เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 55 เสวนาบาทวิถีหน้าศาลอาญาของกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลหยิบประเด็น “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร?” มาแลกเปลี่ยนในมุมมองของทนายผู้ว่าความคดีเสื้อแดง อาคม ศิริพจนารถ ทนายนักสิทธิมนุษยชน, ภาวิณี ชุมศรี ผู้มีประสบการณ์ว่าความคดีความรุนแรงภาคใต้ และเหยื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, เจียม ทองมาก ซึ่งติดคุกในคดีปล้นทรัพย์เซ็นทรัลเวิลด์มานาน 1 ปี 6 เดือน ก่อนศาลชั้นต้นยกฟ้อง
อาคม ศิริพจนารถ เท้าความว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศใช้ในปี 2548 เพื่อใช้บริหารสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความรุนแรงให้กลับสู่ความสงบโดยเร็ว แต่การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงทั่วโลกก็รู้ว่าชุมนุมด้วยมือเปล่า ซึ่งผิด พ.ร.บ.จราจรเท่านั้น โทษปรับอย่างสูง 1,000 บาท การที่อภิสิทธิ์อ้างว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงและเขาต้องรักษากฎหมายเป็นข้ออ้างที่ผิด คนเสื้อแดงชุมนุมเป็นเดือนไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรง แต่ทุกครั้งที่รัฐบาลขอคืนพื้นที่ กระชับพื้นที่ต้องมีคนตาย การสั่งให้ทหารเรือนหมื่นพร้อมอาวุธสงครามและรถถังออกมาในเมืองหลวงนั้นยากต่อการควบคุม คุณควบคุมให้ทหารยิงเอ็ม 16 ตั้งแต่หัวเข่าลงไปไม่ได้หรอก นั่นหมายความว่ารัฐบาลมีเจตนาฆ่าประชาชน
ทนายอาคมเสนอว่า ควรมีการรวบรวมรายชื่อ เสนอให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลทำการทบทวนและตรวจสอบการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่ามีเหตุที่สมควรหรือไม่ และเมื่อมีคนเสียชีวิตแล้ว ทำไมจึงไม่ยกเลิก
เจียม ทองมาก เล่าเหตุการณ์ในวันที่ 19 พ.ค.53 หลังแกนนำประกาศสลายการชุมนุม มีระเบิดลงหลังเวที ต่างคนต่างหนีกระจัดกระจาย เวลานั้นความเป็นความตายอยู่ในที่เดียวกัน เราจะทราบได้อย่างไรว่าที่ไหนจะปลอดภัย ตนเองหนีลูกปืนที่ไล่ยิงอย่างหมาเข้าไปในเซ็นทรัลเวิลด์ ไม่ได้คิดเข้าไปลักทรัพย์ ตอนนั้นคิดแค่ว่าจะได้เห็นหน้าลูกอีกไหม ไม่ได้แตะต้องของในห้าง ตนเองคลานลงไปถึงชั้นล่างสุด ได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงตัว จึงร้องขอความช่วยเหลือ แต่พอออกมา ตำรวจให้นั่งลงแล้วนอนคว่ำ เอาเชือกมัดมือไพล่หลัง แล้วจับคอเสื้อตนเองขึ้น โดยหัวเข่าตำรวจกดหน้าขาทั้งสองข้างของตนเองไว้ มือข้างหนึ่งจับปืนอยู่ตลอดเวลา มีลูกกระสุนปืนซึ่งทราบจากศาลว่าเป็นเอ็ม 60 สะพายอยู่ แล้วขู่ถามว่าปืนอยู่ไหน เธอเป็นผู้หญิงต้องรู้ว่าปืนอยู่ไหน ตนเองตอบว่าไม่ทราบ คนเสื้อแดงหลายคนที่ถูกฉุดกระชากออกมาแล้วซ้อม บ้างก็ถูกไฟช็อต ได้แต่นั่งมองกันอย่างปวดร้าว จากนั้นก็ถูกจับไปติดคุกแล้วยัดข้อหา ถูกย่ำยีหัวใจในเรือนจำ ที่อยู่ได้เพราะต้องการสู้เพื่อความบริสุทธิ์ของตัวเอง
ภาวิณี ชุมศรี อธิบายถึงตัว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าในกรณีที่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ภัยธรรมชาติ หรือความมั่นคงต่อรัฐ รัฐธรรมนูญให้อำนาจฝ่ายบริหารคือ นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมีมาตรการพิเศษมาจัดการกับปัญหาในช่วงนั้นได้เป็นการชั่วคราว เช่น ปิดสื่อ ห้ามใช้เส้นทาง ห้ามออกนอกเคหสถาน ดังนั้นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องมีเหตุ ซึ่งในวันที่ 7 เมษายน รัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งกฎหมายให้ทำได้หากมีการประทุษร้ายหรือก่อการร้าย และให้อำนาจมากขึ้น เช่น เรียกให้มารายงานตัว หรือควบคุมตัวได้ 30 วัน รัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศโดยอ้างเหตุมีการยุยงปลุกปั่น ทำให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง ประเด็นปัญหาคือ เหตุเหล่านั้นมีอยู่จริง หรือร้ายแรงพอที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงหรือไม่ เป็นการก่อการร้ายหรือแค่ใช้สิทธิในการชุมนุมและแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่มีใครตรวจสอบได้ เพราะนายกฯ ประกาศแล้ว ไม่ต้องรายงานต่อรัฐสภา ตุลาการก็เข้าไปตรวจสอบไม่ได้ จึงง่ายมากที่ฝ่ายบริหารจะใช้อำนาจโดยบิดเบือนกฎหมาย เช่น กรณีปิดเว็บไซต์ประชาไท ศอฉ.ให้เหตุผลว่าจะทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นอีก และเนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินตัดอำนาจศาลปกครอง ทางประชาไทจึงต้องฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง ซึ่งเป็นศาลยุติธรรม และมีอุดมการณ์ต่างจากศาลปกครอง ศาลปกครองมีอุดมการณ์ในการตรวจสอบการใช้อำนาจบริหารของรัฐว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ศาลยุติธรรมพิจารณาแค่ว่าการใช้อำนาจเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ไม่ได้พิจารณาว่าการใช้อำนาจนั้นชอบหรือไม่ชอบ ดังนั้น ในกรณีประชาไทศาลจึงยกฟ้องโดยไม่มีการสืบพยาน และให้เหตุผลว่า ศอฉ.มีอำนาจในการปิดเว็บไซต์ ไม่ได้พิจารณาว่ามีเหตุที่เพียงพอในการปิดหรือไม่ ศอฉ.ทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติในกระบวนการยุติธรรมไทย
ทนายนักสิทธิฯ กล่าวอีกว่า อำนาจอีกอันหนึ่งของ พ.ร.ก. คืออำนาจในการจับและควบคุมตัวบุคคลได้โดยไม่ต้องมีหลักฐานว่ากระทำความผิด เพียงแต่เป็นผู้ต้องสงสัยว่าจะทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ประเด็นปัญหาก็คือ กรณี บก.ลายจุด และคนเสื้อแดงที่ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก. และขยายระยะเวลาควบคุมตัว โดยที่ไม่ได้เป็นตัวแปรว่าจะทำให้สถานการณ์ฉุกเฉินมากขึ้น ดังนั้น การควบคุมตัวดังกล่าวจึงเป็นการจำกัดสิทธิที่มากเกินไป และง่ายต่อการที่เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้อำนาจควบคุมตัวตามอำเภอใจ นอกจากนี้ การฝ่าฝืน พ.ร.ก.ยังมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ในช่วงแรกที่มีการจับกุม ศาลก็ตัดสินจำคุก 2 ปี ถึงแม้จะมีการรับสารภาพและลดโทษเหลือ 1 ปี ก็ถือว่าเป็นโทษที่สูงมากสำหรับประเทศประชาธิปไตย อีกทั้ง ไม่มีการรอลงอาญา และไม่ได้ประกันตัว ซึ่งไม่ได้สัดส่วนกับโทษ ดังนั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารโดยแท้ รัฐบาลสามารถอ้างได้ว่าการชุมนุมเป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้งๆ ที่เป็นความมั่นคงของรัฐบาลเอง ไม่ใช่รัฐ รัฐบาลก็ประกาศใช้กฎหมาย ใช้อำนาจในการสลายการชุมนุม จำกัดสิทธิ ทำให้คนกลัว ดำเนินคดี ทำร้ายร่างกาย ถามว่าการที่คนออกมาชุมนุมแล้วใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างนี้มันได้สัดส่วนกันหรือไม่ พอสมควรแก่เหตุหรือไม่ เช่นเดียวกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงต่อเนื่องกันมากว่า 6 ปี แล้ว โดยการขยายระยะเวลา 27 ครั้ง อ้างเหตุผลเหมือนเดิมทุกอย่าง อำนาจตาม พ.ร.ก.อย่างเดียวที่รัฐใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ อำนาจในการจับกุมและควบคุมตัว 30 วัน จากนั้นก็ซ้อมเพื่อให้ได้ข้อมูลข่าวสารและคำรับสารภาพ แล้วนำไปดำเนินคดีอาญา ไม่ได้ใช้เพื่อคุ้มครองความสงบสุขของประชาชน สุดท้าย คดีเหล่านั้น 70-80% ศาลยกฟ้อง ศาลจึงได้ตระหนักว่าไม่ควรออกหมายควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ง่ายๆ การใช้อำนาจเช่นนี้แก้ไขปัญหาความไม่สงบก็ไม่ได้ เป็นเพียงการใช้อำนาจที่มากขึ้นกว่าปกติเท่านั้น
ทนายภาวิณี กล่าวสรุปว่า แม้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะให้อำนาจแก่รัฐบาล แต่การใช้อำนาจต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย คือพอสมควรแก่เหตุ เท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพของบุคคลไม่ได้ และการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในปี 53 ต้องมีการพูดคุยให้ชัดเจนว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากชัดเจนว่าไม่ชอบ ก็ต้องเป็นบรรทัดฐานว่าไม่ควรมีการใช้ต่อไป แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่มีการตั้งคำถามและทำให้ชัดเจนว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกับผู้ชุมนุมชอบหรือไม่ชอบแค่ไหน อย่างไร ถ้าเป็นเช่นนี้ก็มีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะใช้อำนาจในการละเมิดสิทธิประชาชนได้อีก แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับ คือ กฎอัยการศึก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควรจะต้องมีการยกเลิกหรือแก้ไขในบางฉบับ และมีกฎหมายที่บูรณาการใหม่ มีมาตรการใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายความมั่นคงในฝรั่งเศส ซึ่งให้ประกาศใช้ได้ 12 วัน เกินกว่านั้นต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ให้รัฐสภาตรวจสอบความจำเป็น และประชาชนสามารถไปฟ้องศาลปกครองได้ เพื่อให้ศาลปกครองตรวจสอบว่าการใช้อำนาจถูกต้องหรือไม่
อ.สุดา รังกุพันธ์ ผู้ดำเนินรายการกล่าวเน้นถึงความต้องการของคนเสื้อแดงที่ต้องการเห็นการปฏิรูปกฎหมายความมั่นคงอย่างชัดเจน เพื่อที่ประชาชนจะไม่ต้องเผชิญอาชญากรรมโดยรัฐอีก จากนั้น ผู้เข้าร่วมการเสวนากว่า 50 คน ร่วมกันกล่าวคำปฏิญญาประจำวันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน 2555 “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 53 ต้องไม่มีผลทางกฎหมาย ปล่อยนักโทษการเมือง ผู้ประกาศใช้ต้องได้รับโทษ“ และยืนไว้อาลัยให้นายสุรชัย นิลโสภา อดีตผู้ต้องขังคดียิง ฮ.ซึ่งศาลยกฟ้อง แต่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา
กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลจะจัดกิจกรรมเสวนาบาทวิถี หน้าศาลอาญารัชดา ทุกวันอาทิตย์ เพื่อรณรงค์ให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และปล่อยตัวนักโทษการเมือง
ที่มา prachatai
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น