>>ดาวน์โหลดได้ที่นี่<<
เชิงอรรถ ณ เชิงตะกอน
อาจไม่ผิดจากความจริงนักหากจะบอกว่า กระบวนการและขบวนการอันอยุติธรรมได้จองจำและทำให้ช่วงเวลา 478 วัน กลายเป็นช่วงเวลาสุดท้ายในชีวิตของ “อากง” อำพล ตั้งนพกุล
ช่วงเวลาที่มีค่าที่สุดของมนุษย์ หากเพียงแต่เขาจะได้ใช้ร่วมกับบุคคลที่เขาผูกพันกลับได้กลายเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายและโดดเดี่ยวที่สุดสำหรับชายชราวัยหกสิบเอ็ด
สิ่งที่เป็นคำถามท้าทายต่อสิ่งมีชีวิตที่เรียกตนว่ามนุษย์ก็คือ ทำอย่างไรถึงจะยุติโศกนาฏกรรมอันวนเวียนไม่รู้จบนี้ได้
23 บทกวีกับอีก 1บทเพลง ในบันทึกฉบับนี้เกิดจากหลากชีวิตทั้งคนใกล้ชิดและมิตรที่ไม่เคยได้พบหน้า ได้จารความรู้สึก ต่อข่าวร้ายของ “อากง” ที่ทยอยมาอย่างต่อเนื่อง มันเป็นความรู้สึกที่รุนแรงกระชั้น จนทำให้หลายท่านยังไม่ได้ตั้งชื่อ และอุกอั่งจนอีกหลายท่านไม่สามารถตั้งชื่อ
มิตรสหายหลายท่านได้กรุณารวบรวมให้ประชาไทเผยแพร่ ด้วยความหวังว่า การยืดระยะความรู้สึกและความทรงจำในช่วงนี้ออกไปสักระยะ อาจเป็นการให้เวลาแก่ผู้รักในเสรีภาพในการที่จะยุติวงวัฏที่ลดคุณค่าของเราลงเหลือเพียงคำว่า ”สัตว์” เสียที
23 สิงหาคม 2555
ประชาไท
หมายเหตุ:
ขอบคุณเพื่อนมิตรที่กรุณาให้เผยแพร่ผลงานของท่าน
ขอบคุณ วฒน และ รางชางฯ "เพื่อน" ที่ช่วยรวบรวมบทบันทึก
เกี่ยวกับอากง
อำพล ตั้งนพกุล วัย 61 ปี (ในวันที่ถูกจับ) อดีตพนักงานขับรถ ก่อนที่จะถูกดำเนินคดีอำพลอาศัยอยู่กับ รสมาลิน ตั้งนพกุล (ภรรยา)ในห้องเช่าที่มีค่าเช่าเดือนละ 1,200 บาท ย่านสำโรง สมุทรปราการ และอยู่ได้ด้วยเงินที่ได้รับจากลูกๆ เพียงเล็กน้อย โดยแต่ละวันอำพลและภรรยามีหน้าที่ต้องเลี้ยงหลานจำนวน 3-4 คน อำพล เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงบ้างเป็นครั้งคราว
อำพล ถูกกล่าวหาว่าใช้โทรศัพท์มือถือส่งข้อความหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ไปยังโทรศัพท์มือถือ ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553
3 สิงหาคม 2553 อำพล ถูกจับกุมตัวเมื่อ เขาถูกคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลา 63 วัน ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว 29 ก.ย.53 ทนายความยื่นประกันตัวครั้งที่สอง โดยใช้ที่ดินของญาติเป็นหลักทรัพย์ และเมื่อวันที่ 4 ต.ค.53 ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า หลักประกันน่าเชื่อถือได้ว่าจำเลยจะไม่หลบหนี
18 มกราคม 2554 อัยการมีคำสั่งฟ้อง อำพลเป็นจำเลยในคดีที่มีการส่งข้อความหมิ่นเบื้องสูง พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ และมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา ครั้งนี้ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า ข้อเท็จจริงตามข้อหาการกระทำความผิดตามฟ้องกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและ ความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรง คดีอยู่ในชั้นพิจารณา หากผลการพิจารณาสืบพยานมีหลักฐานมั่นคงจำเลยอาจหลบหนี ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
23 พฤศจิกายน 2554 ศาลชั้นต้นพิพากษา อำพล ฐานส่ง SMS หมิ่นฯ 4 ครั้ง ผิดตาม ปอ.มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) และ (3) ลงโทษกรรมละ 5 ปีรวมจำคุก 20 ปี ชี้หลักฐานอิเล็กทรอนิคส์น่าเชื่อว่าส่งจากเครื่องโทรศัพท์ที่จำเลยใช้ และจากย่านที่พักของจำเลย
22 กุมภาพันธ์ 2555 ทนายความจำเลยยื่นอุทธรณ์และยื่นคำขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์เงินสด และตำแหน่งนักวิชาการ 7 คน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวจำเลย
8 พฤษภาคม 2555 เวลาประมาณ 9.10 น. อำพล ได้เสียชีวิต ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลังจากถูกส่งเข้ารักษาเนื่องจากมีอาการปวดท้องเมื่อช่วงก่อนเที่ยงของวันที่ 4 พฤษภาคม
ที่มา prachatai
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น