News online

กลับไปยังหน้าหลักเพื่อสนทนา C-Box ดู TV และฟังวิทยุ ได้ที่

วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สัมภาษณ์ทนายความคดีสุรภักดิ์ : มุมมองการต่อสู้คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์-112

การยกฟ้องในคดีของสุรภักดิ์ ผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สร้างแรงกระเพื่อมอย่างสำคัญในสังคม โดยเฉพาะแวดวงนักกิจกรรมและผู้ที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะคดีลักษณะดังกล่าว เมื่อเกี่ยวพันกับมาตรา 112 ที่ผ่านมาแทบไม่ปรากฏการชนะคดีให้เห็น ยกเว้นคดี ‘เบนโตะ’ ผู้ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความในเว็บบอร์ด

ธิติพงษ์ ศรีแสน หรือที่เรียกกันว่า ทนายเซียง เป็นทนายว่าความคดีนี้ เขาเป็นทนายผู้เชี่ยวชาญคดีทรัพย์สินทางปัญญาและเริ่มทำคดีความมั่นคงที่ เป็นประเด็นอ่อนไหวเป็นคดีแรก ความน่าสนใจของเขาอยู่ที่แนวทางในการสืบพยานและการเตรียมการของทนายซึ่งไม่ มีผู้เชี่ยวชาญคอยช่วยเหลือ รวมไปถึงมุมมองเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่น่าสนใจ

000000

แบ็คกราวน์ก่อนหน้านี้ทำคดีเกี่ยวกับอะไร
ก็เป็นทนายอิสระ ทั่วๆ ไปเหมือนสำนักงานทนายความ ที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.คอมมากหน่อยก็เป็นคดีที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา แต่สองปีที่ผ่านมาก็เริ่มทำคดีเสื้อแดงเยอะ ในช่วงสลายชุมนุมปี 53 คือคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนใหญ่จะทำกับชาวบ้านรากหญ้า ไม่ใช่ระดับแกนนำ วันที่ 19 พ.ค.53 ม็อบแตก บังเอิญได้รับโทรศัพท์จากคนเสื้อแดงหลายคน แจ้งว่ามีคนถูกจับกุมแล้วถูกจับตัวไปศาลและถูกบังคับให้รับสารภาพ เลยเข้าไปช่วย

แล้วมารับคดีนี้ได้อย่างไร
เพราะเห็นบทเรียนจากคดีอากง แล้วเห็นว่าคดีแบบนี้ เป็นคดีที่ไม่ว่าคำพิพากษาก็ดี เนื้อหาคดี มันทะแม่งๆ ไม่น่าจะสามารถลงโทษจำเลยได้ จากนั้นมีโอกาสเจอกับแม่ของสุรภักดิ์โดยบังเอิญแล้วเขาเล่าให้ฟัง ก็สงสารแม่เขา
ที่สำคัญ สุรภักดิ์ จำเลยของคดีนี้ก็เป็นเสื้อแดงเหมือนกัน ไม่รู้ว่าด้วยความที่ส่วนตัวเป็นเสื้อแดง หรือว่าอคติ หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมเชื่อว่าคนมีความคิดในแนวเสื้อแดง พื้นฐานเขาเป็นคนดี

ตอนแรกหวั่นใจไหม
หวั่นใจ คำฟ้องโจทก์เขียนค่อนข้างดี รัดกุม เป็นขั้นเป็นตอน ผมก็ยังเคยคุยกับเพื่อนทนายว่า หนักและเครียดมากคดีนี้
จริงๆ แล้วโดยรูปแบบแล้วหนักกว่าคดีอากง คดีอากงเปรียบเทียบแล้วคล้ายๆ ว่าอากงยิงปืนไม่เป็น แต่บังเอิญมีปืนไว้กระบอกหนึ่ง ใครหยิบไปฆ่าคนตายแล้วมาวางไว้ที่บ้านอากงก็ไม่รู้ ข้อเท็จจริงมันชัดว่าอากงไม่เคยยิงปืนและยิงปืนไม่เป็น แต่สุรภักดิ์เป็นโปรแกรมเมอร์ ใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำ และพบหลักฐานในคอมพิวเตอร์ของตัวเอง ความยากของคดีมันอยู่ตรงนี้ และเอกสารในสำนวนเยอะมากที่เราต้องตรวจสอบด้วยตัวเอง อ่านแล้วเจอพิรุธในเอกสารของโจทก์เอง มีแค่บรรทัดเดียวเล็กๆ ว่ามีการใช้เครื่องวันที่ 2 ก.ย.และ 7 ก.ย.ตอนที่เขาโดนจับแล้ว

ตัวทนายมีความรู้พื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์ไหม
ผมก็มีในฐานะ user ทั่วๆ ไป ถ้าเขาได้ประกันตัวมาคดีจะสะดวกกว่านี้เยอะ โดยเฉพาะเมื่อตัวจำเลยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้วย ข้อเท็จจริงเราบอกผ่านกันทางลูกกรง จำเลยไม่มีโอกาสมานั่งสาธิต เขาบอกอย่างเดียวว่ามันปลอม แต่มันจะปลอมยังไง ผมต้องไปนั่งศึกษา ผมก็ไม่มีทีม support มันหายาก ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่อยากจะให้ความร่วมมือ ใช้วิธีอ่านหนังสือ ค้นคว้า โดยเราได้ธงมาอย่างหนึ่งคือจำเลยยืนยันว่าไม่ได้ทำและหลักฐานเป็นไฟล์ปลอม ซึ่งเราก็ต้องตีโจทย์ต่อเองว่ามันปลอมยังไง

ใช้เวลานานไหมในการหาข้อมูล
คดีนี้ก็น่าจะประมาณ 3 เดือน

คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา กับที่เกี่ยวกับคดีความมั่นคง มีความยากง่ายต่างกันไหม
ต่างกันหลายเรื่อง คดีนี้สำคัญที่สุดคือแรงกดดัน คนที่โดนคดีนี้ คนที่มาทำคดีนี้ ตกอยู่ภายใต้ภาวะแรงกดดันสูง คุณไม่มีทางไปเชิดหน้าชูตาบอกใครที่ไหนได้เลยว่าคุณเป็นทนายให้คนที่หมิ่น สถาบัน คุณจะไปขอความร่วมมือจากใคร แล้วโดยความซับซ้อนก็มีสูง โดยส่วนตัวเราก็ไม่ใช่นักคอมพิวเตอร์ ทุกคดีมีความยากง่ายแตกต่างกันไป แต่คดีนี้องค์ประกอบส่วนอื่นยิ่งทำให้คดียากขึ้นไปอีก

หลังจากรับคดีนี้แล้ว คาดว่าจะมีปัญหาในอาชีพการงานไหม
อันนั้นไม่กลัว โดยส่วนใหญ่แล้วลูกความของผมมักมีแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามกับผม แต่เขาก็เข้าใจในบทบาทและน่าที่ แต่ถ้าเขาจะไม่จ้างผมเป็นทนายเพราะผมเป็นคนเสื้อแดง ผมก็ไม่ worry  ถ้าเรามั่นใจว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง ผลที่จะตามเราพร้อมจะรับเสมอ คนรอบข้างใกล้ตัวหลายคนก็ทักเสมอ ท้วงติงด้วยความห่วงใยว่า แน่ใจเหรอที่จะมาทำคดีแบบนี้ เพราะเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องอ่อนไหวในสังคมไทย จะจริงหรือไม่จริง พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาถูกประณามไปก่อนแล้ว เหมือนคดีของสุรภักดิ์ พิสูจน์ได้เลยว่าพยานหลักฐานที่ทำเป็นเท็จแต่ตลอดระยะเวลาปีเศษๆ เขาเหมือนอะไรสักอย่างที่ถูกตั้งข้อสังเกตในสังคมไปแล้ว

จะมีการดำเนินคดีหมิ่นประมาทกับผู้แจ้งความจับในคดีนี้ไหม
เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายว่าจะตัดสินใจอย่างไร คงให้คำแนะนำหลังจากที่เขามาขอคำแนะนำ สาระสำคัญของคดีนี้ ผมว่ามันกล่าวหากันง่ายเกินไป เราพูดในเรื่ององค์รวมในการใช้มาตรา 112 คดีอย่างสุรภักดิ์มันกล่าวหากันง่ายมาก มีคนบอกตำรวจว่ามีเฟซบุ๊คหมิ่นสถาบัน คนบอกมีตัวตน แต่คนที่บอกว่าเจ้าของเฟซบุ๊คคือสุรภักดิ์คือนายมานะชัยซึ่งไม่ปรากฏตัวตน เป็นคำกล่าวอ้างของพนักงานสอบสวน ไม่มีการตรวจสอบที่มาที่ไปว่าคนนี้คือใคร แล้วก็นำมาซึ่งการออกหมายค้น วันนั้นยังไม่ออกหมายจับนะ พอเจอเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ ตำรวจยังไม่สามารถจับได้นะ เพราะไม่มีการกระทำความผิดซึ่งหน้า ในขั้นตอนในการจับกุม ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ที่เข้าจับกุมได้ให้สุรภักดิ์เขียนกระดาษอีกใบหนึ่งบอก ว่าเฟซบุ๊คที่มีเรื่องนี้ มีพาสเวิร์ดอะไร สุรภักดิ์ไม่รู้ก็ให้พาสเวิร์ดเครื่องไป แล้วตำรวจก็เอาหลักฐานตัวนี้ไปขอหมายจับที่ศาล
คือกระบวนการ หรือ process มันผิดฝาผิดตัวหมด  กระบวนการดำเนินคดีมันผิดมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่มีคนแจ้งกันง่ายๆ ว่าคนนี้ ชื่อนี้ ที่อยู่นี้เป็นคนทำ คนที่บอกก็ยังหาตัวตนไม่เจอ

คดีนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าพยานหลัก ฐานอาจจะเท็จ มีความเป็นไปได้ไหมที่จะสามารถสร้างบรรทัดฐานโดยจำเลยอาจฟ้องกลับเจ้า พนักงานที่ดำเนินการ
เป็นไปได้ พยานบุคคลที่นำมาสืบเป็นผู้เชี่ยวชาญเหมือนกัน เขายืนยันกับผมหลังสืบพยานว่า เขามั่นใจในฐานะนักคอมพิวเตอร์ว่าหลักฐานนี้เท็จแน่นอน หลังจากที่สุรภักดิ์ออกจากคุกแล้วก็คงให้เขาคิดและตัดสินใจเองว่าจะทำอย่าง ไร

กระบวนการยุติธรรมถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด มาถึงวันนี้คิดอย่างไร
ผมว่าหลังจากที่ฟังคำพิพากษาวันนี้แล้ว เรายังพอมีความหวังอยู่บ้างเรื่องกระบวนการยุติธรรม แต่โดยส่วนตัวผม กระบวนการยุติธรรมจะไม่ยุติธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาเลย ถ้าผู้ที่ถูกกระทำหรือจำเลยหรือผู้ต้องหา ไม่ได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการประกันตัว ผมมีความเห็นว่า คดีมาตรา 112 หรือคดีอะไรก็แล้วแต่ เมื่อภายหลังมีการยกฟ้องจำเลย มันจะเกิดความเสียหายกับจำเลยน้อยมาก ถ้าศาลให้โอกาสจำเลยในการต่อสู้คดีโดยการให้ประกันตัว วันนี้ผมถามว่า ออกมาแบบนี้ ระยะเวลา 1 ปีเศษๆ ที่สุรภักดิ์อยู่ในคุก ผมมองว่าไม่มีอะไรทดแทน ชดเชยให้เขาได้ ชดเชยทางความรู้สึก เวลาที่เสียไป ธุรกิจการงาน

เรื่องการประกันตัวดูจะเป็นปัญหาใหญ่ในคดีลักษณะนี้
เรื่องการประกันตัวเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ใช่การกล่าวอ้างไม่ให้ประกันลอยๆ ยกตัวอย่างว่า กรณีศาลสั่งไม่ให้ประกันเนื่องจากกลัวจะหลบหนี กลัวยุ่งเหยิงกับพยาน มันมีหลายคดีที่ข้อเท็จจริงในคดีมีการสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นเรียบร้อย แล้ว และการหนีของจำเลยก็ต้องดูว่าเขาสามารถหนีไหม คุ้มกับที่เสียหลักประกันไปหรือเปล่า
เราพูดเรื่องสิทธิของจำเลยในการได้รับการประกันตัวกันเยอะ แต่เราไม่เคยพูดว่าอำนาจของคนที่จะไม่ให้ประกันตัวควรจะมีแค่ไหน จริงๆ เราควรพูดเรื่องนี้มากกว่า ผมเห็นว่าปัญหานี้เป็นปัญหาเรื่องของคน ซึ่งสามารถใช้ช่องว่างของระบบได้ แต่ถ้าเราสามารถแก้ไขระบบได้ ต่อให้คนที่มีทัศนคติเกี่ยวกับคดียังไง ก็ไม่สามารถใช้ดุลยพินิจเกินเลย ยกตัวอย่างว่า ถ้าเราวางระบบว่าถ้าข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้คุณต้องให้ประกันตัวนะ คุณจะใช้ดุลยพินิจนอกเหนือจากระบบไม่ได้ แต่ตอนนี้โครงสร้างของระบบมันมีช่องว่าง
เวลาพูด เราพูดถึงองค์รวม การปรับหรือการปฏิรูประบบยุติธรรม ประชาชนทุกคนต้องได้ประโยชน์ รวมทั้งคดีมาตรา 112 เพื่อให้ยุติธรรมกับประชาชน

คิดว่าคดีนี้อัยการจะอุทธรณ์ไหม
แล้วแต่ทางอัยการ ถ้าอุทธรณ์เราก็มีหน้าที่แก้อุทธรณ์ ส่วนผลนั้นก็ไม่อาจก้าวล่วงศาลได้ แต่เท่าที่ดูจากชั้นต้นแล้วค่อนข้างมั่นใจ พยานหลักฐานที่เรานำสืบหักล้างหลักฐานของโจทก์ได้ทั้งหมด

ปัจจัยที่จะชนะคดีลักษณะนี้อยู่ที่ไหน
ปัจจัยที่จะทำให้ชนะอยู่ที่การเตรียมคดี  อะไรที่มันไม่จริงมันต้องมีข้อพิรุธให้เราจับได้

ความเข้าใจของผู้พิพากษาในเรื่องเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญไหม
มันอยู่ที่เรานำเสนอ อยู่ที่ว่าฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลยจะนำเสนออย่างไร คดีนี้โชคดีกว่าคดีอื่นตรงที่ศาลอนุญาตให้เรานำสืบได้ทุกขั้นตอน สามารถเอาคอมพิวเตอร์ไปฉายโปรเจ๊กเตอร์ได้ สาธิตการเกิดไฟล์ได้

อันนี้ควรเป็นสิทธิพื้นฐาน ทำไมใช้คำว่า “โชคดี”
ก็มันโชคดี เข้าใจว่าคดีอื่นไม่ได้

การยกฟ้องครั้งนี้น่าจะทำให้คดีในลักษณะนี้ที่มีอยู่เรื่อยๆ ไหลมาที่ทนาย หนักใจหรือไม่
ตราบใดที่กระบวนการการดำเนินคดีของมาตรา 112 ยังเป็นแบบนี้ ผมไม่อยากทำ คือเป็นกระบวนการกล่าวหาแล้วก็ห้ามประกันตัว มันเครียดและอึดอัด
ผมว่าเอาคดีนี้เป็นตัวอย่าง เป็น case study  ทนายไม่ว่าใครก็แล้วแต่ที่มาทำคดีลักษณะนี้ให้ดูลักษณะการเตรียมคดีหรือสืบ พยานในคดีนี้ แต่ละคดีไม่เหมือนกัน แต่อาจดูแนวทางการนำสืบหรือการหักล้าง น่าจะเป็นแนวทางการต่อสู้ของคนที่เจอชะตากรรมเดียวกับสุรภักดิ์ได้

คนที่ไม่ได้นั่งฟังอาจไม่เห็นว่าแนวทางเป็นยังไง เช่น เป็นคดีคอมพิวเตอร์ที่ถามน้อยที่สุเท่าที่เคยเห็นมา
ผมว่าผมถามไม่น้อยนะ ให้ดูเรื่องคำถามที่ถามก็ได้ ผมเอาให้เข้าประเด็นทั้งหมด ไม่ต้องถามอะไรนอกเหนือไปมาก มีพยานปากหนึ่งผมไม่ถามเลยเพราะไม่เกี่ยวกับคดี ถ้าเราสามารถหักล้างพยานโจทก์ได้หมด ศาลก็คงไม่เขียนคำพิพากษาไปเป็นอย่างอื่น ผมพยายามปิดช่องว่าง คดีอากงผมเห็นแล้วว่าถ้าเราอุดไม่เต็มศาลก็สามารถไปออกตรงนั้นได้ วันนี้ถ้าเราสามารถเตรียมคดีดีๆ ปิดทุกช่องทาง คนที่นั่งฟังกระบวนพิจารณาตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้ายก็สามารถเชื่อได้โดย ปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด

เรื่องเนื้อหาที่ถูกกล่าวหา ถ้าคดีนี้สู้ได้จะสู้ไหม
สู้ ต้องสู้ทุกประเด็น แต่ผมดูแล้ว วันแรกที่เจอสุรภักดิ์ที่เรือนจำ ผมบอกกับเขาว่าผมไม่ได้สู้เรื่องมาตรา 112 ผมสู้เรื่องคอมพิวเตอร์

พอผลของคดีนี้ออกมา แสดงว่าความเชื่อแบบเดิมๆ ว่าคดีนี้ยังไงก็ไม่มีทางชนะนั้นอาจไม่ใช่แล้ว
ใช่ คดีนี้ผมรับปากกับแม่เขา ผมยังไม่รู้เลยว่าเขาฟ้องอะไรบ้าง ข้อหากี่กระทง แต่รู้อย่างเดียวว่าจำเลยเขามีสิทธิมีทนาย โดยส่วนตัวของผมเห็นว่าปัญหาของมาตรา 112 ปัญหามันอยู่ที่การนำเอามาตรานี้มาใช้กับประชาชน คือ กระบวนการนำมาใช้ที่เป็นปัญหา โดยส่วนตัวผมไม่ได้คิดโต้แย้งอะไรกับตัวกฎหมาย แต่ติดตรงการนำมาใช้ ยกตัวอย่าง คดีสุรภักดิ์ ใครก็ไม่รู้มากล่าวหาลอยๆ แล้วเขาก็ติดคุกปีกว่า บางคนโชคดีได้ประกันตัว บางคนก็ไม่ได้โชคดีอย่างนั้น
สุรภักดิ์เองก็เจอแรงกดดัน ถูกกล่อมให้รับสารภาพ เพราะคนเชื่อว่าสู้ไม่ได้ มีหลายคนจำยอมต้องรับสารภาพเพราะคาดหวังว่าจะได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ได้รับโทษน้อยลง นี่คือปัญหาของเรื่องกระบวนการ อันที่จริงคดีนี้ต้องได้รับการพิสูจน์ว่าเขาทำผิดจริงหรือเปล่า

ได้ค่าตอบแทนสูงไหม
ก็ไม่รู้จะเบิกที่ใคร (หัวเราะ) คือ ในระหว่างการต่อสู้คดี จริงๆ เราก็อยากได้เงิน แต่คดีนี้มันมาจากความเต็มใจของผมเองและสิ่งที่ได้มาทดแทน ได้มาจากพรรคพวกพี่น้องเสื้อแดงด้วยกัน มันอบอุ่น ให้กำลังใจตลอด เราได้สิ่งนั้นมาทดแทนเรื่องค่าตอบแทน

ที่มา prachatai

ศาลอาญายกฟ้องคดีเสื้อแดงหมิ่นเบื้องสูงผ่านเฟซบุ๊ก ชี้พยานโจทก์มีข้อสงสัย



เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 31 ต.ค. ที่ห้องพิจารณา 804 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมิ่นเบื้องสูง หมายเลขดำ อ.4857/2554 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสุรศักดิ์ หรือสุรภักดิ์ ภูไชยแสง หรือภูไชยแสน หรือภูไชแสง อายุ 41 ปี โปรแกรมเมอร์อิสระ เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 ,14,17
 
คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 25 พ.ย.54 บรรยายพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 4 -16 พ.ค.54 จำเลยได้เขียนข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต เหตุเกิดที่แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี , แขวง-เขตวังทองหลาง กทม.,ทั่วราชอาณาจักรไทย และท้องที่ใดไม่ปรากฏชัด ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่าย นำสืบหักล้างแล้ว เห็นว่า การวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์ จะต้องพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของวิธีการที่ใช้สร้าง การเก็บรักษา ความครบถ้วน ที่ต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงของข้อความหรือวิธีการที่ใช้ในการแสดงตัวผู้ส่ง ข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บรักษาพยานหลักฐานทางคอมพิวเตอร์ที่ต้องพยายามเก็บ รักษาข้อมูลต้นฉบับไว้ เพราะการเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละครั้งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดย อัตโนมัติ ข้อมูลอาจถูกแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย ซึ่งปรากฏว่าหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัวและยึดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของ จำเลยแล้ว กลับมีผู้เปิดใช้ในวันที่ 2 ก.ย.2554 เวลา 20.13.44 น. และวันที่ 7 ก.ย. 2554 เวลา 21.12.07 น. ซึ่งเป็นวันก่อนที่คอมพิวเตอร์จะถูกส่งไปตรวจพิสูจน์ อาจเป็นช่องทางให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ง่าย ทำให้ข้อมูลที่ได้จากการตรวจพิสูจน์มีข้อบกพร่อง จึงยังไม่อาจรับฟังได้แน่ชัดว่าข้อมูลการใช้อีเมล์ และเฟซบุ๊ก  จะเกิดขึ้นจากการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง หรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรค 2 พิพากษาให้ยกฟ้อง
ทั้งนี้ภายหลังคำพิพากษา นายสุรศักดิ์ จำเลย มีอาการดีใจหันมายิ้มและจับมือกับกลุ่มญาติและเพื่อนที่มาร่วมให้กำลังใจใน วันนี้ โดยระหว่างการพิจารณาคดีที่ผ่านมานายสุรศักดิ์ ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ.

 ที่มา dailynews


****************************

คำพิพากษาย่อ

(จัดย่อหน้าและทำตัวเน้นโดยประชาไท)

คดีหมายเลขดำที่ อ.๔๘๕๗/๒๕๕๔
  คดีหมายเลขแดงที่
ศาลอาญา
วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๕
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด                      โจทก์
            ระหว่าง
                        นายสุรศักดิ์หรือสุรภักดิ์ ภูไชยแสงหรือภูไชยแสนหรือภูไชแสง จำเลย

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสร้างอีเมล์ส่วนตัวชื่อ dorkao@hotmail.com และใช้งานในลักษณะเป็นเจ้าของแล้วใช้อีเมล์ดังกล่าวสร้างบัญชีผู้ใช้ (โปรไฟล์) ในเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก (Facebook) ชื่อ “เราจะครองแผ่นดินโดยทำรัฐประหาร” ขึ้น และจำเลยได้เขียนข้อความอันเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แล้วนำข้อความดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็น เท็จ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๙๑, ๑๑๒ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๓, ๑๔, ๑๗ ริบของกลาง

            จำเลยให้การปฏิเสธ
            พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่ปรากฏว่าจำเลยมีที่อยู่อีเมล์ของ dorkao@hotmail.com และรหัสผ่านเฟซบุ๊ก “เราจะครองแผ่นดินโดยทำรัฐประหาร” ที่ลงทะเบียนไว้ในระบบแต่อย่างใด ทั้งได้ความว่ารหัสผ่านที่จำเลยเขียนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นรหัสผ่านสำหรับ ใช้เปิดคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กของจำเลยเท่านั้น และเป็นรหัสผ่านเดียวกันกับที่อยู่อีเมล์และเฟซบุ๊กในชื่อ surapach_phuchaisang@hotmail.com ของจำเลยเอง ซึ่งตามปกติแล้วผู้เป็นเจ้าของบัญชีผู้ใช้ย่อมต้องปกปิดรหัสสำหรับผ่านเข้า สู่ระบบอีเมล์หรือเฟซบุ๊กเป็นความลับเพื่อไม่ให้คนอื่นเข้าถึงข้อมูลของตน ได้ แต่ปรากฏว่าหลังจับกุมจำเลยและควบคุมตัวไว้นั้น ยังมีบุคคลอื่นเข้าใช้งานอีเมล์ dorkao@hotmail.comอยู่อีก

             ที่โจทก์นำสืบว่ารหัสอีเมล์แอดเดรสอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของบุคคลใดและอี เมล์แอดเดรสนั้นมีการใช้เฟซบุ๊กจะสามารถบอกได้ว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของ เฟซบุ๊กก็เพียงเป็นความเข้าใจของพยานโจทก์เท่านั้น โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนให้รับฟังได้เช่นนั้น ซึ่งจากการตรวจแฟ้มข้อมูลบันทึกประวัติการเข้าใช้งานไปรษณีย์อีเล็กทรอนิกส์ InboxLight[2].htm ระบุถึงชื่อ dorkao@hotmail.com และประวัติการเข้าใช้เว็บไซด์เฟซบุ๊ก home[1].htm ซึ่งระบุถึงชื่อโปรไฟล์ “เราจะครองแผ่นดินโดยทำรัฐประหาร” พบว่ามีบันทึกอยู่ในคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กของจำเลยที่ยึดเป็นของกลางอย่างละ ๑ รายการ โดยพบประวัติการใช้อีเมล์และเฟซบุ๊กในวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๔ และ ๘ มกราคม ๒๕๕๔ ตามลำดับ ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนวันเวลาที่มีการเขียนข้อความตามที่โจทก์ฟ้องนานหลาย เดือน หากมีการใช้คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กของกลางเขียนข้อความตามที่โจทก์ฟ้องจริงก็ น่าจะตรวจพบประวัติการใช้ในช่วงวันเวลาดังกล่าวบ้าง แต่กลับตรวจไม่พบประวัติการใช้แต่อย่างใด และไม่พบความเชื่อมโยงระหว่าง อีเมล์แอดเดรส dorkao@hotmail.com กับเจ้าของเฟซบุ๊ก “เราจะครองแผ่นดินโดยทำรัฐประหาร”

             นอกจากนี้ข้อมูลที่แสดงรายละเอียดหัสต้นฉบับยังสามารถคัดลอกจากเครื่อง คอมพิวเตอร์อื่นได้โดยใช้เวลาไม่ถึง ๑ วินาที ซึ่งประการนี้จำเลยได้นำสืบต่อสู้ว่าแฟ้มข้อมูลและรหัสต้นฉบับตาม ที่ตรวจพบนั้นเป็นแฟ้มที่ไม่อาจพบอยู่ในพื้นที่จัดเก็บข้อมูลปกติ และไม่ได้เกิดจากการใช้อินเตอร์เน็ต แต่ถูกทำขึ้นแล้วนำไปวางไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของกลาง และคุณสมบัติด้านเวลาของแฟ้มมีความผิดปกติ โดยระหว่างสืบพยานจำเลยได้แสดงวิธีคัดลองแฟ้มให้ดู ผลปรากฏว่าสามารถกระทำได้จริง เมื่อพิจารณารายงานการตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์ของกลางโดยละเอียดแล้ว พบว่า มีความผิดปกติหลายประการดังที่จำเลยนำสืบจริง

               และเนื่องจากข้อมูลลักษณะดังกล่าวอาจถูกแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย ดังนั้นในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์จึง ต้องพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของลักษณะหรือวิธีการที่ใช้สร้าง การเก็บรักษา ความครบถ้วน ซึ่งต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงของข้อความ ลักษณะหรือวิธีการที่ใช้ในการระบุหรือแสดงตัวผู้ส่งข้อมูล รวมทั้งพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางการเก็บรักษาพยานหลักฐานทางคอมพิวเตอร์ที่ต้อง พยายามรักษาข้อมูลต้นฉบับไว้ เพราะการเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละครั้งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดย อัตโนมัติ ข้อมูลอาจถูกแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย แต่ปรากฏว่าหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวและยึดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คของจำเลยไว้แล้ว กลับมีผู้เปิดใช้งานคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คของกลางใน วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๒๐.๑๓.๔๔ นาฬิกา และวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๒๑.๑๒.๐๗ นาฬิกา ซึ่งเป็นวันก่อนที่จะถูกส่งไปให้ว่าที่พันตำรวจตรีนิติทำการตรวจพิสูจน์ อันอาจเป็นช่องทางให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊คของกลางได้ง่าย จึงทำให้ข้อมูลที่ได้จากการตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คของกลางมีข้อบกพร่องกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ยังไม่อาจรับฟังได้แน่ชัดว่า ข้อมูลการใช้อีเมล์ dorkao@hotmail.com และเฟซบุ๊ก “เราจะครองแผ่นดินโดยทำรัฐประหาร” เกิดขึ้นจากการใช้งานจากเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คของจำเลย

              พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ วรรคสอง

              พิพากษายกฟ้อง

ที่มา prachatai
 

รายงาน : สรุปข้อต่อสู้คดี 112 บนเฟซบุ๊ค ‘เราจะครองxxxx’ ก่อนพิพากษาพรุ่งนี้



โดย ทีมข่าวกระบวนการยุติธรรม


พรุ่งนี้ (31 ต.ค.55)  เวลา 9.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดา จะมีการพิพากษา คดีของนายสุรภักดิ์ จำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3)

มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิด ความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา


สุรภักดิ์ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 2 ก.ย.54 ไม่ได้ประกันตัวและอยู่ในเรือนจำจนถึงปัจจุบัน

สุรภักดิ์ อายุ 40 ปี เป็นโปรแกรมเมอร์ที่เพิ่งจัดตั้งบริษัทของตนเอง รับจ้างออกแบบระบบให้บริษัทเอกชนต่างๆ รวมถึงรัฐวิสาหกิจด้วย

เขาถูกกล่าวหาว่า เป็น “เจ้าของ” บัญชีเฟซบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า “เราจะครองxxxx”  โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดทั้งสิ้น 6 ข้อความ แต่เมื่ออัยการทำคำฟ้องปรากฏเพียง 5 ข้อความ (4 พ.ค.54, 18 มิ.ย.54, 22 มิ.ย.54, 23 มิ.ย.54, 16 ส.ค.54) ดังนั้น หากศาลพิพากษาให้เขามีความผิดจริง เขาจะมีความผิด 5 กรรม

สุรภักดิ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งใน ชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวน โดยระบุด้วยว่า ไม่ใช่เจ้าของอีเมล์และเฟซบุ๊คดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หลังสุรภักดิ์ถูกจับกุม เฟซบุ๊คบัญชีนี้ยังเปิดใช้งานและมีความเคลื่อนไหวอยู่

ความเป็นมาของ คดีนี้เริ่มต้นจาก มีประชาชนทั่วไปชื่อ มานะชัย แจ้งเบาะแสไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทาง เทคโนโลยี หรือ ปอท. โดยแจ้งว่ามีเฟซบุ๊คที่กระทำความผิดดังกล่าว มีเจ้าของเป็นนายสุรภักดิ์ พร้อมให้ชื่อ-นามสกุล-ที่อยู่ แก่เจ้าหน้าที่ด้วย โดยในการสืบพยานในศาล เจ้าหน้าที่เบิกความว่าไม่รู้และไม่ได้ตรวจสอบว่าบุคคลผู้ให้เบาะแสนี้คือ ใคร และไม่สามารถนำตัวผู้แจ้งเบาะแสมาเบิกความได้

จากนั้นไม่นานจึง มีนักศึกษาราชภัฏคนหนึ่งไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจ ทำให้เรื่องนี้เป็นคดีขึ้นมาอย่างเป็นทางการ พยานปากนี้ขึ้นเบิกความในชั้นศาลด้วย ซึ่งทั้งพยานและจำเลยไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว อย่างไรก็ตาม พยานปากนี้ระบุว่าได้ปลอมตัวเป็นคนเสื้อแดงเข้าไปเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊คที่ ถูกกล่าวหาดังกล่าว จึงสามารถเห็นข้อความหมิ่นที่ถูกโพสต์ได้ และทำการ capture หน้าจอ ปริ๊นท์ออกมาเป็นหลักฐานให้ตำรวจ

นักศึกษาราชภัฏยัง ระบุถึงความเชื่อมโยงระหว่างอีเมล์และเฟซบุ๊คที่กระทำผิดไว้ว่า พยานเป็นสมาชิกในอีเมล์กรุ๊ปหนึ่งของกูเกิลกรุ๊ป และได้นำอีเมล์สมาชิกคนหนึ่ง คือ dorkao@hotmail.com (ดอกอ้อ) ไปค้นหาใน google ผลการค้นหาพบหน้าเฟซบุ๊คบัญชี เราจครองxxxx จึงสันนิษฐานว่าเจ้าของอีเมล์นี้เป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊คดังกล่าวด้วย ต่อมาจึงได้ทราบในภายหลังจากตำรวจว่า อีเมล์ดังกล่าวนั้นคือนายสุรภักดิ์

สิ่งที่น่าสนใจในคดีนี้ คือ การต่อสู้กันระหว่างพยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจำเลยและตัวจำเลยเอง กับ พยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายโจทก์ ไม่ว่าจะเป็นกองพิสูจน์หลักฐาน , เนคเทค (ไอซีที)

กองพิสูจน์หลักฐานซึ่งตรวจสอบคอมพิวเตอร์ของกลางระบุว่า ไม่พบถ้อยคำหมิ่นสถาบันตามที่พนักงานสอบสวนให้ตรวจเช็คหลายรายการ แต่พบร่องรอยการใช้อีเมล์ dorkao@hotmail.com  และการใช้เฟซบุ๊คเจ้าปัญหาในฐานะเจ้าของเพจ โดยทำการกู้จาก temporary file  ขึ้นมาได้อย่างละ 1 ไฟล์

อย่างไรก็ตาม ข้อต่อสู้ที่สำคัญของฝ่ายจำเลยคือ คอมพิวเตอร์ของกลางดังกล่าวมีการเปิดใช้เพื่อเชื่อมต่ออินเตอร์ในวันที่ 2 ก.ย.เวลากลางคืน และ 7 ก.ย.54 (อ้างอิงตามเอกสารที่อยู่ในสำนวนคดี) ทั้งที่จำเลยถูกจับกุมและอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.54 ช่วงบ่ายแล้ว ซึ่งเมื่อพยานจากกองพิสูจน์หลักฐานดูเอกสารก็รับว่าเป็นเช่นนั้น

ประเด็น นี้เป็นประเด็นสำคัญที่ใช้ในการต่อสู้ เนื่องจากคดีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มีหลักการที่ต้องไม่เปิดคอมของกลางอีกเลย ดังที่หัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีนี้ก็ได้เบิกความไว้ว่าการส่งคอมพิวเตอร์ จากพนักงานสอบสวนไปให้กองพิสูจน์หลักฐานต้องผนึกหีบห่ออย่างดี จะเปิดได้ต่อเมื่อส่งถึงผู้ชำนาญการแล้วและมีการทำสำเนาข้อมูลออกมาโดยไม่ เปิดเครื่อง ที่ทำเช่นนี้เพราะถ้าเปิดดูก่อนเครื่องจะบันทึกการเปิดเครื่องไว้ทำให้เกิด ความเสียหายต่อหลักฐานที่ได้มา

นอกจากนี้ยังมีการต่อสู้กันว่า temporary file หรือ cache ที่เจ้าหน้าที่กู้ได้และใช้เป็นหลักฐานในคดีนี้ เป็นเอกสารจริงหรือไม่

เนื่องจากฝ่ายจำเลยชี้ว่าฮอตเมล์และโดยเฉพาะเฟซบุ๊ค จะมีระบบที่กำหนดไม่ให้คอมพิวเตอร์ผู้ใช้งานเก็บ temporary file ใดๆ ที่เกี่ยวกับการใช้งาน อีกทั้งตามหลักฐานในสำนวนยังพบว่ามีการเก็บไฟล์ดังกล่าวใน partition ที่สองของเครื่อง ไม่ใช่ partition หลัก ซึ่งเชื่อว่าผิดปกติ

ที่สำคัญฝ่ายจำเลยระบุว่า ไฟล์ที่เกิดจาก cache file จะไม่มี source code ในภาษา html ส่วน source code ที่เจ้าหน้าที่ได้มาและใช้เป็นหลักฐานในคดีนั้นเป็นการ copy มาจากหน้าเว็บโดยการเข้าไปในเว็บไซต์เฟซบุ๊คแล้วคลิ๊กขวาคัดลอก source code โดยเปลี่ยนข้อความให้เป็นอีเมล์ที่ต้องการ (dorkao@hotmail.com เพื่อระบุความเป็นเจ้าของ-ประชาไท) แล้วนำมาลงไว้ใน partition 2 เสมือนว่าเจ้าของเครื่องได้เข้าไปใช้เว็บไซต์นั้นจริงๆ อีกทั้งในเอกสาร source code ที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นหลักฐานการเข้าใช้เฟซบุ๊คเพจ ก็เป็นภาษา htm ขณะที่ source code ของเฟซบุ๊คใช้ภาษา php 

ดัง นั้นจำเลยจึงสันนิษฐานว่า ไฟล์ที่เอามาใช้ฟ้องคดีนี้เป็นการคัดลอก source code จากเว็บมาวางใน note pad แล้วแก้ไขสาระสำคัญที่ต้องการ จากนั้นก็ทำการบันทึกซึ่งจะบันทึกเป็นนามสกุลใดก็ได้ ในกรณีนี้บันทึกเป็นนามสกุล html แล้วนำไปเก็บไว้ในเครื่อง จากนั้นใช้โปรแกรม internet explorer อ่าน โดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตก็ได้ เพราะไฟล์ลักษณะนี้เป็นชิ้นส่วนของเว็บไซต์ที่ไม่ต้องต่ออินเตอร์เน็ต และสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงถ้อยคำได้ จากชื่อเพจดังกล่าวจะเปลี่ยนให้เป็นเพจเรารักในหลวงก็สามารถทำได้

คำเบิกความของทั้งสองฝ่ายก็ต่างสนับสนุนข้อสันนิษฐานของตนเอง แต่สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับคดีนี้คือ การที่ศาลอนุญาตให้มีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาร่วมประกอบการอธิบาย โดยให้ฉายผ่านโปรเจ๊กเตอร์ไปยังผนังห้องเพื่อให้เห็นกันได้อย่างสะดวก ขณะในคดี 112 ที่เกี่ยวพันกับคอมพิวเตอร์ก่อนหน้านี้ ศาลมักไม่อนุญาตให้เอาคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ประกอบ ด้วยเหตุผลว่าไม่ว่าเรื่องจะซับซ้อนเพียงใดก็สามารถใช้การอธิบายผ่านปากผู้ เชี่ยวชาญของสองฝ่ายได้ และเปิดไปศาลก็ไม่เข้าใจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อคดีนี้อนุญาตให้มีการใช้คอมพิวเตอร์ประกอบการอธิบาย ทำให้ฝ่าย จำเลยสามารถเรียกร้องให้พยานฝ่ายโจทก์สาธิตให้ดูว่า การเปิดใช้เฟซบุ๊คจะมีการเก็บ temporary file หรือไม่  ซึ่งปรากฏว่าไม่มี แต่พยานโจทก์ระบุว่าอาจเป็นเพราะ browser ของคอมพิวเตอร์ที่กำหนดให้เก็บหรือไม่เก็บก็ได้ นอกจากนี้ฝ่ายจำเลยยังมีการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสาธิตให้ดูได้ว่า ไฟล์ html ไม่สามารถใช้กับเฟซบุ๊คได้ การปรับแต่งหลักฐาน หากจะมีเกิดขึ้นนั้นกระทำได้ง่ายเพียงใด และสามารถเปลี่ยนการตั้งค่าวันเวลาให้เป็นตามต้องการได้ด้วย ส่วนผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจำเลยก็สามารถใช้คอมพิวเตอร์เพื่อแสดงให้ศาลเห็นได้ว่า source code ของเฟซบุ๊คในส่วน header จะมีคำสั่งไม่ให้เครื่องผู้ใช้มีการเก็บ cache file จริง

หากจะดูรายละเอียดของคดีไล่ตั้งแต่การจับกุมจนถึงการเบิกความของพยานปากต่างๆ ทั้งของโจกท์และจำเลย แหล่งข้อมูลที่ละเอียดที่สุดในเวลานี้ก็คือ เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม หรือ iLaw  (คดีสุรภักดิ์ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/176#detail ) ก่อนจะรับฟังคำพิพากษาร่วมกันในวันที่ 31 ต.ค.นี้

ที่มา prachatai

สืบทอดเจตนารมณ์ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ และภารกิจต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังไม่สิ้นสุด



โดย เปลวเทียน  ส่องทาง


31 ตุลาคม 2549 นวมทอง ไพรวัลย์  ผูกคอตายกับราวสะพานลอย บริเวณสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ก่อร่างประวัติศาสตร์ของสามัญชน ผู้คัดค้านอำนาจเผด็จการรัฐประหาร พิทักษ์ประชาธิปไตย





สำหรับคนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตย คงไม่มีใครลืมประวัติศาสตร์ของสามัญชนที่ชื่อ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ ผู้คัดค้านอำนาจเผด็จการรัฐประหาร พิทักษ์ประชาธิปไตย

คืนวันที่ 31 ตุลาคม 2549 นายนวมทองผูกคอตายกับราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (บริษัท วัชรพล จำกัด) โดยในจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พันเอก อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้

ในคืนที่นายนวมทองแขวนคอตาย เขาตั้งใจสวมเสื้อยืดสีดำ สกรีข้อความเป็นบทกวี ที่เคยใช้ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยด้านหน้าเป็นบทกวีของรวี โดมพระจันทร์ ที่ว่า

ตื่นเถิดเสรีชน
อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน
ดาบหอกกระบอกปืน
หรือทนคลื่นกระแสเรา

แผ่นดินมีหินชาติ
ที่ดาดาษความโฉดเขลา
ปลิ้นปล้อนตะลอนเอา
ประโยชน์เข้าเฉพาะตน

ก่อนหน้านั้น  เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 นายนวมทอง ซึ่งเป็นอดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บางกรวย ได้ขับรถยนต์แท็กซี่ พุ่งเข้าชนรถถังเบา M41A2 Walker Bulldog ป้ายทะเบียนตรากงจักร 71116 ของคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และได้รับบาดเจ็บสาหัส




นวมทอง ไพรวัลย์ ได้สละชีพกระทำอัตวินิบาตรกรรม เพื่อให้คนได้ตระหนักถึงคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความหมายสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ความอัปยศอัปลักษณ์ของอำนาจรัฐประหาร

นวมทอง ไพรวัลย์ จึงเป็นสัญญลักษ์แห่งอุดมการณ์ประชาธิปไตย ที่ปรารถนาถึงสังคมไทยเป็นสังคมที่มี ‘เสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ’ ไม่ต่างไปจากความใฝ่ฝันของคณะราษฎร เมื่อปี 2475 แต่อย่างใดเลย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ความขัดแย้ง ระหว่าง ‘ฝ่ายอำนาจอำมาตยาธิปไตย’ กับ ‘ฝ่ายพลังประชาธิปไตย’ ก็ยังไม่จบสิ้น นับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากปัญหารากเหง้าของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มาจาก ‘ระบอบอำมาตยาธิปไตย’ โดย ‘อำมาตยาธิปไตย’ และเพื่อ ‘อำมาตยาธิปไตย’


แม้ว่า ภายหลังจากการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลตามหลักการประชาธิปไตยรัฐสภา แต่ความขัดแย้งดังกล่าวยังไม่จบสิ้น เนื่องด้วยมีการเคลื่อนไหวของ ‘ฝ่ายอำมาตยาธิปไตย’ เพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีขึ้นอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน รวมทั้งรัฐบาลพลเรือนก็ยังไม่สามารถควบคุมกองทัพได้โดยตรงเนื่องจากมีพรบ.กลาโหมเป็นอุปสรรคขัดขวาง

ขณะเดียวกัน ‘คณะนิติราษฎร์’ ได้มีข้อเสนอเพื่อแก้ไขผลพวงของการรัฐประหาร ปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน ต้องแก้ไขมาตรา 112 เพื่อสอดคล้องกับหลักการความยุติธรรมและระบอบประชาธิปไตยดั่งอารยะประเทศ ซึ่งรวมทั้งพรบ.คอมพิวเตอร์ ที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนด้วย เพื่อมิให้เกิดกรณีเช่น ‘อากง’  ‘สมยศ พฤกษาเกษมสุข’ ‘สุรชัย แซ่ด่าน’ และอีกหลายคน  จึงต้องยึดหลักนิติรัฐคู่กับนิติธรรม มิใช่ปล่อยให้บุคคลใดฟ้องร้องกล่าวโทษก็ได้ ควรกำหนดโทษให้เหมาะสมกับสิทธิ์ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ยุคโลกาภิวัฒน์มิใช่ยุคป่าเถื่อนอีกแล้ว  รวมทั้งเพื่อมิให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบ่อนทำลายผู้รักชาติรักประชาธิปไตยเหมือนเช่นประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา    ตลอดทั้งเพื่อป้องกันมิให้เกิดการรัฐประหารขึ้นในสังคมไทยอีกต่อไป

ดังนั้น ภารกิจในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนยังไม่เสร็จสิ้น   ผู้เขียนมีข้อเสนอดังนี้

1.ปล่อยผู้บริสุทธิ์ที่ถูกจับกุมคุมขังทางการเมืองอย่างไม่มีเงื่อนไข และต้องให้สิทธิประกันผู้ต้องขัง ตามหลักการสิทธิมนุษยชนที่กระบวนการยุติธรรมพึงมีดั่งอารยะประเทศ   เช่น  กรณี ‘สมยศ พฤกษาเกษมสุข’ ‘สุรชัย แซ่ด่าน’ และอีกหลายคนทั้งหมด เพราะพวกเขามิใช่อาชญากร เพียงแต่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย และพวกเขาถูกใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง

2.นำคนสั่งฆ่าสังหารประชาชนในเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต 53 มาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างความยุติธรรมในสังคมและเพื่อมิให้ ‘ฆาตรกรลอยนวล’ เหมือนเช่นที่ผ่านมาตลอดอีกทั้งเพื่อทำ ‘ความจริง’ให้ปรากฎ มิใช่ ‘ปรองดอง’ อย่างไร้ความยุติธรรม

3.รัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องแก้ไข พรบ.กลาโหม และดำเนินการปฏิรูปกองทัพให้เป็นประชาธิปไตยสอดรับกับยุคสมัยสันติภาพเพื่อนไร้พรมแดน พร้อมกับลดงบประมาณให้เหมาะสม

4.ขอสนับสนุนข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พรบ.คอมพิวเตอร์ รวมทั้งข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหารากเหง้าทั้งมวลของปัญหาการเมืองไทยที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นภาระกิจที่รัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องดำเนินกระบวนการต่างๆตามกลไกรัฐสภา ให้บรรลุเป็นรูปธรรม

5.ขอสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550  โดยมีหลักการสำคัญของ ‘ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา’ ‘อำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน’ ‘เคารพสิทธิเสรีภาพและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ คือรูปธรรมต้องลดอำนาจของระบอบอำมาตยาธิปไตยโดยเฉพาะอำนาจขององคมนตรี กองทัพและกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมและสร้างเงื่อนไขให้สถาบันพรรคการเมืองพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้น รวมทั้งส่งเสริมสิทธิพื้นฐานของสถาบันต่างๆ เช่น สหภาพแรงงาน องค์กรเกษตรกรและอื่นๆด้วยเช่นกัน

6. ขอเรียกร้องให้ฝ่ายนิยมอำมาตยาธิปไตย ยอมรับกติกาประชาธิปไตย ตามหลักการหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง คนเท่ากัน เสียงส่วนน้อยต้องยอมรับเสียงส่วนใหญ่ โดยเสียงส่วนใหญ่ไม่ละเลยเสียงส่วนน้อยตามหลักอารยะประเทศประชาธิปไตย ก่อนที่ความขัดแย้ง ความเกลียดชังจะนำไปสู่ความล่มสลายของสังคมไทยอย่างที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น

ที่มา prachatai