคมไทยมีปัญหาต่างๆ นานา แต่ก็เป็นปัญหาในบริบทของความสัมพันธ์ทางการผลิตที่มีบทบาทผลักดันหรือขัดขวางพลังการผลิต เช่นเดียวกับโครงสร้างทางการเมืองการปกครองซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนบนที่ต่างก็เข้ามาขัดขวางพลังการผลิตด้วยเช่นกัน เพราะหากความสัมพันธ์ทางการผลิตไม่ส่งผลย้อนกลับมาส่งเสริมสนับสนุนพลังการผลิต พลังการผลิตก็ตกต่ำ ไม่พัฒนา ไม่ก้าวหน้าอยู่เช่นนี้ ทั้งๆ ที่ในช่วงเริ่มต้น ทุนนิยมฝรั่งตะวันตกได้มีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นพลังการผลิตในสังคมไทย (ทำให้ชนชั้นศักดินาไทยต้องเลิกทาส ปลดปล่อยพลังการผลิตครั้งสำคัญ) แต่ในระยะต่อมาจนถึงปัจจุบัน ทุนนิยมฝรั่ง ทุนนิยมศักดินา และทุนชาวจีนสวามิภักดิ์ กลับสมคบกันผูกขาด ผูกมัด กีดกัน บีบคั้น ขัดขวาง ชะลอ ฉุดดึงและทำลายพลังการผลิตในสังคมไทยอย่างย่อยยับเสียเอง
ดังนั้น แม้คนไทยจะมีองค์ความรู้ใหม่ทั้งจากนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีที่ร่วมปฏิบัติการในกระบวนการผลิตอย่างไม่ขาดสาย แต่ “คนไทย” ในฐานะพลังการผลิตของสังคมก็ยังคงมีสภาพตกต่ำเมื่อเทียบกับพลังการผลิตของประเทศต่างๆ เพราะทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐและเครือข่ายที่สมคบกับจักรวรรดิอเมริกาอย่างแนบแน่นกำหนดนโยบายแห่งรัฐที่ไม่เอื้อต่อพลังการผลิตของคนส่วนใหญ่ ประกอบกับการฉกชิงผลประโยชน์ระหว่างชั้นชนมีความดุเดือดรุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้ “พลังการผลิต” ของสังคมไทยยังต้องตกต่ำต่อไป
(โปรดอ่านต่อตอนที่ 2 )