News online

กลับไปยังหน้าหลักเพื่อสนทนา C-Box ดู TV และฟังวิทยุ ได้ที่

วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2555

ใบหน้า ‘พฤษภา 53’: “พรุ่งนี้ก็เช้าแล้ว” ประจวบ ประจวบสุข (วีรชนเสื้อแดง)

โดย เพียงคำ ประดับความ

ผู้หญิงคนหนึ่งเฝ้าเลี้ยงลูกชายสามคนอยู่ที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ โดยแทบไม่เคยย่างเท้าออกไปไหนไกลจากหมู่บ้าน เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสามีเป็นคนเสื้อแดง...หลังพฤษภา 53 นอกจากความหวังเพียงเล็กน้อยของหญิงชาวนาคนหนึ่งจะกลายเป็นเพียงสิ่งเลื่อนลอยแล้ว ชีวิตของเธอยังไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป...



สามีภรรยาคู่หนึ่งอยู่กินกันมากว่าสิบหกปี แต่แทบไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเลย สามีเป็นชายวัยสี่สิบต้นที่ร่อนเร่ไปทำงานต่างถิ่นตั้งแต่เริ่มหนุ่ม และใช้เวลาในวัยฉกรรจ์หมดไปกับชีวิตลูกเรือตังเก เขาขึ้นบกมาหลังแม่ตาย ต่อมาได้แต่งงานกับหญิงชาวนาผู้มีแขนซ้ายใช้งานได้ไม่ปกติอันเนื่องจากอุบัติเหตุแต่ครั้งรุ่นสาวคนหนึ่ง ความไม่ชำนาญในวิถีชาวนาทำให้เขายังต้องเร่รับจ้างอยู่ตามเมืองใหญ่ ขณะภรรยาของเขาเฝ้าเลี้ยงลูกชายสามคนอยู่ที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ โดยแทบไม่เคยย่างเท้าออกไปไหนไกลจากหมู่บ้าน ช่วงเทศกาลที่ไม่ยาวนานอะไรนักและมีไม่กี่ครั้งในแต่ละปี ครอบครัวจึงจะได้อยู่กันพร้อมหน้า ถึงฤดูทำนา สามีส่งเงินมาให้ภรรยาซื้อปุ๋ยซื้อยาและจ้างคนช่วยหว่านไถเก็บเกี่ยว บางปีเขาลางานมาช่วยแบกข้าวขึ้นยุ้งบ้างอย่างเก้ๆ กังๆ


ตลอดเวลาที่อยู่กันมา หญิงชาวนาผู้นี้แทบไม่เคยก้าวล่วงชีวิตส่วนตัวของสามีในเมืองใหญ่ แม้บางคราวได้ยินข่าวเรื่องผู้หญิงอื่นลอยมาตามลม เธอยังคงก้มหน้าทอผ้าอย่างสงบนิ่ง ความรับผิดชอบที่เขามีต่อครอบครัวอย่างไม่บกพร่อง ทำให้เธออยู่ได้ด้วยความเชื่อใจ

อย่างไรก็ตาม เธอย่อมมีความหวังว่าสักวันจะได้อยู่กันพร้อมหน้า แต่แล้วสามีของเธอก็มาถูกยิงตายเมื่อเดือนพฤษภาคมปีกลาย โดยที่เธอไม่เคยรู้เลยว่า...เขาเป็นคนเสื้อแดง

นอกจากความหวังเพียงเล็กน้อยของหญิงชาวนาคนหนึ่งจะกลายเป็นเพียงสิ่งเลื่อนลอยแล้ว ชีวิตของเธอ...ยังไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป...




“รงค์ ประจวบสุข” คือหญิงชาวนาวัย 44 ปี ที่สูญเสียสามีไปในสงครามประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 ปัจจุบันเธออาศัยอยู่กับลูกชายสามคนที่บ้านกรูด เลขที่ 173 หมู่ 4 ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์

ภายในบ้านชั้นเดียวสีฟ้าที่เพิ่งปลูกใหม่หลังนั้น มีภาพถ่ายขาวดำของชายกลางคนผู้หนึ่ง ใส่กรอบสีทองติดอยู่บนผนัง ขอบบนมีตัวอักษรเขียนด้วยปากกาเมจิกสีแดงลายมือโย้เย้ว่า “วีระชนผู้กล้า ประชาธิปไตย” ขอบล่างเขียนชื่อเจ้าของภาพ “นายประจวบ ประจวบสุข” ใต้ภาพมีพวงมาลัยดอกมะลิพลาสติกสีขาว ติดกุหลาบแดงที่ปลายอุบะห้อยอยู่หนึ่งพวง พื้นด้านล่างมีแก้วพลาสติกใส่น้ำกับกระถางธูปเล็กๆ ที่ทำจากก้นขวดน้ำอัดลมวางอยู่




“ประจวบ ประจวบสุข” ถูกยิงเข้าที่หน้าอก บริเวณใต้ทางด่วนพระรามสี่-บ่อนไก่ แขวงช่องนนทรี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ข่าวจากหนังสือพิมพ์ข่าวสดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ระบุว่า เขาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์

ภรรยาของประจวบเป็นหญิงชาวบ้านที่ยังนุ่งผ้าซิ่นในชีวิตประจำวัน บ้านเรือนของเธอสะอาด ข้าวของถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบ บนลานปูนแคบๆ หน้าบ้านเห็นมีกี่ทอผ้าตั้งอยู่

“เพิ่งปลูกบ้านใหม่ ตอนได้เงินที่เขาตายนี่แหละ ทำไว้ให้ลูก” หญิงชาวนาพูดขณะกุลีกุจอดึงเสื่อออกมาปูให้เรานั่ง จากนั้นเดินเข้าครัวไปชงกาแฟร้อนมาให้ พลางออกตัวอย่างเกรงใจว่า “ไม่มีอะไรจะต้อนรับเลย”

เมื่อเราบอกว่าจะมาสอบถามเรื่องการต่อสู้ของสามีเธอ รงค์ ประจวบสุข พยักหน้า ก่อนพูดเสียงราบเรียบ ว่า “อุดมการณ์ของเขาจะนั่นมาก”

 


ย้อนไปเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน

รงค์และประจวบต่างเกิดที่บ้านกรูด แต่อยู่คนละคุ้ม ยังไม่ทันได้รู้จักกัน ประจวบก็ย้ายตามครอบครัวไปอยู่อีกอำเภอ

“ตอนแรกเขาก็เกิดที่บ้านกรูดนี่แหละจ้ะ แต่ตอนเขาเรียนอยู่ ป.3 พ่อแม่ก็ย้ายไปอยู่ที่ศรีขรภูมิ บ้านหนองสองห้อง ตอนหลังถึงย้ายกลับมา ถึงได้มาเจอกัน”

แม่ของประจวบเป็นชาวศรีขรภูมิ อำเภอติดต่อกับจอมพระทางทิศใต้ ส่วนพ่อเป็นชาวบ้านกรูด

“ตอนนั้นเขาย้ายไปทำนา มีที่นาที่นู่นด้วย แต่คงไม่เยอะมั้ง ตอนเด็กๆ ยังเล็กๆ อยู่ รู้สึกว่าเขาจะลำบาก ต้องรับจ้างตั้งแต่เด็ก แรกๆ รับจ้างเลี้ยงหมู พอโตหน่อยก็ไปอยู่โรงงาน แล้วก็ไปลงเรือตังเกอยู่ภาคใต้ตั้งหลายปี ส่งเงินมาให้แม่เขาตลอด”

เส้นทางชีวิตของประจวบ ก็ไม่ต่างจากวิถีของคนอีสานทั่วไป

“ตอนแรกเขาจบ ป.6 แล้วไม่ได้เรียนต่อ เพราะครอบครัวยากจน แต่ตอนหลังเห็นว่าเขาไปสมัครเรียน กศน. อยู่นะ” รงค์พูดพลางลุกไปเปิดตู้เก็บของ หยิบกระเป๋าสตางค์ของสามีที่เธอเก็บไว้อย่างดีออกมาให้ดู

ในนั้นมีบัตรประจำตัวประชาชน ระบุชื่อ นายประจวบ ประจวบสุข เกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2511 ที่อยู่ตามบัตรเลขที่ 77 หมู่ 4 ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ บัตรประกันสังคม ระบุการใช้สิทธิที่โรงพยาบาลสำโรง บัตรประกันชีวิตของบริษัทไทยประกันชีวิต บัตรเอทีเอ็มธนาคารกสิกรไทย บัตรสมาชิกพรรคไทยรักไทย ระบุวันสมัคร วันที่ 28 มิถุนายน 2545 ภาพถ่ายขาวดำขนาดสองนิ้วของเจ้าตัวและภรรยาเมื่อครั้งยังหนุ่มสาว รวมทั้งภาพถ่ายสีสดใสของลูกชายคนสุดท้อง นอกจากนี้ยังมีปฏิทินฉบับพกที่อีกด้านเป็นภาพถ่ายของในหลวงภูมิพล




“รูปถ่ายนั่นแหละ รูปตอนเขาเรียนศึกษานอกโรงเรียน” รงค์หมายถึงภาพถ่ายขาวดำของสามีที่บัดนี้ดูเก่าซีดเซียว “แต่รู้สึกว่าเขาจะเรียนไม่จบหรอก เขาเคยเล่าให้ฟัง ไม่แน่ใจ”

รงค์แต่งงานกับประจวบขณะเธออายุ 28 ปี ส่วนประจวบอายุน้อยกว่าเธอหนึ่งปี

“แต่งงานแล้วเขาไปกรุงเทพฯ แต่เราอยู่ที่นี่ ก็ไม่ค่อยได้อยู่ด้วยกัน เขาให้เราดูแลลูกอยู่บ้าน เขาก็ทำงานส่งเงินให้ใช้ตลอด...เขาทำอยู่โรงงานถั่วงา ตอนแรกอยู่สำโรง พอย้ายจากสำโรงก็ไปอยู่บางขุนเทียน ซอยสุขสวัสดิ์ 14 อยู่ได้ตั้งหลายปีนะ จนได้เป็นหัวหน้าคนงาน ตอนนายกฯ ทักษิณอยู่ เขาทำโอทำไร ได้เงินดีนะตอนนั้น ถ้าทำโอก็ได้เป็นหมื่น ตรุษจีนบางปีเขาก็ซื้อทองซื้ออะไรให้ได้ใส่บ้าง”

เนื่องจากชีวิตส่วนใหญ่อยู่ไกลบ้าน ประจวบจึงไม่มีเพื่อนสนิทที่บ้านกรูด รงค์ว่าเพื่อนที่สามีเธอคบหา ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน หรือไม่ก็อยู่โรงงานใกล้เคียง ซึ่งล้วนเป็นคนบ้านไกลที่รงค์ไม่รู้จัก แต่ไม่ว่าอย่างไรสามีของรงค์ก็ยังคงเป็นชาวบ้านกรูดอยู่ดี บางปีเขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหาผ้าป่ามาทอดที่หมู่บ้าน งานส่วนรวมอื่นๆ ก็มีแก่ใจช่วยเหลือ หากไม่เหลือบ่ากว่าแรง

“เขาเป็นคนไปอยู่กรุงเทพฯ ก็เคยซื้อเสื้อนักกีฬามาให้เยาวชนที่นี่ใส่เหมือนกัน เป็นทีมฟุตบอล แล้วผ้าป่าอย่างนี้ เขาจะเป็นประธานจัดผ้าป่ามาโรงเรียน เขาช่วยเหลือสังคม”

ส่วนภาระหน้าที่ในครอบครัว รงค์กล่าวย้ำหลายต่อหลายครั้งระหว่างการสนทนาว่าสามีของเธอรับผิดชอบได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง “เขาเป็นคนรู้รับผิดชอบครอบครัวดี ถึงจะกินเหล้าบ้างอะไรบ้าง เขาทำงานหนักเขาก็ต้องกินน่ะผู้ชาย”

“แล้วเขาเป็นคนไม่กลัวใครนะ ถ้าไม่ผิดเขาจะไม่กลัวใครเลย แต่ถ้าผิดเขาก็จะยอมหน่อย แต่เขาก็ไม่ได้เป็นคนเกเรระรานใคร อุดมคติของเขา จะถือว่าพรุ่งนี้ก็เช้าแล้ว เขาไม่ให้คิดอะไรมาก เรื่องอะไรที่ผ่านมาก็ให้ผ่านไป เขามีแต่จะเดินหน้า ตอนไปชุมนุมนี่เหมือนกัน เพื่อนเขาเล่าให้ฟังว่าเขาเดินหน้าแล้วจะไม่ถอยหลัง อุดมการณ์ของเขา แต่เขาจะไม่เล่าให้เราฟัง เรื่องไม่สบายใจจะไม่เล่าให้เมียฟัง เราก็จะไม่เป็นคนไปจุ๊กจิ๊กอะไร จะไม่ซอกแซกเขา เรื่องเงินเดือนเหมือนกัน ทางนี้จะอุดมการณ์คือ ถ้าผู้ชายเขารู้รับผิดชอบครอบครัว เขาจะต้องรู้ว่าเราเดือดร้อนอะไร เขาต้องส่งเงินมาให้ ถ้าจุดนี้เขารับผิดชอบไม่ได้ ก็แสดงว่าไม่ใช่ผู้ชายแล้ว คิดอย่างนี้ เราก็จะไม่ไปจู้จี้ เงินเดือนเท่าไหร่จะไม่ถามเลย แต่เขาก็ทำหน้าที่ของเขาไม่บกพร่อง”

บางคราวมีข่าวลือลอยมาเข้าหู รงค์ก็พยายามไม่เก็บมาใส่ใจ

“เราจะไม่คิดอะไรอย่างนั้นเลยนะ ไว้ใจกัน คนเรามันคิดว่าเป็นผัวเดียวเมียเดียวเนาะ บ้านนอกเรา พ่อแม่สั่งสอนมาอย่างงั้น ก็อยู่กันอย่างงั้น ถึงบางครั้งจะเคยได้ยินบางคนว่าเขามีเมียอยู่กรุงเทพฯ แต่ทางนี้ไม่สนหรอก ก็นั่งทอผ้าไป บางคนบอก เอ๊ ใจเย็นทอผ้าอยู่ได้ยังไง เราจะไม่ไปตามเลยนะ (หัวเราะ) มีคนเคยเล่าให้ฟัง แต่เราไม่เคยถามเขาเลย เขาบอกว่าเขารักลูกกับเมียมาก เขาเขียนไว้ในสมุด”




พ่อของประจวบเสียชีวิตไปนานแล้ว แม่เสียตามไปเมื่อหลายปีก่อน พี่น้องคนอื่นๆ ก็แยกย้ายกันไปมีครอบครัว ตั้งหลักปักฐานในถิ่นอื่น ที่ยังอยู่ใกล้กันบ้างคือน้องสาวคนถัดจากประจวบ อยู่ที่บ้านปลาเข็ง ใกล้ตัวเมืองจอมพระ ห่างจากบ้านกรูดราว 10 กิโลเมตร

ชีวิตครอบครัวของรงค์และประจวบ ดำเนินไปอย่างราบรื่นบ้าง ลุ่มๆ ดอนๆ บ้าง ระยะหลังฐานะครอบครัวย่ำแย่ลง เนื่องจากประจวบตกงาน ต้องกลับมาอยู่บ้าน นาข้าวของรงค์ก็เจอฝนแล้ง ไม่ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย

“ตอนแรกยังไม่ได้ปลูกบ้าน เราอยู่กับแม่ไปก่อน แต่ก่อนบ้านสองชั้น ตอนแรกมีลูกสองคนก็ไม่ค่อยลำบากเท่าไหร่ เขาทำงานส่งมาให้ตลอด แต่พอมีลูกคนเล็กมานี่ ครอบครัวมีอุปสรรค ก็เลยขายบ้าน แฟนตกงาน แล้วเขาต้องผ่าตัดไส้เลื่อนด้วย ต้องพักงาน ทำงานหนักไม่ได้ ลูกคนโตก็ผ่าตัดไส้ติ่งอีก ทางนี้ก็ลูกน้อย ทำนามันก็แล้ง ไม่ได้ข้าว มาตกอับปีห้าหนึ่งห้าสองนี่แหละ ตกอับมาตลอดเลย ช่วงทักษิณได้เงินดี แต่เขามีปัญหากับเถ้าแก่ เถ้าแก่นี่เขาทำงานให้ตั้งแต่เริ่มสร้างโรงงาน เถ้าแก่มีสองคนพี่น้อง เขาทะเลาะกับคนน้อง แต่คนพี่นั่นรักเขามาก ตอนออกงานมาแล้วยังโทรมาตาม แต่เขาไม่กลับไป เขาว่าเดินหน้าแล้ว ไม่ถอยหลังแล้ว”

ช่วงเวลาราวปีกว่าที่ตกงานกลับมาอยู่บ้าน ประจวบพยายามออกรับจ้างในไร่เพื่อให้ลูกๆ พอมีเงินติดกระเป๋าไปโรงเรียน “ไม่รู้ตัดอ้อย (ตัดอ้อยไม่เป็น) ก็อุตส่าห์ไปตัด แล้วเบิกเขาตั้งห้าพัน กว่ามัดละบาทสองบาทกว่าจะได้” รงค์พูดอย่างเห็นใจสามี




แม้จะเป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยาก แต่นั่นดูเหมือนมันเป็นช่วงเวลาเดียวที่พ่อแม่ลูกได้อยู่กันพร้อมหน้า ต่อมาประจวบได้ข่าวว่าโรงงานแห่งหนึ่งย่านสำโรงกำลังจะมีตำแหน่งงานว่าง เขาตัดสินใจกลับเข้าไปขายแรงงานในเมืองใหญ่อีกครั้ง

“ตอนนั้นเขาว่ามีคนจะออกจากงาน เลยไปรอตำแหน่งงาน ทำอยู่วันละสองร้อย เป็นลูกจ้างรายวัน ว่าทำรอไป ก็กลับไปอยู่ที่สมุทรปราการอีก เขาเคยบ่นเหมือนกันว่าไม่รู้ทำไมเขาถึงต้องผูกพันกับวัดมหาวงศ์  แถบนั้นเขารู้จักหมด เพราะอยู่ตั้งแต่เป็นหนุ่ม ก็เหมือนบ้านเขา จุดนี้แหละ ก็เลยได้ไปชุมนุม เพื่อนเขาเป็นแกนนำอยู่ทางสำโรง”

ประจวบกลับเข้าเมืองได้ไม่ถึงปี การชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงก็เริ่มขึ้น

“เราก็พอรู้บ้างที่เขามีการประท้วงเรียกร้องให้นายกฯ ทักษิณ เกิดมาตั้งแต่เล็กจนโต ปู่ย่าตายาย แกก็ไม่เคยได้เงินชราเงินอะไรกินเหมือนทุกวันนี้ ก็ได้นายกฯ ทักษิณนี่แหละ หมู่บ้านก็ได้เงินล้านเข้าหมู่บ้านบ้าง เห็นนายกอื่นๆ หมู่บ้านไม่เห็นได้อะไรเลยเนาะ นี่แหละส่วนดีของนายกฯ ทักษิณ พอมาตอนหลังก็เห็นว่าเขายิงกัน ยังสงสัยว่าทำไมเขายิงกันอะไรนักหนา แต่ก็ไม่ได้สนใจอะไรมากมาย อยู่แต่บ้านนอก อาชีพทำนา เราก็ไม่ค่อยรู้เรื่องการเมือง เขาจะทำอะไรยังไงเราก็ไม่เคยได้ไปกับเขา เป็นผู้หญิงน่ะ ลูกก็เล็กด้วย ไปไหนไม่ได้ ตอนแรกก็ ฮู้ ประเทศไทยเราทำไมมันเป็นอย่างนี้ ก็คิดอย่างนี้เนาะ ไม่รู้ว่าแฟนเราจะไป”

การชุมนุมที่กรุงเทพฯ ดำเนินไป หญิงชาวนาที่จังหวัดสุรินทร์คนหนึ่งก็ยังคงก้มหน้าก้มตาทำงานกลางไร่นาและคอยดูแลลูกชายทั้งสามของเธอต่อไป กระทั่งสงกรานต์ปีนั้นเธอล้มป่วย สามีของเธอลางานกลับมาคอยดูแล และนั่นคือครั้งสุดท้ายที่สามีภรรยาได้พบหน้ากัน

“ตอนสงกรานต์ทางนี้ไม่สบายเนาะ น้องชายปลูกมันสำปะหลัง เขาก็มาช่วยขนจนเสร็จ ก็ยังคิดภูมิใจว่า โอ้ะ มีแต่คนแข็งแรง ลูกชายก็ตั้งสามคน หลานชายอีกคนหนึ่ง ต่อไปทำไร่ทำนาไม่ต้องหาคนอื่นแล้ว หนี้สินที่มีคงไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวก็ฟื้นได้ คิดอย่างนี้นะ”

หลังอาการป่วยของรงค์ดีขึ้น ประจวบจึงกลับไปทำงานที่สมุทรปราการ หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน เขาก็เสียชีวิต




ในหมู่บ้านกรูด มีแกนนำเสื้อแดงอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อการชุมนุมใหญ่เริ่มขึ้น แกนนำคนนี้จัดหารถพาชาวบ้านเข้าไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ อยู่เป็นระยะ วันหนึ่งรงค์ได้ยินชาวบ้านที่ไปร่วมชุมนุมกลับมาพูดกันว่า พบสามีของรงค์ในที่ชุมนุมด้วย

“อยู่บ้านนี้มีหัวหน้าแกนนำเขาไป ตอนปีที่แล้ว เลยได้ยินคนเขาเล่าว่า แฟนเราไปประท้วงที่กรุงเทพฯ ด้วย มีคนเขาไปเจอ เราก็ไม่เคยรู้ กลับมาเขาไม่เคยพูดกับเรา ไม่เคยเล่าให้ฟัง จะเล่าแต่กับเพื่อน เห็นเพื่อนเขาว่าเขาเคยแอบไปนานแล้ว แต่ไม่บอกทางนี้ ไม่บอกเมียให้รู้ เขาเคยบอกเพื่อนที่อยู่ที่นู่นว่าเขาไม่ชอบรัฐบาลนี้ (รัฐบาลอภิสิทธิ์) เขาพูดอย่างนี้ เราก็พอจะรู้บ้าง พอคนโทรมาบอกว่าเขาถูกยิงตายที่นั่น ก็คิดเลยว่า โห สงสัยไปกับเขาแน่ๆ เลย โกหกเราแน่ๆ เลย เวลาถามเขาจะตอบว่า ฮู่ย ไม่ยุ่งหรอก สนใจแต่ครอบครัวก็พอแล้ว เขาจะพูดอย่างงี้นะ สงสัยเขาไปหลายครั้งแล้ว แต่พอกลับมาบ้านเขาจะไม่เล่าให้เมียฟัง เวลาเขาเดินไปเล่นกับเพื่อนๆ เขาจะเล่าให้เพื่อนข้างนอกฟัง เพื่อนข้างนอกเขาเล่าบอก ถึงรู้”

ข่าวร้ายเดินทางมาถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นฤดูกาลเพาะปลูกของชาวไร่ รงค์กับลูกพากันตากแดดหน้าดำอยู่กลางไร่นา

“ตอนเขาโทรมาบอกนั่น เดือนนั้นพาลูกปลูกข้าวโพด พอว่าเขาถูกยิง ก็ว่าไปทำอะไรกับเขาถึงได้ถูกยิง พี่น้องเขาก็ไปนาหมด ไม่มีใครอยู่บ้าน เขาถูกยิงวันที่สิบหก สิบห้าหรือสิบหกนี่แหละ แต่เขาไม่ได้เสียชีวิตเลย ไปเสียที่โรงบาลนะ โรงบาลอะไรน้อ มันสามโรงบาล เขาส่งมาที่ศิริราช ตอนแรกเขาไม่ได้บอกว่าเสียชีวิต บอกว่าถูกยิงเฉยๆ ตอนเขาโทรมาบอกว่าถูกยิง ก็กำลังคิดว่าจะเข้าไปดูเขาที่โรงพยาบาล ก็ว่าเขาถูกยิง ไม่รู้เป็นอะไรมากรึเปล่า พอเช้าเขาก็โทรมาบอกว่าเสียแล้ว ตอนเช้ามีแกนนำทางนี้แหละ ชื่อตาลอย อยู่บ้านยาง แกมาบอกว่าจะไปยังไง ตัวคนเดียว จะไปวิ่งเรื่องยังไง พอดีได้ ผอ.โรงเรียนสมานมิตร แกว่าจะลงเลือกตั้ง เอารถเก๋งแกแหละไปช่วยเลย พาไป ถ้างั้นก็ไม่รู้จะทำยังไง”

ผู้อำนวยการโรงเรียนที่รงค์ว่าคือ นักการเมืองท้องถิ่นที่ตั้งใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้น แต่พอถึงเวลา พรรคเพื่อไทยส่งคนอื่นลง ผู้อำนวยการโรงเรียนคนนี้จึงไปลงสมัครในนามพรรครักษ์สันติ และสอบตกในที่สุด

รงค์เล่าความรู้สึกขณะนั่งรถจากสุรินทร์เข้ากรุงเทพฯ ไปรับศพสามีว่า

“ตอนนั้นมันมีความรู้สึกใจหาย แล้วเราจะอยู่ยังไง ลูกก็กำลังเรียน สงสัยลูกไม่ได้เรียนจบ พอให้จบแต่มอสามมั้ง ก็คิดว่าจะทำยังไง มันบอกไม่ถูก เคว้งคว้าง” รงค์มีแขนซ้ายที่ใช้งานได้ไม่ปกติ เนื่องจากอุบัติเหตุในวัยสาว ข้อศอกของเธอมีรอยเย็บเป็นทางยาว เหยียดออกได้ไม่สุด และพับงอได้เพียงเก้าสิบองศา ใช้ทำงานยกข้าวของหนักไม่ได้ หากใช้งานมากก็มีอาการขัดยอกปวดบวม

“จะเห็นเขาอีกไหมน้อ คิดน่ะ ก็คนตายแล้ว เราก็ยังไม่ได้พูดอะไรกันเรื่องครอบครัว ยังไม่ได้ปรึกษากัน เขาเคยบอกแต่ว่า ตั้งใจเรียนนะลูก เดี๋ยวพ่อจะรับไปทำงาน ให้เรียนอยู่กรุงเทพฯ เลย ไปอยู่กรุงเทพฯ ทั้งหมด เขาบอกอย่างนี้ ไปเริ่มต้นใหม่อะไรใหม่ ตอนไปเจอศพเขา ก็จนไม่มีน้ำตาจะไหลแล้ว เห็นภาพเขาถูกผ่า แล้วใช้เชือกเส้นใหญ่ๆ เย็บเหมือนกระสอบป่าน นุ่งกางเกงในตัวเดียวเนาะ ดูแล้วมันหดหู่ สงสารเขา สงสารมาก ทำไมจะต้องมาตายในสภาพอย่างนี้เนาะ เคยแบกถุงถั่วงาเป็นร้อยๆ เป็นพันกระสอบ อยู่ในโรงงาน ทำไมต้องมาตายในสภาพถูกเย็บเหมือนกระสอบเลย”

รงค์รับรู้ความเป็นไปในช่วงเวลาก่อนหน้าและชั่วขณะที่สามีเธอเสียชีวิตเพียงคร่าวๆ จากคำบอกเล่าของเพื่อนสามีที่มาร่วมงานศพ

“ปกติเขาทำงานหยุดวันอาทิตย์ วันที่เขาถูกยิงนั่นก็สงสัยป็นวันอาทิตย์มั้ง สงสัยจะแอบเถ้าแก่ไป ถูกยิงใต้สะพานพระรามสี่ ถามเพื่อนเขา เพื่อนเขาว่าวันนั้นเขาขอไปชุมนุมด้วย เขาว่าจะไปดูเหตุการณ์ด้วยว่าเขายิงกันจริงมั้ย เพื่อนเขายังว่า เขายิงกันแล้วอยากไปดูทำไม”

เมื่อถามความคิดเห็นต่อเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น รงค์ว่า

“รัฐบาลทำไม่ถูก นั่นประชาชนนะ ดูไปมันก็น่ากลัว เราเป็นชาวนา ทำนา ไม่ค่อยรู้เรื่องอย่างนี้ แต่ว่าเขาก็มีส่วนดี นายกฯ อภิสิทธิ์น่ะ เห็นเขาโอนเงินให้ฟรีไร่ละสามร้อยสี่ร้อย เขาเรียกเงินอะไร ชดเชยอะไรนี่แหละ แต่ตอนนายกฯ ทักษิณได้หลายอย่าง ทั้งบัตรสามสิบบาทรักษาทุกโรค ได้เยอะ จนบางทีเขาอาจจะเลียนแบบท่านก็ได้ แต่เราก็ไม่รู้ว่าเขาคิดยังไง เราเป็นคนบ้านนอกเนาะ”

ไม่เพียงความโศกเศร้าเท่านั้นที่หญิงชาวนาผู้สูญเสียชายคนรักไปต้องเผชิญ หากแต่ความตายในสถานการณ์ไม่ปกติของสามี นำมาซึ่งการถูกเหยียดหยามให้เจ็บช้ำน้ำใจ

“ตอนไปรับศพ ถูกคนที่ รพ.ศิริราชว่าด้วยนะนี่ เจ้าหน้าที่ผู้หญิงน่ะ เขาว่าจะมาประท้วงกันทำไม้ ไม่รักในหลวงหรือ ในหลวงกำลังไม่สบาย เราก็คิด เอ๊ะ แฟนเรา ในกระเป๋าเขาก็มีรูปในหลวง ทำไมจะไม่รักพระเจ้าอยู่หัว ก็คิดว่าเขาไม่ชอบเสื้อแดงมั้ง เขาถึงพูดแบบนั้น แต่เขาเป็นคนการศึกษาสูง ทำไมพูดแบบนั้น ไม่ชอบคำพูดอย่างงั้นนะ ตอนไปกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ที่สุรินทร์ก็มีคนเยาะเย้ยอีก หึย พวกอยากกินข้าวกล้อง เขาว่าอย่างนี้ เราก็นึกในใจว่าแฟนเราอยากกินข้าวกล้องขนาดนั้นเลยบ๊อ เขาก็เคยสั่งสอนลูกเนาะ เขาทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว เขาไม่อยากให้ลูกขอทานใครกิน มีการชุมนุมเขาก็ต้องไป ก็นึกอย่างนี้ ไปเบิกเงินที่ธนาคาร เขาก็ว่า มิน่า ถึงอยากพากันไปนัก เราเกือบจะร้องไห้เลย ถ้าพ่อแม่ตัวเองไปโดนอย่างนี้จะรู้สึกยังไง เห็นแก่เงินแค่สองสามหมื่นเหรอ เราก็ไม่ตอบอะไรเขาเลย เรารู้ว่าแฟนเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น ได้ยินเพื่อนที่กรุงเทพฯ พูดว่า ตอนไปสมัครเป็นสมาชิกเสื้อแดง เขาถามว่า คุณมาทำไม แฟนเรายังบอกผมมาด้วยใจครับ ไม่มีค่าจ้างให้ผมมา ผมรักประชาธิปไตย เขาตะโกนบอกอย่างนี้ คนเสื้อแดงก็ตบมือให้เขา เพื่อนเขาเล่าให้ฟังว่าเขาพูดอย่างนี้แหละ”

หรือแม้แต่คนในบ้านกรูดเอง ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่เข้าใจ “การตายในสถานการณ์ไม่ปกติ”

“บางคนเขาก็ว่า ไปทำไม เอาชีวิตไปแลกทำไม แล้วลูกเมียตัวเองจะอยู่ยังไง เขาว่าจนน้องชายเราอาย บางทีเขาก็แกล้งพูดใส่ว่า อู้ย เสื้อแดงให้เงินเยอะแยะ จริงๆ ไม่ได้หรอก ตอนที่เผาแฟนเสร็จ ก็มีคนมาหัวเราะเยาะ เขาว่า ตายเพราะอะไรไม่ตาย มาตายเพราะเรื่องอย่างนี้ เราก็รู้สึกโกรธ เขาจะตายเรื่องอะไรๆ แล้วมายุ่งทำไม ครอบครัวเขา คิดอย่างนี้ เขาเยาะเย้ยว่าตายไม่ได้อะไร เขาจะให้อะไร เขาไม่ให้อะไรหรอก แต่คนที่เข้าใจก็มี เขาก็ว่า คนใจใหญ่เนาะ ไม่กลัวตาย เสียสละชีวิตตัวเอง ลูกชายเขาภูมิใจในตัวพ่อมาก พ่อเขาเป็นประชาธิปไตย เขาเขียนบนรูปถ่ายหน้าศพพ่อเขา นั่นน่ะ เขาเป็นคนเขียน ลูกชายคนที่สองเป็นคนเขียน อาเขาก็เหมือนกัน น้องพ่อเขา ตอนไปรับศพมา เราจะลงไปเข้าห้องน้ำ ก็เลยบอกเขาว่า อาไปนั่งเฝ้าศพพี่หน่อยเด้อ เดี๋ยวจะลงไปเข้าห้องน้ำ เขาว่า หูย ไม่ต้องไปเฝ้าหรอก เขาไม่กลัวอะไรหรอก เขาเป็นนักสู้ประชาธิปไตยแล้ว เขาไม่มีกลัวอะไรหรอก น้องชายเขาพูดอย่างนี้ เขาภูมิใจในตัวพี่เขา”

ระหว่างนั้นลูกชายคนโตและคนรองของรงค์กลับมาจากข้างนอก รงค์เรียกลูกชายทั้งสองมานั่งด้วย นายพงศ์ธร ประจวบสุข หรือ “ว้าป” เด็กชายวัย 15 ปี เดินมานั่งข้างๆ แม่ ส่วน ด.ช.โรจน์ศักดิ์ ประจวบสุข หรือ “น้อง” วัย 13 ปี ลูกชายคนรอง เดินออกไปข้างนอก รงค์ว่า “น้อง” เป็นเด็กชายที่มีโลกส่วนตัวสูง ไม่ชอบสุงสิงกับใคร

ปัจจุบัน “ว้าป” เรียนอยู่ชั้น ม.4 โรงเรียนเมืองลีงวิทยา ตำบลเมืองลีง อำเภอเมืองลีง จังหวัดสุรินทร์ ส่วน “น้อง”เรียนอยู่ชั้น ม.1 โรงเรียนเดียวกัน

เมื่อถามถึงความรู้สึกของว้าปหลังพ่อเสียชีวิต เด็กชายวัยสิบห้าปีพูดเพียงสั้นๆ ว่า “ก็เสียใจมากครับ”


“ลูกทุกคนรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น” รงค์ช่วยอธิบาย “คนโตพอจะทำใจได้ แต่คนที่สองเขายังคิดมาก บางครั้งก็นั่งซึมอยู่คนเดียว เขาบอกว่าพ่อเขายังไม่ได้ตายหรอก หัวใจ ไส้ อะไรเขาคงเอาไปบริจาคให้คนอื่นหมดแล้ว พ่อหนูไม่มีวันตายหรอก พ่อเรายังไม่ได้ตายหรอกแม่ คงบริจาคอะไรข้างในให้คนอื่น เขาถึงผ่าออก แต่หัวใจก็ยังอยู่ เขาคิดไปอย่างนั้น”

สำหรับ “ต้าร์” หรือ ด.ช.ธีรเมท ประจวบสุข วัย 5 ขวบ ลูกชายสุดท้องที่ปีนี้เพิ่งเข้าเรียนชั้นอนุบาล 1 ที่โรงเรียนประถมในหมู่บ้าน ผู้ได้ติดสอยห้อยตามแม่เดินทางไปรับศพพ่อด้วยนั้น รงค์ว่า เด็กน้อยพอจะรับรู้ว่าพ่อได้จากไปแล้ว

“เขาก็รู้บ้าง ตอนพาไปวิ่งเรื่อง เขาบอกว่า แม่ พ่อเราขึ้นสวรรค์ลงไม่ได้ ขึ้นภูเขาลงไม่ได้”



ส่วนความรู้สึกของหญิงหม้ายที่สามีตายจากไปปีกว่าแล้ว รงค์ ประจวบสุข บรรยายความรู้สึกของเธอไว้ว่า

“บางครั้งคิดอะไรอยู่คนเดียวก็น้ำตาไหล บางทีลูกแอบเห็น พ่อเขาเคยสอนไว้ว่าเป็นแม่คนอย่าเสียน้ำตาให้ลูกเห็นนะ ต้องอดทน มีอะไรมากมายหนักหนาสาหัสยังไงน้ำตาอย่าไหลให้ลูกเห็น เขาตาย เราก็เข้าใจ เขารักประชาธิปไตย เขามีความมุ่งมั่น เขาเดินหน้า เขาว่าเขาเดินหน้าแล้วเขาจะไม่ถอย อยู่บ้านเหมือนกัน ฝนตกบอกว่าไม่ต้องออกไปหาปลาหากบนะ กลัวฟ้าผ่า เขาว่า ฮึ คนเรากลัวอะไร้ คนเราถ้าจะตาย ทำยังไงก็ตาย ไม่เคยกลัวความตาย วัยรุ่นบ้านอื่นมาตี คนในหมู่บ้านพากันวิ่งหมด แต่พ่อไอ้นี้เขาไม่วิ่งนะ เขาสู้ เขาไม่กลัว”

ถึงวันนี้รงค์ไม่ยินยอมที่จะเป็นฝ่ายก้มหน้ายอมรับความสูญเสียอยู่เพียงฝ่ายเดียว เธอรอคอยที่จะได้เห็นคนสั่งฆ่าสามีเธอถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมาย และกระบวนการของกฎแห่งกรรม

“อยากให้เขาหาตัวคนที่ยิง เขาไปประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ดูในโทรทัศน์ก็ไม่มีใครถือปืนถืออะไร แต่เป็นเผด็จการของเขามั้ง ก็คิดอย่างนี้ เราไม่รู้ใครยิง จะไปป้ายคนนั้นยิงเราก็ไม่รู้ ก็เก็บไว้แต่ในใจน่ะ ไม่กล้าคิดว่าใครยิง ก็แล้วแต่บาปแต่เวรแต่กรรม คนเราถ้าเขาทำบาปอะไรไว้ ในใจเขาจะไม่มีความสุขหรอก เชื่อเถอะ เราจะไปทำบุญทุกวันพระ จะกรวดน้ำทุกวันพระ จะปฏิบัติตลอดเลย ฉันเชื่อเรื่องอย่างนี้มากนะ เคยมีแล้วที่บ้านนี้ คนเขาเป็นกำนันสมัยก่อน เขายึดเอาที่ดินของปู่ เขามีอำนาจมากแต่ก่อน แต่ทุกวันนี้เห็นมั้ย ลูกหลานเขานั่น อยู่คนเดียว ตาก็บอด เป็นโรคตั้งหลายโรค ต้องหาอะไรมาแลกของแลกข้าวเราไปกินน่ะ สุดท้ายลูกหลานต้องมาเป็นคนบ้า เดินแก้ผ้าแล้วก็นั่งเล่นขี้ตัวเอง พูดอะไรก็ไม่ได้ สงสัยจะเป็นเวรกรรมที่เขาทำไว้”

...

สำหรับชาวบ้านกรูด นอกจากคนในหมู่บ้านจะเสียชีวิตไปหนึ่งคนจากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปีกลายแล้ว ชายหนุ่มอีกคนยังเดินทางกลับจากกรุงเทพฯ ด้วยอาการฟั่นเฟือนวิปลาส รงค์เล่าถึงชายหนุ่มคนนี้ว่า

“คนหนึ่งกลับมามันเลอะเลือนไม่รู้เรื่องเลย ไปถูกเขาไล่ยิงมามั้ง ถึงได้ โอ้ย เสื้อแดง ช่วยหน่อย ก็ไม่มีใครช่วย ยิ่งเวลากินเหล้าพูดอะไรไม่รู้เรื่อง เหมือนคนบ้า เวลาเขาพูดอะไรเขาก็ว่า อู๋ย วิ่งไปหลบซ่อนตรงนั้นตรงนี้เหมือนคนไม่เหมือนเดิม แต่เดิมก็สมบูรณ์ดีอยู่ พูดอะไรก็รู้เรื่อง ทุกวันนี้มันเหมือนจิตใจเขาโดนอะไรมา เขาคงไปรับรู้เห็นอะไรมามั้งเนาะ อยู่บ้าน เลื่อนลอย ล่ำๆ ลอยๆ พูดอะไรไม่รู้เรื่อง อายุสามสิบกว่า เป็นหนุ่มอยู่ ไปชุมนุมตลอดเลยคนนี้ ที่บ้านนี้ไปกันสามสี่คน คนอื่นเขากลับมากัน คนนี้ไม่ยอมกลับมา อยู่ที่โน่นตลอด”




คุยกับภรรยาของประจวบเสร็จ เราตั้งใจจะเดินทางไปยังบ้านน้องสาวคนหนึ่งของเขา ที่ตำบลจอมพระ เห็นว่าน้องสาวคนนี้ขายของอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในตัวเมือง ยามยากแค้นขัดสนประจวบมักไปขอความช่วยเหลือจากน้องสาวคนนี้

ขณะเดินออกมาจากบ้าน เห็น “น้อง” ลูกชายคนรองของประจวบนั่งเล่นอยู่บนม้านั่งใต้ร่มมะยมหน้าบ้าน เราลองเข้าไปถามถึงข้อความที่เขาเขียนติดบนภาพตั้งหน้าศพพ่อ

เด็กชายวัยสิบสามปีผู้ดูเงียบขรึมตอบเสียงเบามากว่า “จำมาจากทีวีครับ”

...

รงค์ให้ลูกชายคนโตของเธอขี่มอเตอร์ไซค์พาเราไปที่บ้านปลาเข็ง ตำบลจอมพระ อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อพบกับ เก็จมณี ศรีเพชร น้องสาวของประจวบ ซึ่งอาศัยอยู่ที่นั่นกับสามีและลูกๆ ของเธอ วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ เก็จมณีไม่ได้ออกไปขายของ

เราไปถึงบ้านสองชั้นเลขที่ 114 หมู่ 3 ในหมู่บ้านปลาเข็งตอนบ่ายแก่ เมื่อเราบอกว่าจะมาสอบถามเรื่องของประจวบ ประจวบสุข เพื่อบันทึกเรื่องราวของเขาไว้ แม่ค้าสาววัยราว 40 ปี ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ประจวบเป็นลูกคนที่สี่ในจำนวนพี่น้องหกคน เก็จมณีเป็นคนที่ห้า จึงค่อนข้างสนิทกัน

“แต่ก่อนตอนที่แม่ยังไม่เสีย แกก็ไปลงเรือมารักษาแม่ แม่ไม่ค่อยสบาย” เก็จมณีเล่าถึงคืนวันในอดีต “แกไปอยู่แต่กรุงเทพฯ แหละ ตลอดชีวิต มาหาครอบครัวก็ช่วงเทศกาล แล้วก็ลงไป ลำบากมั่ง สุขมั่ง ไปตามประสา เราคนจน แกเป็นคนขยัน ไม่เคยได้หยุดเลย ทำงานตลอด”

เมื่อถามถึงเรื่องการไปชุมนุมทางการเมืองของพี่ชาย เก็จมณีว่า

“กับพี่แกไม่เคยพูดเรื่องนี้นะ ปกติแกก็ไม่ได้พูดเรื่องนี้กับพี่น้องคนไหน” เธอยังมีอาการสะเทือนใจอย่างเห็นได้ชัดเมื่อพูดถึงพี่ชาย “มีที่แกกลับมาครั้งสุดท้ายนั่นแหละ ก่อนเสียไม่ถึงเดือน แกไปหาพี่สาว แล้วก็บอกกับพี่สาวคนนี้ว่าแกชอบเสื้อแดง แกจะไปสู้ พี่สาวก็บอก มึงไปแล้วถ้ามึงตายล่ะ แกก็ว่าแกไม่เสียดาย พี่สาวก็ไม่ห้ามนะ ก็ได้แต่บอกว่า ถ้ามึงนั่นมึงทำไปเลย พี่สาวก็เชียร์ด้วย เราก็เป็นเสื้อแดง พากันเป็นหมดแหละ”

พี่น้องทุกคนของประจวบที่แยกย้ายกันไปมีครอบครัวต่างถิ่น ล้วนมีจุดยืนทางการเมืองเดียวกันโดยไม่ได้นัดหมาย เมื่อการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม-พฤษภาคมปีกลาย แล้วได้รู้ว่าประจวบไปร่วมชุมนุม จึงไม่มีใครคัดค้านอย่างเด็ดขาด เพียงทักท้วงบ้างด้วยความเป็นห่วงเท่านั้น

“แกก็ไปบ่อยอยู่ ไปชุมนุมน่ะ ไปประจำ เลิกงานตอนเย็นแล้วก็ไป แต่ถ้าวันอาทิตย์อย่างนี้ ไม่ได้ไปทำงาน แกก็ไปทั้งวัน เราก็รู้จากพี่สาวว่าแกไป”

เมื่อถามว่าทำไมพี่น้องจึงพากันเป็นเสื้อแดง แม่ค้าสาวตอบว่า

“เพราะเขาช่วยคนจน ตั้งแต่เกิดมาโตขนาดนี้ การเมืองเป็นกี่สมัยเราก็เหมือนเดิมใช่มั้ย แต่พอทักษิณมาเป็น มันมีความแตกต่างขึ้นนะ ถึงได้ชอบเขา จากเงินล้านเนาะ มาช่วยหมู่บ้านเรา คนที่ไม่มีทุนจะทำมาค้าขาย ก็ได้ทุนมาช่วย ได้ประโยชน์ เราก็ว่าเขาดีนะ ช่วยรากหญ้าเยอะ พอเขาถูกล้มไปก็อยากให้เขากลับมา รู้สึกเสียดาย ก็คิดว่าพี่ชายเราก็คงคิดอย่างนี้เหมือนกัน แต่ก่อนไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมือง ถึงเวลาเลือกตั้งก็ไปเลือก ไม่มีอะไร แต่พอทักษิณมาปุ๊บ เราเริ่มสนใจแล้ว ดูข่าวดูอะไร เราติดตาม”

การเสียชีวิตของพี่ชาย เป็นเรื่องเศร้าครั้งยิ่งใหญ่ของครอบครัว แต่ในฐานะคนเสื้อแดงที่คอยติดตามข่าวสารการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง เก็จมณียอมรับว่า นี่ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมาย เธอได้เตรียมใจไว้บ้างแล้ว

“จนวันที่เสียชีวิต เพื่อนที่ทำงานด้วยกันโทรมาบอกแฟนแก แฟนแกก็โทรมาบอกทางนี้ ตอนแรกที่รู้เสียใจมาก แต่ก็เผื่อใจไว้บ้าง ว่าไปเนาะ คนเราเกิดมายังไงก็ตาย” เก็จมณีเล่าด้วยเสียงสั่นเครือ น้ำตาเริ่มคลอ “เขาไปสู้ เออ คนเขาจะมองดูถูกนะ ส่วนมากเขาว่าโง่ (ร้องไห้) คนที่เขาไม่ชอบเสื้อแดงเขาก็จะพูดว่า คนโง่ ได้ยินก็สะเทือนใจ บางทีไปตลาด พวกคนส่วนน้อยเขาพูด ส่วนมากจะเป็นพวกคนที่เขามีอันจะกิน เขาจะว่าพวกเราโง่ บางคนก็ว่าไปเพราะอยากได้เงิน แต่พี่เราเขาไปด้วยใจ เขาชอบเสื้อแดง เขาว่าเขาจะเอาทักษิณกลับมา เขาพูดอย่างนี้ ก็เสียใจมาก มากมาก ก็ธรรมดาเนาะ คนที่เรารักจากเราไปเราก็ต้องเสียใจ แต่คิดไปคนเราเกิดมาก็ต้องตาย มองอีกแง่ เราภูมิใจที่เขาไปตายเพื่อประชาธิปไตย คนอื่นจะมองยังไงเราไม่รู้ ได้ยินเขาบอกว่า เป็นวีรชนคนกล้าใช่มั้ย ใจหนึ่งก็เสียใจ แต่เขาพูดอย่างนี้เราก็ใจชื้นขึ้นมาบ้าง เราก็ยังมีคุณค่า” เก็จมณีเช็ดน้ำตา “แต่ยังไงก็อยากให้เขาดูแลครอบครัวคนที่ตายด้วย เห็นเขาบอกจะให้เงินสิบล้าน ถ้าเขาช่วยได้ก็ดี พอจะได้ชื้นขึ้นมาบ้างเนาะ เมียแกก็ลำบาก ไม่ค่อยสมบูรณ์ด้วย ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง แขนแกข้างหนึ่งก็พิการ ทำงานหนักอะไรก็ไม่ได้ แต่ก่อนมีแต่พี่ชายเป็นเสาหลัก พอไม่มีเขาก็แย่ ถ้าได้เงินมาช่วยบ้างก็ดี เขาจะได้ลืมตาอ้าปากได้มั่ง แบ่งเบาภาระได้มั่ง แล้วไอ้คนที่เขาพูดดูถูกเรา เขาจะได้มองเราในแง่ดีขึ้นมั่ง ไม่ใช่ว่าตายไปแล้วไม่มีอะไร ครอบครัวก็ยังลำบากเหมือนเดิม”

อย่างไรก็ตาม เก็จมณีว่า การตายของประจวบ ประจวบสุข ได้ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปแล้วจริงๆ

“ขนาดว่าเราตาสีตาสา เรายังอ่านออกเลยว่าเขาแบ่งแยกมากๆ เขาทำเหมือนเราไม่ใช่คน เราอุตส่าห์มองเป็นกลางแล้ว พี่ชายเราตาย เราก็ไม่ได้เข้าข้างใคร แต่เขาน่ะทำให้เห็นชัดเจนเลยว่าเขามองเรายังไง มองเราไม่มีคุณค่าเลย ขนาดว่าเราเป็นคนไม่อาฆาต ไม่พยาบาท ไม่ได้จองเวรอะไร แต่เขาน่ะ ทำเกินไป ทำจนเห็นชัดเลยว่ามันไม่มีความยุติธรรมอยู่เลย เราไม่ได้ไปทำอะไรผิดเลย ไม่ได้มีอาวุธในมือนะ แล้วทำไมเขาต้องพูดว่าเราเป็นผู้ก่อการร้าย คนที่ไปมือเปล่า บอกว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เขาพูดออกมาได้ยังไง อยากให้มันยุติธรรม อยากให้บอกว่าคนที่ไปชุมนุมไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย เขาไปสู้เพื่อประชาธิปไตย จับมือใครก็ไม่ได้ว่าใครทำ ตายไปโดยตายเปล่า โดยไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ ไม่มีใครรับผิด พอพี่เราตาย เราติดตามข่าว ติดจานดำ เรารู้มากขึ้น ไม่ใช่อยู่ไปวันๆ เราเริ่มมองเห็นความแตกต่างไม่แตกต่างยังไง ชาวบ้านแถวนี้ก็เหมือนกัน เขาก็เข้าใจ ภาคเราเป็นเสื้อแดงเยอะ เขตนี้เลือกตั้งชนะ มาเป็นที่หนึ่ง พรรคอื่นมาทุ่มขนาดไหนยังแพ้เสื้อแดง คิดดู ด้วยใจขนาดไหน ไปไหนก็จะคอยเชียร์ตลอด เราไม่ได้ไปกับเขา ไม่มีเวลาไป ก็จะดูข่าวตลอด”




“เขาเป็นคนทำเราก่อน เปรียบเทียบตอนเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงอ้ะ ถ้าเปรียบเทียบน่ะ ...ไปมือเปล่า ไม่มีอะไร เป็นผู้ก่อการร้าย เห็นข่าวเสื้อแดงทีไรน้ำตาจะไหลทุกที ถ้าเขามาจากเลือกตั้งก็จะไม่ว่าอะไรเลยซักนิด แต่เขามา เขาเป็น ประชาชนไม่ได้เลือกเขา หนำซ้ำยังมาฆ่าประชาชนอีก ไม่มีความผิดอะไรซักอย่าง โจรก็เยอะ ขโมยก็เยอะ เห็นแตกต่างมาเลย ยาบ้าก็เยอะ ช่วงที่ทักษิณเป็นน่ะ ยาบ้าก็หมดนะ เงียบ แถวตลาดแถวอะไรเนี่ย เงียบไปหมด พอทักษิณไปนี่ โหย ระบาดเต็มเลย เขาให้เราอยู่แต่อย่างงี้ คนเรารู้ทันกันเยอะ ตื่นตัวมาก ทุกทีเราก็หลงไปตาม”

ทุกวันนี้เก็จมณีขายของว่างจำพวกน้ำ ผลไม้ ขนม อยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในตัวเมืองจอมพระ

“ก็พอได้ใช้ไปวันๆ ตอนเช้าก็ตื่นไปตลาด ตีสองตีสาม ถึงเย็นได้กลับบ้าน ได้หยุดเสาร์-อาทิตย์ อยู่บ้าน ลูกกำลังเรียน คนที่สองอยู่มอสอง คนเล็กก็อยู่ปอหนึ่ง ตัวเล็กก็แฝด แฝดผู้หญิงกับแฝดผู้ชาย”

บ้านปลาเข็งอยู่ห่างจากตัวเมืองจอมพระราวสองถึงสามกิโลเมตร ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาเช่นเดียวกับชาวบ้านในหมู่บ้านอื่นในแถบนี้

“ถ้าว่างจากทำนาก็ไปรับจ้าง ไปกรุงเทพฯ บ้าง ทำนาได้ปีละครั้ง ส่วนมากก็จะขาย ส่วนน้อยจะเก็บไว้กิน ขายเอาค่าปุ๋ยค่ายา แต่บางปีก็ไม่ได้เลย ค่าปุ๋ยค่ายามันแพง แต่ข้าวเรามันถูก คิดดู ยางมันกินแทนข้าวไม่ได้นะ แต่ว่ามันแพง ประเทศเราส่งออกข้าวแท้ๆ เนาะ แต่ว่าคนที่ทำนาจ๊นจน เขาไม่คิดหรอกมั้งว่า คนรวยหนึ่งคนกับคนจนเป็นสิบคน แล้วทำไมเขาไม่ให้เราขึ้นไปจากรากหญ้าเนาะ เขาอยากให้เราเลี้ยงควายไถนาต่อไป แต่เขาใช้ชีวิตสบาย”




เสาร์ โพธิ์ศรี วัย 38 ปี คือชายหนุ่มที่ภรรยาของประจวบบอกว่า ไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ แล้วกลับมาสติเลื่อนลอย จำความไม่ได้

บ้านของเสาร์ตั้งอยู่อีกฟากถนนสายเล็กที่ตัดผ่านบ้านกรูด เยื้องจากบ้านของประจวบไปราว 500 เมตร เป็นบ้านชั้นเดียว ก่อสร้างหยาบๆ ด้วยวัสดุหลากหลาย ทั้งอิฐบล็อก สังกะสี ไม้กระดาน และไม้ไผ่ซีก สภาพทรุดโทรม

เรากลับจากบ้านปลาเข็งมาถึงบ้านกรูดในตอนเย็น และไปที่บ้านของเสาร์ตอนใกล้ค่ำ เมื่อไปถึงพบชายหัวโล้นร่างสูงใหญ่นั่งอยู่ที่แคร่ไม้ไผ่หน้าบ้านเพียงลำพัง แววตาของเขาดูขวางๆ คล้ายหวาดกลัวผู้คน แขนซ้ายมีรอยลอกของแผลตกสะเก็ด เห็นเนื้อเปลือยแดงเป็นวงกว้าง ตามแขนขามีรอยแผลเป็นปื้นใหญ่หลายแห่ง

เมื่อเราทักทาย เสาร์ยิ้มให้ เราถามว่าแผลที่แขนไปโดนอะไรมา ชายหนุ่มตอบว่า “รถชน”

คงได้ยินเสียงคนคุยกันอยู่หน้าบ้าน หญิงชราวัยราวหกสิบปีคนหนึ่งจึงเดินออกมาดู เมื่อถามไถ่ความเป็นไปของคนแปลกหน้าจนได้ความแล้ว หญิงชราแนะนำตัวว่าเป็นแม่ของเสาร์ โพธิ์ศรี

“ตั้งแต่ไปกรุงเทพฯ กลับมาก็เป็นแบบนี้เลย” หญิงชราว่า “มันจำอะไรไม่ได้ กลายเป็นคนเสียประสาท ยิ่งถ้าได้กินเหล้าจะเหมือนคนประสาทหลอนเลย เลอะๆ เลือนๆ บางทีทำท่าวิ่งหลบลูกปืนไปอย่างนั้น บางทีขอเงินแม่ไปกินเหล้า แม่ไม่มีให้ ก็เอาไม้ไล่ตีแม่ พูดแบบไม่อายเลย นี่ก็เพิ่งไปขี่รถชนมาอีก หนักกว่าเดิมอีกทีนี้ ทุกวันนี้แม่ต้องนั่งเฝ้า ไม่ให้จับรถ กลัวขี่ไปชนเสาไฟฟ้าตาย”

แม่ของเสาร์เล่าว่า ลูกชายคนนี้เรียนหนังสือถึงแค่ ป.2 ก็ออกจากโรงเรียนมาช่วยพ่อกับแม่เลี้ยงวัวควาย

เราหันไปถามเสาร์ว่าทำไมไม่เรียนต่อให้จบ ป.6 ชายหนุ่มยิ้มเขิน ไม่ตอบว่ากระไร แม่ของเขาจึงว่า เขาเรียนไม่รู้เรื่อง เป็นนักเรียนโข่ง ตกชั้นหลายปี ก็อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

เสาร์ช่วยพ่อแม่เลี้ยงวัวควายอยู่พักหนึ่งก็เข้าไปหางานทำในกรุงเทพฯ กว่ายี่สิบปีที่ผ่านมา เขาเป็นแรงงานในโรงงานหลายแห่ง บ้างย้ายไปเป็นช่างก่อสร้าง ขายแรงงานไปเรื่อย อาชีพสุดท้ายก่อนไปชุมนุมแล้วกลับมาด้วยสภาพไม่เหมือนเก่า คือเป็นคนงานในโรงหลอมเหล็ก

ช่วงก่อนจะไปชุมนุม เสาร์ถูกไฟลวกขณะทำงาน จึงกลับมาพักรักษาตัวที่บ้าน ระหว่างนั้นคนในหมู่บ้านพากันไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ ชายหนุ่มร่างใหญ่หอบร่างกายที่เต็มไปด้วยแผลเป็นจากไฟลวกขึ้นรถไปกรุงเทพฯ กับเขาด้วย

“เห็นเขาไปกันมันก็อยากไป ก็ว่าไปสู้เพื่อประชาธิปไตย ไปก็ไม่ได้อะไร ลงทุนตัวเองอีก หมดทีสองสามพัน ไปทีแรกนั่น เงินก็ไม่มี แม่ยืมเขาให้ไปได้ 40 บาทแค่นั้นแหละ ไปกับเขาน่ะ ไปเทื่อแรกก็ได้เสื้อแดงมาใส่ ดีใจ กลับมาก็ใส่เดินอยู่ในหมู่บ้านนี่แหละ”

เราหันไปถามเสาร์ว่าทำไมถึงอยากไปชุมนุม เขายิ้มเขินๆ แล้วว่า

“หนังสะติ๊กก็สู้ชุดเกราะเขาไม่ได้หรอก ยิงดังป๊งๆๆ”

“มันพูดไม่รู้เรื่องหรอก” แม่ของเสาร์พูดขึ้น เมื่อเห็นเราทำหน้างงๆ กับคำพูดของชายหนุ่ม “แต่ก่อนนี่ดีๆ นา ทำมาหากินได้ แต่พอไปชุมนุมกลับมาเป็นแบบนี้เลย เวลาอยู่เฉยๆ มันก็ไม่เป็นไรเท่าไหร่ แต่ถ้าได้กินเหล้าเข้าไปเท่านั้นแหละ มันว่าแต่เขาจะมาฆ่ามัน มันยิงตรงโน้นตรงนี้ มันว่าของมันน่ะ”

ระหว่างนี้เสาร์พูดแทรกขึ้นว่า “คนเสื้อแดงชนะเพราะผู้หญิง”

เมื่อถามว่าทำไม เขาไม่ตอบ หญิงชราบ่นอะไรสองสามคำก่อนลุกเดินเข้าไปเปิดไฟภายในบ้าน ขณะนั้นฟ้ามืดแล้ว พ่อวัยชราของเสาร์จูงวัวกลับจากนามาถึง กำลังส่งพวกมันเข้าคอก

เสาร์เป็นลูกคนโต ในจำนวนพี่น้องสี่คน เขาเคยเป็นเสาหลักของครอบครัว เพราะเป็นคนเดียวที่ยังไม่มีลูกเมีย ครั้งเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ เขาคอยส่งเงินกลับมาให้พ่อแม่ที่บ้านนอกได้ใช้จ่าย เมื่อไปชุมนุมกลับมาแล้วกลายสภาพเป็นคนทำมาหากินไม่ได้ ครอบครัวจึงย่ำแย่

ระหว่างนั้นหญิงชาวบ้านวัยราว 50 ปีคนหนึ่งเดินแวะมา เธอแนะนำตัวว่าเป็นน้าสาวของเสาร์ จากนั้นถามเราว่ามาทำอะไร เมื่อเราตอบไป หญิงคนนั้นพยักหน้า แล้วว่า ครอบครัวนี้มีฐานะยากจนมาก ที่นาก็ไม่มี เมื่อครั้งเสาร์ยังเป็นเด็ก แม่ของเขาเคยพาไปเที่ยวขอทานตามหมู่บ้านต่างๆ พอได้เงินและอาหารเล็กๆ น้อยๆ มาประทังชีวิต

ก่อนกลับจากบ้านของเสาร์ในวันนั้น เราลองถามว่าถึง ประจวบ ประจวบสุช วีรชนแห่งบ้านกรูด เพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเขา

เสาร์ว่า “ประจวบตายแล้ว”




เราค้างคืนที่บ้านกรูดหนึ่งคืน รุ่งเช้าได้นั่งคุยกับ นายอรุณ มาลัยทอง วัย 53 ปี คนที่ภรรยาของประจวบบอกว่า เป็นแกนนำพาชาวบ้านไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ แล้วได้พบกับสามีของเธอในที่ชุมนุม

“ช่วงที่แกตายผมไม่ได้อยู่ แต่เสาร์มันอยู่” นายอรุณพูด “แต่ว่าก็เคยเจอกันตอนเย็น เลิกงานแล้วแกมาชุมนุม แกก็มาที่เต๊นท์ของผมครั้งหนึ่ง คือคนกรุงเทพฯ เขาจะมาตอนเย็น นอนคืนหนึ่ง ตอนเช้าก็ไป ผมยังถามแกว่า มาอย่างนี้เถ้าแก่เขาให้มาเหรอ แกว่าวันอาทิตย์มาได้ แล้วก็ตอนเย็นๆ ประมาณเที่ยงคืนนี่ก็จะกลับ พวกแท็กซี่อะไรเยอะเนาะ ก็นั่งคุยกัน แกว่าเนวินมันทำอย่างนี้ มันทำให้คนตาย ถ้าเนวินไม่ไปอยู่กับอภิสิทธิ์ ก็ไม่เป็นอย่างนี้ เพราะไอ้เนวินแหละ ทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน ทำให้ทะเลาะกัน แกก็วิจารณ์เรื่องเนวินว่ามันปลอมตัวเป็นเสื้อแดง ตอนไป กกต. จับได้คนหนึ่ง ลูกน้องเนวิน เขาว่าจ้างวันละห้าร้อย เวลาพูดแกเอาจริง คนนี้น่ะ อยู่บ้านเหมือนกัน แกเป็นคนพูดจริง เคยขอผมว่า ถ้าพี่เลิกผมจะลง อบต. นะ สมัยหน้าให้ผมนะ ผมก็ว่า เออ ลงไปเถอะ ผมนี่ก็ลูกยังเล็กอยู่”

นายอรุณเป็นสมาชิก อบต.สามสมัย นับแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงที่พรรคไทยรักไทยกำลังจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล

“ผมช่วยเขาหาเสียงมาตลอด มีหน้าที่หาเสียงหาคะแนนให้พรรคไทยรักไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 เพิ่งมาสมัยนี้แหละที่ไม่ได้เป็น พี่น้องบ้านติดกัน ลูกพี่ลูกน้องกันเขาขอลง เราก็เลยหลีกทางให้”

ความที่รู้จักนักการเมืองในพื้นที่ ทำให้นายอรุณมีโอกาสเข้ากรุงเทพฯ ไปร่วมชุมนุมทางการเมืองทันทีที่เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อดีตนักการเมืองท้องถิ่นสามสมัยเล่าเหตุการณ์ในช่วงนั้นให้ฟังว่า

“พรรคการเมืองพลังประชาชนบอกว่าเขามีการเรียกร้องไล่อภิสิทธิ์ออก เราก็เห็นด้วยเลย ก็พากันไป ตอนนั้นไปชุดแรก เต็มรถนะ สิบกว่าคน สิบห้าคน ตอนแรกยังไม่มีบัตร นปช. คนเยอะ แต่พอชุดหลังๆ ก็เหลือสิบคน เก้าคน น้อยลง บางคนเขาว่าไปแล้วไม่ได้ทำงาน ไปกันตอนนั้นก็ไปพักระหว่างทาง ค้างคืนที่โคราชคืนหนึ่ง คนเยอะมาก ไม่มีที่นอน มีการปราศรัยที่โคราช ตีสี่ตีห้าก็ไปต่อ”

“ทักษิณโดนล้ม ทหารยึดอำนาจ ชาวบ้านเขาไม่พอใจตรงนี้แหละ ทักษิณเขาไม่ผิด ต้องให้ทักษิณกลับคืน ทหารทำไม่ถูก ผมคิดว่ามันเผด็จการเกินไป แล้วก็มีพวกอภิสิทธิ์ มีพวกหนุนหลัง ชาวบ้านก็คิดไปอย่างนี้ มีพวกมีอิทธิพล พูดไปก็ถึงเปรม มันอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร ชาวบ้านยิ่งไม่ชอบ รัฐประหารมันไม่ดีทุกอย่าง มีแต่พวกอิทธิพล ยาบ้ายาเบ้อมันมา มาจากพวกทหารนี่แหละ ใครจะกล้าเอามา มีแต่พวกเขานั่นแหละ ตำรวจกล้าตรวจมั้ย ไม่กล้า ผมว่าตำรวจนี่ดีนะ เขาดีกว่าพวกทหารเยอะ ถ้าปล่อยทหารยึดอำนาจอีกสักสองสามปี ดูซิ เมืองไทยบ้าทั้งประเทศแหละ”

นายอรุณยังวิพากษ์รัฐธรรมนูญฉบับ คมช. ด้วยว่า

“รัฐธรรมนูญปีห้าศูนย์นี่ผมไม่ชอบเลย ผมชอบสี่ศูนย์ อย่างเรื่องผู้ใหญ่บ้าน รัฐธรรมนูญปีห้าศูนย์ให้ผู้ใหญ่เป็นไปจนหกสิบ จนเกษียณ มันจะไปทำอะไร ค่าตอบแทนก็สูงด้วย ผมว่าเอาเหมือน อบต. ดีกว่า ให้เป็นห้าปีเหมือนแต่ก่อน การพัฒนาก็จะได้พัฒนาไปเรื่อย แต่นี่อะไร วางอิทธิพลกัน กำนันก็ให้ผู้ใหญ่เลือก อย่างหมู่บ้านผมมีเก้าหมู่บ้าน ก็ให้เก้าคนเลือก ไม่เป็นประชาธิปไตย ที่ทักษิณทำถูกที่สุด พวกข้าราชการเช้าชามเย็นชาม ไปถ่ายบัตร มันเดินไปเดินมา กว่าจะได้ถ่าย ปวดหัว ก็เหมือนอย่างที่ชูวิทย์ว่า รักษาฟรีทุกอย่าง มันเอาพาราฯ มาให้ ถูกแล้ว ไปมีแต่พาราฯ ให้ สมัยอภิสิทธิ์น่ะ”

เมื่อการชุมนุมใหญ่ปี 2553 เริ่มขึ้น ชาวบ้านกรูดหลายคนจึงเดินทางเข้าเมืองใหญ่ ไปปักหลักกินนอนบนท้องถนนร่วมกับชาวบ้านจากถิ่นอื่นทั่วสารทิศ เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา

“ไปชุมนุมจริงๆ จังๆ ปีห้าสาม เริ่มแรกเลย ตอนชุมนุมใหญ่ ชุมนุมก็เครียดมั่ง คนมันเยอะเนาะ คุยกันไปคุยกันมา ก็ว่าเราก็ต้องสู้ เป็นยังไงก็ต้องสู้ มาขนาดนี้แล้ว มาด้วยใจ ค่าแรงไม่มี บาทเดียวก็ไม่มี ไปตอนแรกอดนะ พอนานๆ ไป ถึงมีข้าวกิน ตอนแรกซื้อข้าวกินเอง เราตั้งกลุ่มยังไม่ได้ ครั้งที่สองพอมีจังหวัดไหน จังหวัดนั้นหุงข้าวหุงปลา พวกมาจากขอนแก่น อุดรฯ ขนข้าวขนปลาไป ทางโน้นเขามี ส.ส.มามั้ง ส.ส.พวกผมขายตัวหมด ไปแต่ละทีอาทิตย์กว่าๆ ก็กลับมา บางครั้งก็เกือบสองอาทิตย์ เสื้อผ้าไม่มีที่ตาก ตากกลางคืนนิดหน่อยก็ลุยไปอีกแล้ว แฟนก็บอกลูกยังเล็กด้วย อย่าไปเลย โอ๊ย ห้ามไม่อยู่แล้ว ก็ไปข้างหน้า ไปหาเงินข้างหน้า น้องสาวผมอยู่นั่นสองคน บางทีก็ไปขอยืมเงินเขา พวกเราบางคนไปก็ไม่กลับนะ อย่างเสาร์น่ะ ไม่ยอมกลับ อยู่ตลอดเลย แต่ว่าไม่ค่อยได้เดินด้วยกัน ออกจากสถานที่ด้วยกันก็หายกันแล้ว มีตอนเย็นๆ ได้กลับมาเจอกัน”

“กลับมาได้ไม่พอสามวัน เดี๋ยวหัวหน้าเขาก็โทรมาจากกรุงเทพ มึงหารถไปอีกเด้อ คันละสิบคนอย่างน้อย ก็เลยหา จากนี้ไปถึงจอมพระ ก็พากันไป ช่วงนั้นไม่ค่อยมีงานที่บ้านด้วย ช่วงหน้าแล้ง ถ้าว่างเลี้ยงควาย ทำงานรับจ้าง ทำนาผมทำสองไร่เอง ไม่เยอะหรอก ตอนนั้นผมดูไปแล้วก็ท้อเหมือนกัน ดูไปแล้วมันก็ยาก มันไม่ยอมออก คิดไปต่างๆ นานา ว่าเรามาอย่างนี้เสียเวลาแล้ว แต่ยังไงก็สู้ไป สู้ไปเรื่อยๆ ยังไงเราต้องจับมือกัน ครั้งสุดท้ายผมกลับมาบ้าน เขายังไม่ยิงกัน เสธ.แดงยังไม่ตายเลยตอนนั้น กลับมาได้สามวัน หลวงตาอินทร์ (พระสงฆ์ที่นายอรุณนับถือ) โทรมาบอกว่าอย่าไปเลย เขายิงกันแล้ว จะไปก็ไปไม่ได้ รถเขาไม่มีใครไปแล้ว ผมก็อยากไป แต่หารถไม่ได้ หลวงตาอินทร์ว่าเขากักรถบนถนน ไม่ให้เข้าไปแล้ว พวกแกนนำไปนั่งคุยกันต้องเอาพระมาล้อมไว้ ฮ.มันบินไปบินมา พวกณัฐวุฒิ วีระ นั่งคุยกันอยู่นั่นแหละ เอาพระไปล้อมไว้”

นั่นคือสาเหตุที่ทำให้นายอรุณกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์จากบ้านกรูด ไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งสำคัญที่ราชประสงค์และพื้นที่โดยรอบ

“ตอนเขายิงกันที่ผ่านฟ้าผมอยู่นะช่วงนั้น เหตุการณ์มันชุลมุนเหมือนกัน เหยียบกัน ต่างคนต่างอยากรู้อยากเห็น มียิงแก๊สน้ำตาจาก ฮ. พวกผมไปช่วยดันทหาร ดันตลอดแหละครับ คนมันเยอะ ผู้ชายไม่ค่อยไปข้างหน้าหรอก ส่วนมากผู้หญิง ตอนนั้นก็คิดว่าเราต้องเรียกร้องประชาธิปไตยให้ได้ มาแล้วยังไงต้องสู้ ตอนที่มีการเจรจา ทีแรกว่าจะยุบสภาในเก้าเดือน มาอีกทีสามเดือน ตอนแรกผมคิดว่าสำเร็จนะ เก้าเดือนผมไม่ยอมรับ แต่เป็นสามเดือนพอว่าหน่อย”

เมื่อการชุมนุมครั้งนั้นจบลงด้วยการล้มตายของผู้คนจำนวนมาก ทั้งยังมีคนบ้านเดียวกันเสียชีวิตด้วย นายอรุณว่า

“คนในหมู่บ้านเราเป็นคนหนึ่งที่เสียชีวิต เราก็เสียใจ ช่วงเสียชีวิต เขาโทรมาบอกผม ผมก็โทรบอกแฟนเขา โทรบอกพี่ชายเขา พี่เขาเกือบช็อกตาย น้องชายเขาตาย ทีแรกเขาก็ว่าจะไปชุมนุมด้วย เขาว่าเขาจะไปต่อต้าน ตอนนั้นผมก็ว่าหลวงตาอินทร์ (พระสงฆ์ที่นับถือ) โทรมาว่าอย่าไป ก็เลยไม่ได้เข้าไปอีก พอมาอีกอาทิตย์หนึ่ง ข่าวว่าประจวบเสียชีวิตแล้ว ผมคิดว่ามันไม่ถูกต้อง เราเรียกร้องประชาธิปไตย มันไม่น่าจะรุนแรง มันก็น่าจะมีการยุบสภา จนถึงตอนนี้ ก็รู้สึกว่า ดูไปแล้วถ้าพรรคเพื่อไทยเราไม่ได้เป็นรัฐบาล ผมว่าอาจจะหาเบาะแสไม่ได้ เน้นตรงนี้แหละ”

แต่อย่างไรนายอรุณก็ยังคิดว่า การเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง คือการตัดสินใจที่ถูกต้อง

“ไปเสื้อแดงนี่ดีที่สุดที่เราได้ไป คือหนึ่งเรามีอุดมการณ์ เรียกร้องสองมาตรฐานให้ออกไป เอาประชาธิปไตยกลับคืน เราไม่คิดว่าผู้แทนคนไหนดีไม่ดี แต่เราต้องเอาประชาธิปไตยกลับคืน ไม่ใช่เราจะไปกลั่นแกล้งใคร ชาวบ้านเดี๋ยวนี้เขาเข้าใจ ตอนเลือกตั้งก็เลือกพรรคกันอย่างเดียว สมัยนี้ ส.ส.มันได้เปรียบตรงนี้ เขาไม่พูดถึงยิ่งลักษณ์นะ ทักษิณอย่างเดียว เอาทักษิณกลับประเทศ แค่นั้นแหละ ยิ่งลักษณ์จะบริหารงานได้มั้ย ไม่รู้ แต่เลือกตั้งที่ผ่านมา ชาวบ้านเลือกทักษิณอย่างเดียว ที่เขาบอกว่าคนอีสานเงินซื้อได้ สมัยก่อนอาจจะจริงอยู่ครับ แต่เดี๋ยวนี้เงินซื้อไม่ได้หรอกครับ เงินมันมาไม่รู้เท่าไหร่ แต่ละคนหมดเป็นร้อยล้านมั้ง พรรคเพี่อไทยหมดแค่น้ำมันรถ เงินมี แต่จ่ายไม่ได้ กลัวใบแดง จ่ายโดนใบแดงแน่ๆ”

อดีตสมาชิก อบต. แห่งบ้านกรูด อ้างถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

“ตอนเลือกตั้งมันเอาตำรวจมาบ้านผมสามคันรถ มันมาให้หัวคะแนนจ่ายเลย เบอร์สิบหก มันจ่ายสามครั้ง ครั้งแรกห้าร้อย ครั้งที่สองที่สามสามร้อย ชาวบ้านได้สามครั้งเลย แต่ผมไม่ได้ เขาว่าเป็น นปช. เลยไม่ให้ พอเขาจ่ายเงินเสร็จผมก็เดินหาชาวบ้าน บอกว่าเขาให้เงินก็เอาไปเลย ได้เงินใช้ดีแล้ว แต่เวลาเลือกให้เลือกเบอร์หนึ่ง เบอร์ยีบเอ็ดก็จ่ายสามครั้ง แต่ผมไม่ได้ ถ้าได้ก็ดีเหมือนกัน ผมไม่ได้อะไรเลย เบอร์ยี่สิบเอ็ดเรียกผมไป บอกตารุณจะเอาเงินเท่าไหร่ ให้ช่วยเบอร์ยีบเอ็ด ผมก็ว่าผมช่วยไม่ได้หรอก ชาวบ้านรู้หมดว่าผมเป็น นปช. จะเอาผมไปฆ่าผมก็ไม่ว่าอะไรหรอก แต่ผมไม่เอาหรอก ถ้าเอาเงินแล้วต้องช่วยเขา เบอร์สิบหกได้ไปห้าสิบกว่าคะแนน จากสามร้อยสิบสี่เสียง มันก็เยอะเหมือนกันเนาะ พวกทหารเขายังถามผมเลย โทรถามว่ามึงเอาเบอร์อะไร ผมก็ว่าเบอร์หนึ่งนั่นแหละ พวกทหารเกณฑ์ก็ช่วยเหมือนกัน เสื้อแดงเหมือนกัน พอวันที่สอง มีคนเรียกผมไป บอกว่านายกฯ อบต. จะเอาเงินมาให้มึง มึงเอาเท่าไหร่ ผมว่าผมไม่เอ๊า ผมช่วยไม่ได้หรอก”

สุดท้าย นายอรุณฝากถึงรัฐบาลที่เขาทุ่มเทแรงกายแรงใจให้อย่างสุดตัวว่า

“ขอให้มาติดตามเอาคนที่ทำผิด อยากจะให้มีการดูแลครอบครัวคนที่เขาตาย เพราะพอไม่มีหัวหน้าครอบครัว ลูกก็ยังเล็กอยู่ ทำไร่ทำนาก็ไม่มีใครทำ ก็ใช้คนอื่น น้องก็ช่วยไปวันๆ ลูกชายก็ได้ช่วยเสาร์-อาทิตย์ ผมไม่อยากให้มีแล้ว ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกแล้ว ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ถ้าเป็นประชาธิปไตย ควรจะเจรจา ฟังความคิดเห็นของประชาชน ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม อยากได้ความยุติธรรมกลับคืน ถ้าเป็นประชาธิปไตยต้องมีความยุติธรรม อภิสิทธิ์นี่สองมาตรฐานแน่นอน พวกพันธมิตรฯ โดยแง่มุมผมก็ไม่ชอบ ทุกวันนี้มีมั้ย ไม่เกินสิบคนเนาะ ทุกวันนี้มันหมดแล้ว พันธมิตรฯ มันทำผิด คนไทยกับเขมรฆ่ากันเพราะอะไร ทุกวันนี้ชาวบ้านเห็นไม่ได้เลย จำลอง ศรีเมืองน่ะ เห็นปิดเลย โทรทัศน์”




หลังค้างคืนที่บ้านกรูดหนึ่งคืน เราเดินทางกลับเข้าตัวเมืองจอมพระ เพื่อเดินทางต่อไปยังอำเภอรัตนบุรี ระหว่างนั่งรอรถโดยสาร มอเตอร์ไซค์รับจ้างวัยราวห้าสิบปีคนหนึ่งซึ่งเราพบแต่วันแรกที่มาถึงจอมพระ และเป็นคนอาสาหามอเตอร์ไซค์ไปส่งเราที่บ้านกรูด เดินเข้ามาทักทาย คุยกันสักพักแกถามว่า ไปหาใครมาที่บ้านกรูด เราตอบว่าไปบ้านคนเสื้อแดงที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว แกร้อง “อ๋อ” พร้อมเรียกชื่อ “ประจวบ ประจวบสุข” ได้อย่างถูกต้อง ทั้งยังคุยต่อ

“จังหวัดสุรินทร์มีคนตายหลายคน ชาวบ้านเขาก็ไม่พอใจกัน ทหารฆ่าประชาชน คนที่นี่เขาก็ไปชุมนุม”

เมื่อพูดคุยกันต่อไปอีก จึงได้รู้ว่านอกจากวิ่งวินมอเตอร์ไซค์อยู่ในเมืองนี้แล้ว มอเตอร์ไซค์รับจ้างรุ่นใหญ่คนนี้ยังเป็นนักจัดรายการวิทยุชุมชนแถบนี้ด้วย ในชื่อ “เพชร เดโช” แกว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างในเมืองนี้รู้จักแกกันทุกคน

“ชาวบ้านเขาชอบนโยบายความเป็นธรรม ไม่ชอบความไม่ยุติธรรม ไม่ชอบสองมาตรฐาน คนหนึ่งผิด อีกคนไม่ผิด เห็นชัดทั้งที่ทำเหมือนๆ กัน เห็นชัดเลย เสื้อเหลือง เสื้อแดง”

เพชร เดโชว่าอีกว่าเมื่อหลายปีก่อนเขาเคยได้พบกับอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

“ผมเคยจับมือกับทักษิณ บอกกับแกว่าให้จัดระบบมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มันไม่มีระบบ มีการเก็บส่วยหัวหน้าวิน ผมอยู่นี่มาประมาณยี่สิบปี เป็นหัวหน้าคุมตลอด เวลาใครมีปัญหาอะไร ผมมีหน้าที่ไปเคลียร์ให้ เจ้าหน้าที่อะไรๆ ช่วงทักษิณเป็นนายกฯ เศรษฐกิจดี หากินคล่อง ไปไหนก็ได้ แต่พอปฏิวัติ หากินยาก ลำบาก ตอนปฏิวัติผมก็ไปร่วม ไปฟังเวทีปราศรัยที่ธรรมศาสตร์ ทาง ส.ส.เขาจัดให้ไปฟัง ปฏิวัติไม่ดีหรอก ทำไมไม่ดี ก็มันไม่เหมือนเดิม นโยบายตัวเองก็ไม่มี อาจจะหมั่นไส้เขา ก็เลยรัฐประหาร เขาคิดใหม่ ทำใหม่ พอเขาทำได้ อิจฉาเขา ตัวเองทำไม่ได้”

ช่วงชุมนุมใหญ่ปี 2553 เพชร เดโช เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงด้วย “ผมกลับออกมาวันที่ 19 พฤษภา ประมาณสี่โมงเช้า ทางบ้านโทรบอกว่าเขาเตรียมสลายแล้ว ให้หาทางหนี ผมเลยหาทางหนีออกมา”

“จอมพระ” เป็นอำเภอเล็กๆ ที่ยามรถโดยสารแล่นผ่าน แทบมองหาตัวเมืองไม่เจอ แต่บัดนี้ต้องบันทึกไว้ว่า ที่นี่คืออำเภอบ้านเกิดของอีกหนึ่งวีรชนเดือนพฤษภาสายเลือดอีสาน ที่สละชีวิตเพื่อปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิแห่งความเป็นคน

ที่มา prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น